ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: การเจริญวิปัสสนา ๓ แบบ  (อ่าน 4183 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
การเจริญวิปัสสนา ๓ แบบ
« เมื่อ: พฤษภาคม 17, 2010, 03:11:08 pm »
0
การเจริญวิปัสสนา ๓ แบบ

ในปัจจุบัน มีผู้อบรมภาวนาหรือฝึกกรรมฐานกันมาก
ทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ แต่ส่วนใหญ่เป็นเพียงแต่ระบบสมาธิหรือสมถะเท่านั้น
หาใช่วิปัสสนาไม่ เพราะยังไม่เข้าถึงไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
โดยเฉพาะขาดหลักอนัตตา แม้จะเห็นสิ่งทั้งปวงไม่เที่ยงและเป็นทุกข์ อย่างพวกฤาษี
หรือโยคีในอินเดีย ก็ยังไม่เป็นวิปัสสนา เพราะยังยึดมั่นในตัวตนอยู่ ท่านจึงกล่าวไว้ว่า
อนัตตลักษณะ (ลักษณะของอนัตตา) ยังไม่ปรากฏตราบใดก็ยังไม่เป็นวิปัสสนาตราบนั้น

ในประเทศไทยปัจจุบัน มีสำนักสอนวิปัสสนาอยู่ทั่วประเทศ เพราะเป็นคำสอนหลักของ
พระพุทธศาสนา แม้จะมีจุดหมายอันเดียวกัน คือความสิ้นทุกข์ในที่สุดหรือให้ทุกข์เบาบางลง
สุขจะได้เพิ่มขึ้น แต่วิธีการสอนของอาจารย์ในสำนักต่างๆ เหมือนกันบ้าง แตกต่างกันบ้าง
เพราะวิธีการสอนของอาจารย์ผู้สอนต้นแบบเดิมแตกต่างกัน
และเพราะความถนัดของอาจารย์ที่สอนแต่ละท่านไม่เหมือนกัน บางท่านปฏิบัติแบบนี้ได้ผลดี
แต่แบบอื่นไม่ค่อยได้ผล แต่บางท่านปฏิบัติแบบอื่นก็ได้ผลดี เพราะมีอุปนิสัย
หรือบุญบารมีในด้านนั้นๆ แตกต่างกัน เหมือนกับ บุคคลที่จะเดินทางจากกรุงเทพฯ
ไปเชียงใหม่ ในปัจจุบัน อย่างน้อยก็สามารถเดินทางไปได้ถึง ๔ ทาง คือ ทางเครื่องบิน
ทางรถไฟ ทางรถยนต์ และด้วยการเดิน
ทั้งนี้ก็แล้วแต่ความสะดวกหรือความถนัดของแต่ละท่าน
จะกะเกณฑ์ให้เขาเดินทางไปทางใดทางหนึ่งเพียงทางเดียวหาได้ไม่


ในการปฏิบัติวิปัสสนาก็เช่นกัน ผู้เขียนเอง ได้ศึกษามาทั้งด้านปริยัติ คือ จากพระคัมภีร์
และทั้งด้านปฏิบัติกับอาจารย์กรรมฐานหลายรูป รวมทั้งลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง และ
สั่งสอนผู้อื่น ได้ลงความเห็นว่า การเจริญวิปัสสนาไม่ว่าปฏิบัติกับอาจารย์ใด
หรือแบบไหนก็ตาม สามารถเจริญได้ ๓ แบบเท่านั้น คือ

๑. เจริญเมื่อพบเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิต
๒. เจริญเมื่อจิตสงบแล้ว
๓. เจริญพร้อมกับการกำหนดลมหายใจเข้าออก



แบบที่ ๑ เจริญเมื่อพบเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิต


การเจริญแบบนี้ไม่ต้องไปนั่งในสำนักกรรมฐานหรือสถานที่หนึ่งสถานที่ใดโดยเฉพาะ
อยู่ที่ไหนก็สามารถเจริญได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นในบ้าน ในป่า ในรถ ในเครื่องบิน
หรืออยู่ในท้องทะเล หรือในราชวัง ก็สามารถเจริญวิปัสสนาได้ทั้งสิ้น
ถ้าหากว่า ผู้นั้นเข้าใจหลักวิปัสสนา โดยเห็นว่าสิ่งทั้งปวงตกอยู่ภายใต้พระไตรลักษณ์
คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใด ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน
หรือทำอะไรอยู่ อารมณ์ทุกชนิดเอามาใช้เป็นอารมณ์ของวิปัสสนาได้หมด
เพราะสังขารทั้งปวงโดยย่อเหลือแต่นามรูปล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอัตตาทั้งสิ้น
เมื่อพบเห็นอะไรเข้าก็น้อมพิจารณาโดยความเป็นพระไตรลักษณ์ได้หมด
ดังมีเหตุการณ์และตัวอย่างเป็นอันมากในการเจริญวิปัสสนาแบบนี้

(๑) สมมติว่าขณะนี้ฝนกำลังตก หรือแดดร้อนจัด หรืออากาศหนาวจัด เราก็พิจารณาว่า
ลมฟ้าอากาศมันก็ไม่ที่ยง เราจะให้มันเที่ยงได้หรือ เป็นไปตามใจชอบของเราก็ไม่ได้
เราจะบอกว่าฝนอย่างเพิ่งตก หรือจงหยุดตก อากาศอย่าร้อนมากหรืออย่าหนาวมาก
มันก็ไม่เชื่อฟังเรา เพราะมันไม่ใช่ของเรา มันเป็นตามธรรมชาติของมัน
จึงไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่น เพราะมันไม่เที่ยงเป็นทุกข์และเป็นอนัตตา
ใจจะได้ปล่อยวางลงไปได้


(๒) เราได้เห็นคนแก่ คนเจ็บ หรือคนตาย เราก็พิจารณาได้ทันทีว่า
ในที่สุดตัวเราเองและคนที่เรารัก หรือเกี่ยวข้องทั้งหมดก็ต้องเป็นอย่างนั้น
ไม่ล่วงพ้นความเป็นจริงอย่างนี้ไปได้ เพราะทุกคนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา
เมื่อพิจารณาถึงความจริงของชีวิตเช่นนี้ ใจก็ปลงตกปล่อยวางลงได้


(๓) เราเดินทางไปไปพบเห็นรถชนกัน เครื่องบินตก หรือุบัติเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น
เกิดระเบิดขึ้น หรือแผ่นดินถล่มมีคนตาย ทรัพย์สินต่างๆ เสียหาย อาคารบ้านเรือน
เราก็พิจารณาได้ทันทีว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงในโลกนี้มันเป็นอย่างนั้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย
ของมัน แม้ตัวเราก็เช่นกัน ในที่สุดก็ต้องจากโลกนี้ไป จึงไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่นสิ่งทั้งปวง
มันมากนักเลย เราะยิ่งยึดมั่นมากก็ทุกข์มาก

