ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: พุทธศาสนา..กับ..ในหลวงรัชกาลที่ 9  (อ่าน 278 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28439
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
พุทธศาสนา..กับ..ในหลวงรัชกาลที่ 9
« เมื่อ: ธันวาคม 05, 2022, 07:08:41 am »
0



พุทธศาสนา..กับ..ในหลวงรัชกาลที่ 9 (ตอนหนึ่ง)

ในหลวงรัชกาลที่ 9 กับพุทธศาสนา ถือเป็นหนึ่งเดียวตลอดรัชสมัยของพระองค์!

เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2489 สองเดือนเศษหลัง ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้ทรงแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะต่อหน้าสังฆมณฑล ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน

22 ตุลาคม 2494 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงปฏิบัติตามโบราณราชประเพณี ด้วยการเสด็จทรงออกผนวช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระองค์ทรงรับการบรรพชาเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนา ได้รับสมณนามจากพระอุปัชฌาย์จารว่า “ภูมิพโลภิกขุ” จากนั้นเสด็จประทับ ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศ โดยพระองค์ทรงปฏิบัติพระธรรมวินัย ตามแบบอย่างพระภิกษุโดยเคร่งครัด

สมเด็จพระญาณสังวรในฐานะพระพี่เลี้ยง ได้เล่าถึงพระราชจริยาวัตรของในหลวงรัชกาลที่ 9 ขณะทรงผนวชไว้ในหนังสือ “ในหลวงของเรา” ว่า


@@@@@@@

“..สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ได้มอบหมายให้เป็นพระพี่เลี้ยง.. จากการที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ได้มีความรู้สึกว่า พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะได้ทรงพระผนวชตามราชประเพณีเพียงอย่างเดียวเท่านั้นหามิได้ แต่ทรงพระผนวชด้วยพระราชศรัทธา ที่ตั้งมั่นในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง มิได้เป็นบุคคลจำพวกที่เรียกว่า “หัวใหม่” ไม่เห็นศาสนาเป็นสำคัญ แต่ได้ทรงเห็นคุณค่าของพระศาสนา ฉะนั้น ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาสามัญก็กล่าวได้ว่า “บวชด้วยศรัทธา” เพราะพระองค์ทรงผนวชด้วยพระราชศรัทธา ประกอบด้วยพระปัญญา และได้ทรงปฏิบัติพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด.. ตัวอย่างเช่น เมื่อเสด็จฯ ไปทั้งในวัดและนอกวัดไม่ทรงสวมฉลองพระบาท เสด็จไปด้วยพระบาทเปล่าทุกแห่ง ได้ทรงปฏิบัติกิจวัตรต่างๆอย่างสมบูรณ์ และทรงรักษาเวลามาก เมื่อตีระฆังลงโบสถ์ในวันปกติทุกเช้าเย็น เวลา 8.00 น. และ เวลา 17.00 น. ก็จะเสด็จลงโบสถ์ทันที ทำให้พระภิกษุสามเณรทั้งวัดพากันรักษาเวลาอย่างเคร่งครัด โดยที่ได้ไปประชุมกันในโบสถ์ก่อนเวลาที่จะเสด็จฯ ถึง..”

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงผนวชครานั้น ไม่เพียงแต่พุทธศาสนิกชนชาวไทย จะยินดีในพระราชกุศลกันอย่างทั่วหน้าเท่านั้น นานาอารยประเทศต่างได้ร่วมอนุโมทนาบุญด้วย โดยสำนักข่าวต่างประเทศได้เผยแพร่ข่าวไปทั่วโลก รัฐบาลพม่าซึ่งประชาชนนับถือศาสนาพุทธเช่นเดียวกับไทย ได้จัดเครื่องสมณบริขารมาทูลเกล้าฯถวายด้วย และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย ก็ได้เข้าเฝ้าพระภิกษุ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ถึงวัดบวรฯ และได้กราบบังคมทูลด้วยถ้อยคำอันน่าประทับใจว่า

