ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: กัญจนมาณพ กัจจายนะปุโรหิต มหากัจจายนเถระ (โดยพิสดาร) ๒.  (อ่าน 1413 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออนไลน์ ออนไลน์
  • กระทู้: 28362
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


15. พระมหากัจจายนเถระ เอตทัคคะในทางผู้อธิบายความย่อให้พิสดาร

พระมหากัจจายนะ เป็นบุตรของพราหมณ์ตระกูลกัจจายนะ ผู้เป็นปุโรหิต (ที่ปรึกษา) ของพระเจ้าจัณฑปัชโชต ในกรุงอุชเชนี เดิมท่านชื่อว่า “กัญจนะ” เพราะมีรูปร่างลักษณะงามสง่า มีเสน่ห์แก่ผู้พบเห็น เมื่อเจริญวัยขึ้น ได้เรียนจบไตรเพท คือ คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาพราหมณ์ เมื่อบิดาถึงแก่กรรมแล้วได้ดำรงตำแหน่งปุโรหิตแทนบิดา
       
เมื่อพระบรมศาสดาตรัสรู้แล้ว เสด็จเที่ยวจาริกประกาศหลักธรรมคำสอนตามคามนิคมชนบทอยู่นั้น พระเจ้าจัณฑปัชโชต มีพระราชประสงค์จะกราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์เสด็จสู่กรุงอุชเชนีของพระองค์บ้าง จึงรับสั่งให้ปุโรหิจกัจจายนะไปกราบทูลอาราธนา กัจจายนะถือโอกาสกราบทูลลาเพื่ออุปสมบทด้วย เมื่อทรงอนุญาตแล้วจึงพร้อมด้วยบริวารติดตามอีก ๗ คน เดินทางไปเฝ้าพระบรมศาสดา

เมื่อเดินทางไปถึงก็รับเข้าเฝ้า พระพุทธองค์ตรัสพระธรรมเทศนาให้ ฟังและเท่านทั้ง ๘ คนนั้น ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ แล้วกราบทูลขออุปสมบท พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปนา เมื่อได้อุปสมบทแล้ว ได้กราบทูลอาราธนาพระบรมศาสดาเสด็จสู่กรุงอุชเชนี ตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้เดินทางมา แต่พระบรมศาสดารับสั่งให้ท่านไปเอง พระเจ้าจัณฑปัชโชตและชาวเมืองก็จะเกิดศรัทธาเหมือนกัน

พระมหากัจจายนะ จึงกราบทูลลาพระบรมศาสดาพาภิกษุบริวารอีก ๗ องค์นั้น เดินทางกลับสู่กรุงอุชเชนี ประกาศหลักธรรมคำสอนในพุทธศาสนาให้พระเจ้าจัณฑปัชโชต และชาวเมืองได้สดับรับฟัง เกิดศรัทธาเลื่อมใส ทำให้พระพุทธศาสนาแพร่กระจายทั่วกรุงอุชเชนีแล้ว ท่านก็ได้เดินทางกลับมาเฝ้าพระผู้มีพระภาคอีก


@@@@@@@

กราบทูลขอพระบรมพุทธนุญาตแก้ไขพุทธบัตติ

ครั้งหนึ่ง ท่านพระมหากัจจายนะพักอาศัยอยู่ที่ภูเขาปวัตตะ แขวงเมืองกุรุรฆระ ในอวันตีทักขิณาปถชนบท ขณะนั้น มีอุบาสกคนหนึ่งชื่อว่า โสณกุฎิกัณณะ มีศรัทธาจะอุปสมบท แต่เนื่องจากในอวันตีชนบทนั้นมีพระภิกษุจำนวนน้อย ไม่ครบเป็นคณปูรกะจำนวน ๑๐ รูป (ทสวรรค) ตามพระบรมพุทธานุญาต ท่านจึงให้บรรพชาเป็นสามเณรอยู่นานถึง ๓ ปีกว่าจะได้อุปสมบท

และเมื่อท่านโสณกุฏิกัณณะได้อุปสมบทแล้ว ปรารถนาจะเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา ได้กราบลาพระมหากัจจายนะ ก็อนุญาตพร้อมทั้งสั่งให้ไปราบทูลขอพระบรมพุทธานุญาต ให้พระพุทธองค์ทรงแก้ไขพุทธบัญญัติ ๕ ข้อ ซึ่งไม่สะดวกแก่พระภิกษุผู้อยู่ในอวันตีชนบท คือ :-
       
    ๑) ในอวันตีชนบท มีพระภิกษุจำนวนน้อย ขอให้พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตการอุปสมบทด้วยคณะพระภิกษุน้อยกว่า ๑๐ รูปได้ข้อนี้ พระพุทธองค์ทรงอนุญาตว่า “ดูก่อนภิกษุ เราอนุญาตการอุปสมบทในปัจจันตชนบทด้วยคณะพระภิกษุ ๕ รูปได้”
    ๒) ในอวันตีชนบท มีพื้นดินขรุขระไม่เรียบไม่สม่ำเสมอ ขอให้พระผู้มีอาภาคทรงอนุญาตให้พระภิกษุในอวันตีชนบทสวมรองเท้ามีพื้นหลายชั้นได้ข้อนี้ ทรงอนุญาตว่า “ดูก่อนภิกษุ เราอนุญาตให้ภิกษุสวมรองเท้ามีพื้นหลายชั้น ใน ปัจจันตชนบทได้”
    ๓) ในอวันตีชนบท อากาศร้อน บุคคลต้องอาบน้ำทุกวัน ขอพระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ภิกษุอาบน้ำเป็นนิตย์ได้ ข้อนี้ ทรงอนุญาตว่า “ดูก่อนภิกษุ เราอนุญาตการอาบน้ำได้เป็นนิตย์แก่ภิกษุผู้อยู่ใน ปัจจันตชนบท”
    ๔) ในอวันตีชนบท มีเครื่องลาดที่ทำด้วยหนังมีหนังแพะ และหนังแกะ เป็นต้น สมบูรณ์ดีเหมือนในมัชฌิมชนบท ขอพระพุทธองค์ทรงอนุญาตเครื่องลาดทำด้วยหนังสัตว์ มีหนังแพะและหนังแกะ เป็นต้นเหล่านั้นเถิดข้อนี้ ทรงอนุญาตว่า “ดูก่อนภิกษุ เราอนุญาตเครื่องลาดที่ทำด้วยหนังสัตว์เหล่านั้น”     
    ๕) ทายกทั้งหลาย มักจะถวายจีวรแก่ภิกษุผู้ที่ออกจากวัดไปแล้ว ด้วยสั่งไว้ว่า “ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอถวายจีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้” เมื่อเธอกลับมาแล้ว ทายกได้นำจีวรเข้าไปถวาย แต่เธอไม่ยอมรับด้วยเข้าใจว่า ผ้าผืนนี้เป็นนิสสัคคีย์ข้อนี้ ทรงอนุญาตว่า “ดูก่อนภิกษุ เราอนุญาตให้ภิกษุรับจีวรที่ทายกถวายลับหลังได้ ด้วยว่า ผ้ายังไม่ถึงมือเธอตราบใด จะถือว่าเธอมีสิทธิ์ในผ้าผืนนั้นเต็มที่ไม่ได้ตราบนั้น”

