ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: พระสงฆ์กับการเมืองในประเทศเพื่อนบ้านของไทย บทบาทต้านอำนาจรัฐและความอยุติธรรม  (อ่าน 512 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
 :25: :25: :25:

พระสงฆ์กับการเมืองในประเทศเพื่อนบ้านของไทย บทบาทต้านอำนาจรัฐและความอยุติธรรม

พระสงฆ์ไทยรวมตัวประท้วงในปี 1975 (พ.ศ. 2518) เรียกร้องให้คืนสถานภาพทางสงฆ์ให้กับพระสองราย (พระพิมลธรรมและพระศาสนโศภน) ที่ถูกจับสึกในปี 1960 (พ.ศ. 2503) และภายหลังยัง ถูกดำเนินคดีฐานเป็นคอมมิวนิสต์ (AFP PHOTO)

บทบาทของพระสงฆ์ในอาเซียนกับการบ้าน–การเมืองในโลกสมัยใหม่

แม้จะจริงว่า ในยุครัฐนาฏกรรมในอุษาคเนย์ที่อำนาจของรัฐต่างๆ อาศัยความชอบธรรมจากพุทธศาสนา และพุทธศาสนาเชิงสถาบันก็มั่นคงได้ด้วยอาศัยการอุปถัมภ์จากรัฐ แต่ร่องรอยหลักฐานความรุ่งเรืองของพุทธศาสนาที่รัฐอุปถัมภ์ นอกจากความอลังการของวัดกับวัง ศาสนสถาน เทวาลัย พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์อันเป็นการลำลองจักรวาลวิทยาของเทพมาอยู่บนโลกมนุษย์ที่มีกษัตริย์ทรงเป็นประดุจเทพบนแผ่นดินแล้ว เราไม่พบร่องรอยหลักฐานของการใช้ธรรมวางระบบการปกครองเพื่อสลายระบบชนชั้นตามความหมายของ “ธรรม” ที่พุทธะเคยอ้างอิงโต้แย้งระบบวรรณะในสมัยพุทธกาลเลย

นี่น่าจะเป็นความจริงส่วนหนึ่งที่อธิบายได้ว่า ทำไมเมื่อรัฐนาฏกรรมแบบโบราณล่มสลายไปแล้วอย่างกรณี พม่า ลาว กัมพูชา แต่พุทธศาสนายังคงอยู่และสามารถปรับตัวเข้ากับความเป็นรัฐสมัยใหม่ได้ค่อนข้างดีกว่า แปลว่าความมั่นคงของพุทธศาสนาไม่ได้สัมพันธ์กับการอุปถัมภ์ของรัฐนาฏกรรมอย่างจำเป็น กรณีตัวอย่างที่ชัดเจนคือ การสูญสลายของพุทธศาสนาจากอินเดียไม่ใช่เพียงเพราะขาดการอุปถัมภ์จากกษัตริย์ (และเพราะการบุกเข้าทำลายของกองทัพมุสลิม)

หากสาเหตุที่สำคัญเกิดจากการที่คณะสงฆ์เวลานั้น “ไม่ได้ทำการบ้าน” กล่าวคือคณะสงฆ์ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับสังคมหรือผูกพันตัวเองเข้ากับวิถีชีวิตของชาวบ้าน เพราะมัวแต่แยกตัวเองอยู่ในอาณาจักรส่วนตัว หมกมุ่นกับการอภิปรายถกเถียงปัญหาเชิงอภิปรัชญาในมหาวิหารนาลันทา ครั้นเมื่อมหาวิหารนั้นถูกทำลายลง ก็ไม่เหลือพุทธศาสนาเชิงประเพณีที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ทางสังคมแนวราบในแบบที่สังคมหรือชาวบ้านเวลานั้นพึ่งพาได้อีกต่อไป

แล้วความเป็นไปของพุทธศาสนาและบทบาททางการบ้าน–การเมืองของพระสงฆ์ในอุษาคเนย์ภายใต้บริบทโลกสมัยใหม่เป็นอย่างไร

