ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: Wednesday มาจากไหน.?  (อ่าน 199 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28366
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Wednesday มาจากไหน.?
« เมื่อ: ธันวาคม 09, 2022, 05:52:46 am »
0



Wednesday มาจากไหน.? | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ว่ากันว่าหลักฐานของการนับจำนวน 7 วัน เท่ากับหนึ่งสัปดาห์ที่เก่าแก่ที่สุดนั้น มาจากวัฒนธรรมของพวกบาบิโลเนีย ในเมโสโปเตเมีย

ฟรีดริช เดอลิตซ์ (Friedrich Delitzsch) นักค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องประวัติศาสตร์ และโบราณคดีของเมโสโปเตเมีย (โดยเฉพาะเรื่องของพวกอัสซีเรีย) ชาวเยอรมัน ที่มีชีวิตอยู่ระหว่าง พ.ศ.2393-2465 ดูจะเป็นคนแรกๆ ที่ระบุว่า นักดาราศาสตร์ของบาบิโลนสังเกตดูดวงจันทร์และแบ่งช่วงเวลาปรากฏการณ์เดือนมืดเดือนหงาย ออกเป็น 29 วัน ซึ่งนับเท่ากับ 1 เดือน ก่อนที่จะตัดทอนลงมาเหลือ 28 วันเพื่อให้คำนวณได้ง่ายเข้า เมื่อซอยช่วงเวลาให้ย่อยเข้าไปเป็นเดือนละ 4 สัปดาห์

ส่วนที่สัปดาห์หนึ่งต้องมี 7 วันนั้น เขาสันนิษฐาน (ศัพท์วิชาการของคำว่า เดา) ว่า เป็นเพราะพวกบาบิโลนให้ความสำคัญกับดาวที่พวกเขาสามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า คือพระอาทิตย์, พระจันทร์, ดาวอังคาร, ดาวพุธ, ดาวพฤหัสบดี, ดาวศุกร์ และดาวเสาร์ ซึ่งจะจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้? เพราะไม่มีหลักฐานว่าพวกบาบิโลเนียเรียกชื่อวัน ตามชื่อดาวเหล่านั้น

ความรู้ในเรื่องดาราศาสตร์ และการนับรอบวัน เดือน ปี ถูกส่งทอดไปให้กับพวกเปอร์เชีย (อิหร่าน) โดยเชื่อกันว่า ชนชาวชมพูทวีปได้รับความรู้เรื่องนี้จากเปอร์เซียมาอีกทอด

และก็แน่นอนด้วยว่า ไทยเราได้ความรู้เรื่องต่อมาจากอินเดีย ดังนั้น คำว่า “สัปดาห์” ในภาษาไทย จึงมีรากมาจากภาษาสันสกฤตว่า “สปฺตาห” ที่แปลว่า “ขวบอาทิตย์” หรือ “รอบเจ็ดวัน” เพราะคำสันสกฤตที่ว่านี้มีรากมาจากคำว่า “สปฺตก” ที่แปลตรงตัวว่า “เจ็ด” หรือ “ที่เจ็ด”

@@@@@@@

แต่ก็ไม่ใช่ว่าในทุกวัฒนธรรมโบราณนั้น จะมีรอบวันในหนึ่งสัปดาห์เป็น 7 วันเหมือนกันทั้งโลกเสียเมื่อไหร่?

ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ มีหลักฐานว่า พวกโรมันในยุคที่ยังปกครองด้วยระบอบสาธารณรัฐนั้น นับจำนวนวันต่อรอบสัปดาห์เท่ากับ 8 วันมาก่อน

ต่อมาเมื่อเซเลบของประวัติศาสตร์โลกอย่างจูเลียส ซีซาร์ ได้ทำการปฏิรูปปฏิทินของโรมันเมื่อ พ.ศ.496 ซึ่งทำให้ระบบการนับวันในแต่ละปีมีจำนวนเท่ากับ 365.25 วัน จนต้องมีปีอธิกสุรทิน (คือปีที่มี 366 วันในทุกๆ รอบ 4 ปี ซึ่งก็คือปีที่มีวันที่ 29 กุมภาพันธ์ อย่างในทุกวันนี้นี่เอง) ก็ทำให้ระบบการนับสัปดาห์ละ 8 วันค่อยๆ เสื่อมความนิยมลงไป

