ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: จินตนาการถึงชีวิตวันข้างหน้า คนแก่แบบไหนที่เราอยากเป็นและไม่อยากเป็น.?  (อ่าน 217 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28431
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0




จินตนาการถึงชีวิตวันข้างหน้า คนแก่แบบไหนที่เราอยากเป็นและไม่อยากเป็น.?

Summary

    - ล้ม-ลุก-ทุกข์-cry คือคอลัมน์ว่าด้วยความทุกข์และความแซดในสังคมสมัยใหม่ เขียนโดย ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ กองบรรณาธิการไทยรัฐพลัส ผู้มีขวบวัยอยู่ในกลุ่มก้อนที่ใครๆ ก็เรียกว่าเป็น ‘Sad Generation’ แต่กลับเชื่ออย่างยิ่งว่าพวกเราต่างล้ม พร้อมๆ กับที่พยายามลุก และเมื่อทุกข์ เราก็แค่ Cry
    - สัปดาห์นี้ว่ากันด้วยจินตนาการถึงชีวิตวันข้างหน้า หรือยามที่เรา ‘แก่’ เรื่องราวที่หลายไม่อยากคิดเพราะกลัวสิ่งที่จะมาถึง แต่กลับสำคัญกับการใช้ชีวิตของเราไม่มากก็น้อย




Illustration : Nuttal-Thanatpohn Dejkunchorn

มีใครเคยโกรธเกลียดคำถามประเภท “เห็นภาพตัวเองเป็นยังไงตอนอายุ 60” บ้างไหมคะ

ฉันคนหนึ่งละ ที่เคยเกลียดมันเอามากๆ อาจเพราะเคยคิดว่ามันเป็นคำถามที่เร่งให้เรา ‘วางแผน’ ชีวิตวันข้างหน้า ติดสำเนียงของการ ‘ตรวจสอบ’ ว่าชีวิตเรากำลังดำเนินไปตามระบบระเบียบที่ควรจะเป็นไหม มีกับเขาหรือเปล่าไอ้สิ่งที่เรียกว่า ‘เป้าหมาย’ อย่างที่คนเขามีกัน

ณ วันหนึ่งที่ยังเป็นวัยรุ่นผู้สับสน และหลงคิดว่าตัวเองมีแนวทางการใช้ชีวิตแบบ ‘อยู่กับปัจจุบัน' ฉันจึงเกลียดคำถามทำนองนี้อย่างช่วยไม่ได้

แต่เมื่อโตขึ้นเรื่อยๆ และพยายามทำความเข้าใจตัวเองให้ลึกซึ้งขึ้นเรื่อยๆ ฉันก็พบว่าส่วนหนึ่งของหัวใจตัวเอง เพียงแค่รู้สึก ‘กลัว’ การเติบใหญ่ หรือการกลายเป็นคนแก่ อย่างที่ใครๆ ก็คงกลัวกัน

จริงๆ แล้วมันก็เป็นเรื่องน่าขันอยู่หน่อย เวลาได้ยินใครสักคนที่อายุน้อยกว่าพูดว่าพวกเขารู้สึก ‘แก่’ หรือกลัวความแก่ สักแวบหนึ่งในใจของฉันจะคิดว่า กลัวไปทำไมเล่า เวลาของเธอยังเหลืออีกมากมาย เสี้ยวหนึ่งอาจอิจฉาเล็กน้อยด้วยซ้ำที่พวกเขาครอบครองความเยาว์วัยไว้มากกว่าเรา

และฉันก็รู้ดีว่า เวลาใครสักคนที่อายุมากกว่าได้ยินฉันบอกว่ากลัวความแก่ เขาก็อาจรู้สึกแบบเดียวกัน

สิ่งเหล่านี้คงเป็นหลักฐานยืนยันว่า ไม่ว่าเราจะอายุน้อยหรือมากอย่างไร เรื่องของวันข้างหน้า อนาคตอันลึกลับที่เราไม่มีทางรู้ และจักรวาลก็ไม่มีทางบอก ย่อมเป็นเรื่องสำคัญกับความคิดและการใช้ชีวิตของเราเสมอ

@@@@@@@

ความเสื่อมโทรมของร่างกายและสมอง น่าจะเป็นเหตุผลอันดับแรกๆ ที่ใครๆ ต่างกลัวความแก่ ทีละนิดและทีละน้อย อาการป่วยกระปอดกระแปดอาจเข้ามาเยือน -- ทีละน้อยและทีละนิด ส่วนต่างๆ ที่เคยประกอบรวมกันเป็นเรา ร่างกายที่พาเราเคลื่อนไหว ออกเดินทางไปยังที่ต่างๆ พิชิตความฝันและเป้าหมายร้อยพัน สมองที่ช่วยเราคิดเรื่องเจ๋งๆ และจดจำผู้คนที่เราผูกพัน จะค่อยๆ กลายเป็นส่วนประกอบที่เชื่องช้าลง และช้าลง

