ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ท่านสุปพุทธกุฏฐิ  (อ่าน 3152 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

Admax

  • ผู้อุปถัมภ์
  • โยคาวจรผล
  • ****
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 1063
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
ท่านสุปพุทธกุฏฐิ
« เมื่อ: กรกฎาคม 04, 2013, 03:27:01 am »
0
ท่านสุปพุทธกุฏฐิ
โดย  หลวงพ่อพระราชพรหมยาน

บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนทั้งหลายเคยปรารภกันว่า  ในสมัยองค์สมเด็จพระทรงธรรม์บรมศาสดา   เขาฟังเทศน์กันอย่างง่าย ๆ  แล้วก็ปฏิบัติกันแบบง่าย ๆ  พระพุทธเจ้าเทศน์จบเมื่อไร  ก็ปรากฎว่าบางท่านได้เป็นพระอรหันต์บ้าง  บางท่านได้เป็นพระอนาคามีบ้าง  เป็นพระสกิทาคามีบ้าง  เป็นพระโสดาบันกันบ้าง  อย่างนี้รู้สึกว่าง่ายมากเกินไป  แต่ว่าในสมัยนั้น  องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเทศน์ เหตุที่เขาจะได้เป็นอริยเจ้าอย่างนั้น  เขาตั้งใจยังไง  บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายจะทราบได้จากเรื่องนี้
ความมีอยู่ว่า  เมื่อองค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังทรงพระชนม์อยู่  ในวันหนึ่งองค์สมเด็จพระบรมครูทรงเสด็จไปในภาคพื้นปกติ  เวลาที่พระพุทธเจ้าเทศน์น่ะ  บรรดาท่านพุทธบริษัท  หาธรรมาสน์เทศน์นี่ยากเต็มที  เพราะว่าองค์สมเด็จพระชินสีห์มักจะเทศน์กลางป่าบ้าง  กลางทุ่งนาบ้าง  เอาสังฆาฏิปูบ้าง  นั่งบนตอไม้บ้าง  นาน ๆ องค์สมเด็จพระพิชิตมารบรมศาสดาจึงจะเทศน์ในพระมหาวิหาร  ในวันนั้น องค์สมเด็จพระพิชิตมารบรมศาสดาทรงเสด็จประทับอยู่ที่ตอไม้  มีคนทั้งหลายแวดล้อมนั่งฟังกันอยู่เป็นอันมาก
ขณะที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจะแสดงพระสัทธรรมเทศนา  เวลานั้นก็ปรากฎว่ามีกระทาชายนายหนึ่ง  มีนามว่าสุปพุทธกุฏฐิ  คำว่า  “สุปพุทธะ”  เป็นชื่อ  กุฏฐิ นี่เป็นฉายา  ที่มีฉายาอย่างนี้เพราะว่าแกเป็นโรคเรื้อนทั้งตัว  ชาวบ้านจึงให้นามว่า สุปพุทธะ แล้วก็ลงท้ายว่า กุฏฐิ  ซึ่งแปลเป็นใจควาว่า  นายสุปพุทธะผู้เป็นโรคเรื้อน  แล้วท่านผู้นี้ก็มีอาชีพเป็นขอทานด้วย
บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย  เวลาที่เธอเข้ามาเห็นองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาประทับนั่งอยู่บนตอไม้  มีบรรดาประชาชนทั้งหลายแวดล้อมอยู่เป็นส่วนมาก  สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ากำลังจะแสดงพระสัทธรรมเทศนา  ท่านสุปพุทธกุฏฐิก็บังเกิดมีความเลื่อมใสในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  