ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: แนะข้อคิด คำสอน จากบทกลอนสุนทรภู่ ปรับใช้กับชีวิตปัจจุบัน  (อ่าน 1861 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ธรรมะ ปุจฉา

  • http://www.facebook.com/srikanet?ref=tn_tnmn
  • ศิษย์ตรง
  • โยคาวจรมรรค
  • *****
  • ผลบุญ: +2/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 713
  • ปัญญสโก ภิกขุ (พระที) ..... คณะ ๓/๓ วัดพลับ
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
    • เว็บไซต์
0
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ขอนำเสนอแนวคิดที่ปรากฏในกวีนิพนธ์ของท่านสุนทรภู ซึ่งมักจะสอดแทรกข้อคิด คำสอน คติพจน์ทั้งทางโลกและทางธรรม อันสะท้อนให้เราได้เห็นถึงสัจธรรมแห่งชีวิต  ซึ่งหลายๆเรื่องยังสามารถนำมาใช้เป็นแนวทางการดำเนินชีวิตในปัจจุบันได้ด้วย  อยู่ที่ว่าท่านจะประยุกต์ให้เข้ากับเรื่องใด  ดังต่อไปนี้

หากท่านเป็นชายหนุ่มที่ต้องการปฏิบัติตนเป็นคนดี และต้องการความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ท่านอาจจะเลือกคำสอนบางอย่างจาก สวัสดิรักษา อันเป็นผลงานที่ท่านสุนทรภู่ได้ดัดแปลงจากคำฉันท์โบราณที่อ่านยากให้เป็นคำกลอนที่อ่านเข้าใจง่าย  ซึ่งแต่งถวายเจ้าฟ้าอาภรณ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๒ เป็นข้อควรปฏิบัติและไม่ควรปฏิบัติของชายไทยสมัยโบราณ  ได้แก่ 
 

-  ตื่นนอนแต่เช้า ห้ามโกรธ แล้วหันหน้าไปทางทิศตะวันออกและทิศใต้  จากนั้นเสกน้ำล้างหน้าด้วยการสวดมนต์สามครั้ง แล้วให้พูดแต่วาจาดี เพื่อให้เป็นมงคล เพราะเชื่อว่าตอนเช้า ราศีอยู่ที่หน้า

 -  ห้ามภรรยานอนหลับทับมือและพาดเท้า  อย่านอนข้างซ้ายผู้หญิง มักจะมีภัย

 -  ให้ตัดเล็บวันจันทร์หรือวันพุธ กันจัญไร

 -  ให้เริ่มเรียนวิชาความรู้วันพฤหัสบดี จะเจริญรุ่งเรือง

 -  ก่อนนอนให้แสดงความเคารพด้วยการกราบหมอนและสรรเสริญคุณบิดามารดา อาจารย์ให้เป็นปกติสม่ำเสมอ 

 -  ห้ามร่วมเพศกับหญิงที่มีระดู เพราะอาจทำให้ตาย ตาบอด หรือเป็นฝีเป็นหนองได้ 

 -  ห้ามฆ่าสัตว์ในวันเกิดจะเสียราศี มีทุกข์โศกโรคภัย  และอายุจะสั้น  ฯลฯ 

 ซึ่งคำสอนเหล่านี้  แม้จะเป็นความเชื่อโบราณ หากจะพินิจพิเคราะห์ให้ดีแล้วจะพบว่า ล้วนแต่เป็นการสอนให้เป็นประพฤติปฏิบัติดีทั้งกาย วาจาและใจ อีกทั้งเป็นการสอนให้รู้จักรักษาสุขภาพอนามัย  และรู้จักระแวดระวังภัย ไม่ประมาท อย่างที่ว่า ห้ามนอนข้างซ้ายผู้หญิง เพราะสมัยก่อนผู้ชายต้องมีมีดดาบไว้ป้องกันตัว  ถ้านอนข้างซ้ายผู้หญิง หากมีขโมยหรือโจรบุก  มือขวาที่ติดกายผู้หญิงจะทำให้จับดาบไม่สะดวก และสู้โจรที่เข้ามาประชิดไม่ทันการ  เป็นต้น

