ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: กรรม 6 ประการ ที่ทำแล้ว เท่ากับ "เปิดประตูต้อนรับความหายนะ"  (อ่าน 424 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28409
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



กรรม 6 ประการ ที่ทำแล้ว เท่ากับ "เปิดประตูต้อนรับความหายนะ"

สิ่งที่ทำแล้วนำความเสื่อมและภัยมาสู่ตน พระพุทธศาสนากล่าวถึงเรื่องนี้ไว้หลายหลักธรรมเลยทีเดียว เช่น อบายมุข 6 ประกอบด้วย

    (1) การดื่มสุรา
    (2) เที่ยวสถานเริงรมย์
    (3) เที่ยวชมการแสดงร้องรำ
    (4) เล่นการพนัน
    (5) คบคนพาลเป็นมิตร และ
    (6) เกียจคร้านในการทำงาน

แต่พระพุทธเจ้าตรัสสิ่งที่หากผู้ใดได้พลาดทำลงไปแล้วจะนำ ความหายนะ มาสู่ตนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พระองค์ทรงเรียกสิ่งนี้ว่า “กรรม 6”  ลองมาดูกันค่ะว่า กรรม 6 ประการที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงนี้เป็นอย่างไร แล้วทำไมพระองค์ถึงตรัสถึงเรื่องนี้

@@@@@@

ครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ ณ พระเชตวัน ในกรุงสาวัตถี มีพราหมณ์คนหนึ่งชื่อว่า

     “อนัตถปุจฉกพราหมณ์”  เกิดความสงสัยว่า “พระพุทธเจ้าทรงทราบเพียงสิ่งที่มีคุณเท่านั้น หรือทรงทราบสิ่งที่ไม่มีคุณด้วยหรือไม่หนอ เราจะนำข้อสงสัยนี้ไปทูลถามพระองค์ เพื่อให้เกิดความกระจ่างแก่เรา”

อนัตถปุจฉกพราหมณ์ไม่รีรอ รีบเดินทางไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ณ พระเชตวันทันที

ตลอดพระชนม์ชีพของพระบรมศาสดามักได้รับการท้าทายจากพราหมณ์และเดียรถีย์อยู่เสมอ แต่ก็มีพราหมณ์และเดียรถีย์ที่เกิดความสงสัยและต้องการหาคำตอบ พวกเขาจึงเห็นพระองค์เป็นที่พึ่ง หวังว่าพระองค์จะประทานคำตอบที่มีความกระจ่าง ซึ่งเป็นจริงตามนั้นเสมอ เมื่ออนัตถปุจฉกพราหมณ์อยู่เบื้องพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีพระรัศมีเรืองรองสว่างไสว เขาไม่รอช้าที่จะทูลถามพระองค์ว่า

   “พระสมณโคดมทราบแต่เพียงสิ่งที่มีคุณเพียงอย่างเดียวหรือไม่ หรือพระองค์ทราบสิ่งที่ไม่มีคุณด้วยหรือไม่พระเจ้าข้า”

@@@@@@

เมื่อบัณฑิตผู้กระหายความรู้มาอยู่เบื้องพระพักตร์ผู้พระผู้มีรู้ ผู้ตื่น และผู้เบิกบานแล้ว พระองค์ทรงพร้อมที่จะให้คำตอบทันทีว่า

    “ตถาคตทราบทั้งสองอย่าง ท่านพราหมณ์”
    “ข้าพเจ้าทราบจากชนทั้งหลายว่า พระองค์ทรงสั่งสอนแต่สิ่งที่มีคุณเพื่อให้ชีวิตของปุถุชนทั้งหลายพ้นจากความทุกข์ ฉะนั้นจึงทูลขอพระองค์โปรดบอกสิ่งที่ไม่มีคุณให้ข้าพเจ้าได้ทราบ เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญาด้วยเถิดพระเจ้าข้า”

พระบรมศาสดาตรัสต่อพราหมณ์ว่า “สิ่งที่ไม่คุณ ทั้งยังนำพาไปสู่ความหายนะของชีวิตมีด้วยกัน 6 ประการ
 