คิดแค่นี้ก็น่าใจหายแล้วใช่ไหมคะ แต่ฉันว่าสิ่งที่น่ากลัวไปกว่าความเสื่อมโทรมของร่างกายและสมอง คือเรื่องหลังจากนั้นต่างหาก ในวันที่ความชรามาถึง วันที่ความเจ็บป่วยกลายเป็นส่วนหนึ่งของเรา ในวันแบบนั้น เราจะอยู่กับมันอย่างไร

ความโหดร้ายประการหนึ่งของจักรวาลก็คือ สิ่งที่น่ากลัวที่สุดกลับกลายเป็นคำถามสำคัญในชีวิต -- มันอาจเป็นคำถาม “เห็นภาพตัวเองเป็นยังไงตอนอายุ 60” ในน้ำเสียงที่ต่างออกไป แต่อย่างไรวันหนึ่ง เราก็ต้องตอบ

    "ส่วนต่างๆ ที่เคยประกอบรวมกันเป็นเรา ร่างกายที่พาเราเคลื่อนไหว ออกเดินทางไปยังที่ต่างๆ พิชิตความฝันและเป้าหมายร้อยพัน สมองที่ช่วยเราคิดเรื่องเจ๋งๆ และจดจำผู้คนที่เราผูกพัน จะค่อยๆ กลายเป็นส่วนประกอบที่เชื่องช้าลง และช้าลง"

@@@@@@@

ฉันไม่แน่ใจเหมือนกันว่าการหาคำตอบให้สิ่งที่ยังไม่มาถึงควรเริ่มจากตรงไหน วิธีการอันง่ายที่สุดที่ฉันพอจะนึกออกคือเริ่มจากสิ่งที่เรากลัว ถามตัวเองว่าคนแก่แบบไหนที่เราไม่อยากเป็น ประสบการณ์แบบใดที่เราไม่ต้องการจะเจอ

“กูไม่อยากเป็นคนแก่ที่คุยกับคนรุ่นใหม่ไม่รู้เรื่องว่ะ อยากเป็นแม่ที่เพื่อนลูกทุกคนชอบ”

“ผมไม่อยากตายคนเดียวอย่างโดดเดี่ยว หรือตายแบบไม่มีใครสักคนให้รัก”

“แก...ฉันไม่เคยคิดจริงจังมาก่อนเลย แต่คงไม่อยากเป็นคนแก่ที่ป่วยหนัก ทรมานมากๆ หรือลำบากลูกหลานมั้ง”

“ไม่อยากเป็นมนุษย์ป้าที่ทำร้ายจิตใจคนอื่นด้วยคำพูด แม้ว่าเขาจะทรมานจากภาวะวัยทอง”

ฉันค่อนข้างเห็นด้วยกับทุกคำตอบที่ได้มาจากคนรอบข้าง แต่นอกจากคำตอบที่เราจินตนาการกันขึ้นมา นอกจากการตระหนักว่าคนแก่แบบไหนที่เราไม่อยากเป็น แล้วจึงใช้ชีวิตหลังจากนี้ในทางตรงกันข้ามกับคำตอบไปเสีย อีกคำตอบหนึ่งที่ฉันได้รับรู้ เริ่มต้นขึ้นเมื่อฉันต้องมองดูพ่อของตัวเองแก่ตัวลง ทรมานจากความเจ็บป่วย ก่อนจะจากโลกนี้ไปในที่สุด

@@@@@@@

อย่าเข้าใจผิดนะคะ คนแก่แบบพ่อมีเรื่องมากมายที่ฉันอยากเป็นให้ได้อย่างเขา แต่สิ่งหนึ่งที่ฉันได้เรียนรู้จากเรื่องของพ่อ คือการสำรวจว่าความกลัวและหัวใจของใครสักคนที่แก่ลงแล้วจริงๆ เป็นอย่างไร และอะไรบ้างที่ฉันอาจต้องเตรียมรับมือ

ในภาพจำของฉัน พ่อเป็นคนรักงาน และใช้ชีวิตอย่างสุดเหวี่ยงคนหนึ่ง พ่อตื่นเช้าออกไปทำงาน และกลับบ้านตอนที่ตะวันตกดินแล้วเสมอ พ่อเป็นคนขับรถซิ่ง และมักพาตัวเองเดินทางไปตามจังหวัดต่างๆ ด้วยรถคันเก่งสีฟ้าอ่อน และทุกครั้งที่เขาไป ไม่ว่าจะใกล้ไกลแค่ไหน รับรองได้ว่าจะมีของฝากติดไม้ติดมือกลับมาฝากเสมอ