@@@@@@@

ความสามารถพิเศษของพระมหากัจจายนเถระ

พระมหากัจจายนเถระเป็นพระพุทธสาวก ที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดสามารถอธิบายธรรมที่ย่อให้พิสดาร ให้ผู้ฟังเกิดศรัทธาเลื่อมใสได้โดยไม่ยาก ทั้งนี้เพราะส่วนหนึ่งท่านเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในปฏิสัมภิทา ๔ คือ :-

     ๑) อัตถปฏิสัมภิทา ผู้มีปัญญาแตกฉานในอรรถสามารถอธิบายความย่อให้พิสดารได้
     ๒) ธัมาปฏิสัมภิทา ผู้มีปัญญาแตกฉานในธรรมสามารถถือเอาความโดยย่อจากธรรมที่พิสดารได้
     ๓) นิรุตติปฏสัมภิทา ผู้มีปัญญาแตกฉานในนิรุตติ มีความเชี่ยวชาญในภาษา สามารถพูดให้คนอื่นเลื่อมใสได้
     ๔) ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ผู้มีปัญญาแตกฉานในปฏิภาณมีไหวพริบและปฏิภาณ สามารถแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้

นอกจากนี้ยังมีพระธรรมเทศนาของท่านอีกหลายกัณฑ์ ที่พระธรรมสังคาหกาจารย์ ได้ยกขึ้นสู่สังคีติ คือ การทำสังคายนา ได้แก่ :-
       
    ๑. ภัทเทกรัตตสูตร เป็นสูตรที่แสดงถึงเรื่องบุคคลผู้มีราตรีเดียวเจริญ คือ คนที่เวลาวันคืนหนึ่ง ๆ มีแต่ความดีงาม ความเจริญก้าวหน้า ได้แก่ ผู้ที่ไม่มัวครุ่นคิดถึงอดีต ไม่เพ้อฝันหวังอนาคต ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นแจ้งประจักษ์สิ่งที่เป็นปัจจุบัน ทำความดีเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยไป มีความเพียรพยายามทำกิจที่ควรทำตั้งแต่ในวันนี้
       
    ๒. มธุรสูตร เป็นสูตรที่ท่านแสดงแก่พระเจ้ามธุรราชอวันตีบุตร ในขณะที่ท่านพักอยู่ที่คุณธาวัน มธุรราชธานี สูตรนี้มีใจความแสดงถึงความไม่แตกต่างกันของวรรณะ ๔ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ และศูทร วรรณะทั้ง ๔ นี้ แม้จะถือตัวอย่าง เหยียดหยามกันอย่างไร แต่ถ้าทำดีก็ไปสู่ที่ดีเหมือนกันทั้งหมด ถ้าทำชั่วก็ต้องรับโทษไปอบายเหมือนกันทั้งหมดทุกวรรณะเสมอกัน ในพระธรรมวินัยออกบวชบำเพ็ญสมณธรรมแล้ว ไม่เรียกว่า วรรณะอะไร แต่เป็นสมณะเหมือนกันทั้งหมด

ที่พระเถระกล่าวสูตรนี้ ก็เพราะพระเจ้ามธุรราชอวันตีบุตร ถามปัญหากับท่านเกี่ยวกับเรื่องพราหมณ์ถือตัวว่า เป็นผู้บริสุทธิ์ และเกิดจากพรหม ท่านจึงแก้ว่า ไม่เป็นความจริง แล้วยกตัวอย่างเป็นข้อๆ ดังนี้ :-

    ๑) ในวรรณะ ๔ เหล่านี้ วรรณะใดเป็นผู้ร่ำรวย มั่งมีเงินทอง วรรณะเดียวกัน และวรรณะอื่นย่อมเข้าไปหา ยอมเป็นบริวารของวรรณะนั้น
    ๒) วรรณะใดประพฤติอกุศลกรรมบถ เมื่อตายไป วรรณะนั้นย่อมเข้าสู่อบายเสมอเหมือนกันทั้งหมด
    ๓) วรรณะใดประพฤติกุศลกรรมบถ เมื่อตายไป วรรณะนั้นย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์เหมือนกันทั้งหมด
    ๔) วรรณะใดทำโจรกรรม ทำปรทาริกกรรม วรรณะนั้นต้องรับราชอาญาเหมือนกันทั้งหมด ไม่มียกเว้น
    ๕) วรรณะใดออกบวช ตั้งอยู่ในศีลในธรรม วรรณะนั้นย่อมได้รับความนับถือ การบำรุง และการคุ้มครองรักษา เสมอเหมือนกันทั้งหมด

เมื่อพระเถระแสดงเทศนามธุรสูตรจบลงแล้ว พระเจ้ามธุรราช ก็เกิดศรัทธาเลื่อมใส ประกาศพระองค์เป็นอุบาสกในพระพุทธศาสนา


@@@@@@@

พระเถระแปลงร่าง

ดังที่กล่าวมาในตอนต้นแล้วว่าพระมหากัจจายนเถระ เป็นผู้มีรูปร่างสง่างามผิวเหลืองดุจทองคำสะอาดผ่องใจ เป็นที่ต้องตาถูกใจแก่ผู้พบเห็นทั่วไป จนกระทั่งมีเหตุการณ์วิปริตเกิดขึ้นแก่บุตรเศรษฐีคนหนึ่งในเมืองโสเรยยะ ชื่อว่า โสเรยยะ เหมือนชื่อเมือง ขณะที่เขานั่งบนยานพาหนะกับสหายเพื่อไปอาบน้ำพร้อมกับบริวารทั้งหลาย ได้เห็นพระเถระกำลังยืนห่มจีวร เพื่อเข้าไปบิณฑบาตในเมืองแล้วเกิดความพอใจ ในดวงจิตคิดอกุศลขึ้นว่า “งามจริงหนอ พระเถระรูปนี้ น่าจะเป็นภริยาของเรา หรือไม่ก็ขอให้ภริยาของเรามีสีผิวกายเหมือนพระเถระนี้”
       