จึงได้นั่งลงตั้งใจจะฟังองค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์แสดงธรรม  แต่ทว่าบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย  ควรจะนึกถึงความเป็นจริง  เขาทั้งหลายเหล่านั้นทั้งชายและหญิง  เป็นคนที่มีรูปร่างหน้าตาปกติ มีฐานะดี  แต่ทว่าชายผู้เป็นโรคเรื้อนคนนี้เป็นโรคเรื้อนด้วยแล้วก็เป็นขอทาน  ไม่กล้าที่จะเข้าไปนั่งปะปนกับชาวบ้านเพราะเกรงว่าเขาจะรังเกียจ  จึงได้นั่งอยู่ท้ายปลายสุดของบรรดาบริษัทที่รับฟังพระธรรมเทศนา  นั่งห่าง ๆ  เขา
เวลานั้นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า   ได้ทรงแสดงธรรมกล่าวถึงโทษของการละเมิดศีล 5  กล่าวถึงคุณการปฏิบัติในศีล 5 เป็นต้น  โดยองค์สมเด็จพระทศพลเทศน์มีใจความว่า  บุคคลที่จะมีความสุขได้  ก็ต้องเป็นบุคคลที่ไม่มีใจร้าย  นั่นก็คือ
1.  ไม่ทำลายชีวิตสัตว์และไม่ทำลายชีวิตคน  เพราะสัตว์ก็ดี  คนก็ดี  ย่อมมีการรักชีวิตรักร่างกายของตน  มีสภาวะเสมอกัน  เหตุฉะนั้น องค์สมเด็จพระทรงธรรม์จึงทรงแนะนำให้ทุกคนมีเมตตาความรักซึ่งกันและกัน  มีกรุณาความสงสารซึ่งกันและกัน  ไม่ทำร้ายซึ่งกันและกัน
และประการที่ 2  ไม่ยื้อแย่งทรัพย์ของบุคคลอื่นมาเป็นของตนโดยไม่ชอบธรรม
และก็ประการที่ 3  ไม่ยื้อแย่งคนรักของบุคคลอื่นมาครอบครอง  โดยที่เจ้าของไม่ได้อนุญาต
ประการที่ 4  องค์สมเด็จพระโลกนาถตรัสว่า  ควรจะพูดแต่ความจริง  เพราะคนทุกคนรักความจริง
ประการที่ 5  สมเด็จพระบรมศาสดาทรงตรัสว่า  ไม่ควรดื่มสุราและเมรัย  เพราะเป็นฐานะที่ตั้งแห่งความประมาท
แล้วองค์สมเด็จพระโลกนาถก็ทรงกล่าวแสดงถึงโทษของการละเมิดศีล 5 ว่า  บุคคลใดทำปาณาติบาต  ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต  ประทุษร้างร่างกายเขา  ตายจากความเป็นคนก็ไปเกิดเป็นสัตว์นรก  แล้วก็มาเป็นเปรต  เป็นอสุรกาย  เป็นสัตว์เดรัจฉาน  เกิดมาภายหลังก็มาเป็นคน  กรรมที่เป็นอกุศลให้ผลยังไม่ถึงที่สุด ก็ตามมาให้ผลในสมัยที่เป็นมนุษย์  นั่นก็คือมีร่างกายมีการป่วยไข้ไม่สบายบ้าง  มีร่างกายทุพลภาพบ้าง   มีชีวิตสั้นพลันตายบ้าง  เป็นต้น
หลังจากนั้น  องค์สมเด็จพระทศพลก็ทรงตรัสโทษของอทินนาทานว่า  คนที่ทำอทินนาทาน  คนประเภทนี้เกิดมาเป็นคนก็จะพบกับการถูกล้างผลาญทรัพย์สมบัติ  คือไฟไหม้ทรัพย์สมบัติบ้าง  น้ำท่วมบ้าง  ลมพัดให้สมบัติสลายตัวบ้าง  ถูกโจรลักบ้าง
โทษของกาเมสุมิจฉาจาร ก็เป็นปัจจัยให้คนทั้งหลายเหล่านั้นมีชีวิตไม่เป็นสุข  คือคนในครอบครัวหรือในบังคับบัญชาว่ายากสอนยาก  เป็นการขื่นขมระทมใจ
โทษมุสาวาท  เป็นปัจจัยให้ไม่มีใครเชื่อฟัง  ถึงแม้จะพูดวาจาจริง
