สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

กรรมฐาน มัชฌิมา => ถามตอบ ทุกเรื่องที่เกี่ยวกับ กรรมฐาน => ข้อความที่เริ่มโดย: ครูนภา ที่ ตุลาคม 27, 2010, 06:36:58 pm



หัวข้อ: มีขั้นตอนในการกำหนดรู้ สักกายทิฏฐิ หรือป่าวคะ
เริ่มหัวข้อโดย: ครูนภา ที่ ตุลาคม 27, 2010, 06:36:58 pm
ในการรู้ เห็น ตาม ความเป็นจริง ในสักกายทิฏฐิ มีการเห็นอย่างไร คะ

จึงจะละ สักกายทิฏฐิ ได้คะ


หัวข้อ: Re: มีขั้นตอนในการกำหนดรู้ สักกายทิฏฐิ หรือป่าวคะ
เริ่มหัวข้อโดย: pichai ที่ ตุลาคม 29, 2010, 07:29:55 am
มหามาลุงโกฺยวาทสูตร

พุทธพจน์ และ พระสูตร
   

พระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐ เล่มที่ ๑๓
   

 คลิกขวาเมนู

             พระสูตร แสดงธรรมของการปฏิบัติเพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ คือ สังโยชน์ ๕ เบื้องต่ำ อันประกอบด้วย สักกายทิฏฐิ๑  วิจิกิจฉา๑  สีลัพพตปรามาส๑  กามราคะ๑  และปฏิฆะหรือพยาบาท๑  ทรงแสดงการปฎิบัติในการละสังโยชน์ ๕ ข้อแรกนี้ด้วยสมถวิปัสสนา ที่ประกอบด้วยสมถกรรมฐานอันเป็นอุบายให้ใจสงบระงับ ที่จักเป็นบาทฐานหรือเป็นกำลังสืบต่อไปในการเจริญวิปัสสนากรรมฐานในกุศลธรรมต่างๆที่จักยังให้เกิดปัญญา ดังเช่น ที่กล่าวในพระสูตรนี้คือพระไตรลักษณ์   พร้อมคำอธิบายประกอบ พึงโยนิโสมนสิการโดยละเอียดและแยบคาย ก็จะพบแนวทางปฏิบัติอันถูกต้องดีงามในการใช้สมถกรรมฐานร่วมกับการใช้วิปัสสนากรรมฐาน เพื่อให้เกิดสัมมาญาณ(ปัญญาญาณ)ในการดับทุกข์

 

มหามาลุงโกฺยวาทสูตร

ทรงโปรดพระมาลุงกยะและพระอานนท์

โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕

             [๑๕๓] ข้าพเจ้า(หมายถึงพระอานนท์เถระ)ได้สดับมาอย่างนี้:-

             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี.

ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย.

ภิกษุเหล่านั้นรับพระดำรัสพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า.

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายยังจำโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ที่เราแสดงแล้วได้หรือไม่?

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระมาลุงกยบุตรได้กราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ยังจำได้ซึ่งโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว.

             ดูกรมาลุงกยบุตร ก็เธอจำโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ที่เราแสดงแล้วว่าอย่างไร?

             ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ยังจำได้ซึ่งโอรัมภาคิยสังโยชน์ คือ

สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามฉันทะ พยาบาท ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว

ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ยังจำได้ซึ่งโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว อย่างนี้.

             [๑๕๔] ดูกรมาลุงกยบุตร เธอจำโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ เหล่านี้ ที่เราแสดงแล้วอย่างนี้ แก่ใครหนอ?

ดูกรมาลุงกยบุตร นักบวชพวกอัญญเดียรถีย์จักโต้เถียง ด้วยคำโต้เถียง

อันเปรียบ(เหมือน)ด้วยเด็กนี้ได้ มิใช่หรือว่า แม้แต่ความคิดว่า กายของตน ดังนี้

ย่อมไม่มีแก่เด็กกุมารอ่อนผู้ยังนอนหงายอยู่(แบเบาะอยู่) ก็สักกายทิฏฐิ จักเกิดขึ้นแก่เด็กนั้นแต่ที่ไหน

(หมายความว่า เหล่าอัญญเดียรถีย์ ก็จะโต้ตอบเอาว่า เด็กอ่อนย่อมยังไม่มี ความคิด,ความเห็นว่า กายของตน หรือเป็นตัวตนหรือของตน )

