ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ทัวร์ "บุญ" สักการะUnseen 9 สิ่งมงคล "งานสมโภช 175 ปี วัดบวรนิเวศวิหาร"  (อ่าน 3558 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28415
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


ทัวร์"บุญ"สักการะUnseen 9 สิ่งมงคล"งานสมโภช175ปี วัดบวรนิเวศวิหาร" อย่าได้พลาดเชียว!

หากจะพูดถึงวัดหลวงที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์   เกี่ยวข้องโดยตรงกับพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีหลายรัชกาล   พระบรมวงศานุวงศ์   รวมถึงพระเถระชั้นผู้ใหญ่ระดับสังฆราชหลายๆพระองค์  ในกรุงรัตนโกสินทร์มาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง  คงจะเป็นวัดอื่นใดไปไม่ได้นอกจาก วัดบวรนิเวศวิหาร  พระอารามหลวงชั้นเอก   ชนิดราชวรวิหาร  ซึ่งตั้งอยู่บนถนนพระสุเมรุ   บางลำภู เขตพระนคร  ที่กำลังจะมีงานสมโภช 175ปี  ระหว่างวันที่ 11-15 มกราคม 2555 นี้

ในงานแถลงข่าว "งานสมโภช 175 ปี วัดบวรนิเวศวิหาร"  เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 5 มกราคม 255 ที่ผ่านมา ณ พระตำหนักเพ็ชร   โดย สมเด็จพระวันรัต ประธานคณะกรรมการดำเนินงาน โครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดบวรนิเวศวิหาร ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ฝ่ายบรรพชิต)  ได้บอกเล่าประวัติ วัดบวรนิเวศวิหาร  ซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ สำหรับกรุงรัตนโกสินทร์มากที่สุดวัดหนึ่งว่า   

องค์ผู้สถาปนา-ผู้ปกครองวัด -ผู้เข้ามาบวชประจำอยู่ในพระอารามแห่งนี้  ล้วนเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ ราชวงศ์จักรีทั้งนั้นสืบเนื่องมาตั้งแต่ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ  (วังหน้า) ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3  ทรงมีพระดำริโปรดให้สร้างขึ้น แต่ยังไม่ทันแล้วเสร็จ ก็สิ้นพระชนม์เสียก่อน



โดยแต่เแรกเริ่มที่สร้างวัดนี้ขึ้นยังไม่มีพระรูปใดมาจำพรรษา จวบจนกระทั่ง รัชกาลที่ 3 ได้อาราธานาเชิญพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4  เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศ   เป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฏสมมติเทวาวงศ์  มาครองวัดนี้ ซึ่งถ้าเทียบในสมัยปัจจุบันก็เหมือนเป็นเจ้าอาวาส   

โดยมีการ พระราชทานชื่อ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2379 (ตามปฏิทินสมัยนั้น)   และตั้งคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายขึ้นที่วัดนี้ เป็นครั้งแรก    ได้ทรงบูรณะพระอุโบสถ   และโปรดเกล้าฯ  ให้ขรัวอินโข่งเขียนภาพฝาผนัง   เมื่อรัชกาลที่ 3  สวรรคตใน พ.ศ.2394   รัชกาลที่ 4  ก็ลาผนวช   ขึ้นครองราชย์สมบัติต่อมา

ต่อมาเมื่อสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 5 ขึ้นครองราชย์   ทรงปฏิสังขรณ์ใหม่หมดทั้งอารามและโปรดเกล้าฯ   ให้สร้างพระตำหนัก และโรงเรียนมหามงกุฏราชวิทยาลัยขึ้นใหม่ด้วย



วัดบวรนิเวศวิหาร  กลายเป็นที่ประทับระหว่างผนวชของพระมหากษัตริย์ รวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 , พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาล ที่ 7   กระทั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร ก็ทรงผนวชและประทับที่วัดแห่งนี้ด้วย ถือว่าเป็นวัดที่สำคัญในพระราชวังวัดหนึ่ง