แต่ในวันหนึ่ง เมื่อความเจ็บไข้มาถึง พ่อวางมือจากการงานและแทบไม่ออกจากบ้านไปที่อื่นนอกจากโรงพยาบาล พ่อเปลี่ยนจากการนั่งตำแหน่งคนขับ ไปเป็นที่นั่งข้างคนขับโดยจำยอม และกลายเป็นพ่อเอง ที่คอยเฝ้าถามว่า “วันนี้มีอะไรกลับมาฝากพ่อ”

ฉันรู้เต็มอกว่าการที่พ่อไม่ยอมออกจากบ้านเลยย่อมเป็นเรื่องผิดปกติ วันหนึ่งหลังจากที่พาพ่อไปพบคุณหมอประจำตัวตามนัดเรียบร้อยแล้ว ฉันจึงขอเวลาคุยกับคุณหมอตามลำพังต่ออีกสักครู่ ความร้อนรนอย่างคนไม่รู้จะทำอย่างไรของฉันถูกถ่ายทอดออกไป ก่อนที่คุณหมอจะค่อยๆ ช่วยฉันทำความเข้าใจพ่อ และสิ่งที่อาจเกิดกับผู้สูงวัยให้มากขึ้น

@@@@@@@

โดยสรุป คุณหมอบอกกับฉันว่าผู้สูงวัยจำนวนมากต้องเผชิญกับภาวะซึมเศร้า และสาเหตุที่ก่อภาวะนี้ได้อย่างมากคือ
   1. การสูญเสียคู่ชีวิต หรือใครสักคนที่ใช้ชีวิตมาร่วมกันอย่างยาวนาน
   2. การที่เขาต้องแยกจากกิจวัตรประจำวันปกติ หรืออาจไม่สามารถไปทำงาน ทำสิ่งต่างๆ ได้เช่นเคย

หลังจากคุยกับคุณหมอฉันจึงได้เข้าใจว่า เบื้องหลังความแก่ชราที่เราต่างต้องเผชิญ ปลายทางอันแน่นอนของสิ่งที่เรียกว่าชีวิต อาจไม่ใช่สิ่งที่เราสามารถปล่อยให้มันเกิดขึ้นโดยไม่ตระเตรียม หรือใช้ชีวิตแบบ ‘อยู่กับปัจจุบัน’ ไปเรื่อยๆ ได้

นั่นก็เพราะบางครั้ง ความทุกข์ที่มาพร้อมกับความแก่ชรานั้น อาจเกิดขึ้นอย่างเงียบเชียบ ไม่ให้สุ้มให้เสียง และเราอาจไม่ทันได้สังเกตว่ามันเริ่มขึ้นตอนไหน -- เหมือนกับสิ่งที่พ่อต้องเผชิญ

คิดดูสิคะ คนที่พาตัวเองไปทำงานทุกวันมาตลอดหลายสิบปี กลายเป็นคนที่ว่างขึ้นมาเสียเฉยๆ คนที่เคยบังคับทิศทางของตัวเอง ขึ้นเขาลงห้วย ลัดเลาะไปยังเส้นทางมากมายในวันนั้น คือคนที่ต้องเกาะแขนใครสักคนเพื่อพยุงตัวในวันนี้ และหากฉันไม่ได้พูดคุยกับคุณหมอ ก็อาจจับต้นชนปลายไม่ถูกว่าพ่อเผชิญกับอะไรอยู่ และจะซัพพอร์ตเขาในช่วงเวลานี้ได้อย่างไร

นี่เป็นเพียงเศษเสี้ยวของภาพที่ฉันได้สัมผัสเมื่อใครสักคนแก่ตัวลง ยังมีเรื่องราวอีกร้อยพันที่เขย่าหัวใจ และเปิดตาให้ฉันได้เห็นว่า การกลายเป็นคนแก่มีแง่มุมให้เราเตรียมตัวอีกมาก ไม่แพ้การเตรียมเด็กเล็กคนหนึ่งให้เข้าโรงเรียน ทั้งการดูแลร่างกาย การปรับกิจวัตรประจำวัน และที่สำคัญที่สุด คือการดูแลจิตใจ

