ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: เอาใจคนอื่น แบบไม่สนใจตัวเอง : ความเป็นมิตรที่ (อาจ) เป็นพิษต่อใจ  (อ่าน 292 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28439
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0




People-Pleaser เอาใจคนอื่น แบบไม่สนใจตัวเอง : ความเป็นมิตรที่ (อาจ) เป็นพิษต่อใจ

Summary

    • แม้คำว่า People-Pleaser ไม่มีคำแปลที่ตรงตัวในภาษาไทย แต่เชื่อว่าบุคลิกเช่นนี้ย่อมมีปรากฏอยู่ในทุกสังคม แม้ดูเผินๆ คนที่มีบุคลิกแบบนี้จะเป็นคนที่น่าคบหา เพราะยอมตามใจคนอื่นทุกอย่าง แต่สำหรับตัวของพวกเขาเอง ความเป็นมิตรนี้ อาจกลายเป็นพิษต่อจิตใจโดยไม่ทันรู้ตัวก็เป็นได้
    • เพราะเจ้าตัวมักหลงคิดว่า การทำให้คนอื่นรู้สึกดี เป็นหน้าที่ของตนเอง และหากทำไม่สำเร็จก็มักรู้สึกไร้ค่า เพราะคุณค่าของพวกเขาขึ้นอยู่กับความพอใจของคนอื่น หรือหากทำให้คนอื่นพอใจได้ ก็จะได้รับการยอมรับ เมื่อได้รับการยอมรับก็จะทำให้พวกเขารู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า
    • การเอาอกเอาใจคนอื่นๆ จะกลายเป็นปัญหา เมื่อการกระทำดังกล่าว เกิดขึ้นเพราะเราคาดหวังการยอมรับจากอีกฝ่าย เพื่อสร้างความมั่นคงทางใจ และการเห็นคุณค่าในตัวเองของเรา – เพราะนั่นจะหมายความว่า เราผูกความรู้สึกของเราไว้กับคนอื่นๆ อยู่เสมอ




คุณค่าการมีชีวิตอยู่ของแต่ละคนย่อมแตกต่างกันไป

สำหรับคนกลุ่มหนึ่ง คุณค่าของพวกเขาอาจอยู่ที่การทำให้คนอื่นๆ มีความสุขเพื่อให้ตนเองเป็นที่ยอมรับ ซึ่งในภาษาอังกฤษ มีคำเรียกคนกลุ่มนี้ว่า People-Pleaser ที่หมายถึง ‘คนที่ชอบเอาอกเอาใจผู้อื่น’ นั่นเอง

แม้คำว่า People-Pleaser ไม่มีคำแปลที่ตรงตัวในภาษาไทย แต่เชื่อว่าบุคลิกเช่นนี้ย่อมมีปรากฏอยู่ในทุกสังคม แม้ดูเผินๆ คนที่มีบุคลิกแบบนี้จะเป็นคนที่น่าคบหา เพราะยอมตามใจคนอื่นทุกอย่าง

แต่สำหรับตัวของพวกเขาเอง ความเป็นมิตรนี้ อาจกลายเป็นพิษต่อจิตใจโดยไม่ทันรู้ตัวก็เป็นได้

@@@@@@@

รู้จัก People-Pleaser คนใจดี ที่ใจร้ายกับตัวเอง

เข้ากับคนอื่นง่าย, ชอบช่วยเหลือ, เห็นอกเห็นใจ, เป็นกันเอง และจิตใจดี

คุณสมบัติทั้งหมดนี้ มีอยู่ใน People-Pleaser คนที่ใครๆ ก็ชื่นชอบ เพราะพวกเขาใจดี มีน้ำใจ อีกทั้งยังโอนอ่อนผ่อนปรน ว่าอะไรก็ว่าตามกัน ไม่ขัด ไม่เถียง ไม่มีปากเสียงใดๆ

โดยรวมแล้วคนที่มีบุคลิกดังกล่าว จัดได้ว่าเป็นคนที่น่าคบหาคนหนึ่ง แต่ในทางกลับกัน การใจดีต่อผู้อื่นก็มักแลกมาด้วยการเสียสละความต้องการของตัวเอง

