สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ พฤศจิกายน 21, 2022, 06:07:03 am



หัวข้อ: “อิติปิโส-รัตนมาลา” | อิติปิโส ๑๐๘ และ รหัสนัยทั้งปวง
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ พฤศจิกายน 21, 2022, 06:07:03 am
(https://www.matichonweekly.com/wp-content/uploads/2022/10/อิติปิโส-๑๐๘-และรหัสนัยทั้งปวง-696x365.jpg)



“อิติปิโส-รัตนมาลา” | อิติปิโส ๑๐๘ และ รหัสนัยทั้งปวง

แลเรื่องราวนี้ ที่เราจะมองย้อนไปใน “อิติปิโส-รัตนมาลา” ที่เป็นส่วนของอำนาจทางวัฒนธรรมที่ไม่ใช่แค่เพียงบทสวดของพระธรรม แต่เป็นซอฟต์เพาเวอร์ตัวใหม่ในชีวิตกึ่งพุทธกาลของเถรวาททั้งหลาย

แต่ก่อนหน้าจะไปถึงจุดนั้น การสืบค้นทักษะทางวัฒนธรรมที่เป็นเหมือนมรดกตกทอดจากเถรวาทกลุ่มนั้น ทำให้เราอดที่จะย้อนอดีตที่ผ่านมาเสียมิได้

โดยเฉพาะกรณีปราสาทนครวัด-นครธมที่ยุคหนึ่งเหมือนสูญหายไปจากมิติความทรงจำ กระทั่งถูกค้นพบอีกครั้งในศตวรรษที่ 19 และจากนั้นมา วิธีการที่จะกลับไปสู่การค้นหาสิ่งสูญหาย/บังบด ถูกนำไปต่อยอดรื้อฟื้นและค้นหาที่ส่วนใหญ่เกิดโดยนักวิจัยบารังสายเถรวาทอินโดจีนในกัมพูชา

และแม้ว่าสเกลนับตั้งแต่ค้นพบอาณาจักรยุคกลางของกัมพูชาจะเรียวเล็กลงมาก ทว่า ทั้งก่อนหลังการสิ้นยุคอินโดจีนที่นักวิจัยหลายคนของบารัง ยังคงฝักใฝ่ต่อการสำรวจเก่าแก่ที่ใกล้ตายหรือสูญหายไปของแคว้นนี้

ตัวอย่างกรณีผู้อำนวยการสำนักพุทธศาสนบัณฑิต-ซูซานน์ คาร์เปเลส ที่เชิญปราชญ์กวีเขมรคนสำคัญคือ “กรมงุย” มาร่ายบทกวีสดๆ ใส่ไมค์และบันทึกเสียงไว้ไม่นานก่อนที่กรมงุยจะสิ้นใจและเหลือไว้แต่กวีศิลป์ที่ยืนยาวมาถึงทุกวันนี้


(https://www.matichonweekly.com/wp-content/uploads/2022/10/อัญเจีย1-2003.jpg)


จากคาร์เปเลสถึงฟรองซัวส์ บิโซต์ ยุคที่กัมพูชาเติบกล้าด้วยตัวเอง นักวิจัยแห่งสำนักฝรั่งเศสปลายบูรพทิศประจำเสียมเรียบได้เริ่มต้นเป็นคาร์เปเลสคนที่ 2 เมื่อถูกส่งตัวหลังถูกทหารพลพตจับตัวแรมเดือนในป่าอัลลองแวงกลับกรุงพนมเปญ

บิโซต์ใช้เวลา 3 ปีกว่าที่นี่ ลงมือค้นหากรมงุยคนที่ 2 ที่ 3 ตามแบบซูซานน์ คาร์เปเลส และทำให้เราเห็นว่า ประเทศนี้ช่างรุ่มรวยไปด้วย “กวีปากเปล่า” (ปาถกกวี) ซึ่งเป็นเครื่องจดจำบันทึกไว้ในตัวบุคคล

ศาสตร์และศิลป์แขนงนี้ พวกบารังเห็นจะขาดแคลนและมองเป็นของแปลก ซึ่งที่จริงแล้วในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงหรือสุวรรณภูมิทั้งหมด เรามีปาถกกวีไปทุกสถานในหมู่ชาวเถรวาทซึ่งส่วนใหญ่มิใช่นักบวช แต่กลับเป็นชาวบ้านพื้นถิ่น ดังที่พบในอีสานและตอนเหนือของไทย รวมทั้งพม่ารามัญที่พบว่า การเล่าเรียนธรรมวาจกจากพระครูผู้สอนมีให้เห็นเป็นปกติ

