ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: อำนาจ 'บาตร' ใหญ่ หรือ อำนาจ 'บาท' ใหญ่  (อ่าน 1121 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
อำนาจ 'บาตร' ใหญ่ หรือ อำนาจ 'บาท' ใหญ่
« เมื่อ: มกราคม 10, 2022, 09:11:36 am »
0



อำนาจ 'บาตร' ใหญ่ หรือ อำนาจ 'บาท' ใหญ่

มีปัญหาว่า
๑. “อำนาจบาตรใหญ่” หรือ “อำนาจบาทใหญ่” กันแน่
๒. ทำไมจึงต้องเป็น “-บาตรใหญ่”
๓. คำที่ต่อท้าย “อำนาจ-” ควรเป็น “-บาตรใหญ่” หรือ “-บาทใหญ่”

ข้อมูลจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔
(๑) บาตร : (คำนาม) ภาชนะชนิดหนึ่งสําหรับภิกษุสามเณรใช้รับอาหารบิณฑบาต. (ส. ปตฺร; ป. ปตฺต).
(๒) บาท ๑ : (คำนาม) ตีน, ราชาศัพท์ว่า พระบาท. (ป., ส. ปาท).
(๓) บาท ๒ : (คำนาม) มาตราเงินตามวิธีประเพณี ๑๐๐ สตางค์ หรือ ๔ สลึง เท่ากับ ๑ บาท


@@@@@@@

คำตอบข้อ ๑.

“อำนาจบาตรใหญ่” หรือ “อำนาจบาทใหญ่” กันแน่

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ มีคำว่า “บาตรใหญ่” (บาตร -ตร) บอกไว้ว่า “อํานาจที่ใช้ในทางข่มขี่, ใช้เข้าคู่กับ อํานาจ เป็น อํานาจบาตรใหญ่”

แต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ ตัดคำว่า “บาตรใหญ่” และบทนิยามนี้ออกไป
ทั้ง พจนานุกรมฯ.๔๒ และ พจนานุกรมฯ.๕๔ มีคำว่า “อํานาจบาตรใหญ่” บอกความหมายไว้ว่า “อํานาจที่ใช้ในทางข่มขี่ เช่น ถือว่ามีอำนาจบาตรใหญ่รังแกใครได้ก็ตามใจชอบ”

ยุติว่า สะกด “อำนาจบาตรใหญ่” -บาตรพระ ไม่ใช่ “อำนาจบาทใหญ่” -บาทเท้า

@@@@@@@

คำตอบข้อ ๒.

ทำไมจึงต้องเป็น “-บาตรใหญ่”.?

ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) อธิบายไว้ในหนังสือ “สำนวนไทย” ว่า ท่านไม่แน่ใจว่าสำนวนนี้แต่โบราณนั้นใช้-บาด-ตัวไหนแน่ (บาทเงิน บาทเท้า หรือบาตรพระ) แต่สำหรับบาตรพระนั้นมีอยู่ ๓ ขนาด คือ ใหญ่ กลาง เล็ก ซึ่งจะมีความจุต่างกันเล็กน้อย

เวลาที่จะตวงอะไรโดยใช้บาตรพระเป็นเครื่องมือสำหรับตวง คนที่ตัวเองมีบาตรใหญ่กว่าจะเอามาใช้ แล้วยืนยันว่าของตนเองถูก ของคนอื่นผิด จึงเกิดเป็นสำนวน “เอาบาตรใหญ่เข้าข่ม” เป็นที่มาของคำว่า “อำนาจบาตรใหญ่” คือหมายถึงบาตรพระ ไม่ใช่บาทเท้า


@@@@@@@

คำตอบข้อ ๓.

คำที่ต่อท้าย “อำนาจ-” ควรเป็น “-บาตรใหญ่” หรือ “-บาทใหญ่”

คนปัจจุบันคุ้นกับภาพที่ผู้มีอำนาจกดขี่เหยียบย่ำคนที่ด้อยกว่า การกดขี่เหยียบย่ำนั้นเป็นกิริยาที่ทำด้วยเท้า คือ “บาท” ดังนั้น เมื่อได้ยินคำว่า “อำนาจ-” ต่อด้วยเสียง “บาด” ใหญ่ จึงมีความโน้นเอียงที่จะคิดถึง “บาทเท้า” ได้ง่ายและรู้สึกสอดคล้องกับพฤติการณ์ ประกอบกับไม่คุ้นกับเรื่องขนาดของบาตรพระ จึงคิดไม่เห็นว่า “บาตรพระ” จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับอำนาจได้อย่างไร

นับว่าโชคดีที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานยังคงรักษารูปคำสะกดเดิม คือ “-บาตรใหญ่” ไว้ เท่ากับเป็นพยานหลักฐานที่จะให้สืบค้นไปถึงความเป็นมาได้ และควรขอบคุณผู้รู้รุ่นเก่าที่ได้เล่าถึงที่มาของคำว่า “-บาตรใหญ่” ไว้ เพื่อให้คนภายหลังที่มีภูมิหลังต่างกันได้ศึกษา

แต่ขณะเดียวกันก็มีแนวโน้มว่า ในอนาคตจะมีผู้เขียนว่า “อำนาจบาทใหญ่” (บาทเท้า) กันมากขึ้น และจะมีผู้นิยมใช้ตามกันมากขึ้นด้วย เพราะเห็นภาพได้ชัดกว่า “อำนาจบาตรใหญ่” (บาตรพระ) ถึงตอนนั้นก็จะมีคนออกมาช่วยกันอธิบายว่า “อำนาจบาทใหญ่” (บาทเท้า) มีความถูกต้องเหมาะสมกว่าเพราะเหตุผลอย่างนั้นๆ

ถึงเวลานั้น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานก็คงจะต้องเพิ่มคำนิยามจากเดิมที่ว่า –
   “อำนาจบาตรใหญ่ : อํานาจที่ใช้ในทางข่มขี่ เช่น ถือว่ามีอำนาจบาตรใหญ่รังแกใครได้ก็ตามใจชอบ”
    เป็น – “อำนาจบาตรใหญ่ : อํานาจที่ใช้ในทางข่มขี่ เช่น ถือว่ามีอำนาจบาตรใหญ่รังแกใครได้ก็ตามใจชอบ อำนาจบาทใหญ่ ก็ว่า”
    และเพิ่มคำตั้งเป็น “อำนาจบาทใหญ่” ขึ้นมาอีกคำหนึ่ง

ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับว่า คนรุ่นใหม่
    ๑. รักที่จะสืบค้นรากเหง้าของตัวเองมากน้อยแค่ไหน หรือรักที่จะชูความเข้าใจเฉพาะหน้าของตัวเองนำหน้ามากกว่า หรือว่า –
    ๒. พอใจที่จะตะลุยไปข้างหน้าโดยไม่เหลียวมองข้างหลัง หรือว่า –
    ๓. เก่าก็ไม่หวังที่จะสนใจ ใหม่ก็ไม่คิดจะเรียนให้รู้ทัน วันๆ คิดแต่จะหาวิธีเสพเสวยสุข






ขอขอบคุณ :-
ผู้เขียน : พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย , ๖ มกราคม ๒๕๖๕ ,๑๖:๓๘
web : dhamma.serichon.us/2022/01/07/อำนาจบาตรใหญ่/
posted date : 7 มกราคม 2022 ,By admin.
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