เพราะความจริงแล้ว ไม่มีมนุษย์คนใดในโลกที่จะเห็นดีเห็นงามกับคนอื่นทุกอย่าง บางครั้ง อาจมีบางสิ่งที่เราไม่เห็นด้วย ไม่อยากทำ แต่สำหรับ People-Pleaser การปฏิเสธหรือแสดงความต้องการของตัวเอง อาจทำได้ยาก เพราะพวกเขาต้องคอยเอาอกเอาใจทุกคนเพื่อให้ตัวเองได้รับการยอมรับ

    "การเลี้ยงดูในวัยเด็กจึงมีส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้คนคนหนึ่งเกิดความรู้สึกว่า พ่อแม่จะไม่ยอมรับ หากแสดงความต้องการหรือความรู้สึกแท้จริงของตนเอง และเมื่อสะสมอยู่ในระดับจิตใต้สำนึก จึงแสดงออกเป็นพฤติกรรมเอาอกเอาใจคนอื่น จนละเลยความรู้สึกและความต้องการตัวเองโดยไม่รู้ตัว"

เมื่อเป็นเช่นนี้ People-Pleaser จึงเสียสละเพื่อคนอื่นมากมาย ทำให้เมื่อมองเผินๆ หลายคนจึงมักคิดว่า พวกเขาคือคนใจดี มีน้ำใจทั่วๆ ไป แต่ลึกลงไปภายใต้ความใจดีนั้น พวกเขาอาจกำลังใจร้ายกับตัวเองอยู่ก็เป็นได้

เพราะเจ้าตัวมักหลงคิดว่า การทำให้คนอื่นรู้สึกดี เป็นหน้าที่ของตนเอง และหากทำไม่สำเร็จก็มักรู้สึกไร้ค่า เพราะคุณค่าของพวกเขาขึ้นอยู่กับความพอใจของคนอื่น หรือหากทำให้คนอื่นพอใจได้ ก็จะได้รับการยอมรับ เมื่อได้รับการยอมรับก็จะทำให้พวกเขารู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า

ทั้งนี้ ยังพบว่าผู้ที่มีบุคลิกแบบ People-Pleaser มักเติบโตมาในครอบครัวที่บกพร่อง (Dysfunctional Family) ที่พ่อแม่ไม่ได้สอนให้ลูกคิดและพัฒนาอัตลักษณ์ด้วยตัวเอง แต่กำหนดให้เดินตามกรอบของครอบครัว ซึ่งหากลูกยอมทำตามก็จะได้รับการยอมรับจากพ่อแม่

การเลี้ยงดูในวัยเด็กจึงมีส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้คนคนหนึ่งเกิดความรู้สึกว่า พ่อแม่จะไม่ยอมรับ หากแสดงความต้องการหรือความรู้สึกแท้จริงของตนเอง และเมื่อสะสมอยู่ในระดับจิตใต้สำนึก จึงแสดงออกเป็นพฤติกรรมเอาอกเอาใจคนอื่น จนละเลยความรู้สึกและความต้องการตัวเองโดยไม่รู้ตัว


@@@@@@@

เข้าใจ People-Pleaser กับอารมณ์เบื้องหลังรอยยิ้ม

แม้เบื้องหน้าผู้ที่มีบุคลิก People-Pleaser จะดูอารมณ์เย็น ใจดี เป็นมิตร ยิ้มง่าย แต่ลึกๆ ในจิตใจของพวกเขาอาจมีอารมณ์เชิงลบซ่อนอยู่ ซึ่งบางครั้ง ตัวเองก็อาจไม่รู้ตัว

เพื่อให้เข้าใจตนเอง และเพื่อให้คนอื่นๆ เข้าใจพฤติกรรมของ People-Pleaser มากขึ้น ลองมาดูกันว่ามีอารมณ์เชิงลบอะไรบ้างที่อยู่ภายใต้รอยยิ้มนั้น