“ความรู้สึกปีติโสมนัส ในโอกาสที่พระมหากษัตริย์ไทยเสด็จออกผนวชในครั้งนี้ มิได้มีเฉพาะในหมู่ชาวไทยเท่านั้น หากแต่ชาวอินเดียทั่วประเทศ ก็พากันปีติโสมนัส เพราะการทรงผนวชนี้เป็นการเจริญธรรมของผู้ปกครองแผ่นดินอย่างสมบูรณ์ ตามแบบอย่างของชาติเอเชียทั้งมวล.. การทรงผนวชครั้งนี้ พระองค์ได้ทรงปฏิบัติพระราชกิจของธรรมิกราช เช่นเดียวกับพระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงปฏิบัติมาแล้วในอดีต ซึ่งจะเป็นเครื่องยืนยันว่า พระพุทธศาสนาสำหรับชาวเอเชีย จะสดใสยืนยงไปอีกชั่วกาลนาน..”

@@@@@@@

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงอุปสมบทนาคหลวงมาตลอด โดยเริ่มปีแรกเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2489ได้เสด็จฯพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มี หม่อมเจ้าสุนทรากร วรวรรณ หม่อมเจ้าอาชวดิศ ดิศกุล หม่อมราชวงศ์ยันตเทพ เทวกุล และ นายเสมอ จิตรพันธ์ เป็นนาคหลวง

ซึ่งในปีต่อๆมา ได้ทรงกำหนดให้เป็นพระราชพิธีพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ บรรพชาอุปสมบทนาคหลวงเป็นประเพณีตลอดรัชกาล ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ไปในพระราชพิธีด้วยพระองค์เองเป็นประจำ หากปีใดเสด็จฯไม่ได้ ก็จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จแทนพระองค์

นอกจากนี้ยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ในหลวงรัชกาลที่ 10) ทรงผนวชในพระพุทธศาสนาตามพระราชประเพณีอีกด้วย นับเป็นการส่งเสริมความเชื่อ ค่านิยมและประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของพุทธศาสนา ที่เป็นมรดกของชาติสืบกันมาแต่โบราณ ให้พุทธศาสนิกชนเห็นคุณค่าอนันต์ อีกทั้งร่วมกันอนุรักษ์และจรรโลงให้รุ่งเรืองสืบไป

ในวันสำคัญทางพุทธศาสนา ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอย่างสม่ำเสมอ ทั้งเป็นการส่วนพระองค์ และตามพระราชประเพณี เช่น ทรงพระราชกุศลทรงบาตรในพระราชนิเวศน์ เสด็จถวายผ้าพระกฐินส่วนพระองค์ และที่เป็นพระราชพิธีตามบูรพขัตติยประเพณี เช่น ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในวันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา เป็นต้น


@@@@@@@

นอกจากนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 ยังเสด็จฯไปในงานพิธีทางศาสนา ที่ประชาชนและทางราชการจัดขึ้นในที่ต่างๆมิได้ขาด อีกทั้งยังทรงสร้างพระพุทธรูปขึ้น ในโอกาสสำคัญเป็นจำนวนมาก อาทิ พระพุทธรูปปางประทานพร ภปร. พระหลวงพ่อจิตรลดา พระพุทธรูปนวราชบพิตร พระพุทธรูปปฏิมาชัยวัฒน์ ประจำรัชกาล เหรียญพระชัยหลังช้าง ฯลฯ พระพุทธรูปเหล่านี้ได้พระราชทานไปตามหน่วยงานต่างๆของรัฐ วัดวาอาราม ตลอดจนสถานที่สำคัญต่างๆทั่วประเทศอีกด้วย

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ยังทรงเป็นเลิศ ในการนำธรรมะมาผสมผสานใช้อย่างกลมกลืน กับพระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่ผู้เข้าเฝ้าในวโรกาสต่างๆ เช่น พระบรมราโชวาทในเรื่องคุณธรรมว่า

