ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: กังขาตรณวิสุทธิ | โสฬสปัญหา | ว่าด้วยการสดุดีธรรมเป็นเหตุให้ถึงฝั่ง  (อ่าน 244 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28420
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



กังขาตรณวิสุทธิ | โสฬสปัญหา | ว่าด้วยการสดุดีธรรมเป็นเหตุให้ถึงฝั่ง

(๑) อชิตปัญหา

อชิตมาณพมีโอกาสอันพระสัมพุทธเจ้ากระทำแล้วนั่งลงประนมอัญชลี ทูลถามปัญหาแรกกะพระตถาคต ณ ที่นั้นว่า

โลกคือหมู่สัตว์อันอะไรหุ้มห่อไว้ โลกย่อมไม่แจ่มแจ้งเพราะอะไร พระองค์ตรัสอะไรว่า เป็นเครื่องฉาบทาโลกไว้ อะไรเป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น

พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า

ดูกรอชิตะ โลกอันอวิชชาหุ้มห่อไว้ โลกไม่แจ่มแจ้งเพราะความตระหนี่ เรากล่าวตัณหาว่าเป็นเครื่องฉาบทาโลกไว้ ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น
     
อ. กระแสทั้งหลายย่อมไหลไปในอารมณ์ทั้งปวง อะไรเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย ขอพระองค์จงตรัสบอกเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย กระแสทั้งหลายอันบัณฑิตย่อมปิดได้ด้วยธรรมอะไร
     
พ. ดูกรอชิตะ สติเป็นเครื่องกั้นกระแสในโลก เรากล่าวสติว่าเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย กระแสเหล่านั้นอันบัณฑิตย่อมปิดได้ด้วยปัญญา
     
อ. ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ปัญญา สติ และนามรูป ธรรมทั้งหมดนี้ย่อมดับไป ณ ที่ไหน พระองค์อันข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ขอจงตรัสบอกปัญหาข้อนี้แก่ข้าพระองค์เถิด
     
พ. ดูกรอชิตะ เราจะบอกปัญหาที่ท่านได้ถามแล้วแก่ท่าน นามและรูปย่อมดับไปไม่มีส่วนเหลือ ณ ที่ใด สติและปัญญานี้ย่อมดับไป ณ ที่นั้นเพราะความดับแห่งวิญญาณ
     
อ. ชนเหล่าใดผู้มีธรรมอันพิจารณาเห็นแล้ว และชนเหล่าใดผู้ยังต้องศึกษาอยู่เป็นอันมากมีอยู่ในโลกนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ พระองค์ผู้มีปัญญารักษาตน อันข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ขอจงตรัสบอกความเป็นไปของชนเหล่านั้นแก่ข้าพระองค์เถิด
     
พ. ภิกษุไม่กำหนัดยินดีในกามทั้งหลาย มีใจไม่ขุ่นมัว ฉลาดในธรรมทั้งปวง มีสติ พึงเว้นรอบ

   
(๒) ติสสเมตเตยยปัญหา
     
ติสสเมตเตยยมาณพทูลถามปัญหาว่า

ใครชื่อว่าผู้ยินดีในโลกนี้ ความหวั่นไหวทั้งหลายย่อมไม่มีแก่ใคร ใครรู้ส่วนทั้งสอง (คืออดีตกับอนาคต) แล้วไม่ติดอยู่ในส่วนท่ามกลาง(ปัจจุบัน) ด้วยปัญญา พระองค์ตรัสสรรเสริญใครว่า เป็นมหาบุรุษ ใครล่วงตัณหาเครื่องร้อยรัดในโลกนี้ได้

พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ดูกรเมตเตยยะ ภิกษุเห็นโทษในกามทั้งหลาย แล้วประพฤติพรหมจรรย์ มีตัณหาปราศไปแล้ว มีสติทุกเมื่อ พิจารณาเห็นธรรมแล้ว ดับกิเลสได้แล้ว ชื่อว่าผู้ยินดีในโลกนี้ ความหวั่นไหวทั้งหลายย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ภิกษุนั้นรู้ซึ่งส่วนทั้งสองแล้วไม่ติดอยู่ในส่วนท่ามกลางด้วยปัญญา เรากล่าวสรรเสริญภิกษุนั้นว่าเป็นมหาบุรุษ ภิกษุนั้นล่วงตัณหาเครื่องร้อยรัดในโลกนี้เสียได้
                     