(๔) เรามีเรือนแล้ว เรือนถูกไฟไหม้ มีลูก หรือคนที่เรารักตายจากไป
มีรถยนต์หรือทรัพย์สมบัติ ถูกขโมยหรือถึงซึ่งความวิบัติไปเพราะภัยอย่างใดอย่างหนึ่ง
เช่นอุทกภัย หรือวาตภัย เป็นต้น
ก็พิจารณาว่า สิ่งทั้งหลายในโลกนี้มันตกอยู่ภายใต้พระไตรลักษณ์
อย่างนี้จะยึดไว้ตลอดไปไม่ได้ จึงทำให้ปลงตก และปล่อยวางลงได้


(๕) เราไปรดน้ำศพ หรือเผาศพคนที่เรารัก ญาติมิตร หรือคนที่เราเกี่ยวข้อง ได้เห็นหน้าศพ
หรือ โลงศพ หรือหลุมฝังศพ ก็ทำให้เกิดความสังเวชสลดใจว่า ชีวิตของคนเราในที่สุดก็เป็นเหมือนย่างนี้เหมือนกันหมด ต้องทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างไว้ในโลกนี้ ไม่มีใครนำอะไรติดตัวไปได้
ทั้งทรัพย์สมบัติ เกียรติยศ ชื่อเสียง ทั้งคนที่เรารัก ทั้งคนที่เราชังจะต้องจากกันไป พ่อแม่
พี่น้อง ปู่ย่าตาทวด หลายคนจากเราไปแล้ว แม้แต่ร่างกายของเราที่เราแสนรักแสนหวง
เราก็ต้องทิ้งไว้ให้เป็นภาระของคนอื่นที่จะนำไปฝัง หรือนำไปเผา เราจะนำไปได้แต่เพียงบุญ
บาปที่ทำไว้ติดตัวไป ดังคำกลอนเตือนใจบทหนึ่งว่า

ยศและลาภหาบไปไม่ได้แน่ มีเพียงต้นทุนบุญกุศล
ทรัพย์สมบัติทิ้งไว้ให้ปวงชน แม้ร่างตนเขาก็เอาไปเผาไฟ
เมื่อเรามีอะไรมาด้วยเล่า เราจะเอาแต่สุขสนุกไฉน
เรามามือเปล่าเราจะเอาอะไร เราก็ไปมือเปล่าเหมือนเรามา

ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นกับตัวเรา ไม่ว่าในด้านอิฏฐารมณ์
สิ่งที่น่าปรารถนา ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข หรือในด้านอนิฏฐารมณ์ สิ่งที่ไม่น่าปรารถนา
คือ เสื่อมยศ เสื่อมลาภ นิทา ทุกข์ สุข เราก็พิจารณาได้ทันทีว่า สิ่งเหล่านี้ล้วนไม่เที่ยง
มันมีความแปรปรวนเป็นธรรมดา มันไม่มีอะไรเป็นของใครอย่างแท้จริงเลย
เป็นของเราเพียงชั่วคราวเท่านั้น ในที่สุดก็ต้องจากไป ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน
จึงไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่น ยึดมากก็ทุกข์มาก เหมือนกับเราแบกสิ่งของไว้
ยิ่งแบกมาก ถ้าวางไม่ลงก็ยิ่งหนัก กังวลมากและทุกข์ มากขึ้น เดือดร้อนมากขึ้น
ในที่สุดก็อาจเป็นโรคจิต โรคประสาทได้ เพราะไปแบกไปยึดเอาไว้ไม่ยอมวาง
บางคนนอนแล้วยังแบกภาระเอาไว้ ถึงกับนอนไม่หลับ
ขันธ์ ๕ ของเราเป็นภาระหนักอยู่แล้ว ยังแบกไว้มันก็ยิ่งหนักและยิ่งทุกข์
บางคนไม่ใช่แบกเฉพาะ ขันธ์ของตนเอง แต่ยังแบกขันธ์ลูก ขันธ์หลาน ขันธ์ญาติพี่น้อง
และขันธ์สัตว์เลี้ยง และขันธ์คนในโลกเข้าไปอีก
เลยต้องหนักอึ้งอยู่ตลอดเวลา ไม่มีความโล่งใจเลย เพราะวางไม่เป็นวางไม่ลง
เราฝึกวางให้ลงเสียบ้าง เมื่อยึดมากเท่าไหร่ก็ทุกข์มากเท่านั้น
เพราะความยึดไว้แบกไว้เป็นตัวทุกข์

(๖) แม้เพียงเห็นคนหัวเราะ ถ้าพิจารณาโดยยึดไตรลักษณ์ ก็สามารถบรรลุธรรมได้
ดังมีเรื่องเล่าในคัมภีร์วิสุทธิมรรคว่า พระมหาติสสะเถระ ชาวศรีลังกา
ได้เดินทางไปจากเจดียติยบรรพตไปยังอนุราชบุรี เมืองหลวงของศรีลังกาในสมัยนั้น
เพื่อบิณฑบาต ในเวลาเช้า ในขณะที่ท่านกำลังเดินสำรวมทอดสายตาไปข้างหน้า
ทอดตาพอประมาณ ได้มีหญิงคนหนึ่งทะเลาะกับสามี นางแต่งตัวประดับประดาเสียสวยสด
ได้เดินออกจากบ้านไปสู่บ้านญาติ ได้เห็นพระเถระกำลังเดินมา มีจิตวิปลาสขึ้นมา
แล้วหัวเราะขึ้นเสียงดัง พระเถระแลดูด้วยคิดว่า

นี้อะไรกัน แต่ไม่พิจารณาว่า ผู้ที่หัวเราะนั้นเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย
พิจารณาโดยมีกรรมฐานเป็นอารมณ์ กลับได้อสุภสัญญา (ความสำคัญว่าไม่งาม)
ในฟันของหญิงนั้น แล้วพิจารณายกขึ้นพระไตรลักษณ์ ก็ได้บรรลุพระอรหันต์

(๗) ในสมัยพุทธกาล พระภิกษุรูปหนึ่ง ได้ยินหญิงสาวคนหนึ่งกำลังร้องเพลง
อันประกอบด้วยพระไตรลักษณ์ ซึ่งกล่าวถึงความไม่เที่ยง
เป็นทุกข์และเป็นอนัตตาของชีวิต ฟังไปก็พิจารณาไป ก็ได้สำเร็จพระอรหันต์