“การจะทำงานให้สัมฤทธิ์ผลตามความปรารถนา คือ ที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรมด้วยนั้น จะอาศัยความรู้เป็นอย่างเดียวมิได้ จำเป็นต้องอาศัยความสุจริต ความบริสุทธิ์ใจ และความถูกต้องเป็นธรรมประกอบด้วย เพราะเหตุว่าความรู้นั้นเป็นเหมือนเครื่องยนต์ ที่จะทำให้ยวดยานขับเคลื่อนไปได้ประการเดียว ส่วนคุณธรรม..เป็นเหมือนพวงมาลัยและหางเสือ ซึ่งเป็นปัจจัยที่นำพาให้ยวดยานดำเนินไปถูกทางด้วยความสวัสดี คือ ปลอดภัยจนบรรลุถึงจุดหมายที่พึงประสงค์ ดังนั้น การที่ประกอบการงานเพื่อตนเพื่อส่วนรวมต่อไป ขอให้ทุกคนสำนึกไว้เป็นนิตย์ โดยตระหนักว่า งานสังคมและบ้านเมืองนั้น ถ้าขาดผู้มีความรู้เป็นผู้บริหารดำเนินการ ย่อมเจริญก้าวหน้าไปได้ยาก แต่ถ้างานใดสังคมใดและบ้านเมืองใดก็ตาม ขาดบุคคลผู้มีคุณธรรมความสุจริตแล้ว จะดำรงอยู่มิได้เลย..”

(พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตของมหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2520)

@@@@@@@

เรื่องเกี่ยวกับพุทธศาสนาและพระสงฆ์นั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสมากมาย เช่น

“...การทำนุบำรุงและส่งเสริมพระศาสนานั้น ไม่มีทางใดจะดีจะสำคัญ ยิ่งไปกว่าการธำรงรักษาความบริสุทธิ์บริบูรณ์ของพระธรรมวินัย ทั้งในด้านปริยัติและในด้านปฏิบัติ การส่งเสริมศีลธรรมจรรยาของประชาชน ควรคำนึงถึงพื้นฐาน ความรู้ จิตใจ และอัธยาศัยของบุคคลแต่ละหมู่เหล่าเป็นพิเศษ ต้องฉลาดเลือกข้อธรรมะที่เหมาะสมแก่พื้นฐานดังกล่าว และที่จะช่วยให้เขาได้รับประโยชน์จริงๆ นำมาอธิบายแนะนำให้ปฏิบัติ เพื่อผลที่ได้รับนั้นจะทำให้เขาบังเกิดศรัทธาและพอใจในความดี และน้อมนำมาปฏิบัติให้ยิ่งขึ้นหนักขึ้นด้วยตนเอง ส่วนการรับใช้พระสงฆ์นั้น ขอให้ถือหลักว่า การรับใช้ช่วยเหลือสมณสารูปได้ เป็นจุดหมายสำคัญที่แท้จริง สำหรับพุทธมามกชนจะพึงกระทำถวายพระภิกษุสงฆ์..”

(พระบรมราโชวาทพระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในการเปิดประชุมของสมาคมพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2526)

ยังมี พระบรมราโชวาทอันล้ำค่าของ ในหลวงรัชกาลที่ 9 อีกมากมาย ผมจะนำมาให้อ่านต่อในฉบับหน้า เพื่อรัฐบาล “บิ๊กตู่” กับชาวพุทธทั้งหลาย จะได้น้อมนำมาปฏิบัติ ช่วยกันขจัด “พุทธปลอม-พระปลอม-มารศาสนาสารพัดรูปแบบ” ที่เป็นภัยร้ายแรงต่อพุทธศาสนา มิให้ลอยนวลต่อไป..





Thank to : https://mgronline.com/daily/detail/9590000127594
“สอดแนมการเมือง” โดย “ชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัย”
เผยแพร่ : 23 ธ.ค. 2559 12:23 , โดย : MGR Online
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28439
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: พุทธศาสนา..กับ..ในหลวงรัชกาลที่ 9
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: ธันวาคม 06, 2022, 06:36:22 am »
0




พุทธศาสนา..กับ..ในหลวงรัชกาลที่ 9 (ตอนสอง)

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเดินบนเส้นทางธรรมของพระพุทธเจ้าด้วยใจอันมั่นคงแน่วแน่!

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระบรมราโชวาท พระราชทานให้ไปอ่านในพิธีเปิดประชุมสมาคมพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักร ครั้งที่ 39 เรื่อง “พระพุทธศาสนาในสังคมยุคโลกาภิวัฒน์” ณ หอประชุมพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม วันศุกร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2538 ความตอนหนึ่งว่า

“..อยากจะให้ทุกฝ่ายทุกคนคิดให้เห็นตามเป็นจริงว่า ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมแปรเปลี่ยนไปเป็นธรรมดาสังคมก็เช่นเดียวกัน ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามวิวัฒนาการของโลก ข้อนี้จึงไม่ควรวิตกให้มากเกินไป..

