ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ธรรมอันน่าอัศจรรย์ ๘ ประการ ในธรรมวินัยนี้ที่ภิกษุอภิรมย์อยู่ | ปหาราทสูตร  (อ่าน 205 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28366
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0




ธรรมอันน่าอัศจรรย์ ๘ ประการ ในธรรมวินัยนี้ที่ภิกษุอภิรมย์อยู่ | ปหาราทสูตร

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ควงไม้สะเดา ที่นเฬรุยักษ์สิงสถิต ใกล้กรุงเวรัญชา ครั้งนั้น ท้าวปหาราทะจอมอสูร เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท้าวปหาราทะจอมอสูรว่า
"ดูกรปหาราทะ พวกอสูรย่อมอภิรมย์ในมหาสมุทร บ้างหรือ.?"

ท้าวปหาราทะจอมอสูรกราบทูลว่า
"พวกอสูรย่อมอภิรมย์ในมหาสมุทร ในมหาสมุทรมีธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมา ๘ ประการ ที่อสูรอภิรมย์อยู่"

ท้าวปหาราทะจอมอสูรทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
"ก็ภิกษุทั้งหลายย่อมอภิรมย์ในธรรมวินัยนี้ บ้างหรือ.?"

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
"ภิกษุทั้งหลายย่อมอภิรมย์ในธรรมวินัยนี้ ในธรรมวินัยนี้ มีธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมา ๘ ประการ ที่ภิกษุเห็นแล้ว จึงอภิรมย์อยู่"

    @@@@@@@@

    ๑. มหาสมุทรลาด ลุ่มลึกลงไปโดยลำดับ ไม่โกรกชันเหมือนเหว ฉันใด ในธรรมวินัยนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีการศึกษา การกระทำ การปฏิบัติ ไปตามลำดับ มิใช่ว่าจะมีการบรรลุอรหัตผลโดยตรง

    ๒. มหาสมุทรเต็มเปี่ยมอยู่เสมอ ไม่ล้นฝั่ง ฉันใด สาวกทั้งหลายของเรา ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่ล่วงสิกขาบทที่เราบัญญัติไว้แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต

    ๓. มหาสมุทรไม่เกลื่อนด้วยซากศพ เพราะในมหาสมุทร  คลื่นย่อมซัดเอาซากศพเข้าหาฝั่งให้ขึ้นบก ฉันใด  ฉันนั้นเหมือนกัน บุคคลผู้ทุศีล มีบาปธรรม มีสมาจารไม่สะอาดน่ารังเกียจ ปกปิดกรรมชั่ว มิใช่สมณะ แต่ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ มิใช่ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ แต่ปฏิญญาว่าประพฤติพรหมจรรย์ เสียใน ชุ่มด้วยราคะ เป็นเพียงดังหยากเยื่อ สงฆ์ย่อมไม่อยู่ร่วมกับบุคคลนั้น ประชุมยกวัตรเธอเสียทันที

    ๔. แม่น้ำสายใหญ่ ๆ ไหลไปถึงมหาสมุทรแล้ว ย่อมละนามและโคตรเดิมหมด ถึงความนับว่ามหาสมุทรนั่นเอง ฉันใด ฉันนั้นเหมือนกัน วรรณะ ๔ เหล่านี้ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ออกบวชเป็นบรรพชิตแล้ว ย่อมละนามและโคตรเดิมเสีย ถึงความนับว่าสมณศากยบุตรทั้งนั้น

    ๕. แม่น้ำทุกสายในโลก ย่อมไหลไปรวมยังมหาสมุทร และสายฝนจากอากาศตกลงสู่มหาสมุทร มหาสมุทรก็มิได้จะพร่องหรือเต็มเพราะน้ำนั้นๆ ฉันใด  ฉันนั้นเหมือนกัน ถึงแม้ภิกษุเป็นอันมากจะปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ นิพพานธาตุ ก็มิได้ปรากฏว่าจะพร่องหรือเต็มด้วยภิกษุนั้น

    ๖. มหาสมุทรมีรสเดียว คือ รสเค็ม ฉันใด ฉันนั้นเหมือนกัน ธรรมวินัยนี้มีรสเดียว คือ วิมุตติรส

    ๗. มหาสมุทรมีรัตนะมากมายหลายชนิด ฉันใด ฉันนั้นเหมือนกัน ธรรมวินัยนี้ก็มีรัตนะมากมายหลายชนิด รัตนะในธรรมวินัยนั้น มีดังนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔  สัมมัปปธาน ๔  อิทธิบาท ๔  อินทรีย์ ๕  พละ ๕  โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘

    ๘. มหาสมุทรเป็นที่พำนักอาศัยของสิ่งที่มีชีวิตใหญ่ ๆ ฉันใด ฉันนั้นเหมือนกัน ธรรมวินัยนี้ก็เป็นที่พำนักอาศัยแห่งสิ่งมีชีวิตใหญ่ ๆ ดังนี้ คือพระโสดาบัน ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล  พระสกทาคามี ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งสกทาคามิผล พระอนาคามี ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งอนาคามิผล พระอรหันต์ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อความเป็นพระอรหันต์ 

 



ขอขอบคุณ : https://uttayarndham.org/buddhology/6484/ธรรมอันน่าอัศจรรย์-๘-ประการ-ในธรรมวินัยนี้ที่ภิกษุอภิรมย์อยู่-ปหาราทสูตร 
ปหาราทสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ ข้อที่ ๑๐๙
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