ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ‘ภิกษุณีรูปแรก’ ในพระพุทธศาสนา  (อ่าน 1124 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28409
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
‘ภิกษุณีรูปแรก’ ในพระพุทธศาสนา
« เมื่อ: สิงหาคม 11, 2019, 06:37:27 am »
0

 :25: :25: :25:

สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (17) : ภิกษุณีรูปแรก

ในช่วงต้นๆ ไม่มีภิกษุณี ภิกษุณีสงฆ์เกิดขึ้นหลังจากพระนางมหาปชาบดีโคตมีบวช เพราะฉะนั้น พระนางมหาปชาบดีโคตมีจึงเป็นภิกษุณีสงฆ์รูปแรก

เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จนิวัติกรุงกบิลพัสดุ์ (ครั้งที่เท่าไร ลืมตรวจสอบ) รู้แต่ว่าเจ้าชายในศากยวงศ์และโกลิยวงศ์ อาทิ เจ้าชายอานนท์ เจ้าชายภัททิยะ เจ้าชายมหานาม และเจ้าชายเทวทัต ได้ออกบวชเป็นสาวกพระพุทธองค์แล้วช่วงนั้นมีวัดพระเชตวันในเมืองสาวัตถีแล้ว

พระนางมหาปชาบดีโคตมี อยากบวชเหมือนเจ้าชายทั้งหลายบ้าง แต่ถูกพระองค์ปฏิเสธ เมื่อพระพุทธองค์พร้อมภิกษุสงฆ์เสด็จกลับจากนครกบิลพัสดุ์ ไปประทับอยู่ที่ป่ามหาวัน นอกเมืองไพศาลี แคว้นวัชชี พระนางมหาปชาบดีโคตมี พร้อมเหล่าสากิยานีจำนวนมากปลงผมนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ พากันเดินเท้าเปล่า มุ่งหน้าไปยังป่ามหาวันเพื่อทูลขออุปสมบท


@@@@@@

พระนางแจ้งความประสงค์ให้พระอานนท์ทราบ พระอานนท์นำความกราบทูลพระองค์ทรงทราบ พระพุทธองค์ทรงปฏิเสธว่า อย่าเลยอานนท์ การบวชสตรี อย่าเป็นที่ชอบใจของเธอเลย

ในที่สุดพระอานนท์กราบทูลถามว่า บุรุษกับสตรีมีความสามารถไม่ทัดเทียมกันใช่หรือไม่ สตรีไม่สามารถบรรลุธรรมชั้นสูงเฉกเช่นบุรุษใช่หรือไม่

พระพุทธองค์ตรัสว่า ในเรื่องนี้ ไม่มีความแตกต่างกันแต่อย่างใด สตรีก็มีศักยภาพที่จะบรรลุที่สิ้นสุดทุกข์เช่นเดียวกับบุรุษ

พระอานนท์กราบทูลถามว่า ถ้าเช่นนั้น เพราะเหตุใดพระพุทธองค์จึงไม่ทรงอนุญาตให้พระนางมหาปชาบดีโคตมีบวช สตรีก็มีความสามารถที่จะบรรลุธรรมขั้นสูงได้

@@@@@@

พระพุทธองค์จึงทรงยินยอมตามที่พระอานนท์กราบทูลขอ แต่ก็ทรงวางกฎเหล็กอันเรียกว่า “ครุธรรม 8 ประการ” ไว้ว่า ถ้าปชาบดีโคตมีสามารถปฏิบัติครุธรรม 8 ประการนี้ได้ พระองค์ก็ทรงยินดีประทานอุปสมบทให้

เมื่อพระอานนท์นำความแจ้งพระนางมหาปชาบดีโคตมี พระนางก็ยินดีปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ครุธรรม 8 ประการนั้นคือ

1. ภิกษุณีแม้จะมีพรรษา 100 ก็ต้องกราบไหว้ภิกษุแม้บวชในวันนั้น
2. ภิกษุณีจะอยู่ในวัดที่ไม่มีภิกษุไม่ได้
3. ภิกษุณีจงถามวันอุโบสถและฟังโอวาทจากภิกษุ
4. ภิกษุณีอยู่จำพรรษาแล้ว ต้องปวารณาในสงฆ์สองฝ่าย
5. ภิกษุณีที่ต้องอาบัติหนัก ต้องประพฤติมานัตในสงฆ์สองฝ่าย (คือลงโทษกักบริเวณตัวเอง ตามกรรมวิธีของสงฆ์)
6. ภิกษุณีจะต้องได้รับอุปสมบทจากสงฆ์สองฝ่าย
7. ภิกษุณีไม่พึงด่าไม่พึงบริภาษภิกษุไม่ว่ากรณีใดๆ
8. ภิกษุณีไม่พึงตักเตือนภิกษุ แต่ภิกษุตักเตือนภิกษุณีได้