..ท่านทั้งหลายจะต้องไม่ลืมว่า พระพุทธศาสนานั้น ถ้าหมายถึง คำสั่งสอนที่เที่ยงตรงตามพุทโธวาทแท้ๆ แล้ว ย่อมมีความแน่นอนมั่นคงอยู่ในตัว เช่น ความดีก็เป็นความดี ความชั่วก็เป็นความชั่ว และ ทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว อย่างปราศจากข้อสงสัย

เหตุนี้ พระธรรมจึงชื่อว่า อกาลิโก คือ ถูกต้องเที่ยงแท้และไม่ประกอบด้วยกาล เหมาะที่จะน้อมนำมาประพฤติปฏิบัติเสมอ ไม่ว่าในกาลไหนๆ ข้อสำคัญ ชาวพุทธจะต้องขวนขวายศึกษาพุทธธรรมให้ทราบชัด และน้อมนำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง ด้วยความพยายามลดละความโลภ ความโกรธ ความหลง อันเป็นต้นเหตุแห่งการกระทำชั่วกระทำผิด และกล้าที่จะบากบั่นกระทำสิ่งที่เป็นความดี โดยไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นสิ่งที่พ้นสมัยหรือน่ากระดากอาย

ถ้าชาวพุทธทำได้ดังนี้ ก็จะเป็นเหตุเกื้อกูลอย่างสำคัญ ที่จะช่วยจรรโลงรักษาพระพุทธศาสนา ไว้ให้มั่นคงในทุกสถานะและในกาลทุกเมื่อ”


@@@@@@@

พระบรมราโชวาทอีกองค์หนึ่งของ ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานแก่คณะผู้แทนพุทธสมาคมทั่วประเทศ ที่เข้าเฝ้าในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิตดาลัย เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2523 ข้อความตอนหนึ่งว่า

“..เหตุนี้ การที่พระพุทธศาสนาหรือพระพุทธเจ้าให้เราศึกษา ก็คือ ศึกษาให้เห็นว่าทุกข์นั้นมันมาจากไหน ให้รู้ว่าทุกข์เป็นอย่างไร เป็นอะไร แล้วก็ทุกข์มาจากไหน จะเห็นว่า มีทุกข์ก็ต้องมีการไม่ทุกข์ได้ เมื่อมีการไม่ทุกข์ ก็มีการหมดทุกข์ได้ มีการหมดทุกข์ได้แล้ว ก็เห็นได้ว่ามีทางจะหมดทุกข์ อันนี้ท่านก็เรียกว่า อริยสัจ ฉะนั้นการศึกษาพระพุทธศาสนา ก็คือ การศึกษาอริยสัจนั้นเอง..

..พุทธศาสนานี้เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องสนใจ เป็นสิ่งที่ทุกคนจะได้ประโยชน์ถ้าเข้าใจในทางที่ถูก และเป็น “สิ่งที่ไม่ยากที่จะปฏิบัติ” ..ถ้าท่านทั้งหลายมาแล้วก็รู้ว่า ทุกคนรู้ว่าง่าย แล้วรู้จริง ไม่ใช่รู้เก๋ๆเฉยๆ รู้จริงว่าง่าย บอกว่าสวัสดีเท่านั้นเองก็พอ ไม่ต้องมานั่งมายืนให้เมื่อย ไม่ต้องมาพูดให้คอแห้งเปล่าๆ ก็เพียงว่าสวัสดี เพียงว่าปฏิบัติดีชอบก็พอ แต่มันยากที่ว่าไม่เห็นว่าง่าย..

..ความจริงไม่ใช่ทฤษฎีแหวกแนวอะไร เป็นส่วนหนึ่งของการสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแท้ๆ ไม่ใช่สิ่งที่คิดค้นขึ้นมาโดยไม่มีหลักฐาน..”

