ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: สมาธิบำบัด (MEDITATION) ฝึกง่าย ช่วยแก้และป้องกันโรค  (อ่าน 598 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28420
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0




สมาธิบำบัด (MEDITATION) ฝึกง่าย ช่วยแก้และป้องกันโรค

สมาธิบำบัด เป็นกิจกรรมการฝึกสมาธิที่ในปัจจุบันผู้คนทั่วโลกหันมาฝึกสมาธิอย่างกว้างขวาง เนื่องจากพบประโยชน์จากการฝึก สมาธิบำบัด โดยเฉพาะประโยชน์ด้านสุขภาพร่างกาย จิตใจ และช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบสมองหลายคนมีคำถามว่า แล้วถ้าไม่ชอบนั่งนิ่ง ๆ เดินจงกรมแล้วเบื่อ แต่อยากได้รับประโยชน์จากการฝึก สมาธิบำบัด

ชีวจิต มีกิจกรรมดี ๆ มากมายที่ให้ผลใกล้เคียงกับการฝึกสมาธิมาฝาก เลือกฝึกตามความถนัด ได้รับทั้งความเพลิดเพลินและประโยชน์ด้านสุขภาพแน่นอน


@@@@@@

3 ศาสตร์ออกกำลังกาย

กิจกรรมที่แนะนำ : โยคะ ไทชิ และชี่กง

เมโยคลินิก สถาบันการแพทย์ในประเทศสหรัฐอเมริกา แนะนำว่า โยคะ ไทชิ และชี่กง ใช้เป็นกิจกรรมฝึก สมาธิบำบัด ได้ เพราะเป็นการช่วยฝึกรับรู้ทุก ๆ การเคลื่อนไหวพร้อมกับการกำหนดลมหายใจเข้า - ออก ซึ่งนอกจากลดความเครียดได้ผลแล้ว ยังช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับร่างกาย เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และทำให้การทรงตัวดีขึ้น

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร The American Journal of Health Promotion ซึ่งศึกษางานวิจัยเกี่ยวกับประโยชน์ของการฝึกไทชิและชี่กง ตั้งแต่ ค.ศ. 1993 –2003 รวม 77 ฉบับ พบว่า หากฝึกไทชิและชี่กงต่อเนื่องเป็นประจำ 1 ปีขึ้นไป ช่วยให้ผู้สูงอายุมีกระดูกที่แข็งแรงอัตราการสลายตัวของมวลกระดูกลดลง ช่วยให้การทำงานของปอดและหัวใจดีขึ้น ความดันโลหิตลดลง อัตราการเต้นของหัวใจสม่ำเสมอ ออกกำลังกายได้นานขึ้นโดยไม่เหนื่อยง่าย

ขณะที่ศาสตร์อินเดียโบราณอย่างโยคะ ก็มีผลวิจัยรับรองถึงประโยชน์เช่นกัน งานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Diabetology & Metabolic Syndrome ระบุว่า  การฝึกโยคะเป็นประจำวันละ 45 นาที – 1 ชั่วโมงทุกวันเป็นเวลา 1 ปี ช่วยให้กลุ่มตัวอย่างวัยกลางคนซึ่งมีอาการในกลุ่มเมแทบอลิก ได้แก่ อ้วนลงพุง ไขมันในเลือดผิดปกติ โดยมีไขมันดี (HDL) ต่ำ และไตรกลีเซอไรด์สูง น้ำตาลในเลือดสูง ความดันโลหิตเริ่มสูง ควบคุมน้ำหนักระดับไขมัน น้ำตาลในเลือด ความดันโลหิต ลดอาการปวดหลังส่วนล่าง กระตุ้นระบบขับถ่าย ช่วยให้คุณภาพการนอนหลับดีขึ้น


African american yoga instructor talking to diverse group sitting on mat in studio, multiracial happy people having conversation about healthy mindful life and motivation at training seminar class