จนกระทั่งจักรพรรดิคอนแสตนติน (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.849-880) จึงประกาศให้โรมในยุคจักรวรรดิ ใช้ระบบการนับจำนวน 7 วัน ต่อหนึ่งสัปดาห์แทนอย่างเป็นทางการ

ที่สำคัญก็คือ ระบบการนับวันอย่างเก่าของชาวโรมันที่มีสัปดาห์ละ 8 วันนั้น ใช้ชื่อตัวอักษรโรมัน (ซึ่งก็คือ ตัวอักษรที่ใช้ในการเขียนภาษาอังกฤษปัจจุบันนั่นแหละ) เรียงลำดับตั้งแต่ A-H ในการเรียกชื่อวันมาก่อน

แต่พอเมื่อมีความนิยมในใช้การระบบสัปดาห์ละ 7 วัน ก็จึงมีการเรียกชื่อวันด้วยชื่อเทพเจ้าประจำดวงดาวต่างๆ โดยว่ากันว่าเป็นเพราะอิทธิพลของกรีก ที่ใช้ระบบสัปดาห์หนึ่งมี 7 วัน และเรียกชื่อวันอย่างนี้มาก่อน

@@@@@@@

ดังนั้น ชื่อวันของโรมันจึงมีความหมายตามลำดับว่า วันจันทร์ คือวันของเทพีลูนา (Luna เทพีแห่งดวงจันทร์ กรีกเรียก ซีลีน, Selene)

วันอังคาร ของเทพมาร์ส (Mars เทพเจ้าแห่งสงคราม เทพบิดรของชาวโรม และเทพแห่งดาวอังคาร กรีกเรียก อาเรส, Ares)

วันพุธ มีเทพเมอร์คิวรีเป็นผู้ครองเรือน (Mercury เทพเจ้าแห่งการสื่อสาร การค้า และดาวพุธ กรีกเรียก เฮอร์มีส, Hermes)

วันพฤหัสบดี คือวันของเทพจูปิเตอร์ (Jupiter ราชาของทวยเทพ และดาวพฤหัสบดี กรีกเรียก ซุส, Zeus)

วันศุกร์ ของเทพีวีนัส (Venus เทพธิดาแห่งความรัก ความใคร่ ความงาม และดาวศุกร์ กรีกเรียก อโฟรไดต์, Aphrodite)

วันเสาร์ ของเทพแซตเทิร์น (Saturn ราชาแห่งคณะเทพไทแทน เทพเจ้าแห่งการเก็บเกี่ยว และอายุขัย กรีกเรียก โครนัส, Cronus)

และสุดท้ายวันอาทิตย์ มีเทพโซลเป็นผู้ครองเรือน (Sol เทพเจ้าประจำดวงอาทิตย์ กรีกเรียก เฮลิออส, Helios)

@@@@@@@

แน่นอนด้วยว่า โรมันเป็นวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ และมีอิทธิพลอย่างมากต่อวัฒนธรรมอื่นๆ โดยเฉพาะที่อยู่ในยุโรปด้วยกันเอง

ดังนั้น จึงเป็นธรรมดาที่บรรดาผู้คนที่ถูกพวกโรมันเรียกว่า “อนารยชน” ซึ่งพูดภาษาตระกูลเยอรมนิก (หมายถึง เยอรมนิกโบราณ หรือ Proto Germanic ที่เป็นภาษาต้นตระกูลของพวกนอร์สอีกทอดหนึ่ง) จะรับเอาทั้งระบบการนับจำนวน 7 วันต่อหนึ่งสัปดาห์ และวิธีการเรียกชื่อวันด้วยเทพเจ้าอย่างกรีก ผ่านจากโรมันไปอีกทอด

แต่พวกที่ถูกดูแคลนว่าเป็นอนารยชนเหล่านี้ก็ปรับเอาชื่อเทพเจ้าของตนเอง มาแทนชื่อเทพของพวกโรมันเสียหลายวันคือ วันอังคาร กลายเป็นวันของเทพทิว (Tiw หรือที่พวกนอร์สเรียก เทพแขนเดียวไทร์, Tys) แน่นอนว่า มรดกตกทอดของชื่อนี้ในภาษาอังกฤษ ของโลกปัจจุบันก็คือ Tuesday ที่แปลว่า วันอังคาร