โดยในสมัยรัชกาลที่ 6  ได้รวมวัดรังษีสุทธาวาส กับวัดบวรนิเวศฯ เข้าด้วยกัน   รัชกาลที่ 7 ทรงสร้างกุฏิสงฆ์   รัชกาลที่ 8  ทรงสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม  และ ในรัชกาลปัจจุบัน ได้ทรงปฏิสังขรณ์เจดีย์ หอไตร และพระอุโบสถ



การบูรณปฏิสังขรณ์วัดบวรนิเวศวิหาร  ทั่วพระอาราม ทั้งในเขตพุทธาวาส และสังฆาวาส ดำเนินการระหว่างปี พ.ศ.2549-2555 โดยการบูรณปฏิสังขรณ์เป็นไปตามหลักวิชาการ ภายใต้การดูแลและควบคุมโดยเจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากร เพื่อให้ศาสนสถานและศาสนวัตถุ ดำรงความเป็นเอกลักษณ์ของชาติ เพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศลเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4  องค์ปฐมเจ้าอาวาส

เนื่องในวโรกาสครบ 200  ปี แห่งการพระบรมราชสมภพ วันที่ 18  ตุลาคม 2547  และน้อมถวายเป็นพระราชกุศลเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60  ปี ในปีพ.ศ. 2549 และในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 80  พรรษา 5  ธันวาคม 2550  ตลอดจนเพื่อถวายเป็นพระกุศลแด่อดีตเจ้าอาวาสผู้ทรงครองวัดบวรนิเวศวิหารทุกพระองค์



สมเด็จพระวันรัต เผยว่า  ดำเนินการบูรณะศาสนสถานและอาคารต่าง ๆ ภายในวัดบวรนิเวศวิหาร  ทั้งสิ้น 44 รายการ รวมงบประมาณที่ใช้ไปในการบูรณะเป็นจำนวนเงินกว่า 800 ล้าน   ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชศรัทธาทรงพระกรุณาโปรดรับโครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดบวรนิเวศวิหาร ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ตลอดจนพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการบูรณปฏิสังขรณ์ด้วย 

นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนงบประมาณทั้งจาก ผู้มีจิตศรัทธา, วัดบวรนิเวศวิหาร, รัฐบาลโดยกรมศิลปากร และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งนับเป็นการร่วมกุศลครั้งใหญ่ จากการร่วมแรงร่วมใจกัน  เพื่อสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา และอนุรักษ์ศิลปะของประเทศไทย

กระทั่งปัจจุบัน  การบูรณปฏิสังขรณ์วัดบวรนิเวศวิหาร ได้ดำเนินการแล้วเสร็จบริบูรณ์   จึงได้ร่วมกันจัดงานสมโภช 175  ปี วัดบวรนิเวศวิหาร ขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7  รอบ 5  ธันวาคม2554  นับเป็นวาระที่สำคัญอย่างยิ่งที่เหตุอันเป็นสิริมงคลของสถาบันหลักของชาติได้มาบรรจบกัน

ด้านนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและอดีตปลัดกระทรวงวัฒนธรรม          ในฐานะประธานคณะทำงานพิจารณากลั่นกรองรูปแบบการจัดงานสมโภช 175  ปี วัดบวรนิเวศวิหาร   เผยว่า วัดบวรนิเวศวิหารเป็นวัดทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของไทยมากมาย งานสมโภช  175 ปี ครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสดีที่นอกจากจะเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ยังเป็นงานที่เผยแพร่องค์ความรู้ต่างๆที่มีคุณค่าภายในวัดให้แก่ประชาชนได้รับทราบอีกมาก  ผ่านกิจกรรมสำคัญที่จัดขึ้นภายในและบริเวณโดยรอบวัดบวรนิเวศวิหาร

