ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: “แต้จิ๋ว” ถิ่นอุดมสมบูรณ์ แต่ภัยธรรมชาติรุนแรง  (อ่าน 276 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28431
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0




“แต้จิ๋ว” ถิ่นอุดมสมบูรณ์ แต่ภัยธรรมชาติรุนแรง

พื้นที่ แต้จิ๋ว ประกอบด้วย 3 จังหวัดใหญ่ คือ ซัวเถา แต้จิ๋ว และกิ๊กเอี๊ย เป็นถิ่นที่มีความอุดมสมบูรณ์แต่ภัยธรรมชาติรุนแรง พื้นที่การเชื่อมต่อทางบกค่อนข้างปิด แต่เปิดทางทะเล เป็นปัจจัยทางภูมิศาสตร์ที่หลอมให้คนจีนแต้จิ๋วมีอัตลักษณ์เป็นของตัวเอง ต่างจากจีนกวางตุ้งและจีนแคะ ซึ่งเป็นชาวมณฑลกวางตุ้งด้วยกัน


บริเวณท่าเรือ Shantou ปัจจุบันอยู่ในเขตซัวเถา (พื้นที่ของชาวแต้จิ๋ว) มณฑลกวางตุ้ง ภาพถ่ายราวทศวรรษ 1860-1880

สภาพภูมิศาสตร์ของมณฑลกวางตุ้งมีทิวเขาเหลียนฮัว ทอดยาวตั้งแต่อำเภอฮงสุนทางตะวันตกเฉียงเหนือไปจนถึงอำเภอไหฮงทางตะวันตกเฉียงใต้ จึงเป็นปราการธรรมชาติที่ตัดขาดพื้นที่แต้จิ๋วกับกวางตุ้ง โดยมีพื้นที่ของจีนแคะเป็นปราการอยู่บนภูเขา ส่วนทางเหนือมีภูเขาซื่อเจียเป็นแนวเขตแดนกับพื้นที่จีนแคะ ทางตะวันออกเฉียงเหนือมีภูเขาเฟิ่งหวงกั้น ทางใต้มีภูเขาเอ๋อร์เหมยจั้งเป็นปราการ ด้านตะวันออกไปถึงตะวันออกเฉียงใต้เป็นทะเล ฉะนั้น พื้นที่แต้จิ๋วจึงเป็นเมืองปิดทางบก เปิดทางทะเล ตัดขาดออกจากกวางตุ้ง แต่มีเขตแดนติดต่อกับจีนแคะบนเชิงเขา ติดต่อกับฮกเกี้ยนทางตอนใต้และซัวบ้วยได้ทางทะเลและทางบกตามเส้นทางชายทะเล

พื้นที่แต้จิ๋วมีแม่น้ำสำคัญ 5 สาย คือแม่น้ำหั่งกัง (หานเจียง), แม่น้ำหย่งกัง (หญงเจียง), แม่น้ำเหลี่ยงกัง (เลี่ยนเจียง), แม่น้ำเหล่งกัง (หลงเจียง) และแม่น้ำอึ่งกังฮ้อ (หวงกังเหอ)

ที่ราบในพื้นที่แต้จิ๋วเป็นที่ราบริมฝั่งและปากแม่น้ำทั้งห้านี้ ซึ่งมีสาขาย่อยนับร้อยสาขา ทำให้มีความอุดมสมบูรณ์มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งลุ่มแม่น้ำหั่งกัง เมื่อฝนตกมีปริมาณน้ำอย่างเหมาะสมการเกษตรจะได้ผลดีมาก แม้จะอุดมสมบูรณ์แต่ที่ราบพื้นที่แต้จิ๋วก็มีเพียง 3,200 กว่าตารางกิโลเมตรเท่านั้น พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา และผาม่อนหรือโขดเขิน



แผนที่บริเวณตอนใต้ของประเทศจีน เวียดนาม และฟิลิปปินส์ เมื่อ ค.ศ. 1771 วาดโดย Rigobert Bonne

ทว่า พื้นที่แต้จิ๋วมีภัยธรรมชาติรุนแรงมาก ภัยประจำปีคือ อุทกภัยกับวาตภัยจากพายุไต้ฝุ่น พื้นที่แต้จิ๋วน้ำทะเลหนุนอยู่เสมอ ถ้าฝนตกหนักหรือน้ำป่าไหลหลากจะเกิดอุทกภัยรุนแรง พายุไต้ฝุ่นเกิดประจำเป็นวาตภัยและทำให้อุทกภัยรุนแรงมากยิ่งขึ้น

ในบางพื้นที่เช่น ตำบลกังตัง ทางใต้ของตัวเมืองแต้จิ๋วถึงกับมีคำกล่าวว่า “กังตังซานี้บ่อั่งจุ้ย ตือบ้อคอคั่วกิมหี่เกา (江东三年无洪水 猪母可挂金耳钩)” หมายถึง “ตำบลกังตังถ้าสามปีไม่มีน้ำท่วม แม่หมูใส่ตุ้มหูทองได้”

ภัยธรรมชาติที่มีบันทึกในจดหมายเหตุถิ่นแต้จิ๋ว เช่น วันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2465 เกิดพายุไต้ฝุ่นรุนแรงและน้ำท่วมหนักตั้งแต่ซัวเถาไปจนถึงเหยี่ยวเพ้ง คนตายไปกว่า 34,500 คน พ.ศ. 2529 ก็เกิดพายุใหญ่ ฝนตกหนัก น้ำป่าไหลหลาก บวกกับน้ำทะเลหนุน กลายเป็นภัยธรรมชาติรุนแรงที่มีผู้คนประสบภัยนับล้านคน

อย่างไรก็ตาม พื้นที่แต้จิ๋วก็เผชิญภัยแล้งรุนแรงมากเช่นกัน โดยในช่วง พ.ศ. 2485-2486 ฝนแล้งครึ่งปี เกิดข้าวยากหมากแพงคนตายนับแสนคน ช่วง พ.ศ. 2488-2491 พื้นที่แต้จิ๋วแล้งติดต่อกัน 3 ปี ต่อเนื่องมาถึง พ.ศ. 2492 ประชาชนอดอยากล้มตายเป็นจำนวนมากจนฝังศพไม่ทัน และยังมีภัยสงครามซ้ำเติม ในช่วง พ.ศ. 2485-2492 คนจีนแต้จิ๋วจึงหนีตายมาเมืองไทยมาก นอกจากนี้ยังมีภัยอื่น ๆ อีก เช่น แมลงระบาด

สรุปแล้ว พื้นที่แต้จิ๋วนั้นแม้จะอุดมสมบูรณ์แต่ภัยธรรมชาติรุนแรงมาก ต่างกับพื้นที่กวางตุ้งซึ่งอุดมสมบูรณ์และไม่ค่อยมีมีภัยธรรมชาติรุนแรง ส่วนพื้นที่จีนแคะแม้จะแร้นแค้นแต่ภัยธรรมชาติก็น้อยกว่า






อ้างอิง :-
- ถาวร สิกขโกศล. “แต้จิ๋ว : จีนกลุ่มน้อยที่ยิ่งใหญ่”. พิมพ์ครั้งที่ 2. (สำนักพิมพ์มติชน, 2557)
- เสี่ยวจิว. “ที่เรียกว่า ‘แต้จิ๋ว'”. (สำนักพิมพ์มติชน, 2556)

ขอขอบคุณ :-
ผู้เขียน : ฉวี่กวังฮั่น
เผยแพร่ : วันจันทร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ.2566
website : https://www.silpa-mag.com/history/article_100664
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