ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: นิสัยทางธรรม น้ำพระทัย "พระเจ้าตากสินฯ"  (อ่าน 1257 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



นักรบผู้ทรงพุทธภูมิ.!! เผยนิสัยทางธรรม น้ำพระทัย "พระเจ้าตากสินฯ" ทรงแจกข้าวไพร่ฟ้า หลังกรุงฯแตก.. บำรุงชาติศาสนา เพื่อเส้นทางสู่พระโพธิญาณ.!!

จากกรณีที่ผศ.ดร. ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ค้นคว้าเอกสารทางประวัติศาสตร์ และได้พบข้อมูลสำคัญของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ว่า เมื่อครั้งหลังเสียกรุงศรีอยุธยา เมื่อพ.ศ. ๒๓๑๐ ซึ่งเป็นยุคที่บ้านเมืองอยู่ในภาวะจลาจลจากสงคราม ไม่มีผู้ทำไร่ทำนา ทำให้เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง ราษฎรอดอยากเนื่องจากมีค่าครองชีพสูง จึงทำให้พระเจ้าตากสินมหาราชทรงต้องหาทางฟื้นฟูและเพิ่มพูนประชากร โดยมีการแจกจ่ายข้าวสารและเสื้อผ้าให้กับราษฎรใช้เลี้ยงตนเอง

จากกรณีนี้เอง หากมองในมุมการปฏิบัติของสมเด็จพระเจ้าตาก ตามพระราชประวัติที่เราพอรับรู้รับทราบ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงเรียนหนังสือไทย หนังสือขอมและพระไตรปิฎกกับพระอาจารย์ทองดีตั้งแต่อายุ ๕ ขวบ เมื่ออายุ ๒๑ ครบบวช ก็ทรงผนวชอยู่ในสำนักพระอาจารย์ทองดี ๓ พรรษา จึงลาสิกขาออกมารับราชการ ทั้งนี้อนุมานว่าน่าจะทรงรู้พระธรรมวินัยและพระไตรปิฎกอยู่ในระดับดี แต่ก็ไม่มีตรงไหนที่โยงใยไปถึงสาเหตุหรือไปถึงสาเหตุหรือที่มาในความปรารถนาเช่นนั้น


@@@@@@

แต่ในสมัยของพระองค์นั้นความปรารถนาเช่นนี้อาจมิใช่เรื่องแปลกใหม่ และที่น่าสังเกตก็คือไม่จำเป็นว่าเฉพาะพระมหากษัตริย์เท่านั้นที่จะปรารถนาเช่นนี้ได้

"ความปรารถนาพุทธภูมินี้มิได้เป็นคติความเชื่อของพระมหากษัตริย์เท่านั้น ชาวบ้านทั่วไปก็มีความเชื่อดังกล่าวเช่นกัน ซึ่งสามารถสืบสาวย้อนหลังไปได้นับพันปี ในศิลาจารึกสมัยพุทธศตวรรษที่๑๓-๑๔ ที่จังหวัดนครราชสีมามีข้อความตอนหนึ่งว่า ขอให้สิ่งมีชีวิตทั้งหลาย จงเป็นพุทธองค์ และลุถึงพุทธภูมิ มาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ความเชื่อดังกล่าวก็ยังแพร่หลายในหมู่ประชาชน ถึงขั้นที่ยอมสละชีวิตเผาตัวตายที่วัดอรุณ” จวบจนสมัยรัชกาลที่ ๔ ความเชื่อดังกล่าวก็ยังอิทธิพลอยู่มาก จนระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงออกประกาศสั่งห้ามกระทำการดังกล่าว.."

@@@@@@

ภิกษุณีธัมนันทา(ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์) ได้ตั้งข้อสังเกตไว้อีกมุมมองว่า ความปรารถนาในพุทธภูมิของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนี้ดูจะ แปลก ไปจากคติของพุทธเถรวาทในปัจจุบัน ที่มุ่งปรารถนา “พระนิพพาน” หรือ อรหันต์ภูมิ (รัชกาลที่๑ และรัชกาลที่๒ ก็ทรงแสดงพระประสงค์เช่นนี้) มากกว่าที่จะมุ่งบำเพ็ญ ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป แต่สำหรับคติพุทธเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติสำหรับผู้ปฏิบัติธรรมทุกคนในฝ่ายมหายาน คือ “ปรารถนาในพุทธภูมิ” ด้วยกันทั้งสิ้น

อันจะสอดคล้องกับข้อความในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ(เจิม) ที่ระบุว่าการตัดสินพระทัยเป็นพระมหากษัตริย์หลังทรงกู้แผ่นดินคืนมาได้จากพม่านั้น เป็นไปโดยมีเหตุผลทางธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องมิใช่เหตุผลทางการเมืองล้วน ๆ คือ ทรงคิดว่าเป็นกษัตริย์ช่วยเหลือเหล่าอาณาประชาราษฎร์นั้นเป็นการบำเพ็ญบารมีตามวิถีแห่งพระโพธิสัตว์ โดยไม่ทรงเลือกเดินในวิถีแห่งพระอรหันต์ในตอนนั้น


