ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: “ไทย” ในแบบเรียนประวัติศาสตร์กัมพูชา ตัวร้ายแย่งชิงดินแดน-นำความวิบัติสู่เขมร.?  (อ่าน 262 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28435
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



“ไทย” ในแบบเรียนประวัติศาสตร์กัมพูชา ตัวร้ายแย่งชิงดินแดน-นำความวิบัติสู่เขมร.?

ประเด็นหนึ่งที่น่าหยิบยกมานําเสนอในที่นี้คือประเด็นอันเกี่ยวพันกับสํานึกร่วมทางประวัติศาสตร์ ซึ่งไทยและกัมพูชาอาจมีโลกทัศน์ในเรื่องนี้แตกต่างกัน และเรามักไม่ทราบกันมากนักว่ากัมพูชามีทัศนคติต่อประเทศไทยเช่นไรและเป็นไปในทิศทาง

บทความเรื่องนี้จึงเป็นความพยายามที่จะประมวลภาพรวมของทัศนคติที่ชาวกัมพูชามีต่อประเทศไทยโดยอาศัยข้อมูลจากตําราเรียนประวัติศาสตร์ของกัมพูชาเป็นหลัก เพราะตําราเรียนประวัติศาสตร์จัดได้ว่าเป็นแหล่งที่มาและมีอิทธิพลต่อทัศนคติ ความคิด ของประชาชนกัมพูชามากที่สุด

อย่างไรก็ตาม บทความนี้มีจุดมุ่งหมายเพียงให้เรารู้จักและทําความเข้าใจเกี่ยวกับความคิดและมุมมองส่วนหนึ่งของชาวเขมรที่มีต่อประเทศไทยเท่านั้น หาได้มีจุดประสงค์ให้เกิดความขัดแย้งระหว่างสองประเทศไม่ เพราะการที่สังคมไทยจะทําความเข้าใจและรู้ว่ากัมพูชารู้สึกอย่างไรต่อประเทศไทย ย่อมน่าจะทําให้เราได้หันกลับมามองตัวเอง และจะได้ปฏิบัติตนในจุดที่เหมาะสมต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและกัมพูชาต่อไป



ปราสาทนครวัดจำลอง บนฐานไพทีข้างพระมณฑป วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ความเป็นชาตินิยมในแบบเรียนประวัติศาสตร์กัมพูชา

ความเป็นชาตินิยมที่แสดงออกในแบบเรียนประวัติศาสตร์ของกัมพูชา มีให้เห็นอย่างเด่นชัดทั้งในส่วนที่เป็นคํานําของหนังสือ หรือในจุดประสงค์ของการเขียนแบบเรียน อันแสดงให้เห็นว่าความสําคัญของการเรียนประวัติศาสตร์ที่กัมพูชาใช้กัน ยังคงเน้นที่ความเป็นชาตินิยมมากกว่าที่จะแสดงให้เห็นถึงความเป็นกลางในการศึกษาประวัติศาสตร์

ดังจะเห็นได้ว่าคํานําส่วนใหญ่ของแบบเรียนประวัติศาสตร์ของกัมพูชาเน้นเรื่องความเป็นชาตินิยมอย่างมากจนสามารถเห็นได้ชัด เช่น ในคํานําหนังสือ “ประวัติศาสตร์ของประเทศกัมพูชา” ของชา อวม ไผ เผง และโสม อิม ซึ่ง เป็นหนังสือแบบเรียนสําหรับชั้นประถมศึกษา มีความตอน หนึ่งว่า

“…การศึกษาประวัติศาสตร์ของชาติไม่ใช่มีประโยชน์แต่สําหรับการสอบเท่านั้น การศึกษาจะทําให้นางรู้ถึงเหตุการณ์ ใหญ่ ๆ ในอดีตกาล รู้จักมหาบุรุษของชาติ ทราบชัดถึงความเจริญรุ่งเรืองของชาติ… หรือนําให้นางพบกับความทุกข์ระทมใจ ที่เกิดขึ้นจากการขบถและต่างชาติ… นําให้นางตั้งความคิดให้มั่น คงเต็มที่ เพื่อยกย่องและนําให้นางคิดดีงามประเภทหนึ่งซึ่ง เรียกว่า ‘ความรักชาติ’…”

หรือแม้แต่ในแบบเรียนประวัติศาสตร์กัมพูชาสําหรับชั้นมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา ก็ยังให้ความสําคัญกับความรักชาติ เช่น ข้อความ “บุพกถา” ของตรึง เงีย (ตฺรึง งา) ในหนังสือ “ประวัติศาสตร์เขมร ภาค 1” ความว่า

“…อีกอย่างหนึ่ง ประวัติศาสตร์ก็เป็นนโยบายสําหรับอบรมให้ประชาชนพลรัฐมีใจรักแผ่นดิน ภูมิเมืองซึ่งตนกําลังอาศัยอยู่และอีกหลาย ๆ อย่างมีวัฒนธรรมเป็นต้น ซึ่งบรรพบุรุษของเราได้สร้างไว้เป็นมรดกสืบมาถึงเราในชั้นนี้ ถ้าเมื่อใดเข้าใจคุณค่าและรักอะไรซึ่งเป็นของชาติแล้ว เขาก็จะพยายามป้องกันของนั้นโดยฝ่าฟันอุปสรรคทุกแบบอย่าง เพื่อต่อสู้กับศัตรูที่ละเมิดก้าวก่ายและเพื่อพยายามก่อสร้างชาติให้ได้เจริญรุ่งเรืองกลับคืนขึ้น เพื่อทําให้สําเร็จซึ่งความประสงค์ข้างบนนี้แล้ว เราจึงได้พิมพ์หนังสือ ‘ประวัติศาสตร์เขมร ภาค 1’ นี้ โดยเชื่อว่ากิจการนี้จะได้เป็นการร่วมส่วนแบ่งอย่างหนึ่งในการรับใช้ชาติด้วย…”

ดังนั้นเมื่อมีการนําแบบเรียนที่เขียนขึ้นในแนวคิดทางชาตินิยมมาใช้ในการเรียนการสอน ประชาชนชาวกัมพูชาจึงถูกปลูกฝังแนวความคิดทางประวัติศาสตร์ชาตินิยมและนําไปสู่การมองและเข้าใจประวัติศาสตร์ที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

@@@@@@@

“ไทย” ในแบบเรียนประวัติศาสตร์กัมพูชา

ประเด็นที่เราควรพิจารณาคือ กัมพูชามองประเทศไทยและคนไทยอย่างไร แบบเรียนประวัติศาสตร์กัมพูชาโดยมากเป็นแบบเรียนที่เขียนกันมากว่า 30 ปี ซ้ำยังมีจําหน่ายแพร่หลายอยู่ในท้องตลาด และโดยมากก็เป็นการคัดหรือเรียบเรียงขึ้นจากเล่มที่เคยเขียนมาแล้ว แต่ไม่มีการแก้ไขเนื้อหามากนัก

