ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ดอกไม้จันทน์ .. ดอกไม้งาม ถึงผู้วายชนม์  (อ่าน 828 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



ดอกไม้จันทน์..ดอกไม้งาม ถึงผู้วายชนม์

เมื่อกล่าวถึง ดอกไม้จันทน์ ทุกคนมักจะคิดถึงความเศร้าโศกเสียใจ เพราะดอกไม้จันทน์ คือ ตัวแทนของความรัก ความอาลัยอาวรณ์ต่อผู้ล่วงลับ ดอกไม้จันทน์ในปัจจุบัน มีความเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย มีการประดิษฐ์ประดอยให้มีรูปแบบดอกไม้จันทน์หลากหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ ดอกกุหลาบ ดอกดารารัตน์ ดอกแก้ว ดอกจำปี ดอกลีลาวดี และอื่นๆ อีกมากมาย รวมถึงสีสันก็มีให้เลือกมากขึ้นทั้งแบบสีธรรมชาติ สีขาว สีดำ สีสันที่สดใสเพื่อคลายความเศร้าหมองลง

ในอดีต เราไม่ได้ประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์เช่นปัจจุบัน เพราะเรายังสามารถหาไม้จันทน์ได้ ในธรรมชาติ แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปไม้จันทน์ก็หาได้ยากยิ่งขึ้น ราคาแพงมากขึ้น โดยในสมัยรัชกาลที่ ๕ จึงมีการประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์เทียมขึ้นใช้ทดแทนดอกจริง ซึ่งผู้คิดค้นก็คือ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

พระองค์ทรงนำเนื้อไม้จันทน์มาประดิษฐ์ โดยเนื้อไม้จันทน์ที่นำมาประดิษฐ์เป็นดอก จะใช้เฉพาะส่วนเปลือก นำมาฝานให้บาง จัดเข้าช่อเข้ากลีบเป็นดอกไม้ แล้วมัดรวมเข้าด้วยกัน ในช่วงแรกๆ ไม้จันทน์ จะนิยมใช้สำหรับชนชั้นสูง หน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์ หรือผู้มีตระกูล มีศักดิ์ใหญ่ แต่กาลต่อมาได้แพร่หลายในหมู่สามัญชน และมีการนำพันธุ์ไม้อื่นมาประยุกต์ เมื่อไม้จันทน์หายากขึ้น อาทิ เช่น ไม้โมก


สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

เหตุที่ใช้ไม้จันทน์ เนื่องจากไม้จันทน์ เป็นไม้มงคล หายาก และมีราคาสูง ที่สำคัญเป็นไม้ที่มีน้ำมันซึ่งมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว

ปัจจุบันมีการสกัดน้ำมันหอมระเหยออกมาใช้ในวงการความสวยความงาม ที่มีราคาค่อนข้างสูง ไม้จันทน์ในสมัยก่อนมีจำนวนมาก ชนชั้นสูงยังนิยมนำไม้มาทำหีบสำหรับบรรจุศพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโกศสำหรับบรรจุศพเจ้านายชั้นสูง ล้วนแต่ใช้ไม้จันทน์ทั้งสิ้น หรือการนำมาทำเป็นฟืนที่ใช้ในการเผาศพเพื่อกลบกลิ่นศพ
 
สิ่งนี้ยังสอดคล้องกับความเชื่อของคนไทย เพราะคนไทยมีคติความเชื่อเรื่องการเผาเครื่องหอม กำยาน ถวายต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือแม้แต่ในการไหว้พระพุทธรูป คนไทยก็ยังนิยมไหว้ด้วยธูปหอมที่ทำจากไม้จันทน์ ภูมิปัญญาไทยสมัยโบราณในการทำเครื่องหอมยังมีอีกมากมายค่ะ เช่น การนำไม้จันทน์มาทำเป็นเครื่องใช้ต่างๆ เช่น พัดไม้จันทน์ หีบใส่เสื้อผ้าที่ทำจากไม้จันทน์ ทั้งนี้ก็เพื่อให้เสื้อผ้าที่สวมใส่มีกลิ่นหอมของไม้จันทน์ และยังสามารถป้องกันมด แมลงได้ดีอีกด้วย

