ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: " ไม่ทำตามที่สอน อย่ามาอ้อน เรียกอาจารย์ "  (อ่าน 3359 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

หมวยจ้า

  • โยคาวจรผล
  • ******
  • ผลบุญ: +40/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: หญิง
  • กระทู้: 1336
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
0
" ไม่ทำตามที่สอน อย่ามาอ้อน เรียกอาจารย์ "


ขอขอบคุณเวบไทยรัฐ วันศุกร์ 30 ก.ค.2553 ที่เอื้อเฟื้อข่าว
http://www.thairath.co.th/column/pol/page1scoop/99741
 
เปิดสวนโมกข์ใหม่สวนธรรมกรุงเทพ



" ไม่ทำตามที่สอน อย่ามาอ้อน เรียกอาจารย์ "

ธรรมรสท่านพุทธทาส อินทปัญโญ แต่ละข้อธรรมแนะทางสว่างชี้ทางสวรรค์ให้กับพุทธศาสนิกชน
แม้ท่านจะละสังขารไปนานปี แต่หลักธรรมยังอยู่ให้พุทธศาสนิกชนได้พิสูจน์ด้วยการปฏิบัติตน

แนวทางและแนวปฏิบัติธรรมของท่านพุทธทาส แม้จะดูแปลกไปจากพระภิกษุสงฆ์รูปอื่นๆบ้าง
แต่ในแง่ของหลักธรรมแล้ว ล้วนมาจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยแท้จริง

อาจด้วย "ศาสดาย่อมไม่กระหายศิษย์ แต่ศิษย์ย่อมมาหาศาสดาเอง" หรือเงื่อนไขใดก็ตาม แต่ละวัน
มีคนจำนวนมากเข้าไปปฏิบัติธรรมที่สวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี



สำหรับชาวกรุงเทพฯและใกล้เคียงตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2553 สืบไป
ไม่ต้องล่องใต้อีกแล้ว เพราะสวนโมกข์ใหม่จะเปิดที่สวนจตุจักร ให้ ผู้สนใจใฝ่ธรรม

กิจกรรมวันเปิดงาน เริ่มประมาณ 07.00 น. ร่วมกันทำบุญตักบาตรเวลา
08.00 น. กิจกรรมเสวนา เป็นต้นว่า เวลา 10.00 น. แสดงธรรมกถาโดย นพ.ประเวศ วะสี
อ่านกวีโดย อังคาร กัลยาณพงศ์ และแสดงธรรมโดย พระไพศาล วิสาโล หลังจากนั้น
เวลา 13.30 น. เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ จะอ่านบทกวี ตามด้วยจิระนันท์ พิตรปรีชา
พรั่งพร้อมด้วยกวี และนักดนตรีมากมาย

สถานที่ตั้งสวนโมกข์แห่งใหม่ คือ บริเวณสวนวชิรเบญจทัศ หรือ "สวนรถไฟ" อยู่มุม
ตะวันออกเฉียงเหนือของสวนจตุจักร เยื้องๆกับปั๊มน้ำมันปตท. เมื่อเลี้ยวซ้ายจากถนนวิภาวดี
ไปประมาณ 50 เมตร ก็จะเห็นสะพานเข้าด้านซ้ายมือ

สวนโมกข์กรุงเทพฯ อยู่ในความดูแลของหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ในอาณาบริเวณ
และอาคารสร้างใหม่ราคาประมาณ 185 ล้านบาทนั้น เต็มไปด้วยปริศนาธรรม และธรรมที่นำมา
เสนอให้พุทธศาสนิกชนได้ศึกษา ครุ่นคิด และใคร่ครวญเพื่อความเข้าใจในธรรม เพื่อน้อมนำไป
ใช้ในชีวิตประจำวัน มีโรงมหรสพทางวิญญาณ มีห้องรวบรวมสื่อธรรม
มีหนังสือธรรมให้อ่าน และปริศนาธรรมให้ใคร่ครวญ





"สวนโมกข์กรุงเทพฯล้อกับสวนโมกข์ไชยา"



นพ.บัญชา พงษ์พานิช เลขานุการมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปัญโญ อธิบายเมื่อก้าวสู่
เขตธรรมสถาน พลางชี้ให้ดูเสา 5 ต้น และมีนกฮูกตาโต แสดงนัยว่า ให้ตื่นตัวในการเรียนรู้เหมือน
นกฮูก เติมเต็มด้วยต้นไทรร่มรื่น เพิ่มบรรยากาศให้เหมือนสวนโมกข์ที่ไชยาเข้าไปอีก