ข้อที่ 5  องค์สมเด็จพระจอมไตรทรงตรัสว่า  ถ้าเกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว  คือผ่านนรก  เปรต  อสุรกาย มาแล้วอย่างนี้  องค์สมเด็จพระประทีปแก้วกล่าวว่า  โทษการดื่มสุราและเมรัย  จะต้องกลายเป็นคนเป็นโรคเส้นประสาทบ้าง  เป็นคนบ้าบ้าง
สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ากล่าวถึงโทษการละเมิดศีล 5  คือปัญจเวร  แล้วต่อไปสมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาก็กล่าวถึง  คุณการปฏิบัติในศีล 5 ประการครบถ้วนว่า
ศีลข้อที่ 1  คนรักษาได้ด้วยเมตตา  ถ้าเกิดมาภายหลังจะมีโรคภัยไข้เจ็บเล็กน้อย  มีชีวิตมีอายุขัย  ร่างกายสะสวยงดงาม  ร่างกายดีเป็นปกติ
ศีลข้อที่ 2  ถ้ารักษาได้   ทรัพย์สมบัติทั้งหลายที่มีอยู่จะไม่สลายตัว  เพราะไฟไหม้ 1  น้ำท่วม 1  ลมพัด 1  โจรผู้ร้ายไม่รบกวน 1
ศีลข้อที่ 3  พระผู้มีพระภาคเจ้ากล่าวว่า  ถ้าทรงไว้ได้  คนใต้บังคับบัญชาจะว่านอนสอนง่าย  อยู่ในโอวาท
ศีลข้อที่ 4  องค์สมเด็จพระโลกนาถกล่าวว่า  สัจวาจาที่กล่าวไว้ในชาติก่อน ๆ นั้นไซร้  จะเป็นปัจจัยให้เกิดมาในชาติหลัง  มีวาจาเป็นที่รักของบุคคลผู้รับฟัง
ศีลข้อที่ 5  องค์สมเด็จพระศาสดากล่าวว่า  ถ้ารักษาได้  เกิดมาภายหลังจะเป็นคนมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์  มีปัญญาดี
เมื่อองค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสอย่างนี้  ก็ลงท้ายศีลว่า  สีเลน  สุคติง  ยันติ  บุคคลใดมีศีลบริสุทธิ์ เกิดในสมัยที่เป็นมนุษย์ก็มีความสุข  ตายไปแล้วก็มีความสุข  มีสวรรค์เป็นที่ไป
ข้อที่ 2 องค์สมเด็จพระจอมไตรกล่าวว่า  สีเลน  โภคสัมปทา  บุคคลใดปฏิบัติในศีลได้นี้  ในขณะที่มีชีวิตอยู่นี้  สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสว่า  มีทรัพย์สมบูรณ์แบบ  คือการจับจ่ายใช้สอยทรัพย์จะมีตามปกติ  ทรัพย์ไม่สิ้นเปลือง  จะมีความสุขเพราะการปกครองทรัพย์  ตายไปเป็นเทวดาก็มีทิพยสมบัติ  มาเป็นคนก็จะเป็นเศรษฐีมหาเศรษฐี เพราะความดีในข้อนี้
ข้อสุดท้ายองค์สมเด็จพระชินสีห์กล่วว่า   สีเลน  นิพพุติง  ยันติ  บุคคลใดมีศีลครบถ้วนบริบูรณ์  จะเป็นปัจจัยให้เข้าถึงพระนิพพานได้โดยง่าย
ครั้นเมื่อองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาตรัสจบ   ก็ปรากฎว่าบุคคลผู้รับฟังได้เป็นพระอริยเจ้า  เป็นพระโสดาบันบ้าง  สกิทาคามีบ้าง  อนาคามีบ้าง  เป็นพระอรหันต์บ้าง  สำหรับท่านที่เป็นอรหันต์ก็ขออุปสมบทบรรพชาในพระพุทธศาสนาทันที  แต่ทว่า สุปพุทธะ ผู้เป็นโรคเรื้อนและเป็นยาจกคนนี้  ปรากฎว่าเธอได้เป็นพระโสดาบัน  มีความปลื้มใจเป็นอันมาก
เมื่อสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสจบคนทั้งหลายก็พากันลาพระพุทธเจ้า  พระพุทธเจ้าก็เสด็จกลับพระวิหาร  สำหรับท่านสุปพุทธกุฏฐิ  ซึ่งเป็นพระโสดาบัน  ก็กลับกระท่อมของตน  ในตอนกลางคืนได้มาปรารภพระธรรมเทศนาขององค์สมเด็จพระทศพลว่า
