ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: เติมรัก เติมรสชีวิตให้สุข สดชื่น ด้วยพยัญชนะจาก ก ไก่ - ฮ นกฮูก  (อ่าน 1285 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ธรรมะ ปุจฉา

  • http://www.facebook.com/srikanet?ref=tn_tnmn
  • ศิษย์ตรง
  • โยคาวจรมรรค
  • *****
  • ผลบุญ: +2/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 713
  • ปัญญสโก ภิกขุ (พระที) ..... คณะ ๓/๓ วัดพลับ
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
    • เว็บไซต์
0
เติมรัก เติมรสชีวิตให้สุข สดชื่น ด้วยพยัญชนะจาก ก ไก่ - ฮ นกฮูก

ในชีวิตที่สับสน วุ่นวาย และซับซ้อนเช่นปัจจุบัน แม้เราจะมีเครื่องอำนวยความสะดวก และเทคโนโลยีอันทันสมัยที่ช่วยร่นทั้งเวลาและย่นระยะทางในการสื่อสารกับครอบครัว เพื่อนฝูง และคนใกล้ชิด แต่ก็น่าแปลกที่หลายๆคนก็ยังรู้สึกเหงาหงอย เศร้าซึม จนดูเหมือนอยู่คนเดียว ท่ามกลางผู้คนมากมาย นั่นคงเป็นเพราะว่าคนสมัยนี้ แม้จะอยู่ในบ้านเดียวกัน ครอบครัวเดียวกัน ทำงานด้วยกัน หรืออยู่ใกล้กันไม่ว่าแบบใด ก็อาจจะเป็นประเภท “ ใกล้ตัว ไกลใจ ” หรือบางคนก็ “ ไกลทั้งตัว ไกลทั้งใจ ” เพราะขาดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน จึงทำให้ไม่อบอุ่นและไม่ผูกพันซึ่งกันและกัน ดังนั้น เพื่อเป็นการเติมรัก เติมรสชีวิต ด้วยการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทั้งในครอบครัว ที่ทำงาน ตลอดจนญาติสนิทมิตรสหายของเราให้ดีขึ้น กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอเสนอแนะสิ่งควรทำ และไม่ควรทำ จากพยัญชนะ ก ไก่ ถึง ฮ นกฮูก (บางตัว) ดังต่อไปนี้

-ก ที่ควรทำ ได้แก่ กอด พ่อแม่ ลูก สามี หรือภริยา วันละครั้ง เพื่อแสดงความรัก ความห่วงใยกอดเพื่อนเพื่อแสดงความเห็นใจ หรือให้กำลังใจ และก่อนนอน อย่าลืม กราบ พระ/สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือเพื่อขอบคุณและขอพรสำหรับวันต่อไป ก ที่ไม่ควรทำ คือ ก้าวร้าว ไม่ว่ากับใคร เพราะจะทำให้เป็นคนน่าเบื่อ ไม่น่าอยู่ใกล้ ไม่มีใครอยากให้ไปไหนด้วย กลัวไปทะเลาะวิวาทกับเขา

-ข ที่ควรทำ ได้แก่ ขอบคุณ จงกล่าวทุกครั้งที่มีคนทำอะไรให้ ขำขัน คือ ให้เป็นคนมีอารมณ์ดี อารมณ์ขัน ข.ที่ไม่ควรทำ คือ ขุดคุ้ย เอาเรื่องเก่ามาว่าไม่จบสิ้น หรือหาเรื่องมาประจานเขา

-ค ที่ควรทำ ได้แก่ ครุ่นคิด และ ใคร่ครวญ คือ คิดก่อนทำอะไรทุกครั้ง เพื่อมิให้ตัวเองและคนอื่นเสียใจภายหลัง ค ที่ไม่ควรทำ คือ คลั่งแค้น อย่าเป็นคนโกรธไม่รู้หาย อาฆาตไม่รู้จบ ทำให้คนอยู่ใกล้ไม่มีความสุข

-ง ที่ควรทำ ได้แก่ งดงาม ด้วยการทำตัวเราให้งดงามทั้งกาย วาจาและใจเสมอ ง้องอน เมื่อเราทำผิด หรือง้อเพื่อทำให้คนที่เรารักรู้สึกดีขึ้น และรู้จัก เงียบ ไม่โต้เถียงเสียบ้าง เพื่อให้เกิดความสงบสุข ง ที่ไม่ควรทำ คือ งก อยากได้เกินควร และไม่รู้จักแบ่งปัน