ด้วยอกุศลจิตคิดเพียงเท่านี้ ทำให้เพศชายของเขาหายไป กลายเป็นเพศหญิงไปทั้งร่างทำให้เขาอับอายเป็นอย่างมาก และโดยที่ไม่มีใครรู้เขารีบลงจากยานนั้นแล้วเดินตามกองเกวียนพ่อค้าไปยังเมืองตักสิลา และได้เป็นภริยาของลูกชายเศรษฐีในเมืองนั้น อยู่ร่วมกันจนมีบุตร ๒คน แต่เดิมทีที่เขาอยู่ในเมือง โสเรยยะนั้น เขาก็มีภริยาอยู่แล้วและมีบุตรด้วยกัน ๒ คน เช่นเดียวกัน จึงปรากฏว่าเขาเป็นทั้งพ่อและแม่ หรือเป็นทั้งผัวและเมียในชาติเดียวกันนี้
       
ต่อมา พระมหากัจจายนเถระ จาริกมายังเมืองตักสิลา โสเรยยะทราบแล้วจึงเล่าเรื่องราวของตนที่ผ่านมาให้สามีฟัง แล้วพากันไปกราบขอขมาโทษต่อพระเถระ เมื่อท่านทราบเรื่องโดยตลอดแล้วก็ยกโทษให้ และเพศหญิงก็หายไปเพศชายปรากฏขึ้นมาเหมือนเดิม เขาเกิดศรัทธาเลื่อมใสในพระเถระเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งเห็นว่าตนเองเป็นคนแปลกคือเป็นทั้งชายและหญิงในอัตภาพเดียวเท่านั้น และยังคิดว่าไม่ควรที่จะอยู่ครองเพศฆราวาสต่อไป จึงมอบบุตรทั้ง ๔ คนให้บิดามารดาเลี้ยงดูต่อไป ส่วนตนเองได้ขอบวชในสำนักพระเถระ และได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในกาลต่อมา

พระมหากัจจายนะ นอกจากจะมีเรื่องของโสเรยยะแล้ว ยังมีเรื่องพระภิกษุเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เห็นพระเถระเดินมาแต่ไกลแล้วก็พากันกล่าวว่า “พระบรมศาสดาของพวกเราเสด็จมาแล้ว” แล้วพากันทำความเคารพกราบไหว้ ทั้งนี้ก็เพราะท่านมีรูปลักษณ์ละม้ายกับพระผู้มีพระภาคนั้นเอง

พระเถระพิจารณาเห็นโทษเช่นนี้แล้ว จึงอธิษฐานจิตเนรมิตรร่างกายของท่านให้เปลี่ยนแปลงผิดแปลกไปจากเดิม ร่างกายที่เคยสง่างามก็ย่นย่อ ต่ำเตี้ย ท้องป่อง หมดความสวยงามดังที่พุทธศาสนิกชนนิยมสร้างรูปท่านไว้เป็นที่สักการบูชาในทุกวันนี้

@@@@@@@

ได้รับยกย่องในทางอธิบายความย่อให้พิศดาร
       
ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงแสดงภัทเทกรัตตสูตรแต่โดยย่อ แล้วเสด็จเข้าสู่พระวิหารที่ประทับ พระภิกษุทั้งหลายไม่ได้โอกาสเพื่อจะกราบทูลถามเนื้อความที่ตรัสไว้โดยย่อให้เข้าใจได้ จึงพากันเข้าไปหาพระมหากัจจายนะ กราบอาราธนาให้ท่านได้เมตตาอธิบายขยายความให้ฟัง
       
พระเถระได้อธิบายขยายความย่อให้ฟังอย่างพิสดาร แล้วกล่าวแนะนำว่า “ท่านผู้มีอายุข้าพเจ้าเข้าใจความหมายแห่งพระสูตรนี้ตามที่อธิบายมานี้ แต่ถ้าท่านทั้งหลายมีความต้องการจะทราบให้แน่ชัดก็จงไปกราบทูลถามพระผู้มีพระภาค เมื่อพระองค์ทรงแก้อย่างไร ก็จงจำไว้อย่างนั้นเถิด”
       
พระภิกษุเหล่านั้นพากันลาพระเถระแล้ว เข้าไปกราบทูลเนื้อความที่พระมหากัจจายนะ อธิบายไว้ให้พระพุทธองค์ทรงสดับ พระผู้มีพระภาค ตรัสสรรเสริญพระเถระว่า “ภิกษุทั้งหลาย พระมหากัจจายนะ เป็นผู้มีปัญญา เนื้อความนั้นถ้าพวกเธอถามตถาคต แม้ตถาคตก็จะอธิบายอย่างนั้น เช่นกัน ขอพวกเธอจงจำเนื้อความนั้นไว้เถิด”

เมื่อครั้งพระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ พระเชตะวันมหาวิหาร ทรงตั้งพระมหากัจจายนะ ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในฝ่าย ผู้อธิบายเนื้อความย่อให้พิสดาร ท่านพระมหากัจจายนเถระ ดำรงอายุสังขารโดยสมควรแก่กาลเวลาแล้วก็ดับขันธปรินิพพาน





ขอบคุณที่มา : https://84000.org/one/1/15.html
ขอบคุณภาพจาก : เฟซบุ้ก ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ย.พ.ส.)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 23, 2022, 10:35:40 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออนไลน์ ออนไลน์
  • กระทู้: 28362
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

                                                           
๕๔. กัจจายนวรรค หมวดว่าด้วย พระกัจจายนะ เป็นต้น
๑. มหากัจจายนเถราปทาน ประวัติในอดีตชาติของพระมหากัจจายนเถระ


(พระมหากัจจายนเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)

[๑] พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้หมดตัณหา ทรงชนะสิ่งที่ใครๆ เอาชนะไม่ได้ทรงเป็นผู้นำ เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
             
[๒] พระองค์เป็นผู้แกล้วกล้า
     มีพระเนตรเหมือนกลีบบัว
     มีพระพักตร์ปราศจากมลทินดุจดวงจันทร์
     มีพระฉวีวรรณดุจทองคำ
     มีพระรัศมีเสมอด้วยแสงอาทิตย์
             
[๓] ดึงดูดดวงตาและดวงใจของสัตว์ไว้ได้
     ประดับด้วยพระลักษณะอันประเสริฐ
     ไม่ยึดถือถ้อยคำทุกชนิด
     ผู้อันหมู่มนุษย์และเทวดาสักการะ