“โอหนอ  พระธรรมเทศนาขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงไพเราะอย่างยิ่ง  ทำให้ท่านบรรดาพุทธบริษัทชายหญิงเข้าถึงความเป็นคนดี  แต่ว่าพระธรรมเทศนาที่เราฟังแล้วนี้จับใจมาก  เป็นจิตใจให้คิดเห็นว่า  ชีวิตของบุคคลเราเกิดมามันต้องตาย  เมื่อตายแล้ว ความตายไม่ได้ทำให้จิตใจสลายไปด้วย  ช่วยให้คนมีความสุข  อาศัยตัวเราที่เป็นโรคเรื้อนและเป็นขอทานในชาตินี้  เห็นจะเป็นเพราะที่องค์สมเด็จพระชินสีห์ทรงกล่าวว่า  เคยทำปาณาติบาตฆ่าสัตว์ตัดชีวิต  ทำร้ายร่างกายเขา  ร่างกายเราจึงไม่เป็นปกติ  มีเชื้อโรคเรื้อนประจำกาย  ที่มีทรัพย์สินไม่พอกินไม่พอใช้ต้องขอทานเขากิน เห็นจะเป็นโทษอทินนาทาน  แต่ทว่าเวลานี้  สมเด็จพระพิชิตมารบรมศาสดาสอนเราให้เข้าใจถึงความเป็นจริง  ฉะนั้น  พระพุทธศาสนา  มีพระพุทธรัตนะ  ธรรมรัตนะ  และสังฆรัตนะ  ทั้ง  3  ประการ  เป็นที่เคารพสักการะของจิตใจของเราเป็นอย่างยิ่ง”
เป็นอันว่าสุปพุทธกุฏฐิฟังเทศน์แล้ว  ก็เกิดความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าด้วย  เลื่อมใสในพระธรรมด้วย  เลื่อมใสในบรรดาพระอริยสงฆ์ทั้งหลายด้วย และจิตใจของเธอคิดไว้ว่า  นับตั้งแต่บัดนี้ไปจนกว่าจะตาย  จะมีเหตุการณ์ใด ๆ เกิดขึ้นก็ตามที  เรานี้จะไม่ยอมละเมิดศีล 5 เป็นอันขาด  องค์สมเด็จพระบรมโลกนาถกล่าวในข้อท้ายว่า  สีเลน  นิพพุติง  ยันติ  คือกล่าวว่า  การทรงศีลบริสุทธิ์เป็นปัจจัยให้เข้าถึงนิพพานโดยง่าย  ฉะนั้น ธรรมใดที่องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสแล้ว  เราจะรักษาด้วยดี  เราต้องการพระนิพพาน
รวมความว่า  ท่านมีความรู้ตัวว่าท่านนี้ต้องการพระนิพพาน  ท่านเองท่านเป็นพระโสดาบัน ท่านก็ทราบ
นี่แหละบรรดาท่านพุทธบริษัท  จงจำให้ดีว่า  การฟังเทศน์จากองค์สมเด็จพระชินสีห์นั้น  เขาก็คิดไปด้วย  หาเหตุหาผล  เมื่อได้เหตุได้ผลก็ตั้งใจของตนให้ตรงตามความเป็นจริง ตามธรรม ปฏิบัติตามนั้น  ทรงอารมณ์ตามนั้น
สำหรับท่านสุปพุทธกุฏฐินี่ท่านเป็นขอทาน  ก็คิดว่าเป็นคนที่ชาวบ้านเขาเหยียดหยามว่าเป็นคนชั้นต่ำ  เป็นคนมีทรัพย์สินน้อย  แล้วประการที่สอง  ท่านเป็นโรคเรื้อน  เป็นโรคที่น่ารังเกียจ  แต่ทว่าความเป็นพระอริยเจ้าไม่ได้เลือกบุคคล  ไม่ใช่ว่าต้องเป็นบุคคลที่มีฐานะดี  มีร่างกายดี  มีความรู้ดี  มีความสามารถดีเป็นพิเศษ  มีศักดิ์ศรีดี  จึงจะเป็นพระอริยเจ้าได้  ความเป็นพระอริยเจ้าไม่ได้เลือกบุคคล เลือกใจคน
รวมความว่า  ท่านสุปพุทธกุฏฐิท่านถึงความเป็นคนทรงคุณธรรม 3 ประการได้ครบถ้วน  ก็คือ
ในข้อแรก  มีความเคารพในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระอริยสงฆ์ นี่เป็นปัจจัยตัวที่หนึ่งให้เป็นพระโสดาบัน  หรือพระสกิทาคามี
