ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ธชัคคสูตร : เพื่อขจัดความหวาดกลัวและป้องกันอันตรายจากที่สูง  (อ่าน 6994 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

pimpa

  • กำลังแหวกกระแส
  • **
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 138
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
0
อีกไม่กี่วันก็จะสิ้นปีเก่าและขึ้นปีใหม่
   
หลายคนก็เตรียมไปนับถอยหลังหรือเคานท์ดาวน์ แต่ผมอยากเชิญชวนท่านผู้อ่านสวดพระปริตรส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่เห็นจะดี กว่า เพราะเป็นสิริมงคลอย่างแท้จริงแก่ตนเอง และครอบครัว ซึ่งวัดหลายแห่งก็จัดพิธีสวดมนต์รับปีใหม่ดังกล่าว อาทิ วัดสระเกศฯ ผมเองก็ขออนุโมทนากับท่านผู้อ่านทั้งหลายล่วงหน้าครับ แต่บทความนี้ขอเสนอบทสวดพระปริตรต่อจากตอนที่แล้วครับ
   
๑๒. ธชัคคสูตร : เพื่อขจัดความหวาดกลัวและป้องกันอันตรายจากที่สูง
   
เมื่อสวดโมรปริตรและหรือวัฏฏกปริตรจบแล้วก็จะลงมือสวดธชัคคสูตรต่อไป ธชัคคสูตรนี้ มีที่มาจากพระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถาวรรค พระพุทธองค์ตรัสธชัคคสูตรนี้แก่พระภิกษุในขณะที่ประทับอยู่ที่เชตวัน นครสาวัตถี โดยทรงเล่าเรื่องการเทวาสุรสงครามระหว่างเทพ ซึ่งมีท้าวสักกะเทวราชหรือพระอินทร์เป็นจอมทัพกับเหล่าอสูร ซึ่งถูกท้าวสักกะและเทพบริวารขับลงไปจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แล้วยึดสวรรค์นั้นครอบครองแทน เหล่าอสูรเคยอยู่บนสวรรค์ชั้นนี้และเคยได้ทราบว่าสวรรค์ชั้นนี้มีต้น “ปาริชาต” ซึ่งเป็นดอกไม้ทิพย์ที่มีกลิ่นหอม อันเกิดจากบุญกุศลของท้าวสักกะ ในขณะที่อสูรนครก็มีต้นไม้ชื่อ “จิตตปาตลิ” เหมือนต้นปาริชาตแต่ไม่มีกลิ่นหอมเลย ดังนั้น เมื่อดอกจิตตปาตลิบาน พวกอสูรก็ระลึกถึงดาวดึงส์เทวโลก ก็เกิดความแค้นยกทัพขึ้นมาบนสวรรค์จะรบเพื่อชิงแดนคืน ในการรบนี้ เทพนักรบทั้งหลายก็อาจเกิดความกลัว ขนพองสยองเกล้าได้ ดังนั้น ท้าวสักกะจึงขอให้เทพทั้งหลายมองดูยอดธง (ธชัคคะ) ของท้าวสักกะจอมเทพ หรือยอดธงของแม่ทัพเทพอื่น ๆ อาทิ วรุณเทวราช อีสาณเทวราช ความหวาดกลัวก็จะหายไป
   
แต่พระบรมศาสดาตรัสต่อไปว่า แม้เทวดาจะดูยอดธง (ธชัคคะ) ของจอมเทพแล้ว ความกลัวก็อาจหายไปบ้าง ไม่หายบ้าง เพราะท้าวสักกะยังไม่หมดกิเลส คือ ราคะ โมหะ โทสะ ยังเป็นผู้หวาดกลัว ยังเป็นผู้สะดุ้ง ยังเป็นผู้หนี แต่ถ้าภิกษุทั้งหลายเกิดความกลัวเมื่ออยู่ป่า หรืออยู่ตามบ้านร้าง แล้วน้อมระลึก ถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ เสมือนมองดูธงชัยแห่งพระรัตนตรัยแล้ว ความหวาดกลัวจะหายไปหมด เกิดความอาจหาญแกล้วกล้าทุกผู้ เพราะพระพุทธองค์เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้ปราศจาก ราคะ โทสะ โมหะ เป็นผู้ไม่หวาดกลัว เป็นผู้ไม่สะดุ้ง เป็นผู้ไม่หนี
   