ในส่วนของเครื่องหอมไทย ไม่ว่าจะเป็น กำยาน น้ำอบไทย น้ำปรุง (น้ำหอมไทยโบราณ) ก็ยังมีไม้จันทน์เป็นส่วนผสมอยู่ด้วย วิธีการปรุงนั้นโดยหลักจะนำไม้จันทน์มาบดให้เป็นผง แล้วนำไปเป็นส่วนผสมปรุงกับสมุนไพรที่ให้กลิ่นหอมชนิดอื่นๆ ในเครื่องใช้ที่ต้องการ เช่น ธูป เทียนอบขนม เทียนอบผ้า กำยาน น้ำอบไทย น้ำปรุง เป็นต้น

คติในเรื่องความเชื่อของการใช้เครื่องหอม ไม่ได้มีแต่เฉพาะคนไทยเท่านั้นนะคะ การใช้ความหอมจากดอกไม้ เครื่องเทศ หรือสมุนไพรที่ให้กลิ่นหอมต่างๆ นั้น ในอารยธรรมโบราณ หากย้อนกลับไปในสมัยอารยธรรมอียิปต์โบราณ ความเชื่อในเรื่องของโลกหน้า เป็นสิ่งที่ชาวอียิปต์ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก จึงก่อให้เกิดภูมิปัญญาและความเชื่อว่า หากเตรียมความพร้อมให้กับชีวิตในโลกหน้าได้ ก็ควรทำ

ชาวอียิปต์จึงมีวิธีการดูแลและรักษาศพไว้เป็นอย่างดี นอกจากการพึ่งพาน้ำยาแล้วพันร่างเพื่อรักษาสภาพไม่ให้เน่าเปื่อย ยังมีการชำแหละ นำเอาอวัยวะภายในออกมา แล้วบรรจุเครื่องหอมที่ได้จากสมุนไพร ไม้หอมต่างๆ ลงไปแทน เพื่อความเชื่อที่ว่าชีวิตในโลกหน้าจะดีกว่าเดิม เป็นการเตรียมพร้อมของชีวิตในโลกหน้าตามภูมิปัญญาชาวอียิปต์โบราณ หรือแม้แต่การใช้กำยานในการดองศพ ซึ่งมีหลักฐานในการค้นพบโดยนักบวช หลังจากที่มีการขุดพบสุสานตุตันคามุนใน 3,000 ปี ถัดมา ว่ากลิ่นกำยานในหีบศพยังคงหอมกรุ่น ทั้งยังมีการพบก้อนกำยานเป็นหลักฐานชี้ชัดอีกด้วย


ไม้จันทน์อินเดีย

สำหรับในภูมิภาคแถบเอเชีย เมื่อมีการขยายตัวในการค้าขายของชาวเอเชีย จึงได้มีการนำเข้า ไม้จันทน์ ไม้กฤษณา และพันธุ์ไม้หอมประเภทอื่นๆ เข้ามาใช้ โดยผู้ที่นิยมนำเข้าและซื้อพันธุ์ไม้หอม ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นสูงที่มีกำลังซื้อมากพอ เพราะเป็นของหายาก และยังมีคุณสมบัติสุดพิเศษที่สามารถนำมาปรุงเป็นน้ำหอมได้ ไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่นิยมใช้เครื่องหอมในพิธีกรรมศพ