@@@@@@

พระสงฆ์กับการเมืองในพม่า

กรณีพม่า แรกทีพุทธศาสนาเถรวาทเข้าสู่เมืองสะเทิมที่เชื่อกันว่าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนสุวรรณภูมิ ต่อมาก็เข้าสู่พุกามและได้รับการอุปถัมภ์จากกษัตริย์มาตลอด จนถึงกษัตริย์องค์สุดท้ายคือพระเจ้าธีบอ พม่าก็ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ แต่เนื่องจากคณะสงฆ์พม่าผูกพันตัวเองเข้ากับประชาชนมาก่อน ครั้นไม่มีสถาบันกษัตริย์ คณะสงฆ์ก็ยังยืนบนขาของตัวเองได้และยังมีบทบาทเคียงข้างกับประชาชนในการต่อสู้กอบกู้เอกราชจากอังกฤษ

เริ่มจากการเดินประท้วงข้าหลวงอังกฤษที่ไม่ยอมถอดรองเท้าเข้าโบสถ์พุทธศาสนาที่เรียกว่า “กบฏเกือก” ต่อมาได้ก่อตัวเป็น “ขบวนการกู้ชาติ” ต่อสู้กอบกู้เอกราชเป็นเวลายาวนาน จนได้เอกราช เกิดสหภาพพม่า เมื่อปี 2492 (เซ็นสัญญาอิสรภาพ 17 ตุลาคม 2491)(1) เกิดการตีความพุทธศาสนาสนับสนุนสังคมการเมืองสมัยใหม่ โดยนายกรัฐมนตรีอูนุ (U Nu) ได้เสนอนโยบาย “พุทธสังคมนิยม” (Buddhist Socialism) ภายใต้หลักการว่า รัฐจะให้หลักประกันในด้านปัจจัย 4 แก่ประชาชน

แต่หลังจากได้เอกราชไม่นาน พม่าก็เผชิญกับความผันผวนของการเมืองภายในประเทศอันเนื่องมาจากการแย่งอำนาจของทหาร จนตกอยู่ภายใต้ระบบเผด็จการทหารมาตั้งแต่ยุค นายพล เนวิน ประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองของพระสงฆ์เริ่มขึ้นอีกครั้ง เมื่อพระสงฆ์เข้าร่วมกับกลุ่มนักศึกษาประชาชนต่อต้านเนวิน สนับสนุน นางออง ซาน ซูจี (Aung San Suu Kyi) จนได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น แต่ถูกรัฐบาลทหารล้มการเลือกตั้ง และกักตัว นางออง ซาน ซูจี ไว้ที่บ้านพัก กระนั้นคณะสงฆ์พม่าก็ยังคงเคียงข้างนักศึกษาและประชาชนต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการทหารในวิกฤตครั้งต่างๆ เรื่อยมา

ล่าสุดคือเหตุการณ์ปฏิวัติชายจีวรในพม่า พระสงฆ์และประชาชนหลายหมื่นคนเดินขบวนประท้วงอย่างสันติ เมื่อวันที่ 26-27 กันยายน 2550 เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาค่าครองชีพจากการปรับราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ จนส่งผลกระทบกับประชาชนจำนวนมาก รัฐบาลทหารพม่าได้ปราบปรามอย่างรุนแรง จนมีพระสงฆ์และประชาชนจำนวนหนึ่งถูกยิงเสียชีวิตและถูกจับติดคุก

