ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ปาฏิหาริย์ “เจ้าพ่อพระยาแล” จากสายสัมพันธ์เจ้าอนุวงศ์ สู่อิทธิพลต่อชัยภูมิยุคแรก  (อ่าน 421 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28437
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
อนุสาวรีย์พระยาภักดีชุมพล หรือเจ้าพ่อพระยาแล เจ้าเมืองแรกของเมืองชัยภูมิ ฉากหลังเป็นท้องฟ้าจากการตกแต่งภาพ (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, พฤษภาคม 2551)


ปาฏิหาริย์ “เจ้าพ่อพระยาแล” จากสายสัมพันธ์เจ้าอนุวงศ์ สู่อิทธิพลต่อชัยภูมิยุคแรก

หากเอ่ยถึงชื่อ “นายแล” หรือ พระยาภักดีชุมพล (แล) น้อยคนนักที่จะรู้จัก แต่หากกล่าวนาม “เจ้าพ่อพระยาแล” เชื่อว่าหลายคน โดยเฉพาะชาวชัยภูมิและจังหวัดใกล้เคียงคงรู้จักเป็นอย่างดี ทั้งในฐานะผู้นำทางวัฒนธรรมของเมืองชัยภูมิ และเป็นจิตวิญญาณศักดิ์สิทธิ์อย่างหนึ่งที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือและเป็นที่พึ่งยามที่เดือดเนื้อร้อนใจ นับตั้งแต่การเจ็บป่วย ปัญหาการทำกิน ตลอดจนความขัดข้องในชีวิต ฯลฯ

ดังเห็นจากการประกอบพิธีกรรมที่สัมพันธ์กับความเชื่อเจ้าพ่อพระยาแล อาทิ พิธีบวงสรวงดวงวิญญาณ พิธีบอกกล่าว และการบนบาน เป็นต้น โดยชาวบ้านอาจจะประกอบพิธีกันที่หิ้งเจ้าพ่อพระยาแลซึ่งตั้งอยู่ในบ้าน หรือไม่ก็ที่ศาลเจ้าพ่อพระยาของชุมชน รวมทั้งที่อนุสาวรีย์เจ้าพ่อพระยาแลที่ตั้งอยู่กลางเมืองชัยภูมิ

ยิ่งกว่านั้น เจ้าพ่อพระยาแลยังถูกผนวกให้เป็นหนึ่งในอุดมการณ์ของรัฐชาติเพื่อใช้ปลูกฝังให้คนรุ่นหลังตระหนักถึงความซื่อสัตย์และการเสียสละเพื่อชาติของ “นายแล” ดังปรากฏในงานบวงสรวงเจ้าพ่อพระยาแลที่จัดขึ้นในวันพุธสัปดาห์แรกของเดือนหก (ราวเดือนพฤษภาคมของทุกปี) และยังเห็นได้จากคำขวัญประจำจังหวัดที่ทางการตั้งไว้ว่า “ชัยภูมิ เมืองผู้กล้าพระยาแล”

ดังนั้น เรื่องราวของเจ้าพ่อพระยาแลจึงหาใช่เป็นเพียงตำนาน ความเชื่อ และประวัติศาสตร์ หากแต่เจือไปด้วย “การเมือง” ในแง่ความสัมพันธ์ทางสังคมในมิติต่างๆ ที่มีมูลเหตุมาจากการประดิษฐ์สร้างเรื่องราวของผู้นำทางวัฒนธรรมแห่งชัยภูมิผู้ที่ชื่อ “นายแล”

@@@@@@@

นายแล พระยาภักดีชุมพล กับเมืองชัยภูมิ

ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จังหวัดชัยภูมิเป็นที่ว่างเปล่า มีผู้คนอาศัยอยู่เป็นจำนวนน้อย กระทั่งมีชายคนหนึ่งชื่อ “แล” เชื่อกันว่าเป็นพี่เลี้ยงของราชบุตรพระเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ ได้ลาออกจากหน้าที่แล้วอพยพครอบครัวมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้าน “น้ำขุ่น หนองอีจาน” กระทั่งปี พ.ศ. 2362 จึงย้ายมาอยู่ที่ “โนนน้ำล้อมชีลอง” พร้อมสร้างหลักปักฐานตั้งหมู่บ้านเรียกชื่อกันว่า “บ้านชีลอง” (สง่า พัฒนชีวะพูล 2537 : 1-2)