ในธชัคคสูตรนี้จะมีบทพระพุทธคุณที่เรียกว่า “อิติปิโส” บทพระธรรมคุณและบทพระสังฆคุณ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของพระสูตรนี้จึงเรียกบทนี้ อีกชื่อหนึ่งว่า อนุสสรณปาฐะ
   
การสวดพระพุทธมนต์แบบนพเคราะห์ถือว่าธชัคคสูตรนี้เป็น พระพุทธมนต์ประจำพระศุกร์ หรือ คนเกิดวันศุกร์ สำหรับ พระประจำวันศุกร์นี้คือพระปางรำพึง ซึ่งพระพุทธองค์ประทับยืน และเอาพระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้ายบนพระอุระ
   
บทสวดย่อคือ “วา โธ โน อะ มะ มะ วา” ต้องสวด ๒๑ จบ ตามกำลังพระศุกร์
   
อานุภาพการป้องกัน
   
ถือกันว่าการสวดระลึกถึงคุณพระรัตนตรัยนี้จะทำลาย    ความหวาดกลัว หรือความขนพองสยองเกล้าได้ โดยเฉพาะเมื่อไปต่างถิ่นต่างที่ ทั้งยังคุ้มครองจากภยันตรายที่เกิดจากมนุษย์และอมนุษย์ได้ รวมทั้งป้องกันอันตรายจากที่สูง หรืออันตรายทางอากาศหรือการเดินทางโดยเรือบินได้ ดังความในบทขัดตำนานว่า
   
“สัตว์ทั้งหลายแม้ที่อยู่ในอากาศ สามารถได้ที่พึ่งอย่างเดียวกันกับสัตว์ที่อยู่บนแผ่นดิน อนึ่ง ด้วยการระลึกถึงพระปริตร ที่ทำให้สัตว์ทั้งหลายมีจำนวนสุดที่จะคณานับได้ สามารถรอดพ้นจากข่าย คือ อุปัทวันตรายนานาประการ อันเกิดแต่ยักษ์และโจร เป็นต้น เราทั้งหลาย จงสวดพระปริตรนั้นเถิด”

ธะชัคคะสูตร หรือ อะนุสสะระณะปาฐะ
   
อิติปิ โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ, วิชชา     จะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู, อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ, สัตถา เทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ ฯ
   
สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม, สันทิฏฐิโก อะกาลิโก, เอหิปัสสิโก, โอปะนะยิโก, ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหีติ ฯ (อ่านว่า วิญญูฮีติ)
   
สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, สามี  จิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏิฐะ ปุริสะปุคคะลา, เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, อาหุเนยโย, ปาหุเนยโย, ทักขิเณยโย, อัญชะลีกะระณีโย, อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ ฯ
   
คำแปล
   
เพราะเหตุอย่างนี้ ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้ด้วยพระองค์เอง ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง สามารถฝึกบุรุษที่สมควรฝึกได้ อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า ทรงเป็นครูของเหล่าเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม ทรงมีความสามารถในการจำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์ ฯ
   
พระธรรม เป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว ผู้ศึกษาและปฏิบัติพึงเห็นได้ด้วยตนเอง เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้และ ให้ผลได้ไม่จำกัดกาล สามารถแนะนำผู้อื่นให้มาพิสูจน์ได้ว่า “ท่าน จงมาดูเถิด” ควรน้อมนำเข้ามาใส่ตัว ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน ฯ
   
พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าปฏิบัติดีแล้ว ปฏิบัติตรงแล้ว ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์แล้ว ปฏิบัติเหมาะสม ได้แก่ บุคคลเหล่านี้ คือ คู่แห่งบุรุษ ๔ คู่ นับเรียงลำดับได้ ๘ ท่านนั่นแหละ พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งเป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขาน้อมนำบูชา ควรแก่สักการะที่เขาเตรียมไว้ต้อนรับ ควรรับทักษิณาทาน เป็นผู้ที่บุคคลทั่วไปควรให้ความเคารพ เป็นเนื้อนาบุญของโลก
   
ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ฯ.


ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ราชบัณฑิต / อิสริยาภรณ์ อุวรรณโณ
บันทึกการเข้า