-จ ที่ควรทำ ได้แก่ รู้จัก จดจำ วันเกิด วันสำคัญของคนในครอบครัว เพื่อนฝูง คนรัก และทำอะไรเป็นพิเศษให้บ้าง ข้อสำคัญต้อง จริงใจ ไม่เสแสร้งหลอกลวง อันจะทำให้ต้องหวาดระแวงกันตลอดเวลา จ ที่ไม่ควรทำ คือ จู้จี้จุกจิก พิถีพิถันเกินเหตุ ใครทำอะไรให้ก็ไม่พอใจสักที และไม่เ จ้าชู้ ให้เกิดปัญหาในครอบครัว หรือที่ทำงาน

-ฉ ที่ควรทำ ได้แก่ ทำตัวให้ ฉลาดเฉลียว รู้ว่าอะไรควร ไม่ควร รู้กาลเทศะ รู้จักพูด รู้จักทำสิ่งต่างๆ ฉ ที่ไม่ควรทำ คือ เฉยเมย ไม่รู้ร้อนรู้หนาว กับความรู้สึกของคนอื่นหรือ ฉุนเฉียว ให้คนหวาดผวา

-ช ที่ควรทำ ได้แก่ ชมเชย ชื่นชม คือ รู้จักกล่าวคำชม หรือแสดงความชื่นชมในความสำเร็จ หรือเรื่องดีๆของผู้อื่นบ้าง ช ที่ไม่ควรทำ คือ ช่วงชิง คือ อย่าไปแย่งของรัก ของหวงของผู้อื่น หรือ ชุบมือเปิบ ฉวยประโยชน์ของคนอื่นมาเป็นของเราโดยไม่ลงทุนลงแรง

-ซ ที่ควรทำ ได้แก่ ซื่อสัตย์ ทั้งต่อตนเอง และผู้อื่น ซ ที่ไม่ควรทำ คือ ซุบซิบนินทา หาเรื่องผู้อื่น หรือ เซ้าซี้ จนน่ารำคาญ และอย่าทำท่า เซ็ง จนคนอื่นไม่สนุกไปด้วย

-ฒ ที่ควรทำ ได้แก่ การเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ ที่ทรงความรู้ และทำตัวให้น่าเชื่อถือ ฒ ที่ไม่ควรทำ คือ อย่าทำตัวเป็น เฒ่าทารก ไม่รู้จักโต เฒ่าสารพัดพิษ ที่เจ้าเล่ห์ แสนกล และ เฒ่าหัวงู ที่เป็นอันตรายแก่เด็กสาว และกลายเป็นคนแก่ที่ไม่น่านับถือ

-ด ที่ควรทำ ได้แก่ ดี คือ การทำความดี ทำสิ่งที่ถูกต้อง มีเหตุมีผล ด ที่ไม่ควรทำ คือ ดุด่า อย่าไปดุด่าว่าใคร หรือใช้อารมณ์จนเกินเหตุ และอย่า โดดร่ม หนีงานบ่อยเพราะเป็นการเอาเปรียบคนอื่น และอย่าเป็น ไดโนเสาร์เต่าล้านปี รุ่นโบราณคร่ำครึ แต่จงเป็นรุ่นจูราสิคปาร์คที่คุยกับเด็กๆสมัยใหม่รู้เรื่อง

-ต ที่ควรทำ ได้แก่ ตักเตือน เมื่อเห็นใครทำผิดหรือทำไม่ถูกต้อง ด้วยความหวังดี ต ที่ไม่ควรทำ คือ ตลบตะแลง ใช้เล่ห์กล หรือโกหกหลอกลวงให้ผู้อื่นหลงเชื่อ

-ถ ที่ควรทำ ได้แก่ ไถ่ถาม ห่วงใยทุกข์สุขของเพื่อนฝูง คนรู้จัก และคนที่เรารัก ถ ที่ไม่ควรทำ คือ ถากถาง อันเป็นการพูดเหน็บ หรือค่อนว่าให้คนอื่นเขาเจ็บใจ