และในพิธีงานสมโภช 175  ปี วัดบวรนิเวศวิหารนี้ คณะกรรมการวัดบวรนิเวศวิหาร และคณะกรรมการโครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดบวรนิเวศวิหารได้ขอพระราชทานทูลเชิญเสด็จ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสมโภชพระรัศมีทองคำลงยาราชาวดี พระพุทธชินสีห์ และทรงสมโภชพระอาราม ในวันพฤหัสบดีที่ 12  มกราคม 2555   ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร อีกด้วย



ขณะที่กิจกรรมสำคัญอื่นๆ  ในเขตพุทธาวาสนั้น ได้เปิดสถานที่สำคัญให้พุทธศาสนิกชนได้ร่วมบูชาพระพุทธรูปสำคัญของชาติ และสิ่งมงคลสักการะ ทั้ง 9 แห่ง เพื่อความเป็นสิริมงคลต้อนรับปีใหม่พุทธศักราช 2555 

โดยทุกท่านที่มีจิตศรัทธาบูชาพระพุทธรูปสำคัญของชาติ และสิ่งมงคลสักการะครบทั้ง 9  แห่ง จะได้รับสิ่งมงคลสักการะที่ระลึก คือ พระพุทธชินสีห์ เนื้อผง ด้านหลังประดิษฐานตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ ทำมาจากมวลสารดอกมะลิที่พระบาทสมเด็จ   พระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานและกระเบื้องโมเสกพระเจดีย์ รวมถึงคู่มือในการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทั้ง 9 แห่งด้วย



"เนื่องด้วยการสมโภชในคราวนี้ เป็นการสมโภชพระรัศมีทองคำลงยาราชาวดี พระพุทธชินสีห์ และสมโภชพระอาราม ซึ่งเป็นงานสำคัญครั้งประวัติศาสตร์ที่จะเกิดขึ้นในพระนคร กรมศิลปากรจึงได้จัดการแสดงนาฏศิลป์ชั้นสูง ซึ่งจะแสดงในพระราชพิธีสำคัญในราชสำนัก มาร่วมสมโภชในโอกาสดังกล่าว อาทิ โขนรามเกียรติ์ โดยศิลปินกรมศิลปากร, การแสดงละครนอก เรื่องแก้วหน้าม้า, การแสดงรำกิ่งไม้เงินทอง"  ประธานคณะทำงานพิจารณากลั่นกรองรูปแบบรายการจัดงานสมโภช 175  ปี วัดบวรนิเวศวิหาร กล่าว

นอกจากนี้ ประชาชนผู้เข้าร่วมงานยังมีโอกาสได้รับชมการแสดงมหรสพศิลปะการแสดงพื้นบ้านของไทยที่หาชมได้ยากในปัจจุบัน อาทิ ลิเกเด็ก คณะเคียงฟ้า ๔ พี่น้อง, การแสดงดนตรี ๔ ภาค, ลำตัดคณะแม่ขวัญจิต      ศรีประจันต์ เป็นต้น โดยจะจัดแสดงทุกวัน วันละ 1 รอบ ส่วนบริเวณภายในและภายนอกวัดและยังได้เพลิดเพลินชมงานออกร้าน ชิมอาหารร้านอร่อยย่านบางลำภู และย่านพระนคร


การแสดงรำกิ่งไม้เงินทอง นาฏศิลป์ชั้นสูงที่หาชมได้ยากในปัจจุบัน

"อยากให้ประชาชนได้มาเห็น เมื่อวัดบวรนิเวศวิหารประดับไฟจะเป็นอย่างไร ขอบอกว่าคลาดสสิคมาก และเราจะได้เห็นสถาปัตยกรรมของวัดบวรนิเวศที่หลากหลาย ทั้งไทยแท้ดั้งเดิมไทยปนฝรั่ง ฝรั่งจ๋า จีนแขก สวยงามรวมถึงร่วมชมพระพุทธรูปที่ไม่เพียงแต่อยู่ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์เท่านั้น แต่ในวัดบวรนิเวศวิหารมีพระพุทธรูปตั้งแต่สมัยทวารวดีประดิษฐานอยู่ด้วยมากมาย  หลายสมัย และทรงคุณค่า เรียกได้ว่า วัดบวรนิเวศวิหารแห่งนี้ เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของไทยเราเลยทีเดียว" นายวีระกล่าว   

