ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ล้านช้าง-ล้านนา “ลาว” สองมาตรฐาน ในทัศนะของคนไทย  (อ่าน 216 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28413
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0




ล้านช้าง-ล้านนา “ลาว” สองมาตรฐาน ในทัศนะของคนไทย | สุจิตต์ วงษ์เทศ

แม้จะมีทัศนะดูถูกลาว แต่คนในกรุงศรีอยุธยาก็ยอมรับว่าลาวเป็น “เครือญาติ” ที่จัดเป็นคนไทยด้วย ดังบันทึกของลาลูแบร์ระบุว่าชาวสยามในพระนครศรีอยุธยา สมัยสมเด็จพระนารายณ์ เรียกคนพวกหนึ่งว่า ไทยใหญ่ คือลาวพุงดำหรือเงี้ยวอยู่ทางเหนือของพม่า กับอีกพวกหนึ่งว่า ไทยน้อย คือ ลาวพุงขาวในประเทศลาวทุกวันนี้

ที่สำคัญมากๆ คือคนอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์ บอกว่าพวกตนเป็น ไทยน้อย ก็หมายถึงลาวนั่นแหละ

แต่ในความรับรู้ของพวกไทยสยามในกรุงศรีอยุธยา มีลาวอยู่ 2 พวก มีความสัมพันธ์ต่างกัน คือ ลาวล้านนากับลาวล้านช้าง

ลาวล้านนา อยู่เชียงใหม่และเมืองบริวาร รวมถึงไทยใหญ่หรือเงี้ยว ถ้าในวรรณคดีขุนช้างขุนแผน จะเป็นศัตรูกับกรุงศรีอยุธยา มีสงครามกันตลอด



หญิงลาว (ภาพจากหนังสือ Travels in Siam, Cambodia, and Laos, 1858-1860. Singapore : New York : Oxford University Press)

ลาวล้านช้าง อยู่หลวงพระบาง-เวียงจัน ในขุนช้างขุนแผนถือเป็นแคว้นเครือญาติสนิทกัน มีไมตรีต่อกัน เช่น ในตำนานพระเจ้าอู่ทองกับเจ้าฟ้างุ้ม แบ่งเขตแดนถือเอาเมืองร้อยเอ็ดเป็นของลาว และในพงศาวดารว่าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงสร้างเจดีย์ศรีสองรัก (ที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย) เป็นหลักหมายแบ่งเขตแดน คือ เหนือขึ้นไปเป็นของลาว ใต้ลงมาเป็นของอยุธยา มีการส่ง “ลูกสาว” ให้เป็นชายาซึ่งกันและกัน

ความสัมพันธ์ระหว่างลาวกับไทยยังไม่ขัดแย้ง แม้พระเจ้าตากจะให้พระยาจักรีไปตีเมืองเวียงจัน แล้วอัญเชิญพระแก้วมรกตมาไว้กรุงธนบุรี ถึงจะไม่พอใจแต่ลาวก็ไม่มีปฏิกิริยาชัดเจน จนเมื่อเจ้าพระยาจักรีเสวยราชย์เป็นรัชกาลที่ 1 แล้วสร้างกรุงเทพฯ ก็เกณฑ์ลาวสองฝั่งโขง รวมอีสานเป็นเชลยลงมาขุดคูเมือง และสร้างกำแพงเมืองด้วย

ทั้งสองราชวงศ์คือ เวียงจันกับกรุงเทพฯ ก็เคารพนับถือเป็น “เครือญาติ” ใกล้ชิด มีการ “แต่งดอง” หรือ “แต่งงาน” กัน เจ้านายและขุนนางจำนวนมากในกรุงเทพฯ มีสาแหรกข้างแม่เป็นลาวเวียงจัน ลาวจำปาสัก และลาวอีสาน รัชกาลที่ 2 โปรดให้สร้าง วังบางยี่ขัน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา สำหรับเป็นที่ประทับของเจ้านายลาวที่เสด็จลงมาจากเมืองเวียงจัน

