ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: วัดม่อนปู่ยักษ์ ศิลปะพม่าสวยงาม กลางเมืองลำปาง  (อ่าน 2067 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28431
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


วัดม่อนปู่ยักษ์ ศิลปะพม่าสวยงาม กลางเมืองลำปาง

จังหวัดลำปาง หรือเรียกกันว่าเขลางค์นครเมืองรถม้า เป็นจังหวัดที่มีวัดวาอารามมากมายหลายแห่ง ซึ่งแต่ละแห่งก็สร้างกันมาแต่โบราณกาล มีทั้งวัดที่สร้างจากศิลปะล้านนา ศิลปะพม่า ไทยใหญ่ และอื่นๆ อีกมากมายหลายประเภท วัดม่อนปู่ยักษ์ ก็เป็นวัดๆ หนึ่งที่สร้างอย่างสวยงามวิจิตรบรรจงด้วยศิลปะพม่า นักท่องเที่ยวหรือชาวจังหวัดใกล้เคียงหากมีโอกาสมาเยี่ยมเยียนเมืองรถม้าก็ต้องแวะมาเยี่ยมชมวัดนี้กันเสมอมา

วัดม่อนปู่ยักษ์ หรือวัดม่อนสัณฐาน ตั้งอยู่บริเวณทิศ ตะวันออกเฉียงใต้ ของตัวเมืองลำปาง ปัจจุบันซึ่งอยู่ทาง ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำวัง พื้นที่ตั้งวัดอยู่บนเนินเขาเล็กๆ ไม่สูงนักกลางเมืองลำปาง เลขที่ 15 ถ.วัดม่อนจำศีล ต.พระบาท อ.เมือง จ.ลำปาง มีเนื้อที่ 15 ไร่ 2 งาน 8 ตารางวา สังกัดคณะสงฆ์ มหานิกาย เป็นวัดที่มีรูปแบบศิลปะพม่า เช่นเดียวกับวัดพม่าทั่วไปในล้านนาได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์เรื่อยมา มีอาคารหลัก 3 หลัง คือ กุฏิไม้ศิลปะพม่า วิหาร อุโบสถซึ่งสร้างอย่างก่ออิฐถือปูนโบราณ

 
 ans1 ans1 ans1 ans1

วัดม่อนปู่ยักษ์ ซึ่งน่าจะมีอายุราวกลาง พุทธศตวรรษที่ 24 ในช่วงปี พ.ศ.2425 ถึงสมัยรัชกาลที่ 6 ในตำนานกล่าวไว้ว่า ในสมัยพุทธกาลเมื่อครั้งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จไปโปรดสัตว์ พร้อมด้วยพระอรหันต์เผยแผ่พระพุทธศาสนา มาทางทิศบูรพานั้น ครั้งผ่านมาทางแว่นแคว้นแห่งหนึ่ง ก็ปรากฏมียักษ์อยู่ตนหนึ่ง ขัดขวางการเผยแพร่พระพุทธศาสนาของพระพุทธองค์ และได้ขับไล่เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จผ่านมาทางป่าบ้านพระบาท จนถึงบริเวณป่าม่อนจำศีล ก็ไล่มาทันกัน

ขณะที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดม่อนจำศีลท่ามกลางพระอรหันต์ ทรงเห็นว่า ยักษ์ตนนั้นน่าจะหยุดกระทำการขัดขวางเผยแผ่พระพุทธศาสนา จึงให้ยักษ์ ตนนั้นเข้าเฝ้าและฟังพระธรรมจากพระพุทธเจ้า ยักษ์ได้เกิดอัศจรรย์ปิติใจตนเอง จึงก้มลงกราบแทบพระบาท ด้วยความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าและขอบำเพ็ญศีลภาวนาที่ม่อนจำศีล