ในการรำลึกครบรอบ 1 ปี ของการปฏิวัติชายจีวร (Saffron Revolution) มีคลิปการ์ตูนเคลื่อนไหว ความยาว 3 นาที ในชื่อ “ฉันคือชาวพุทธ – แอนิเมชั่นครบรอบการปฏิวัติชายจีวร” (I am Buddhist – Saffron Revolution Anniversary Animation) เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ยูทูบ เป็นเรื่องของตัวการ์ตูนลักษณะคล้าย พลเอกอาวุโส ตานฉ่วย ผู้นำรัฐบาลทหารพม่า และภริยา กำลังนั่งปฏิบัติวิปัสสนา ขณะนั้นได้มีเสียงรบกวนจากกลุ่มพระสงฆ์ที่กำลังประท้วง ทำให้เขาไม่พอใจควักปืนวิ่งออกไปยิงกลุ่มพระสงฆ์ แล้วเดินกลับเข้ามาด้วยสีหน้ายิ้มแย้มพร้อมกับ “จีวรเปื้อนเลือด” โดยมีภริยายิ้มชื่นชมอยู่ แต่เมื่อทั้งสองนั่งปฏิบัติธรรมต่อ องค์พระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่เบื้องหน้าได้หายไป(2)


พระภิกษุและชาวพม่าเชื้อสายยะไข่ร่วมกันประท้วงต่อต้านนโยบายรัฐบาลที่เตรียมจะมอบสัญชาติให้กับชาวมุสลิมโรฮิงญา เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2017 (AFP PHOTO / KHINE HTOO MRAT)

พระสงฆ์กับการเมืองในลาว

กรณีของลาวเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า พุทธศาสนาและคณะสงฆ์สามารถปรับตัวเข้ากับบริบทสังคมการเมืองที่เปลี่ยนไปได้เป็นอย่างดี ในสมัยที่ลาวยังเป็นราชอาณาจักรมีการบัญญัติในรัฐธรรมนูญ (มาตรา 7) ว่า “พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ และพระมหากษัตริย์เป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก”(3)

แต่ขณะเดียวกันวัดก็เป็นศูนย์กลางของชุมชนที่นับถือพุทธศาสนาผสมผสานกับความเชื่อเกี่ยวกับผีสางเทวดา พระสงฆ์ก็มีส่วนร่วมในการต่อสู้ทางการเมืองกับประชาชนในเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ เช่น ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นเข้ามาในลาว มีการจัดตั้งขบวนการชาตินิยมลาวโดยใช้พุทธศาสนาเป็นศูนย์กลาง พระสงฆ์มีบทบาทในการเคลื่อนไหวร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อเรียกร้องเอกราช ครั้นลาวตกอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส มีการแยกรัฐและศาสนาออกจากกันตามแนวคิดตะวันตก จึงสิ้นสุดยุค “พุทธศาสนาประจำชาติ” ในลาว

หลังยุคอาณานิคม เกิดการต่อสู้ทางอุดมการณ์ระหว่างทุนนิยมประชาธิปไตยและสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ พุทธศาสนาถูกตีความสนับสนุนอุดมการณ์สังคมนิยมโดย “ขบวนการประเทศลาว” อ้างหลักการพระโพธิสัตว์ที่เสียสละช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้พ้นทุกข์ว่า ในยุคปัจจุบันอุดมการณ์พระโพธิสัตว์นอกจากจะช่วยให้มนุษย์พ้นทุกข์เข้าถึงนิพพานยังต้องช่วยให้มนุษย์พ้นทุกข์จากการขูดรีดของระบบทุนนิยมด้วย

เมื่อขบวนการประเทศลาวได้ชัยชนะและสถาปนา “สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว” ขึ้น ในปี 2518 ประมุขสงฆ์ในลาวจากที่เคยมีตำแหน่งเป็นสมเด็จพระสังฆราชในยุคเก่า ก็เปลี่ยนเป็น “ประธานองค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์แห่งประเทศลาว”