วันพุธ ของเทพโวเดน (Woden ชื่อหนึ่งของราชาเทพของพวกนอร์สที่ชื่อ โอดิน, Odin) ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า Wednesday

วันพฤหัสบดี ของเทพธูนอร์ (Thunor หรือที่พวกนอร์สเรียกว่า เทพสายฟ้า ธอร์, Thor) ที่กลายมาเป็น Thursday

และวันศุกร์ ของเทพีเฟรญา (Freyja ในภาษาเขียนแบบปัจจุบัน เป็นเทพีแห่งความงาม และดาวศุกร์ แต่บ้างก็ว่า มาจากเทพีฟริกก์, Frigg, เทพีแห่งการแต่งงาน ความเป็นแม่ การทำนายทายทัก ผู้เป็นชายาหลวงของเทพโอดิน) อันเป็นที่มาของคำว่า Friday (ส่วนวันอาทิตย์, จันทร์ และเสาร์ ใช้คำว่า พระอาทิตย์, พระจันทร์ และเทพแซทเทิร์น ตามอย่างโรมัน)

และจึงไม่แปลกอะไรเลยที่คำว่า “week” ที่แปลว่า “สัปดาห์” ในภาษาอังกฤษ จะเพี้ยนมาจากภาษาอังกฤษโบราณว่า “wice” ซึ่งยืมมาจากภาษาเยอรมนิกว่า “wecha” ที่มีรากมาจากคำว่า “wik” ที่หมายถึง “การเปลี่ยน” “การเคลื่อนที่” หรือ “การผลัด” อีกทอดหนึ่ง


@@@@@@@

แต่ก็มีหลักฐานด้วยว่า พวกนอร์สโบราณ (ก็คือพวกไวกิ้งนั่นแหละ) มีศัพท์คำว่า “vika” ซึ่งก็มีรากมาจากคำเดียวกับคำว่า “week” แต่ใช้ในความหมายว่า “เปลี่ยนไม้พาย” และใช้เป็นชื่อหน่วยวัดไมล์ทะเล

ดังนั้น แต่ดั้งเดิมพวกนอร์สจึงไม่น่าจะมีการนับสัปดาห์แบบนี้หรอกนะครับ เป็นวัฒนธรรมโรมันนี่แหละที่เข้าไปมีอิทธิพลต่อพวกนอร์ส

และก็เป็นพวกนอร์สนี่เอง ที่ต่อมาได้เข้าไปรุกรานแล้วตั้งถิ่นฐานอยู่ในแคว้นนอร์ม็องดี ประเทศฝรั่งเศส จากนั้นก็ได้รุกเข้าไปในเกาะอังกฤษ แล้วสถาปนาราชวงศ์นอร์มัน (Norman dynasty) ขึ้นมา ดังนั้น จึงไม่น่าประหลาดใจอะไร ที่ในโลกภาษาอังกฤษจะนับรอบสัปดาห์หนึ่งมี 7 วัน และเรียกมันว่า “week” เช่นเดียวกับยก “วันพุธ” ให้กับราชาแห่งทวยเทพของพวกนอร์ส อย่างเทพเจ้านอร์สโอดิน ในคราบของเทพโวเดน เป็นผู้ครองเรือน และเรียกวันนั้นว่า “Wednesday” คือ “วันของเทพโวเดน”

ในพระคัมภีร์ (bible แปลตรงตัวว่า พระคัมภีร์) ฉบับภาษาฮิบรู ระบุว่า ในช่วงที่พระเจ้าสร้างโลกทั้ง 7 วันนั้น พระองค์ได้สร้างพระอาทิตย์ และพระจันทร์ขึ้นในวันที่ 4 จำนวน 7 วันที่สร้างโลกตรงกับหนึ่งสัปดาห์ ดังนั้น จึงมีความเชื่อที่ว่า พระอาทิตย์ และพระจันทร์ ถูกสร้างขึ้นในวันพุธ