ด้วยเหตุที่บ้านชีลองมีทำเลที่เหมาะกับการทำกิน จึงทำให้คนจากถิ่นต่างๆ เริ่มอพยพเข้ามาทำกินกันเป็นจำนวนมาก นายแลจึงเก็บส่วยถวายเป็นบรรณาการแด่เจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ เจ้าอนุวงศ์จึงปูนบำเหน็จความชอบ ตั้งนายแลเป็น “ขุนภักดีชุมพล (แล)” เป็นผู้ควบคุมหมู่บ้านแห่งนี้

ต่อมาในปี พ.ศ. 2365 ขุนภักดีชุมพล (แล) เห็นว่าบ้านโนนน้ำล้อมชีลองคับแคบ จึงย้ายมาตั้งถิ่นฐานบริเวณหนองปลาเฒ่ากับบ้านหนองหลอด พร้อมเรียกชื่อหมู่บ้านแห่งนี้ว่า “บ้านหลวง” กระทั่งขุนภักดีชุมพล (แล) ได้ค้นพบบ่อทองโขโล บริเวณเชิงเขาภูขี้เถ้าที่ลำห้วยชาด ด้านทิศตะวันออกของภูเขาพญาฝ่อ จึงเกณฑ์ชายฉกรรจ์ไปช่วยกันขุดหาทอง

ซึ่งในที่สุดก็ได้ทองมาจำนวนหนึ่งจึงส่งเป็นบรรณาการแก่เจ้าอนุวงศ์ ด้วยความชอบครั้งนี้ เจ้าอนุวงศ์จึงตั้งขุนภักดีชุมพล (แล) เป็นเจ้าเมืองแล้วยกบ้านหลวงเป็นเมืองชัยภูมิพร้อมเลื่อนยศเป็นพระภักดีชุมพล (แล)

กระทั่ง พ.ศ. 2369 เจ้าอนุวงศ์และเจ้าราชบุตร (โย้) ผู้ครองนครจำปาศักดิ์พิจารณาเห็นว่าเขตแขวงในบริเวณนี้มีชายฉกรรจ์และผู้คนอยู่มาก ต่อไปภายหน้าอาจมีใจกำเริบ จึงโปรดให้พระภักดีชุมพล (แล) เกณฑ์ชายฉกรรจ์ในเขตแขวงเมืองชัยภูมิส่งไปสมทบไว้ที่เมืองเวียงจันทน์ แต่พระภักดีชุมพล (แล) มีความเคารพและเกรงต่อบารมีของบรมเดชานุภาพเจ้าอยู่หัวจากทางกรุงเทพฯ จึงไม่ปฏิบัติตาม

เจ้าอนุวงศ์จึงทรงแต่งตั้งให้อุปฮาด (สีด่าน) กับเจ้าวงศ์เวียงจันทน์คุมกำลังเข้าตีหัวเมืองรายทางเข้ามาทางเมืองกาฬสินธุ์ จับเจ้าพระยาสุนทรเจ้าเมืองกาฬสินธุ์ฆ่าเสีย แล้วยกพลล่วงเข้ามาถึงเมืองเขมราฐ จับพระยาเทพวงศาเจ้าเมืองเขมราฐฆ่าเป็นลำดับต่อมา ก่อนยกกำลังผ่านเมืองร้อยเอ็ด เมืองสุวรรณภูมิ มาถึงเมืองชัยภูมิ พร้อมจับพระภักดีชุมพล (แล) เจ้าเมืองชัยภูมิ ฆ่าอีกคนหนึ่ง