(๓) ปุณณกปัญหา
     
ปุณณกมาณพทูลถามปัญหาว่า

ข้าพระองค์มีความต้องการด้วยปัญหา จึงมาเฝ้าพระองค์ผู้ไม่มีความหวั่นไหว ผู้ทรงเห็นรากเหง้ากุศลและอกุศล สัตว์ทั้งหลายผู้เกิดเป็นมนุษย์ในโลกนี้คือ ฤาษี กษัตริย์ พราหมณ์ เป็นอันมาก อาศัยอะไรจึงบูชายัญแก่เทวดาทั้งหลาย ขอพระองค์จงตรัสบอกความข้อนั้นแก่ข้าพระองค์เถิด

พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ว่า ดูกรปุณณกะ สัตว์ทั้งหลายผู้เกิดเป็นมนุษย์เหล่าใดเหล่าหนึ่งเป็นอันมากในโลกนี้ คือ ฤาษี กษัตริย์ พราหมณ์ ปรารถนาความเป็นมนุษย์เป็นต้น อาศัยของมีชรา จึงบูชายัญแก่เทวดาทั้งหลาย
     
ป. ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้นิรทุกข์ สัตว์ทั้งหลายผู้เกิดเป็นมนุษย์เหล่านั้น เป็นคนไม่ประมาทในยัญ ข้ามพ้นชาติและชราได้บ้างแลหรือ
     
พ. ดูกรปุณณกะ สัตว์ทั้งหลายผู้เกิดเป็นมนุษย์เหล่านั้น ย่อมมุ่งหวัง ย่อมชมเชย ย่อมปรารถนา ย่อมบูชา ย่อมรำพันถึงกาม ก็เพราะอาศัยลาภ เรากล่าวว่า สัตว์เหล่านั้นประกอบการบูชา ยังเป็นคนกำหนัดยินดีในภพ ไม่ข้ามพ้นชาติและชราไปได้
     
ป. ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครเล่าในเทวโลกและมนุษยโลก ข้ามพ้นชาติและชราไปได้
     
พ. ดูกรปุณณกะ ผู้ใดไม่มีความหวั่นไหวในโลกไหนๆ เพราะได้พิจารณาเห็นธรรมที่ยิ่งและหย่อนในโลกผู้นั้นสงบแล้ว ไม่มีความประพฤติชั่วอันจะทำให้มัวหมองดุจควันไฟ ไม่มีกิเลสอันกระทบจิต
หาความปรารถนามิได้ เรากล่าวว่า ผู้นั้นข้ามพ้นชาติและชราไปได้แล้ว

                 
(๔) เมตตคูปัญหา
     
เมตตคูมาณพทูลถามปัญหาว่า

ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ ขอพระองค์จงตรัสบอกข้อความนั้นแก่ข้าพระองค์เถิด ข้าพระองค์ย่อมสำคัญพระองค์ว่า ทรงถึงเวท มีจิตอันอบรมแล้ว ความทุกข์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลกเป็นอันมาก มีมาแล้วแต่อะไร

พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ดูกรเมตตคู ท่านได้ถามเราถึงเหตุเป็นแดนเกิดแห่งทุกข์ เราจะบอกเหตุนั้นแก่ท่าน ความทุกข์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลกเป็นอันมาก ย่อมเกิดเพราะอุปธิเป็นเหตุ ผู้ใดไม่รู้แจ้งย่อมกระทำอุปธิ ผู้นั้นเป็นคนเขลา ย่อมเข้าถึงทุกข์บ่อยๆ เพราะฉะนั้น เมื่อบุคคลมารู้ชัด เห็นชาติว่าเป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์ ไม่พึงกระทำอุปธิ
     
ม. นักปราชญ์ทั้งหลายย่อมข้ามโอฆะ คือ ชาติ ชรา โสกะและปริเทวะได้อย่างไรหนอ ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นมุนี ขอพระองค์จงตรัสพยากรณ์ธรรมอันเป็นเครื่องข้ามโอฆะให้สำเร็จประโยชน์แก่ข้าพระองค์เถิด
     
พ. ดูกรเมตตคู บุคคลทราบชัดแล้ว พึงเป็นผู้มีสติ ดำเนินข้ามตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆในโลกเสียได้
     
ม. ข้าแต่พระองค์ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ก็ข้าพระองค์ยินดีอย่างยิ่งซึ่งธรรมอันสูงสุดที่บุคคลทราบชัดแล้ว เป็นผู้มีสติพึงดำเนินข้ามตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ในโลกเสียได้
     
พ. ดูกรเมตตคู ท่านรู้ชัดซึ่งส่วนอย่างใดอย่างหนึ่งในส่วนเบื้องบน ในส่วนเบื้องต่ำ และแม้ในส่วนเบื้องขวางสถานกลาง จงบรรเทาความเพลิดเพลินและความยึดมั่นในส่วนเหล่านั้นเสีย วิญญาณจะไม่พึงตั้งอยู่ในภพ ภิกษุผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้ มีสติ ไม่ประมาท ได้รู้แจ้งแล้วเที่ยวไปอยู่ ละความถือมั่นว่าของเราได้แล้ว พึงละทุกข์ คือ ชาติ ชรา โสกะ และปริเทวะในอัตภาพนี้เสีย
     