แบบเรียนประวัติศาสตร์ที่ใช้สอนในชั้นประถมศึกษาฉบับหนึ่ง กล่าวถึงกําเนิดของชาติไทยในแนวทฤษฎีที่เชื่อว่า ชาวไทยเป็นผู้ที่อพยพลงมาจากน่านเจ้า จากนั้นจึงเคลื่อนย้ายลงมาอยู่ในดินแดนประเทศเขมรภาคเหนือแล้วจึงตั้งราชธานีอยู่ที่สุโขทัย ดังความที่ปรากฏในแบบเรียนประวัติศาสตร์ชื่อ “ประวัติศาสตร์ของประเทศกัมพูชา” เรียบเรียงโดย เจีย อวม (ชา อวม) ไผ เผง และโสม อิม มีความตอนหนึ่งว่า

“…เสียม (สยาม) หรือไทย เดิมอยู่ที่ยูนนาน (ในประเทศจีน) คริสต์ศตวรรษที่ 8 คนพวกนี้ได้ก่อตั้งพระราชอาณาจักรแห่งหนึ่งชื่อว่าน่านเจ้า ต่อมาสยามได้มาอยู่บนดินแดนเขมรภาคเหนือแล้วตั้งราชธานีอยู่ที่สุโขทัย…”



ภาพสลักพระเพลิงหรือพระอัคนีทรงแรดหรือระมาด (องค์กลาง) ที่ปราสาทนครวัด

หนังสือแบบเรียน “ประวัติศาสตร์เขมร ภาค 1” ของตรึง เงีย (ตฺรึง งา) สําหรับชั้นมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา ซึ่งพิมพ์ขึ้นในปี ค.ศ. 1973 กล่าวถึงไทยว่า ไทยรุกรานบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยเหตุที่ผู้นําไทยสองคนวิวาทกับเจ้าเมืองเขตเขมร หลังจากเมืองสวรรคโลกถูกตีได้ เจ้าเมืองเขตเขมรต้องหลบหนีออกจากสุโขทัย ประมาณ ค.ศ. 1220 ผู้นําไทยคนหนึ่งได้ขึ้นเสวยราชย์โดยมีนามว่า อินทรบดิน ทราทิตย์

หนังสือ “ประวัติศาสตร์สังเขป เกี่ยวกับการติดต่อสัมพันธ์เขมร-เสียม (สยาม)” ของแบน นุต ซึ่งเป็นพฤทธิสมาชิกกรม อุดมปรึกษาในพระราชา ซึ่งพิมพ์ขึ้นใหม่ในปี ค.ศ. 2001 กล่าวถึงการเข้ามาของชนชาติไทยในทํานองเดียวกัน แต่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า เมื่อไทยอพยพลงมาจากยูนนานแล้วได้เข้ารุกรานและขับไล่เขมรจากดินแดนสุโขทัย ซึ่งเป็นดินแดนของเขมร ดังความที่แปลมา

“…ชนชาตินี้ (ไทย) ได้ประมวลรวมกันเป็นกลุ่ม ๆ ในอํานาจเสด็จตราญ่ (เจ้าผู้ครองแคว้นของกัมพูชาสมัยเมืองพระนคร) แต่ละพระองค์ แล้วตั้งลําเนาในตําบลทิศอุดร ไกลจากประเทศเขมร ในบริเวณใกล้ยูน นานกับพม่า และในยูนนานนี้เองด้วย

ในศตวรรษที่ 12 จึงรวมกันเข้าเป็นครั้งแรกด้วยรูปภาพของชนชาติไทยบนรูปจําหลักหินในปราสาทนครวัด พร้อมทั้งมีข้อความบางตอนให้ชื่อว่า “สยาม” และชี้ชัดว่าเป็นพวกคนป่า ส่วนความจริงนั้น คือตั้งแต่ ต้นศตวรรษที่ 12 เป็นต้นมา พวกไทยนี้ได้เคลื่อนย้ายจากยูนนานเขยิบเข้ามาทางทิศใต้ แต่ว่าในชั้นนั้นพวกนี้ลอบลักเข้ามาทีละน้อย ๆ ในกําหนดเวลานานโดยลงมาตามลําน้ำและแม่น้ำ การที่ลอบลักเข้ามาแบบนี้แล้วซึ่งเป็นต้นกําเนิดของการรุกรานบุกย่ำอย่างหนักซึ่งจะมีต่อมาอีก

การรุกรานแบบนี้เกิดขึ้นอย่างหนักในต้นศตวรรษที่ 13 โดยมีการรุกรานของพวกมองโกลถึงประเทศจีน และนโยบายรวบรวมประมวลแผ่นดินของพระเจ้ากุบไลข่าน ในระหว่างคริสต์ศักราช 1220 จึงมีการรวมเอาแผ่นดินจริง ๆ…

…ในเวลาเดียวกันนั้นพวกไทยซึ่งปลีกออกจากประเทศเดิม และมาตั้งลําเนาที่สุโขทัยนั้นก็เกิดขึ้น มีกษัตริย์ไทยสองพระองค์ได้ตีหลอกแย่งเอาเขตสวรรคโลก โดยได้ขับไล่เจ้าเมืองเขตเขมรออก แล้วตั้งเป็นราชาณาจักรขึ้น…”

ในปัจจุบันทฤษฎีที่ว่าไทยอพยพลงมาจาก “น่านเจ้า” เป็นทฤษฎีที่ไม่เป็นที่ยอมรับกันแล้วในบรรดานักวิชาการไทย แต่เขมรยังคงปลูกฝังความคิดที่เป็นชาตินิยมเช่นนี้อยู่

@@@@@@@

เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่มีผลกระทบต่อความรู้สึกต่อกัมพูชา

นอกจากแบบเรียนประวัติศาสตร์กัมพูชาจะกล่าวถึงที่มาของ “คนไทย” ตามแนวความคิดดังกล่าวแล้ว หนังสือแบบเรียนประวัติศาสตร์ของกัมพูชายังเน้นเนื้อหาไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชาโดยเฉพาะในด้านการสงครามระหว่างไทย-กัมพูชาเป็นหลัก

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ แบบเรียน “ประวัติศาสตร์ของประเทศกัมพูชา” ที่มักกล่าวถึงสงครามกับไทย และมักลงท้ายด้วยข้อความที่ว่าไทยแย่งชิงดินแดนเขมร เช่น

“…ล่วงมาถึงศตวรรษที่ 15 เขตตราด ปัจฉิม ประจิม (ปราจีนบุรี-ผู้แปล) และจันทบูร ซึ่งตั้งอยู่เป็นภูมิภาคพระราชาณาจักรเขมรด้วย เพียงแต่กองทัพไทยมักจะเข้ารุกรานประเทศเขมรเป็นประจํา แล้วได้หลอกตีเอาเมืองพระนครไปได้ถึงสองครั้ง เวลานั้นพระบาทพญายาตทรงละทิ้งพระราชธานีพระนครซึ่งศัตรูได้รุกรานได้โดยง่ายนั้นแล้ว ก็ทรงได้มาตั้งพระราชธานียังกรุงพนมเปญ…”