เข้าสู่อาคารแรกเลยมีห้องหนังสือและสื่อธรรม มีหนังสือธรรมจากพระอาจารย์ต่างๆให้อ่านฟรี หรือ
จะซื้อไปอ่านที่บ้านก็ตามอัธยาศัย เลยไปพบลานโล่งเรียกว่า ลานริมสระนาฬิเก มองออกไปจะเห็น
มะพร้าวนาฬิเกมีอยู่ 2 ต้น ต้นแรก ท่านปัญญานันทภิกขุปลูกไว้ ยามนี้เติบโตมากแล้ว

ล่าสุดเกิดขึ้นอีก 1 ต้น ผู้ปลูกคือ

พระภาวนาโพธิคุณ หรืออาจารย์โพธิ์ จันทสโร แห่งสวนโมกขพลาราม และหมอประเวศ วะสี
ปลูกไว้ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2553

ส่วนที่เป็นโถงใหญ่นี้ไว้รองรับกิจกรรมต่างๆเพื่อเรียนรู้และเข้าใจธรรม นพ.บัญชาบอกว่า
ใครต้องการจะจัดกิจกรรมที่เกาะเกี่ยวกับการเรียนรู้ และเข้าใจธรรม ติดต่อขอใช้พื้นที่ได้
เป็นโถงใหญ่ใต้อาคารกว้างขวาง บรรจุคน ได้เกิน 200 คน

มองจากห้องโถงไปด้านเหนือคือลานหินโค้ง ลานหินโค้งที่สวนโมกข์เดิมเต็มไปด้วยแมกไม้
ก้อนหินรายเรียง แต่ที่แห่งนี้เต็มไปด้วยภาพพุทธประวัติรายเรียงอยู่บนผนัง
กึ่งกลางลานหินโค้งประดิษฐานพระอวโลกิเตศวร

ภาพพุทธประวัติเหล่านี้ นพ.บัญชาบอกว่า จำลองมาจากภาพพุทธประวัติชุดแรกจากอินเดีย 
ถือว่ามีความครบถ้วนสมบูรณ์มากกว่าแห่งใดในโลก  เริ่มตั้งแต่ภาพประสูติถึงปรินิพพาน และ
จบด้วยภาพโทณพราหมณ์แจกจ่ายพระบรมสารีริกธาตุ

ลักษณะเด่นของภาพชุดนี้คือ แม้จะเป็นภาพพุทธประวัติ แต่ไม่มีภาพพระพุทธเจ้า จุดแสดงว่า
พระพุทธเจ้าอยู่นั้น ผู้สร้างสรรค์ปล่อยว่างไว้ หรือไม่ก็แกะรอยพระพุทธบาทไว้เป็นสัญลักษณ์

"ท่านพุทธทาสบอกว่า คนอินเดียโบราณถือว่า ใครติดรูปจะไม่ถึงธรรม คนที่ถึงธรรมต้องไม่ติดรูป
ดังนั้น จึงไม่สร้างรูปพระพุทธเจ้าขึ้นมา การสร้างพระพุทธรูปมากมายในปัจจุบันนี้ เกิดขึ้นภายหลัง"

พลางชี้ให้ดูภาพต่างๆ เช่น ภาพพระนางสิริมหามายา เมื่อมีประสูติกาลแล้วเสด็จกลับเมือง
ภาพที่เห็นคือคนชะเง้อดูที่หน้าต่าง แต่พื้นที่บนหลังม้า ปล่อยว่างไว้ ให้คิดเอาเองว่าเป็นใคร

ภาพพุทธประวัติแต่ละภาพ เป็นภาพปูนปั้นมีรายเรียงอยู่ 24 ภาพ
มีภาพสะดุดตาสะกิดใจมากๆภาพหนึ่งคือ

ภาพโทณพราหมณ์แจกจ่าย

พระบรมสารีริกธาตุ เพราะแสดงให้เห็นว่า แม้เป็นชาวพุทธ แต่เมื่อถึงคราวอยากได้
ใคร่มี ก็ออกอาการหยุดไม่ได้ ยอมไม่เป็นเหมือนกัน

ลวดลายที่เห็นคือ กองทัพเมืองต่างๆมาขอปันพระบรมสารีริกธาตุ แม้จะบอกว่ามาอย่างสันติ
อย่างชาวพุทธด้วยกัน แต่มือนั้นเต็มไปด้วย ดาบ ถ้าไม่ให้คงไม่ต้องคาดเดาว่าอะไรจะเกิดขึ้น