นอกเหนือจากหมู่สงฆ์ที่เรียนจำพระไตรปิฎกด้วยวาจาแล้ว ดังนี้ การที่นายสวน จุน แห่งกัมพูชาจะจดจำบทพุทธคุณ-อิติปิโสฯ และจารเป็นยันต์ผ้าหรือใบลาน มิใช่เรื่องแปลก แต่เป็นการประกอบอักขระขอมโบราณให้เป็นศิลปะนั่นเอง

เพียงแต่ที่อาจารย์สวน จุน ทำมากกว่านั้น คือนำสิ่งที่ตนประดิษฐ์บ้างหรือร่ายเป็นคาถาบทบ้าง นำไปใช้ในการรักษาโรคและถือเป็นโอสถธรรม


(https://www.matichonweekly.com/wp-content/uploads/2022/10/อัญเจีย2-2003.jpg)

ต่อเรื่องราวของนักร่ายคาถาบทอิติปิโสในรูปอุบะรัตนมาลาโดยโลกครูสวน จุน ชาวเขมร ที่ฟรองซัวส์ บิโซต์ ชาวบารังรวบรวมนี้ อัญเจียฯ เคยเสนอไว้ตอนแรกแล้วในชื่อ “จากสหายดึจ-เขมรแดงถึงอิติปิโส ๑๐๘” (มติชนสุดสัปดาห์/14-20 ตุลาคม 2565)

ในตอนนั้น เราได้เกริ่นถึงอาจารย์ยู อุน ครูผู้ช่วยวิจัยด้านนี้ของบิโซต์ผู้เก็บสำเนาอิติปิโสฯ เกือบทั้งหมดที่คัดลอกจากหอสมุดแห่งชาติและอาจารย์ได้นำติดตัวเสมอ แม้แต่เมื่อทหารพลพตกวาดต้อนออกจากกรุงพนมเปญก็ตาม

คลาดกัน 2 วัน บิโซต์จึงออกตามหาครูอุน แต่ไม่ทันเสียแล้ว โลกครูได้ถูกขับออกจากบ้านไปเสียก่อน และนี่คือผู้ช่วยบิโซต์คนที่ 3 ที่สังเวยชีวิตแก่ระบอบเขมรแดง กระนั้น หลายสิบปีหรือเกือบครึ่งชีวิตทั้หมดของตน ฟรองซัวส์ บิโซต์ ยังคงรักษาการตามหากวีอิติปิโสฯ คนนั้น แม้ความตายจะมาพรากก็ตาม

ราวกับนักต่อจิ๊กซอว์ตัวร้าย ในพนมเปญที่วุ่นวายไปด้วยสภาพอันถูกปิดล้อมจากสงครามกลางเมือง แต่นักวิจัยบิโซต์กลับมีหมุดหมายที่จำตามหาสิ่งที่อาจจะสูญหาย หากเขาไม่สานต่อและถอดรหัสไว้

ดังที่การที่เขาหมกมุ่นอยู่กับกวีปากเปล่าและบทสวดอิติปิโสของเขาที่เปรียบเสมือนรัตนมาลาธรรมในใจ และนั่นคือสิ่งที่หล่อเลี้ยงเขาไว้ แต่โดยทั่วไปนักวิจัยมักจะไม่โรแมนติก กระนั้น ฉันก็คิดว่า ในระยะ 3-4 ปีที่เขาได้พบกับอาจารย์สวน จุน (โดยไม่ระบุว่าที่ใด) เป็นช่วงเวลาที่เขาน่าจะมีความสุข


(https://www.matichonweekly.com/wp-content/uploads/2022/10/อัญเจีย4-2003.jpg)

และนั่นก็ทำให้เขาผลักผู้ช่วย-ครูยู อุน ซึ่งรอบรู้ด้านบาลีให้คัดลอกใบลานและหนังสือนานาเกี่ยวกับคาถาบทที่หอสมุดแห่งชาติ แต่อนิจจา ครูอุนกลับหอบงานเหล่านั้นตอนถูกเขมรแดงขับไล่ไปทำนาและคงถึงแก่ชีวิต