และเมื่อไทยตีเขมรได้ก็จะกวาดต้อนผู้คนชาวเขมรกลับไปยังประเทศไทย เช่น “สยามเอาเมืองพระนครได้ สยามประมวลเอาวัตถุมีค่า และจับชาวเขมรไปเป็นเชลยจํานวนมาก” บางครั้งก็จะกล่าวถึงในลักษณะว่าไทยได้เข้าไปปล้นประเทศกัมพูชา เช่น “สยามจึงปล้นเมืองพระนครได้อีก”



แบบเรียนประวัติวิทยา สำหรับเตรียมสอบระดับมัธยมศึกษา พิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1999-2000

หรือกล่าวถึงว่าไทยจับตัวกษัตริย์กัมพูชาไปคุมขังไว้ที่ไทย เช่น “ทัพสยามได้รุกเข้ามาจนจับพระบาทศรีราชาได้ในปี ค.ศ. 1474 พระองค์จึงสวรรคตในประเทศสยาม ทรงมีพระราชโอรสพระองค์หนึ่งพระนาม เจ้าพญาอุง (พระองค์โอง) ซึ่งสยามขังไว้ที่ประเทศสยาม”

แน่นอนว่าข้อความที่เป็นภาพลบของประเทศไทยที่เขียนไว้ในแบบเรียนประวัติศาสตร์ของเขมร ย่อมนํามาสู่ความรู้สึกต่อประเทศไทยในแง่มุมทางลบด้วยอย่างยากจะหลีกเลี่ยงได้

นอกจากในแบบเรียนประวัติศาสตร์โดยตรงแล้ว แม้แต่แบบเรียนวรรณคดีเขมรก็มีการกล่าวถึงผลกระทบและความเสียหายของกัมพูชาที่เกิดจากการรุกรานของไทย ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ แบบเรียนประวัติวรรณคดีเขมรสมัยนครพนมจนถึงสมัยอุดงค์ ของเลียง หับอาน (ลาง หาบ่อาน) ที่กล่าวถึงเหตุการณ์สําคัญของประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับไทย ไว้ว่า

“…ประวัติศาสตร์ในช่วง 257 ปีนี้ ประเทศกัมพูชาได้รับเคราะห์ร้ายอย่างมากจากไทยซึ่งยกทัพมารุกรานหลายครั้งหลายคราวมาก ตัวอย่างเช่น

1. ในรัชกาลพระบาทศรีลําพงราชา สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 กษัตริย์ไทยได้ยกทัพมาตีเมืองพระนคร ปรารถนาจะเอาเมืองเขมรให้ได้ สงครามครั้งนี้ยิ่งใหญ่มาก

2. ในรัชกาลพระอุปราชศรีสุริโยทัย ไทยยกทัพมาตีเมืองพระนครได้ในปี ค.ศ. 1353 ไทยทําลายประตูเมืองพระนครจากทิศตะวันออกแล้วบุกเข้าปล้นราชสมบัติ จับเขมรเป็นเชลยจํานวนกว่าหนึ่งหมื่นคน นําไปประเทศไทย…

…12. ในเวลาที่พระบาทสัตถาที่ 1 ครองราชย์ได้ประมาณ 4-5 เดือน พม่าในหงสาวดียกทัพมาตีประเทศไทย ไทยขอกําลังเขมรไปช่วย โดยทรงเห็นถึงพระราชไมตรีใหม่ ๆ นั้น พระบาทสัตถาทรงเห็นพร้อมด้วย แล้วก็โปรดให้พระอนุชาพระศรีสุริโยพรรณเป็นแม่ทัพไปช่วยไทย เมื่อช่วยชนะแล้วกษัตริย์ไทยไม่มีความกตัญญเลย เปลี่ยนท่าที่เป็นดูถูกพระมหาอุปราชเขมรเหมือนเป็นกษัตริย์ที่อ่อนน้อม…”

แม้แบบเรียนประวัติศาสตร์กัมพูชาจะมีการกล่าวอ้างถึงเอกสารไทยบ้างในบางครั้งแต่ก็มักเป็นการกล่าวอ้างที่ผิดข้อเท็จจริง เช่น เมื่อกล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งพระนเรศวรตีเมืองละแวก ในหนังสือ “ประวัติศาสตร์เขมร ภาค 2” ของ ตรึง เงีย (ตฺรึง งา) มีข้อความตอนหนึ่งว่า

“ทุกวันนี้ที่วัดใหญ่ชัยมงคลที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยามีรูปภาพ 2 แผ่นใหญ่ควรให้สะเทือนใจ รูปที่ 1 เป็นรูปกษัตริย์เขมรประทับอยู่บนเก้าอี้หนึ่งตัว มีเชือกผูกพระบาทและพระหัตถ์เอาไว้ รูปที่ 2 แสดงถึงบุรุษคนหนึ่งนุ่งห่มขาวกําลังคุกเข่าเอาโลหิตกษัตริย์เขมรไปล้างพระบาทให้กษัตริย์สยาม

แต่เรื่องนี้ผิดหรือเป็นเรื่องที่บัณฑิตแต่งขึ้นเพื่อสรรเสริญพระเกียรติพระเจ้ากรุงสยามสมัยนั้น เนื่องจาก พระราชพงศาวดารเขมรทุกฉบับไม่มีการกล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งนี้เลย!…”

จะเห็นได้ว่าภาพที่กล่าวถึงในหนังสือเล่มนี้เป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไม่ใช่ภาพที่วัดใหญ่ชัยมงคลแต่ประการใด นอกจากนี้ ภาพพระนเรศวรปฐมกรรมพระยาละแวกยังมีเพียงภาพเดียว ไม่ใช่ 2 ภาพตามข้อมูลในหนังสือเล่มนี้

@@@@@@@

สงครามพระนเรศวรตีเมืองละแวก

สงครามครั้งที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงตีเมืองละแวกในปี พ.ศ. 2136 มีผลกระทบต่อความรู้สึกของชาวกัมพูชามาก เพราะแม้ชาวกัมพูชาจะรู้สึกร่วมต่อเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ไทยยกทัพไปทําสงครามกับกัมพูชาหลายครั้ง และสงครามครั้งร้ายแรงที่สุดคือครั้งที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ยกทัพไปตีกรุงศรียโสธรปุระในปี พ.ศ. 1976 ผลของสงครามครั้งนั้นทําให้กัมพูชาตัดสินใจย้ายเมืองหลวงลงไปทางใต้