@@@@@@@

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ยังทรงพระราชทานพระบรมราโชวาท เพื่ออัญเชิญไปอ่านในพิธีเปิดการประชุม สมาคมพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักร ครั้งที่ 40 เรื่อง “พระพุทธศาสนากับภาวะวิกฤตของสังคมไทย” ณ วัดพระยายัง กรุงเทพมหานคร วันเสาร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ.2541 ว่า

“..ธรรมะในพระพุทธศาสนานั้นบริบูรณ์ด้วยสัจธรรม ที่เป็นสาระและเป็นประโยชน์ในทุกระดับ ซึ่งบุคคลสามารถจะศึกษาและปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ คือ ความเจริญผาสุกแก่ตนได้อย่างแท้จริง กล่าวคือ ผู้ปฏิบัติธรรมย่อมจะมีชีวิตและกิจการงาน ที่ประกอบด้วยความสว่าง สะอาด และสงบ

ที่ว่า “สว่าง” นั้นคือ มีปัญญา รู้เหตุรู้ผล รู้ผิดชอบชั่วดีโดยกระจ่างชัด ที่ว่า “สะอาด” นั้นคือ ไม่มีความทุจริตทั้งกาย วาจา ใจ มาเกลือกกลั้ว เพราะเห็นจริงชัดในกุศลและอกุศล ที่ว่า “สงบ” นั้นคือ เมื่อไม่ประพฤติทุจริตทุกๆทางแล้ว ความเดือดร้อนจากบาปทุจริตก็ไม่มาแผ้วพาน

คนที่ประพฤติตนและปฏิบัติงานโดยตั้งอยู่ในธรรมอย่างเคร่งครัด จึงเป็นผู้มีปรกติสุขอยู่ร่มเย็น ไม่ทำความเดือดร้อนให้แก่ตนเอง แก่ผู้อื่นและสังคมส่วนรวม..”


@@@@@@@

พระราชดำรัส ในหลวงรัชกาลที่ 9 คราครั้ง พระครูใบฎีกาเล็ก ญานุตตโร และคณะ เข้าเฝ้าถวายเงินและต้นเทียนพรรษา ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2525 ถึง“ศีล”กับ“สมาธิ”ตอนหนึ่งว่า

“..ท่านสอนว่า มีศีล สมาธิ ปัญญา “ศีล” ก็หมายความว่า เราต้องระวังตัวไม่ให้ทำอะไรที่ผิดไป เป็นกฎเกณฑ์ที่ท่านวางเอาไว้..

..ศีลนั้นน่ะเหมือน “กรง” เราอยู่ในกรง ทำนี่ก็ไม่ได้ ทำโน่นก็ไม่ได้ เพราะว่าท่านบอกว่าไม่ให้ทำ จะหยุดข้ามไปก็ไม่ได้ เพราะว่าผิดศีล เราเหมือนว่าอยู่ในกรง เราออกมาไม่ได้

แต่ถ้านึกดู สมมติว่า เราอยู่ในที่ที่มีสัตว์ร้ายเต็ม อย่างที่เคยเห็นในภาพยนตร์ เขาหย่อนคนที่ใส่เครื่องประดาน้ำลงไปในน้ำในที่ๆมีปลาฉลามแยะๆ เขาเอาปลาฉลามใส่กรงไม่ได้ ก็เอาตัวผู้เป็นประดาน้ำลงไปในกรงเพื่อไม่ให้ปลาฉลามกัด

ศีลนี้ก็กลายเป็นกรง เพื่อ“ไม่ให้สิ่งที่ไม่ดีมาแตะต้องเราได้” ก็เป็นกฎเกณฑ์เหมือนกัน ในเวลานั้น ตอนแรกเราต้องให้ศีลมา “ควบคุม” ตัวเรา แล้วทีหลังศีลนั้นจะเป็น “การป้องกัน ”ตัวเราไม่ให้เดือดร้อน เพราะว่า ถ้าไปทำผิดศีลนั้นนะเดือดร้อน เป็นการกระทำที่เป็นกรรมที่เดือดร้อน ก็เป็นอกุศลกรรม เป็นสิ่งที่จะทำให้เรารับกุศลที่ไม่ดี ก็หมายความว่า ศีลนี่เป็นส่วนที่ท่านตั้งเอาไว้เพื่อที่จะป้องกันเรา