กระนั้นรัตนมาลาธรรมที่มีบทอิติปิโสเป็นอุบะเรียงร้อยกันยังคงถูกตามหา โดยสารตั้งต้นแรกๆ อยู่ที่อาจารย์/โลกครูสวน จุน ปราชญ์ชาวบ้านฝ่ายกัมพูชา แต่เมื่อค้นคว้าต่อมาบิโซต์ได้อาศัยงานเขียนด้านนี้จากเอกสารของไทยที่ส่วนใหญ่เป็นบันทึกหลักฐานหาใช่ปราชญ์พื้นบ้านแบบเดียวกับกัมพูชา

แม้ว่าขณะนั้นในภาคอีสานของไทยจะเต็มไปด้วยผญาหรือกวีพื้นบ้าน ที่มีพรสวรรค์ด้านการสาธยายมนต์โคลงกลอนและบทพุทธคุณอีกนิทานชาดกสอนใจ

นับว่าโชคดีที่กัมพูชามีบิโซต์เป็นนักวิจัย และแม้จะมีกวีผญาเฉพาะด้านอิติปิโสฯ เพียงรายเดียวแต่ก็เพียงพอจะเป็นไปสำหรับสิ่งที่เรียกว่า “อุปสงค์-อุปทานอันวิเศษ” ที่นำพามาเจอกันระหว่างฟรองซัวส์ บิโซต์ กับสวน จุน และก่อให้เกิดเถรวาทศึกษาที่น่าทึ่ง


(https://www.matichonweekly.com/wp-content/uploads/2022/10/อัญเจีย3-2003.jpg)

สวน จุน เกิด พ.ศ.2446 อ.คีรีวงศ์ จ.ตาแก้ว เริ่มเล่าเรียนหนังสือจากพระครูฐี ดุน พระชาวกัมพูชาใต้ ซึ่งอาจเป็นกุศโลบายให้ศิษย์สนใจธรรมจึงกล่าวต่อเขาว่า “การสาธยายมนตราเท่านั้น ก็สามารถสังหารศัตรูได้”

และนั่นจึงให้จุนเมื่อกลับมาบ้านเกิดแล้ว เขากลับติดตามพระธุดงค์รูปหนึ่งซึ่งอยู่ในเขตสวายเรียง และนั่นเอง จุนได้รับการประสิทธิ์ประสาทมนตราอาคมบทหนึ่งอย่างลึกซึ้งในรูป “อุบะ” ที่สามารถแตกสารบบออกไปอย่างหลากหลายนานา และนั่นคือบทอิติปิโส-รัตนมาลา

เมื่อศึกษาจบแล้ว สวน จุน จึงเดินทางไปกำโปด ที่นี่ จุนได้กลายเป็นคนดังที่มีชื่อเสียงจนถูกเรียกขานว่า “ครูสเตาะ” (สเตาะ-เครื่องเป่า) ทว่า เครื่องเป่าของสวน จุน หาใช่เครื่องดนตรีไม่ แต่เป็นบทมนต์ที่เขาเป่าเสกและที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “อิติปิโสฯ” นั่นเอง

ในไม่ช้า ครูจุนก็กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโอสถยาโบราณที่ใช้ในการรักษาปัดเป่าโรคาพยาธิด้วยการท่องโศลกบทบาลีที่ว่า และการรักษาก็ได้ผลดีอย่างเหลือเชื่ออีกด้วย

@@@@@@@

อนึ่ง ความรอบรู้ของโลกครูสวน จุน ในบทอิติปิโสนี้ คือแรงบันดาลใจสูงสุด ทันทีที่เขาได้พบตัวจริง และฟังนักร่ายสวดอิติปิโสบทหนึ่ง กระนั้น บิโซต์น่าจะดึงเอารัตนมาลาในบทอิติปิโสฯ ฉบับไทยไปไว้บ้าง โดยเฉพาะจากอาจารย์เทพย์ สาริกบุตร เจ้าตำรามหายันต์ ๑๐๘ และอื่นๆ

แต่การที่บิโซต์เชิดชูฝ่ายเขมรอย่างมาก นอกจากเหตุผลส่วนตัวแล้ว ด้านหนึ่งคือลักษณะพิเศษขององค์ความรู้แขนงใหม่ในเถรวาทที่เรียกกันว่าปรีชาญาณ ที่น่าสนใจ คือกลวิธีร่ายบทอิติปิโสฯ จากกูรูผู้มีชีวิตซึ่งไม่ใช่แค่อักษรศิลป์อันพิสดาร

