ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ เทพธิดาแห่งราชสํานัก ทำไมกล้าอุปการะสุนทรภู่  (อ่าน 422 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
หุ่นตัวนาง (ฝีมือ จักรพันธุ์ โปษยะกฤต) ที่สุนทรภู่เปรียบความงาม


กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ เทพธิดาแห่งราชสํานัก ทำไมกล้าอุปการะสุนทรภู่ แม้ ร.3 ไม่ทรงโปรด

กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ทรงเป็นราชธิดาในรัชกาลที่ 3 เชื่อกันว่ารัชกาลที่ 3 ไม่ทรงโปรด “สุนทรภู่” รวมทั้งมีข้อขัดแย้งมาก จน “สุนทรภู่” ต้องหนีราชภัย แต่กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ทรงอุปการะ “สุนทรภู่” เพราะอะไร? กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ จึงทรงอุปการะบุคคลที่พระราชบิดาไม่ทรงโปรด

ที่เอกองค์ทรงศรีฉวีวรรณ
ดั่งดวงจันทร์แจ่มฟ้าไม่ราคี
ทั้งคมขำล้ำนางสําอางสะอาด
โอษฐ์เหมือนชาดจิ้มเจิมเฉลิมศรี
ใส่เครื่องทรงมงกุฏดังบุตรี
แก้วมณีเนาวรัตน์จํารัสเรือง
รูปจริตพิศไหนวิไลเลิศ
เหมือนหุ่นเชิดโฉมแช่มแฉล้มเหลือง
พอแลสบหลบชม้ายชายชําเลือง
ดูปลดเปลื้องเปล่งปลั่งกําลังโลม
ลําพระกรอ่อนชดประณตน้อม
แลละม่อมเหมือนหนึ่งเขียนวิเชียรโฉม
หรือชาวสวรรค์ชั้นฟ้านภาโพยม
มาประโลมโลกาให้อาวรณ์
แปลกมนุษย์ผุดผ่องละอองพักตร์
วิไลลักษณ์ล้ำเลิศประเสริฐสมร

สุนทรภู่จินตกวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้พรรณนาภาพฝันถึงความงามของสตรีหนึ่งในคําประพันธ์เรื่อง รําพันพิลาป ความงามแห่งสตรีนั้นเลิศเลอเหนือความงามของสตรีในมนุษยโลก เปรียบได้กับความงามของเทพธิดาอันเกิดแต่จินตนาการของมหาจินตกวีเท่านั้น

แต่จากหลักฐานในชีวประวัติของสุนทรภู่ปรากฏให้สันนิษฐานได้ว่า สตรีผู้งามเลิศนั้นมิใช่ภาพฝันอันเกิดจากจินตนาการแต่ประการเดียว หากส่วนหนึ่งแห่งความงามของสตรีนั้นมีตัวตนประทับซึมซาบอยู่ในอารมณ์และความรู้สึกของท่านจินตกวีเอก สตรีที่กล่าวถึงนี้มีพระนามบ่งบอกถึงความงามอันวิจิตรเหนือสตรีใดว่า อัปสรสุดาเทพ


@@@@@@

เทพธิดาแห่งราชสํานัก

นาม “อัปสรสุดาเทพ” คือ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ เป็นพระราชธิดาพระองค์ที่ 3 ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ครั้งยังทรงดํารงพระอิสริยยศเป็น กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาบาง เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2354 มีพระอนุชาร่วมพระชนนีคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ

แม้ขณะนั้นสมเด็จพระบรมชนกนาถจะทรงมีพระราชโอรสพระราชธิดาหลายพระองค์แล้วก็ตาม แต่มีหลักฐานปรากฏว่า เจ้าหญิงพระองค์น้อยนี้ทรงเป็นที่สนิทเสน่หาของสมเด็จพระราชบิดายิ่งกว่าพระราชโอรสพระราชธิดาพระองค์ใด ซึ่งน่าจะเป็นเพราะทรงเป็นพระราชธิดารุ่นแรกประสูติเมื่อพระองค์มีพระชนมายุเพียง 24 พรรษา หรืออาจเป็นเพราะพระราชธิดาพระองค์นี้ ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาที่ทรงโปรดปรานก็อาจเป็นได้

