ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ทำบุญด้วยความรู้ถูก-เข้าใจถูก อย่างชาวพุทธที่มีปัญญา  (อ่าน 323 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28439
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



ทำบุญด้วยความรู้ถูก-เข้าใจถูก อย่างชาวพุทธที่มีปัญญา

ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการทำบุญ "บุญกิริยาวัตถุมี 10 ประการ" หรือที่ถูกจำแนก อย่างถูกต้องอย่างชาวพุทธที่มีปัญญา

พระบรมศาสดา พระอรหันตสัมมา​สัมพุทธเจ้า ​ทรงจำแนกประเภทของกุศลต่างๆ ให้เป็นไปตามความสามารถและความเหมาะสมของผู้ที่จะนำมาประพฤติปฏิบัติ ขัดเกลากิเลสทั้งทางกาย วาจา ใจ เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งการกระทำความดี มี 10 ประการ ได้แก่

    1. บุญสำเร็จจากการให้ทาน สละ บริจาควัตถุสิ่งของแก่ผู้อื่น
    2. บุญสำเร็จจากการงดเว้นทุจริตทางกาย วาจา
    3. บุญสำเร็จจากการอบรมจิตให้สงบจากกิเลสและการอบรมเจริญปัญญาละกิเลสทั้งปวง
    4. บุญสำเร็จจากการประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตน
    5. บุญสำเร็จจากการสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้อื่น ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น
    6. บุญสำเร็จจากการอุทิศส่วนกุศลที่ได้บำเพ็ญทานมาแล้วให้ผู้อื่นได้รู้และร่วมอนุโมทนา
    7. บุญสำเร็จจากการยินดีในกุศลที่ผู้อื่นได้กระทำแล้ว
    8. บุญสำเร็จจากการฟังพระสัทธรรม
    9. บุญสำเร็จจากการแสดงพระสัทธรรม
   10. บุญสำเร็จการทำความเห็นให้ถูกต้องตรงตามความจริงของสภาพธรรม

ถึงแม้ว่า บุญกิริยาวัตถุมี 10 ประการ แต่ก็จัดรวมอยู่ในประเภทของบุญกิริยาวัตถุ 3 ประการ ได้แก่  ทาน 3 ศีล 3 ภาวนา 3 กล่าวคือ

ทาน 3 ประกอบด้วย การให้ทาน สละ บริจาควัตถุสิ่งของแก่ผู้อื่น การอุทิศส่วนกุศลที่ได้บำเพ็ญทานให้ผู้อื่นได้รู้และร่วมอนุโมทนา และการยินดีในกุศลที่ผู้อื่นได้กระทำแล้ว

ศีล 3 ประกอบด้วย การงดเว้นทุจริตทางกาย วาจา การประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตน และการสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้อื่น ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น

ภาวนา 3  ประกอบด้วย การอบรมจิตให้สงบจากกิเลสและการอบรมเจริญปัญญาละกิเลสทั้งปวง การฟังพระสัทธรรม และการแสดงพระสัทธรรม



ส่วน การทำความเห็นให้ถูกต้องตรงตามความจริงของสภาพธรรม เป็นได้ทั้ง กุศลประเภททาน ศีล  หรือภาวนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งมีการทำความเห็นให้ถูกต้องตรงตามความจริงของสภาพธรรมมีหลายขั้นหลายระดับ  อาทิ  ความเห็นถูกว่าอะไรดีอะไรชั่ว 

เช่น  การพูดไม่จริงเป็นสิ่งที่ไม่ดี  ความซื่อสัตย์และความกตัญญูกตเวทีเป็นสิ่งที่ดี ฯลฯ ความเห็นถูกว่าควรขัดเกลากิเลสด้วยการให้ทานเพื่อเปลื้องความตระหนี่ หรือความติดข้องในวัตถุออกเสียบ้าง  ความเห็นถูกว่าควรจะเป็นผู้มีศีลโดยเว้นการทุจริตทางกาย วาจา ซึ่งเป็น การขัดเกลากิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลงให้เบาบางลง ความเห็นถูกว่าควรเจริญสมถภาวนาระงับกิเลสซึ่งเป็นเหตุทำให้จิตใจเศร้าหมอง  ความเห็นถูกว่าควรเจริญวิปัสสนาภาวนาดับกิเลสให้หมดสิ้น