แต่ประเทศอื่นๆ ในแถบเอเชีย เช่น จีน ญี่ปุ่น ก็ใช้เครื่องหอมในการทำพิธีกรรมสำหรับผู้ตายเช่นกัน อาทิ เช่น การเผาเครื่องหอมต่อหน้าศพ เพื่อความเชื่อที่ว่า ความหอมสามารถขับไล่สิ่งชั่วร้าย และสามารถนำทางให้ดวงวิญญาณของผู้ตายไปยังสรวงสวรรค์ได้ เช่นเดียวกับคนไทย ที่มีการวางดอกไม้จันทน์ ดอกสุดท้ายในวาระสุดท้ายของผู้วายชนม์ ต่อหน้าร่างไร้วิญญาณ เพื่อเป็นการแสดงความไว้อาลัย และให้เกียรติแก่ผู้วายชนม์เป็นครั้งสุดท้าย

ในปัจจุบัน แม้ดอกไม้จันทน์จะมีลักษณะและความหลากหลายมากขึ้น เนื่องจากเราสามารถหาวัสดุทดแทนได้มากขึ้น และมีปรับรูปแบบตามความคิดสร้างสรรค์ตามกาลสมัย ปัจจุบันเราจึงเห็นดอกไม้จันทน์ในประเภทต่างๆ ที่สื่อความหมายแตกต่างกันไป มีความสวยงามและชวนให้รื่นรมย์ทางสายตา

แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ความสำคัญของพิธีกรรมงานศพ ก็หาได้ขึ้นอยู่กับดอกไม้จันทน์ว่ามีความงดงามเพียงใด แต่เป็นคุณงามความดีของผู้ตาย มโนธรรมที่จับต้องไม่ได้ แต่คงความระลึกถึงแด่ผู้วายชนม์ตลอดกาล สิ่งนี้ คือ สิ่งสำคัญที่สุด การไว้อาลัย ร่วมงานศพ นอกจากจะให้เกียรติแก่ผู้ตายแล้ว ความดีงามที่ผู้วายชนม์ได้ทำไว้ คือ มรดกสำคัญที่ลูกหลาน คนรู้จักรักใคร่ ญาติสนิทมิตรสหาย พึงนำมาให้รำลึกและนำมาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต



ตายแล้วไปไหน.?

ไม่ใช่คำถามที่เราสามารถหาคำตอบได้ จะมีเพียงแต่ผู้วายชนม์เท่านั้นที่จะรู้ว่า ความดีงามตลอดช่วงเวลาที่ยังมีลมหายใจอยู่นั้น จะนำพาจิตวิญญาณไปที่แห่งใด หากเรายังมีชีวิตอยู่ เราจึงควรกระทำแต่ความดี ด้วยการคิดดี ทำดี กรรมดีจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะนำพาเราไปสู่หนทางที่สงบสุข อย่างที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนว่า

    “ราหุล.! กระจกเงามีไว้สำหรับทำอะไร.?
     ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กระจกเงามีไว้สำหรับส่องดู พระเจ้าข้า
     ราหุล.! กรรมทั้งหลาย ก็เป็นสิ่งที่บุคคลควรสอดส่อง
     พิจารณาดูแล้วดูเล่าเสียก่อน จึงทำลงไป ทางกาย ทางวาจา หรือ ทางใจ
     ฉันเดียวกับกระจกเงานั้น เหมือนกัน”


 

 

ข้อมูลอ้างอิง :-
1. ความเป็นมาและธรรมเนียมของดอกไม้จันทน์
http://pirun.ku.ac.th/~b5310507485/history.html
2.The Secret Life of Scent: Fragrant, Mandy Aftel พลอยแสง เอกญาติ
3. พุทธวจนะ http://chaiwat201149.blogspot.com/2014/06/blog-post_4684.html
4. การสาธิตการทำดอกไม้จันทน์
https://www.youtube.com/watch?v=mIxcvSb9Huk&index=8&list=PLLvotVqfciXY2ID2FuA7gbIsRRDq9Dvhb

Thank to : https://www.bagindesign.com/ดอกไม้จันทน์-sandalwood/
Thai book Review , พฤษภาคม 11, 2017, 10:40 am
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