การที่พุทธศาสนาในลาวถูกตีความสนับสนุนอุดมการณ์สังคมนิยมและคณะสงฆ์ยังอยู่ร่วมกันได้กับระบบสังคมนิยมแบบลาว แสดงให้เห็นว่าอำนาจการตีความพุทธศาสนาไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มคนชั้นสูงหรือคณะสงฆ์ชั้นสูงเท่านั้น หากแต่พุทธศาสนาและคณะสงฆ์มีความสัมพันธ์กับสังคมใน “แนวราบ” จึงทำให้เกิดขบวนการประชาชนที่ตีความพุทธศาสนาสนับสนุนอุดมการณ์สังคมนิยมจนกลายเป็นพลังในการต่อสู้ให้ประสบชัยชนะและเป็นที่ยอมรับของประชาชนในที่สุด

ปัจจุบันพุทธศาสนาในระบอบสังคมนิยมลาวได้รับการตีความใหม่ โดยผสมผสานแนวคิดเกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อเอกราชอธิปไตย และหลักการของสังคมนิยมเข้าไว้ด้วย ประเพณีและพิธีกรรมในพุทธศาสนาถูกประยุกต์ใช้เป็นยุทธวิธี ในการจัดระเบียบทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เช่น ในการประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา มีการอธิบายและแทรกแนวคิดลัทธิมาร์กซ์–เลนิน (Marxism-Leninism) เข้าไปด้วย เป็นต้น ทำให้พุทธศาสนากับลัทธิสังคมนิยมอยู่เคียงคู่กันได้เป็นอย่างดีในสังคมนิยมแบบลาว(4)

@@@@@@

พระสงฆ์กับการเมืองในกัมพูชา

กัมพูชาถือเป็นอาณาจักรพุทธผสมพราหมณ์ฮินดูที่รุ่งเรืองที่สุดแห่งหนึ่งในอุษาคเนย์ อารยธรรมที่แสดงถึงความเป็น “รัฐพุทธศาสนา” ที่ยิ่งใหญ่ คืออารยธรรมยุคพระนคร (นครวัดนครธม) โบราณสถานในรูปของปราสาทราชวัง ศาสนสถาน เทวาลัยที่ยิ่งใหญ่อลังการนั้นสะท้อนอิทธิพลของลัทธิการปกครองแบบเทวราชา โพธิสัตวราชา และพุทธราชา

แต่ในความยิ่งใหญ่อันแสนมหัศจรรย์นั้นก็เต็มไปด้วยความผันแปรไม่แน่นอน พุทธศาสนาในกัมพูชานั้นมีทั้งมหายานผสมฮินดูและเถรวาท (ปัจจุบันเหลือเถรวาท) อำนาจการตีความพุทธศาสนาในทางการเมืองดูเหมือนจะอยู่ในมือชนชั้นปกครองมาโดยตลอด ตั้งแต่ยุคโบราณจนมาถึงยุคความขัดแย้งทางการเมืองและสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ยุคพระนคร พุทธศาสนามหายานกับฮินดูเป็นศาสนาของราชสำนัก เกิดลัทธิเทวราช โพธิสัตวราช และพุทธราช ที่ถือว่ากษัตริย์เป็นทั้งพระเจ้า พระโพธิสัตว์ และพระพุทธเจ้าในเวลาเดียวกัน ส่วนเถรวาทอยู่กับประชาชน ในยุคนี้เองที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงสร้าง “นครธม” ซึ่งมี “วิหารบายน” เป็นศูนย์กลางตามคติความเชื่อของพุทธศาสนามหายาน ทรงสร้าง “ปราสาทตาพรหม” เพื่อเป็นที่ประดิษฐานภาพสลักศิลาของพระราชมารดา (พระนางศรีชัยราชจุฑามณี) ในรูปของ “พระโพธิสัตว์ปรัชญาปารมิตา” อันเป็นสัญลักษณ์ของปัญญา และ “ปราสาทชัยศรี” เพื่อเป็นที่ประดิษฐานภาพสลักศิลาของพระราชบิดา (พระเจ้าธรณีนทรวรมัน) ในรูปของ “พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร” อันเป็นสัญลักษณ์ของกรุณา ตามคติความเชื่อของพุทธศาสนามหายาน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิกายวัชรยาน) ที่ว่า “การสมรสระหว่างปัญญากับกรุณาทำให้เกิดการตรัสรู้” นับตั้งแต่สมัยของพระองค์เป็นต้นมา อาณาจักรกัมพูชาได้พลิกโฉมกลายมาเป็นอาณาจักรแห่งพุทธศาสนาโดยแท้(5)