HOW - TO

ในช่วงเริ่มต้นควรฝึก สมาธิบำบัด กับครูผู้เชี่ยวชาญเพื่อป้องกันโอกาสเกิดอุบัติเหตุ ในกรณีของผู้สูงอายุ ผู้ป่วย คนที่มีภาวะมวลกระดูกบางหรือผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุหกล้มมาก่อน ให้งดฝึกท่าที่มีความผาดโผน เช่น ทรงตัวด้วยขาข้างเดียว หรือท่าที่ใช้แขนยันตัวขึ้นจากพื้นฝึกบนพื้นเรียบ ไม่ลื่น หรือมีเสื่อโยคะปูรองเพื่อกันลื่น

FOR MORE INFORMATION

หากสนใจศาสตร์ออกกำลังกายแบบชาวตะวันออก สอบถามข้อมูลและเช็กเวลาเข้าอบรมได้ที่
    - ไท้เก๊ก รำมวยจีน โดยชมรมผู้สูงอายุ โรงพยาบาลหัวเฉียว โทร.0-2223-1351 ต่อ 3161 เฉพาะวันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา 9.00 น. - 12.00 น.
    - ชมรมลมปราณชื่นสุข ชี่กง 18 ท่า บริเวณลานข้างห้องสมุด ภายในสวนลุมพินี ถนนพระราม 4 โทร. 08-1648-0319 หรือแวะมาที่ชมรมได้ทุกวันเวลา 5.00 น. - 7.30 น.
    - โยคะสำหรับบุคคลทั่วไป โดยสถาบันโยคะวิชาการ มูลนิธิหมอชาวบ้าน โทร. 08-1401-7744 เฉพาะวันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา 9.00 น. - 17.00 น. หรือไลน์: thaiyoga
    - ชมรมโยคะ ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ บางมด โทร. 0-2426-2612-4 และ 0-2426-2267 เฉพาะวันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา 9.00 น. - 12.00 น.

@@@@@@

3 เย็บปักถักร้อยบำบัด

กิจกรรมที่แนะนำ : ถักนิตติ้ง ปักโครเชต์ เย็บต่อเศษผ้ามิฮาลี 

ซิเซนมิฮาลี (Mihaly Csikszent mihalyi) นักจิตวิทยาชาวฮังการี อาจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยาและการจัดการ บัณฑิตวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาวิจัยคุณภาพชีวิต มหาวิทยาลัยแคลร์มอนต์ สหรัฐอเมริกาผู้เขียนหนังสือ Flow: The Psychology of Optimal Experience อธิบายว่า สมองของคนเรามีความสามารถในการทำงานอย่างจำกัดเพียงช่วงเวลาหนึ่ง ดังนั้นเมื่อสมองต้องจดจ่อกับการทำกิจกรรมด้วยมือ เช่น เย็บผ้า เลื่อยไม้ จักสานอย่างลึกซึ้งและต่อเนื่องเพียงพอ จะลดความสนใจในส่วนอื่น ๆ ลงได้ ตั้งแต่การรับรู้เรื่องเวลา ความหิว ความเจ็บปวด ไปจนถึงความเครียด

ข้อสังเกตนี้สอดคล้องกับผลจากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร The British Journal of Occupational Therapy  ซึ่งระบุว่า  ร้อยละ 81 ของกลุ่มตัวอย่าง 3,500 คน ตอบว่า การถักนิตติ้งช่วยให้พวกเขาเป็นสุขมากขึ้น โดยกลุ่มตัวอย่างที่ถักนิตติ้งเป็นประจำ คือ มากกว่าสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ตอบว่า พวกเขารู้สึกสงบ เป็นสุข และผ่อนคลาย ขณะที่ผู้ที่ทำกิจกรรมถักนิตติ้งแบบกลุ่มระบุว่า พวกเขามีความสุขและรู้สึกอบอุ่นใจมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการถักนิตติ้งคนเดียว

นอกจากนี้งานวิจัยของทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา ระบุว่า ร้อยละ 74 ของผู้ป่วยโรคอนอเร็กเซียมีอาการดีขึ้น ลดความกังวล และตอบสนองต่อการรักษาดีขึ้นหลังทำกิจกรรมถักนิตติ้งอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Psychological Science ที่ระบุว่า การเย็บผ้าควิลต์ (Quilt) ซึ่งนำเศษผ้ามาเย็บต่อกันเป็นลวดลาย สัปดาห์ละ 16 ชั่วโมงต่อเนื่อง 3 เดือน ช่วยกระตุ้นให้กระบวนการรับรู้และความจำในกลุ่มผู้สูงอายุดีขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ


Knitting Knit Needle Yarn Needlework Craft Scarf Concept

HOW - TO

เริ่มต้นจากการฝึก สมาธิบำบัด โดยงานฝีมือที่ใช้เทคนิคง่าย ๆ และขอให้สนุกไปกับการเลือกประเภทและสีของวัสดุได้อย่างอิสระ จดจ่ออยู่กับทุกห่วง ทุกฝีเข็มที่เย็บลงไป และควรฝึกต่อเนื่องอย่างน้อยครั้งละ 45 นาที - 1 ชั่วโมง ถ้าทำได้ทุกวันจะยิ่งได้ผลเร็วขึ้น

FOR MORE INFORMATION

สนใจฝึกงานฝีมือ เพื่อเป็นการฝึก สมาธิบำบัด แวะไปหาข้อมูลและเช็กเวลาเข้าอบรมได้ที่เพจและเว็บไซต์เหล่านี้
    - เว็บไซต์ภิญญ์ช็อป รวมขั้นตอนฝึกปักครอสสติตช์ ถักนิตติ้งโครเชต์ ปักลูกปัด โดยละเอียด http://pinn.co.th
    - เพจดอกนมแมวเพลย์ สอนปักผ้าขั้นพื้นฐาน www.facebook.com/doknommeawhandmade
    - เพจปักกระเป๋าเฮ้าส์คลับ สอนงานเย็บปักผ้าควิลต์แบบญี่ปุ่น www.facebook.com/Pak-Ka-PaoHouse-Club-219563581413999
    - ปาริชาติ เอมบรอดี้เฮ้าส์ สอนงานเย็บปักผ้าด้วยเทคนิคจากฝรั่งเศส www.parichathouse.com

@@@@@@

3 ดนตรีบำบัด

กิจกรรมที่แนะนำ : ฟังเพลง เล่นดนตรี และเต้นรำ

ประโยชน์จากดนตรีมีหลายระดับเริ่มจากวิธีที่ง่ายที่สุดคือ การฟังเพลงผลการศึกษาโดยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแมคกิลล์ ประเทศแคนาดา ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature Neuroscience ระบุว่า การฟังดนตรีมีผลให้สมองหลั่งฮอร์โมนโดพามีน (Dopamine) ที่ทำให้สมองทำงานได้ดี รู้สึกกระฉับกระเฉงลดความเครียดได้

สอดคล้องกับทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย Universidad Autonoma de Nuevo Leon ร่วมกับทีมจาก Danish Pain Research Centerประเทศเดนมาร์ก ซึ่งเสนอผลวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Psychology ระบุว่า  ผู้ป่วยโรคปวดกล้ามเนื้อ (Fibromyalgia) ซึ่งฟังดนตรีให้ความรู้สึกผ่อนคลายตามที่ตนเองเลือก ช่วยลดอาการปวดกล้ามเนื้อและข้อ รวมทั้งสามารถเคลื่อนไหวได้มากขึ้น

เช่นเดียวกับงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Psychology of Music  โดยทีมวิจัยของโรงพยาบาล Great Ormond Street Hospital สหราชอาณาจักร ระบุว่า การให้ผู้ป่วยเด็กแรกเกิดที่มีปัญหาด้านการหายใจได้ฟังดนตรี ช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจและความเจ็บปวดลงได้โดยนักวิจัยสันนิษฐานว่า การฟังดนตรีอาจช่วยลดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล ซึ่งหลั่งออกมาจากต่อมหมวกไตเมื่อร่างกายเกิดความรู้สึกเครียดได้นั่นเอง

ถัดมาคือ การเล่นดนตรี เป็น สมาธิบำบัด อีกรูปแบบ ซึ่งต้องใช้การทำงานประสานกันระหว่างมือ สายตาและสมอง ทำให้สมองของผู้ป่วยหันมาจดจ่ออยู่ที่การควบคุมร่างกายและจิตใจให้ทำงานอย่างพร้อมเพรียงกัน เพื่อให้สามารถบรรเลงดนตรีไปตามท่วงทำนองได้จนจบเพลง ซึ่งมีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet โดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยบรูเนล สหราชอาณาจักร ระบุว่า ผู้ป่วยที่รับการผ่าตัดไปแล้ว หากได้เล่นดนตรีในช่วงพักฟื้น จะช่วยลดความเจ็บปวด จำนวนการใช้ยาแก้ปวดและจำนวนวันนอนพักฟื้นในโรงพยาบาลได้มากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้เล่นดนตรีเลย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