แต่ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะเจ้าหญิงทรงเป็นพระราชกุมารีที่มีพระสิริโฉมงดงามและทวีความงามขึ้นตามพระชันษา จนสมเด็จพระบรมชนกนาถ โปรดพระราชทานนามอันเป็นมงคล และมีความหมายแสดงแจ้งชัดถึงพระสิริโฉมว่า พระองค์เจ้าหญิงวิลาส

นอกจากพระสิริโฉมอันงดงามเป็นที่ลือเลื่องแล้ว พระองค์เจ้าหญิงวิลาส ยังทรงมีพระปรีชาสามารถในพระภารกิจที่สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงมอบหมาย ดังนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้วจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระองค์เจ้าหญิงวิลาสเป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ นับเป็นการสถาปนาพระราชโอรสพระราชธิดาครั้งแรกในรัชกาล

จดหมายเหตุทรงตั้งพระบรมวงศานุวงศ์ บันทึกไว้ว่า “ถึงปีจอ พ.ศ. 2381 ทรงตั้งกรมพระเจ้าลูกเธอเป็นครั้งแรก 2 พระองค์คือ “…ทรงสถาปนาพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าหญิงวิลาส เป็นกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ และพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าสิริวงศ์เป็นกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์…”

@@@@@@

เทพธิดารามวัดพระราชทาน

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ทรงรับราชการในพระราชสํานักฝ่ายในใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท หน้าที่พนักงานพระสุคนธ์ และผู้กํากับการแจกเบี้ยหวัดฝ่ายในทรงสนองพระราชประสงค์เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยกว่าพระราชธิดาพระองค์อื่น

พระจริยวัตรสําคัญประการหนึ่งของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ คือ ทรงมีพระศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เช่นเดียวกับสมเด็จพระบรมชนกนาถ ทรงบริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์โดยเสด็จพระราชกุศลเนือง ๆ

หลักฐานสําคัญประการหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงพระเมตตาเป็นพิเศษของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ คือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สร้างวัดพระราชทาน

ดังเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดการทํานุบํารุงพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง จนมีคํากล่าวว่า ในรัชกาลนี้ผู้ใดสร้างวัด (ถวาย) ก็เป็นคนโปรด ดังนั้น ในรัชสมัยของพระองค์จึงมีผู้สร้างวัดถวายถึง 53 วัด แต่วัดที่โปรดสถาปนาเองมีเพียง 4 วัด คือ วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร วัดเทพธิดารามวรวิหาร วัดราชนัดดารามวรวิหาร

แต่ละวัดทรงมีพระราชประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติ หรือพระราชทานเป็นพระราชานุสรณ์แห่งความสนิทเสน่หาที่ทรงมีต่อผู้ที่โปรดพระราชทาน ดังเช่น วัดเทพธิดารามวรวิหารนี้ พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นภูมินทรภักดี (พระองค์เจ้าชายลดาวัลย์) จัดซื้อที่ดินแถบบ้านพระยาไกรสวนหลวง ณ ริมกําแพงด้านตะวันออกของพระบรมมหาราชวัง และกํากับการก่อสร้างพระอารามขึ้น ณ ที่นั้น ใน พ.ศ. 2379

ครั้นถึง พ.ศ. 2382 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดําเนินผูกพัทธสีมา และพระราชทานนามว่า วัดเทพธิดารามวรวิหาร ซึ่งเป็นนามที่มีความหมายพ้องกับพระนามของพระปิยะราชธิดา คือ อัปสรสุดาเทพ อันหมายถึง เทพธิดา


@@@@@@

อัปสรสุดาเทพ ทรงเป็นที่พึ่งของกวี

นอกจากจะทรงมีพระศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัดเช่นเดียวกับสมเด็จพระบรมชนกนาถแล้ว กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพยังทรงสืบสายพระโลหิตแห่งความเป็นศิลปินและกวีจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบรมราชอัยกา

แม้จะมิได้ทรงผลงานให้ปรากฏ แต่ก็ทรงให้ความสนับสนุนและอุปถัมภ์ศิลปินและกวีทั่วไป ด้วยเหตุนี้ พระตําหนักของพระองค์ซึ่งเรียกขานกันทั่วไปในสมัยนั้นว่า พระตําหนักใหญ่ นอกจากจะมีข้าราชบริพารแล้ว ยังเป็นแหล่งรวมศิลปินและกวีแห่งสมัย ทั้งนี้ เนื่องมาแต่การที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมิทรงมีพระราชนิยมส่งเสริมศิลปินและกวีในพระราชสํานักเป็นพิเศษ ดังรัชสมัยของสมเด็จพระบรมราชชนก กวีทั้งหลายจึงกระจัดกระจายไปพึ่งบารมีเจ้านายตามวังและตําหนักต่าง ๆ

ตําหนักของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ จึงเป็นแหล่งรวมศิลปินแห่งราชสํานักฝ่ายในแหล่งหนึ่ง ดังบทกวีที่คุณสุวรรณได้พรรณนาบรรยากาศและ ความสุขในพระตําหนักใหญ่ไว้ดังนี้

คุณเจ้าจอมหม่อมที่ได้เวียนมา
ต่างปรีดาชักลํานําเป็นทํานอง
ประสานเสียงจังหวะดูสะอาด
เป็นพิณพาทย์มโหรีมีฉลอง
คุณพึ่งขับลําตามทํานอง
ประดิษฐ์ร้องดอกสร้อยคอยดัดแปลง
คุณยองท่านสันทัดขัดต้นบท
รับซอกดนิ้วไว้ใส่กระแสง
ลงปากรับทับโทนช่างดัดแปลง
เสียงหน่องแหน่งอดอาดพาดกันไป
คุณบัวเศกส้มป่อยนั่งลอยหน้า
ปากบ่นว่าตัวกระเพื่อมกระเทื้อมไหว
คุณนกคุณน้อยลอยเสียงเรียงรับไป
คุณพึ่งไว้น่าร้องประคองครวญ
ข้างพวกฟังนั่งสรวลสํารวลร่า
ประสันตาพากย์หนังฟังโหยหวน
คุณแย้มนครไม่ชัดดัดสํานวน
เสียงห้วนท้วนครวญรัวหัวร่อเลย
ข้างคุณเหมหยิบหมากมือลากกล่อง
หัวเราะจนร้องไห้แล้วว่าแม่คุณเอ๋ย
กล่องหมากหกตกจากมือหยิบพลูเลย
เหมือนไม่เคยฟังเพลงบรรเลงลาน

@@@@@@

นอกจากสรรพสําเนียงเสียงดนตรีแล้ว ในพระตําหนักใหญ่นั้นน่าจะอึงอลด้วยเสียงสํารวลรื่นของเหล่าข้าหลวงใหญ่น้อย ด้วยเหตุที่กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ทรงเป็นขัตติยราชนารีที่มีน้ำพระทัยเปี่ยมด้วยพระเมตตา มีพระอารมณ์ขันไม่ถือพระองค์ ดังจะเห็นได้จากการที่ทรงชอบตั้งสมญาล้อเลียนข้าหลวงใกล้ชิด

อย่างเช่น หม่อมข้าทรงตั้งสมญาว่าหม่อมเป็ด เพราะ “เดินเหินโยกย้าย ส่ายกิริยา จึงชื่อว่าหม่อมเป็ดเสด็จประทาน” หรืออย่างหม่อมสุด ข้าหลวงใกล้ชิดมีหน้าที่อ่านบทกลอนถวายก่อนบรรทม หม่อมสุดชอบเล่นเพื่อนกับหม่อมขํา วันหนึ่งขณะอ่านบทกลอนถวายเข้าใจว่ากรมหมื่นอัปสรสุดาเทพบรรทมหลับแล้ว จึงเอาผ้าคลุมโปงกอดจูบกับหม่อมขําอยู่ในโปงปลายพระบาท กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพยังมิทรงหลับ ทอดพระเนตรเห็นเช่นนั้นจึงทรงตั้ง สมญาล้อเลียนหม่อมสุดว่า “คุณโม่ง” เพราะ “เอาเพลาะหอมกรอมหุ้มกัน คลุมโปง จึงตรัสเรียกว่าคุณโม่งแต่นั้นมา”