ขอบคุณภาพจาก Page วัดท่าไม้ จังหวัดสมุทรสาคร

ฟังดูแล้วเป็นกฎเหล็กจริงๆ ที่เป็นเช่นนี้ คงเพราะพระพุทธองค์ไม่มีพระประสงค์จะให้สตรีบวช ทรงคำนึงถึงความปลอดภัยของสตรี ความซับซ้อนเกี่ยวกับสุขภาพร่างกายของสตรี ที่สำคัญที่สุดทรงเกรงว่า ถ้าอยู่ใกล้ชิดกันมาก จะมีปัญหาในหมู่ภิกษุและภิกษุณี เพราะ “พรหมจรรย์” จะต้องเว้นขาดจากความเกี่ยวข้องทางกามารมณ์

พระภิกษุและภิกษุณีที่ยังมีภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรงพอ ก็อาจเผลอไผลละเมิดสิกขาบทได้ พระพุทธองค์ตรัสว่า สำหรับบุรุษ สตรีเป็นอันตรายต่อพรหมจรรย์ และสำหรับสตรี บุรุษก็เป็นอันตรายต่อพรหมจรรย์เช่นเดียวกัน

เมื่อพระนางมหาปชาบดีโคตมียืนยันจะบวชให้ได้ และยินดีปฏิบัติตามกฎเหล็กทั้ง 8 ประการอย่างเคร่งครัด พระพุทธองค์จึงทรงอนุญาตให้พระนางบวช การบวชของพระนางสำเร็จได้ด้วยการยอมรับครุธรรม 8 ประการ

พูดง่ายๆ ทันทีที่พระนางรับปากปฏิบัติครุธรรมอย่างเคร่งครัดก็เป็นภิกษุแล้ว การบวชของพระนางเรียกว่าบวชด้วยการรับครุธรรม (ครุธัมมปฏิคคหณอุปสัมปทา)

@@@@@@

เมื่อพระนางได้บวชแล้ว พระนางกราบทูลถามว่า แล้วจะให้ทำอย่างไรกับสตรีที่ตามพระนางมา พระพุทธองค์จึงตรัสว่า ให้ภิกษุสงฆ์จัดการบวชให้เสีย การบวชสตรีบริวารของพระนางมหาปชาบดีโคตมี จึงกระทำขึ้นโดยภิกษุสงฆ์ฝ่ายเดียว (เพราะตอนนั้นยังไม่มีภิกษุณีสงฆ์)

มีเรื่องเล่าต่อมา เมื่อสตรีเหล่านี้ได้รับการบวชจากภิกษุสงฆ์ตามพุทธบัญชาแล้ว พวกเธอจึงสำคัญว่าพวกตนเป็นภิกษุณีแท้ แต่พระนางมหาปชาบดีโคตมีมิใช่ภิกษุณีเพราะมิได้ผ่านการอุปสมบทเหมือนพวกตน ความทราบถึงพระองค์ พระพุทธองค์ตรัสว่า ก็การรับครุธรรม 8 ประการนั้นแหละเป็นการอุปสมบทของมหาปชาบดีโคตมี

หลังอุปสมบทแล้ว พระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรีรับเอากรรมฐานจากพระพุทธองค์ไปปฏิบัติ ไม่นานก็บรรลุพระอรหัต พระนางมหาปชาบดีโคตมีทรงเคารพในพระพุทธองค์มาก ถึงกับกล่าวว่า รูปกายของพระพุทธองค์ นางเป็นผู้เลี้ยงให้เจริญเติบโต นับเป็น “มารดา” ของพระพุทธองค์ทางร่างกาย แต่ธรรมกายของพระนาง พระพุทธองค์ทรงเลี้ยงให้เจริญ


@@@@@@

พูดภาษาสามัญก็ว่า ในทางโลก พระนางมหาปชาบดีโคตมีเป็น “แม่” ของพระพุทธเจ้า แต่ในทางธรรม พระพุทธองค์เป็น “พ่อ” ของพระนาง เท่านั้น เท่านั้นจริงๆ ไม่ใช่ “ธรรมกาย ธรรมเกิน” ดังที่บางพวกบางเหล่าพยายามจะลากความไปเพื่อสนองตัณหาของพวกตน

พระนางมหาปชาบดีโคตมีได้รับยกย่องใน “เอตทัคคะ” (ความเป็นเลิศกว่าผู้อื่น) ในทาง “รัตตัญญู” แปลกันว่า “ผู้รู้ราตรีนาน” คงมิได้หมายความว่า ผู้แก่เฒ่าเพราะอยู่นานดอกนะครับ ความหมายที่แท้จริงน่าจะหมายถึง “ผู้มีประสบการณ์มาก”มากกว่า



ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 สิงหาคม 2562
คอลัมน์ : เสฐียรพงษ์ วรรณปก
ผู้เขียน : เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เผยแพร่ : วันพฤหัสที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2562
ขอบคุณ : https://www.matichonweekly.com/column/article_218163
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 11, 2019, 06:46:33 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