ในสมัยพุทธกาล ผู้ที่ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า
และของพระอรหันตสาวกทั้งกลาย ฟังไปพิจารณาไป พร้อมกับยกจิตขึ้นสู่พระไตรลักษณ์
ก็ปรากฎว่าได้มีผู้สำเร็จมรรคผลนับไม่ถ้วน ไม่จำเป็นต้องไปนั่งกรรมฐานในป่าไหน
หรือในสำนักไหน ก็สามารถบรรลุมรรคผลได้
เมื่อใช้ปัญญา พิจารณา ลงในพระไตรลักษณ์

(๘) ในสมัยพุทธกาล พระเถระรูปหนึ่งเรียนกรรมฐานจากสำนักพระพุทธเจ้า
แล้วได้เข้าป่าปฏิบัติธรรม แม้จะเพียรพยายามอยู่ก็ไม่อาจบรรลุระอรหันต์ได้
ท่านจึงคิดว่าเราจะไปกราบทูลพระศาสดาให้ตรัสกบอกรรมฐานให้พิเศษ
ขึ้นไปกว่าที่ได้เคยตรัสสอนมา จึงได้ออกจากป่ากำลังจะเดินออกไปยังพระเชตวัน
เมืองสาวัตถี ซึ่งพระพุทธองค์ทรงประทับอยู่ ณ ที่นั้นในสมัยนั้น เพื่อไปเฝ้าพระพุทธองค์
ขณะเดินไปก็ได้พบกับไฟป่า ที่เกิดขึ้นในระหว่างทางที่ท่านกำลังผ่านไป
ท่านจึงรีบไปสู่ยอดเขาโล้นลูกหนึ่ง ได้ดูไฟกำลังไหม้ป่าอยู่
ได้ถือเอาไฟที่ไหม้ป่านั้นเป็นอารมณ์กรรมฐาน โดยพิจารณาว่า

“ไฟป่านี้กำลังเผาเชื้อน้อยใหญ่ให้หมดไปฉันใด
เราจักเผาสังโยชน์น้อยใหญ่ให้หมดไปด้วยไฟคืออริยมรรคญาณฉันนั้น”

เพราะท่านมุ่งปฏิบัติธรรมท่านจึงพิจารณาอย่างนี้

ในขณะนั้นเอง พระพุทธเจ้าทรงประทับนั่งอยู่ในพระคันธกุฏี
ในวัดพระเชตวัน ทรงทราบเหตุการณ์นั้น จึงได้ตรัสว่า

“อย่างนั้นแหละ ภิกษุ สังโยชน์ทั้งเล็กและใหญ่
ซึ่งเกิดขึ้นอยู่ภายในจิตใจของสัตว์ทั้งหลายเหล่านี้
เปรียบเหมือนเชื้อน้อยใหญ่
ควรที่เธอจะใช้ไฟคือญาณเผาสังโยชน์น้อยใหญ่เหล่านั้น
ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไป”

เมื่อตรัสดังนั้นแล้ว ก็ทรงเปล่งพระโอภาส (รัศมี)
ปรากฏเหมือนประทับนั่งอยู่ตรงหน้าของพระภิกษุรูปนั้น ตรัสพระคาถานี้ว่า

“อปฺปมาทรโต ภิกฺขุ ปมาเท ภยทสฺสิ วา
สญโยชนํ อณุ ถูลํ ฑหํ อคฺคิว คจฺฉติ”

แปลว่า

“ภิกษุผู้ยินดีในความไม่ประมาท
หรือมักเห็นภัยในความไม่ประมาท
เผาอยู่ในสังโยชน์น้อยใหญ่
ดุจดังไฟเผาอยู่ซึ่งเชื่อน้อยและใหญ่ไป”

(พระไตรปิฏก ฉบับสยามรัฐ ๒๕/๑๒/๑๕)

เมื่อท่านฟังไป พิจารณาไป ในขณะที่ท่านเอง ก็กำลังพิจาณาเรื่องนี้อยู่
ในที่สุดก็ได้สำเร็จพระอรหันต์ โดยยึดเอาไฟไหม้ป่าเป็นอารมณ์

ไม่ว่าเราจะได้เห็น ได้ฟัง ได้ดมกลิ่น รู้รส สัมผัสร้อนเย็น อ่อน แข็ง หรือิดเรื่องอะไรก็ตาม
ถ้าเรารับรู้และพิจารณาโยไม่ยึดมั่นถือมั่น เห็น ก็สักแต่ว่า เห็น ได้ยินเสียงก็สักแต่ว่าได้ยิน
ได้กลิ่นก็สักแต่ว่าได้กลิ่น ได้รสก็สักแต่ว่าได้รส ได้สัมผัสอะไรทางกายก็สักแต่ว่าได้สัมผัส
รู้อะไรหรือคิดอะไรทางใจก็สักแต่รู้ ก็ให้พิจารณาว่าว่า ไม่ใช่ตัวตน บุคคล ตัวเขาเราที่ไหน
ที่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่น แล้วถอน-สัตตสัญญา ความสำคัญว่าเป็นสัตว์ บุคคล เสีย
อัตตสัญญา-ความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นตัวเสีย คือถอนสมมติสัจจะ
แล้วเห็นโดยความเป็นปรมัตถะสัจจะเสีย ก็จะเกิดรู้เห็นตามความเป็นจริง
เกิดความเบากายเบาใจขึ้นเพราะปล่อยวางลงได้ ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสกับพระพาหิยะ
ในสมัยที่ยังเป็นนักบวชนอกพุทธศาสนา ในตอนเช้าตรู่ของวันหนึ่ง
ขณะที่พระองค์เสด็จออกบิณฑบาต ประทับยืนในถนนเมืองสาวัตถีว่า

“ดูก่อนพาหิยะ เพราเหตุนั้นแล เธอพึงศึกษาทำความเข้าใจอย่างนี้ว่า
เมื่อเธอเห็นจักเป็น สักแต่ว่าเห็น (อย่าเข้าไปยึดมั่นโดยความเป็นตัวตน)
เมื่อฟังจักสักเป็นแต่ว่าฟัง
เมื่อทราบจักเป็นสักแต่ว่าทราบ เมื่อรู้แจ้ง (เข้าใจชัด)
จักเป็นสักแต่ว่ารู้แจ้ง
ดูก่อนพาหิยะ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล


ดูก่อนพาหิยะ ในกาลใดแลเมื่อเธอเห็น จักเป็นสักแต่ว่าเห็น
เมื่อฟังจักเป็นสักแต่ว่าฟัง เมื่อทราบจักก็เป็นแต่ว่าทราบ
เมื่อรู้แจ้งจักเป็นแต่ว่ารู้แจ้ง
ในกาลนั้นเธอย่อมไม่มี
(คือตัวตนที่แท้จริงไม่มี เพราะสิ่งที่พบเห็นเป็นสักแต่ว่าพบเห็นเท่านั้น
มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไปตามธรรมชาติของมัน ไม่มีอะไรที่ควรเข้าไปยึดมั่นว่า
เป็นตัวตนเราเขาได้เลย) ในกาลใด เธอไม่มี ในกาลนั้น เธอย่อมไม่มีในโลกนี้
ย่อมไม่มีในโลกหน้า ย่อมไม่มีในระหว่างโลกทั้งสอง
(คือไม่มีตัวตนว่าควรยึดมั่นไม่ว่าในโลกไหน) นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์”

(พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ ๒๕/๔๙/๘๓-๘๔)

ท่านพาหิยะได้ฟังพระโอวาทโดยย่อของพระพุทธเจ้าเพียงเท่านี้
ก็เข้าใจความหมายของพระโอวาทอย่างแจ่มแจ้ง จิตของท่านก็หลุดพ้นจากอาสวะ
ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งที่ยังไม่ได้เป็นอุปสมบทในพระพทธศาสนา
ท่านได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ว่าเป็นเลิศกว่าพระอรหันต์สาวกทั้งปวง
ในด้านบรรลุธรรมได้รวดเร็ว


(๙) ในปี พ.ศ ๒๕๓๑ และ ๒๕๓๒ ผู้เขียนได้นำศิษย์กรรมฐาน
ประมาณรุ่นละ ๑๓๐ คน ไปฝึกวิปัสสนาหลักสูตร ๑๐ วัน เป็นรุ่นที่ ๓ และรุ่นที่ ๔
ที่อุทยานแห่งชาติทะเลบัน อ.ควนโตน จ.สตูล ใกล้แดนมาเลเซีย

ขณะ เจริญวิปัสสนามีศิษย์ผู้หนึ่งเป็นสุภาพสตรีจากกรุงเทพฯ ขณะที่เดินจงกรมอยู่บนสะพานกว้าง ซึ่งมีราวสะพานกั้นสองข้างทางเดินเข้าบ้านพักรับรองหลังใหญ่ของอุทยานแห่ง ชาติ
ทะเลบัน บริเวณริมบึงแถบนั้นมีต้นไม้สูงใหญ่ มีดอกไม้สวยงาม

ในระหว่างที่สุภาพสตรีคนนั้นกำลังเดินจงกรมกลับไปกลับมาอยู่บนสะพาน
หน้าบ้านพักใหญ่ในเวลาบ่าย วันหนึ่งเกิดมีลมกรรโชกมาอย่างแรงทำกิ่งไม้ใหญ่กิ่งหนึ่ง
หักโค่นลงมาบนพื้นดินห่างจากทางที่เดินอยู่ประมาณ ๑๐ ว่า ทั้งใบอ่อน ใบกลางๆ และใบแก่
ศิษย์ผู้นั้นกำลังปฏิบัติอยู่ เมื่อเห็นเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นเฉพาะหน้าก็พิจารณาทันทีว่า
กิ่งไม้เหล่านี้พร้อมทั้งใบอ่อนๆ ใบกลางๆ และใบแก่ ทั้งๆ ที่ยังไม่ถึงเวลาที่หักโค่นลงมา
แต่เมื่อลมกรรโชกแรงเข้าก็หักโค่นลงมา มันไม่เที่ยงแท้อันใดเลย
เราเองพร้อมด้วยหมู่ญาติพี่น้องก็เหมือนกัน อาจจะตายเมื่ออายุยังน้อย
เมื่อวัยกลางคนหรือเมื่อเขาสู่วัยชรา ชีวิตสังขารเป็นอย่างนี้เอง
ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอนอันใดเลย เมื่อพิจารณาอย่างนี้ ในขณะที่กำลังปฏิบัติวิปัสสนาอยู่
ก็เกิดตื้นตันใจน้ำตาไหลพรากร้องไห้ไม่หยุด เป็นเวลานาน แม้เมื่อไปพบผุ้เขียนแล้ว
ก็ยังมีน้ำตาอยู่ เพราะจิตเกิดธรรมสังเวชขึ้น ในเมื่อได้พบเห็นกิ่งไม้ให่หักโค่นลงมา
แล้วพิจารณาน้อมมาสู่พระไตรลักษณ์

(๑๐) ศิษย์กรรมฐานคนหนึ่งกำลังยืนพิจารณาอยู่ริมบึงในทะเลบัน
ได้เห็นต้นไม้ขนาดกลางต้นหนึ่ง ยืนตายอยู่ในบึง ก็เอามาพิจารณาน้อมเข้ามาหาตนเอง
ในทันทีว่า ต้นไม้นี้เดิมก็มีดอก มีใบ มีผล มีกิ่งก้านสาขา มีพวกสัตว์นกกาไปเกาะอาศัย
แต่เดี๋ยวนี้ยืนต้นตายอยู่อย่างไร้ค่า
ตัวเราก็เช่นกัน ขณะนี้ก็พอพึ่งตนเองได้ และญาติมิตรได้พึ่งพาอาศัย
แต่เมื่อแก่เฒ่าหรือตายลงก็คงไม่ต่างอะไรกับต้นไม้นี้
เพราะสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่มีอะไรเป็นของเราที่แท้จริงเช่นนี้เอง
เมื่อพิจารณาเช่นนี้ก็เกิดปีติน้ำตาไหลร้องไห้ออกมา
เพราะเหตุที่เห็นต้นไม้ยืนต้นตายอยู่ในบึงแล้วมาพิจารณา โดยความเป็นพระไตรลักษณ์

การเจริญวิปัสสนาแบบนี้ สามารถเจริญได้ตลอดกาล ไม่ว่าที่ไหนและเมื่อไร
ไม่ว่าจะพบเห็นอะไร คน สัตว์ สิ่งของ ฝนตก แดดออก และอากาศที่แปรปรวน
ก็น้อมเข้าสู่พระไตรลักษณ์ได้ทั้งสิ้น
ถ้าพิจารณาโดยแยบคาย คือ โยนิโสมนสิการและมีอุปนิสัยบารมี
ในปางก่อนหนุนอยู่ด้วย จิตก็จะเห็นวิปัสสนา ปล่อยวางได้ง่ายขึ้น