ส่วนสักกายทิฏฐิ อันเป็นอนุสัยเท่านั้น ย่อมนอนตาม(สั่งสมหรือนอนเนื่อง)แก่เด็กนั้น

(แต่พระองค์ท่านทรงชี้ว่า  แม้กุมารอ่อนที่แบเบาะยังไม่เกิดความคิด,ความเห็นดังกล่าวขึ้น ก็จริงอยู่  แต่เริ่มเกิดการสั่งสมหรือนอนเนื่องในสันดานเป็นอนุสัย โดยไม่รู้ตัวเพราะอวิชชาได้ นั่นเอง  ถ้าพิจารณาจากปฏิจจสมุปบาทธรรม ก็คือการสั่งสมนอนเนื่องซึมซาบย้อมจิตของอาสวะกิเลสนั่นเอง)

แม้แต่ความคิดว่า ธรรมทั้งหลายดังนี้ ย่อมไม่มี แก่เด็กกุมารอ่อนผู้ยังนอนหงายอยู่

ก็ความสงสัยในธรรมทั้งหลาย จักเกิดขึ้นแก่เด็กนั้นแต่ที่ไหน

(ก็เมื่อยังไม่มีความคิดหรือการใช้สัญญา จักรู้ธรรมได้อย่างไร  ความสงสัยในธรรมจึงไม่มี)

ส่วนวิจิกิจฉาอันเป็นอนุสัยเท่านั้น ย่อมนอนตามแก่เด็กนั้น

แม้แต่ความคิดว่า ศีลทั้งหลาย ดังนี้ ย่อมไม่มีแก่เด็กกุมารอ่อนผู้ยังนอนหงายอยู่

สีลัพพตปรามาสในศีลทั้งหลาย จักเกิดขึ้น แก่เด็กนั้นแต่ที่ไหน

ส่วนสีลัพพตปรามาสอันเป็นอนุสัยเท่านั้น ย่อมนอนตามแก่เด็กนั้น

แม้แต่ความคิดว่า กามทั้งหลาย ดังนี้ ย่อมไม่มีแก่เด็กกุมารอ่อนยังนอนหงายอยู่

ก็กามฉันทะ ในกามทั้งหลาย จักเกิดขึ้นแก่เด็กนั้นแต่ที่ไหน

ส่วนกามราคะอันเป็นอนุสัยเท่านั้น ย่อมนอนตามแก่เด็กนั้น

แม้แต่ความคิดว่า สัตว์ทั้งหลาย ดังนี้ ย่อมไม่มีแก่เด็กกุมารอ่อนผู้ยังนอนหงายอยู่

ก็ความพยาบาท ในสัตว์ทั้งหลาย จักเกิดขึ้นแก่เด็กนั้นแต่ที่ไหน

ส่วนพยาบาทอันเป็นอนุสัยเท่านั้น ย่อมนอนตามแก่เด็กนั้น

ดูกรมาลุงกยบุตร นักบวช พวกอัญญเดียรถีย์จักโต้เถียง ด้วยคำโต้เถียงอันเปรียบด้วยเด็กอ่อนนี้ได้ มิใช่หรือ?

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่าน พระอานนท์ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เวลานี้เป็นกาลสมควร ข้าแต่พระสุคต เวลานี้เป็นกาลสมควรที่พระผู้มีพระภาคพึง

ทรงแสดงโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ภิกษุ ทั้งหลายได้ฟังต่อพระผู้มีพระภาคแล้ว จักทรงจำไว้.

             ดูกรอานนท์ ถ้ากระนั้น เธอจงฟัง จงมนสิการให้ดี เราจักกล่าว

ท่านพระอานนท์ทูลรับ พระผู้มีพระภาคว่า อย่างนั้นพระเจ้าข้า.

อุบายเครื่องละสังโยชน์

             [๑๕๕] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรอานนท์ ปุถุชนในโลกนี้ ผู้ไม่ได้สดับ

ไม่ได้เห็นพระอริยะ ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้รับแนะนำในธรรมของพระอริยะ

ไม่เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ

มีจิตอันสักกายทิฏฐิ กลุ้มรุมแล้ว  อันสักกายทิฏฐิครอบงำแล้วอยู่

และเมื่อสักกายทิฏฐิเกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่รู้อุบาย เป็นเครื่องสลัดออกเสียได้ตามความเป็นจริง

สักกายทิฏฐินั้นก็เป็นของมีกำลัง อันปุถุชนนั้น บรรเทาไม่ได้แล้ว ชื่อว่าเป็น โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕

(หมายความว่า สังโยชน์ เป็นของมีกำลังมาก  ปุถุชนทุกคนไม่มีกำลังพอที่จะบรรเทาหรือดับ สังโยชน์ นี้ได้เลย)

ปุถุชนนั้นมีจิตอันวิจิกิจฉากลุ้มรุมแล้ว อันวิจิกิจฉาครอบงำแล้วอยู่

และเมื่อวิจิกิจฉาเกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่รู้อุบายเป็นเครื่องสลัดออกเสียได้ ตามความเป็นจริง

วิจิกิจฉา นั้นก็เป็นของมีกำลัง อันปุถุชนนั้นบรรเทาไม่ได้แล้ว ชื่อว่าเป็น โอรัมภาคิยสังโยชน์.

ปุถุชนนั้นมีจิตอันสีลัพพตปรามาสกลุ้มรุมแล้ว อันสีลัพพตปรามาส ครอบงำแล้วอยู่

และเมื่อสีลัพพตปรามาสเกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่รู้อุบายเป็นเครื่องสลัดออกเสีย ได้ตามความเป็นจริง

สีลัพพตปรามาส นั้นก็เป็นของมีกำลัง อันปุถุชนนั้นบรรเทาไม่ได้แล้วชื่อว่าเป็น โอรัมภาคิยสังโยชน์

ปุถุชนนั้นมีจิตอันกามราคะกลุ้มรุมแล้ว อันกามราคะครอบงำแล้วอยู่

และเมื่อกามราคะเกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่รู้อุบายเป็นเครื่องสลัดออกเสียได้ตามความเป็นจริง

กามราคะ นั้นก็เป็นของมีกำลัง อันปุถุชนนั้นบรรเทาไม่ได้แล้ว ชื่อว่าเป็นโอรัมภาคิยสังโยชน์.

ปุถุชน นั้นมีจิตอันพยาบาทกลุ้มรุมแล้ว อันพยาบาทครอบงำแล้วอยู่

และเมื่อพยาบาทเกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่รู้อุบายเป็นเครื่องสลัดออกเสียได้ตามความเป็นจริง

พยาบาท นั้นก็เป็นของมีกำลัง อัน ปุถุชนนั้นบรรเทาไม่ได้แล้ว ชื่อว่าโอรัมภาคิยสังโยชน์.

ดูกรอานนท์ ส่วนอริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ได้เห็นพระอริยะ เป็นผู้ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ได้รับแนะนำในธรรมของพระอริยะดีแล้ว

ได้เห็นสัตบุรุษ ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ได้รับแนะนำในธรรมของสัตบุรุษดีแล้ว

        มีจิตอัน สักกายทิฏฐิกลุ้มรุมไม่ได้  อันสักกายทิฏฐิครอบงำไม่ได้อยู่

และเมื่อสักกายทิฏฐิเกิดขึ้นแล้ว  ย่อมรู้อุบายเป็นเครื่องสลัดออกเสียได้ตามความเป็นจริง

สักกายทิฏฐิพร้อมทั้งอนุสัย  อันอริยสาวกนั้นย่อมละได้

(โยนิโสมนสิการ โดยแยบคายว่า มีเกิดขึ้นบ้าง เป็นธรรมดา แต่รู้วิธีกำจัดเสียจนไม่เป็นอนุสัยอันนอนเนื่อง)

        อริยสาวกนั้นมีจิตอัน วิจิกิจฉา กลุ้มรุมไม่ได้ อันวิจิกิจฉาครอบงำไม่ได้อยู่

และเมื่อวิจิกิจฉาเกิดขึ้นแล้ว ย่อมรู้อุบายเป็นเครื่องสลัดออกเสียได้ตามความเป็นจริง

วิจิกิจฉาพร้อม ทั้งอนุสัย อันอริยสาวกนั้นย่อมละได้ 

        อริยสาวกนั้นมีจิตอันสีลัพพตปรามาสกลุ้มรุมไม่ได้ อัน สีลัพพตปรามาสย่อมครอบงำไม่ได้อยู่

และเมื่อสีลัพพตปรามาสเกิดขึ้นแล้ว ย่อมรู้อุบายเป็น เครื่องสลัดออกเสียได้ตามความเป็นจริง

สีลัพพตปรามาสพร้อมทั้งอนุสัย อันอริยสาวกนั้นย่อมละได้

        อริยสาวกนั้นมีจิตอันกามราคะกลุ้มรุมไม่ได้ อันกามราคะครอบงำไม่ได้อยู่

และเมื่อ กามราคะเกิดขึ้นแล้ว ย่อมรู้อุบายเป็นเครื่องสลัดออกเสียได้ตามความเป็นจริง