@@@@@@@

หลังจากนั้นจึงยกพลเข้าสู่เมืองนครราชสีมาก่อนปะทะกับกองกำลังของสยามที่ยกมาจากกรุงเทพฯ ซึ่งมีพระยาราชสุภาวดี เป็นแม่ทัพ ปรากฏว่ากองทัพเวียงจันทน์ทานกำลังไม่ไหว ถูกตีแตกพ่ายไปในที่สุด (สุทธิ เหล่าฤทธิ์ และคณะ 2545 : 168-185)

เมื่อพระภักดีชุมพล (แล) ถึงแก่อนิจกรรมจึงได้เลื่อนยศศักดิ์เป็นพระยาขุนภักดีชุมพล (แล) หากทว่า หลังจากนั้นเมืองชัยภูมิก็เกิดความระส่ำระสาย เนื่องจากขาดผู้นำ

กระทั่งปี พ.ศ. 2374 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าพระเจ้าอยู่หัว โปรดให้นายเกตมาเป็นเจ้าเมืองชัยภูมิ ตั้งบรรดาศักดิ์เป็นพระยาภักดีชุมพล (เกต) พร้อมย้ายเมืองจากที่เดิมมาตั้งที่ “บ้านโนนปอปิด” และเก็บส่วยทองส่งกรุงเทพฯ เป็นบรรณาการ พระยาภักดีชุมพล (เกต) รับราชการอยู่ช่วงหนึ่งจึงถึงแก่อนิจกรรม

หลังจากนั้นจึงมีการผลัดเปลี่ยนตำแหน่งเจ้าเมืองเป็นระยะๆ เริ่มจากพระภักดีชุมพล (เบี้ยว), หลวงวิเศษภักดี (ทิ), หลวงปลัด (บุญจันทร์) หลวงภักดีสุนทร (เสง), พระหฤทัย (บัว) เป็นเจ้าเมืองตามลำดับ และที่น่าสังเกตคือ ในสมัยหลวงวิเศษภักดี (ทิ) ได้ย้ายเมืองจากบ้านโนนปอปิดมาตั้งเมืองใหม่ที่บ้านหินตั้ง และอยู่มาจนทุกวันนี้

ต่อมา ได้มีพระราชบัญญัติระเบียบบริหารแบ่งเขตหัวเมืองต่างๆ ใหม่เป็นมณฑล เกิดเป็นจังหวัดชัยภูมิเป็นเมืองอยู่ในเขตมณฑลนครราชสีมา ก่อนมีพระราชบัญญัติแบ่งเขตการปกครองแผ่นดินให้ยุบมณฑลทั้งหมดเป็นจังหวัด เมืองชัยภูมิจึงเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีเจ้าเมือง หรือข้าหลวง หรือผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารแผ่นดินตลอดมาจนถึงปัจจุบันนี้ (สำนักงานจังหวัดชัยภูมิ 2526)

@@@@@@@

“ปู่ด้วง” และอิทธิปาฏิหาริย์ ของเจ้าพ่อพระยาแล

เรื่องราวของปู่ด้วงนับว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดอย่างมากกับนายแล แม้ประวัติของปู่ด้วงจะไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน เป็นเพียงคำบอกเล่าและบันทึกของคนท้องถิ่น (พระครูศรีพิพัฒนคุณ และสุรวิทย์ อาชีวศึกษาคม อ้างในกรมศิลปากร 2542 : 146-147) พบว่า ปู่ด้วงเป็นชาวเขมร เข้ามาอยู่ชัยภูมิก่อนที่พระยาภักดีชุมพล (แล) จะอพยพผู้คนมาตั้งเมือง ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อบางกระแสที่ว่า ปู่ด้วงเป็นชาวอำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ เพราะชาวศรีสะเกษส่วนมากจะพูดภาษาเขมรและภาษาส่วย เป็นภาษาพูดแต่โบราณ

นอกจากนี้ ชาวชัยภูมิยังเชื่อว่า ปู่ด้วงได้พาครอบครัวมาตั้งหลักฐานที่บ้านตาดโตน ท่านเป็นผู้มีวิชาอาคมและเวทมนตร์ ทำให้นายแลเกิดความเลื่อมใสและขอฝากตัวเป็นศิษย์เรียนวิชาอาคมให้อยู่ยงคงกระพัน ฟันไม่เข้าและยิงไม่ออก