จำไว้ให้ดีนะว่า  คนที่จะเป็นพระโสดาบันหรือพระสกิทาคามีน่ะ  เขาทรงคุณธรรมตามนี้  ที่เรียกกันว่าองค์ของพระโสดาบัน  ท่านที่เป็นพระโสดาบันนั้น มีความเคารพในพระพุทธเจ้า  ในพระธรรม พระสงฆ์ ด้วยจริงใจ
ประการที่สอง  ทรงศีล 5  บริสุทธิ์
แล้วก็ประการที่สาม  จิตต้องการพระนิพพานเป็นอารมณ์  นึกอย่างเดียวว่า  เราตายชาตินี้ขอไปนิพพาน  การทำความดีทุกอย่างเราทำเพื่อพระนิพพานอย่างเดียว  อย่างนี้พระพุทธเจ้าทรงเรียกว่าพระโสดาบัน  หรือพระสกิทาคามี
ถ้าใครทำใจได้อย่างนี้  ปฏิบัติได้ตามนี้ละก็  ทุกคนเป็นพระโสดาบันก็ได้  เป็นพระสกิทาคามีก็ได้  ใจความสำคัญในตอนนี้มีเท่านี้
ต่อไปตอนกลางคืน  ท่านสุปพุทธะได้มาพิจารณาความดีที่ท่านได้ในคราวนี้ว่า  ท่านเป็นพระโสดาบันเพราะพระธรรมเทศนาของสมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมา-สัมพุทธเจ้าแท้ ๆ   ขึ้นชื่อว่าพระพุทธเจ้า ทรงมีคุณแก่ท่านอย่างยิ่ง  แต่ก็คิดในใจว่า  เวลานี้ สมเด็จพระชินสีห์ทรงทราบหรือเปล่าว่าท่านเป็นพระโสดาบัน
แต่ความจริงใครจะเป็นอะไร  พระพุทธเจ้าทรงทราบเสมอ  ทราบด้วยอำนาจพระพุทธญาณ  แต่ทว่า ท่านสุปพุทธกุฏฐิ ท่านเพิ่งจะเป็นพระโสดาบัน  ท่านเพิ่งจะพบพระพุทธเจ้าใหม่ ๆ   จึงไม่มีความเข้าใจตามความเป็นจริงว่า  พระพุทธเจ้าจะทราบหรือไม่ทราบ  จึงได้นอนคำนึง  คืนนั้นทั้งคืนท่านนอนไม่หลับ  เพราะความปลื้มใจ มีความอิ่มใจในความเป็นพระโสดาบัน  ท่านจึงได้คิดในใจว่า  1. เราเป็นขอทานด้วย แล้วก็ประการที่ 2. เราก็เป็นคนเป็นโรคเรื้อน  ถ้าสมเด็จพระมหามุนีทรงทราบว่าเราเป็นพระโสดาบันจะทรงดีพระทัยมาก  จึงอยากจะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า  จะทูลให้ทรงทราบว่า ท่านเองได้เป็นพระโสดาบัน  คืนนั้นจึงนอนไม่หลับ
ตอนเช้ารีบกินข้าวแต่เช้า  หุงข้าวกิน  กับข้าวก็ไม่มีอะไรมาก จัดแจงแต่งกายอย่างดีที่สุดของขอทาน  ออกจากบ้านตั้งใจจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า  จะกราบทูลให้ทรงทราบว่าตัวเองเป็นพระโสดาบัน  ทั้งนี้เพราะอาศัยธรรมปีติล้นกำลังใจ
เวลานั้น ท้าวโกสีย์สักกเทวราช คือพระอินทร์อยู่บนวิมาน  นั่งอยู่ที่บนบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์  ทรงทราบว่า  เวลานี้สุปพุทธกุฏฐิจะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระบรมโลกนาถ  ตั้งใจจะกราบทูลให้ทรงทราบว่าเป็นพระโสดาบัน  ถ้ากระไรก็ดี  วันนี้เราจะลองใจสุปพุทธกุฏฐิดู  ว่ามีความเคารพในองค์พระบรมครู จะเป็นพระโสดาบันจริงหรือเปล่า คิดแล้วท่านจึงได้เหาะมาลอยอยู่ในอากาศ  ใกล้ข้างหน้า คือไม่สูงกว่าศรีษะของสุปพุทธกุฏฐิเท่าไร  จึงได้ตรัสถามว่า  “สุปพุทธกุฏฐิ  เธอจะไปไหน”