แต่มาจากการที่สวน จุน สามารถจดจำพระสูตรอย่างแม่นยำ ซ้ำการถ่ายทอดที่เหนือความคาดหมายจนสัมผัสได้ถึงความปราดเปรื่องว่องไวเหล่านั้น การทำให้บท “อิติปิโสฯ” ซึ่งเป็นเหมือนอักขระโบราณกลับมามีชีวิตเหล่านี้ นับเป็นลักษณะของอรรถรสที่พบในศาสตร์ฮินดูและทิเบตโดยคุรุปรีชาญาณ

โดยเฉพาะสำหรับชาวเถรวาทแล้ว เราแทบจะนึกไม่ออกเทียวว่า ยังมีบทอิติปิโสในแบบอนุโลม แบบปฏิโลม-ปฏิพัทธ์ และแบบอื่นซึ่งยากแก่จินตนาการ และทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับการลำนำของกวีพื้นบ้านและเป็นศาสตร์-ศิลป์ที่น่าทึ่ง

จึงไม่แปลก ที่บิโซต์/ฮินูบา ร์จะอุทิศ “อิติปิโส-รัตนมาลา” ให้แก่อาจารย์สวน จุน ซึ่งเป็นเสมือนต้นทางอันยากเข็ญแห่งความเป็นนักวิจัยในสายเถรวาทวิทยาของตน และสำหรับชาวชนผู้หลงรักอิติปิโส ๑๐๘ ในรูปแบบอักขระขอมที่รอการพิสูจน์





ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4 - 10 พฤศจิกายน 2565
คอลัมน์ : อัญเจียแขฺมร์
ผู้เขียน   : อภิญญา ตะวันออก
เผยแพร่ : วันพฤหัสที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2565
URL : https://www.matichonweekly.com/column/article_621280 (https://www.matichonweekly.com/column/article_621280)
ชื่อบทความเดิม คือ อิติปิโส ๑๐๘ และรหัสนัยทั้งปวง


หัวข้อ: โอ “รัตนามาลา-อิติปิโส” ฉบับเขมร และ “อนิจจา ๑๐๘”
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ พฤศจิกายน 21, 2022, 07:04:33 am

(https://www.matichonweekly.com/wp-content/uploads/2022/10/อัญเจีย-3-copy-696x480.jpg)



จาก สหายดึจ-เขมรแดง ถึง อิติปิโส ๑๐๘

สาเธียรณะ ที่เขมรแปลว่า มหาชน ฉันเองก็เพิ่งรู้หมาดๆ ว่า ไฉนไยต้อง “อิติปิโสรัตนมาลา” หรือ “อิติปิโส ๑๐๘“.? แลเพิ่มความกังวล-วนไปอีกว่า ทำไม-เราสองประเทศ “เขมร-ไทย” จึงมีความวนไปในเถรวาทกันมากเกิน ซึ่งมันอาจทำให้เราขุ่นเคืองกัน.!

ลำพังแค่เรื่องวัฒนธรรม ระบุงระบำบุราณนานมา เรียมเกร์-รามเกียรติ์ อะไรนานารวมทั้งหมัดมวยนั่น เราก็เหนื่อยกันมาก.! มา อิติปิโส ๑๐๘ เข้าไปอีก ให้ตายเถอะ รอบนี้มีหรือจะรอด.? ต่อให้เป็นอุบะ “รัตนมาลัย” หรือพวงอุบะธรรม.? อันมีที่มาจาก “อิติปิโส” ก็ตาม เกรงว่าจะเป็นปัญหา ๑๐๘.? มหาชน โปรดรู้กันเถิดว่า เราต่างมีบุพกรรมร่วมกัน


(https://www.matichonweekly.com/wp-content/uploads/2022/10/อัญเจีย-2.jpg)


ข้าแต่ศาลแห่งนั้นซึ่งพิจารณาคดี 001 ของอดีตผู้นำเขมรแดง และในฐานะโจทก์ผู้ตกเป็นเหยื่อของจำเลย แม้ในวันนั้นเขาจะให้การในฐานะของพยานก็ตาม ในเมษายน 2009 ที่ฟรองซัวส์ บิโซต์ ขณะอายุ 69 ขึ้นให้การต่อศาล ณ ห้องพิจารณาคดีรูปไข่ ชานกรุงพนมเปญ