@@@@@@@

หลวงพ่อจรัญแนะ ทำตามนี้ชีวิตจะดีขึ้น

การเจริญกุศลโดยการทำความเห็นให้ถูกต้องตรงตามความจริงของสภาพธรรมนั้น จะต้องพิจารณาให้รู้ลักษณะที่ดีและลักษณะที่ชั่วของสภาพธรรมแต่ละชนิดให้ละเอียดมากขึ้นและให้รู้แน่ชัดมากขึ้น ถ้าไม่รู้ลักษณะที่ดีและลักษณะที่ชั่วของสภาพธรรมแต่ละชนิดด้วยการคิดพิจารณา​ไตร่ตรอง ต้องอาศัยการฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดงไว้

เวลาที่จิตเป็นกุศลกระทำความเห็นให้ถูกต้องตรงตามความจริงของสภาพธรรม ความเข้าใจถูกในสภาพธรรมแต่ละชนิดก็ย่อมจะเป็นเหตุที่ทำให้เจริญกุศลอื่นๆยิ่งขึ้นด้วย เช่น เมื่อรู้ว่าความจริงใจ ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นสิ่งที่ดีงามก็จะทำให้รังเกียจการพูดเท็จ การหลอกลวง การคดโกง ทั้งทางกาย วาจาและใจ เมื่อรังเกียจความชั่วก็ย่อมจะละความชั่วและเจริญความดีบ่อยๆ จนกระทั่งเคยชินเป็นอุปนิสัยที่ดีงาม เช่น อุปนิสัยในการให้ทาน อุปนิสัยในการรักษาศีล อุปนิสัยในการเจริญภาวนา


ชาวพุทธพึงทราบว่า การให้ทานเพื่อสงเคราะห์แก่ผู้อื่นต้องมีความพอดี เหมาะควรแก่ฐานานุรูปของแต่ละบุคคล ถ้าให้ทานเกินความพอดี มากไปหรือหย่อนไปก็จะนำความทุกข์และความเดือดร้อนมาให้ ในการให้ทานนั้นจะต้องรู้ว่า กุศลจิตเกิดมากกว่าอกุศลจิต หรืออกุศลจิตเกิดมากกว่ากุศลจิต ฉะนั้นการให้ทานจึงควรเป็นไปใน ลักษณะกุศลจิตเกิดมากกว่าอกุศลจิต

ผู้ที่มีอัธยาศัยในการให้ทานย่อมเห็นคุณประโยชน์ของการให้ทานว่าเป็นการละกิเลส ย่อมมีการฝึกฝน บำเพ็ญการให้ทานให้มากยิ่งขึ้นในทุกๆ ทาง เมื่อให้ทานไปแล้วก็ไม่มีความหวั่นไหว ไม่มีความเศร้าหมอง ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม ทั้งนี้เป็นเพราะ เจตนาในการให้ทานมีความผ่องใสทั้ง 3 กาล  คือ ตอนที่คิดจะให้ทาน ขณะที่กำลังให้ทาน และภายหลังที่ให้ทานไปแล้ว การให้ทานที่มีเจตนาที่ผ่องใสทั้ง 3 กาล อานิสงส์คือผลที่จะได้รับนั้นก็มีมากกว่า เพราะว่ากุศลจิตเกิดมากกว่า และกุศลจิตนั้นผ่องใสกว่า 

ประการสำคัญการให้ทานที่ดีที่สุด คือ การให้ทานโดยไม่ได้หวังผล ไม่ได้หวังลาภ ไม่ได้หวังยศ ไม่ได้หวังสรรเสริญต่างๆ แต่ ให้ทานนั้นเพราะรู้ว่าเป็นสิ่งที่ดี  เป็นการกระทำที่ควรเจริญเพราะสามารถขัดเกลากิเลสให้เบาบางลงได้  และการให้ทานในลักษณะนี้ก็ไม่มีโลภะซึ่งเป็นความต้องการผล







ขอขบอคุณ :-
คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”
แฟนเพจ : สาระจากพระธรรม
ที่มา : https://www.dailynews.co.th/articles/952342/
14 เมษายน 2565 ,10:00 น.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 16, 2022, 05:50:38 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