ท่านสุปพุทธกุฏฐิ เห็นท้าวโกสีย์สักกเทวราชลอยอยู่ใกล้ ๆ จึงได้กล่าวว่า “ท้าวโกสีย์  เวลานี้เราจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า”
พระอินทร์ท่านจึงได้ถามว่า  “ไปเฝ้าทำไม”
ท่านสุปพุทธะก็ตอบว่า “ฉันจะไปกราบทูลองค์สมเด็จพระจอมไตรว่า เวลานี้ ฉันเป็นพระโสดาบันแล้ว”
พระอินทร์ก็เลยแกล้งพูดว่า  “เธอน่ะรึ  คนอย่างเธอเป็นโรคเรื้อนอย่างนี้  เป็นขอทานอย่างนี้น่ะรึ จะเป็นพระโสดาบัน  ฉันไม่เชื่อ”  และพระอินทร์ก็กล่าวต่อไปว่า  “เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน  มาพิสูจน์กัน  ไม่ใช่ว่าพิสูจน์ผิดพิสูจน์ถูก  เธอทราบไหมว่า  เวลานี้เธอเป็นขอทาน”
ท่านสุปพุทธกุฏฐิก็บอกว่า “ฉันเป็นขอทานอาชีพจ้ะ  ทำไมฉันจะไม่รู้ ตั้งแต่ออกจากท้องพ่อท้องแม่ฉันก็ขอทานตลอดมา”
พระอินทร์ก็ถามต่อไปว่า  “ท่านทราบหรือเปล่าว่า  ตัวเองเป็นโรคเรื้อน เป็นโรคที่ชาวบ้านเขารังเกียจ”
สุปพุทธะก็บอกว่า  “ไม่น่าจะถาม  ไม่น่าจะโง่  ฉันรู้”
แล้วพระอินทร์ก็เลยบอกว่า  “สุปพุทธะ   ความเป็นคนจนเป็นของไม่ดี ไม่มีความสุขในชีวิต   และร่างกายที่ประกอบไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บอย่างนี้  ก็จะมีความทุกข์หนัก เอาอย่างนี้นะ  ถ้าหากว่าท่านพูดตามคำเราพูด 3 คำ  จะตั้งใจพูดหรือว่าสักแต่ว่าพูดก็ได้  พูดเฉย ๆ เล่น ๆ ก็ได้  ถ้าหากท่านพูดตามคำเราแนะ 3 คำ  ละก็  ประการที่ 1  เราจะบันดาลทรัพย์ให้มากมายให้กลายเป็นมหาเศรษฐี  ประการที่ 2  โรคเรื้อนนี้ในร่างกายของท่านจะหมดไป  จะกลายเป็นคนมีร่างกายสมบูรณ์  และจะมีความสวยสดงดงามมาก”
ท่านสุปพุทธกุฏฐิก็ดีใจ  ถามว่า  “จะให้ว่ายังไงล่ะ  พระอินทร์ ว่ามาเถอะ  ถ้าไม่เกินวิสัยที่ฉันจะพูดได้  ฉันจะพูด”
พระอินทร์ก็บอกว่า “เธอพูดเล่น ๆ ก็ได้นะ  ไม่ต้องตั้งใจว่าหรอก  ไม่ต้องตั้งใจเอาจริงเอาจัง  แค่ว่าตามเรา  พูดเล่น ๆ ก็พอ”
ท่านสุปพุทธะก็พร้อมรับ  ท่านจึงกล่าวว่า  “เธอจงพูดอย่างนี้นะ  ว่าพระพุทธเจ้าไม่ใช่พระพุทธเจ้า  พระธรรมไม่ใช่พระธรรม  พระสงฆ์ไม่ใช่พระสงฆ์  เอาแค่นี้ก็แล้วกัน  พูดเล่น ๆ ก็ได้ไม่ต้องตั้งใจ”
สุปพุทธะพอฟังเท่านั้นเกิดความไม่พอใจ    ชี้หน้าด่าพระอินทร์ทันทีว่า  “พระอินทร์ถ่อยจงถอยไป  เจ้ามาพูดอะไรตามนั้น  สำหรับพระพุทธเจ้า  พระธรรม พระอริยสงฆ์  เป็นจิตใจที่เราเคารพอย่างยิ่ง  เวลานี้กล่าวว่าเราเป็นคนจนนั่นเราจนจริงสำหรับโลกียทรัพย์  แต่อริยทรัพย์ของเราสมบูรณ์บริบูรณ์  เราเป็นพระโสดาบัน  ท่านจงถอยไป  ไอ้โรคเรื้อนจังไรอย่างนี้ไซร้  มันเป็นกับเรามาตลอดกาลตลอดสมัย  เราไม่มีทุกข์ใจ  เจ้าสรรหาอะไรมาพูดตามถ้อยคำเลว ๆ ของท่าน  จงหลีกไปเดี๋ยวนี้”