[๔] ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ทรงช่วยเหล่าสัตว์ให้ตรัสรู้
     ทรงนำไปได้อย่างรวดเร็ว ทรงมีพระสุรเสียงไพเราะ
     มีพระอุปนิสัยเนื่องด้วยพระกรุณา
     ทรงแกล้วกล้าในท่ามกลางบริษัท

[๕] ทรงแสดงธรรมอย่างไพเราะ ซึ่งประกอบด้วยสัจจะ ๔ ทรงช่วยเหลือหมู่สัตว์ ที่จมอยู่ในเปือกตมคือ โมหะได้

             
@@@@@@@

[๖] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นดาบส เที่ยวไปแต่ผู้เดียว อาศัยอยู่ที่ภูเขาหิมพานต์ กำลังไปยังมนุษยโลกทางอากาศก็ได้เห็นพระชินเจ้า
             
[๗] ข้าพเจ้าได้เข้าเฝ้าพระองค์แล้ว ฟังพระธรรมเทศนาของพระธีรเจ้า ผู้ทรงพรรณนาคุณอันยิ่งใหญ่ของสาวกอยู่ว่า
             
[๘-๙] ‘เราไม่เห็นสาวกอื่นบางรูปในธรรมวินัยนี้ เหมือนพระกัจจายนะนี้ ผู้ประกาศธรรมที่เราแสดงไว้โดยย่อให้พิสดารได้ ทำชุมชนและเราให้ยินดี เพราะฉะนั้น พระกัจจายนะนี้เป็นผู้เลิศในตำแหน่งที่เลิศนั้น ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงจำไว้อย่างนี้เถิด’
             
[๑๐] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้ฟังพระดำรัสที่รื่นรมย์ใจแล้ว เกิดความอัศจรรย์ใจ จึงไปยังป่าหิมพานต์นำกลุ่มดอกไม้มา

[๑๑] บูชาพระผู้เป็นสรณะของสัตว์โลกแล้วปรารถนาตำแหน่งนั้น ครั้งนั้น พระผู้เป็นที่อยู่แห่งสรณะทรงทราบอัธยาศัยของข้าพเจ้าแล้ว ได้ทรงพยากรณ์ว่า
           
[๑๒] ‘เธอทั้งหลายจงดูฤๅษีผู้ประเสริฐนี้ ซึ่งเป็นผู้มีผิวพรรณเหมือนทองคำที่ไล่มลทินออกแล้ว มีโลมชาติชูชันและมีใจเบิกบาน ยืนประนมมือนิ่งอยู่
             
[๑๓] ร่าเริง มีนัยน์ตาเต็มดี มีอัธยาศัยน้อมไปในคุณของพระพุทธเจ้า มีใจเบิกบาน ซึ่งเกิดแต่ธรรม มีรัศมีเรืองรองเหมือนถูกรดด้วยน้ำอมฤต

@@@@@@@

[๑๔] ข้าแต่พระมหามุนี ข้าพระองค์ได้ฟังคุณของพระกัจจายนะแล้ว จึงได้ยืนปรารถนาตำแหน่งนั้น ในอนาคตกาลของพระโคดมพุทธเจ้า

[๑๕] ฤๅษีผู้นี้มีนามว่ากัจจายนะ ตามโคตรเป็นธรรมทายาท เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต จักเป็นสาวกของพระศาสดา
             
[๑๖] เขาจักเป็นพหูสูต มีญาณยิ่งใหญ่ รู้อธิบายชัดแจ้ง เป็นมุนีจักถึงตำแหน่งนั้น ดังที่เราพยากรณ์ไว้’
             
[๑๗] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น จึงไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า

[๑๘] ข้าพเจ้าเวียนว่ายตายเกิดอยู่ใน ๒ ภพ คือ (๑) ภพเทวดา (๒) ภพมนุษย์ คติอื่นข้าพเจ้าไม่รู้จักเลย นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า

[๑๙] ข้าพเจ้ารู้เฉพาะ ๒ ตระกูล คือ (๑) ตระกูลกษัตริย์ (๒) ตระกูลพราหมณ์ จะไม่เกิดในตระกูลที่ต่ำ นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า

[๒๐] ในภพสุดท้าย ข้าพเจ้าเกิดเป็นพราหมณ์ปุโรหิต ของพระเจ้าจัณฑปัชโชต ในกรุงอุชเชนีที่รื่นรมย์

[๒๑] เป็นบุตรของพราหมณ์ชื่อว่า ติปีติวัจฉะ เป็นผู้ฉลาด เรียนจบพระเวท ส่วนมารดาของข้าพเจ้าชื่อว่า จันทนปทุมา ข้าพเจ้าชื่อว่า กัจจายนะ เป็นผู้มีผิวพรรณสวยงาม

[๒๒] ข้าพเจ้าถูกพระเจ้าแผ่นดิน ทรงส่งไปเพื่อพิจารณา(สืบข่าว) พระพุทธเจ้าได้เห็นพระผู้นำซึ่งเป็นประตูของโมกขบุรี (๑-) เป็นที่สั่งสมพระคุณ

____________________________

เชิงอรรถ : (๑-) โมกขบุรี หมายถึง บุรี คือ พระนิพพาน

@@@@@@@

[๒๓] และได้ฟังพุทธภาษิตที่ปราศจากมลทิน เป็นเครื่องชำระล้างเปือกตมคือคติ ได้บรรลุอมตธรรมที่สงบระงับ
พร้อมกับบุรุษที่เหลืออีก ๗ คน

[๒๔] ข้าพเจ้าเป็นผู้รู้อธิบายในอมตบทที่ยิ่งใหญ่ของพระสุคต และมีมโนรถอันสำเร็จด้วยดี ได้รับแต่งตั้งในตำแหน่งเอตทัคคะ

[๒๕] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ

[๒๖] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า เป็นการมาดีแล้วโดยแท้ วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว

[๒๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล

ได้ทราบว่า ท่านพระมหากัจจายนเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้

                              มหากัจจายนเถราปทานที่ ๑ จบ




ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ ,หน้า : ๒๓๗ - ๒๔๐
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ ,พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] , ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก
ขอบคุณ : https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=33&siri=121
ขอบคุณภาพจาก : http://www.internetuniversity999.com




อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ , ๕๔. กัจจายวรรค
๑. มหากัจจายนเถราปทาน


๕๓๑. อรรถกถากัจจายนเถราปทาน               
พึงทราบเรื่องราวในอปทานที่ ๑ แห่งวรรคที่ ๕๔ ดังต่อไปนี้ :-

     อปทานของท่านพระมหากัจจายนเถระมีคำเริ่มต้นว่า ปทุมุตฺตโร นาม ชิโน ดังนี้.
     แม้พระเถระรูปนี้ก็ได้เคยบำเพ็ญกุศลมาแล้วในพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ได้สั่งสมบุญอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้เป็นอันมากในภพนั้นๆ.

     ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ท่านได้บังเกิดในตระกูลคฤหบดีมหาศาล พอเจริญวัยแล้ว วันหนึ่งได้ฟังธรรมในสำนักของพระศาสดา ได้เห็นภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งพระศาสดาทรงสถาปนาไว้ในตำแหน่งที่ (สามารถ) จำแนกเนื้อความที่พระศาสดาตรัสไว้โดยย่อให้พิสดารได้ แม้ตนเองก็ปรารถนาตำแหน่งนั้นบ้าง จึงตั้งปณิธานทำบุญมีทานเป็นต้นไว้เป็นอันมาก แล้วท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษยโลก.

     ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าสุเมธะ ได้เป็นวิทยาธร เที่ยวไปทางอากาศ ได้พบพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าสุเมธะ ซึ่งประทับนั่งในชัฏแห่งป่าแห่งหนึ่ง มีใจเลื่อมใสได้เอาดอกกรรณิการ์มาทำการบูชา.             
     ด้วยบุญอันนั้น เขาจึงกลับไปมาเฉพาะแต่ในสุคติอย่างเดียว.

     ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสปะ เขาได้บังเกิดในเรือนอันมีสกุล ในกรุงพาราณสี เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานแล้ว ได้เอาแผ่นอิฐทองคำมีค่าราคาแสนหนึ่ง ทำการบูชา ณ ที่สุวรรณเจดีย์สำหรับบำเพ็ญกัมมัฏฐาน ได้ตั้งความปรารถนาไว้ว่า
    "ด้วยผลแห่งบุญอันนี้ ขอให้สรีระของข้าพระองค์จงมีวรรณะดุจทองคำ ในที่ที่ได้บังเกิดแล้วๆ เถิด"
     ตั้งแต่นั้นมาก็ได้ทำแต่กุศลกรรมจนตลอดชีวิตแล้ว ท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษยโลกตลอดพุทธันดรหนึ่ง.


     @@@@@@@

     ในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้บังเกิดในเรือนปุโรหิตของพระเจ้าจัณฑปัชโชต ในกรุงอุชเชนี ในวันตั้งชื่อเขา มารดาคิดว่า ลูกของเรามีสีกายดุจทองคำ เขาถือเอาชื่อของตนเองมา (แต่เกิด) ดังนี้จึงตั้งชื่อเขาว่ากัญจนมาณพทีเดียว.

     เขาเจริญวัยแล้ว เล่าเรียนจบไตรเพท พอบิดาล่วงลับดับชีวิตแล้ว ก็ได้รับตำแหน่งปุโรหิตแทน ว่าโดยอำนาจโคตรเขาปรากฏแล้วว่า กัจจายนะ.

     ต่อมาพระเจ้าจัณฑปัชโชตได้ทรงสดับว่า พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้น จึงส่งเขาไปหาด้วยพระราชดำรัสว่า ท่านอาจารย์ ท่านจงไปที่พระอารามนั้นแล้ว ทูลนิมนต์พระศาสดามาในวังนี้ ท่านปุโรหิตนั้นมีตนเป็นที่ ๘ เข้าไปเฝ้าพระศาสดา.

     พระศาสดาได้ทรงแสดงธรรมแก่ปุโรหิตนั้นแล้ว. ในเวลาจบพระธรรมเทศนา ท่านปุดรหิตพร้อมกับคนทั้ง ๗ ได้ดำรงอยู่ในพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔.

     ท่านได้บรรลุอรหัตผลแล้วอย่างนี้ ระลึกถึงบุรพกรรมของตนได้เกิดความโสมนัสใจ เมื่อจะประกาศถึงเรื่องราวที่ตนเคยได้ประพฤติมาแล้วในกาลก่อน จึงกล่าวคำเริ่มต้นว่า ปทุมุตฺตโร นาม ชิโน ดังนี้.
     คำนั้นมีเนื้อความดังที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้วในหนหลังนั่นแล.

     @@@@@@@

     ลำดับนั้น พระศาสดาทรงเหยียดพระหัตถ์ตรัสว่า พวกเธอจงเป็นภิกษุมาเถิด.
     ในขณะนั้น พวกภิกษุเข้านั้นได้มีผมและหนวดยาวประมาณ ๒ องคุลี ทรงบาตรและจีวรอันสำเร็จด้วยฤทธิ์ ได้เป็นคล้ายพระเถระบวชมา ๖๐ พรรษา พระเถระทำประโยชน์ของตนให้สำเร็จแล้วอย่างนี้ (วันหนึ่ง) จึงกราบทูลพระศาสดาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเจ้าจัณฑปัชโชตปรารถนาจะไหว้พระบาท และฟังธรรมของพระองค์ พระเจ้าข้า.

     พระศาสดาตรัสว่า กัจจานะ เธอนั่นแหละจงไปในวังนั้น เมื่อเธอไปถึงแล้ว พระราชาจักทรงเลื่อมใส.
     พระเถระมีตนเป็นที่ ๘ ได้ไปในพระราชวังนั้น ตามพระบัญชาของพระศาสดา ได้ทำให้พระราชาทรงเลื่อมใสแล้ว ได้ประดิษฐานพระศาสนาไว้ในอวันตีชนบทเรียบร้อยแล้ว จึงได้กลับมาเฝ้าพระศาสดาอีก.

     ด้วยอำนาจความปรารถนาในครั้งก่อนของตน ปกรณ์ทั้ง ๓ คือ กัจจายนปกรณ์ มหานิรุตติปกรณ์ และเนตติปกรณ์ จึงได้ปรากฏแล้วในท่ามกลางสงฆ์.

     ต่อมา ท่านได้รับสถาปนาจากพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ทรงสันโดษไว้ในตำแหน่งที่เลิศ ด้วยพระดำรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มหากัจจานะเป็นเลิศกว่าสาวกทั้งหลายของเรา ผู้จำแนกเนื้อความที่เรากล่าวไว้โดยย่อ ทำให้พิสดารได้ ดังนี้แล้ว ท่านก็อยู่ด้วยความสุขอันเกิดแต่พระอรหัตผลแล.