อย่างไรก็ตาม ในความอลังการของยุคพระนครนั้น ก็มีปัญหาสำคัญแฝงอยู่ดังที่ จิตร ภูมิศักดิ์ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ตามที่ปรากฏในศิลาจารึกภาษาสันสกฤตที่พระเจ้าชัยวรรมันที่ 7 สร้างไว้คู่กับ “อโรคยศาลา” มีเนื้อหาแสดงให้เห็นว่า สังคมเขมรแบ่งออกเป็น 4 วรรณะ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ ไวศยะ และศูทร ตามระบบสังคมพราหมณ์ไม่มีผิด พุทธศาสนาฝ่ายหินยานคัดค้านระบบวรรณะเช่นนี้ และคัดค้านวรรณะพราหมณ์อย่างจริงจัง จึงเป็นที่ชื่นชมกันมากในหมู่ประชาชนทั่วไป(6)

ขณะเดียวกันพวกไพร่ ทาสจำนวนมากก็ถูกบังคับใช้แรงงานสร้างปราสาท เทวาลัยจนเกิดความรู้สึกต่อต้านศาสนาแบบราชสำนัก พุทธศาสนาฝ่ายหินยานจึงเข้ากันได้กับประชาชนและเป็นแรงบันดาลใจของบรรดาไพร่ ทาสต่อสู้ปลดปล่อยตนเองจากการกดขี่แรงงานของราชสำนัก จนกลายเป็นความขัดแย้งภายในอันเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่นำไปสู่การล่มสลายของยุคพระนคร นอกเหนือจากการทำสงครามกับสยาม และตกเป็นเมืองขึ้นสยามในเวลาต่อมา

ยุคหลังมหานครเป็นยุคเสื่อมของกัมพูชา ตกเป็นเมืองขึ้นของสยาม ครั้นได้เอกราชแล้ว ต่อมาก็ตกอยู่ใต้อาณัติของเวียดนาม เข้าไปร่วมสงครามกับชาติตะวันตก และมีความขัดแย้งภายใน สงครามกับเวียดนามบ้าง กับไทยบ้าง จนตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส พุทธศาสนาหลังยุคพระนครเป็นพุทธศาสนาเถรวาทคล้ายกับพุทธในไทยทั้งในด้านสังฆมณฑลและวัฒนธรรมประเพณี พระสงฆ์ก็มี 2 นิกาย คือ มหานิกาย กับธรรมยุต แต่แยกการปกครองกันเด็ดขาด ประมุขสงฆ์มหานิกายเรียกว่า “สมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดีสังฆนายก คณะมหานิกาย” ประมุขสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตเรียกว่า “สมเด็จพระสุธัมมาธิบดีสังฆนายก คณะธรรมยุติกนิกาย”(7)


พระสงฆ์เดินผ่านบริเวณปราสาทนครวัด ในจังหวัดเสียมราบ ของกัมพูชา เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2000 (AFP PHOTO/Philippe Lopez)

การตีความพุทธศาสนาในทางการเมืองเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทยุคสมัย ในยุคเจ้านโรดมสีหนุ ได้เสนอแนวคิด “พุทธสังคมนิยม” (Buddhist Socialism) ในแบบกัมพูชา ยุคนายพลลอนนอลซึ่งปลดเจ้านโรดมสีหนุออกจากตำแหน่ง แล้วตั้งสาธารณรัฐกัมพูชา บทบาททางศาสนาที่เคยปฏิบัติโดยพระมหากษัตริย์จะถูกแทนที่โดยประธานาธิบดี พุทธศาสนาถูกตีความว่าคือสัญลักษณ์ของ “เสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ” เพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ ภายใต้คำขวัญว่า “ถ้าคอมมิวนิสต์มา พุทธศาสนาจะหมดสิ้นไป”

หลังจากกัมพูชาเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐกัมพูชาแล้ว ก็เกิดสงครามระหว่างเวียดมินห์ เวียดกง และเขมรแดง จนถึงปี 2518 เขมรแดงได้ชัยชนะก็เกิดการกวาดล้างอย่างหนัก ภายใน 10 ปี ประชาชนกัมพูชา 1 ใน 3 ถูกสังหาร ในจำนวนนั้นมีพระภิกษุถูกสังหารราว 80,000 รูป(8)

ภายใต้รัฐบาลเขมรแดง พุทธศาสนาถูกตีความให้รับใช้การปฏิวัติ พระสงฆ์ต้องเข้ารับการศึกษาใหม่ และต้องใช้แรงงานเช่นเดียวกับฆราวาสทั้งในท้องนา การก่อสร้างถนนและเขื่อน มีการทำลายวัดวาอารามและพระพุทธรูป มีการเผาคัมภีร์และตำราทางศาสนา ภายในระยะเวลาเพียง 4 ปี พุทธศาสนาเกือบสูญสิ้นไปจากประเทศ

ครั้นสิ้นสุดยุคเขมรแดง เข้าสู่ยุคระบอบเฮงสัมริน (Heng Samrin) ภายใต้การควบคุมของเวียดนาม เฮงสัมริน ได้ตีความพุทธศาสนาสนับสนุนระบบการเมืองของตนว่า “พุทธศาสนาสอนเราให้อยู่ร่วมกันอย่างเป็นประชาธิปไตยและเป็นเอกภาพ โดยคิดถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน” รัฐบาลควบคุมคณะสงฆ์อย่างใกล้คิด ยุบรวมธรรมยุตกับมหานิกายเป็นนิกายเดียวกัน ให้พระสงฆ์เข้ารับการอบรมลัทธิคอมมิวนิสต์จากเวียดนามและโซเวียต และพระสงฆ์ต้องตีความพุทธศาสนาให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐ

ต่อมารัฐบาลผสมกัมพูชาประชาธิปไตยถูกจัดตั้งขึ้นโดยมี นายกรัฐมนตรีซอนซาน (Son Sann) เป็นผู้นำ ซอนซานสนับสนุนความเชื่อที่ว่าพุทธศาสนาอันเป็นรากฐานวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวกัมพูชา และเป็นพลังสำคัญในการรวมชาติกัมพูชาให้เป็นหนึ่งเดียว รัฐบาลซอนซานจึงสนับสนุนการฟื้นฟูพุทธศาสนาเถรวาทในรูปแบบดั้งเดิมของกัมพูชาขึ้นมาใหม่

ปัจจุบันอยู่ในสมัยรัฐบาลสมเด็จฮุนเซน (Hun Sen) สถาบันพระมหากษัตริย์ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ โดยเจ้านโรดมสีหโมลี (พระโอรสของเจ้านโรดมสีหนุ) ทรงเป็นกษัตริย์องค์ปัจจุบัน พุทธศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณีได้รับการส่งเสริมสนับสนุน พร้อมกับระบอบประชาธิปไตยแบบกัมพูชาที่มีพรรคการเมืองหลายพรรค พระสงฆ์กัมพูชามีสิทธิ์ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง แต่ไม่มีสิทธิตั้งพรรคการเมือง ลงสมัครรับเลือกตั้ง เป็นผู้แทนราษฎรหรือมีตำแหน่งในรัฐบาลได้เหมือนพระสงฆ์ศรีลังกา