-ท ที่ควรทำ ได้แก่ ทะนุถนอม คือ การดูแลเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน ท ที่ไม่ควรทำ คือ ทิฐิมานะ คือ การโอ้อวดถือดี ถือตัว ไม่ยอมแพ้ จะเอาชนะให้ได้

-ธ ที่ควรทำ ได้แก่ ธรรมะ คือ มีหลักธรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว เป็นแนวทางการดำเนินชีวิต ธ ที่ไม่ควรทำ คือ ธุระไม่ใช่ ด้วยการละเลย บอกปัด ไม่สนใจจะช่วยเหลือใครทั้งสิ้น

-น ที่ควรทำ ได้แก่ นอบน้อม เคารพคนที่ควรเคารพ มี น้ำใจ ให้กับทุกๆคน ช่วยเท่าที่ช่วยได้ น ที่ไม่ควรทำ คือ นอกลู่นอกทาง หรือ นอกคอก ด้วยการไม่ประพฤติตนตามที่ควรเป็น

-บ ที่ควรทำ ได้แก่ บุญ คือ การประกอบคุณงามความดีทุกรูปแบบ บ ที่ไม่ควรทำ คือ บัดสีบัดเถลิง อันจะทำให้ตัวเราและผู้เกี่ยวข้องอับอายขายหน้า เป็นที่รังเกียจ

-ป ที่ควรทำ ได้แก่ ปลอบโยน เห็นใครมีทุกข์ ก็ปลอบใจ /ให้คำปรึกษา และเห็นอกเห็นใจเขา ป ที่ไม่ควรทำ คือ โป้ปดมดเท็จ เป็นการกล่าวโกหก ครั้นต่อไปพูดอะไร คนเขาก็ไม่เชื่อ

-ผ ที่ควรทำ ได้แก่ ผัวเดียวเมียเดียว อันจะช่วยลดปัญหาครอบครัวและสังคม ทำให้เด็กๆอบอุ่น ผ ที่ไม่ควรทำ คือ ผรุสวาท (ผะรุสะวาด) กล่าวคำหยาบ เป็นที่ระคายเคืองหูต่อผู้ที่ได้ยิน

-ฝ ที่ควรทำ ได้แก่ ฝึกฝน คือ ทำอะไรด้วยความเพียร พยายามฝึก เช่น ฝึกฝนทำอาหารให้คนที่เรารักกิน ฝ ที่ไม่ควรทำ คือ ใฝ่ต่ำ ชอบทำอะไรในทางลบ ก่อความเสียหายแก่ตัวเองและครอบครัว

-พ ที่ควรทำ ได้แก่ พรหมวิหารสี่ คือ มีเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขาต่อคนรอบข้าง พ ที่ไม่ควรทำ คือ พนัน เพราะจะทำให้เสียเงิน เสียเวลา และนำไปสู่ความเดือดร้อนเรื่องอื่นๆ

-ฟ ที่ควรทำ ได้แก่ ฟังหูไว้หู ไม่เชื่อใครง่ายๆ หรือไม่ฟังคำยุยงที่จะทำให้เกิดความแตกแยก ฟ ที่ไม่ควรทำ คือ ฟุ่มเฟือย ฟุ้งเฟ้อ เพราะจะทำให้เสียทรัพย์โดยใช่เหตุ และไม่จำเป็น

-ภ ที่ควรทำ ได้แก่ ภาคภูมิ คือ ทำตัวให้สง่า ผึ่งผาย ไม่ซอมซ่อ ทำให้คนที่รักภูมิใจในตัวเรา ภ ที่ไม่ควรทำ คือ ภาระ กล่าวคือ ทำตัวไม่รู้จักโต ไม่รู้จักคิด เป็นที่หนักใจแก่คนอื่นตลอดเวลา

- ม ที่ควรทำ ได้แก่ มัธยัสถ์ คือ รู้จักใช้จ่ายอย่างประหยัด และเท่าที่จำเป็น ทำให้ไม่เดือดร้อน ม ที่ไม่ควรทำ คือ โมหะ นั่นคือทำตัวมืดมน มัวเมาด้วยความหลงผิดต่างๆนานา