อ่านเพิ่มเติม : “เล่นเพื่อน” หรือ “เลสเบี้ยน” ว่าด้วยเรื่องเล่าสาวชาววัง

หม่อมขําและหม่อมสุดมักมีเรื่องทะเลาะวิวาทกันเสมอ ครั้งหนึ่งวิวาทกันจนลูกกรงไม้สักที่เฉลียงหักพัง ความทราบถึงกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพทรงกริ้ว แต่เมื่อหม่อมทั้งสองรับผิดก็ทรงหายกริ้วประทานอภัยให้ พระสดับรับผิดหม่อมสารภาพ เห็นเรียบราบแล้วก็โปรดยกโทษให้ จึงตรัสสั่งข้างหน้าทหารใน ทําเฉลียงเก๋งใหม่ให้ดิบดี

@@@@@@

นอกจากข้าราชบริพารและเหล่าศิลปินแล้ว กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพยังทรงรับอุปถัมภ์กวีฝีปากดี เช่น คุณสุวรรณ ธิดาพระยาอุทัยธรรม (กลาง) ราชินิกุลบางช้าง เป็นจินตกวีฝีปากดีคนหนึ่ง กล่าวกันว่าเคยเป็นศิษย์ของสุนทรภู่อยู่ระยะหนึ่ง

คุณสุวรรณเป็นข้าหลวงรับใช้ใกล้ชิดกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพเป็นที่โปรดปราน ได้แต่งหนังสือไว้หลายเรื่อง เช่น กลอนเพลงยาวเรื่องหม่อมเป็ดสวรรค์ แต่งล้อเลียนเพื่อนข้าหลวงผู้หนึ่ง เพลงยาวจดหมายเหตุเรื่องกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพประชวร พรรณนาอาการประชวร และเหตุการณ์ต่าง ๆ ในระหว่างประชวร คุณสุวรรณมีอายุยืนยาวจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้แต่งบทละคอน อีก 2 เรื่อง คือ อุณรุธร้อยเรื่อง และ พระมเหลเถไถ

อ่านเพิ่มเติม : พระมะเหลเถไถไม่เหลวไหลอย่างที่คิด

@@@@@@

กวีสําคัญอีกคนหนึ่งที่กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพทรงรับอุปถัมภ์ คือ สุนทรภู่

เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงสนับสนุนกวีที่เคยรุ่งเรืองมาเมื่อครั้งแผ่นดินสมเด็จพระบรมชนกนาถ เช่น สุนทรภู่นั้นก็ไม่มีเจ้านายพระองค์ใดกล้าที่จะชุบเลี้ยงเกื้อหนุนสุนทรภู่ ซึ่งแม้จะได้บวชเป็นพระภิกษุแล้ว ด้วยเกรงจะฝ่าฝืนพระราชนิยม แต่ผู้ที่กล้าอุปการะสุนทรภู่โดยเปิดเผย คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ และกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ซึ่งน่าจะเป็นเพราะทั้งสองพระองค์ทรงทราบว่า ทรงเป็นที่สนิทเสน่หาแห่งพระราชบิดาเป็นพิเศษ หรืออาจเป็นเพราะที่จริงแล้วพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงขัดเคืองสุนทรภู่ดังที่สุนทรภู่เกรงกลัวก็เป็นได้

พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าลักขณานุคุณทรงอุปถัมภ์สุนทรภู่อยู่ระยะหนึ่ง ครั้นสิ้นพระชนม์ พระเชษฐภคินีกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ จึงทรงรับอุปถัมภ์ต่อมา