กามราคะพร้อมทั้ง อนุสัยอันอริยสาวกนั้นย่อมละได้

        อริยสาวกนั้นมีจิตอันพยาบาทกลุ้มรุมไม่ได้ อันพยาบาท ครอบงำไม่ได้อยู่

และเมื่อพยาบาทเกิดขึ้นแล้ว ย่อมรู้อุบายเป็นเครื่องสลัดออกเสียได้ตามความ เป็นจริง

พยาบาทพร้อมทั้งอนุสัย อันอริยสาวกนั้นย่อมละได้.

มัคคปฏิปทาเครื่องละสังโยชน์

             [๑๕๖] ดูกรอานนท์ ข้อที่ว่า บุคคลจักไม่อาศัยมัคคปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕

แล้วจักรู้ จักเห็น หรือจักละ โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ได้นั้น ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้.

ดูกรอานนท์ เปรียบเหมือนข้อที่ว่า ไม่ถากเปลือก ไม่ถากกะพี้ของต้นไม้ใหญ่ที่ยืนต้น มีแก่น

แล้วจักถากแก่นนั้น  ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ฉันใด

ข้อที่ว่า บุคคลจักไม่อาศัยมัคคปฏิปทา ที่เป็นไปเพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ แล้ว

จักรู้ จักเห็น หรือจักละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ได้นั้น ก็ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ฉันนั้น.

ดูกรอานนท์ ข้อที่ว่า บุคคลอาศัยมัคคปฏิปทาอันเป็นไป เพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ แล้ว

จักรู้ จักเห็น และจักละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ นั้นได้ เป็น ฐานะที่จะมีได้.

ดูกรอานนท์ เปรียบเหมือนข้อที่ว่า ถากเปลือก ถากกะพี้ของต้นไม้ใหญ่ที่ยืนต้น มีแก่น แล้วจึงถากแก่นนั้น

เป็นฐานะที่จะมีได้ ฉันใด ข้อที่ว่า บุคคลอาศัยมัคคปฏิปทา อันเป็นไปเพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ แล้ว

จักรู้ จักเห็น หรือจักละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ได้นั้น ก็เป็นฐานะที่จะมีได้ ฉันนั้น.

ดูกรอานนท์ เปรียบเหมือนแม่น้ำคงคาน้ำเต็มเปี่ยมเสมอขอบฝั่ง กาก้มลงดื่มได้

ครั้งนั้น บุรุษผู้มีกำลังน้อย พึงมาด้วย หวังว่า เราจักว่ายตัดขวาง กระแสน้ำแห่งแม่น้ำคงคานี้ ไปให้ถึงฝั่งโดยสวัสดี

ดังนี้เขาจะไม่อาจว่าย ตัดขวางกระแสน้ำ แห่งแม่น้ำคงคา ไปให้ถึงฝั่งโดยสวัสดีได้ ฉันใด

เมื่อธรรมอันผู้แสดงๆ อยู่แก่ผู้ใดผู้หนึ่ง เพื่อดับความเห็นว่า กายของตน

จิตของผู้นั้นไม่แล่นไป ไม่เลื่อมใส ไม่มั่นคง ไม่พ้น ฉันนั้น เหมือนกัน.

บุรุษผู้มีกำลังน้อยนั้น ฉันใด พึงเห็นบุคคลเหล่านั้น ฉันนั้นเหมือนกัน.

ดูกรอานนท์ เปรียบเหมือนแม่น้ำคงคา น้ำเต็มเปี่ยมเสมอขอบฝั่ง กาก้มลงดื่มได้

ครั้งนั้นบุรุษมีกำลัง พึงมาด้วย หวังว่า เราจักว่ายตัดขวางกระแสน้ำแห่งแม่น้ำคงคานี้ ไปให้ถึงโดยสวัสดี

ดังนี้ เขาอาจจะ ว่ายตัดขวางกระแสแห่งแม่น้ำคงคา ไปให้ถึงฝั่งโดยสวัสดีได้ ฉันใด

ดูกรอานนท์ เมื่อธรรม อันผู้แสดงๆ อยู่แก่ผู้ใดผู้หนึ่งเพื่อดับความเห็นว่า กายของตน

จิตของตน จิตของผู้นั้นแล่นไป เลื่อมใส มั่นคง พ้น ฉันนั้นเหมือนกันแล.