และแล้วในปี 2022 ขณะที่ศาลแห่งนี้กำลังจะปิดตัวลง เรากลับย้อนรำลึกเห็นถึงวาระอันจำเป็นแห่งการเป็นพยานของบิโซต์ครั้งนั้น ราวกับใคร่ควรสำนึกว่า ศาลเขมรแดงที่ใช้เวลา 16 ปีไปกับการไต่สวนผู้นำเขมรแดงใน 2 คดี

ตั้งแต่งบฯ ต้นและบริจาค 2 หมื่นล้านบาท ถึงวันนี้ คดี 001 ของกัง เก็ก เอียว หรือดึจ-อดีตผู้คุมนักโทษคุกโตลสแลง (เอส 21) ที่ตกเป็นจำเลยและถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตจากความผิดทารุณกรรมและฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มนุษยชาติ และดึจเองซึ่งเต็มไปด้วยตราบาป

เว้นแต่เรื่องของเขากับเหยื่อ/พยาน ฟรองซัวส์ บิโซต์ ซึ่งถูกชำระสะสางในแง่งามไปกับกาลเวลา และ 1 ในนั้น คือที่มา “อิติปิโสรัตนมาลา-อิติปิโส ๑๐๘” ในสิ่งที่ฉัน…บังเอิญพบพา


(https://www.matichonweekly.com/wp-content/uploads/2022/10/อัญเจีย-1.jpg)

กระนั้น ฉันก็อยากขอบคุณ-ดึจ ที่เขาไม่พลาดพลั้ง สังหารบิโซต์ไปเสียแต่ครั้งนั้น ในเดือนตุลาคม/1971 ขณะที่ฟรองซัวส์ บิโซต์ ออกพื้นที่วิจัยกับผู้ช่วยเขมรของเขาอีก 2 นาย เขาถูกจับตัวบริเวณชายป่าเขตเมืองพระนคร/เสียมเรียบ

ทหารป่า/กองทัพปลดแอกประชาชนได้นำชาวฝรั่งเศสคนนั้นไปยังเขตปลดแอก (เขมรแดงยึดครอง) ซึ่งเรียกกันว่าชมรมอัลลองแวงหรือแคมป์ M.13 ที่นั่น บิโซต์ถูกยัดเยียดว่าเป็นซีไอเอ-ศัตรูตัวร้ายของระบอบเขมรแดง เขาถูกคาดคั้นสอบสวนโดยบางครั้งก็ทารุณจากกรรมภิบาลเขมรแดงคนหนึ่ง

ซึ่งต่อมาอีกหลายสิบปีทีเดียว กว่าบิโซต์จะรู้ว่า นั่นคือดึจ-คนที่จะทำให้เขาเรียนรู้กับภาวะที่เหนือการควบคุมรวมทั้งประเทศกัมพูชาเวลานั้น สำหรับภาวะสงครามกลางเมือง

ฟรองซัวส์ บิโซต์ ในฐานะเจ้าหน้าที่วิจัยและนักมานุษยวิทยาแห่งสำนักฝรั่งเศสปลายบุรพทิศ ซึ่งในที่สุดเขาก็ถูกปล่อยตัวจากชมรมอัลลองแวง บิโซต์หอบลูกสาววัย 3 ขวบกับภรรยาชาวเขมรกลับสู่พนมเปญและทำงานที่นั่นจนวันสุดท้ายที่ต่างชาติทุกคนต้องอพยพออกจากประเทศนี้

กระทั่งในปี 2003 ที่เขาหวนกลับแคมโบเดียอีกครา และนั่น บิโซต์ได้พบกับดึจ ระหว่างรอขึ้นศาลเขมรแดง ใครเลยจะนึกว่า การกลับมาเจอกันครั้งนี้ คนที่เป็นฝ่ายวิจัยกลับเป็นฟรองซัวส์ บิโซต์ หาใช่กัง เก็ก เอียว ไม่ , และมันได้กลายเป็นความสัมพันธ์อันงอกงาม

@@@@@@@

บิโซต์ได้ใช้เวลาระหว่างนั้นเขียนบันทึกชื่อ “เดอะเกท” (2003) ที่ต่อมาถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ที่เล่าถึงการถูกจับตัวที่เสียมเรียบและพบกับสหายดึจ (ดู Behind The Gate/2014)