@@@@@@

แต่ไม่ว่าคติ “บารมี ๑๐ ทัศ” ของฝ่ายเถรวาทก็ดี หรือ “ปารมิตา ๖” ของฝ่ายมหายานก็ดี คติเหล่านี้สะท้อนว่า ผู้ปรารถนาพุทธภูมิต้อง ตั้งจิตมั่นในพุทธภูมิ ในการตั้งจิตจะต้องมี ปณิธาน ๔ คือ มุ่งมั่นเพื่อบรรลุการรู้แจ้ง มุ่งมั่นแสวงหาความรู้ทั่วไป มุ่งมั่นสอนเวไนยสัตว์ และช่วยสรรพสัตว์ให้ถึงซึ่งการรู้แจ้ง มีศีลของพระโพธิสัตว์ ๕๘ ข้อ ต้องสร้างสมบารมี๖ (ทาน ศีล ขันติ วิริยะ ญาณ ปัญญา) หรือ “บารมี ๑๐ (ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา) ซึ่งแน่นอนว่า พงศาวดารย่อมต้องมีบันทึกถึงการบำเพ็ญพระบารมีของพระเจ้าตากฯ ตั้งแต่ครั้งที่ยังทรงครองราชย์ใหม่ๆ

"...ครั้งนั้นหมู่คนอาสัตย์ซึ่งคุมพรรคพวกตั้งอยู่กระทำโจรกรรม ณ.หัวเมืองเอก โท ตรี จัตวา มิได้เชื่อพระบรมธิคุณและตั้งตัวเป็นใหญ่นั้นก็บันดาลให้สยบสยองพองเศียรเกล้า ชวนกันนำเครื่องราชบรรณาการต่างๆเข้ามาถวายเป็นอันมาก ทรงพระกรุณา...พระราชทานโอวาทานุศาสตร์ สั่งสอนให้เสียพยศอันร้ายให้ตั้งอยู่ในยุติธรรม ขณะนั้นลูกค้าวาณิชได้ทำมาค้าขายเป็นสุขบริบูรณ์ด้วยอาหาร ได้บำเพ็ญทศบุญกิริยาวัตถุกุศลต่างๆฝ่ายสมณะก็รับจัตุปัจจัยทานเป็นสุขบริโภคให้บำเพ็ญสมณธรรมตามสมณกิจ

"จำเดิมแต่นั้นมาพระพุทธศาสนาก็ค่อยๆวัฒนาการ รุ่งเรืองเฟื่องฟูขึ้นเหมือนแต่ก่อน และสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็เจริญพระราชกฤดาธิคุณไพบูลย์ภิยโยภาพยิ่งขึ้นไป ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินก็ค่อยมีความผาสุกสนุกสบายบริบูรณ์ คงคืนขึ้นเหมือนเมื่อครั้งแผ่นดินกรุงเก่ายังปกติดีอยู่นั้น..."

          (พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับ พันจันทนุมาศ (เจิม))



จากข้อความในพงศาวดารที่ยกมาข้างต้นก็พอสะท้อนเรื่องนี้ได้บ้างประมาณหนึ่ง เส้นทางโพธิญาณของสมเด็จพระเจ้าตากมหาราชนั้น และกิจการในพระศาสนาของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ไม่ว่าจะเป็นทรงให้รวบรวม จารคัมภีร์บาลี ทั้งพระไตรปิฎก อรรถกถา ฯลฯ หรือทรงโปรดให้สร้าง "สมุดภาพไตรภูมิ" สนับสนุนพระภิกษุสงฆ์ทั้งในด้านปริยัติและปฏิบัติ สร้างกุฏิ สร้างวัด หรือกระทั่งชำระภิกษุสงฆ์ที่ทำผิดพระธรรมวินัย ก็เหมือนมีบันทึกว่าดำเนินไปไม่ต่างจากที่พระมหากษัตริย์พระองค์อื่นๆได้ทรงกระทำ

ในเรื่องนี้มองได้ว่าเป็นคติเทวราชาที่รับมาจากศาสนาพราหมณ์ (ที่กล่าวว่าพระมหากษัตริย์คือองค์อวตารที่ลงมาทำหน้าที่พิทักษ์ปกป้องราษฎร) กับคติที่มองว่าพระมหากษัตริย์เป็นพระโพธิสัตว์ (ที่ถือเอาการสร้างความผาสุกให้แก่อาณาประชาราษฎร์เป็นการบำเพ็ญเพียรสร้างสมบารมี) ได้ผสมผสานสืบเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ดังจะเห็นได้จากการถวายพระนามของพระมหากษัตริย์ดุจเป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งอนุมานว่า ในด้านหนึ่งความปรารถนาในพระโพธิญาณของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี แม้จะมีมาก่อนที่จะทรงเป็นกษัตริย์ แต่เมื่อได้ปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์แล้วความปรารถนาดังกล่าวก็แยกไม่ออกจากคติ "พระพุทธเจ้าอวตาร" ที่มีมาแต่ก่อนเก่า