    • ไม่เห็นคุณค่าในตนเอง : บ่อยครั้งคนที่เอาอกเอาใจคนอื่นตลอดเวลา มักมองข้ามอารมณ์และความต้องการของตนเอง ซึ่งมีผลมาจากการขาดความมั่นใจและไม่เห็นคุณค่าในตนเอง

    • ขาดความมั่นคงทางจิตใจ : ทุกคนย่อมต้องการการยอมรับจากคนอื่นๆ ซึ่งสำหรับคนที่มีความมั่นคงทางใจ หากไม่ได้รับการยอมรับเพราะยืนหยัดในความคิดของตัวเอง พวกเขาก็มักไม่ได้รับผลกระทบทางใจมากนัก ในทางกลับกัน People-Pleaser มักรู้สึกไม่มั่นคงทางใจ หากตนเองถูกปฏิเสธจากผู้อื่น การเอาอกเอาใจ ยอมทำตามคนอื่นๆ จึงเป็นกลไกป้องกันจิตใจอย่างหนึ่ง

    • ฝังใจประสบการณ์ร้ายในอดีต : การถูกกระทบกระเทือนทางร่างกาย-จิตใจ ทำให้เกิดบาดแผลทางใจ(Trauma) ก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดบุคลิกแบบ People-Pleaser เพราะการตามใจและคล้อยตามคนอื่นอย่างว่าง่าย ช่วยป้องกันไม่ให้ผู้อื่นมีพฤติกรรมคุกคามได้

นอกจากอารมณ์ต่างๆ ที่เป็นสาเหตุของบุคลิกชอบเอาอกเอาใจคนอื่นแล้ว การเป็นคนสมบูรณ์แบบ (Perfectionist) ที่ต้องการให้ทุกอย่าง ทุกคน ‘เป๊ะ’ แม้กระทั่งความคิดและความรู้สึกของผู้อื่น ก็อาจเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้มีบุคลิกแบบ People-Pleaser ได้

อย่างไรก็ตาม การแยกผู้ที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่อย่างแท้จริง (Altruism) จาก People-Pleaser ดูได้จากเหตุผลของการกระทำ กล่าวคือ People-Pleaser ใจดีต่อผู้อื่นเพื่อให้ตนเองเป็นที่ยอมรับ คุณค่าของตัวเองขึ้นอยู่กับการยอมรับของคนอื่น ขณะที่ผู้เอื้อเฟื้ออย่างแท้จริง มักทำไปเพราะ ‘รู้’ ว่าตัวเองสามารถช่วยได้ และตนเองมีคุณค่ามากพอจะแบ่งปันกับผู้อื่น โดยไม่ได้กังวลว่าคนอื่นจะรู้สึกอย่างไร หรือจะยอมรับตนเองหรือไม่



ยอมรับ ว่า ‘การให้ ≠ ความสุข’ เสมอไป

การเอาอกเอาใจ ทำตามความต้องการของคนอื่นๆ อาจไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป เพราะนั่นหมายความว่าเรามีความห่วงใย ใส่ใจคนรอบข้าง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความสัมพันธ์ยั่งยืน

แต่ถึงอย่างนั้น การเอาอกเอาใจคนอื่นๆ จะกลายเป็นปัญหา เมื่อการกระทำดังกล่าว เกิดขึ้นเพราะเราคาดหวังการยอมรับจากอีกฝ่าย เพื่อสร้างความมั่นคงทางใจ และการเห็นคุณค่าในตัวเองของเรา – เพราะนั่นจะหมายความว่า เราผูกความรู้สึกของเราไว้กับคนอื่นๆ อยู่เสมอ

เมื่อเป็นเช่นนี้ ความสุขจากการให้จึงไม่อาจเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน เมื่อ People-Pleaser ทุ่มเทเวลา เสียสละความต้องการของตัวเอง เพื่อทำให้คนอื่นพอใจ แต่ลึกๆ ก็ยังไม่มีความสุข เพราะยังต้องเผชิญกับความรู้สึกเชิงลบ ได้แก่