ครั้นเวลาล่วงเลยไปไม่นาน ยักษ์ตนนั้นตายลงและได้มาตายที่ม่อนปู่ยักษ์ อันอยู่ไม่ไกลจากม่อนจำศีลมากนัก ต่อมาได้มีผู้พบรอยพระพุทธบาท และรอยเท้ายักษ์บริเวณวัดพระบาท ชาวบ้านจึงช่วยกันสร้างวัดขึ้น โดยสร้างวัดคร่อมรอยพระพุทธบาทเพื่อยกให้สูงขึ้น เป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป

 
 :25: :25: :25: :25:

กองพุทธสถานกรมการศาสนาทำหนังสือ “ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักรเล่ม 8” พ.ศ. 2525 บันทึกว่าวัดม่อนปู่ยักษ์ ได้ก่อสร้างเมื่อวันเสาร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ.2442 โดย พ่อเฒ่านันตาน้อย พ่อเฒ่านันตาไก่ พร้อมพี่น้องอีก 3 คน ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ.2442 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 14.82 เมตร ยาว 14.82 เมตร อาคารเสนาสนะประกอบด้วย อุโบสถ แบบอิทธิพลศิลปะตะวันตก ศาลาการเปรียญและกุฏิไม้โบราณศิลปะพม่า ฝาผนังและเสาไม้สัก ประดับลวดลายลงรักปิดทอง เพดานติดกระจกและมีเจดีย์ฝีมือช่างพม่า พระประธานลงรักปิดทอง

หลักฐานอ้างอิงอีกประการหนึ่งคือ ในปี พ.ศ.2444 หรือ ค.ศ.1901 เป็นการศึกษาจาก หลักศิลาจารึก เป็นภาษาไทยใหญ่คือ วัดแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นโดย นายจอง นันตาแกง มาจากรัฐฉาน ในประเทศพม่า เป็นผู้สร้างวัดสำเร็จเสร็จสิ้นครบรอบ 30 ปี ที่จอง นันตาแกงจากบ้านมา แต่ไม่มีใครรำลึกถึงท่านผู้นี้ และไม่มีใครรู้จักเลย


 :96: :96: :96: :96: :96:

กล่าวกันว่า บริเวณรอบๆ วัดแห่งนี้เป็นต้นไม้มะขาม เมื่อถึงฤดูฝนมีพืชล้มลุกขึ้นเป็นจำนวนมาก ส่วนในฤดูแล้งจะแล้งมาก พืชที่ยืนต้นอยู่ก็มีเพียงต้นใหญ่นั้นส่วนใหญ่จะเป็นต้นมะขามเพราะทนความร้อนได้ดี และมีจำนวนมาก ชาวบ้านจึงพากัน เรียกว่า ป่าขาม ปัจจุบันเรียกว่าชุมชนบ้านป่าขาม 2 อ.เมืองลําปาง ด้วยเหตุที่มีต้นมะขามมากนี้เอง บรรดาพ่อค้าในสมัยนั้นจึงพากันอพยพมาตั้งรกรากเป็นที่อยู่อาศัย หรือใช้ป่านี้เป็นที่เลี้ยงช้าง โดยปล่อยให้ช้างหากินอาหารเอง เพราะมะขาม ก็เป็นอาหารของช้างด้วย มะขามเปียกนั้นเป็นยารักษาอาการป่วยของช้างด้วย

ในอดีตเมืองลำปางถือได้ว่ามีความรุ่งเรืองทางศาสนา และวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก ประชาชนส่วนใหญ่เป็นคนใจบุญสุนทาน ถือศีล ครองธรรม เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และเอาใจใส่ต่อวัดวาอารามเป็นอย่างดี ผู้มีฐานะดีร่ำรวยต่างพากันสร้างวัดขึ้นใหม่ด้วยความศรัทธา เชื่อถือ เราจึงได้เห็นวัดมีอยู่มากมายในปัจจุบัน โดยเฉพาะในบ้านป่าขามมีถึง 4 วัด วัดม่อนปู่ยักษ์ (ม่อนสัณฐาน) วัดม่อนจำศีล วัดจองคำ และวัดร่มโพธิ์งาม และห่างออกไปก็มีวัดพระบาท ซึ่งเป็นวัดสำคัญอีกวัดหนึ่ง โบราณสถานที่สำคัญ วัดม่อนปู่ยักษ์ (ม่อนสัณฐาน) ประกอบไปด้วยกลุ่มโบราณสถานที่สำคัญ อาคารหลัก 3 หลัง คือ กุฏิไม้ ศิลปะพม่า วิหาร และอุโบสถ ศิลปะพม่าได้รับอิทธิพลจากศิลปะตะวันตก