ม. ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้โคตมโคตร ธรรมอันไม่มีอุปธิพระองค์ทรงแสดงชอบแล้ว พระองค์ทรงละทุกข์ได้แน่แล้ว เพราะว่าธรรมนี้พระองค์ทรงรู้แจ้งชัดแล้วด้วยประการนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นมุนี พระองค์พึงทรงสั่งสอนชนเหล่าใดไม่หยุดยั้ง แม้ชนเหล่านั้นก็พึงละทุกข์ได้เป็นแน่ ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ เพราะเหตุนั้นข้าพระองค์จึงได้มาถวายบังคมพระองค์ ด้วยคิดว่า แม้ไฉน พระผู้มีพระภาคพึงทรงสั่งสอนข้าพระองค์ไม่หยุดหย่อนเถิด
     
พ. ท่านพึงรู้ผู้ใดว่าเป็นพราหมณ์ ผู้ถึงเวท ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล ไม่ติดข้องอยู่ในกามภพ ผู้นั้นแลข้ามโอฆะนี้ได้แน่แล้ว ผู้นั้นข้ามถึงฝั่งแล้ว เป็นผู้ไม่มีตะปู คือ กิเลส ไม่มีความสงสัย นรชนนั้นรู้แจ้งแล้วแลเป็นผู้ถึงเวทในศาสนานี้ สละธรรมเป็นเครื่องข้องนี้ในภพน้อยและภพใหญ่เสียได้แล้ว เป็นผู้มีตัณหาปราศไปแล้ว ไม่มีกิเลสอันกระทบจิต หาความหวังมิได้ เรากล่าวว่าผู้นั้นข้ามชาติและชราได้แล้ว
       
@@@@@@@
               
(๕) โธตกปัญหา
     
โธตกมาณพได้ทูลถามปัญหาว่า

ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ข้าพระองค์ปรารถนาอย่างยิ่งซึ่งพระวาจาของพระองค์ ข้าพระองค์ได้ฟังพระสุรเสียงของพระองค์แล้ว พึงศึกษาธรรมเป็นเครื่องดับกิเลสของตน

พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ดูกรโธตกะ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงมีปัญญารักษาตน มีสติกระทำความเพียรในศาสนานี้เถิด ท่านจงฟังเสียงแต่สำนักของเรานี้แล้ว พึงศึกษาธรรมเป็นเครื่องดับกิเลสของตนเถิด
     
ธ. ข้าพระองค์เห็นพระองค์ผู้หากังวลมิได้ ทรงยังพระกายให้เป็นไปอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก ข้าแต่พระองค์ผู้ศากยะ ขอพระองค์จงทรงปลดเปลื้องข้าพระองค์เสียจากความสงสัยเถิด
     
พ. ดูกรโธตกะ เราจักไม่อาจเพื่อจะปลดเปลื้องใครๆ ผู้ยังมีความสงสัยในโลกให้พ้นไปได้ ก็เมื่อท่านรู้ทั่วถึงสัจธรรมอันประเสริฐอยู่ จะข้ามโอฆะนี้ได้ด้วยอาการอย่างนี้
     
ธ. ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นพรหม ขอพระองค์จงทรงพระกรุณาสั่งสอนธรรมเป็นที่สงัดกิเลสที่ข้าพระองค์ควรจะรู้แจ้ง และขอพระองค์ทรงพระกรุณาสั่งสอนไม่ให้ข้าพระองค์ขัดข้องอยู่เหมือนอากาศเถิด ข้าพระองค์อยู่ในที่นี้นี่แหละ จะพึงเป็นผู้ไม่อาศัยแอบอิงเที่ยวไป
     
พ. ดูกรโธตกะ เราจักแสดงธรรมเครื่องระงับกิเลสแก่ท่าน ในธรรมที่เราได้เห็นแล้วเป็นธรรมประจักษ์แก่ตน ที่บุคคลได้รู้แจ้งแล้วเป็นผู้มีสติ พึงดำเนินข้ามตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ในโลกเสียได้

ดูกรโธตกะ ท่านรู้ชัดซึ่งส่วนอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งในส่วนเบื้องบนทั้งในส่วนเบื้องต่ำ แม้ในส่วนเบื้องขวางสถานกลาง ท่านรู้แจ้งสิ่งนั้นว่า เป็นเครื่องข้องอยู่ในโลกอย่างนี้แล้ว อย่าได้ทำตัณหาเพื่อภพน้อยและภพใหญ่เลย