    • โกรธและหงุดหงิด : แม้เบื้องหน้า People-Pleaser จะดูมีความสุขกับการได้เอาอกเอาใจ ช่วยเหลือคนอื่น แต่บ่อยครั้งลึกๆ ก็ยังรู้สึกโกรธและหงุดหงิด เพราะการช่วยเหลือนั้นไม่ได้เกิดจากความเต็มใจ หรือทำเพราะเป็นภาระผูกพัน ไม่กล้าปฏิเสธ ในที่สุดก็จะกลายเป็นวัฏจักรของการช่วยเหลือใครสักคน รู้สึกโกรธว่าพวกเขาเอาเปรียบ และรู้สึกเสียใจกับตัวเองที่รู้สึกเช่นนั้น วนเวียนไม่จบสิ้น

    • กังวลและเครียด : ความพยายามให้คนอื่นมีความสุข ส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจของ People-Pleaser อย่างมาก เพราะการบริหารอารมณ์คนอื่นเป็นเรื่องเหนือการควบคุม คนที่คอยเอาอกเอาใจผู้อื่นจึงเผชิญกับความเครียดบ่อยครั้ง แม้ว่าการช่วยเหลือคนอื่นโดยตัวของมันเองแล้ว เป็นสิ่งที่ดีต่อสุขภาพจิต แต่หากไม่เหลือเวลาให้กับการดูแลจิตใจตัวเอง ก็อาจส่งผลให้มีอาการเครียดเรื้อรังได้

    • หมดพลังใจ : เมื่อทุ่มทั้งแรงกายแรงใจ เพื่อทำให้คนอื่นๆ มีความสุข หมายความว่าเราจะไม่มีแรงเหลือพอสำหรับดูแลตัวเอง โดยมีการศึกษาที่ระบุว่า พลังของจิตใจและทักษะการควบคุมตนเองนั้นมีอยู่จำกัด หากเราทุ่มเทพลังเหล่านั้นไปกับการทำให้คนอื่นพอใจ เราก็อาจไม่เหลือพลังใจไว้ทำในสิ่งที่เราต้องการ

    • สับสนในตัวเอง : People-Pleaser มักซ่อนความต้องการและความชื่นชอบของตัวเอง เพื่อที่จะได้ทำตามใจผู้อื่นได้เต็มที่ ซึ่งการทำเช่นนี้เท่ากับว่า พวกเขาไม่ได้ใช้ชีวิตตามความจริง ไม่ได้เป็นตัวของตัวเอง บ่อยครั้งจึงมักรู้สึกว่าจริงๆ แล้ว เราเป็นคนอย่างไรกันแน่ เราชอบอะไร และเรากำลังทำอะไร? – ความสับสนนี้นำไปสู่ปัญหาความสัมพันธ์ เพราะเมื่อไม่เปิดเผยความต้องการและความรู้สึกที่แท้จริง คนใกล้ตัวก็ไม่อาจรู้จักและเข้าใจตัวตนที่แท้จริงได้

    • รู้สึกไร้ค่า : การยอมทุ่มสุดตัวราวกับเป็นหน้าที่ อาจทำให้คนอื่นๆ ไม่เห็นคุณค่าในสิ่งที่ทุ่มเทลงไปเท่าที่ควร คนทั่วไปมักไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าพวกเขากำลังเอาเปรียบ People-Pleaser อยู่ ด้วยบุคลิกที่ยินดีจะช่วยอย่างเต็มใจ ทำให้คนอื่นๆ ไม่ได้ตระหนักว่า คนเหล่านี้ได้เสียสละจนสุดตัวแล้ว และเมื่อไม่มีใครมองเห็นความเสียสละนั้น People-Pleaser ก็มักรู้สึกไร้ค่า ตามมาด้วยความหงุดหงิด, เครียด, หมดพลังใจ, สับสนในตัวเอง วนเวียนอยู่อย่างนี้ไม่จบสิ้น


@@@@@@@

หยุดทุ่มเพื่อคนอื่นทั้งใจ เก็บพลังไว้ดูแลใจตัวเอง (บ้าง)