-ย ที่ควรทำ ได้แก่ ยกย่อง ให้เกียรติทุกคน ไม่ดูหมิ่น ดูแคลนไม่ว่ากับพ่อแม่ พี่น้องหรือเพื่อนฝูง ย ที่ไม่ควรทำ คือ เย้ยหยัน /เยาะเย้ย ทำให้เขาเจ็บใจ เสียใจและผูกใจเจ็บ หรือ ยุยง ให้แตกแยก

-ร ที่ควรทำ ได้แก่ รัก ตัวเองและรักผู้อื่นให้เป็น และมี ระเบียบ ในการปฏิบัติตนและการทำงาน ร ที่ไม่ควรทำ คือ รังควาน ด้วยการรบกวนทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน รำคาญทั้งกายและใจ หรือ แรด อันหมายถึง ดัดจริต จนคนเขาระอา และหมั่นไส้ไปทั่ว

-ล ที่ควรทำ ได้แก่ ละมุนละม่อม หรือ ละมุนละไม คือ ทำอะไรด้วยความอ่อนโยน นิ่มนวลต่อกัน ล ที่ไม่ควรทำ คือ ลวนลาม ล่วงเกิน แทะโลมผู้อื่นด้วยวาจาหรือการกระทำ จนเป็นที่ดูถูก

-ว ที่ควรทำ ได้แก่ วันทา คือ การไหว้ และแสดงอาการเคารพต่อบุคคล สถานที่ที่ควรเคารพ ว ที่ไม่ควรทำ คือ วู่วาม ไม่รู้จักเก็บอารมณ์ และทำให้เกิดเรื่องเกิดราวได้ง่าย

-ศ ที่ควรทำ ได้แก่ ศักดิ์ศรี คือ ทำตนให้มีเกียรติ และมี ศีล ทำให้เราน่าคบ และน่าเคารพนับถือ ศ ที่ไม่ควรทำ คือ ศัตรู อย่าก่อศัตรู หรือเป็นศัตรูกับผู้อื่น จะทำให้ชีวิตเราไม่สงบสุข และกลุ้มใจ

-ส ที่ควรทำ ได้แก่ สติ คือทำอะไรให้มีสติอยู่ตลอดเวลา และ เสียสละ ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสบ้าง ส ที่ไม่ควรทำ คือ ส่อเสียด และ เสแสร้ง เพราะจะทำให้คนโกรธ และไม่อยากคบ เพราะไม่จริงใจ

-ห ที่ควรทำ ได้แก่ หอมแก้ม คนที่เรารักบ้างเป็นครั้งคราว อันจะทำให้ชีวิตรักสุข สดชื่น ห ที่ไม่ควรทำ คือ หงุดหงิด อารมณ์เสียอยู่เสมอ ทำให้คนอยู่ใกล้หมดความสุข

-อ ที่ควรทำ ได้แก่ อโหสิ และให้ อภัย แก่คนรอบข้าง และรู้จัก เอาใจเขามาใส่ใจเรา อ ที่ไม่ควรทำ คือ เอาใจยาก หรือ เอาใจออกห่าง ล้วนทำให้เกิดปัญหาทั้งสิ้น

-ฮ ที่ควรทำ ได้แก่ แฮปปี้ ( Happy )คือ ทำตัวให้สบาย มีความสุขตลอดเวลา อย่าเป็นคนเจ้าทุกข์ ฮ ที่ไม่ควรทำ คือ โฮกฮาก ทำเสียงกระแทกเวลาพูด ทำให้เสียบุคลิกภาพ

ทั้งหมดนี้ เป็นแนวทางปฏิบัติแบบง่ายๆ สบายๆ ซึ่งเชื่อว่าใครก็ตาม หากนำไปใช้กับคนในครอบครัว เพื่อนฝูงรอบข้าง คนรักหรือคนใกล้ชิด ก็คงจะช่วยเติมเต็มความรู้สึกที่ดีงามให้แก่กันและกันไม่มากก็น้อย และคงจะทำให้ชีวิตมีความสุข สดชื่นขึ้นแน่นอน

อมรรัตน์ เทพกำปนาท
 กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
จาก : http://www.m-culture.go.th/detail_page.php?sub_id=3107
 
บันทึกการเข้า
ยาดี มิได้ทำให้คนหายไข้   คนหายไข้ เพราะได้กินยาดี
ธรรมะ มิได้ทำให้คนดี       คนดีได้  เพราะปฏิบัติธรรม