     หนึ่ง. นอนจนตะวันโผล่พ้นฟ้า (นอนตื่นสาย)
     สอง. ความเกียจคร้านในกิจทั้งปวง
     สาม. ความดุร้าย
     สี่. ความหลงวันหลงเดือนและเวลา
     ห้า. การเดินทางไปไหนเพียงตัวคนเดียว
     หก. การมีความสัมพันธ์กับภรรยาของผู้อื่น”

เมื่อพระพุทธองค์ตรัสสิ่งที่ไม่มีคุณจบลง ความปีติและความกระจ่างแจ้งในใจได้เกิดขึ้นแก่อนัตถปุจฉกพราหมณ์ทันที
    “พระสมณโคดมทรงเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในหมู่ชนทั้งหลาย พระองค์ทรงเป็นผู้ที่ทราบสิ่งที่มีคุณและสิ่งที่ไม่มีคุณ สาธุ”


@@@@@@

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสต่อว่า
    “ท่านพราหมณ์ ผู้ใดล่วงรู้สิ่งที่มีคุณและสิ่งที่มีไม่คุณเสมอเหมือนเราไม่มีอีกแล้ว”

จากนั้นพระบรมศาสดาทรงกำหนดและอ่านวาระจิตของอนัตถปุจฉกพราหมณ์ พระองค์จึงทรงทราบความเป็นไปของเขาจนหมดสิ้น พระองค์จึงตรัสถามอนัตปุจฉกพราหมณ์ว่า
    “ท่านพราหมณ์ ท่านเลี้ยงชีพตนเองด้วยงานใดหรือ”

อนัตถปุจฉกพราหมณ์ตอบทันทีว่า
    “ข้าพเจ้าเลี้ยงชีพด้วยการเล่นการพนันพระเจ้าข้า”
    “ท่านพราหมณ์ชนะหรือแพ้บ้างไหม”
    “ชนะบ้าง และแพ้บ้าง พระเจ้าข้า”
    “การชนะที่ท่านพราหมณ์ประสบ ยังประเสริฐไม่เท่าการชนะตนเอง”

อนัตถปุจฉกพราหมณ์ได้ยินดังนั้นก็เกิดความฉงน
    “ชนะตนเอง.? พระองค์หมายความอย่างไร พระเจ้าข้า”
    “ชนะเหนือกิเลส หากชนะกิเลสได้แล้ว จะไม่พบพานกับความพ่ายแพ้ใดใดอีกเลย การชนะตนเองนั้นจึงเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด”

@@@@@@

เมื่อจบพุทธดำรัสแล้ว พราหมณ์ผู้เป็นนักเล่นการพนันกลับได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน คำตรัสของพระพุทธเจ้าไม่ต่างจากการมอบลู่ทางที่พราหมณ์จะเดินไปสู่ชัยชนะ เพราะพราหมณ์ผู้นี้จะเกิดอีก 7 ครั้งและเขาจะได้รับชัยชนะที่ประเสริฐที่สุดในโลกคือการสำเร็จอรหัตตผลนั่นเอง

กรรม 6 ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงเป็นสิ่งที่นำความหายนะมาสู่ได้อย่างไร จะสังเกตได้ว่า กรรม 6 เกิดขึ้นจากกิเลส เป็นกิจกรรมอบายมุข นำไปสู่ความเสื่อมในชีวิต เช่น เกียจคร้านในการทำงาน หรือทำให้ผิดศีล 5 อันเป็นศีลพื้นฐานของมนุษย์อย่างการมีความสัมพันธ์กับภรรยาของผู้อื่น (ผิดศีลข้อที่สาม) หรือแม้แต่การนอนตื่นสาย เป็นความหลงใหลไปกับความสุขในการนอน ก็เป็นกิเลสอย่างหนึ่ง การที่ยังติดอยู่กับกิเลส เท่ากับว่าเรายังมีภัยในสังสารวัฏ และเป็นความหายนะที่ทำให้ไปไม่ถึงพระนิพพาน



ที่มา : อรรถกถา คาถาธรรมบท เรื่องอนัตถปุจฉกพราหมณ์
ภาพ : www.pexels.com
ขอบคุณ : https://goodlifeupdate.com/healthy-mind/177387.html
By nintara1991 ,7 October 2019
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