กล่าวกันว่าเหตุที่กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพทรงรับอุปถัมภ์สุนทรภู่นั้น นอกเหนือจากจะทรงนิยมบทกวีและนักกวีแล้ว ยังทรงพอพระทัยเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่เป็นพิเศษ ทรงนิมนต์พระภิกษุสุนทรภู่ให้มาจําพรรษา ณ วัดเทพธิดารามวรวิหาร ขณะนั้นสุนทรภู่แต่งเรื่องพระอภัยมณีได้ 49 เล่มสมุดไทย ใกล้จะจบแล้ว กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ทรงรับสั่งให้แต่งต่อถวายเดือนละเล่มสมุดไทย สุนทรภู่จึงแต่งต่ออีก 45 เล่มสมุดไทย รวมเป็น 94 เล่มสมุดไทย


@@@@@@

นอกจากเรื่องพระอภัยมณีแล้ว ระหว่างที่อยู่ในพระอุปถัมภ์ของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ สุนทรภู่ได้แต่งหนังสืออีกหลายเรื่อง เช่น กาพย์พระไชยสุริยา โคลงนิราศเมืองสุพรรณ นิทานเรื่องสิงหไตรภพ ซึ่งมีหลักฐานว่าแต่งถวายกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ

โดยเฉพาะบทกลอนรําพันพิลาป เป็นเรื่องที่สุนทรภู่แต่งเมื่อชีวิตได้ผ่านความสําเร็จสุดยอดและความทุกข์สาหัสมาแล้ว จึงเป็นเรื่องราวที่รําพันถึงความในใจและชีวิตแต่หนหลัง พร้อมกันนั้นก็วาดฝันถึงความสุขที่ปรารถนา

เชื่อกันว่า เทพธิดาในภาพฝันของสุนทรภู่นั้น เป็นจินตนาการที่ถ่ายทอดจากความประทับใจในพระสิริโฉมที่งดงาม พระจริยวัตรอันนุ่มนวลและน้ำพระทัยที่เปี่ยมล้นด้วยพระเมตตาแห่งกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพแทบทั้งสิ้น

กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพทรงมีพระชนมายุค่อนข้างสั้น ทรงเริ่มประชวร เมื่อ พ.ศ. 2386 ในพระราชพงศาวดาร กล่าวว่า ประชวรพระโรคตรีสันฑฆาต เป็นโรคเรื้อรัง แม้สมเด็จพระบรมชนกนาถจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ระดมหมอหลวงรักษา บางครั้งพระอาการก็ผ่อนคลายลง บางคราวพระอาการก็ทรุดหนัก สมเด็จพระบรมชนกนาถ ทรงห่วงใยเอาพระทัยใส่พระอาการประชวรของพระราชธิดาตลอดเวลา ดังปรากฏหลักฐานในกลอนเพลงยาว จดหมายเหตุพระอาการประชวรของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพของคุณสุวรรณ ว่า ทั้งพระองค์ทรงแผ่นดินปืนอยุธยา สี่เวลาคอยเฝ้าเอาอาการ

คลิกอ่านเพิ่มเติม : สุนทรภู่ “เกี้ยว” กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ

@@@@@@

พระอาการประชวรทรุดหนักลงในระยะ 6 เดือนหลัง จนสิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2388 รวมพระชนมายุ 38 ปี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุท้องสนามหลวง

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอาลัยรักพระราชธิดาพระองค์นี้เป็นที่ยิ่ง พระองค์ทรงถ่ายทอดพระเมตตาพระราชทานพระราชนัดดาพระองค์หนึ่ง ซึ่งทรงมีสายพระโลหิตเกี่ยวข้องกับพระราชธิดา คือ เป็นพระธิดากําพร้าของพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ พระอนุชาพระองค์เดียวในกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระนามว่า พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี


 

ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม มิถุนายน 2533
ผู้เขียน : ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย
เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ.2563
ขอบคุณ ; https://www.silpa-mag.com/history/article_34271
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