@@@@@@

แต่สิ่งที่ควรตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยก็คือพระเจ้าตากฯทรง "บำเพ็ญ" บารมี ในขณะเดียวกันนั้นแผ่นดินกรุงธนบุรีก็ไม่อยู่ในภาวะสงบสุขอย่างสมบูรณ์ เพราะต้องติดพันการศึกน้อย-ใหญ่เกือบตลอดรัชกาล รวมแล้วเป็นมีสงครามเกิดขึ้น ๑๕ ครั้ง กล่าวโดยเฉลี่ยคือประมาณปีละครั้ง และพระองค์ก็เห็นเรื่องศึกสงครามเป็นเรื่องจริงจัง  ถึงกับมีบันทึกเอาไว้ว่าเมื่อคราวศึกบางแก้ว ที่ราชบุรีในปี ๒๓๑๗ พระองค์ทรงทราบข่าวพระอาการประชวรหนักของสมเด็จพระราชมารดาถึงกับตรัสว่า "พระโรคเห็นหนักจะมิได้ไปทันเห็นพระองค์ ด้วยการแผ่นดินครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก ครั้นจะไปบัดนี้ ไม่เห็นผู้ใดที่ไว้ใจให้อยู่ต้านต่อข้าศึกได้" สุดท้ายก็หักพระทัยไม่เสด็จกลับ สมเด็จพระมารดาของพระองค์ก็สวรรคตในคราวที่พระองค์ติดศึกอยู่นั่นเอง

ในคราวนั้นเมื่อทัพกรุงธนบุรีล้อมพม่าไว้หมด ไม่มีทางที่พม่าจะตีหักหนีออกมาได้ ถ้าจะระดมยิงเข้าไปในค่ายพม่าหมายสังหารพม่าให้ตายให้หมดก็สามารถทำได้แต่ก็ไม่ทรงโปรดให้ทำ จนสุดท้ายพม่าก็ยอมแพ้มาสวามิภักดิ์เอง กรณีนี้คือตัวอย่างที่มักถูกยกมากล่าวถึงความเป็นนักรบที่ "ทรงภูมิธรรมชั้นสูง" ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี แต่จริงๆแล้วก็ไม่มีกรณีใดที่จะพอจะมิให้ตั้งข้อสงสัยว่า "ใช่หรือไม่ใช่การยอพระเกียรติ?" หรือในทางกลับกันคือทรงมุ่งหมายในพุทธภูมิจริงๆ

@@@@@@

เว้นไปจากการทรงพระกรรมฐานอย่างจริงจัง ซึ่งจริงๆเรื่องนี้ก็สอดคล้องกับเหตุการณ์ เมื่อคราวติดศึกที่บางแก้วจนมิได้กลับมาเฝ้าพระพันปีหลวงตอนสวรรคต เพราะหลักฐานว่า พระเจ้าตากฯทรงพระกรรมฐานปรากฏขึ้นครั้งแรก เมื่อคราวที่จัดงานพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลพระอัฐิสมเด็จพระพันปีหลวง ทรง "บำเพ็ญ "ญาณ" บารมี" ถวายเป็นพระราชกุศลให้กับพระมารดา และหลักจากนั้นก็ทรงปฏิบัติเรื่อยมา อย่างจริงจัง

การบำเพ็ญ "ฌาน" บารมี หรือ ทรงพระกรรมฐานของพระเจ้าตากฯจึงเป็นประจักษ์พยานอันสำคัญยิ่ง ประจักษ์พยานที่ชัดเจนถึงความมุ่งมั่นในพระโพธิญาณ และประจักษ์พยานแห่งความแปลกแยกอันสั่นคลอนพระราชอำนาจไปด้วยพร้อมๆกัน

 
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : ผศ.ดร. ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
เรียบเรียงโดย เสาวลักษณ์ แสงสุวรรณ
http://www.tnews.co.th/contents/451122
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

PRAMOTE(aaaa)

  • ศิษย์ตรง
  • โยคาวจรผล
  • *****
  • ผลบุญ: +5/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: ชาย
  • กระทู้: 3598
  • ความศรัทธาคือเชื่อเรื่องการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
Re: นิสัยทางธรรม น้ำพระทัย "พระเจ้าตากสินฯ"
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: พฤษภาคม 14, 2018, 09:30:35 pm »
0
สาธุ สาธุ
บันทึกการเข้า
การมีกัลยาณมิตร ครูบาอาจารย์ ที่สั่งสอนธรรม เป็นเรื่องที่ดี
..เชื่อเรื่องการตรัสรู้ธรรม ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
...และเชื่อในพระธรรมที่เป็นตัวแทนของพระศาสดา