@@@@@@@

หากจะสรุปสิ่งที่ฉันเรียนรู้จากเรื่องของพ่อ เป็นประโยคสักประโยคแบบที่คนรอบตัวฉันพูด ฉันก็คงจะบอกว่า “ฉันไม่อยากเป็นคนแก่ที่เข้าใจว่าตัวเองสูญเสียช่วงเวลาที่ดีที่สุดไปแล้ว ฉันอยากรับรู้ว่า ความเศร้าคือสิ่งที่ฉันต้องเผชิญ แต่ไม่เป็นไรเลยที่ฉันจะรู้สึกแย่กับการเปลี่ยนแปลง”

    "ฉันไม่อยากเป็นคนแก่ที่เข้าใจว่าตัวเองสูญเสียช่วงเวลาที่ดีที่สุดไปแล้ว ฉันอยากรับรู้ว่า ความเศร้าคือสิ่งที่ฉันต้องเผชิญ แต่ไม่เป็นไรเลยที่ฉันจะรู้สึกแย่กับการเปลี่ยน"

อีกเรื่องน่าขันก็คือ แม้บทความนี้จะถูกเขียนขึ้นจากความกลัว และใช้ความกลัวเป็นแรงขับให้ขบคิดว่าเราไม่อยากใช้ชีวิตแบบไหนตอนแก่ แต่หากใครเคยเห็นคอนเทนต์ของต่างประเทศ ที่ให้ผู้สูงอายุมอบบทเรียนชีวิตหนึ่งข้อให้คนหนุ่มสาว จะพบว่ามีคนแก่หลายคนเลยทีเดียวที่บอกว่า จงใช้ชีวิตด้วยความสนุก ความกล้าหาญ หรือด้วยความสุข ไม่ใช่ความหวาดกลัว

ดังนั้นแล้ว ขั้นตอนง่ายๆ และอาจดูเพ้อฝันอย่างการจินตนาการถึงคนแก่ที่เราอยากจะเป็น หรือชีวิตวันข้างหน้าแบบที่จะทำให้เรามีความสุข ก็คงจะสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน

@@@@@@@

เราอาจต้องปลดพันธนาการตัวเองออกจากการตัดสินทั้งหลายทั้งปวง อย่าเพิ่งเกลียดกลัวจินตนาการเหล่านี้ ด้วยคิดว่ามันอาจเป็นการตีกรอบชีวิตให้ตัวเอง หรือเป็นการประเมินคุณภาพการใช้ชีวิตตามครรลอง ไม่ต้องกลัวว่าสิ่งที่คุณจินตนาการมันจะเกินเอื้อม ไม่ต้องดูถูกตัวเองว่าใช้ชีวิตแบบนี้น่ะเหรอ จะกลายเป็นคนแก่แบบที่อยากเป็นได้ และบางที เราอาจต้องลองตั้งใจมองข้ามความกลัว ก่อนจะตอบตัวเองให้ดัง

“ผมอยากมีความสุขกับครอบครัว และเมื่อถึงวันหนึ่งก็หลับไปตลอดกาลบนเตียงที่นอนทุกวัน พร้อมกับบทสวดมนตร์ที่ได้ยินทุกคืน”

“กูอยากมีบ้านอยู่ใกล้ๆ มึงว่ะ ถ้าเราเป็นโสด อย่างน้อยเราก็ไม่เหงาเพราะเราจะอยู่ใกล้กัน ไปมาหาสู่กันได้”

“อยากเป็นคนแก่ที่ยังแต่งตัวเท่ พอจะไปไหนมาไหนเองได้ และเป็นคนแก่ที่คนอื่นสนุกเมื่อได้อยู่ด้วย”

“ส่วนฉัน อยากเป็นคนที่มีเรื่องให้เขียนเล่าไปจนบั้นปลายชีวิต และวันหนึ่งที่ไม่มีแรงลุกมากดแป้นพิมพ์แล้ว ก็อยากจดจำให้ได้ว่านี่คือสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับพ่อ และฉันจะไม่เป็นไร เหมือนที่พ่อไม่เป็นไร”

สุดท้ายแล้ว เราอาจทำได้เพียงจินตนาการ ใช้ชีวิตตามแบบของตัวเอง เดินไปตามปลายทางที่วาดไว้ลางๆ และมันจะเป็นจริงหรือไม่ จักรวาลคงจะบอกกับเราในภายหลัง






Thank to : https://plus.thairath.co.th/topic/spark/103245#aWQ9NjI2NzczNmExNGY1MTkwMDEyMzRkYWRmJnBvcz0wJnJ1bGU9MA==
Thairath Plus ›Spark Opinion › Lifestyle | 28 พ.ค. 66
creator : ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 02, 2023, 05:56:34 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