ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: เหตุให้..กระทำกรรม  (อ่าน 2956 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28413
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
เหตุให้..กระทำกรรม
« เมื่อ: มีนาคม 12, 2014, 10:39:10 am »
0

เหตุให้กระทำกรรม

ข้อความในพระสุตตันปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต นิทานสูตร ว่าด้วยอกุศลมูลและกุศลมูล มีดังนี้

     [310] "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหตุเพื่อเกิดกรรม(อกุศลกรรม) 3 ประการเป็นไฉน คือ
     โลภะ 1 โทสะ 1 โมหะ 1 ...
     ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เทวดา มนุษย์ หรือแม้สุคติอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมไม่ปรากฏ เพราะกรรมที่เกิดแต่โลภะ แต่โทสะ แต่โมหะ โดยที่แท้ นรก กำเนิดสัตว์เดรัจฉาน ปิตติวิสัย หรือแม้ทุคติอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมปรากฏ เพราะกรรมที่เกิดแต่โลภะ แต่โทสะ แต่โมหะ 
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุเพื่อเกิดกรรม 3 ประการนี้แล

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุเพื่อเกิดกรรม(กุศลกรรม) 3 ประการนี้ 3 ประการเป็นไฉน คือ 
    อโลภะ 1 อโทสะ 1 อโมหะ 1...
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย นรก กำเนิดสัตว์เดรัจฉาน ปิตติวิสัย หรือแม้ทุคติอย่างใดอย่างหนึ่งย่อมไม่ปรากฏ   เพราะกรรมที่เกิดแต่อโลภะ  แต่อโทสะ แต่อโมหะ โดยที่แท้เทวดา มนุษย์ หรือแม้สุคติอย่างใดอย่างหนึ่ง   ย่อมปรากฏเพราะกรรมที่เกิดแต่อโลภะ แต่อโทสะ แต่อโมหะ   
    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหตุเพื่อเกิดกรรม 3 ประการนี้แล" 

_________________________________________________
พระสูตร และอรรถกถาแปล อังคุตตรนิกาย  ปัญจก-ฉักนิบาต เล่มที่ ๓

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเหตุ 6 ประการที่เป็นต้นเหตุให้เกิดการกระทำต่างๆ กล่าวคือ ต้นเหตุให้กระทำความชั่ว (อกุศลกรรม) มี 3 ประการ ที่เป็นรากเหง้าทำให้อกุศลเจริญงอกงาม ได้แก่  โลภะ(ความโลภ)  โทสะ(ความโกรธ) โมหะ(ความไม่รู้) และต้นเหตุให้กระทำความดี(กุศลกรรม) มี 3 ประการ ที่เป็นรากเหง้าทำให้กุศลเจริญงอกงาม ได้แก่ อโลภะ(ความไม่โลภ ความเอื้อเฟื้อ) อโทสะ(ความไม่โกรธ ความเมตตา) อโมหะ(ความเห็นถูกในสภาวะธรรม)




อกุศลเหตุ 3 ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ

ask1  ans1

โลภะเป็นเหตุให้ทำอกุศลกรรมอย่างไร.?

โลภะ คือ ความต้องการ ความทะยานอยาก ความติดข้อง ซึ่งเป็นสภาพจิตของทุกคนในขณะนี้ ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรมอย่างละเอียดจะไม่ทราบเลยว่า การดำเนินชีวิตปกติในชีวิตประจำวัน เช่น รับประทานอาหาร อาบนํ้า  แต่งคัว พูดคุย ดูหนัง ฟังเพลง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ปกติในชีวิตประจำวัน ก็เป็นโลภะประเภทที่ไม่ได้ทำให้คนอื่นเดือดร้อน เสียหายหรือเสียประโยชน์ แต่เป็นโลภะโดยสภาวะคือ เป็นความติดข้อง ต้องการที่จะกระทำ เป็นโลภะขั้นละเอียดที่ถ้าพระพุทธองค์ไม่ทรงแสดงความจริงนี้ เราจะไม่ทราบเลยว่าแท้จริงแล้วจิตของเราเป็นไปกับโลภะแทบจะตลอดเวลา