รวมความว่า  ท่านสุปพุทธะจึงได้ไล่พระอินทร์ไป  แต่พระอินทร์ท่านหลีกไปแล้วท่านก็ไม่ไปไหน  ท่านย่องไปบ้านสุปพุทธกุฏฐิ
ท่านสุปพุทธกุฏฐิก็หลีกจากพระอินทร์ไป  แล้วก็ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า  แต่ตอนนี้ตามพระบาลีท่านไม่ได้บอก เข้าใจว่าจะไปพบพระพุทธเจ้าจริง ๆ แล้วกราบทูลจริง ๆ
สำหรับพระอินทร์  ท่านก็ย้อนหลังมาที่บ้านของสุปพุทธกุฏฐิ  มาถึงก็บันดาลแก้วเจ็ดประการให้ตกจากอากาศเต็มบริเวณบ้านสุปพุทธกุฏฐิ  เต็มเลยหลังคากระท่อมไป   แล้วบันดาลให้ร่างกายของสุปพุทธกุฏฐิหมดจากความเป็นโรคเรื้อน  เป็นคนที่มีความสวยสดงดงามตามที่ท่านให้สัญญา  แต่ความจริงไม่พูดท่านก็ไม่ว่า  ท่านทราบว่าสุปพุทธกุฏฐิเป็นพระโสดาบันจริง  ที่ท่านสอบอย่างนี้เพราะว่าพระอินทร์ท่านเป็นพระโสดาบัน  ท่านรู้กำลังใจของสุปพุทธกุฏฐิและรู้กำลังใจของบุคคลผู้เป็นพระโสดาบัน
เมื่อท่านสุปพุทธกุฏฐิกลับมาบ้าน  เห็นบ้านหาย  บริเวณลานบ้านทั้งหมดสูงกว่าหลังคาเป็นไหน ๆ  เต็มไปด้วยแก้วเจ็ดประการ  ร่างกายของตนนั้นก็กลายเป็นร่างกายของบุคคลที่มีความสวยสดงดงามอย่างยิ่ง   และโรคเรื้อนก็หายไป  จึงตกใจคิดว่าไอ้ทรัพย์นี่มันมาจากไหน  จึงเข้าเฝ้าพระเจ้าปเสนทิโกศลบรมกษัตริย์  พระบาทท้าวเธอเป็นพระราชาเวลานั้น กราบทูลว่า  “เวลานี้ทรัพย์ของพระองค์  ทรัพย์ของแผ่นดินเกิดขึ้นในบ้านของข้าพระพุทธเจ้า  พระเจ้าข้า”
พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ถามว่า  “มีอะไรบ้าง”
ท่านสุปพุทธกุฏฐิก็บอกว่า  “มีแก้วเจ็ดประการ  มันเต็มไปหมดเต็มบริเวณพื้นที่บ้านทั้งหมด  สูงเกือบจะเท่ายอดตาล”
พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ถามว่า  “ต้องการภาชนะเท่าไรจึงจะขนพอ”
ท่านสุปพุทธกุฏฐิก็บอกว่า “ประมาณ 500 เล่มเกวียน จึงจะขนพอพระเจ้าข้า”
พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงได้ให้คนนำเกวียนประมาณ 500 เล่มเกวียนเศษ ขนแก้วเจ็ดประการมากองที่พระลานหลวง  แล้วประกาศให้คนมาดูกัน  ถามว่า  “เวลานี้ทรัพย์ใหญ่เกิดขึ้นแล้วแก่หลวง  ใครมีสมบัติเท่านี้บ้าง”
เศรษฐีทั้งหลายก็บอกว่า  “แก้วเจ็ดประการ อย่าว่าแต่มีเท่านี้เลย   1  ทะนานมันยังหาได้ยาก”
ฉะนั้น  พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงแต่งตั้งให้สุปพุทธเป็นมหาเศรษฐี  ให้เศวตฉัตร 3 ชั้น  ให้ข้าทาสหญิงชาย 100 ให้ช้าง 100 ม้า 100 โค 100 กระบือ 100 ข้าทาสหญิง 100 ชาย 100 มีบ้านส่วยสำหรับเก็บภาษี 100 หลัง
นี่แหละบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน  ที่เล่ามานี้ต้องการให้บรรดาท่านพุทธบริษัททราบว่า  การฟังเทศน์นะอย่าฟังกันเฉย ๆ  ในสมัยโบราณน่ะท่านไม่ได้ฟังเฉย ๆ  ท่านฟังแล้วต้องคิด  ต้องตั้งใจปฏิบัติตามไปด้วย  จึงช่วยให้คนเป็นพระอริยเจ้ากันง่าย ๆ