บุรุษมีกำลังนั้นฉันใด พึงเห็นบุคคลเหล่านั้น ฉันนั้น เหมือนกัน.

(อนึ่งพึงทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่า ด้วยเหตุดังนี้ จึงต้องปฏิบัติให้บุรุษนั้นหรือจิตนั้น มีกำลังเสียก่อนด้วยสมถสมาธิ(สมถกรรมฐาน)

ดังความในพระสูตรที่แสดงในลำดับต่อไป  แต่พึงพิจารณาโดยแยบคายในพระสูตรด้วย มิใช่สนใจแต่ในหัวข้อว่ากล่าวถึงแต่ รูปฌาน และอรูปฌาน หรือสมถกรรมฐาน แต่ฝ่ายเดียว แต่ต้องพรั่งพร้อมด้วยการเจริญวิปัสสนาหรือวิปัสสนากรรมฐานเป็นสำคัญ หรือที่เรียกรวมกันว่าสมถวิปัสสนา  หรือการปฏิบัติดังนี้

๑. เจริญสมถกรรมฐานหรือฌานสมาธิ ก็เพื่อให้กายใจสงบระงับ อันย่อมเป็นกำลังของจิต ในการดำเนินไปในข้อ ๒

๒. การยกธรรมขึ้นมาพิจารณา เพื่อเจริญปัญญาหรือก็คือการวิปัสสนา ก็เพื่อให้เห็นธรรม หรือความจริงของธรรมหรือธรรมชาติ  ก็ล้วนเพื่อให้เกิดนิพพิทาญาณ ความหน่ายจากการรู้ธรรมหรือความจริงยิ่ง จึงย่อมคลายกำหนัดหรือตัณหานั่นเอง อันจำเป็นยิ่ง ดังเช่น ในพระสูตรนี้ก็กล่าวถึง พระไตรลักษณ์

๓. แล้วยังต้อง น้อมนำเพื่อการปล่อยวาง เพื่อความสละคืน ฯ หรือวิราคะ เพื่อนิพพานอันบรมสุข(อุปสมานุสติ)

ถ้าขาดวิปัสสนากรรมฐานในข้อ ๒ และ ๓ เสีย ก็เป็นเพียงสมถสมาธิหรือฌานสมาธิธรรมดาที่มีกันโดยทั่วไป แม้ในอัญญเดียรถีย์อื่น

ซึ่งย่อมไม่สามารถละ โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ได้เลย

ถ้าปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานดังข้อ ๒ และ ๓ ข้างต้น จึงจักเป็นการใช้กำลังของจิตที่เกิดขึ้นจากสมถสมาธินั้น อย่างเป็นไปถูกต้องแนวทางในพระศาสนา

จึงมิได้เป็นไปเพื่อความเพลิดเพลิน ความสุข ความสงบ ฯ. แต่ฝ่ายเดียว  หรือเพื่อประโยชน์อื่นๆทางโลก

การปฏิบัติเพื่อให้บุรุษหรือจิตนั้นมีกำลัง จึงเป็นไปดังธรรม ที่จักแสดงในลำดับต่อไป

ซึ่งสามารถเลือกปฏิบัติสมถกรรมฐานหรือสมถสมาธิในขั้นหนึ่งขั้นใดก็ได้ ตามกำลังอินทรีย์แห่งตน  อันเมื่อปฏิบัติด้วยความเพียรอย่างถูกต้อง ล้วนยังให้เกิดผลเช่นกันทั้งหมดทั้งสิ้น

จึงไม่จำเป็นต้องเจริญฌานสมาธิ จนถึงขั้นประณีตสูงสุดเสียก่อน แล้วจึงปฏิบัติวิปัสสนา(วิปัสสนากรรมฐาน)

อนึ่ง นักปฏิบัติที่ไม่โยนิโสมนสิการหรือพิจารณาโดยละเอียดและโดยแยบคาย  เมื่ออ่านพระสูตรแล้ว มักเข้าใจไปเอาเองโดยไม่รู้ตัวว่า ปฏิบัติในสมถกรรมฐานคือฌานสมาธิแต่ฝ่ายเดียวเท่านั้น  จึงมุ่งปฏิบัติแต่สมถกรรมฐานคือฌานสมาธิในรูปฌานหรืออรูปฌานดังที่จักแสดงในลำดับต่อไป โดยขาดวิปัสสนากรรมฐาน โดยไม่รู้ตัวหรือด้วยอวิชชา จึงย่อมไม่บังเกิดผล และก่อทุกข์โทษภัยอีกด้วยโดยไม่รู้ตัวด้วยอวิชชาอีกนั่นแล

สมถกรรมฐานขั้นใด จำเป็นในการปฏิบัติกรรมฐาน ประกอบการพิจารณา

รูปฌาน ๔

             [๑๕๗] ดูกรอานนท์ มัคคปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ เป็นไฉน?

ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เพราะอุปธิวิเวก

เพราะละกุศลธรรม(อีกด้วย)ได้  เพราะระงับความคร้านกายได้โดยประการทั้งปวง

บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุข เกิดแต่วิเวกอยู่

(ปฐมฌาน ประกอบด้วยองค์ฌาน ๕ มี  วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา[วิเวก]  แล้วในปฐมฌานนั่นละ

เพราะวิตก วิจารยังมีอยู่ กล่าวคือ มีสติที่คิดพิจารณาหรือวิปัสสนาได้นั่นเอง  ให้เธอ)พิจารณา(ให้เข้าใจ)เห็นธรรมทั้งหลาย คือ

รูป  เวทนา  สัญญา  สังขาร   วิญญาณ  ซึ่งมีอยู่ในกาย ในสมาบัตินั้น  โดยความเป็นของไม่เที่ยง

(หมายถึง พิจารณาในขณะอยู่ในสมาบัติ กล่าวคือ เริ่มการวิปัสสนากรรมฐานในสมาบัตินั้น นั่นเอง)

(ว่า)เป็นทุกข์  เป็นโรค  เป็นดังหัวฝี  เป็นดัง(ถูก)ลูกศร  เป็นความลำบาก  เป็นไข้ 

(แปร)เป็นอื่น  เป็นของทรุดโทรม เป็นของสูญ เป็นของมิใช่ตัวตน.

เธอย่อมเปลื้องจิต(ปล่อยวาง)จากธรรม(สิ่ง)เหล่านั้น

ครั้นเธอเปลื้องจิตจากธรรมเหล่านั้นแล้ว  ย่อมน้อมจิตไปในอมตธาตุว่า

ธรรมชาตินี้สงบ ธรรมชาตินี้ประณีต คือ ธรรมเป็นที่สงบสังขารทั้งปวง

เป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา เป็นที่สิ้นกำหนัด

เป็นที่ดับสนิท เป็นที่ดับกิเลส และกองทุกข์ดังนี้.

เธอตั้งอยู่ในวิปัสสนา อันมีไตรลักษณ์เป็นอารมณ์นั้น

ย่อมบรรลุธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย

(อ่านรายละเอียดโดยแยบคายในไตรลักษณ์ได้ในบท พระไตรลักษณ์ เพื่อนำมาโยนิโสมนสิการประกอบการพิจารณา)

ถ้ายังไม่บรรลุธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ย่อมเป็นโอปปาติกะ

จักปรินิพพานในภพนั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา

(กล่าวคือ เกิดโอปปาติกะในภายหน้าขึ้นในขณะจิตหนึ่ง จึงเป็นเหตุให้บรรลุธรรม คือพระนิพพานในภพนั้นๆนั่นเอง)

เพราะความยินดี ความเพลิดเพลินในธรรมนั้น และเพราะสิ้นไปแห่งโอรัมภาคิยสังโยชน์ทั้ง ๕

ดูกรอานนท์  มรรคแม้นี้แล  ปฏิปทาแม้นี้แล  ย่อมเป็นไปเพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕.

             ดูกรอานนท์ อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน

เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป  มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่.

(ทุติยฌาน ประกอบด้วยองค์ฌาน ๓ มี ปีติ สุข เอกัคคตา)

(ข้อสังเกตุ  ตั้งแต่ทุติยฌานขึ้นไป  ไม่สามารถวิปัสสนาได้โดยตรง เพราะวิตก วิจาร สิ้นไปแล้ว (ดังทุติยฌาน นี้ประกอบด้วยองค์ฌาน ๓ องค์อันมี  ปีติ สุข เอกัคคตา เพราะวิตก วิจารได้ดับไปแล้ว) ดังนั้นเมื่อถอนออกจากฌานตั้งแต่ทุติยฌานไปแล้ว กล่าวคือ มีวิตก วิจาร หรือความคิดนึกกลับคืนมาแล้ว อันย่อมพรั่งพร้อมด้วยกำลังจิตอันดีเลิศอันเกิดแต่การเสวยองค์ฌานต่างๆ เช่น ปีติ สุข เอกัคคตา อุเบกขา  และเนื่องด้วยเป็นของมีกำลังมากจึงต้องนำไปใช้ให้ถูกทาง จึงต้องดำเนินการวิปัสสนาต่อเนื่องไป  ถ้าไม่นำไปใช้ในการวิปัสสนาก็จะทำให้กำลังที่เกิดขึ้นนั้น ส่งผลให้เกิดอาการจิตเก่ง,จิตกล้า ซึ่งเป็นการสร้างทุกข์เป็นที่สุดโดยไม่รู้ตัวด้วยอวิชชา และยังร่วมด้วยการเกิดการติดเพลินแต่ในเหล่าความสงบ ความสุขที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจองค์ฌาน  จนไปแช่นิ่งอยู่ภายในจนเป็นทุกข์อย่างยิ่งในที่สุดอีกด้วย)