และในอีกด้านหนึ่งของชีวิตกัง เก็ก เอียว อดีตครูสอนคณิตศาสตร์ผู้กลายเป็นพัศดีในสมัยเขมรแดง ก่อนถูกจับกุมเพื่อรอขึ้นศาลนั้น ดึจได้เปลี่ยน “อัตตจริต” ตนเองหลายอย่าง รวมทั้งการ “เข้ารีต” เปลี่ยนมาเชื่อพระเจ้า

และในเมษายน 2009 นั้น กัง เก็ก เอียว (66) ได้พบกับบิโซต์อีกครั้งในห้องพิจารณาคดีที่พวกเขาไม่อาจจะแม้แต่ทักทายกัน และนั่นเป็นครั้งสุดท้าย สหายดึจได้จบชีวิตในเรือนจำขณะอายุ 77 ปี ขณะที่บิโซต์เข้าสู่ปัจฉิมวัย (69) เห็นได้ว่า พวกเขาผ่านพ้นความเปราะบางอ่อนไหวที่กลายเป็นอดีตใดๆ ข้อเท็จจริงบางอย่างได้แห้งเหือดไปสิ้นกับความเจ็บปวดนั้นแล้ว

แม้แต่การเผชิญหน้าครั้งนี้ จะไม่มีถ้อยคำใดที่จะกล่าวถึงต่อกันได้ หรือนี่คือบุพกรรมดลใจ ที่ทำให้ฟรองซัวส์ บิโซต์ พบกับงานวิจัยชิ้นใหม่ที่เขาตั้งชื่อไว้เบื้องต้นว่า “ธรรมรัตนมาลา” งานวิจัยว่าด้วย “อิติปิโส” ทั้งภาคของธรรมคาถาและเวทไสยศาสตร์ หรือเราควรจะขอบคุณสหายดึจ ที่ปล่อยตัวนักวิจัยคนนี้ จากชมรมอัลลองแวงและทำให้เขาต้องกลับมาทำงานเชิงเอกสารที่สำนักงานพนมเปญ


(https://www.matichonweekly.com/wp-content/uploads/2022/10/อัญเจีย-3.jpg)

ฉันคิดว่า ฉันควรจะขอบคุณ อิติปิโสฯ ฉบับสัตยา นรายัน โกเอ็นก้า ในฐานะที่บทธรรมโศลกของท่าน ซึ่งมีคำว่า “อิติปิโสฯ” อยู่นั้น ได้สร้างความรู้สึก “ร่วมสมัย” และก่อความรำเพิบเอิบอาบใจในการไปสู่เนื้อหาอื่นใดในคำว่าอิติปิโสแบบตำรับอื่นๆ

เช่นเดียวกัน แม้ที่มาอิติปิโสฯ ฉบับบิโซต์จะลือลั่นในทางตรงข้ามกับความปีติ โดยเมื่อคิดว่าต้องแลกกับชีวิตของนักวิจัยผู้ช่วยของเขาไปกับสงครามกลางเมืองทั้งนครเสียมเรียบและโดยเฉพาะกรุงพนมเปญที่เขาปักหลักทดลองแปลพระสูตรภาษาบาลีโดยมีอาจารย์เขมรเป็นผู้ช่วยนั้น

ตลอด 3 ปีเศษแห่งเวลาอันเหลือเชื่อที่ฟรองซัวส์ บิโซต์ มีสมาธิกับงานวิจัยชิ้นนี้ ที่เริ่มจากการแปลพระสูตรและธรรมคาถาอิติปิโสฯ จากความทรงจำชาวเขมรชราซึ่งเคยเป็นบรมครูของตน

กระทั่งในปี 1993 “อิติปิโสรัตนามาลา” ที่บิโซต์กับ ศ. Oskar von Hin?ber ผู้เชี่ยวชาญวรรณกรรมพระไตรปิฎกและภาษาบาลีซึ่งร่วมแปลวิจัย ผลงานชิ้นนี้จึงสำเร็จ และเป็นผลงานเถรวาทอีกชิ้นหนึ่ของฝ่ายเขมรที่ผ่านความยากลำบากอุปสรรคทั้งจากสงครามและที่สำคัญ กล่าวคือ ยากจะเชื่อว่า เป็นงานที่เกิดขึ้นโดยนักวิจัยตะวันตกซึ่งมีรากเหง้าจากคาทอลิก