               จบอรรถกถามหากัจจายนเถราปทาน   





ขอบคุณที่มา : https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33.1&i=121
ขอบคุณภาพจาก : https://i.ytimg.com/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 23, 2022, 11:27:26 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออนไลน์ ออนไลน์
  • กระทู้: 28362
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


๕. มหากัจจายนเถรวัตถุ เรื่องพระมหากัจจายนเถระ

(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
      [๙๔] ผู้ใดฝึกอินทรีย์(๒-) ให้สงบได้เหมือนม้าที่นายสารถีฝึกดีแล้ว ผู้นั้นย่อมละมานะได้ ไม่มีอาสวะ คงที่ แม้ทวยเทพทั้งหลายก็รักใคร่

________________________
(๒-) อินทรีย์ หมายถึง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ (ขุ.ธ.อ. ๔/๖๔)


ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๕๘
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
uri : https://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=25&siri=16
ขอบคุณภาพจาก : https://www.mokkalana.com 




๕. เรื่องพระมหากัจจายนเถระ [๗๕]    
จาก อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท อรหันตวรรคที่ ๗

..............................


ข้อความเบื้องต้น
             
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในบุพพาราม ทรงปรารภพระมหากัจจายนเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "ยสฺสินฺทฺริยานิ" เป็นต้น.

พระเถระยกย่องการฟังธรรม
             
ความพิสดารว่า ในสมัยหนึ่ง พระศาสดาอันพระสาวกหมู่ใหญ่แวดล้อมแล้ว ประทับนั่ง ณ ภายใต้ปราสาทของมิคารมารดา ในวันมหาปวารณา. ในสมัยนั้น พระมหากัจจายนเถระอยู่ในอวันตีชนบท ก็ท่านนั้นมาแล้วแม้แต่ที่ไกล ย่อมยกย่องการฟังธรรมนั่นเทียว, เพราะฉะนั้น พระเถระผู้ใหญ่ทั้งหลาย เมื่อจะนั่ง จึงนั่งเว้นอาสนะไว้เพื่อพระมหากัจจายนเถระ.

ท้าวสักกเทวราชเสด็จมาจากเทวโลกทั้งสองพร้อมด้วยเทพบริษัท ทรงบูชาพระศาสดา ด้วยของหอมและระเบียบดอกไม้อันเป็นทิพย์เป็นต้นแล้ว ประทับยืนอยู่ มิได้เห็นพระมหากัจจายนเถระ จึงทรงรำพึงว่า

   "เพราะเหตุอะไรหนอแล.? พระผู้เป็นเจ้าของเราจึงไม่ปรากฏ, ก็ถ้าพระผู้เป็นเจ้าพึงมา, การมาของท่านนั้น เป็นการดีแล."
               
พระเถระมาแล้วในขณะนั้นนั่นเอง แสดงตนซึ่งนั่งแล้วบนอาสนะของตนนั่นแล.

ท้าวสักกะทอดพระเนตรเห็นพระเถระแล้ว ทรงจับข้อเท้าทั้งสองอย่างมั่นแล้ว ตรัสว่า

    "พระผู้เป็นเจ้าของเรามาแล้วหนอ เราหวังการมาของพระผู้เป็นเจ้าอยู่ทีเดียว"

ดังนี้แล้ว ก็ทรงนวดเท้าทั้งสองของพระเถระด้วยพระหัตถ์ทั้งสอง บูชาด้วยของหอมและระเบียบดอกไม้เป็นต้น ไหว้แล้วได้ประทับยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง.


เทพยดารักใคร่ภิกษุผู้สำรวมอินทรีย์
             
ภิกษุทั้งหลายโพนทะนาว่า
   "ท้าวสักกะทรงเห็นแก่หน้า จึงทำสักการะ ไม่ทรงทำสักการะเห็นปานนี้แก่พระสาวกผู้ใหญ่ที่เหลือ เห็นพระมหากัจจายนเถระแล้ว จับข้อเท้าทั้งสองโดยเร็ว ตรัสว่า
    ‘พระผู้เป็นเจ้าของเรามา ดีหนอ, เราหวังการมาของพระผู้เป็นเจ้าอยู่ทีเดียว’
    ดังนี้แล้ว ทรงนวดเท้าทั้งสองด้วยพระหัตถ์ทั้งสอง บูชาแล้ว ไหว้แล้ว ประทับยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง."

พระศาสดาทรงสดับถ้อยคำของภิกษุทั้งหลายนั้นแล้ว ตรัสว่า
    "ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีทวารอันตนคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย เช่นกับด้วยมหากัจจายนะผู้บุตรของเรา ย่อมเป็นที่รักของเหล่าเทพเจ้านั่นเทียว"

เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-

          ๕. ยสฺสินฺทฺริยานิ สมถงฺคตานิ                
              อสฺสา ยถา สารถินา สุทนฺตา
              ปหีนมานสฺส อนาสวสฺส
              เทวาปิ ตสฺส ปิหยนฺติ ตาทิโน.

              อินทรีย์ทั้งหลายของภิกษุใด ถึงความสงบแล้ว
              เหมือนม้าอันนายสารถีฝึกดีแล้วฉะนั้น,
              แม้เหล่าเทพเจ้า ย่อมกระหยิ่มต่อภิกษุนั้น
              ผู้มีมานะอันละแล้ว ผู้หาอาสวะมิได้ ผู้คงที่.

@@@@@@@

แก้อรรถ   
           
เนื้อความแห่งพระคาถานั้น ดังนี้ :-

     อินทรีย์ ๖ ของภิกษุใดถึงความสงบ คือความเป็นอินทรีย์อันตนทรมานแล้ว ได้แก่ความเป็นอินทรีย์หมดพยศร้าย เหมือนม้าอันนายสารถีผู้ฉลาดฝึกดีแล้วฉะนั้น, ต่อภิกษุนั้น ผู้ชื่อว่ามีมานะอันละแล้ว เพราะละมานะมีอย่าง ๙ ดำรงอยู่ ผู้ชื่อว่าหาอาสวะมิได้ เพราะไม่มีอาสวะ ๔.

     บทว่า ตาทิโน ความว่า ทั้งเหล่าเทพเจ้า ทั้งเหล่ามนุษย์ ย่อมกระหยิ่ม คือย่อมปรารถนาการเห็น และการมาของภิกษุผู้เห็นปานนั้น ผู้ดำรงอยู่โดยภาวะแห่งผู้คงที่.

     ในเวลาจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลายมีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.


               เรื่องพระมหากัจจายนเถระ จบ.       