@@@@@@

พระสงฆ์กับการเมืองในเวียดนาม

หลังจากเวียดนามปกครองแบบสาธารณรัฐประชาธิปไตย ในปี 2519 พระสงฆ์และชาวเวียดนามส่วนหนึ่งได้อพยพลี้ภัยการเมืองไปยังประเทศต่างๆ ข่าวคราวเกี่ยวกับพระสงฆ์และกิจการทางพุทธศาสนาในเวียดนามก็เงียบหายไปจากการรับรู้ของชาวโลก เมื่อปีที่แล้วมีข่าวว่าท่านติช นัท ฮันห์ พระภิกษุในพุทธศาสนานิกายเซนชาวเวียดนามที่ลี้ภัยการเมืองไปก่อตั้งหมู่บ้านพลัมอยู่ที่ฝรั่งเศส ได้กลับมาเยือนบ้านเกิดและมีความคิดที่จะฟื้นฟูพุทธศาสนาในเวียดนามขึ้นมาอีกครั้ง

ในแง่ประวัติศาสตร์เวียดนามรับอิทธิพลทางวัฒนธรรมและพุทธศาสนามหายาน เต๋า ขงจื๊อมาจากจีน การที่พุทธมหายานผสมผสานกับลัทธิเต๋าและขงจื๊อ ทำให้พุทธศาสนาในเวียดนามแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากพุทธมหายานผสมฮินดูเถรวาทในกันพูชา และเถรวาทผสมพราหมณ์ในสยาม

ขณะที่กัมพูชาและสยามใช้พุทธศาสนาสถาปนาลัทธิเทวราช โพธิสัตวราช พุทธราช สมมติเทพ และสร้างสถาบันสงฆ์ที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนอำนาจรัฐ แต่พุทธศาสนามหายานในเวียดนามกลับไม่ประสบผลสำเร็จในการผนึกรวมกับรัฐ ทว่าประวัติศาสตร์อันโดดเด่นของพุทธศาสนาในเวียดนามคือการต่อต้านอาณานิคม ต่อต้านการกดขี่ของรัฐ และต่อต้านสงครามเคียงข้างกับประชาชน

บทบาทของวัดและพระสงฆ์ในเวียดนาม คือบทบาทในด้านให้การศึกษาและสังคมสงเคราะห์ โดยพระสงฆ์ แม่ชี และฆราวาสทำงานร่วมกัน จึงทำให้พระสงฆ์กับประชาชนมีความใกล้ชิดผูกพันกัน ในยุคที่จีนปกครอง วัดเป็นศูนย์กลางการชุมนุมต่อต้านการกดขี่ของรัฐบาลจีน ครั้นถึงยุคเวียดนามตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส พระสงฆ์ก็ผนึกรวมพลังกับประชาชนในการเรียกร้องเอกราช

เมื่อสิ้นสุดยุคกษัตริย์ เวียดนามแบ่งเป็น 2 ระบบการปกครอง คือ ระบบสาธารณรัฐประชาธิปไตยของเวียดนามเหนือที่ได้รับการสนับสนุนจากจีนและโซเวียต มีโฮจิมินห์เป็นผู้นำ และระบบสาธารณรัฐเวียดนามใต้ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐ มีประธานาธิบดีโง ดินห์ เดียม ซึ่งนับถือศาสนาคริสต์คาทอลิกเป็นผู้นำ ความขัดแย้งทางศาสนาก็เริ่มขึ้น เนื่องจากชาวพุทธเห็นว่าพวกตนไม่ได้รับเสรีภาพทางศาสนาจากกรณีที่รัฐบาลห้ามประดับธงในวันวิสาขบูชาและการปฏิบัติต่อชาวพุทธไม่เท่าเทียมกับชาวคาทอลิกในกรณีอื่นๆ จึงมีพระภิกษุออกมาเรียกร้อง “เสรีภาพทางศาสนา” และเกิดการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่มีผู้นำเป็นคาทอลิกในเวลาต่อมา มีพระสงฆ์เผาตัวตายประท้วงจำนวน 7 รูป จนในที่สุดก็นำไปสู่การทำรัฐประหารโดยทหารโดยความเห็นชอบด้วยของรัฐบาลสหรัฐ(9)