สำหรับในชาวคริสต์แบบกรีกออร์โธด็อกซ์ ที่นิยมนับถือในยุโรปตะวันออกนั้น ถือว่าวันพุธเป็นวันสำคัญคู่กับวันศุกร์ และมีประเพณีการถือศีลอด (ละเว้นเนื้อ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์) เพื่อระลึกถึงวันที่พระเยซูถูกทรยศในวันพุธ และถูกตรึงกางเขนในวันศุกร์

@@@@@@@

แน่นอนว่า วันพุธ เป็นวันที่ 4 ในรอบสัปดาห์ คือเป็นวันที่อยู่ตรงกลางของรอบสัปดาห์ จึงทำให้พวกฝรั่งมีสำนวนว่า “Wednesday’s child” ที่แปลว่า “ลูกคนกลาง” โดยมักจะอธิบายกันว่าเป็นการสื่อถึงลูกที่ไม่ได้รับความสนใจจากพ่อแม่เท่ากับลูกคนโต หรือลูกคนเล็ก จนมักจะกลายเป็นเด็กมีปัญหา

แต่ก็อาจจะเป็นไปได้ด้วยว่า สำนวนที่ว่านี้เกี่ยวข้องความเชื่อเรื่องโชคลาง ที่เกี่ยวกับวันต่างๆ ด้วยก็ได้ เพราะในเพลงกล่อมเด็กโบราณ เพลงหนึ่งของฝรั่งที่มักจะเรียกกันในชื่อเพลง “Monday’s Child” มีเนื้อเพลงว่า

“Monday’s child is fair of face, Tuesday’s child is full of grace. Wednesday’s child is full of woe, Thursday’s child is far to go. Friday’s child is loving and giving, Saturday’s child works hard for living. And the child born on a the Sabbath day is bonny and blithe, good and gay.”

(เด็กวันจันทร์หน้าตาสะสวย เด็กวันอังคารเต็มไปด้วยสง่าราศี เด็กวันพุธเต็มไปด้วยความฉิบหาย เด็กวันพฤหัสบดีจะไปได้ไกล เด็กวันศุกร์น่ารักมีน้ำใจ เด็กวันเสาร์มุมานะทำมาหากิน เด็กที่เกิดวันสะบาโต [วันอาทิตย์] เป็นคนดีและร่าเริง เป็นคนดีและร่าเริง)

เชื่อกันว่า เพลงดังกล่าวเกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องโชคลางของยุโรป ที่สืบมาตั้งแต่ยุคกลางเป็นอย่างน้อย แต่มีที่บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเก่าแก่ที่สุดคือ หนังสือ Traditions of Devonshire ของ เอ. อี เบรย์ส (A. E. Bray’s) ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2381 แต่ที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นก็คือ เพลงเดียวกันนี้ในบางสำนวน เช่น เนื้อเพลงที่ปรากฏในนิตยสาร Harper’s Weekly ฉบับวันที่ 17 กันยายน พ.ศ.2430 ซึ่งเป็นนิตยสารพิมพ์ขายในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เด็กที่เต็มไปด้วยความฉิบหายกลายเป็น “เด็กวันศุกร์” (Friday’s child) แทน

อย่างที่บอกไปแล้วนะครับว่า มันมีความเชื่อที่ว่า พระคริสต์ถูกหักหลังแล้วโดนทหารโรมันจับตัวในวันพุธ ก่อนที่จะถูกนำไปตรึงกางเขนในวันศุกร์ ดังนั้น ถ้าคริสต์ชนจะถือว่าวันพุธ หรือวันศุกร์ เป็นวันไม่ดีก็ไม่เห็นจะแปลก

และความเชื่อเดียวกันนี้ก็กลายมาเป็นที่มาของแคแร็กเตอร์ตัวละคร “Wednesday Addams” ในนิยายเรื่อง The Addams Family ของแจ็ก ชาร์คี (Jack Sharkey) ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2508 และถูกดัดแปลงมาเป็นซีรีส์ Wednesday ที่กำลังโด่งดังอยู่ในขณะนี้นั่นเอง •


 



ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9 - 15 ธันวาคม 2565
คอลัมน์ : On History
ผู้เขียน : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
เผยแพร่ : วันพฤหัสที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2565
URL : https://www.matichonweekly.com/column/article_631936
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 09, 2022, 06:11:37 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