เรื่องนี้เกิดขึ้นที่เมืองกุสินารา เมื่อพระพุทธเจ้าดับขันธ์ปรินิพพาน ได้ถวายพระเพลิง
พระพุทธสรีระที่มกุฏพันธนเจดีย์ ซึ่งอยู่ด้านทิศตะวันออกของเมืองกุสินาราแล้ว
เมืองต่างๆที่นับถือศาสนาพุทธได้ส่งราชทูตมาเจรจาขอพระบรมสารีริกธาตุ แต่กษัตริย์มัลละ
ไม่ยอม โดยอ้างว่า พระพุทธเจ้าปรินิพพานในเมืองของตน คิดจะฮุบเอาไว้เพียงเมืองเดียว

กษัตริย์เมืองต่างๆจึงยกทัพมากดดันให้ "คาย" พระบรมสารีริกธาตุออกมาให้เมืองของตนบ้าง

กองทัพที่ยกมามีถึง 7 เมืองคือ กองทัพของพระเจ้าอชาตศัตรู เมือง ราชคฤห์ กองทัพของลิจฉวี
เมืองเวสาลี กองทัพของศากยวงศ์ เมืองกบิลพัสดุ์ กองทัพของพูลี เมืองอัลละกัปปะ กองทัพของ
โกลิยะ เมืองเทวทหะ กองทัพของมัลละ เมืองปาวา และกองทัพพราหมณ์ เมืองเวฏฐทีปกะ

เมื่อศึกเข้าประชิดเมือง กองทัพเมืองต่างๆฮึกเหิมพร้อมจะประดาบให้เลือดเดือดอยู่รอมร่อ
ทำให้เถรานุเถระทั้งหลายไม่สบายใจ เป็นอย่างยิ่ง
เพราะการประหัตประหารกัน ไม่เป็นไปตามครรลองของพุทธเลย

โทณพราหมณ์อยู่ในที่ประชุมด้วย หลังแสดงทรรศนะต่อที่ประชุมแล้ว คณาเถรานุเถระพร้อมกัน
ยกให้เป็นผู้จัดการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้กับเมืองต่างๆ ซึ่งโทณพราหมณ์ก็รับตำแหน่งประธาน
เพื่อความปรองดองแห่งพุทธศาสนิกชนด้วยความเต็มใจ

เมื่อโทณพราหมณ์ประกาศกับกองทัพเมืองต่างๆแล้ว กองทัพก็คลายความฮึกเหิมที่จะสู้รบกัน
น้อมรับพระบรมสารีริกธาตุที่โทณพราหมณ์ตวงให้ด้วยทะนานทองคำไปเมืองละ 2 ทะนาน
เอาไปสร้างสถูปประดิษฐานไว้ในเมืองของตน

มีเรื่องเล่าขานกันต่อๆมาว่า ระหว่างเมืองต่างๆกระหยิ่มยิ้มย่อง

ในส่วนแบ่งอยู่นั้น โทณพราหมณ์เกิดโลภขึ้นมาบ้าง จึงฉวยพระเขี้ยวแก้วซ่อนไว้ในมวยผม

การกระทำนี้ร้อนถึงเทพยดาที่ชุมนุมอยู่ เห็นการคอรัปชันของโทณพราหมณ์แล้วทนไม่ได้
จึงแอบหยิบเอาไปประดิษฐานที่เจดีย์ จุฬามณีในเทวโลก

เรื่องราวในภาพพุทธประวัติ ณ ลานหินโค้ง ของสวนโมกข์แห่งใหม่
รอให้พุทธศาสนิกชนได้เรียนรู้ ได้ปฏิบัติธรรม ได้ศึกษาฟรีทุกวัน
ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2553 เป็นต้นไป เริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ 05.00-20.00 น.
ส่วนตัวอาคาร ถ้าเป็นวันหยุดเปิด 08.00 น. วันทำงานเปิด 09.00 น. ปิด 19.00 น.

ให้คิดเสียว่า "เหมือนมาเที่ยวสวนและเข้าวัดก็แล้วกัน" นพ.บัญชาบอก

เมื่อยกสวนโมกข์มาใกล้กายแล้วอย่างนี้ ก็เหลือแต่ใจที่แสวงธรรม.
บันทึกการเข้า
ถึงเป็นผู้หญิง ตัวเล็ก แต่ก็ยังสู้ได้อยู่ด้วยตัวคนเดียว
พุทโธ พุทโธ พุทโธ ขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ที่ระลึกถึง