เราจะทราบลักษณะของโลภะต่อเมื่อโลภะมีกำลังแล้วเท่านั้น เช่น อยากได้อะไรมากๆก็จะรู้สึกถึงความรุ่มร้อน ทุรนทุราย อยากได้มาเป็นของตน เพราะมีความเป็นตัวตน ทุกคนขึงแสวงหาสิ่งที่ตนพอใจ  ถ้ามีความต้องการในสิ่งใดและสิ่งนั้นเกินกำลังของตนที่จะได้มาด้วยวิธีที่สุจริต ผู้ที่โลภะมีกำลังมากก็จะคิดหาวิธีเพื่อให้ได้มาด้วยวิธีทุจริต หรือบางคนรวยมากแล้วก็ยังไม่รู้จักพอ ยังต้องการต่อไปอีกเรื่อยๆไม่รู้จบ ความไม่รู้จักพอนี่เองเป็นเหตุให้ทำทุจริตทางกาย(ลักขโมย ทุจริตคอรัปชั่น ปล้นจี้) ทุจริตทางวาจา(พูดโกหก) ทุจริตทางใจ (คิดอยากได้วางแผนปล้น วางแผนทุจริต คอรัปชั่น)

มีใครเห็นโลภะของตนเองบ้าง ทุกคนรู้จักโลภะแต่เพียงชื่อ แต่ไม่มีใครรู้จักตัวจริงของโลภะ เป็นเพราะเรามีความคุ้นเคยและชอบที่จะมีโลภะ เรามีความอยาก(โลภะ) ที่ไม่รู้จักจบจักสิ้น อยากได้สิ่งนั้น อยากได้สิ่งนี้ อยากเป็นคนรวย อยากมีอำนาจ ตราบใดที่ยังมีลมหายใจอยู่ก็จะสะสมเพิ่มพูนแต่ความอยาก(โลภะ)ไว้ในจิต แม้กำลังจะตายก็ยังอยากจะไปสวรรค์ จึงเป็นการยากเหลือเกินที่จะละโลภะ  พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ว่า โลภะนี่เองเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ (สมุทัยสัจจ์) โลภะนี่เองเป็นเหตุให้สัตว์โลกทั้งหลายต้องเวียนว่าย ตายเกิด อยู่ในสังสารวัฏ


 ask1 ans1

โทสะเป็นเหตุให้ทำอกุศลกรรมอย่างไร.?

โทสะ เป็นสภาพธรรมที่หยาบกระด้าง ดุร้าย โทสะมีหลายระดับ โทสะอ่อนๆได้แก่ ความรู้สึกหงุดหงิดขุ่นเคืองใจ รำคาญ หมั่นไส้ โทสะมากก็จะร้องไห้ แสดงอาการจะประทุษร้าย โทสะรุนแรงก็จะทำร้ายตนเองหรือผู้อื่นได้   ขณะที่เกิดโทสะ กาย วาจา จะหยาบกระด้าง จะแสดงกิริยาที่ไม่น่าดู เช่น กระแทกกระทั้นมีสีหน้าบึ้งตึง ถ้ามีโทสะที่รุนแรงมากก็อาจจะประทุษร้าย(ทุบตี) ผู้อื่น หรือฆ่าได้

โลภะเป็นเหตุให้เกิดโทสะ กล่าวคือ เมื่อไม่ได้ในสิ่งที่ตนต้องการจึงเกิดโทสะ หลายคนเห็นโทษของโทสะ รู้ว่าโทสะไม่ดี ไม่อยากให้ตนเองมีโทสะ ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะการจะละโทสะได้ก็ต่อเมื่อละโลภะในสิ่งต่างๆได้แล้วเท่านั้น เพราะโลภะเป็นแดนเกิดของโทสะ ละโลภะได้เมื่อใด ก็ละโทสะได้เมื่อนั้น มีใครคิดจะละโลภะบ้าง มีใครไม่อยากได้เงินบ้าง มีใครไม่อยากได้ตำแหน่งบ้าง มีใครไม่อยากได้รถยนต์ดีๆ บ้านสวยๆบ้าง จะเห็นว่าเป็นๆไปไม่ได้เลยที่บุคคลธรรมดาเช่นพวกเราจะละโลภะได้ เมื่อละโลภะไม่ได้ ก็ย่อมละโทสะไม่ได้ ผู้ที่สามารถละโทสะได้ ต้องบรรลุคุณธรรมขั้นพระอนาคามีแล้วเท่านั้น

ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่ทำให้เกิดโทสะ คือ โมหะ ความไม่รู้ความไม่เข้าใจในธรรม ถ้าไม่มีความรู้เรื่องของกรรม  วิบาก เหตุและผล โทสะอาจเกิดได้ง่ายๆ เมื่อกระทบกับอารมณ์ที่ไม่ดี ไม่น่าพอใจ เช่น เห็นคนที่เราไม่ชอบการกระทำบางอย่างของเขา หรือได้ยินเสียงแตรที่รถคันอื่นบีบไล่หลัง หรือรับประทานอาหารที่รสชาติไม่อร่อย   เหตุการณ์ต่างๆเหล่านี้เกิดขึ้นเสมอในชีวิตประจำวัน ทำให้เราเกิดความรู้สึกหงุดหงิดรำคาญใจ บางคนก็อาจระงับโทสะไว้ไม่ได้ อาจจะแสดงออกอย่างใดอย่างหนึ่งทางกายหรือวาจา อันจะเป็นเหตุให้เกิดเรื่องราวที่ใหญ่โตตามมาในภายหลังได้


 ask1 ans1

โมหะเป็นเหตุให้ทำอกุศลกรรมอย่างไร.?

โมหะ คือ ความไม่รู้ ความหลงเข้าใจผิด ไม่รู้สภาพธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง โมหะเป็นสภาพธรรมที่เกิดร่วมกับอกุศลจิตทุกประเภท เพราะไม่รู้ความจริงจึงติดข้องต้องการ เพราะไม่รู้ความจริงจึงเกิดโทสะ เพราะไม่รู้ความจริงจึงทำอกุศลกรรม ซึ่งได้แก่ทุจริตต่างๆ เพราะไม่รู้ความจริงจึงทำกุศลกรรมต่างๆ เพราะไม่รู้ความจริงจึงทำให้ยึดถือสภาพธรรมต่างๆว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เมื่อมีความเป็นตนก็มีความรักตน มีความเห็นแก่ตน ก็ย่อมทำกรรมนานาประการเพื่อบำรุงบำเรอตนให้ได้รับความสุข ย่อมทำทุจริตต่างๆเพื่อหาความสุขใส่ตน   โดยไม่รู้สภาพความจริงเลยว่าสุขนั้นมีเพียงน้อยนิด ซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ความรู้สึกเป็นสุขนั้นเกิดขึ้นและดับไปตามเหตุปัจจัย แต่ใจนั้นต้องทุรนทุรายกระวนกระวายด้วยโลภะอันไม่มีที่สิ้นสุดของตนเอง มีเงินเท่าไรก็ไม่พอแก่โลภะ มียศเท่าไรก็ไม่พอแก่โลภะ

ผู้ตกเป็นทาสของโลภะ ย่อมขวนขวายทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เงินมากๆ ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้ยศได้ตำแหน่ง เมื่อได้แล้ว ก็ทุรนทุรายใจอยากได้ต่อไปอีก ยามได้มาสมใจหวังก็ลำพองใจ เมื่อไม่ได้อย่างใจหวังก็เป็นทุกข์เดือดร้อน ตราบใดที่ยังมีความไม่รู้ (โมหะ) ในสภาพธรรมตามความเป็นจริง เมื่อยังมีความเป็นตัวตนฝังแน่นอยู่เช่นนี้ และไม่เคยศึกษาพระธรรมเพื่อละคลายความเห็นผิดว่าเป็นตัวตน ก็ไม่มีทางใดที่จะละโลภะ โทสะและโมหะได้เลย ปัญญา(การรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง) เท่านั้นที่จะละโลภะ โทสะและโมหะได้