แต่สงครามที่รุนแรงและมีผลต่อความรู้สึกของชาวกัมพูชามากที่สุดคือสงครามคราวเสียเมืองละแวก (ลงแวก) เพราะในหลักฐานกัมพูชาปรากฏทั้งศิลาจารึก พงศาวดาร รวมทั้งแบบเรียนประวัติศาสตร์กัมพูชา ได้เสนอภาพความเสียหายของกัมพูชาในครั้งนั้นว่า

“…ผลวิบากของการเสียกรุงลงแวก

การตีกรุงลงแวกแตกโดยชนชาติเสียม (สยาม) มีผลวิบากเลวร้ายอย่างรุนแรงสําหรับประชาชาติเขมร ต่อจากนี้ไปประเทศเขมรต้องพบกับความวิบัติอันมีมากขึ้นในสมัยลงแวก โดยเฉพาะในรัชกาลของพระบาทจันทราชา และ บรมราชาที่ 4 เขมรสร้างความเข้มแข็งของตนคืนได้ แล้วได้ยกทัพไปตีรุกราชธานีศรีอยุธยาและตีปลดปล่อยเอาอาณาเขตข้างตะวันตกคืนมาได้เป็นจํานวนมาก เพียงแต่หลังจากบันทาย ลงแวกต้องแตกหักไป แผ่นดินส่วนใหญ่ของพนมดงรักและที่อยู่ทางด้านทิศตะวันตกต้องสูญเสียไปอย่างถาวร

การแตกหักบันทายลงแวกเป็นเหตุยังประเทศเขมรให้สิ้นฤทธานุภาพ ตกเป็นรัฐเล็กอยู่ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ นี่เป็นครั้งที่ 3 แล้วซึ่งเขมรต้องสูญเสียตํารับตําราไปหมด นักปราชญ์บัณฑิตกวีซึ่งถูกศัตรูกวาดต้อนเอาไปประเทศมัน…”



(ซ้าย) แบบเรียน “ประวัติศาสตร์ประเทศกัมพูชา” โดย ชา อวม ไผ เผง และโสม อิม สำหรับชั้นประถมศึกษา, (กลาง) แบบเรียน “ประวัติศาสตร์เขมร ภาค 1” โดย ตฺรึง งา สำหรับชั้นมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา พิมพ์ ค.ศ. 1973, (ขวา) แบบเรียน “ประวัติศาสตร์เขมร ภาค 2” โดย ตฺรึง งา สำหรับชั้นมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา พิมพ์ ค.ศ. 1973

นอกจากความเสียหายที่ได้รับในสงครามคราวเสียเมืองละแวกแล้ว กัมพูชายังไม่พอใจที่เอกสารไทยบันทึกว่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทําพิธีปฐมกรรมนักพระสัตถา เพราะตามหลักฐานของกัมพูชาระบุว่านักพระสัตถาหนีไปได้ และสวรรคตในประเทศลาว ดังความที่ว่า

“เฉพาะการสงครามระหว่างสยาม-เขมรในปี ค.ศ. 1593 นี้ เอกสารสยามได้กล่าวว่า ทั้งนี้เนื่องมาจากเขมรไม่รักษาคําสัตย์ สมเด็จพระนเรศวรจึงทรงยกทัพมาทําสงคราม สมเด็จพระนเรศวรทรงเห็นกัมพูชาอ่อนกําลัง จึงมีพระดํารัสให้พระสัตถามาเฝ้า แต่พระสัตถากลับจับทูตไทยซึ่งอัญเชิญพระบรมราชโองการคุมไว้แล้วก็เตรียมการจัดทัพต่อสู้อย่างหนัก

อีกประการหนึ่ง ราชพงศาวดารสยามได้อ้างว่าทัพสยามได้จับได้พระมหากษัตริย์เขมรแล้วพระเจ้ากรุงสยามทรงบัญชาให้ประหารชีวิตพระองค์เพื่อเอาพระโลหิตไปล้างพระบาทอีกด้วย”

ความรู้สึกต่อสงครามคราวเสียเมืองละแวกของประชาชนชาวกัมพูชายังแสดงออกในรูปของตํานาน ซึ่งก็คือตํานานพระโค-พระแก้วอีกด้วย
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กุมภาพันธ์ 01, 2023, 05:59:07 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28435
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
 :96: :96: :96:

ตํานานพระโค-พระแก้ว คืออะไร.?

ตํานานพระโค-พระแก้วเป็นตํานานที่เกี่ยวข้องกับการเสียเมืองละแวก ซึ่งมีเรื่องย่อดังนี้ ในสมัยเมืองละแวกมีชาวนาคู่หนึ่งอาศัยอยู่ ต่อมาภรรยาได้ตั้งครรภ์และปีนต้นมะม่วงตกลงมาเสียชีวิต ลูกที่คลอดออกมาคือพระโคผู้พี่ซึ่งเป็นวัวและพระแก้วผู้น้องเป็นคน

พระโคเลี้ยงดูพระแก้วด้วยการเคี้ยวหญ้าแล้วเสกออกมาเป็นอาหารและสิ่งของต่าง ๆ ให้พระแก้ว เมื่อชาวบ้านทราบก็โลภต้องการจับพระโคฆ่าเสียเพื่อจะได้เอาทรัพย์สินที่อยู่ในท้องพระโค พระโคและพระแก้วจึงหนีไป ต่อมาพระแก้วได้เป็นพระราชบุตรเขยของพระบาทรามาเชิงไพรกษัตริย์ ผู้ครองเมืองละแวก กิตติศัพท์เรื่องพระโค-พระแก้วล่วงรู้ไปถึงกรุงศรีอยุธยา พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาจึงปรารถนาได้พระโค-พระแก้วมาไว้ในพระนคร พระองค์จึงส่งทูตมาเพื่อท้าประลองชิงบ้านเมือง (เพื่อให้ได้พระโค-พระแก้ว)

การประลองมีสามครั้งโดยพระโคเป็นตัวแทนของเมืองละแวกไปร่วมประลอง การประลองครั้งแรกเป็นการแข่งชนไก่ ครั้งที่ 2 เป็นการชนช้าง ซึ่งพระโคสามารถเอาชนะได้ทั้งสิ้น การประลองครั้งที่ 3 เป็นการชนวัว พระโครู้ว่าตนไม่สามารถเอาชนะโคยนต์ของกรุงศรีอยุธยาได้ จึงวางอุบายว่าหากตน หมอบสามครั้งให้พระแก้วกับนางเภา (ภรรยาพระแก้ว) จับหางของตนไว้เพื่อจะได้เหาะหนีให้ทันท่วงที

ในที่สุดพระโคก็เหาะหนี แต่ทหารไทยยกทัพติดตามและนางเภาได้ตกลงมาเสียชีวิต ส่วนพระโคและพระแก้วถูกจับได้ ทําให้เสียเมืองละแวกแก่ไทย พระโคและพระแก้วถูกจับตัวไปยังกรุงศรีอยุธยา อันเป็นเหตุให้สรรพวิทยาทั้งปวงที่อยู่ในท้องพระโคถูกนํามาไว้ยังเมืองไทย และเขมรก็เสื่อมลงจนถึงปัจจุบัน