แล้วก็มาถึง “สมาธิ” สมาธิก็เพื่อที่จะให้จิตใจเราเข้มแข็ง สามารถที่จะมีสติสัมปชัญญะ เมื่อมีสติสัมปชัญญะแล้ว เราเห็นอะไรทุกอย่าง ทำอะไรก็เกิดผล จะเกิดผลอะไรเราก็รู้ อะไรที่ถูกต้องเราก็รู้ อะไรที่ไม่ถูกต้องเราก็รู้

เป็นอันว่า สมาธิและมีสตินี่ก็รู้ รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ก็เกิดความรู้ซึ่งมีผลเป็น“ปัญญา” รู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร แล้วบังคับจิตใจเราอยู่เสมอ ก็เป็นปัญญาขึ้นมา..”

@@@@@@@

เรื่องมีสติเพื่อเอาชนะกิเลสนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัส ในวาระที่พระครูใบฎีกาเล็ก ญานุตตโร และคณะ เข้าเฝ้าถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย และต้นเทียนพรรษา วันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ.2528 ตอนหนึ่งว่า

“..แต่ถ้าในทางตรงกันข้าม เราปล่อยตัว ไม่ระมัดระวัง ไม่มีสติสัมปชัญญะ ปล่อยให้ทำไม่ดี เดี๋ยวก็เห็นอะไรของเขาวางไว้ หยิบฉวยไปแล้วใช้เป็นของธรรมดา ของที่วางไว้ไม่มีเจ้าของ

อย่างที่เขาพูด เวลามีเงินงบประมาณแผ่นดิน เฮ้ย..นี่เงินกองกลางยังอยู่ ไม่ใช่เงินของเรา จ่ายไป เขาจ่ายไป อันนั้นนะเคยชินไป ไม่มีความสุจริต จนกระทั่งทำไปทำมาไปหยิบฉวยเขา ไปทำการขโมย วันหนึ่งถูกจับเข้าคุก มันก็ทุกข์ใหญ่

..บางคนนี่แปลกจริงๆ ของมันวางเอาไว้ ไม่มีเจ้าของ หยิบเอาไป แต่แท้จริง ทุกสิ่งทุกอย่างมีเจ้าของ มันต้องมีเจ้าของ สิ่งที่มีค่าจะต้องมีเจ้าของ พานที่วางอยู่นี่ มันวางอยู่ก็หยิบไป ก็ไม่ถูก เป็นเรื่องของการทุจริต แต่ว่าตอนแรก ถ้าเรารู้ว่าอะไรสุจริต อะไรทุจริต เราก็ไม่ทำ

บางทีเรียกว่ามันอยาก แล้วมันยั่วใจ มันล่อใจ มันก็ต้องพิจารณา แต่ทีหลัง มันก็เป็นความเคยชินได้ว่าไม่ทำ แต่ว่าถ้าทำไปเรื่อยก็เป็นความเคยชินว่า ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องอันนั้นนะ..

..จนกระทั่งปฏิบัติถึงขั้นสูงแล้ว จะเป็นพระ จะเป็นผู้ที่ออกไปปฏิบัติธรรมะชั้นสูงแล้ว ความเคยชินนี้ยังอยู่ในตัว ต้องขัด เรียกว่า “ขัดเกลาด้วยการพิจารณา” ต้องใช้อะไร ก็ต้องใช้ “สติสัมปชัญญะ” นั่นเอง

ต้องพยายามที่จะรู้อยู่เสมอว่า อันนี้คืออะไร ตัวกำลังทำอะไร สติก็ระลึกรู้ว่าอันนี้อะไร แล้วก็สัมปชัญญะก็รู้ว่าตัวกำลังทำอะไร ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ที่สติสัมปชัญญะ..”

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ยังมีพระราชดำรัสโดยตรงถึง “พระสงฆ์” อีกมากมาย ต้องอ่านตอนต่อไปครับ..





Thank to :-
คอลัมน์ : “สอดแนมการเมือง” โดย “ชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัย”
URL : https://mgronline.com/daily/detail/9590000129555
เผยแพร่ : 30 ธ.ค. 2559 08:10 โดย : MGR Online
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