    "คนเขลา ย่อมทำกรรมที่เกิดเพราะโลภะโทสะและโมหะ กรรมใดที่คนเขลานั้นทำแล้ว น้อยหรือมากก็ตาม กรรมนั้นให้ผลในอัตภาพ(ของผู้ทำ) นี้แหละวัตถุอื่น ซึ่งจะเป็นที่รับผลของกรรมนั้น ไม่มีเพราะเหตุนั้น ภิกษุผู้รู้ ละโลภะ โทสะ โมหะ เสียแล้ว ยังวิชชาให้เกิดขึ้น ก็พึงละทุคติทั้งปวงได้"

_____________________________________________________
พระสูตร และอรรถกถาแปล อังคุตตรนิกาย ติกนิบาตเล่มที่ ๑ ภาคที่ ๓

    (มีต่อด้านล่าง)

คัดลอกจากหนังสือ "กรรม...คำตอบของชีวิต"
โดย  อัญญมณี  มัลลิกะมาส มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
http://buddhiststudy.tripod.com/karmatheanstolife.htm
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 12, 2014, 10:55:13 am โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

kobyamkala

  • โยคาวจรผล
  • ******
  • ผลบุญ: +5/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: หญิง
  • กระทู้: 2236
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
Re: เหตุให้..กระทำกรรม
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: มีนาคม 12, 2014, 10:48:36 am »
0
 st11 st12 thk56
บันทึกการเข้า
แล้วลองแอบมาแย้มกะลา
เพื่อดูโลก เห็นแล้วตกใจโลกนี้กว้างใหญ่จริง ๆ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28413
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: เหตุให้..กระทำกรรม
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: มีนาคม 12, 2014, 10:54:21 am »
0


กุศลเหตุ 3 ได้แก่ อโลภะ อโทสะ และอโมหะ

อโลภะ ได้แก่ ความไม่โลภ ไม่ติดข้อง ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ คือ การให้เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น เช่น บริจากเงินช่วยเหลือการกุศลต่างๆ ช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้อื่น
อโทสะ ได้แก่ ความมีเมตตา กรุณา เป็นสภาพธรรมที่ไม่คิดประทุษร้ายผู้อื่น
อโมหะ ได้แก่ ปัญญาคือ ความเข้าใจถูกความเห็นถูกในสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง


    พระพุทธองค์ทรงจำแนกหลักในการเจริญกุศลไว้ 3 ประการ ได้แก่
    1. ทาน คือ กุศลจิตที่เป็นไปในการให้ เพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่น ได้แก่ การบริจากวัตถุสิ่งของ นอกจากวัตถุทานแล้ว ยังมีทานในรูปแบบอื่นด้วย เช่น พูดแนะนำประโยชน์ ช่วยเหลือกิจการงานของผู้อื่น การให้อภัย เป็นต้น
    2. ศีล คือ ความประพฤติทางกาย วาจา ที่เรียบร้อยและสุจริต
    3. ภาวนา คือ การอบรมเจริญปัญญาด้วยการหมั่นศึกษาพิจารณาคำสอนและหาเหตุผล ผู้มีปัญญามากต้องเป็นผู้ที่ฟังมาก อ่านมาก หมั่นศึกษาพิจารณาตรึกตรองในเหตุผล และน้อมนำพระธรรมมาประพฤติปฏิบัติเพื่อประโยชน์ในการอบรมขัดเกลากิเลสของตน


     :25: :25: :25:

    กุศลเป็นสภาพธรรมที่ดี ผ่องใส และปราศจากโทษทั้งต่อตนเองและผู้อื่น จิตที่เป็นกุศลย่อมมีการแสดงออกที่ดี มีการกระทำที่ดี อันเป็นเหตุให้ได้รับผล(วิบาก) ที่ดี
    กุศลกรรม คือ การกระทำที่เป็นเหตุให้ได้รับความสุขไม่มีโทษ ซึ่งนอกจากทรงจำแนกเป็นกุศลกรรมใหญ่ๆ 3 ประเภทแล้ว ยังทรงจำแนกโดยละเอียดเป็นกุศลกรรมบถ 10 หรือบุญญกิริยาวัตถุ 10 นั่นเอง

    เมื่อยังมีความเห็นผิด หลงยึดสภาพธรรมทั้งหลายว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล หรือเป็นตัวตน หรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ทุกคนก็ย่อมทำกรรมดีบ้าง กรรมชั่วบ้าง ด้วยหวังจะให้ตนเองได้รับความสุขในชาตินี้และชาติหน้า เช่น ทำกุศล (ทำบุญ ให้ทาน) ก็เพราะหวังจะได้รับผลของกรรมดีเป็นการตอบแทน ขณะที่ทำกรรมชั่ว เช่น ทำทุจริต คอรัปชั่น หรือฉ้อโกง ก็เพราะหวังว่าจะได้เงินก้อนโตเพื่อใช้หาความสุขใส่ตน


     st12 st12 st12

    พระพุทธองค์ทรงแสดงความจริงว่า ศัตรูที่ใกล้ชิดเราที่สุด คือ กิเลสของเรานี่เอง ดังข้อความในมลสูตรว่า
    (๒๖๘) "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อกุศลธรรม 3 ประการนี้ เป็นมลทินภายใน(มลทินของจิต) เป็นอมิตรภายใน เป็นศัตรูภายใน เป็นเพชฌฆาตภายใน เป็นข้าศึกภายใน 3 ประการเป็นไฉน  คือ
    โลภะ(ความโลภ) โทสะ (ความขุ่นเคือง) โมหะ(ความหลง)   
    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อกุศลธรรม 3 ประการนี้แล เป็นอมิตร เป็นศัตรู เป็นเพชฌฆาต เป็นข้าศึกภายใน"

____________________________________________________
พระสูตร และอรรถกถาแปล ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ เล่มที่ ๑ ภาคที่ ๔




    เมื่อทราบว่าความจริงเป็นเช่นนี้แล้ว เราจะยังโกรธอาฆาตผู้ที่ทำให้เราเดือดร้อนไหม
    ถ้ายังโกรธ คิดร้ายตอบ ก็เป็นการก่อกรรมใหม่อีกอันจะเป็นเหตุให้ได้รับผลคือ ทุกข์โทษต่อไปในภายหน้า   แต่ถ้าเข้าใจและข่มใจไม่คิดประทุษร้ายตอบ เวรนั้นย่อมระงับไป ชีวิตเราก็ย่อมมีความสุขขึ้นแน่นอน


    ในพระวินัยปิฎกมหาวรรค ภาคที่ 2 โกสัมพิขันธกะ เวรุปสมคาถา พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า
    "ก็คนเหล่าใด จองเวรไว้ว่า คนโน้นด่าเรา ตีเรา ชนะเรา ได้ลักสิ่งของของเราไป เวรของคนเหล่านั้นย่อมไม่สงบ ส่วนคนเหล่าใด ไม่จองเวรไว้ว่า คนโน้นด่าเรา ตีเรา ชนะเรา ได้ลักสิ่งของของเราไป เวรของคนเหล่านั้นย่อมสงบ แต่ไหนแต่ไรมา เวรทั้งหลายในโลกนี้ย่อมไม่ระงับ เพราะเวรเลย แต่ย่อมระงับเพราะไม่จองเวร ธรรมนี้เป็นของเก่า"

______________________________
พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่มที่ 5 ภาคที่ 2

คัดลอกจากหนังสือ "กรรม...คำตอบของชีวิต"
โดย  อัญญมณี  มัลลิกะมาส มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
http://buddhiststudy.tripod.com/karmatheanstolife.htm
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