ตํานานเรื่องพระโค-พระแก้ว แม้จะเป็นตํานานที่รู้จักกันดีในหมู่ประชาชนชาวเขมร แต่ก็มิได้ปรากฏว่ามีการนํามาแต่งเป็นวรรณกรรมร้อยกรอง หากอยู่ในรูปของมุขปาฐะจนถึงปี ค.ศ. 1952 สํานักพิมพ์คีม คี จึงนํามาพิมพ์เผยแพร่

ในปี ค.ศ. 2001 สํานักพิมพ์ “ไรยํ” ได้นําตํานานเรื่องนี้มาเขียนภาพประกอบแล้วพิมพ์เผยแพร่เป็นหนังสือภาพประกอบตํานานเรื่อง “พระโค-พระแก้ว” ซึ่งในตอนท้ายเรื่องได้กล่าวถึงความสําคัญของ “พระโค” ไว้ว่า

“…พวกสยามเห็นว่าเมื่อใดได้พระโคอยู่ ณ ที่ใด ที่นั้นจะได้สุขเกษมศานต์ ดังนี้แล้วพวกสยามจึงได้พยายามดูแลรักษาพระโค-พระแก้วไว้อย่างแข็งแรง แล้วนับแต่เวลานั้นมา พระโค-พระแก้วจึงมิได้กลับคืนมายังเมืองเขมรจนถึงทุกวันนี้…”

นอกจากนี้ในแบบเรียน “ประวัติศาสตร์เขมร ภาค 2” ของ ตรึง เงีย (ตฺรึง งา) ยังได้แสดงออกถึงความรู้สึกเสียดายพระโค-พระแก้วไว้ด้วย ดังความว่า

“…ในปี ค.ศ. 1553 สยามจับได้พระอุปโยราชศรีสุริโยพรรณกับพระราชบุตรทั้งสองคือ พระชัยเจษฎา (พระชนม์ได้ 15 พรรษา) และพระอุทัย (พระชนม์ได้ 5 พรรษา) พร้อมทั้งกระบวนขนาดนักปราชญ์ราชบัณฑิตกวี รูปประติมากรรมพระโค-พระแก้ว และเชลยเขมรเป็นจํานวนมากไปประเทศสยาม

หลังจากสมเด็จพระนเรศวรประทับอยู่ในประเทศเขมรได้ 3 เดือน ก็เสด็จกลับคืนไปกรุงศรีอยุธยา โดยตั้งให้ขุนนางผู้ใหญ่สยามตั้งกํากับอยู่ที่กรุงอุดงค์ ควรอธิบายให้ทราบว่าที่ด้านหน้าพระวิหารพระแก้วใน กรุงเทพมหานครประเทศไทย ปัจจุบันนี้มีรูปประติมากรรมพระโคซึ่งมีขนาดใหญ่เท่ากับวัวใหญ่ในท้องเป็นช่องว่าง ถ้าเช่นนั้นนี่คือรูปพระโคพระแก้วซึ่งสยามนําเอาไปได้ในคราวที่ตีเมืองละแวกแตกหรือไรกัน?…”



พิธีปฐมกรรม ภาพฝีมือพระยาอนุศาส์นจิตรกร ที่พระอุโบสถสุวรรณดาราราม (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม กันยายน 2543)

บทบาทไทยในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีต่อกัมพูชา

นอกจากแบบเรียนประวัติศาสตร์กัมพูชาจะแสดงภาพความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาในแง่มุมประวัติศาสตร์สงครามสมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว แบบเรียนประวัติศาสตร์กัมพูชาที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชากับไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ก็แสดงออกด้วยสํานวนภาษาและทัศนคติที่คล้ายคลึงกันก็คือภาพ “ไทย” พยายามเข้าไปแทรกแซงการเมืองภายในของกัมพูชา และพยายามยึดครองดินแดนของกัมพูชาอีกด้วย ในแบบเรียนประวัติศาสตร์เหล่านี้จึงมักปรากฏคําว่า “อิทธิพลอย่างแข็งกล้าของเสียม (สยาม)” “ใต้อํานาจสยาม” “สยามเอาดินแดนเขมร” “สยามตีเขมร” หรือ “สยามยึดครองดินแดนเขมร” เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์กัมพูชาในช่วงนี้ก็แสดงภาพความไม่พอใจของชาวกัมพูชาที่มีต่อประเทศเวียดนามที่รุกรานและแทรกแซงการเมืองภายในของกัมพูชาเช่นเดียวกัน

เหตุการณ์ที่พระองค์เอง (สมเด็จพระนารายณ์รามา) เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปรากฏในแบบเรียนประวัติศาสตร์สําหรับชั้นประถมศึกษาของกัมพูชาว่า

“…สยามเอาดินแดนพระตะบองและเสียมราบ (เสียมเรียบ) สยามขังพระองค์เองจนถึงปี ค.ศ. 1794 จึง พระราชทานให้พระองค์เสด็จมาปกครองกัมพูชา ส่วนยมราชแบนสยามตั้งเป็นผู้ว่าการเขตของเขตพระตะบองและเสียมราบ (เสียมเรียบ) ซึ่งสยามเอาเป็นของมัน…”

แบบเรียนประวัติศาสตร์เขมรสําหรับชั้นมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา ของตรึง เงีย (ตฺรึง งา) กล่าวถึงการที่ไทยได้เมืองพระตะบอง เสียมราบ (เสียมเรียบ) ว่า

“…ส่วนเจ้าเมืองเขตพระนคร (เสียมราบ) ต้องตั้งอยู่ใต้อํานาจของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) ดังนี้ เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1795 มา เขตพระตะบองและเขตพระนครถูกสยามได้ไปโดยสันติวิธี เฉพาะการสูญเสียดินแดนนี้นักประวัติศาสตร์บางคนได้โจทย์ถามว่ามีความยินยอมพร้อมเพรียงสงบอะไรอย่างหนึ่งระหว่างพระมหากษัตริย์ทั้งสองด้วยหรือไม่ ถ้าอย่างนั้นนี่เป็นรางวัลเฉพาะกษัตริย์สยามซึ่งได้รับรู้กษัตริย์เขมร แล้วยกให้ขึ้นเสวยราชย์หรืออย่างไร เขตนี้จึงตกอยู่ใต้อํานาจไทยมาจนถึง รัชกาลที่ 5… ราชพงศาวดารเขมรฉบับหนึ่งได้สนับสนุนเอกสารมีนัยคล้ายคลึงกับเอกสารสยามด้วย… แต่ยอมถวายสําหรับแต่แผ่นดินพระพุทธยอดฟ้าพระองค์เดียว”