ขอบคุณที่มา : https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=17&p=5   
ขอบคุณภาพจาก : https://www.mokkalana.com 
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 25, 2022, 10:15:07 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออนไลน์ ออนไลน์
  • กระทู้: 28362
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

พระสังกัจจายน์  วัดโป่งพรานอินทร์ ขอบคุณภาพจาก https://www.eg.mahidol.ac.th/egmu/all-news/2246-2015-11-23-07-48-07.html


๓. มหากัจจายนเถราปทาน ประวัติในอดีตชาติของพระมหากัจจายนเถระ (ในพระไตรปิฎกฉบับหลวง คือ มหากัจจายนเถราปทานที่ ๓ (๓๓) ว่าด้วยผลแห่งการทาทองพระเจดีย์)

(พระมหากัจจายนเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)

[๓๑]  พระเจดีย์(วิหารที่ประทับ)ชื่อว่า ปทุมะ ของพระผู้มีพระภาคผู้เป็นที่พึ่งพระนามว่า ปทุมุตตระ ข้าพเจ้าให้ทำแผ่นศิลาไว้ภายใต้ แล้วใช้ทองคำไล้ทาแผ่นศิลานั้น

[๓๒] และได้กั้นฉัตรซึ่งทำด้วยรัตนะแล้ว ถือพัดวาลวีชนีพัดถวายพระพุทธเจ้า ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของสัตว์โลก ผู้คงที่

[๓๓] ภุมมเทวดา(เทวดาผู้อาศัยอยู่บนแผ่นดิน) มาประชุมกันทั้งหมดเท่าที่มีในครั้งนั้น ด้วยหวังว่า พระศาสดาจักตรัสผลแห่งการกั้นฉัตรซึ่งทำด้วยรัตนะ

[๓๔] พวกเราจักฟังพระศาสดาตรัสเรื่องทั้งหมดนั้น จะพึงเกิดความร่าเริงอย่างยิ่งในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

[๓๕] พระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระสยัมภู เป็นบุคคลผู้เลิศประทับนั่งบนอาสนะทองแล้ว มีหมู่ภิกษุห้อมล้อม ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า

[๓๖] เราจักพยากรณ์ผู้ที่ได้ถวายอาสนะซึ่งทำด้วยทอง และกั้นฉัตรซึ่งทำด้วยรัตนะนี้ ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด

[๓๗] ผู้นั้นจักเป็นจอมเทพครองเทวสมบัติ ๓๐ กัป จักแผ่รัศมีไป ๑๐๐ โยชน์โดยรอบ

[๓๘] ผู้นั้นจักมาเกิดยังมนุษยโลก เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ มีพระนามว่าปภัสสระ จักเป็นผู้มีเดชแผ่ไป

[๓๙] ผู้นั้นจักได้เป็นกษัตริย์ส่องสว่างไป ๘ ศอก โดยรอบทั้งกลางวันกลางคืนเหมือนดวงอาทิตย์อุทัย ฉะนั้น


@@@@@@@

[๔๐] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป) พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตรทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก

[๔๑] ผู้นั้นถูกกุศลมูลตักเตือนแล้ว จักจุติจากสวรรค์ชั้นดุสิต มาเกิดเป็นบุตรของพราหมณ์มีนามว่ากัจจานะ ตามโคตร

[๔๒] ภายหลังเขาออกบวชแล้วจักสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ไม่มีอาสวะ พระโคดมผู้ส่องโลกให้โชติช่วงจักตั้งเขาไว้ในอตทัคคะ

[๔๓] เขาจักตอบปัญหาที่ถูกถามอย่างย่อได้โดยพิสดาร และเมื่อตอบปัญหานั้น จักทำอัธยาศัยให้เต็มได้

[๔๔] ข้าพเจ้าเป็นพราหมณ์ผู้อภิชาตบุตรในตระกูลที่มั่งคั่ง จบมนตร์ สละทรัพย์และข้าวเปลือกแล้ว ออกบวชเป็นบรรพชิต

[๔๕] เมื่อถูกถามปัญหาแม้โดยย่อ ข้าพเจ้าก็กล่าวแก้ได้โดยพิสดาร ทำอัธยาศัยของชนเหล่านั้นให้เต็ม ให้พระผู้มีพระภาคผู้สูงสุดแห่งเทวดาและมนุษย์ทรงพอพระทัยได้

[๔๖] พระมหาวีระผู้เป็นพระสยัมภู เป็นบุคคลผู้เลิศ ข้าพเจ้าทำให้ทรงพอพระทัยแล้ว ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้ว ทรงตั้งข้าพเจ้าไว้ในเอตทัคคะ

[๔๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล

ได้ทราบว่า ท่านพระมหากัจจายนเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้

                        มหากัจจายนเถราปทานที่ ๓ จบ




ที่มา : https://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=32&siri=35
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑
อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :-
http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=32&A=1934&Z=1965



พระกัจจายนะ วัดพระบาทภูพานคำ

อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๔. กุณฑธานวรรค
๓. มหากัจจายนเถราปทาน (๓๓)


๓๓. อรรถกถามหากัจจานเถราปทาน  
           
อปทานของท่านพระมหากัจจานเถระมีคำเริ่มต้นว่า ปทุมุตฺตรนาถสฺส ดังนี้.

พระเถระแม้นี้ได้บำเพ็ญบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ สั่งสมบุญทั้งหลายอันเป็นอุปนิสัยแก่พระนิพพานในภพนั้นๆ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ บังเกิดในตระกูลคฤหบดีมหาศาล เจริญวัยแล้ว วันหนึ่ง ฟังธรรมในสำนักพระศาสดา เห็นภิกษุรูปหนึ่งอันพระศาสดาทรงตั้งไว้ในตำแหน่งอันเลิศแห่งภิกษุผู้จำแนกอรรถแห่งคำที่พระองค์ตรัสโดยย่อให้พิสดารได้ แม้ตนเองก็ปรารถนาตำแหน่งนั้น ตั้งปณิธานแล้ว บำเพ็ญบุญมีทานเป็นต้น ท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย.

ในกาลแห่งพะผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าสุเมธะ เป็นวิทยาธรไปโดยอากาศ เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่ง ณ ไพรสณฑ์ มีจิตเลื่อมใส ได้กระทำการบูชาด้วยดอกกรรณิการ์.

ด้วยบุญกรรมนั้น ท่านท่องเที่ยวไปๆ มาๆ ในสุคตินั่นเอง.