จนเป็นที่มาของเรื่องเล่าในตอนที่ท่านพลีชีพเพื่อแผ่นดินชัยภูมิในช่วงกบฏเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ว่า ศัตรูจะยิงแทงฟันอย่างไรก็ไม่เข้า จึงต้องใช้หลาวแหลมเสียบทวารหนักจนถึงแก่ชีวิต เมื่อปู่ด้วงรู้ข่าวกลัวภัยจะมาถึงตัว จึงรีบอพยพหลบหนีจากบ้านตาดโตนเข้าป่าลึก ในเทือกเขาภูแลนคา อาศัยอยู่ป่าท่าหินโงม ซึ่งจะปรากฏมีวัดปู่ด้วงมาจนบัดนี้ (เพิ่งอ้าง)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 27, 2021, 09:36:41 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28437
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
 :s_hi: :s_hi: :s_hi: :s_hi:

จากพระยาภักดีชุมพล (แล) สู่เจ้าพ่อพระยาแล

ความเชื่อเกี่ยวกับเจ้าพ่อพระยาแล หรือพระยาภักดีชุมพล (แล) เจ้าเมืองคนแรกของเมืองชัยภูมิ ตามประวัติที่กล่าวแล้วเบื้องต้นสรุปได้ว่า นายแลเป็นคนลาวอพยพมาจากเมืองเวียงจันทน์ คนกลุ่มนี้มีการตั้งหลักแหล่งและอพยพเรื่อยมา จนท้ายสุดได้ตั้งหลักฐานมั่นคงที่เมืองชัยภูมิในปัจจุบัน และได้สร้างเมืองจนมั่นคง และได้รับการยอมรับจากคนชัยภูมิว่า เป็นผู้มีความสามารถในด้านการปกครองและมีความจงรักภักดีต่อแผ่นดิน รวมถึงบ้านเมืองที่ตนสร้างขึ้น แม้ตัวตายก็ไม่เกรงกลัว

ตามความเชื่อที่สืบทอดมากล่าวว่า พระยาภักดีชุมพล (แล) ไม่ยอมร่วมมือกับเจ้าอนุวงศ์ แห่งเมืองเวียงจันทน์ จึงถูกฆ่าตาย ณ ริมหนองปลาเฒ่า บริเวณที่มีการสร้างศาลของท่านในปัจจุบัน แม้จะไม่มีหลักฐานชัดเจน แต่จากตำนาน “เจ้าพ่อพระยาแล” และประวัติของพระยาภักดีชุมพล (แล) ในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นกับพบเรื่องราวที่สอดคล้องกันคือ ท่านได้เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2369 ช่วงเดียวกับที่เกิดเหตุการณ์กบฏเมืองเวียงจันทน์ต่อกรุงเทพฯ ซึ่งชาวชัยภูมิเชื่อว่า ท่านพลีชีพตนเอง เพราะไม่ยอมทรยศต่อแผ่นดินไทย

ดังนั้น พระยาภักดีชุมพล (แล) จึงเป็นสัญลักษณ์ของความกล้าหาญ ความจงรักภักดีต่อแผ่นดินและราชวงศ์จักรี จนยุคสมัยปัจจุบัน ทางราชการได้สร้างคำขวัญของจังหวัดให้สอดคล้องกับตัวท่านว่า “ชัยภูมิ เมืองผู้กล้าพระยาแล” (กรมศิลปากร : 146) ประกอบกับตามคติแห่งการถือผีบรรพบุรุษชาวชัยภูมิเชื่อว่า ดวงวิญญาณของท่านยังคอยปกปักคุ้มครองเมืองชัยภูมิ ให้เกิดความสงบสุขร่มเย็นตลอดมา ตัวท่านจึงเป็นสัญลักษณ์ที่ผู้คนให้ความเคารพนับถือบูชา โดยไม่มีการชักจูงใดๆ แม้ชาวชัยภูมิรุ่นหลังๆ ก็มีความศรัทธาต่อท่าน (สง่า พัฒนชีวะพูล : 107-156)