สุดท้าย การขยับร่างกายโดยการเต้นรำไปตามเสียงดนตรี ก็ช่วยสร้างสมาธิและมีประโยชน์ต่อสุขภาพเช่นกัน งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร European Journal of Physical and Rehabilitation Medicine ระบุว่า แม้ในกรณีผู้ป่วยโรคพาร์กินสันซึ่งเกิดจากความเสื่อมของเซลล์สมองยังมีคะแนนการรับรู้ การตอบสนองและการเคลื่อนไหวดีขึ้น โดยใช้รูปแบบการเต้นง่าย ๆ ประกอบเพลงช้า ๆ เช่น การเต้นบอลรูมในจังหวะวอลทซ์ และการเต้นโฟล์คแด๊นซ์

ขณะที่งานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Arts in Psychotherapy ระบุว่า ถ้าหากเปลี่ยนการเต้นรำประกอบเพลงที่มีจังหวะเร็วและสนุกสนาน เช่น การเต้นแทงโก้ การเต้นรำแบบแอฟริกัน จะเหมาะกับการฟื้นฟูผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและผู้ที่มีปัญหาเรื่องน้ำหนักตัวเกินจากการกินอาหาร ช่วยให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า ลดความเครียด และวิตกกังวล ขณะเดียวกันก็ช่วยให้ผู้ป่วยมีสติและการรับรู้ที่คมชัด ทำให้ตอบสนองต่อการรักษาหลักได้ดีขึ้น


High School Students Playing In School Orchestra Together

HOW - TO

ส่วนใหญ่ดนตรีที่ใช้ในการบำบัดจะเป็นบทเพลงบรรเลง จังหวะช้า ๆ ปราศจากเสียงร้องและเสียงสังเคราะห์จากโปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือเครื่องดนตรีไฟฟ้า แนะนำให้ใช้บทเพลงที่บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีพื้นบ้านที่เรียบง่าย เช่น กลองใบเล็ก ๆ กระดิ่ง ขลุ่ย เป็นต้น ก็เป็นตัวช่วยในการฝึก สมาธิบำบัด ได้อีกทาง

FOR MORE INFORMATION

แหล่งข้อมูลและสถานที่ให้บริการเกี่ยวกับดนตรีบำบัดมีดังนี้
    - เอกสารเกี่ยวกับดนตรีบำบัด โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) http://resource.thaihealth.or.th/taxonomy/term/9784
    - กิจกรรมดนตรีบำบัดลดความเครียดให้ผู้ป่วยและญาติ โรงพยาบาลตากสิน ถนนสมเด็จเจ้าพระยา คลองสาน กรุงเทพฯ ให้บริการทุกวันพฤหัสบดี เวลา 8.30 - 12.30 น. บริเวณหน้าอาคารอำนวยการโรงพยาบาลตากสิน หรือสอบถามได้ที่ โทร. 0-2437-0123 ต่อ 1644
    - ดนตรีบำบัดเพื่อผู้ที่มีปัญหาด้านพัฒนาการร่างกายและสมอง โรงพยาบาลมนารมย์ บางนา กรุงเทพฯ โทร. 0-2725-9595 และ 0-2399-2822

@@@@@@

ศิลปะบำบัด

กิจกรรมที่แนะนำ : วาดภาพ

ถ่ายภาพ ปั้นภาชนะจากดินเหนียวการเขียนบำบัดศิลปะเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ช่วยให้มนุษย์ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ลดความเครียด และมีผลตอบสนองต่อการรักษาที่ดีขึ้นได้ งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร The American Journal of Public Health ระบุว่า ผู้ป่วยในกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดและมะเร็ง ที่เลือกการทำศิลปะบำบัด เช่น วาดภาพ ระบายสีเพื่อบอกเล่าอาการเจ็บป่วยของตนเอง ให้คำตอบในแบบสอบถามว่า ตนเองมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ได้อย่างต่อเนื่องมากกว่าเดิม