                           
(๖) อุปสีวปัญหา
     
อุปสีวมาณพทูลถามปัญหาว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้ศากยะ ข้าพระองค์ผู้เดียวไม่อาศัยธรรมหรือบุคคลอะไรแล้ว ไม่สามารถจะข้ามห้วงน้ำใหญ่คือกิเลสได้ ข้าแต่พระองค์ผู้สมันตจักษุ ขอพระองค์จงตรัสบอกที่หน่วงเหนี่ยว อันข้าพระองค์พึงอาศัยข้ามห้วงน้ำคือกิเลสนี้ แก่ข้าพระองค์เถิด

พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ดูกรอุปสีวะ ท่านจงเป็นผู้มีสติ เพ่งอากิญจัญญายตนสมาบัติ อาศัยอารมณ์ว่า ไม่มีอะไรแม้น้อยหนึ่ง ดังนี้แล้วข้ามห้วงน้ำคือกิเลสเสียเถิด ท่านจงละกามทั้งหลายเสีย เป็นผู้เว้นจากความสงสัย เห็นธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหาให้แจ่มแจ้งทั้งกลางวันกลางคืนเถิด
     
อุ. ผู้ใดปราศจากความกำหนัดยินดีในกามทั้งปวง ละสมาบัติอื่นเสีย อาศัยอากิญจัญญายตนสมาบัติ น้อมใจลงในสัญญาวิโมกข์ (คืออากิญจัญญายตนสมาบัติ ธรรมเปลื้องสัญญา) เป็นอย่างยิ่ง ผู้นั้นเป็นผู้ไม่หวั่นไหวพึงตั้งอยู่ในอากิญจัญญายตนพรหมโลกนั้นแลหรือ
     
พ. ดูกรอุปสีวะ ผู้ใดปราศจากความกำหนัดยินดีในกามทั้งปวงละสมาบัติอื่นเสีย อาศัยอากิญจัญญายตนสมาบัติ น้อมใจลงในสัญญาวิโมกข์เป็นอย่างยิ่ง ผู้นั้นเป็นผู้ไม่หวั่นไหวพึงตั้งอยู่ในอากิญจัญญายตนพรหมโลกนั้น
     
อุ. ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักษุ ถ้าผู้นั้นเป็นผู้ไม่หวั่นไหว พึงตั้งอยู่ในอากิญจัญญายตนพรหมโลกนั้นสิ้นปีแม้มากไซร้ ผู้นั้นพึงพ้นจากทุกข์ต่างๆ ในอากิญจัญญายตนพรหมโลกนั้นแหละ พึงเป็นผู้เยือกเย็น หรือว่าวิญญาณของผู้เช่นนั้น พึงเกิดเพื่อถือปฏิสนธิอีก
     
พ. ดูกรอุปสีวะ มุนีพ้นแล้วจากนามกาย ย่อมถึงการตั้งอยู่ไม่ได้ไม่ถึงการนับ เปรียบเหมือนเปลวไฟอันถูกลมพัดไปแล้ว ย่อมถึงการตั้งอยู่ไม่ได้ ไม่ถึงการนับ ฉะนั้น
     
อุ. ท่านผู้นั้นถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ ท่านผู้นั้นไม่มี หรือว่าท่านผู้นั้นเป็นผู้ไม่มีโรค ด้วยความเป็นผู้เที่ยง ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นมุนี ขอพระองค์จงตรัสพยากรณ์ความข้อนั้นให้สำเร็จประโยชน์แก่ข้าพระองค์เถิด
     
พ. ดูกรอุปสีวะ ท่านผู้ถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ ไม่มีประมาณ ชนทั้งหลายจะพึงกล่าวท่านผู้นั้นด้วยกิเลสมีราคะเป็นต้นใด กิเลสมีราคะเป็นต้นนั้นของท่านไม่มี เมื่อธรรม(มีขันธ์เป็นต้น)ทั้งปวง ท่านเพิกถอนขึ้นได้แล้ว แม้ทางแห่งถ้อยคำทั้งหมดก็เป็นอันท่านเพิกถอนขึ้นได้แล้ว
             
(๗) นันทปัญหา
     
นันทมาณพผู้ทูลถามปัญหาว่า

ชนทั้งหลายกล่าวว่า มุนีทั้งหลายมีอยู่ในโลก ชนทั้งหลายกล่าวบุคคลว่าเป็นมุนีนี้นั้น ด้วยอาการอย่างไรหนอ ชนทั้งหลายกล่าวบุคคลผู้ประกอบด้วยญาณ หรือผู้ประกอบด้วยความเป็นอยู่ ว่าเป็นมุนี

พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ดูกรนันทะ ผู้ฉลาดในโลกนี้ ไม่กล่าวบุคคลว่าเป็นมุนี ด้วยความเห็นด้วยความสดับ หรือด้วยความรู้ ด้วยศีลและวัตร ชนเหล่าใดกำจัดเสนามารให้พินาศแล้ว ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความหวัง เที่ยวไปอยู่ เรากล่าวชนเหล่านั้นว่าเป็นมุนี
     
น. ข้าแต่พระผู้มีพระภาค สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งกล่าวความบริสุทธิ์ด้วยความเห็นบ้าง ด้วยการฟังบ้าง ด้วยศีลและพรตบ้าง ด้วยมงคลตื่นข่าวเป็นต้นเป็นอันมากบ้าง ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้นิรทุกข์ สมณพราหมณ์เหล่านั้นประพฤติอยู่ในทิฐิของตนนั้น ตามที่ตนเห็นว่าเป็นเครื่องบริสุทธิ์ ข้ามพ้นชาติและชราได้บ้างหรือไม่ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ ขอพระองค์ตรัสบอกความข้อนั้นแก่ข้าพระองค์เถิด
     
พ. ดูกรนันทะ สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งกล่าวความบริสุทธิ์ด้วยความเห็นบ้าง ด้วยการฟังบ้าง ด้วยศีลและพรตบ้าง ด้วยมงคลตื่นข่าวเป็นต้นเป็นอันมากบ้าง สมณพราหมณ์เหล่านั้นประพฤติอยู่ในทิฐิของตนนั้น ตามที่ตนเห็นว่าเป็นเครื่องบริสุทธิ์ก็จริง ถึงอย่างนั้น เรากล่าวว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้น ข้ามพ้นชาติและชราไปไม่ได้
     
น. เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครเล่าในเทวโลกและมนุษยโลก ข้ามพ้นชาติและชราได้แล้วในบัดนี้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ ขอพระองค์จงตรัสบอกความข้อนั้นแก่ข้าพระองค์เถิด
     
พ. ดูกรนันทะ คนเหล่าใดในโลกนี้ ละเสียซึ่งรูปที่ได้เห็นแล้วก็ดี เสียงที่ได้ฟังแล้วก็ดี อารมณ์ที่ได้ทราบแล้วก็ดี ละเสียแม้ซึ่งศีลและพรตทั้งหมดก็ดี ละเสียซึ่งมงคลตื่นข่าวเป็นต้น เป็นอันมากทั้งหมดก็ดี กำหนดรู้ตัณหาแล้ว เป็นผู้หาอาสวะมิได้ คนเหล่านั้นแลข้ามโอฆะได้แล้ว
     
น. ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้โคดม ข้าพระองค์ยินดียิ่งซึ่งพระดำรัสของพระองค์ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ธรรมอันไม่มีอุปธิพระองค์ทรงแสดงชอบแล้ว แม้ข้าพระองค์ก็กล่าวว่า คนเหล่าใดในโลกนี้ ละเสียซึ่งรูปที่ได้เห็นแล้วก็ดี เสียงที่ได้ฟังแล้วก็ดี อารมณ์ที่ได้ทราบแล้วก็ดี ละเสียแม้ซึ่งศีลและพรตทั้งหมดก็ดี ละเสียซึ่งมงคลตื่นข่าวเป็นต้นเป็นอันมากทั้งหมดก็ดี กำหนดรู้ตัณหาแล้ว เป็นผู้หาอาสวะมิได้ คนเหล่านั้นข้ามโอฆะได้แล้ว ฉะนี้แล

                           
(๘) เหมกปัญหา
     
เหมกมาณพทูลถามปัญหาว่า

อาจารย์เหล่าใดได้พยากรณ์ลัทธิของตนแก่ข้าพระองค์ ในกาลก่อนว่า เหตุนี้ได้เป็นมาแล้วอย่างนี้ๆ จักเป็นอย่างนี้ๆ คำพยากรณ์ทั้งหมดของอาจารย์เหล่านั้น ไม่ประจักษ์แก่ตน คำพยากรณ์ทั้งหมดนั้นเป็นเครื่องทำความตรึกให้ทวีมากขึ้น ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นมุนี ขอพระองค์จงตรัสบอกธรรมเป็นเครื่องกำจัดตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ในโลกแก่ข้าพระองค์เถิด

พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ดูกรเหมกะ ชนเหล่าใดได้รู้ทั่วถึงบท คือ นิพพาน อันไม่แปรผัน เป็นที่บรรเทาฉันทราคะใน รูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง และสิ่งที่ได้ทราบอันน่ารัก ณ ที่นี้ เป็นผู้มีสติ มีธรรมอันเห็นแล้ว ดับกิเลสได้แล้ว ชนเหล่านั้นสงบระงับแล้ว มีสติข้ามตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ในโลกได้แล้ว