แบบเรียนประวัติศาสตร์กัมพูชาบางฉบับก็กล่าวว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะขุนนางเขมรเป็นขบถมาเข้ากับฝ่ายไทย เช่น

“ในรัชกาลของพระองค์เอง (1794-1796) แบน (ออกญายมราช แบน-ผู้แปล) ได้กํากับเขตพระตะบอง และมหานคร (คือเขตเสียมราบ) มนตรีแบนกบฏได้กราบทูลเสด็จสยามนามจุฬาโลก (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช-ผู้แปล) ว่า ข้าพระกรุณาปรารถนาอยากให้เขตพระตะบอง และเสียมราบติดไปกับแผ่นดินสยาม ถ้าพระองค์ไม่ขัดพระราชหฤทัยขอทรงส่งพระราชสาสน์พร้อมทั้งลายพระหัตถ์ด้วยถวายเสด็จองค์เอง เพราะโดยอานุภาพของพระองค์ เสด็จกรุงกัมพูชาจะเกรงกลัว และพร้อมทั้งถวายเขตทั้งสองนี้มาแก่สยามอย่างแน่นอน เขตทั้งสองนี้ตกอยู่ในกํามือสยามในปี 1795

ในปีเดียวกันนั้นเองพระองค์เองได้เสด็จไปเมืองสยาม พระองค์เองก็มีบันทูลว่า ขอให้พระเจ้าสยามเอาเขตทั้งสองนี้ แต่ในเวลาที่พระองค์ เสด็จสยามยังมีพระชนม์อยู่ เมื่อสวรรคตไปต้องคืนให้เขมร เพียงแต่ล่วงมาหนึ่งปีเสด็จสยามไม่ทันสวรรคต พระองค์เองก็สุคตไปก่อนในปี 1796 ดังนั้นแล้ว พระตะบอง และมหานครก็ถูกไทยหลอกลวงเอาตลอดไป…”



เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (ชุ่ม) เจ้าเมืองพระตะบองคนสุดท้าย

บทบาทของไทยในรัชกาลสมเด็จพระอุทัยราชา (พระองค์จันท์) ปรากฏการกล่าวถึงในแบบเรียนประวัติศาสตร์กัมพูชาสําหรับชั้นประถมศึกษาว่า

“…สยามทําสิ่งต่าง ๆ ตามอําเภอใจ ในปี ค.ศ. 1810 พระเจ้ากรุงสยามสวรรคต พระองค์จันท์ทรงจัดให้พระอนุชาสองพระองค์คือ พระองค์สงวนและพระองค์อิ่มไปถวายบังคมพระบรมศพ และพระเจ้าแผ่นดินซึ่งเสวยราชย์ใหม่ เวลานั้นพระเจ้าสยามได้ตั้งพระองค์สงวนเป็นพระชัยเชษฐามหาอุปโยราช และพระองค์อิ่มเป็นพระศรีชัยเชษฐามหาอุปราช โดยไม่ได้ปรึกษากับพระเจ้าแผ่นดินเขมรเลย แล้วพระเจ้า สยามบัญชาให้เกณฑ์ราษฎรเขมรเอาไปรักษากรุงบางกอก…”

หรือแม้แต่ในรัชกาลสมเด็จพระหริรักษรามา (พระองค์ด้วง) แบบเรียนประวัติศาสตร์กัมพูชาก็กล่าวถึงเหตุการณ์ระหว่างไทยและกัมพูชาว่า

“…สยามได้ขอพระองค์ด้วงให้ลงนามสนธิสัญญาตัดเขตมลูไพร และทนเลเพา ซึ่งสยามยึดครองได้แต่ครั้งก่อน พระบาทองค์ด้วงทรงมีพระดํารัสว่า ‘ข้าไม่ให้อะไรสยามไปทั้งหมด เพียงแต่สยามแข็งแกร่งเชี่ยวชาญ สยามเก็บไว้ก่อนเถอะเขตใดซึ่งสยามยึดครองได้ตั้งแต่ก่อน ๆ นั้น’ ในเมืองใดที่สยามยึดครองได้ สยามได้ใช้อุบายเย็น คือบั่นทอนภาษีอากรจากประชาราษฎร์ แล้วนํากําไรเล็กน้อยไปประเทศของตน…”

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าภาพของไทยสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ในความรู้สึกของแบบเรียนประวัติศาสตร์กัมพูชาค่อนข้างเสนอภาพในด้านลบ และมักเสนอแต่ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดจากการรุกรานและการเข้าไปยึดครองดินแดนกัมพูชาบางส่วนของไทย รวมทั้งการเกณฑ์เอาชาวเขมรของไทยเพื่อนําไปเป็นกําลังในการสร้างบ้านเมืองไทยเท่านั้น อย่างไรก็ดีในแบบเรียนประวัติศาสตร์กัมพูชาเมื่อกล่าวถึงประเทศ เวียดนามก็ปรากฏภาพเวียดนามผู้รุกรานกัมพูชาที่คล้ายคลึงกัน

@@@@@@@

ความรู้สึกที่กัมพูชามีต่อไทยในศตวรรษที่ 19-20

แบบเรียนประวัติศาสตร์กัมพูชาเสนอภาพมุมมองและทัศนคติที่มีต่อไทยในศตวรรษที่ 19-20 ไม่มากนักเมื่อเทียบกับภาพในศตวรรษที่ 18 อาจเนื่องมาจากในช่วงนั้นเป็นเวลาที่ฝรั่งเศสเริ่มเข้ามายึดครองอินโดจีน

ภาพไทยที่ปรากฏในศตวรรษนี้จึงมีภาพในแง่บวกบ้าง เช่น กล่าวถึงความช่วยเหลือจากสยามในการ ปราบขบถพระองค์วัตถา ในปี ค.ศ. 1861 ตรงข้ามกับภาพฝรั่งเศสที่ถูกมองในแง่มุมที่เป็นผู้ปกครอง เช่น กล่าวว่าสนธิสัญญา ค.ศ. 1884 เหมือนเป็นแอกทับลงบนกัมพูชา เป็นต้น อย่างไรก็ดีแบบเรียนประวัติศาสตร์กัมพูชาก็แสดงออกถึงความยินดีเมื่อฝรั่งเศสช่วยให้กัมพูชาได้ดินแดนที่เสียไปคืนมา เช่น

“…แผ่นดินเขมรได้กลับคืนมาสู่เขมร ด้วยความช่วยเหลือของฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1904 สยามคืนเขตสตึงเตรง มลูไพร และทนเลเพา และในปี ค.ศ. 1906 สยามคืนเขตพระตะบอง และเสียมราบ เสียม เรียบ) อีก สยามได้เมืองสุรินทร์ บุรีรัมย์ และขุขันธ์…”