ผลงานชิ้นนี้ ทำให้ม่านตาของฉันซึ่งกำลังหรุบโรย ขยายกว้างอย่างเล็กน้อยในหลายปีที่ขาดความสนใจในมนตราพระสูตร กว่าจะมีวาสนาพบพานกับ อิติปิโส ๑๐๘ ก็ผลาญเวลาไปกว่าค่อนชีวิตกับเรื่อง ๑๐๘ นานา กระทั่งถึงวัยพบพานกับอิติปิโสฯ ร่วมสมัยฉบับต่างๆ ดังที่กล่าวข้างต้น กระทั่งเวียนกลับมาบรรจบอย่างงงๆ กับอิติปิโสฉบับแขมร์ ที่เขียนโดย บารังและเยอรมันฉบับนี้


(https://www.matichonweekly.com/wp-content/uploads/2022/10/อัญเจีย-4-1536x1017.jpg)


โดยเพื่อขยายเนื้อความปลายทางฉบับนี้ สำหรับต้นทุนรอบด้านและแรงบันดาลใจของนักวิจัยยุโรป ซึ่งบิโซต์เขียนอรัมกถาเพื่ออุทิศแด่ครูบาของตน

คนหนึ่ง คือ ผู้ที่ทำให้เขาได้รู้จักกับบทสวดบาลีอิติปิโส ที่เกิดจากครูคนแรกของตน ที่ทำให้เขาเกิดความประทับใจในบทพุทธคุณนี้ และอาจารย์อีกท่านซึ่งเป็นโลกครูคนที่ 2 นามว่า ครูยู อุน ครูสอนภาษาบาลีที่ทำหน้าที่ตรวจคำดูแลในการแปลงานของเขาโดยเฉพาะการ “ถอดสหัสนัย” “อิติปิโส ๑๐๘” ที่ซับซ้อน ตลอดจนการไปคัดลอกและค้นคว้าเพิ่มเติมจากหอสมุดแห่งชาติหรือบรรณาลัย

โดยการคัดลอกสำเนา “ธรรมคาถา” ที่เต็มไปด้วยปริศนาธรรมของครูยู อุน นี้ เข้าใจว่า ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดคัดลอกไว้ด้วยลายมือ ไม่เพียงเท่านั้น ในส่วนสำนวนแก้ไขที่เป็นภาษาเขมรทั้หมดนั้นด้วยที่ควรกล่าวว่า-น่าเสียดาย โดยหลังวันที่ทหารเขมรแดงได้ยึดกรุงพนมเปญและ กวาดต้อนประชาชนออกจากเมืองทั้งหมดในวันที่ 17 เมษายน 1975 ที่สร้างความแตกตื่นไปทั่วกรุงพนมเปญ

หลังจากเหตุนั้นราว 2-3 วัน ฟรองซัวส์ บิโซต์ ได้ออกมาตามหาอาจารย์ยู อุน ที่บ้านพักทางด้านใต้ของโอลิมปิกสเตเดี้ยม แต่น่าเสียดาย ครูยู อุน ได้ถูกบังคับให้ออกจากกรุงพนมเปญไปเช่นเดียวกับคนอื่นๆ ซึ่งการจากไปครั้งนั้น อาจารย์ยู อุน ด้วยความหวงแหน จึงหอบตำราอิติปิโสบาลีฉบับที่ตนคัดลอกไปด้วย

โอ “รัตนามาลา-อิติปิโส” ฉบับเขมร และ “อนิจจา ๑๐๘”


(https://www.matichonweekly.com/wp-content/uploads/2022/10/อัญเจีย-9-1536x1158.jpg)


(https://www.matichonweekly.com/wp-content/uploads/2022/10/อัญเจีย-8-1536x1152.jpg)


(https://www.matichonweekly.com/wp-content/uploads/2022/10/อัญเจีย-7.jpg)


(https://www.matichonweekly.com/wp-content/uploads/2022/10/อัญเจีย-6-1536x1038.jpg)


(https://www.matichonweekly.com/wp-content/uploads/2022/10/อัญเจีย-5-1536x1019.jpg)




ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 ตุลาคม 2565
คอลัมน์ : อัญเจียแขฺมร์
ผู้เขียน : อภิญญา ตะวันออก
เผยแพร่ : วันพฤหัสที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2565
URL : https://www.matichonweekly.com/column/article_613137 (https://www.matichonweekly.com/column/article_613137)