       
               
(๙) โตเทยยปัญหา
     
โตเทยยมาณพทูลถามปัญหาว่า

ผู้ใดไม่มีกามทั้งหลาย ไม่มีตัณหา และข้ามความสงสัยได้แล้ว ความพ้นวิเศษของผู้นั้นเป็นอย่างไร

พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ดูกรโตเทยยะ ผู้ใดไม่มีกามทั้งหลาย ไม่มีตัณหา และข้ามความสงสัยได้แล้ว ความพ้นวิเศษอย่างอื่นของผู้นั้นไม่มี
     
ต. ผู้นั้นไม่มีความปรารถนา หรือยังปรารถนาอยู่ ผู้นั้นเป็นผู้มีปัญญา หรือยังเป็นผู้มีปรกติกำหนดด้วยปัญญาอยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้ศากยะ ข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้งมุนีได้อย่างไร ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุรอบคอบ ขอพระองค์จงตรัสบอกมุนีนั้นให้แจ้งชัดแก่ข้าพระองค์เถิด
     
พ. ดูกรโตเทยยะ ผู้นั้นไม่มีความปรารถนา และไม่เป็นผู้ปรารถนาอยู่ด้วย ผู้นั้นเป็นคนมีปัญญามิใช่เป็นผู้มีปรกติกำหนดด้วยปัญญาอยู่ด้วย ท่านจงรู้จักมุนี ว่าเป็นผู้ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล ไม่ข้องอยู่แล้วในกามและภพแม้อย่างนี้

         
(๑๐) กัปปปัญหา
     
กัปปมาณพทูลถามปัญหาว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ขอพระองค์จงตรัสบอกซึ่งธรรมอันเป็นที่พึ่งของชนทั้งหลาย ผู้อันชราและมรณะครอบงำแล้วดุจที่พึ่งของชนทั้งหลายผู้อยู่ในท่ามกลางสาคร เมื่อคลื่นเกิดแล้ว มีภัยใหญ่ฉะนั้น อนึ่ง ขอพระองค์จงตรัสบอกที่พึ่งแก่ข้าพระองค์โดยอุบายที่ทุกข์นี้ไม่พึงมีอีกเถิด

พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ดูกรกัปปะ ธรรมชาติไม่มีเครื่องกังวล ไม่มีความถือมั่น นี้เป็นที่พึ่ง หาใช่อย่างอื่นไม่ เรากล่าวที่พึ่งอันเป็นที่สิ้นไปแห่งชราและมรณะว่านิพพาน ชนเหล่าใดรู้นิพพานนั้นแล้ว มีสติ มีธรรมอันเห็นแล้ว ดับกิเลสได้แล้ว ชนเหล่านั้นไม่อยู่ใต้อำนาจของมาร ไม่เดินไปในทางของมาร
                     
(๑๑) ชตุกัณณีปัญหา
     
ชตุกัณณีมาณพทูลถามปัญหาว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียร ข้าพระองค์ได้ฟังพระองค์ผู้ไม่ใคร่กาม จึงมาเฝ้าเพื่อทูลถามพระองค์ผู้ล่วงห้วงน้ำคือกิเลสเสียได้ ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระเนตรคือพระสัพพัญญุตญาณเกิดพร้อมแล้ว ขอพระองค์ตรัสบอกทางสันติตามจริงเถิด ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้มีปัญญาดังแผ่นดินขอพระองค์จงตรัสบอกธรรมเครื่องละชาติละชรา ณ ที่นี้ ที่ข้าพระองค์ควรจะรู้แจ้ง แก่ข้าพระองค์ผู้มีปัญญาน้อยเถิด

พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ดูกรชตุกัณณีท่านได้เห็นซึ่งเนกขัมมะโดยความเป็นธรรมอันเกษมแล้ว จงนำความกำหนัดในกามทั้งหลายเสียให้สิ้นเถิด อนึ่ง กิเลสชาติเครื่องกังวลที่ท่านยึดไว้แล้ว ซึ่งควรจะปลดเปลื้องเสีย อย่ามีแล้วแก่ท่าน กิเลสเครื่องกังวลใดได้มีแล้วในกาลก่อน ท่านจงทำกิเลสเครื่องกังวลนั้นให้เหือดแห้งเสียเถิด กิเลสเครื่องกังวลในภายหลังอย่าได้มีแก่ท่าน ถ้าท่านจักไม่ถือเอากิเลสเครื่องกังวลในท่ามกลางไซร้ท่านจักเป็นผู้สงบ เที่ยวไป ดูกรพราหมณ์ เมื่อท่านปราศจากความกำหนัดในนามและรูปแล้วโดยประการทั้งปวง อาสวะทั้งหลาย อันเป็นเหตุให้ไปสู่อำนาจแห่งมัจจุราชก็ย่อมไม่มีแก่ท่าน