เช่นเดียวกับแบบเรียนประวัติศาสตร์เขมรสําหรับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา ของตรึง เงีย (ตฺรึง งา) ที่กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ว่า “…ส่วนแผ่นดินซึ่งต้องสูญเสียไปในมือสยามนั้น เขาทราบว่าในปี 1904 ประมาณเดือนหลังซึ่งพระบาทศรีสวัสดิ์ได้ขึ้นเสวยราชย์ ประเทศสยามได้คืนไปให้ฝรั่งเศสและฝรั่งเศสได้ส่งมอบคืนให้พระองค์ด้วย เขตตราด เกาะกง มลูไพร และทนเลเพา ในเวลาเดียวกันนั้น เขตสตึงเตรง และเมืองเสียมบาง ก็ถูกถอดถอนจากประเทศลาวและมอบคืนมาให้พระราชาเขมรด้วย

ตามสนธิสัญญาวันที่ 23 เดือนมีนาคม 1907 รัฐบาลสยามได้มอบให้ฝรั่งเศสซึ่งเขตพระตะบอง เสียมราบ และศรีโสภณ เพียงแต่ฝรั่งเศสต้องให้คืนไปซึ่งแผ่นดินด่านซ้ายและตราด เขตทั้งสามข้างบน ฝรั่งเศสได้มอบคืนมาให้เขมร ควรทราบว่า การกลับคืนเข้ามาในมาตุภูมิซึ่งแผ่นดินภาคอย่างสําคัญซึ่งต้องสูญเสียไปตั้งแต่สมัยพระยาอภัยภูเบศร์ แบน (1795) เป็นโชคชัยประการหนึ่งในนโยบายฝรั่งเศสในประเทศกัมพูชา ซึ่งมีจารึกไว้เป็นอนุสาวรีย์ตรงทิศใต้ของวัดพนมโฎนเพ็ญทุกวันนี้…”



บรรดาครู นักเรียน นักศึกษา ข้าราชการ และประชาชนในจังหวัดพระนครและธนบุรี ร่วมหลายหมื่นคนเดินขบวนแห่เรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส กำลังชุมนุมหน้ากระทรวงกลาโหม วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2483 (ภาพจากหนังสือ ไทยสมัยสร้างชาติ)

หนังสือ “ประวัติศาสตร์สังเขปเกี่ยวกับความสัมพันธ์เขมร-สยาม” ของแบน นุต กล่าวถึงความรู้สึกเกี่ยวกับความต้องการดินแดนพระตะบองและเสียมราบคืนจากไทยว่า

“…ในรัชกาลพระองค์ทั้งมวล พระบาทสมเด็จพระนโรดมที่ 1 พระองค์ไม่หยุดยืนแสวงทวงเอาเขตทั้งสองนั้นคืนมาเลย เพราะเขตทั้งสองนี้ล้วนแต่มีชนชาติเขมรอยู่ ส่วนอีกเขตหนึ่งนั้นเล่า มีปราสาทพระนคร (นครวัด) ซึ่งสยามไม่มีสิทธิ์อะไรเหนือถึงแม้แต่เล็กน้อยเลย จนเมื่อมาถึงปี 1904 จึงได้พระตะบองและพระนครคืนกลับมาเป็นดินแดนของเขมร…”

อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นไม่นานเมื่อไทยมีนโยบายความคิดแบบชาตินิยม และในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ค.ศ. 1939 สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ประเทศไทยได้เข้ายึดครองดินแดนเมืองพระตะบองและบางส่วนของเมืองเสียมราบทําให้กัมพูชาไม่พอใจมาก แบบเรียนประวัติศาสตร์เขมรของตรึง เงีย (ตฺรึง งา) ได้อธิบายว่าการรุกรานครั้งนี้ของไทยเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทําให้ พระบาทศรีสวัสดิ์มณีวงศ์ทิวงคตด้วยความเจ็บพระทัย

“…ในปี 1939 สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ปะทุขึ้น ประเทศสยามซึ่งมีวิวาทกับประเทศฝรั่งเศส และได้รับการสนับสนุนจากประเทศญี่ปุ่น และในที่สุดได้บีบสะกดเหนือประเทศฝรั่งเศสเดิมไปซึ่งเขตพระตะบองและแผ่นดินที่ตั้งอยู่ตรงเทือกเขาพนมดงรักและแนวเส้นรุ้งที่ 15 โดยเจ็บพระทัยกับความโลภจากสํานักสยามนี้ พระสุขภาพต้องทรุดโทรมอย่างรวดเร็ว แล้วพระบาทศรีสวัสดิ์มณีวงศ์ทรงเสวยทิวงคตในราตรีที่ 22 เดือนเมษายน 1941 ที่ โบกโก (บูกโค) ในพระชนมายุ 65 พรรษา…”

แม้แต่ในคําอุทิศของวรรณกรรมเขมรที่แต่งขึ้นในสมัยนั้นคือ นวนิยายเรื่อง “ผกาสรโปน” นิพนธ์โดย นู หาจ ก็มีข้อความกล่าวถึงความรู้สึกเจ็บปวดของชาวกัมพูชาที่มีต่อการรุกรานของกองทัพไทย ดังความตอนหนึ่งว่า

“…นวนิยายนี้ได้กรองเกิดขึ้นในสมัยซึ่งประเทศกัมพูชาต้องถูกแบ่งอาณาเขตข้างตะวันตกไปอยู่ภายใต้อํานาจประเทศใกล้เคียง คือระหว่าง 7 ปีมาแล้ว ดังนี้แล้วความรู้สึกถึงบ้านเกิดถึงญาติมิตรซึ่งพลัดไป แต่ละทิศทางพรมแดนอกุศลก็มีแต่ร้อนเข้าไปในตับในดีของเขมรทุกๆ คน ดังนี้แล้วที่ใดตําบลใดซึ่งเป็นที่รักของผู้แต่งจึงถูกกําลังของความระลึกผลักดันมาเป็นฉากในเรื่องนี้…”

นอกจากกัมพูชาจะกล่าวถึงความพยายามของไทยที่เข้าไปยึดครองดินแดนบางส่วนของกัมพูชาในยุคนี้แล้ว ในหนังสือ “สังคมวิชชาเขมร” สําหรับชั้นบรรจบกับชั้นอุดมศึกษา ซึ่ง เขียนโดย สร สารุน ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยอักษรศาสตร์พนมเปญ ยังได้กล่าวถึง “นโยบายรวบรวมชาติของสยาม” ไว้ด้วย โดยกล่าวว่า

“…รัฐบาลสยามได้ประกาศอย่างเป็นทางการในปี 1939 โดยกําหนดชื่อว่า ‘นโยบายชาตินิยมแผ่ขยายแผ่นดินของไทย’ คู่กันกับการเปลี่ยนชื่อประเทศสยามเป็นประเทศไทย นโยบายชาตินิยมแผ่ขยายดินแดนของไทยได้จัดขึ้นอย่างหมดจดที่สุด โดยหลวงวิจิตรวาทการ ในเวลาได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีสยาม (ที่ถูกคือจอมพล ป. พิบูลสงคราม-ผู้แปล)