เหตุนี้จึงทำให้ชาวบ้านเรียกพระยาชุมพลภักดี (แล) ว่า “เจ้าพ่อพระยาแล” ที่มีสถานภาพเปรียบดั่งบิดาผู้ยิ่งใหญ่หรือเทพเจ้าศักดิ์สิทธิ์ (ศรีศักร วัลลิโภดม 2527 : 11-13) ซึ่งในที่นี้คือ เป็นทั้งอดีตเจ้าเมืองชัยภูมิและเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ให้การคุ้มครองลูกหลานได้อยู่เย็นเป็นสุข จนกลายเป็นสัญลักษณ์และมรดกทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่ชาวชัยภูมิให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก

@@@@@@@

ประวัติศาสตร์และความทรงจำในศาลและอนุสาวรีย์เจ้าพ่อพระยาแล

ศาลเจ้าพ่อพระยาแล ตั้งอยู่บริเวณหนองปลาเฒ่า อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ อยู่ห่างจากตัวจังหวัดชัยภูมิระยะทางราว 2 กิโลเมตร เป็นศูนย์รวมความเชื่อความศรัทธาในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ที่สัมพันธ์กับความเชื่อเจ้าพ่อพระยาแล ชาวบ้านส่วนมากจะมาประกอบพิธีกรรมบอกกล่าว บนบาน บวงสรวงดวงวิญญาณเจ้าพ่อพระยาแล และใช้เป็นสถานที่จัดงานบุญเดือนหก

เดิมศาลเจ้าพ่อพระยาแลสร้างเป็นเพียงศาลเพียงตา (ศาลไม้) อยู่ใต้ต้นมะขามใหญ่ ริมฝั่งหนองปลาเฒ่า ชาวบ้านเชื่อว่าน่าจะสร้างราวปี พ.ศ. 2369 หลังจากเจ้าพ่อพระยาแลถูกเจ้าอนุวงศ์จับประหารชีวิต จนล่วงเลยมาปี พ.ศ. 2511 จึงสร้างเป็นศาลคอนกรีต แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2512 โดยความร่วมมือของชาวชัยภูมิ ต่อมาในปี พ.ศ. 2335 ได้รื้อศาลไม้และสร้างศาลคอนกรีตแทนบริเวณเดิม เป็นศาลคอนกรีตหลังที่ 2 เรียกว่าศาลบวงสรวง (สง่า พัฒนชีวะพูล : 30)

ส่วนอนุสาวรีย์เจ้าพ่อพระยาแล ตั้งอยู่ใจกลางสี่แยกถนนหฤทัยกับถนนบรรณาการ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ ตัวอนุสาวรีย์หล่อด้วยโลหะเป็นรูปเจ้าพ่อพระยาแล ในท่ายืนถือหนังสือ หันหน้าไปทางทิศใต้ สูง 270 เมตร หนัก 700 กิโลกรัม (ธีระ ศิริธรรม 2510 : 7) ตั้งอยู่บนฐานในกลางคอนกรีตเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส สูง 4 เมตร ที่ฐานจารึกว่า

“พระยาภักดีชุมพล (แล) เจ้าเมืองชัยภูมิคนแรก พ.ศ. 2360-2369 เป็นผู้ที่ซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อบ้านเมือง ได้สร้างเมืองชัยภูมิและพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญขึ้นเป็นลำดับ ชาวชัยภูมิได้พร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์ของท่านไว้เป็นที่ระลึกเมื่อ พ.ศ. 2508”

อนุสาวรีย์เจ้าพ่อพระยาแลเริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2507 โดย นายช่วย นนทะนาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิยุคนั้น ร่วมกับข้าราชการ พ่อค้า และชาวชัยภูมิมีความเห็นชอบที่จะสร้างอนุสาวรีย์พระยาภักดีชุมพล (แล) ให้เป็นมิ่งขวัญและเป็นศรีสง่าอยู่คู่เมืองชัยภูมิ จึงได้ทำหนังสืออนุมัติไปยังกระทรวงมหาดไทย