(๑๑) ในสมัยพุทธกาล ครั้งหนึ่งเมื่อพระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ที่วัดพระเชตวัน เมืองสาวัตถี
ครั้งนั้นสันตติมหาอำมาตย์ได้ปราบปัจจันตชนบทของพระเจ้าปเสนทิโกศลให้สงบลง
แล้วกลับมาเมืองสาวัตถี อันเป็นนครหลวงของแคว้นโกศล
พระ เจ้าปเสนทิโกศลทรงพอพระทัยมากจึงพระราชทานราชสมบัติให้สันตติมหา อำมาตย์ครองอยู่ ๗ วัน แล้วไปสู่อุทยาน นั่งลงที่พื้นโรงดื่ม พร้อมกับนั่งดูหญิงนักฟ้อนคนหนึ่งฟ้อนรำ
และ ร้องเพลง ในขณะนางกำลังแสดงอยู่ นางเกิดเป็นลมล้มลงถึงแก่กรรม เพราะเหน็ดเหนื่อยมากจากการแสดงและรับประทานอาหารน้อยตลอด ๗ วัน เพื่อให้ร่างกายอ้อนแอ้นน่ารัก

สันตติมหาอำมาตย์ได้เห็นเช่นนั้นก็ถูกความเศร้าโศกอย่างรุนแรงเข้าท่วมทับหายเมาสุราไป
ในขณะนั้นทั้งๆ ที่ดื่มติดต่อกันมาถึง ๗ วัน เขาคิดว่านอกจากพระพุทธองค์แล้ว คนอื่นไม่อาจ
ดับความเศร้าโศกของตนได้ จึงมีบริวารแวดล้อมเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่วัดพระเชตวัน
ในเวลาเย็น บังคมแล้วกราบทูลให้พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมระงับความทุกข์โศกของตน


ในที่สุดพระพุทธเจ้าทรงสอนสันตติมหาอำมาตย์
ให้ระงับความเศร้าโศกด้วยการปล่อยวาง โดยตรัสเป็นพระคาถาว่า

“กิเลสเครื่องกังวลใด มีอยู่ในกาลก่อน
เธอจงทำกิเลสเครื่องกังวลนั้นให้เหือดแห้งไป (หมดไป)
กิเลสเครื่องกังวล จงอย่ามีแก่เธอในภายหลัง
ถ้าเธอไม่ยึดขันธ์ในท่ามกลาง
จักเป็นผู้สงบระงับเที่ยวไป”

สันตติมหาอำมาตย์ฟังไป พิจารณาไป ศีล สมาธิและปัญญาเกิดขึ้นในขณะนั้น
เพราะเคยสั่งสมบุญบารมีมาแต่ชาติปางก่อน ปลงตก ปล่อยวางสิ่งทั้งปวงทั้งหมด
จิตของท่านก็หลุดพ้นจากอาสวะกิเลสทั้งปวงในเวลาจบพระธรรมเทศนา
เรื่องนี้ได้กล่าวไว้ในอรรถกถาธรรมภาคที่ ๕ อันเป็นการแสดงให้เห็นว่า
ผู้เจริญวิปัสสนาบางท่านซึ่งมีบุญบารมีอันเคยสั่งสมมาก่อนแล้ว
แม้ยังไม่มีศีล และสมาธิมาก่อนการเจริญวิปัสสนา
แต่ศีล สมาธิและปัญญา สามารถเกิดขึ้นได้พร้อมกันได้ในขณะนั้น
อย่างในกรณีของสันตติมหาอำมาตย์เป็นตัวอย่าง
แต่โดยทั่วไปแล้วผู้เจริญวิปัสสนาต้องมีศีล และสมาธิเป็นพื้นฐานมาก่อน

บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: การเจริญวิปัสสนา ๓ แบบ
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: พฤษภาคม 17, 2010, 03:20:00 pm »
0
แบบที่ ๒ เจริญเมื่อจิตสงบ

สมาธิที่หนุนวิปัสสนานั้น ท่านหมายถึง จิตตวิสุทธิ คือ ความบริสุทธิ์แห่งจิต
ได้แก่ สมาธิ ทั้งที่เป็นอุปจารสมาธิ ทั้งที่เป็นอัปปนาสมาธิ โดยที่สุด
ขณิกสมาธิ คือสมาธิชั่วขณะก็ใช้เป็นฐานของวิปัสสนาได้


สมาธิที่ใช้ในการเจริญวิปัสสนานั้น ถ้าว่าในทางปฏิบัติแล้วใช้ขณิกสมาธิ
เพราะจิตยังไม่แนบแน่นมาก จึงใช้ปัญญาพิจารณาสภาวธรรมได้สะดวก
ถ้าจิตเป็นอัปปนาสมาธิถึงขั้นได้ฌาน หรือแม้แต่เป็นอุปจารสมาธิ
จิตเฉียดจะได้ฌานอยู่แล้ว จิตในขณะนั้นเป็นเอกัคคตา มีอารมณ์เป็นหนึ่ง แนบแน่นมาก
หรือเกือบเป็นหนึ่งแน่วแน่ (อุปจารสมาธิ) จะใช้พิจารณาสภาวธรรมไม่ได้
จำเป็นต้องถอนออกมาให้เป็นขณิกสมาธิเสียก่อน แล้วจึงใช้หนุนปัญญาเจริญวิปัสสนาได้
แต่จิตที่แน่วแน่มาก่อนแล้วถอนออกมาพิจารณาสภาวธรรมย่อมมีพลังมากกว่าขณิกสมาธิ
ฉะนั้นอาจารย์กรรมฐานบางท่านจึงกล่าวว่า สมาธิที่ใช้ในการเจริญวิปัสสนา คือ อุปจารสมาธิ
เพราะจิตยังไม่แนบแน่นมาก จึงใช้พิจารณาสภาวธรรมได้ดี แต่อาจารย์บางท่าน เช่น
พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ. ๙ วัดมหาธาตุ กรุงเทพฯ)
ซึ่งเป็นอาจารย์วิปัสสนาของผู้เขียนได้กล่าวยืนยันว่า
ในการเจริญวิปัสสนานั้นใช้ขณิกสมาธิเท่านั้น และผู้เขียนก็เห็นด้วยตามที่บอกนี้

ฉะนั้น ในการเจริญวิปัสสนานี้ใช้ขณิกสมาธิเป็นบาท (พื้นฐาน) ของวิปัสสนา
แต่ถ้าใช้อุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิเป็นบาทก็ต้องถอนจิตออกมาให้เป็นขณิกสมาธิ
คือ ทำจิตให้สงบชั่วขณะหนึ่ง ได้แก่ สมาธิของคนทั่วไปนั่นเอง เช่นสมาธิในการทำงาน
สมาธิในการอ่านหนังสือ สมาธิในการขับรถ และสมาธิในการฟัง เป็นต้น
เพราะจิตไม่รวมตัวอยู่นาน จึงใช้พิจารณาหาเหตุผลได้ดี.