             ดูกรอานนท์ อีกประการหนึ่ง ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่ และเสวยสุข ด้วยนามกาย

เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข.

(ตติยฌาน ประกอบด้วยองค์ฌาน ๒ มี สุข เอกัคคตา)

             ดูกรอานนท์ อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์

และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่.

(จตุตถฌาน ประกอบด้วยองค์ฌาน ๒ มี เอกัคคตาจิตแน่วแน่เป็นหนึ่งเดียวอย่างสมบูรณ์  จิตเมื่อไม่ส่งส่ายไปผัสสะในสิ่งใดๆอีกเนื่องจากเอกัคคตาจิตเป็นหนึ่งเดียว จึงเกิดอุเบกขาความเป็นกลางวางเฉยต่อสังขารต่างๆขึ้นร่วมด้วยอย่างสมบูรณ์เช่นกัน)

เธอพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลาย คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งมีอยู่ในภายในสมาบัตินั้น ฯลฯ  เพื่อละสังโยชน์

อรูปฌาน

             [๑๕๘] ดูกรอานนท์ ภิกษุบรรลุ อากาสานัญจายตนฌาน ด้วยบริกรรมว่า อากาศ ไม่มีที่สุด

เพราะก้าวล่วงรูปสัญญา เพราะดับปฏิฆสัญญา และเพราะไม่มนสิการนานัตตสัญญา โดยประการทั้งปวง

เธอย่อมพิจารณาเห็นธรรมเหล่านั้นคือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งมีอยู่ในฌานนั้นโดยความไม่เที่ยง

เป็นทุกข์  เป็นโรค  เป็นดังหัวฝี  เป็นดัง(ถูก)ลูกศร  เป็นความลำบาก  เป็นไข้

(แปร)เป็นอื่น  เป็นของทรุดโทรม  เป็นของสูญ  เป็นของไม่มีตัวตน.

เธอให้จิตดำเนินไปด้วยธรรมเหล่านั้น  ครั้นให้จิตดำเนินไปด้วยธรรมเหล่านั้นแล้ว

ย่อมน้อมจิตเข้าหาธาตุอันเป็นอมตะว่า นั้นมีอยู่ นั่นประณีต คือสงบสังขารทั้งปวง

สละคืนอุปธิทั้งปวง สิ้นตัณหา ปราศจากราคะ ดับสนิท นิพพาน

เธอตั้งอยู่ในฌานนั้น ย่อมบรรลุการสิ้น ถ้าไม่บรรลุ จะเป็นโอปปาติกะ

(สิ้นสังโยชน์ทั้ง ๕ หมายถึง พระอนาคามี)

ปรินิพพานในภพนั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา เพราะสิ้นโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕

ด้วยความเพลิดเพลินในธรรมนั้น ด้วยความยินดีในธรรมนั้นแล

ดูกรอานนท์ มรรคแม้นี้ ปฏิปทานี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕

             ดูกรอานนท์ก็ข้ออื่นยังมีอยู่อีก ภิกษุก้าวล่วงอากาสานัญจายตนะ โดยประการทั้งปวง

บรรลุวิญญานัญจายตนฌาน ด้วยมนสิการว่า วิญญาณไม่มีที่สุดอยู่.

เธอพิจารณาธรรมเหล่านั้น คือเวทนา ซึ่งมีอยู่ในฌานนั้น ฯลฯ เพื่อละสังโยชน์.

อานนท์ ก็ข้ออื่นยังมีอยู่อีก ภิกษุก้าวล่วง วิญญานัญจายตนะ

บรรลุอากิญจัญญายตนะด้วยมนสิการว่า หน่อยหนึ่งย่อมไม่มีอยู่.