@@@@@@@

หลังจากนั้นทางจังหวัดจึงหาเงินสมทบทุนสร้างอนุสาวรีย์ โดยจัดให้มีงานประจำปีขึ้นเป็นเวลา 2 ปี ติดต่อกัน คือ ประจำปี พ.ศ. 2507 และ พ.ศ. 2508 ขณะเดียวกันทางจังหวัดได้ติดต่อให้กรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบตัวอนุสาวรีย์และสิ่งอื่นๆ ทั้งหมด โดยจังหวัดรับมาดำเนินการทำเองทุกอย่าง ยกเว้นเฉพาะรูปหล่อพระยาภักดีชุมพล (แล) ที่กรมศิลปากรเป็นผู้จัดทำการดำเนินงาน สร้างเสร็จเรียบร้อยในปี พ.ศ. 2509

กระทั่ง วันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2509 อนุสาวรีย์พระยาภักดีชุมพล (แล) ถูกเคลื่อนย้ายจากกรมศิลปากรมาถึงหน้าศาลเจ้าพ่อพระยาแล จึงเตรียมการเคลื่อนอนุสาวรีย์ไปยังรถตกแต่งเพื่อใช้วิ่งฉลองรอบเมืองในวันรุ่งขึ้น ปรากฏว่า ก่อนเชิญองค์อนุสาวรีย์ขึ้นรถ ทางคณะกรรมการจัดงานได้จุดธูปเทียนนมัสการองค์อนุสาวรีย์ บอกกล่าวดวงวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์ของท่าน และขณะทำพิธีบอกกล่าว ฝนก็ตกในตลาดเมืองชัยภูมิและรอบๆ อนุสาวรีย์

คล้ายกับจงใจตกลงมาเพื่อให้หยาดน้ำฝนอันบริสุทธิ์ชำระล้างพื้นที่รอบๆ อนุสาวรีย์ ในขณะที่บริเวณศาลเจ้าพ่อพระยาแล บ้านหนองปลาเฒ่า ที่คณะกรรมการกำลังทำพิธีบอกกล่าวฝนกลับไม่ตก ชาวบ้านบอกว่า เป็นเรื่องที่สร้างความอัศจรรย์เป็นอย่างมากถึงปาฏิหาริย์เจ้าพ่อพระยาแล

ในคืนวันนั้นมีชาวบ้านมากราบไหว้อนุสาวรีย์พระยาภักดีชุมพล (แล) กันเป็นจำนวนมาก มีมหรสพสมโภช กระทั่งวันที่ 23 ธันวาคม ได้ฤกษ์เวลา 08.30 น. คณะกรรมการจัดงานกราบไหว้บอกกล่าวแก่องค์เจ้าพ่อ เชิญท่านร่วมนำขบวนแห่จากศาลหนองปลาเฒ่า แห่รอบเมืองชัยภูมิ พร้อมริ้วขบวนจากหน่วยงานราชการต่างๆ ประกอบมากมาย

เมื่อขบวนแห่มาถึงวงเวียนอนุสาวรีย์ได้แห่รอบอนุสาวรีย์ 3 รอบ แล้วตั้งขบวนล้อมรอบฐานวงเวียนอนุสาวรีย์ ทำพิธีบวงสรวงอัญเชิญองค์อนุสาวรีย์ท่านเจ้าพ่อพระยาแลขึ้นประดิษฐาน ณ ฐานที่ตั้ง พร้อมกับการรำฟ้อนของสาวงามที่ติดตามมากับขบวนแห่ และขบวนอื่นๆ ต่างก็พากันฟ้อนรำถวายกันอย่างครื้นเครง เมื่อองค์อนุสาวรีย์ประดิษฐานเรียบร้อยแล้ว ได้เตรียมรอทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการอีกครั้งในวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2510 จนกลายเป็นประเพณีการจัดงานเจ้าพ่อพระยาแลมาจนถึงปัจจุบันนี้ (ธีระ ศิริธรรม : 5-9)