การเจริญวิปัสสนาแบบที่สองนี้นิยมใช้เมื่อ เจริญสมาธิจนใจสงบมากพอสมควรแล้ว
ก็ยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนาพิจารณาพระไตรลักษณ์นิยมใช้มากสำหรับผู้เจริญกรรมฐาน
สายพุทโธหรือสายสัมมาอรหัง คือเมื่อจิตสงบแล้ว ถ้าเข้าใจวิปัสสนาและต้องการวิปัสสนา
และต้องการเจริญวิปัสสนา ก็ยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนาได้เลย
ไม่ต้องกำหนดหรือภาวนาด้านสมถะ

หรือขั้นสมาธิอีกต่อไป แต่หันมาพิจารณาได้ทันที อย่างเช่น
ในสายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต นิยมพิจารณากายคตาสติ คือ อาการ ๓๒ ในร่างกาย
ให้เห็นว่าเป็นพระไตรลักษณ์ โดยให้พิจารณาในร่างกายของตน คือ
ผมขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้นว่ามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา
จิตที่สงบจากการบำเพ็ญสมถะเป็นพื้นฐานมาแล้วจะยกขึ้นสู่วิปัสสนาได้ไว
เพราะมีศีลเป็นพื้นดี และมีจิตสงบเป็นพื้นฐานมาก่อน
นักปฏิบัติธรรมเช่นนี้จะบรรลุธรรมได้ไวถ้าบุญบารมีถึงเพราะมีสมาธิดีอยู่
เหมือนอย่างที่นักปฏิบัติที่ภาวนาพุทโธก่อน
แล้วยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนาก็ไม่ต้องภาวนาพุทโธอีก
ถ้าพิจารณาสังขารทั้งหลายหรือเอาเฉพาะขันธ์ ๕
หรือมุ่งเฉพาะอาการ ๓๒ ในร่างกายของตน
แต่ละข้อมาพิจารณาว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา
แล้วก็จะซาบซึ้งยิ่งๆ ขึ้นเจนสามารถเข้าถึงธรรม
โดยการไม่ยึดมั่นถือมั่นได้ตามพลังความเพียรแลบุญบารมีของตนที่ได้บำเพ็ญมา


การเจริญวิปัสสนาแบบที่ ๒ เมื่อจิตสงบนั้น หมายถึงเมื่อจิตมีสมาธิ
เพราะสมาธิหนุนให้จิตเกิดปัญญา และปัญญาในที่นี้ก็คือวิปัสสนาปัญญา
เพราะในการเจริญภาวนาตามหลักพระพะศาสนานั้นจะต้องใช้ไตรสิกขา คือ
ศีล สมาธิ ปัญญา ศีลหนุนให้ได้สมาธิ สมาธิหนุนให้เกิดปัญญา
หากปราศจากศีลเสียแล้วสมาธิจะเกิดยากหรือเกิดไม่ได้
และถ้าปราศจากสมาธิ ปัญญาก็เกิดไม่ได้
เว้นไว้แต่ท่านที่มีศีล สมาธิ ปัญญาเกิดขึ้นในขณะนั้น
คือในทันทีทันใด เพราะบุญบารมีที่สั่งสมมาในชาติปางก่อนเท่านั้น
อย่างเช่น สันตติมหาอำมาตย์ที่กล่าวมาแล้วในข้างต้น

ศีลที่เป็นพื้นฐานสมาธิของฆราวาสอย่างน้อยก็ศีล ๕
สำหรับบรรพชิตก็ต้องมีศีลของพระภิกษุ
หรือถ้าเป็นสามเณรก็ต้องมีศีลของสามเณร
ถ้ามีศีลบริสุทธิ์มากเทาใดก็ยิ่งเป็นผลดีมากเท่านั้น
เพราะเมื่อศีลก็เป็นเหตุหนุนให้ได้สมาธิได้ดียิ่งขึ้น
ยิ่งมีสมาธิดีก็เป็นเหตุให้การเจริญวิปัสสนาได้ดียิ่งขึ้น


การเจริญวิปัสสนาโดยยึดหลักเอาปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์

อีกประการหนึ่ง ผู้เจริญวิปัสสนา เมื่อใจสงบเป็นสมาธินี้
แม้แต่เพียงได้ขณิกสมาธิก็บำเพ็ญวิปัสสนาได้ดีเช่นกัน โดยเอาปรมัตถ์มาเป็นอารมณ์
คือยึดเอา ขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ ธาตุ ๖ หรือ นามรูป มาพิจารณา
หรือพร้อมกับการสวดมนต์เกี่ยวกับพระไตรลักษณ์ แล้วพิจารณาพร้อมไปกับการสวดมนต์
หรือไม่ต้องสวดออกเสียงเป็นเพียงแต่พิจารณาก็ไดเพื่อถอนความยึดมั่นในสิ่งทั้งปวง
โดยเฉพาะตัวตนลงให้เกิดความเบากายเบาใจจากการพิจารณาความจริงของชีวิต

การเจริญวิปัสสนาแบบนี้สามารถเจริญได้เสมอในเมื่อเข้าใจความหมาย
พิจารณาตามความเป็นจริงของชีวิตสังขารว่าตกอยู่ภายใต้พระไตรลักษณ์
ไม่มีใครล่วงพ้นไปได้ ก็สามารถคลายความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนลงได้
เมื่อเข้าถึงพระไตรลักษณ์


การเจริญวิปัสสนาโดยยึดนามรูปเป็นอารมณ์

อีกประการหนึ่งในการเจริญวิปัสสนาในเมื่อจิตสงบแล้วนี้
สามารถแม้เพียงขณิกสมาธิเจริญนามรูปเป็นอารมณ์ได้
ในการเจริญแบบนี้ ท่านแนะนำให้เจริญโดยยึดหลัก ๓ ประการ คือ

๑. เมื่อสติตามนามรูปให้ทัน คือ
ขันธ์ ๕ อันประกอบไปด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ
เมื่อย่อแล้วก็คงเหลือแต่รูปกับนามเท่านั้น คือรูปยังคงเป็นรูป
ส่วนเวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณ ๔ อย่างนี้เป็นนาม
จึงเรียกขันธ์ ๕ โดยย่อว่านามรูป

แม้แต่วัตถุธาตุหรือสสารทุกชนิดในโลกก็เป็นรูปทั้งสิ้น

เมื่อนามรูปมาปรากฏเฉพาะหน้าของผู้ปฏิบัติ
ก็ต้องแยกให้ออกว่า อะไรเป็นนาม อะไรเป็นรูป