ในกาลแห่งพระทศพลพระนามว่ากัสสปะ บังเกิดในเรือนมีตระกูลในกรุงพาราณสี เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานแล้ว ได้กระทำการบูชาด้วยแผ่นอิฐอันสำเร็จด้วยทองมีค่าแสนหนึ่ง ที่ฐานอันเป็นที่กระทำสุวรรณเจดีย์ ตั้งความปรารถนาว่า ด้วยวิบากเป็นเครื่องไหลออกแห่งบุญกรรมนี้ ขอสรีระของเราจงมีวรรณะเพียงดังว่าสีแห่งทอง ในที่ๆ ตนเกิดแล้ว.

แต่นั้นกระทำกุศลกรรมตลอดชีวิต ท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย สิ้นพุทธันดรหนึ่ง.

@@@@@@@

ในพุทธุปบาทกาลนี้ บังเกิดในเรือนแห่งปุโรหิต ของพระเจ้าจัณฑปัชโชต ในกรุงอุชเชนี ในวันตั้งชื่อของท่าน มารดาคิดว่า บุตรของเรามีวรรณะเพียงดังสีแห่งทอง ถือเอาชื่อของตนมาจึงตั้งชื่อว่า กาญจนมาณพ นั่นเอง. ท่านเจริญวัยแล้วเรียนไตรเพท โดยล่วงไปแห่งบิดาจึงได้ตำแหน่งปุโรหิต. ด้วยอำนาจโคตร ท่านปรากฏนามว่ากัจจานะ.

พระเจ้าจัณฑปัชโชตทราบกาลเสด็จอุบัติแห่งพระพุทธเจ้า ทรงส่งสาสน์ไปว่า ข้าแต่ท่านอาจารย์ ท่านจงไปในที่นั้น กราบเรียนให้พระศาสดาทรงทราบ. ท่านมีตนเป็นที่แปดเข้าไปเฝ้าพระศาสดา.

พระศาสดาทรงแสดงธรรมแก่เขาแล้ว. ในที่สุดแห่งเทศนา ท่านกับชน ๗ คนดำรงอยู่ในพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา.

ลำดับนั้น พระศาสดาทรงเหยียดพระหัตถ์ตรัสว่า จงเป็นภิกษุมาเถิดดังนี้. ในขณะนั้นนั่นเอง ภิกษุเหล่านั้นมีผมและหนวดเพียงสององคุลี ทรงไว้ซึ่งบาตรและจีวรอันสำเร็จด้วยฤทธิ์ ได้เป็นเหมือนพระเถระผู้มีพรรษาตั้งร้อย.
               
พระเถระประนมมือของตนแล้ว กราบทูลพระศาสดาอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเจ้าจัณฑปัชโชตปรารภจะถวายบังคมพระบาทของพระองค์และฟังธรรม.

พระศาสดาตรัสว่า ภิกษุ เธอเท่านั้นจงเป็นผู้มีตนเป็นที่แปดไปในที่นั้น แม้เมื่อเธอไปแล้ว พระราชาจักเลื่อมใส. พระเถระมีตนเป็นที่แปดไปในที่นั้น ยังพระราชาให้เลื่อมใส ให้พระศาสนาประดิษฐานในอวันตีชนบททั้งหลายแล้ว กลับมาเฝ้าพระศาสดาอีกตามเดิม.

ท่านบรรลุพระอรหัตผลอย่างนี้แล้ว พระศาสดาได้ทรงตั้งไว้ในตำแหน่งอันเลิศด้วยพระดำรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุผู้สาวกของเรา ผู้จำแนกอรรถที่เรากล่าวโดยย่อให้พิสดารนี้ มหากัจจานะเป็นเลิศ,

ท่านได้รับตำแหน่งเอตทัคคะแล้ว ระลึกถึงกรรมของตน เมื่อจะประกาศปุพพจริตาปทาน จึงกล่าวคำมีอาทิว่า ปทุมุตฺตรนาถสฺส ดังนี้.


@@@@@@@

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปทุมํ นาม เจติยํ ความว่า เพราะได้ปกปิดด้วยดอกปทุม และเพราะกระทำด้วยอาการแห่งดอกปทุม วิหารคือพระคันธกุฎีอันเป็นที่ประทับอยู่แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้านั่นแล ได้เป็นเจดีย์โดยเป็นที่ควรบูชา ที่ประทับอยู่ของพระผู้มีพระภาคเจ้านี้ ท่านเรียกว่าเจดีย์ เหมือนที่เขากล่าวว่า โคตมกเจดีย์ อาฬวกเจดีย์ สถานที่อยู่ของยักษ์เหล่านั้น ท่านเรียกว่า เจดีย์ เพราะเป็นสถานที่ควรบูชา.

พึงทราบว่า ไม่ใช่เจดีย์อันเป็นที่บรรจุพระธาตุ. ก็ท่านไม่ได้สร้างธาตุเจดีย์ เพราะไม่มีสรีรธาตุของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ยังไม่ปรินิพพาน.

บทว่า สิลาปฏํ กายิตฺวา ความว่า ได้สร้างแผ่นศิลา อันสำเร็จด้วยแก้วผลึก ในภายใต้แห่งพระคันธกุฎี อันมีชื่อว่าปทุมนั้น เพื่อเป็นที่รองรับดอกไม้.

บทว่า สุวณฺเณนาภิเลปยึ ความว่า เราได้ฉาบปกปิดแผ่นศิลานั้นด้วยอาการพิเศษยิ่ง ด้วยทองชมพูนุท. เราได้ยกฉัตรอันแล้วด้วยรัตนะ คือทำด้วยรัตนะ ๗ แล้วกั้นไว้บนยอด แล้วยกพัดวาลวิชนีและพัดบวรจามรีขาว เพื่อพระพุทธเจ้า.

บทว่า โลกพนฺธุสฺส ตาทิโน ความว่า เราได้กั้นไว้เพื่อพระพุทธเจ้าผู้พรั่งพร้อมด้วยคุณมีสติเป็นต้น เช่นกับเผ่าพันธุ์แห่งโลกทั้งสิ้น.

คำที่เหลือมีอรรถง่ายทั้งนั้นแล.

               จบอรรถกถามหากัจจานเถราปทาน




ที่มา : https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=32&i=35
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 11, 2023, 12:36:00 pm โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออนไลน์ ออนไลน์
  • กระทู้: 28362
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
 :25: :25:

แนะนำ กระทู้ที่เกี่ยวข้อง :-
กัญจนมาณพ กัจจายนะปุโรหิต มหากัจจายนเถระ (โดยพิสดาร) ๑.
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=31063.msg143301#msg143301
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 11, 2023, 01:43:17 pm โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