นอกจากความเชื่อใน“สวัสดิรักษา” แล้ว ในเรื่องพระอภัยมณี  สุนทรภู่ยังสอนว่า   “อันรักษาศีลสัตย์กัตเวที  ย่อมเป็นที่สรรเสริญเจริญคน  ทรลักษณ์อกตัญญุตาเขา  เทพเจ้าก็จะแช่งทุกแห่งหน ให้ทุกข์ร้อนงอนหง่อทรพล พระเวทมนตร์เสื่อมคลายทำลายยศฯ” และในเรื่องสิงหไกรภพ ยังบอกว่า   “พระชนกชนนีเป็นที่ยิ่ง ไม่ควรทิ้งทอดพระคุณให้สูญหาย ถึงลูกเมียเสียไปแม้ไม่ตาย  ก็หาง่ายดอกพี่เห็นไม่เป็นไร” ล้วนเป็นการสอนให้มีศีลมีสัตย์ และรู้จักกตัญญูรู้คุณต่อผู้มีคุณและพ่อแม่ ซึ่งเป็นคุณธรรมที่จำเป็นอย่างยิ่งในสังคมทุกยุคทุกสมัย เพราะทำให้สังคมโดยส่วนรวมดีขึ้นได้ ข้อสำคัญความรักของพ่อแม่นั้นไม่มีที่เปรียบได้ดังคำกลอนที่ว่า ”แม่รักลูกลูกก็รู้อยู่ว่ารัก  คนอื่นสักหมื่นแสนไม่แม้นเหมือน” จากขุนช้างขุนแผน

ปัจจุบันเวลาไปไหนมาไหน ดูจะมีอันตรายไปหมด จนทำให้ไม่อยากออกจากบ้านไปไหนๆ แต่ถ้าจำเป็นต้องไป ก็ให้คิดถึงคำกลอนของท่านที่ว่า “เมื่อถึงกรรมจำตายวายชีวี  ถึงอยู่ที่ไหนไหนก็ไม่พ้น” จากสิงหไกรภพ และ”ไม่ถึงกรรมทำอย่างไรก็ไม่ตาย  ถ้าถึงกรรมทำลายต้องวายปราณ” จากพระอภัยมณี ซึ่งข้อเท็จจริงนี้อ่านแล้วคงจะช่วยให้เราคลายวิตก กลัวน้อยลง และเกิดความเชื่อมั่นขึ้นไม่มากก็น้อย

การดำรงชีวิตทุกวันนี้ ล้วนแล้วแต่มีเรื่องให้เครียด ให้ทุกข์อยู่เสมอ  ดังที่ท่านว่า “อันกำเนิดเกิดมาในหล้าโลก  สุขกับโศกมิได้สิ้นอย่างสงสัย” หรือ”วิสัยโลกโศกสุขทุกข์ธุระ ย่อมพบปะไปกว่าจะอาสัญ หรือ  “อันทุกข์โศกโรคภัยในมนุษย์  ไม่รู้สุดสิ้นลงที่ตรงไหน  เหมือนกงเกวียนำกเกวียนเวียนระไว  จงหักใจเสียเถิดเจ้าเยาวมาลย์” จากพระอภัยมณี  หรือในสภาขุนช้างขุนแผนที่ว่า “โบราณท่านสมมุติมนุษย์นี้  ยากแล้วมีใหม่สำเร็จถึงเจ็ดหน  ที่ทุกข์โศกโรคภัยร้อนค่อยผ่อนปรน คงพ้นโทษทัณฑ์ไม่บรรลัย” อ่านแล้วคงจะช่วยปลอบใจเราให้ปลงตกได้บ้างว่า ในโลกนี้ไม่มีใครจะทุกข์ตลอดกาล และไม่มีใครจะสุขอยู่ตลอดชาติ 

สำหรับคำพูดนับเป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างมิตรและก่อศัตรูให้เราได้  อีกทั้งยังเป็นเสน่ห์แก่ผู้พบเห็น หากเราจะรู้จักใช้ถ้อยคำ ดังคำกลอนจากนิราศภูเขาทองที่ว่า “ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์  มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต แม้พูดชั่วตัวตายทำลายมิตร  จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจา” หรือจากเพลงยาวถวายโอวาทที่ว่า“อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นซาก แต่ลมปากหวานหูไม่รู้หาย  แม้นเจ็บอื่นหมื่นแสนจะแคลนคลาย  เจ็บจนตายนั้นเพราะเหน็บให้เจ็บใจ”  หรือจากพระอภัยมณีที่ว่า “อันลมปี่ดีแต่เพราะเสนาะหู  ที่จะสู้ลมปากยากนักหนา”  ทั้งหมดล้วนสอนให้ตระหนักถึงคำพูดที่จะนำมาซึ่งลาภหรือความเสื่อมลาภได้ทั้งสิ้น