เช่นร่างกายที่นั่งอยู่ หรืออาการเคลื่อนไหวของรางกายในอาการต่างๆ
ในอิริยาบถต่างๆ หรือแม้แต่เสียง กลิ่นรส และเย็น ร้อน อ่อน แข็ง
ที่มาสัมผัสร่างกายนี้เป็นรูป ส่วนจิตที่รับรู้เป็นนาม เมื่อนามและรูปเหล่านี้เกิดขึ้น
ตั้งอยู่และดับไปอย่างไร ก็ให้มีสติตามให้ทันความเป็นไปของนามรูปนี้
ให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อสร้างความสมบรูณ์ของสติ

๒. เมื่อมีสติตามนามรูปทันแล้ว ก็ให้ปัญญาพิจารณานามรูป
โดยความเป็นพระไตรลักษณ์ คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา


๓. เมื่อพิจารณานามรูปโดยความเป็นพระไตรลักษณ์แล้ว
ก็ให้ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในนามรูปเสีย


ผู้ที่จะปฏิบัติตามหลักการที่กล่าวมาข้างต้นได้ดีนั้น
จำต้องปลูก “อินทรีย์ ๕” คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา
ให้มีกำลังเป็น พละ ๕ และปรับให้สมดุลกัน
ก็จะได้รับผลแห่งการปฏิบัติตามสมควรแก่การปฏิบัติ
หรือตามสมควรแก่บุญบารมีที่ได้สั่งสมมาอย่างแน่นอน




แบบที่ ๓ เจริญพร้อมกับการกำหนดลมหายใจเข้าออก

การเจริญวิปัสสนาแบบที่ ๓ นี้ พระพุทธเจ้าทรงตรัสเอาไว้เองในอานาปนสติสูตร
คัมภีร์มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสน์ ซึ่งกล่าวถึง อานาปนสติ ๑๖ ขั้น
โดยเฉพาะใน ๔ ขั้นสุดท้ายเป็นธัมมานุปัสสนาซึ่งเป็นวิปัสสนาล้วน
ในอานาปนสติ ๑๖ ขั้นนั้น ๔ ขั้นแรก หรือจตุกกะแรกเป็นสมถะล้วน
๔ ขั้นที่ ๒ และ ๔ ขั้นที่ ๓ เป็นทั้งสมถะและวิปัสสนา

ส่วน ๔ขั้นที่ ๔ หรือจตุกกะที่ ๔
ตั้งแต่ขั้นที่ ๑๓ ถึงขั้นที่ ๑๖ เป็นวิปัสสนาล้วน


ขั้นที่ ๑๓ อนิจจานุปัสสี

ตามเห็นความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ หายใจเข้าหายใจออก
หายใจเข้าก็ไม่เที่ยง หายใจออกก็ไม่เที่ยง อะไรไม่เที่ยง
ก็ชีวิตร่างกายเรานี้ไม่เที่ยง ทั้งรูปทั้งนามไม่เที่ยง
หายใจเข้าไม่เที่ยง หายใจออกไม่เที่ยง
เพียงแต่เห็นความไม่เที่ยงอย่างเดียว ถ้าเข้าใจพระไตรลักษณ์ได้ตลอด
ก็สามารถเข้าถึงสภาวธรรมขั้นวิปัสสนานี้ได้ชัด เพราะพระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า

“ยทนิจจํ ........สิ่งใดไม่เที่ยง
ตํ ทุกขัง .........สิ่งนั้นเป็นทุกข์
ยํ ทุกฺขํ .........สิ่งใดเป็นทุกข์
ตํ อนฺตตา .......สิ่งนั้นเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน”


ขั้นที่ ๑๔ วิราคานุปัสสี
ตามเห็นความจางคลาย หายใจเข้า หายใจออก
จางคลาย หรือคลายความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวงให้จางคลายเสีย

ราคะ แปลว่า “ความติด” วิราคะ แปลว่า “ความไม่ติด”
ให้คลายจากความติด ความยึดมั่นถือมั่นให้คลายเสีย
หายใจเข้าก็ภาวนาว่าจางคลาย หายใจออกก็ภาวนาว่าจางคลาย

จางคลายศัพท์นี้เอาไปใช้ในเวลาปวดด้วยก็ได้ เมื่อรุ้สึกปวดมากๆ แม้ในขณะที่นั่งภาวนา
“จางคลาย...จางคลาย” ก็จะกายเหมือนกัน หรือถ้าเรามีโรคภัยไข้เจ็บหนัก
ก็ให้ภาวนาโดยส่งจิตที่มีพลังไปว่า “จางคลาย...จางคลาย” ก็จะหายได้


ขั้นที่ ๑๕ นิโรธานุปัสสี
ตามเห็นความดับ ขณะหายใจเข้าและขณะหายใจออก คือ
ดับโลภ โกรธหลง หายใจเข้าก็ดับ หายใจออกก็ดับ การเห็นความดับนี้
ในหลักการปฏิบัตินั้นจะต้องเห็นความเกิดด้วย คือ เห็นความเกิดดับของนามรูป
เพราะเมื่อเห็นความเกิดดับของนามรูปก็เป็นเหตุให้เกิดความเบื่อหน่าย
ในการครองสังขาร คือการเวียนว่ายตายเกิด ชื่อว่ามีชีวิตประเสริฐ
ดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสกับนางภิกษุณีรูปหนึ่งว่า


“โย จ วสิสตํ ชีเว อปสฺสํ อุทยพฺพยํ
เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย ปสฺสโต อุทยพฺพยํ”

แปลว่า

ผู้ใดไม่เห็นการเกิดดับของนามรูป
แม้จะมีชีวิตอยู่ถึง ๑๐๐ ปี
ก็สู้ผู้ที่เห็นความเกิดดับของนามรูป
ซึ่งมีชีวิตอยู่เพียงวันเดียวไม่ได้


ฉะนั้นการภาวนาในข้อนี้ ถ้าส่งจิตไปที่ท้อง ที่มีอาการพองขึ้นเมื่อหายใจเข้า
และยุบลงเมื่อหายใจออก ก็จะได้ผลดีเพิ่มขึ้น คือ
เมื่อหายใจเข้าก็ภาวนาว่า “เกิด” หายใจอออกก็ภาวนาว่า “ดับ”
หรือถ้าผู้ใดมีลมหายใจยาวมากขึ้น ก็จะใส่คำว่า “อยู่”
มาต่อข้างท้ายว่า “เกิดอยู่” เมื่อหายใจเข้า และ “ดับอยู่”
เมื่อหายใจออก ก็จะชัดมากขึ้น เพราะคำว่า “อยู่” เป็นปัจจุบันธรรม