 st12 st12 st12 st12

กุฏิไม้ อยู่ทางทิศตะวันตกของวิหาร หันหน้าไปทางทิศใต้เป็นกุฏิไม้แบบศิลปะพม่า มีลักษณะเป็นอาคารเครื่องไม้ หลังคาตัวอาคารใหญ่ออกแบบเป็นหลังคาจั่วซ้อนกันเป็นชั้นๆ ซุ้มส่วนเหนือทางเข้าออกแบบเป็นมณฑปรูปสี่เหลี่ยมยอดปราสาท จะเห็นได้ว่าเป็นหลังคาแบบผสมผสานอาคารยกพื้นชั้นเดียว บันใดทางขึ้นเป็นปูน ตกแต่งไม้แกะสลักแบบศิลปะพม่า ภายในประกอบด้วยพื้นที่เป็นโถงกลางถัดเข้าไปด้านในคือที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ส่วนด้านข้างใช้เป็นที่อยู่ของพระสงฆ์ อาคารไม้หลังนี้เป็นสิ่งก่อสร้างรุ่นแรกของวัด

อุโบสถ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวิหาร เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ได้รับอิทธิพลจากศิลปะตะวันตก (ทางวัดเรียกว่าวิหารทางโปรตุเกส) ซึ่งเป็นอาคารขนาดย่อมประดับตกแต่งด้วยลายแกะไม้ และลายปูนปั้นประดับกระจก ปิดทอง

 st11 st11 st11 st11

วิหาร ตั้งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ได้รับอิทธิพลจากศิลปะตะวันตก การประดับตกแต่งลวดลายประดับอาคาร การใช้ซุ้มโค้ง (Arch) แบบศิลปะตะวันตก

เจดีย์ เป็นเจดีย์แบบมอญบนฐานประทักษิณ ขนาดใหญ่ ชื่อว่า เจดีย์จุฬามณีสัณฐาน มีกำแพงแก้วอยู่โดยรอบ ก่ออิฐถือปูน

พระประธาน และพระสาวกประดิษฐสถานอยู่บนฐานลายปัน เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ลงรักปิดทอง ประดับกระจก ปางมารวิชัย ศิลปะพม่า สกุลช่างมัณฑเลย์ การเดินทางมาเที่ยววัดเมื่อนักท่องเที่ยวมาถึงจังหวัดลำปางจะเหมารถสองแถวมาที่วัด แค่บอกคนขับว่าไปวัดม่อนปู่ยักษ์ คนขับรถสองแถวทุกคันจะรู้จักและพามาส่งที่วัดได้อย่างถูกต้อง หรือหากขับรถมาเองเมื่อมาถึงสี่แยกเด่นชัยลำปางก็เลี้ยวขวาผ่านเข้าถนนสายในจะเห็นป้ายร้านอาหาร อ.อู๊ด ก็เลี้ยวซ้ายเข้าไปจะเห็นป้ายวัดม่อนปู่ยักษ์ชัดเจน ทางขึ้นวัดเป็นบันไดนาคสวยงามบรรยากาศทั่วไปของวัดร่มรื่นเย็นสบายสวยงามด้วยศิลปะพม่า ดูแล้วหายเหนื่อยคุ้มค่ากับเวลาครับ


ขอบคุณภาพและบทความจาก
พจน์ วิจารณกรณ/ลำปาง
http://www.banmuang.co.th/news/region/24054
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