                   
(๑๒) ภัทราวุธปัญหา
     
ภัทราวุธมาณพทูลถามปัญหาว่า

ข้าพระองค์ขอทูลวิงวอนพระองค์ ผู้ทรงละอาลัย ตัดตัณหาเสียได้ ไม่หวั่นไหว พ้นวิเศษแล้ว ชนในชนบทต่างๆประสงค์จะฟังพระดำรัสของพระองค์ มาพร้อมกันแล้วจากชนบททั้งหลาย ได้ฟังพระดำรัสของพระองค์ผู้ประเสริฐแล้ว จักกลับไปจากที่นี้  ขอพระองค์จงตรัสพยากรณ์แก่ชนในชนบทต่างๆ เหล่านั้นให้สำเร็จประโยชน์เถิด เพราะธรรมนี้พระองค์ทรงรู้แจ้งแล้วด้วยประการนั้น

พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ดูกรภัทราวุธะ หมู่ชนควรจะนำเสียซึ่งตัณหาเป็นเครื่องถือมั่นทั้งปวงในส่วนเบื้องบน เบื้องต่ำ และในส่วนเบื้องขวางสถานกลางให้สิ้นเชิง เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายย่อมถือมั่นสิ่งใดๆ ในโลก มารย่อมติดตามสัตว์ได้เพราะสิ่งนั้นแหละ เพราะเหตุนั้น ภิกษุเมื่อรู้ชัดอยู่ มาเล็งเห็นหมู่สัตว์ ผู้ติดข้องอยู่แล้วในวัฏฏะ อันเป็นบ่วงแห่งมารนี้ว่า เป็นหมู่สัตว์ติดข้องอยู่แล้วเพราะการถือมั่นดังนี้ พึงเป็นผู้มีสติ ไม่ถือมั่นเครื่องกังวลในโลกทั้งปวง
           
@@@@@@@
           
(๑๓) อุทยปัญหา
     
อุทยมาณพทูลถามปัญหาว่า

ขอพระองค์จงตรัสบอกธรรมอันเป็นเครื่องพ้นที่ควรรู้ทั่วถึงสำหรับทำลายอวิชชาเถิด

พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ดูกรอุทยะ เรากล่าวธรรมเป็นเครื่องละความพอใจในกาม และโทมนัส ทั้งสองอย่างเป็นเครื่องบรรเทาความง่วงเหงา เป็นเครื่องห้ามความรำคาญ บริสุทธิ์ดีเพราะอุเบกขาและสติ มีความตรึกถึงธรรมแล่นไปในเบื้องหน้า ว่าเป็นธรรมเครื่องพ้นที่ควรรู้ทั่วถึงสำหรับทำลายอวิชชา
     
อุ. โลกมีธรรมอะไรประกอบไว้ ธรรมชาติอะไรเป็นเครื่องพิจารณาของโลกนั้น เพราะละธรรมอะไรได้เด็ดขาด ท่านจึงกล่าวว่า นิพพาน
     
พ. โลกมีความเพลิดเพลินประกอบไว้ ความตรึกไปต่างๆ เป็นเครื่องพิจารณาของโลกนั้น เพราะละตัณหาได้เด็ดขาด ท่านจึงกล่าวว่า นิพพาน
     
อุ. เมื่อบุคคลระลึกอย่างไรเที่ยวไปอยู่ วิญญาณจึงจะดับ ข้าพระองค์ทั้งหลายมาเฝ้าเพื่อทูลถามพระองค์ ข้าพระองค์ทั้งหลาย ขอฟังพระดำรัสของพระองค์
     
พ. เมื่อบุคคลไม่เพลิดเพลินเวทนา ทั้งภายในและภายนอก ระลึกอย่างนี้ เที่ยวไปอยู่ วิญญาณจึงจะดับ

                   
(๑๔) โปสาลปัญหา
     
โปสาลมาณพทูลถามปัญหาว่า

ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้ศากยะ ข้าพระองค์ขอทูลถามถึงญาณของบุคคลผู้มีความสำคัญในรูปก้าวล่วงเสียแล้ว ละรูปกายได้ทั้งหมด เห็นอยู่ว่าไม่มีอะไรน้อยหนึ่งทั้งภายในและภายนอก บุคคลเช่นนั้นควรแนะนำอย่างไร

พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า

ดูกรโปสาละ พระตถาคตทรงรู้ยิ่ง ซึ่งภูมิเป็นที่ตั้งแห่งวิญญาณทั้งปวง ทรงทราบบุคคลนั้นผู้ยังดำรงอยู่ ผู้น้อมไปแล้วในอากิญจัญญายตนสมาบัติเป็นต้น ผู้มีอากิญจัญญายตนสมาบัติเป็นต้นนั้นเป็นที่ไปในเบื้องหน้า ผู้ที่เกิดในอากิญจัญญายตนสมาบัติว่ามีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องประกอบ ดังนี้แล้ว แต่นั้นย่อมเห็นอริยสัจแจ้งในอากิญจัญญายตนสมาบัตินั้น ญาณของบุคคลนั้นผู้เป็นพราหมณ์ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว เป็นญาณอันถ่องแท้อย่างนี้
     
(๑๕) โมฆราชปัญหา
     
โมฆราชมาณพทูลถามปัญหาว่า

ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้ศากยะ ข้าพระองค์ได้ทูลถามปัญหาถึงสองครั้งแล้ว พระองค์ผู้มีพระจักษุไม่ทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์ แต่ข้าพระองค์ได้สดับมาว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นเทพฤาษี จะทรงพยากรณ์ในครั้งที่สาม ข้าพระองค์จึงขอทูลถามว่า โลกนี้ โลกอื่น พรหมโลก กับทั้งเทวโลก บุคคลผู้พิจารณาเห็นโลกอย่างไร มัจจุราชจึงจะไม่เห็น

พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า

ดูกรโมฆราช ท่านจงเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ พิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของว่างเปล่าเถิด จงถอนความตามเห็นว่าเป็นตัวตนเสียแล้ว พึงเป็นผู้ข้ามพ้นมัจจุราชได้ด้วยอาการอย่างนี้  บุคคลผู้พิจารณาเห็นโลกอยู่อย่างนี้ มัจจุราชจึงจะไม่เห็น

           
(๑๖) ปิงคิยปัญหา
     
ปิงคิยมาณพทูลถามปัญหาว่า

ข้าพระองค์เป็นคนแก่แล้ว มีกำลังน้อย ผิวพรรณเศร้าหมองนัยน์ตาทั้งสองของข้าพระองค์ไม่ผ่องใส (เห็นไม่จะแจ้ง) หูสำหรับฟังก็ไม่สะดวก ขอข้าพระองค์อย่าได้เป็นคนหลงฉิบหายเสียในระหว่างเลย ขอพระองค์จงตรัสบอกธรรมที่ข้าพระองค์ควรรู้ ซึ่งเป็นเครื่องละชาติและชราในอัตภาพนี้เสียเถิด

พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ดูกรปิงคิยะ ชนทั้งหลายได้เห็นเหล่าสัตว์ผู้เดือดร้อนอยู่ เพราะรูปทั้งหลายแล้ว ยังเป็นผู้ประมาทก็ย่อยยับอยู่เพราะรูปทั้งหลาย ดูกรปิงคิยะเพราะเหตุนั้นท่านจงเป็นคนไม่ประมาทละรูปเสียเพื่อความไม่เกิดอีก
     
ปิ. ทิศใหญ่สี่ ทิศน้อยสี่ ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ รวมเป็นสิบทิศ สิ่งไรๆ ในโลกที่พระองค์ไม่ได้เห็น ไม่ได้ฟังไม่ได้ทราบ หรือไม่ได้รู้แจ้ง มิได้มี ขอพระองค์จงตรัสบอกธรรมที่ข้าพระองค์ควรรู้ เป็นเครื่องละชาติและชราในอัตภาพนี้เถิด
     
พ. ดูกรปิงคิยะ เมื่อท่านเห็นหมู่มนุษย์ผู้ถูกตัณหาครอบงำแล้วเกิดความเดือดร้อน อันชราถึงรอบข้าง ดูกรปิงคิยะ เพราะเหตุนั้น ท่านจงเป็นคนไม่ประมาท ละตัณหาเสีย เพื่อความไม่เกิดอีก

ดูกรปิงคิยะเมื่อท่านน้อมลงด้วยศรัทธา ปรารภวิปัสสนา โดยนัยเป็นต้นว่าสังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ก็จักถึงนิพพาน อันเป็นฝั่งโน้นแห่งวัฏฏะอันเป็นบ่วงแห่งมัจจุราช





ขอขอบคุณ : https://uttayarndham.org/buddhology/1401/กังขาตรณวิสุทธิ
โสฬสปัญหา พระไตรปิฎก ฉบับหลวง ๒๕/๔๒๔-๔๔๓/๓๙๑-๔๑๕
Photo : pinterest
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