นอกจากงานศิลปะที่ถ่ายทอดออกมาเป็นภาพ มองเห็นจับต้องได้แล้ว ในกลุ่มประเทศทางตะวันตกยังระบุว่า การเขียนก็นับเป็นศิลปะที่นำมาใช้บำบัดและฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยอย่างได้ผล ดังเช่นงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Psychosomatic Medicine ที่ระบุว่า โปรแกรมการเขียนบำบัด 4 วัน วันละ 30 นาทีอย่างต่อเนื่อง 6 เดือน ทำให้ผู้ป่วยเอชไอวีมีปริมาณเม็ดเลือดขาวเพิ่มมากขึ้น แสดงว่าระบบภูมิคุ้มกันทำงานดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้เข้าโปรแกรม แต่กินยาต้านไวรัสเหมือนกัน


Side view of a happy senior woman smiling while drawing as a recreational activity or therapy outdoors together with the group of retired women.

HOW - TO

ในช่วงแรกจะเริ่มจากการฝึกลงสี โดยใช้สีไม้สีเทียน ปากกาเมจิก หรือฝึกวาดเส้นด้วยดินสอก่อนก็ได้ จากนั้นค่อย ๆ พัฒนาไปสู่การใช้เทคนิคที่ต้องการความละเอียดมากขึ้น เช่น สีน้ำ แต่ถ้าไม่ถนัดงานวาดภาพ จะหันไปทำงานปั้น การถ่ายภาพหรือการเขียนบำบัด ซึ่งมีจุดประสงค์ให้ผู้ที่ทำกิจกรรมสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์และแสดงออกถึงความรู้สึก ณ ขณะนั้นเป็นหลัก

FOR MORE INFORMATION

แหล่งข้อมูลและสถานที่ให้บริการเกี่ยวกับดนตรีบำบัดในการฝึก สมาธิบำบัด มีดังนี้
    - ศิลปะบำบัดเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ป่วยโรคเรื้อรังโครงการฝึกอบรม ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โทร. 0-2419-7508-9 ต่อ 109 (คุณสุพิน) หรือ 113 (คุณชวลิต)
    - โครงการนันทนาการผู้ป่วยเด็ก ศิลปะบำบัด วาดสีน้ำงานสร้างเสริมสุขภาพ โรงพยาบาลรามาธิบดี โทร. 0-2201-1064 เฉพาะวันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา 9.00 น. - 17.00 น.
    - มูลนิธิศิลปะบำบัด ถนนราชดำริ ปทุมวัน กรุงเทพฯ โดยความร่วมมือกับสถาบันศิลปะบำบัดนานาชาติแห่งประเทศแคนาดา โทร. 08-5113-1919 เฉพาะวันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา 9.00 น. - 17.00 น.
    - สตูดิโอศิลปะด้านใน อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ โดยครูมอส ศิลปะบำบัดในเชิงมนุษยปรัชญา โทร. 09-3235-6679
    - การเขียนบำบัด สถาบันธรรมวรรณศิลป์ เรือนการุณยพร ซอยติวานนท์ - ปากเกร็ด 27 โทร. 08-3133-9968

@@@@@@

ปัจจุบันมีผู้เชี่ยวชาญแพทย์ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูในโรงพยาบาลหลาย ๆ แห่งนำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ ชีวจิต รวบรวมมาฝาก สามารถมาใช้เป็นตัวช่วยในการฝึก สมาธิบำบัด เพื่อการดูแลสุขภาพผู้ป่วย

โดยใช้เสริมจากการรักษาหลักอย่างหลากหลายและกว้างขวางอย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัย ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวควบคู่กับผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู เพื่อช่วยประเมินความเหมาะสมก่อนทำกิจกรรมที่สนใจทุกครั้ง



ที่มา : คอลัมน์ TRENDY HEALTH  เรื่อง ศิริกร โพธิจักร
ขอบคุณ  : https://goodlifeupdate.com/healthy-body/146149.html
By sirakan ,4 April 2019
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