อะไรเกิด อะไรดับ ก็นามรูปมันเกิด มันดับอยู่ตลอดเวลาในร่างกายของเรา
คือ รูป ดับ ๑ ครั้ง จิต จะดับ ๑๗ ครั้ง หรือ ๑๗ ขณะจิต
เราจะรู้ หรือไม่รู้มันก็เกิดดับของมันอยู่อย่างนั้น
เช่น เซลส์ เลือด เซลส์กระดูก เซลส์เนื้อ ตายไปตลอดเวลา
ถ้าหากว่าเซลส์เราไม่ตาย เราก็ไม่ต้องทานอาหารเข้าไปอีก เพราะยังสมบรูณ์อยู่
แต่ที่เราต้องทานอาหารก็เพราะว่าเซลส์มันตาย เราจึงต้องซ่อมเซลส์


เพราะฉะนั้น ในร่างกายของเรานี้จึงมีการเกิดดับอยู่ตลอดเวลา
เราจึงต้องตามเห็นการเกิดดับของนามรูปให้มาก
เพราะคนที่ไม่เห็นการเกิดดับของนามรูป
แม้จะมีชีวิตอยู่นานก็สู้คนที่มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว
แต่เห็นการเกิดดับของนามรูปไม่ได้ ดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสรรเสริญไว้

ดังนั้น สิ่งใดที่มีการเกิดดับ แสดงว่าสิ่งนั้นไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์
และเมื่อสิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นก็เป็นอนัตตา
แล้วควรหรือที่เราจะเข้าไปยึดมั่นถือมั่นว่านี้เป็นของเรา
เราเป็นโน่นเป็นนี้ เป็นตัวเป็นตนของเรา
จึงให้ภาวนาว่า “เกิด” เมื่อหายใจเข้า และภาวนาว่า “ดับ” เมื่อหายใจออก
การภาวนาอย่างนี้เอง


ขั้นที่ ๑๖ ปฏินิสัคคานุปัสสี
ตามเห็นความสละคืน คือความปล่อยวาง หายใจเข้า หายใจออก
ปล่อยวางอะไร อะไรก็ได้ที่มันวุ่นวาย เป็นตัวทุกข์
วางให้หมด ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น แม้ไม่วางขณะนี้ ในที่สุดก็ต้องวางอยู่แล้ว
หายใจเข้าก็ภาวนา ว่าปล่อยวาง หายใจออกก็ภาวนาว่าปล่อยวาง

เพราะฉะนั้น ในเวลาปฏิบัติต้องการจะให้ ผู้ปฏิบัติได้ใช้ ๔ คำ คือ
ไม่เที่ยง, จางคลาย, ดับหาย, ปล่อยวาง,

เอาคำใดคำหนึ่ง คือ หายใจเข้า “ไม่เที่ยง” หายใจออก “ไม่เที่ยง”
หรือหายใจเข้า “จางคลาย” หายใจออก “จางคลาย”
หรือหายใจเข้า “ดับหาย” หายใจออก “ดับหาย”
หรือหายใจเข้า “ปล่อยวาง” หายใจออก “ปล่อยวาง”
ส่วนคำว่า “ดับหาย” ใครจะเปลี่ยนไปภาวนาว่า “ดับสนิท” ก็ได้

แต่ในหลักปฏิบัติที่สูงขึ้นให้ใช้คำว่า “เกิดอยู่” “ดับอยู่” แทนตลอดไป
เพราะเป็นบทภาวนาที่นิยมปฏิบัติกันมากอย่างหนึ่ง
ทั้งได้ความหมายในการเจริญวิปัสสนาชัดมาก

ในการภาวนาหลักวิปัสสนาพร้อมกับการกำหนดลมหายใจเข้า-ออก
ทั้ง ๔ คำที่กล่าวมาข้างต้นนี้
ถ้าภาวนาคำใดได้ผลดี เหมาะกับจริตนิสัยของตน
ก็ให้เอาคำนั้นเพียงคำเดียว แล้วจิตจะคลายลงไปเอง
ให้พิจารณาอย่างนั้นโดยส่งจิตไปที่ท้องก็ได้ ที่อกก็ได้ หรือที่จมูกก็ได้
แล้วจิตจะเกิดความสงบ รู้แจ้งเห็นจริงขึ้นในที่สุด

วิธีการเจริญวิปัสสนา ๓ แบบนี้ หากผู้ใดเจริญเป็นทำได้ถูกต้อง
จิตจะเข้าสู่ความสงบ และคลายจากความยึดมั่นถือมั่นได้อย่างแน่นอน
ฉะนั้น ขอให้ผู้ปฏิบัติพึงเจริญวิปัสสนาตามที่กล่าวมาแล้ว โดยใช้แบบใดแบบหนึ่ง
หรือทั้ง ๓ แบบ ตามความเหมาะสมของตน
จิตก็จะเข้าสู่ความสงบ เข้าสู่การปล่อยวางได้ในที่สุด
เป็นการเจริญวิปัสสนาที่ถูกต้องตามหลักพระศาสนา

ผู้ใดได้เจริญเป็นประจำ แม้จะไม่ถึงซึ่งความสิ้นทุกข์
แต่ความสุขความสงบ และความเจริญรุ่งเรืองจะมีขึ้นทั้งในปัจจุบันชาติ
และในสัมปรายภพอย่างแน่นอน
ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา

ในปัจจุบัน โลกได้เจริญในด้านวิทยาศาสตร์และวิชาการไปมากเพียงไร
ก็ยิ่งสนับสนุนพุทธรรมมากขึ้นเพียงนั้น

เนื้อหาสาระทุกตอนในบทความนี้
หากผู้ใดอ่านจนจบโดยอ่านอย่างพิจารณาให้ถ่องแท้และนำไปปฏิบัติด้วยตนเอง
หรือนำไปแนะนำผู้อื่นได้ ก็เชื่อมั่นว่าจะได้รับผลแห่งการปฏิบัติอย่างคุ้มค่าแน่นอน
และชีวิตจะสงบสุขขึ้น เพราะเข้าสู่หลักการแบบบูรณาการ (Integration)
ในหลักธรรมของพระบรมศาสดาของเรา

เพราะพระธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม
พระธรรมที่ประพฤติดีแล้ว ย่อมนำความสุขมาให้
การได้รับความสุข ความเจริญรุ่งเองนั้น คือ
คุณค่าหรือผลานิสงส์แห่งการประพฤติธรรม


จากเว็บพลังจิต โพสต์โดย คุณ jonibuddhist
(ที่มา : เอกสารประกอบการสอบเข้าศึกษาต่อ หลักสูตรศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษา : “วิชาทฤษฎีและการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน”. บัณฑิตวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยมหามงกุฎราชวิทยาลัย, หน้า ๙๔-๑๐๔.)

__________________
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