พระสงฆ์เวียดนาม ภายถ่ายเมื่อ 3 มิถุนายน 2018 (Photo by Kao NGUYEN / AFP)

ต่อมาได้มีการก่อตั้ง “สหพุทธจักรเวียดนาม” (The Unified Buddhist Church of Vietnam) ที่ประกอบด้วยทบวงการศึกษา ทบวงการสังคมสงเคราะห์ และเครือข่ายเยาวชน พระสงฆ์ที่เคยเป็นผู้นำเคลื่อนไหวทางการเมืองมาก่อนก็มีเสียงดังในหมู่ประชาชน ได้เรียกร้องให้รัฐบาลทหารแต่งตั้งพระสงฆ์ให้มีตำแหน่งที่ปรึกษาของรัฐบาลแบบที่รัฐบาลคอทอลิกเคยทำ ให้รัฐบาลอุปถัมภ์พุทธศาสนามากขึ้น ให้เยาวชนชาวพุทธมีส่วนในชะตากรรมของชาวเวียดนามมากขึ้น แต่การเรียกร้องดังกล่าวได้นำมาสู่ความขัดแย้ง นักศึกษาและพระสงฆ์ที่ประท้วงเรียกร้องถูกรัฐบาลทหารปราบปรามอย่างรุนแรง

ครั้นถึงยุคสงครามเวียดนามเหนือ–ใต้ ในระหว่างสงครามเวียดนาม โลกต้องตกตะลึงเมื่อพระภิกษุในพุทธศาสนาจำนวนหนึ่งได้เผาตัวตายเพื่อประท้วงสงครามและรัฐบาล ผู้นำชาวพุทธได้สร้างขบวนการต่อสู้ทางการเมือง โดยใช้ปรัชญาการเมืองและสังคมตามหลักการของพุทธศาสนา เรียกร้องให้ยุติสงครามและนำสันติภาพกลับคืนสู่ประเทศ ขบวนการต่อสู้ทางการเมืองของชาวพุทธเวียดนามนี้เรียกกันว่า “พุทธสังคมนิยม” (Buddhist Socialism)

สงครามจบลงด้วยชัยชนะของเวียดนามเหนือ เวียดนามจึงถูกรวมเข้าเป็นหนึ่งภายใต้การปกครองแบบสาธารณรัฐประชาธิปไตย ในปี 2519 บทบาททางการเมืองของพุทธศาสนาและพระสงฆ์ในเวียดนามเป็นอันสิ้นสุดลงอย่างถาวร


 
เชิงอรรถ :-
1. พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). พุทธศาสนาในอาเซีย. (กรุงเทพฯ : ธรรมสภา, 2540), น. 186.
2. ศิลปินไทใหญ่ผลิตอนิเมชันรำลึก 3 ปีปฏิวัติชายจีวร http://www.prachatai.com/journal/2010/09/31304 (20/10/2014)
3. พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). พุทธศาสนาในอาเซีย. น. 203.
4. ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์. “พุทธศาสนาเถรวาทในลาว,” ใน มติชนรายวัน. 29, 10410, (10 กันยายน 2549).
5. ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์. “พระพุทธศาสนาในกัมพูชา,” ใน มติชนรายวัน. 29, 10473, (12 พฤศจิกายน 2549).
6. จิตร ภูมิศักดิ์. ประวัติศาสตร์สนทนา ตำนานแห่งนครวัด. (กรุงเทพฯ, 2557), น. 60.
7. พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). พุทธศาสนาในอาเซีย. น. 33.
8. เรื่องเดียวกัน, น. 36-37.
9. เรื่องเดียวกัน, น. 277.

หมายเหตุ : คัดบางส่วนจากบทความ พระสงฆ์กับการเมืองในอุษาคเนย์ ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2558
ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2558
ผู้เขียน : สุรพศ ทวีศักดิ์
เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2562
ขอบคุณ : https://www.silpa-mag.com/history/article_41447
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