@@@@@@@

นอกจากนี้ ยังมีหอบูชาเจ้าพ่อพระยาแลที่บ้านคนทรง ที่บ้านคนทรงจะมีเครื่องบูชาเจ้าพ่อพระยาแลเหมือนกันทุกบ้าน ได้แก่ รูปหล่อเจ้าพ่อพระยาแล ดาบ 1 เล่ม บายศรี ขันธ์ห้า ขันธ์แปด ดอกไม้ ธูปเทียน ห่อนิมนต์ พวงมาลัย รูปปั้นช้างม้า ข้าทาสบริวารชายหญิง หอบูชาเจ้าพ่อพระยาแลที่บ้านของตนเอง ชาวชัยภูมิส่วนมากจะมีรูปสัญลักษณ์เจ้าพ่อพระยาแลประจำอยู่ที่หอบูชาที่บ้านของตนเอง เช่น รูปหล่อ เหรียญ ผ้ายันต์ รูปภาพ สติ๊กเกอร์ และภาพถ่าย เป็นต้น

ดังนั้น เมื่อชาวบ้านมีความเดือดเนื้อร้อนใจหรือมีความต้องการอยากจะให้เจ้าพ่อพระยาแลช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ เช่น ขอให้หายจากการเจ็บไข้ได้ป่วย ทำนาทำไร่ให้ได้ผล ขอให้ขายที่ดินได้ราคาดี ขอให้ทำมาค้าขายได้กำไรดี ขอให้ได้ไปทำงานต่างประเทศ ฯลฯ

แต่สิ่งที่น่าสังเกตคือ การขอพรและความช่วยเหลือจากเจ้าพ่อพระยาแลมักสัมพันธ์กับสิ่งที่เป็นมงคลกับชีวิตหรือให้การกระทำที่สุจริตลุล่วง ส่วนการกระทำที่ไม่ซื่อสัตย์ ผิดศีลธรรม หรือขัดต่ออุดมการณ์รัฐ เช่น การจี้ปล้น การละเว้นจากการเกณฑ์ทหารด้วยวิธีที่ไม่ชอบธรรม หรือการคอร์รัปชั่นนั้น ชาวบ้านเชื่อว่าเจ้าพ่อพระยาแลจะไม่ส่งเสริมให้คำขอดังกล่าวสัมฤทธิผล

ยิ่งกว่านั้น หากเป็นชาวชัยภูมิด้วยแล้วจะไม่ขอเรื่องดังกล่าวเด็ดขาด เพราะถือเป็นเรื่องไม่สมควร เนื่องจากขัดกับอุดมการณ์เรื่องของความซื่อสัตย์และความเสียสละเพื่อชาติ ที่มีอยู่ในตัวเจ้าพ่อพระยาแล หรือหากใครคิดอุตริขอให้ช่วยเหลือเรื่องดังกล่าว อาจเจ็บไข้ได้ป่วยหรือมีอันเป็นไปต่างๆ นานาได้

ส่วนเหตุที่ประกอบพิธีกรรมที่บ้านของตนเอง เพราะเชื่อว่าสัญลักษณ์ที่เป็นตัวแทนของเจ้าพ่อนั้นมีความศักดิ์สิทธิ์ สามารถรับรู้เรื่องราวต่างๆ ที่ขอความช่วยเหลือได้ และสะดวกต่อการประกอบพิธีกรรมไม่ต้องเดินทางไปที่ศาลหรืออนุสาวรีย์เจ้าพ่อพระยาแล…

@@@@@@@

หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดส่วนหนึ่งจากบทความ “เจ้าพ่อพระยาแล การก่อตัวของผู้นำทางวัฒนธรรมแห่งเมืองชัยภูมิ และตำนานกับการสร้างอุดมการณ์รัฐชาติ” โดย เอกรินทร์ พึ่งประชา ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร (สังกัดในขณะนั้น) เผยแพร่ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2551





ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2551
ผู้เขียน   : เอกรินทร์ พึ่งประชา
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ 26 กันยายน พ.ศ.2564
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 มิถุนายน 2564
ขอบคุณ : https://www.silpa-mag.com/history/article_69595
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