เธอพิจารณา เห็นธรรมเหล่านั้น คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

ซึ่งมีอยู่ในอรูปฌานนั้น โดยความ ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นความลำบาก เป็นไข้ เป็นอื่น

เป็นของทรุดโทรม เป็นของว่างเปล่า ไม่มีตัวตน.

เธอให้จิตดำเนินไปด้วยธรรมเหล่านั้น เธอ รั้นให้จิตดำเนินไปด้วยธรรมเหล่านั้นแล้ว

ย่อมน้อมจิตเข้าหาธรรมธาตุอันเป็นอมตะว่า นั่นมีอยู่ นั่นประณีต คือการสงบสังขารทั้งปวง

การสละคืนอุปธิทั้งปวง ตัณหักขยะ วิราคะ นิโรธ นิพพาน ดังนี้.

เธอตั้งอยู่ในอากิญจัญญายตนะนั้น ย่อมถึงการสิ้นอาสวะ ถ้าไม่ถึงการสิ้นอาสวะ จะเป็นโอปปาติกะปรินิพพานในที่นั้น

มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา เพราะสิ้นโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕

เพราะความเพลิดเพลินในธรรม เพราะความยินดีในธรรมนั้นนั่นแล.

ดูกรอานนท์ มรรคปฏิปทานี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕

             [๑๕๙] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้ามรรคนี้  ปฏิปทานี้  ย่อมเป็นไปเพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕

เมื่อเป็นอย่างนั้น เพราะเหตุไร ภิกษุบางพวกในพระศาสนานี้ จึงเป็นเจโตวิมุติ บางพวกเป็นปัญญาวิมุติเล่า.

             ดูกรอานนท์ ในเรื่องนี้ เรากล่าวความต่างกันแห่งอินทรีย์ ของภิกษุเหล่านั้น.

(อินทรย์ ๕ ในความหมายที่ตรงกับ พละ ๕ คือ ศรัทธา๑  วิริยะ๑  สติ๑  สมาธิ๑  ปัญญา๑  หรือก็คือจริตในการปฏิบัติเป็นข้อที่ทำให้เกิดการละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ แบบเจโตวิมุตติ หรือปัญญาวิมุตติ   การละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ หรือเฉพาะสังโยชน์ ๕ ข้อแรก  จึงเป็นผลที่เกิดขึ้นทั้งจากสัมมาฌาน และสัมมาญาณ(ปัญญา)ที่เกิดขึ้นแต่การประกอบการวิปัสสนาเป็นสำคัญ เพียงแต่อาจเน้นหนักไปในด้านใด  ฌานสมาธิล้วนๆไม่อาจยังให้ละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ได้ (ได้แค่เจโตวิมุตติที่ยังกลับกลายได้)  และในที่สุดแล้วสัมมาฌานหรือฌานชอบหรือสมาธิชอบ ที่หมายถึง สมถะสมาธิที่ปฏิบัติอย่างถูกต้องพร้อมการเจริญวิปัสสนาเหล่านี้ ที่เป็นเหตุปัจจัยอันหนึ่ง อันจักยังให้สิ้นโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕  ก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องปล่อยวางหรือละวางในเหล่าความสุข ความสงบ ฯ อันเกิดจากสัมมาฌานเหล่านั้นลงไป เพราะสุขสงบเหล่านี้นี่เองที่ยังให้เกิดรูปราคะในรูปฌาณ และอรูปราคะจากอรูปฌานติดตามหรือสั่งสมมาด้วยเป็นธรรมดา  พระอง์ท่านจึงจัดอยู่ในสังโยชน์ข้อที่ ๖ และ ๗ อันเป็น สังโยชน์เบื้องสูง (อุทธัมภาคิยสังโยชน์ ๕)ได้แก่ กิเลสผูกใจสัตว์อย่างละเอียด มี ๕ คือ ๖.รูปราคะ  ๗.อรูปราคะ  ๘.มานะ  ๙.อุทธัจจะ  ๑๐.อวิชชา  อันพึงต้องละด้วยปัญญาหรือสัมมาญาณเป็นสำคัญ หรือปัญญาวิมุตติเป็นที่สุดเท่านั้นนั่นเอง  อ่านรายละเอียดของสังโยชน์ได้ในบท สังโยชน์ )

             พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ท่านพระอานนท์มีใจยินดีชื่นชมพระภาษิต ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล.

จบ มหามาลุงโกฺยวาทสูตร ที่ ๔.