สำหรับการเป็นพระโสดาบันก็ดี  พระสกิทาคามีก็ดี  ทั้งสองประการนี้ไม่ใช่ของสูงของเลิศประเสริฐ คิดว่าเราจะทำไม่ได้  ถ้าจะเรียกกันไป  พระโสดาบันกับพระสกิทาคามีก็เป็นเรื่องของชาวบ้านชั้นดีนั่นเอง  ไม่มีอะไรมาก  แต่ว่าพระพุทธเจ้าท่านทรงเรียกพระแล้วนะ  ผู้หญิงก็ตาม ผู้ชายก็ตามที่ไม่ได้บวชพระ  ไม่ได้บวชเณร  ถ้าเป็นพระโสดาบัน  พระพุทธเจ้าท่านทรงเรียกว่าพระ  เพราะว่าเป็นพระแท้
สำหรับคนที่บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา  ที่ยังไม่ได้เป็นพระโสดาบัน  ท่านเรียกว่าสมมุติสงฆ์  เพราะว่าเป็นสงฆ์สมมุติ  ไม่ใช่สงฆ์แท้ ความเป็นพระแท้ของความเป็นพระ  ก็เริ่มต้นตั้งแต่พระโสดาบัน  อย่างที่ท่านเรียกนางวิสาขา  หรืออนาถบิณฑิกเศรษฐี  ท่านเรียกนางวิสาขาว่าพระโสดาบัน  เรียกอนาถบิณฑิกเศรษฐีว่าพระโสดาบัน  อันนี้เป็นพระแท้ ๆ
นี่แหละบรรดาท่านพุทธบริษัท  จงจำไว้ว่า  ความเป็นพระโสดาบันเขาเรียกว่า  องค์ของพระโสดาบัน  เราไม่ต้องพูดถึงสังโยชน์  สังโยชน์ฟังกันแล้วลำบากใจ  จำไว้แต่เพียงว่า  ความเป็นพระโสดาบันมีทรงคุณธรรม 3 ประการ  จำไว้ให้ดี  เป็นของไม่ยาก  คือ
1.  มีความเคารพในพระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์จริง  พระสงฆ์นี่เลือกเอาพระอริยสงฆ์นะ  เพราะถ้าไม่ใช่พระอริยะ  แกก็ไม่ค่อยแน่นักหรอก  ดีไม่ดีแกก็เลวกว่าชาวบ้านเขาก็มี
2.  งดการละเมิดศีล 5  โดยเด็ดขาด  เรียกว่า  รักษาศีลยิ่งกว่าชีวิต  ศีล 5  ประการนี้  รักษาโดยเด็ดขาด
3.  จิตใจของพระโสดาบันมุ่งอย่างเดียวคือนิพพาน  ขึ้นชื่อว่าทำความดีตั้งแต่ฟังเทศน์ปฎิบัติธรรม  ลงไปถึงเทกระโถน  ล้างส้วม  ตั้งใจอย่างเดียว  เราทำเพราะเมตตาปราณีแก่บุคคลทั้งหลาย  ความดีนี่ไม่ต้องการตอบแทนจากบุคคลผู้ใด  เราต้องการอย่างเดียว  ทำเพื่อผลของพระนิพพาน  เพียงเท่านี้เขาเรียกกันว่า  พระโสดาบัน
เอาละ  บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย  ตามที่เล่ามาในเรื่องสุปพุทธกุฏฐิ ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้
 
                                            **************


ขอบคุณที่มาจาก www.kaskaew.com
บันทึกการเข้า
ความติดข้องใจเสพย์อารมณ์ความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี เป็น สมุทัย
ผลของการดำเนินไปแห่งความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี เป็น ทุกข์
รู้สัจธรรมและปรมัตถ์ ดำรงอยู่ในกุศล สติ ศีล สมาธิ พรหมวิหาร๔ คิดดี พูดดี ทำดี เป็น มรรค
การดับไปแห่งความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี ถึง อัพยกตธรรม เป็น นิโรธ