ประชาชนและผู้สนใจสามารถเดินทางมาร่วมชมงาน "สมโภช 175 ปี วัดบวรนิเวศวิหาร "ได้ในระหว่างวันที่ 11-15  มกราคม 2555 เวลา 09.00 -21.00 น. ณ วัดบวรนิเวศวิหาร สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 02-281-5052 (สำนักงานวัดบวรนิเวศวิหาร (ศาลาเขียว)) หรือ http://www.watbowon.com/



ก่อนที่จะถึงงานสมโภช 175 ปี วัดบวรนิเวศวิหาร วันจริง  มติชนออนไลน์จึงได้เก็บภาพบรรยากาศสถานที่สำคัญต่างๆ ภายในวัด รวมถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 9 แห่ง ที่จะเปิดให้ประชาชนได้เข้าไปร่วมสักการะ กราบไหว้ บูชาขอพร รวมถึงเรียนรู้ไปกับประวัติศาสตร์ในแต่ละยุคสมัยต่างๆผ่านเรื่องเล่าทางสถาปัตยกรรมอันสวยงามและหลากหลายของวัดแห่งนี้ให้ได้ชมกันด้วย

เป็นการกระตุ้นศรัทธาอันแรงกล้าของพุทธศาสนิกชนรวมถึงศาสนาอื่นๆให้ร่วมรำลึกถึงคุณค่าและความเป็นไทยแบบวิถีชาวพุทธ ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่สวยงามอยู่ในทุกช่วงความทรงจำของอนุชนรุ่นหลังมิได้เสื่อมคลายตามความเจริญของโลกสมัยใหม่ ที่ก้าวไกลไปกับระบบดิจิตอลเลยจริงๆ...

บูชาพระพุทธรูปสำคัญของชาติ และสิ่งมงคลสักการะ ๙ จุด


๑. ไหว้พระคู่บวร  ณ พระอุโบสถ

๒. ขอพรพระบรมสารีริกธาตุ บูชาพระไพรีพินาศ  ณ พระเจดีย์

๓. อภิวาทพระศรีศาสดา   ณ พระวิหารพระศาสดา

๔. วันทาพระพุทธรูปคู่พระบารมีฯ  ณ พระวิหารเก๋ง

๕. บูชาพระพุทธรูปศิลา  ณ โพธิฆระ

๖. ไหว้พระพุทธรูปปางลีลา  ณ ศาลาการเปรียญ

๗. สักการะรอยพระพุทธบาทโบราณ  ณ ศาลาพระพุทธบาท

๘. ไหว้พระพุทธรูปโบราณที่ซุ้มปรางค์ (ด้านซ้าย)  ข้างพระอุโบสถ

๙. ไหว้พระพุทธรูปโบราณที่ซุ้มปรางค์ (ด้านขวา) ข้างพระอุโบสถ


ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1325844457&grpid=&catid=09&subcatid=0901
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

axe

  • ศิษย์ตรง
  • กำลังแหวกกระแส
  • *****
  • ผลบุญ: +1/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 187
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
0
อนุโมทนา กับคุณ nathaponson ที่นำความรู้มามอบให้อย่างต่อเนื่องครับ

 สาธุ สาธุ สาธุ
บันทึกการเข้า
หนุ่มหล่อ ใจดี AXE

juntra

  • กำลังแหวกกระแส
  • **
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 108
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
0
อนุโมทนา ด้วย คะ

 :25: :25: :25:
บันทึกการเข้า