ในเรื่อง“ความรัก”นับว่าคำกลอนของท่าน สามารถแจงแจงและอธิบายคำว่า”รัก”ได้อย่างชัดเจนยิ่ง เช่น“เขาย่อมเปรียบเทียบความเมื่อยามรัก  แต่น้ำผักต้มขมชมว่าหวาน  ครั้นจืดจางห่างเหินไปเนิ่นนาน  แต่น้ำตาลก็ว่าเปรี้ยวไม่เหลียวแล” และ “อดอะไรจะเหมือนอดที่รสรัก  อกจะหักเสียด้วยใจอาลัยหา  ไม่เห็นรักหนักสิ้นในวิญญา จะเป็นบ้าเสียเพราะรักสลักทรวง”จากพระอภัยมณี หรือจากนิราศภูเขาทองที่ว่า“ไม่เมาเหล้าแล้วแต่เรายังเมารัก  สุดจะหักห้ามจิตจะคิดไฉน  ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป  แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืน” หรือจากนิราศพระประธมที่ว่า“สารพัดตัดขาดประหลาดใจ  ตัดอาลัยตัดสวาทไม่ขาดความ”  ซึ่งเป็นการบรรยายให้เราได้เห็นอาการของคนที่มีความรักว่าเป็นเช่นไร โดยเฉพาะผู้อยู่ในอาการ “อันโศกอื่นหมื่นแสนในแดนโลก  มันไม่โศกลึกซึ้งเหมือนหึงผัว  ถึงเสียทองของรักสักเท่าตัว  ค่อยยังชั่วไม่เสียดายเท่าชายเชือน” จากพระอภัยมณี อันสะท้อนให้เห็นว่าพิษรักแรงหึงมีผลแค่ไหนต่อคนเรา

ส่วนคำสอนอื่นๆของท่าน ที่เราได้ยินได้ฟังอยู่เสมอยังมีอีกมาก เช่น เรื่องวิชาความรู้ ท่านสอนไว้ว่า “มีความรู้อยู่กับตัวกลัวอะไร  ชีวิตไม่ปลดปลงคงได้ดี”หรือ “วิสัยคนทนคงเข้ายงยุทธ์  ฤทธิรุทแรงร้ายกายสิทธิ์  แม้เพลิงกาฬผลาญแผ่นดินสิ้นชีวิต อำนาจฤทธิ์ย่อมแพ้แก่ปัญญา”จากพระอภัยมณี  ส่วนเสภาขุนช้างขุนแผน ก็กล่าวว่า “ลูกผู้ชายลายมือก็คือยศ  เจ้าจงอุตส่าห์ทำสม่ำเสมียน” หรือจากเพลงยาวถวายโอวาทก็ว่า “อันข้าไทได้พึ่งเขาจึงรัก  แม้นถอยศักดิ์สิ้นอำนาจวาสนา  เขาหน่ายหนีมิได้อยู่คู่ชีวา  แต่วิชาช่วยกายจนวายปราณ” หรือ “อันความคิดวิทยาเหมือนอาวุธ  ประเสริฐสุดซ่อนใส่เสียในฝัก  สงวนคมสมนึกใครฮึกฮัก  จึงค่อยชักเชือดฟันให้บรรลัย” เป็นการสอนให้เราเห็นความสำคัญของการศึกษาหาความรู้ ที่มีผู้เปรียบว่า เป็นทรัพย์ที่ติดกายเราจนตาย  ใครก็ขโมยเอาไปไม่ได้

ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งจากกวีนิพนธ์ของท่านสุนทรภู่ที่แม้จะประพันธ์ไว้เมื่อร่วม ๒๐๐ปีล่วงมาแล้ว  แต่ก็ยังทรงคุณค่าอยู่เสมอ  เพราะนอกจากถ้อยคำจะไพเราะสละสลวย คล้องจอง ง่ายต่อการจดจำแล้ว  ยังเป็นคำสอนที่ให้ข้อคิด และแสดงสัจธรรมของโลกที่เราสามารถนำมาใช้ได้ทุกยุคทุกสมัยตลอดมา

อมรรัตน์ เทพกำปนาท
 กลุ่มประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม
จาก : http://www.m-culture.go.th/detail_page.php?sub_id=2904
บันทึกการเข้า
ยาดี มิได้ทำให้คนหายไข้   คนหายไข้ เพราะได้กินยาดี
ธรรมะ มิได้ทำให้คนดี       คนดีได้  เพราะปฏิบัติธรรม