ความบาดหมางอย่างรุนแรงระหว่างลาวกับไทยมีขึ้นสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ยกทัพไปปราบลาว เผาเมืองเวียงจัน แล้วกวาดต้อนเชลยลาวลงมาอยู่กรุงเทพฯ กับหัวเมืองโดยรอบ กลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ของภาคกลาง เป็นเหตุให้ลาวเจ็บแค้นฝังใจจนทุกวันนี้ ดังมีเนื้อร้อง เพลงลาวแพน ด่าทอความโหดเหี้ยมของคนไทย



แคนวงใหญ่เมื่อครั้งรับเสด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตรวจราชการเมืองยโสธร พศ.2449

แต่ตรงข้าม ลาวล้านนาถูกทำให้ใกล้ชิดด้วยเหตุผลทางการเมืองยุคล่าเมืองขึ้นสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อโปรดให้รับเจ้าดารารัศมีมาเป็นชายาอยู่ที่กรุงเทพฯ ส่งผลให้มีเพลงดนตรีแบบ (ลาว) ล้านนาแพร่หลายในกรุงเทพฯ ด้วยอิทธิพลของเจ้าดารารัศมีและบทละครเรื่องสาวเครือฟ้า ทำให้คนกรุงเทพฯ สมัยหลังมีจินตนาการว่าชาวล้านนาเป็น “ไทยแท้” มีความสวยงาม

ในสมัยรัชกาลที่ 5 นี้เองมีการปฏิรูปการปกครอง ทั้งล้านช้างและล้านนาถูกผนวกเข้าเป็นราชอาณาจักรสยาม แต่ลาวในอีสานแข็งข้อเรียก “ขบถผีบุญ” ทางกรุงเทพฯ ต้องส่งกองทัพไปปราบปรามบ่อยๆ เลยเกิดความรู้สึกรังเกียจลาวอีสานหนักขึ้น อาการดูถูกก็มีมากขึ้นสืบจนทุกวันนี้

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เกิดลัทธิชาตินิยม “คลั่งชาติ” มีตำราประวัติศาสตร์ไทยแต่งว่า อีสานไม่ใช่ส่วนหนึ่งของไทยมาแต่เดิม และไม่มีความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรมกับลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทำให้รัฐบาลสมัยนั้นไม่ทำนุบำรุงอีสาน เกิดความยากแค้นแสนกันดาร เป็นเหตุให้มีขบวนการคอมมิวนิสต์แพร่หลาย คนอีสานถูกกล่าวหาว่าคิดแยกดินแดน เท่ากับตอกย้ำให้คนภาคกลางโดยเฉพาะกรุงเทพฯ ดูถูกเหยียดหยามแล้วรังเกียจคนอีสานมากขึ้นทวีคูณ

ผลก็คือ อีสานถูกปล่อยปละละเลย จนมีกวีนิพนธ์ของ “นายผี” สะท้อนความแห้งแล้งออกมาเป็นสัญลักษณ์ของอีสาน คนลาวอีสานต้องอพยพร่อนเร่มาขายแรงงานรับจ้างเป็น “ขี้ข้า” ในกรุงเทพฯ ถือเป็นคนชั้นต่ำที่สังคมกรุงเทพฯ ดูถูกและไม่ต้อนรับ

“พลังลาว” ของชาวอีสานถูกปิดบัง ซ่อนเร้น แล้วเหยียบย่ำไว้ จริงหรือไม่จริงอย่างไร ขอให้ช่วยกันย้อนกลับไปพิจารณาอย่างเป็นธรรมเถิด






ขอขอบคุณ :-
ผู้เขียน : สุจิตต์ วงษ์เทศ
เผยแพร่ : วันพฤหัสที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2565
URL : https://www.matichonweekly.com/culture/article_24013
หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1 ก.ย. 2549 คอลัมน์ อ่านแผ่นดินท้องถิ่นเรา
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