นักจิตวิทยาแนะนำว่าเมื่อ People-Pleaser เริ่มตระหนักว่า การทุ่มเทเพื่อคนอื่นมากเกินไป ไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพจิตใจของตัวเอง การปรับเปลี่ยนควรเริ่มจากเรื่องเล็กๆ ก่อน

อย่างการปฏิเสธคำขอร้องในเรื่องเล็กน้อย เช่น หากเพื่อนชวนให้อยู่ทำงานดึกเป็นเพื่อน แต่วันนั้น คุณรู้สึกเหนื่อยมาก ก็ควรปฏิเสธอย่างตรงไปตรงมา แต่ไม่ควรหาคำแก้ตัวให้การปฏิเสธของตัวเอง เพราะเมื่อคุณเริ่มอธิบายว่าเพราะอะไรถึงทำตามคำขอไม่ได้ อีกฝ่ายก็อาจเริ่มปรับเปลี่ยนคำขอเพื่อให้คุณสามารถช่วยเหลือเขาได้ เช่น หากไม่อยากทำงานดึกกับเพื่อน โดยแก้ตัวว่าจะไม่มีรถกลับบ้าน เพื่อนอาจอาสาไปส่ง ทำให้คุณต้องหาคำแก้ตัวไม่สิ้นสุด

ดังนั้น เพียงยืนยันสั้นๆ ว่า ‘ไม่’ หรือ ‘ไม่สะดวกจริงๆ’ แค่นั้นก็เพียงพอแล้ว

    "มนุษย์จะพัฒนาความสัมพันธ์อันดีกับคนรอบตัวได้ ไม่ใช่เพราะยอมเสียสละความสุข เก็บซ่อนความต้องการของตัวเองไว้ภายใน แต่ต้องเริ่มจากการเรียนรู้ที่จะเคารพความต้องการของตัวเอง ซื่อตรงกับความรู้สึก กล้าปฏิเสธอย่างมีเหตุผล โดยไม่ต้องกังวลว่าจะได้รับการยอมรับหรือไม่"

ทุกครั้งที่เริ่มปฏิเสธ เราก็จะเริ่มห่างจากการเป็น People-Pleaser ไปเรื่อยๆ ขอให้เข้าใจว่าสิ่งนี้ไม่ได้หมายความว่า คุณเป็นคนไม่ดี ไม่น่าคบหา แต่แสดงว่าคุณกำลังเรียนรู้ที่จะให้ความสำคัญกับตัวเองบ้างต่างหาก

ความสัมพันธ์ที่ดี ควรมีทั้งให้และรับอย่างสมดุล หากฝ่ายใดเสียสละให้อยู่ฝ่ายเดียว แม้จะเต็มใจก็ตาม ความสัมพันธ์นั้นอาจไม่ใช่ความสัมพันธ์ที่ดีต่อสุขภาพกายใจเท่าใดนัก

@@@@@@@

สุดท้ายแล้ว หากใครสักคนจะเป็น People-Pleaser ก็ไม่ใช่เรื่องผิด ตราบเท่าที่การเอาอกเอาใจคนอื่นไม่ทำร้ายจิตใจตนเอง เพราะต้องไม่ลืมว่า มนุษย์จะพัฒนาความสัมพันธ์อันดีกับคนรอบตัวได้ ไม่ใช่เพราะยอมเสียสละความสุข เก็บซ่อนความต้องการของตัวเองไว้ภายใน แต่ต้องเริ่มจากการเรียนรู้ที่จะเคารพความต้องการของตัวเอง ซื่อตรงกับความรู้สึก กล้าปฏิเสธอย่างมีเหตุผล โดยไม่ต้องกังวลว่าจะได้รับการยอมรับหรือไม่

เพราะหากเราไม่ยอมรับและเห็นคุณค่าในตัวเองแล้ว ก็คงยากที่จะให้คนอื่นรู้สึกเช่นนั้นกับเรา






อ้างอิง : verywellmind.com, medium.com
Thank to : https://plus.thairath.co.th/topic/everydaylife/101647
Thairath Plus › Everyday Life › Lifestyle | 13 มิ.ย. 65
creator : สุภาวดี ไชยชลอ
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