นโยบายชาตินิยมแผ่ขยายดินแดนนี้มีกําลังสามารถ ให้ประเทศสยามกลืนเอาแผ่นดินเขมรได้โดยง่าย โดยมุ่ง หวังเอาแม่น้ำโขงเป็นพรมแดนร่วมกับญวน (มีเขียนไว้อย่างชัดเจนในหนังสือนโยบายชาตินิยมแผ่ขยายดินแดนของไทย นิพนธ์โดยหลวงวิจิตรวาทการ) และนโยบายนี้จะประพฤติไปตามวิธีประมวลชนชาติของไทยโดยจัดไว้ว่า เขมรมีประเพณี ขนบธรรมเนียม ความเชื่อ ศาสนา เหมือนประเทศไทยซึ่งก็คือเป็นชนชาติไทยดุจกัน เหตุนี้แผ่นดินเขมรทั้งหมดต้องรวมเป็นดินแดนของชาติไทย…”



จอมพล ป. พิบูลสงคราม กล่าวปราศรัยเรียกร้องดินแดนคืน หน้ากระทรวงกลาโหม 8 ตุลาคม พ.ศ. 2483

อย่างไรก็ดีเมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม ไทยจึงต้องคืนดินแดนเหล่านี้ให้กับกัมพูชาในเวลาต่อมา เหตุการณ์นี้ถูกเขียนลงในแบบเรียนประวัติศาสตร์กัมพูชาเพียงว่า

“สยามคืนแผ่นดินให้เขมรตั้งแต่ปี ค.ศ. 1941 ด้วยอํานาจทัพญี่ปุ่นเป็นคนชั่วร้าย สยามได้รับดินแดนจากเขมร ได้แก่ เขตพระตะบอง ส่วนหนึ่งของเสียมราบ ส่วนหนึ่งของเขตกําปงธม ส่วนหนึ่งของเขตสตึงเตรง ในวันที่ 9 ธันวาคม ค.ศ. 1946 คือหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลสยามคืนอาณาเขตทั้งหมดมาให้กัมพูชา…”

หลังจากเหตุการณ์นี้แล้วหนังสือประวัติศาสตร์กัมพูชาไม่ได้กล่าวถึงไทยอีกจนถึงปี ค.ศ. 1962 ซึ่งเกิดเหตุการณ์กรณีเรียกร้องเขาพระวิหารคืนจากไทย แบบเรียนประวัติศาสตร์กัมพูชาให้รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้เพียงสั้น ๆ กล่าวคือ

“…ปราสาทพระวิหารได้กลับคืนมาเป็นของเขมร ปราสาทพระวิหารเป็นปราสาทเขมรหลังหนึ่ง ซึ่งได้สร้างขึ้นบนเทือกเขาพนมดงรัก ในเขตพระวิหาร ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1953 สยามได้นําทัพมากํากับเอาปราสาทของเรานี้ด้วยการข่มขู่ เขมรเราได้ร้องเรียนถึงศาลโลกที่กรุงเฮก ในวันที่ 15 มิถุนายน ปี ค.ศ. 1962 ตุลาการนั้นได้ตัดสินความให้เขมรชนะ แล้วต้องให้สยามมอบปราสาทพระวิหารคืนมาให้เขมร…”

เหตุการณ์นี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นเหตุการณ์ทางการเมืองที่รุนแรงระหว่างประเทศไทยและกัมพูชา ซึ่งปรากฏเป็นเรื่องสุดท้ายในแบบเรียนประวัติศาสตร์กัมพูชา



ซุ้มประตูด้านทิศตะวันออก ปราสาทเขาพระวิหาร

บทสรุป

หลังจากกรณีเขาพระวิหารไม่นาน ประเทศกัมพูชาได้เข้าสู่ภาวะสงครามกลางเมืองที่ดําเนินต่อมาอีกหลายสิบปี และแม้เมื่อมีการฟื้นฟูประเทศแล้ว แต่แบบเรียนประวัติศาสตร์กัมพูชาก็ยังคงใช้ตําราที่เขียนขึ้นในช่วงก่อนเกิดสงครามกลางเมืองเป็นแนวทางในการเรียนการสอน

รวมทั้งการที่รัฐบาลกัมพูชามีแนวทางการเมืองที่เน้นเรื่องชาตินิยม จึงทําให้แนวทางในการศึกษาประวัติศาสตร์ในประเทศกัมพูชายังคงเป็นไปในทิศทางนี้ ซึ่งแน่นอนว่าแบบเรียนประวัติศาสตร์ของกัมพูชาย่อมส่งผลต่อผู้เรียนคือชาวกัมพูชา อันก่อให้เกิดแนวคิดและทัศนคติในลักษณะที่เป็นชาตินิยมตามไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จากข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับมุมมองของกัมพูชาที่มีต่อไทย ในแบบเรียนประวัติศาสตร์กัมพูชา อาจช่วยให้เราเข้าใจความคิดและทัศนคติของชาวกัมพูชาที่มีต่อไทยบ้างไม่มากก็น้อย

อย่างไรก็ตามนอกจากจะทราบความคิดที่ชาวกัมพูชามี ต่อประเทศไทยแล้ว สิ่งหนึ่งที่ควรศึกษาต่อไปคือมิติทางวัฒนธรรมของกัมพูชาเพื่อช่วยให้เราเข้าใจกัมพูชาประเทศเพื่อนบ้านของเราได้อย่างถูกต้องชัดเจน รวมทั้งน่าจะมีการนําแบบเรียนประวัติศาสตร์กัมพูชาฉบับต่าง ๆ มาศึกษาวิเคราะห์กับ แบบเรียนประวัติศาสตร์ไทยเพื่อขยายองค์ความรู้เกี่ยวกับประเทศกัมพูชาในโอกาสต่อไปอีกด้วย






อ่านเพิ่มเติม :-
    เบื้องหลังพระนเรศวรตีละแวก เอี่ยวการเมืองกัมพูชา-สเปน สู่คำถาม “เลือดศัตรูล้างพระบาท”.?
    พระนเรศวร ตีละแวกแล้วทำ “พิธีปฐมกรรม”…นำ “เลือดศัตรูล้างพระบาท” จริงหรือ.?

หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “เขมร ‘เขม่น’ ไทย ในแบบเรียนประวัติศาสตร์กัมพูชา” เขียนโดย รศ.ดร. ศานติ ภักดีคำ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมีนาคม 2546


ขอขอบคุณ :-
ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2546
ผู้เขียน : รศ.ดร. ศานติ ภักดีคำ
เผยแพร่ : วันพฤหัสที่ 26 มกราคม พ.ศ.2566
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก : เมื่อ 1 ตุลาคม 2562
website : https://www.silpa-mag.com/history/article_39654
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กุมภาพันธ์ 01, 2023, 06:00:02 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