ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ..'เนื้อนาบุญของโลก'  (อ่าน 4137 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออนไลน์ ออนไลน์
  • กระทู้: 28420
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

ปุญญักเขตตัง โลกัสสาลาติ..'เนื้อนาบุญของโลก'

ธรรมเทศนาท่านพ่อลี "ทำนาบุญ"
วัดอโศการาม 28 กันยายน 2503
บันทึกโดย พระบุญกู้ อนุวฑฺฒโน

 
    เวลานี้ก็ใกล้จะออกพรรษาแล้ว  วันเวลาของพวกเราก็นับวันจะเหลือน้อยลงทุกที  อายุวัยของเรามันเป็นของที่สิ้นเปลืองหมด  ถ้าโอกาสและเวลายังอยู่  ก็มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติ   บำเพ็ญให้เต็มโอกาสและเวลา   เหมือนเราทำนา  ถ้านาของเรามันยังดำไม่หมด  ปลูกสร้างไม่เต็ม  ถ้ามัวแต่เพลิดเพลินอยู่   

     ถ้าฝนหยุดแล้วก็ไม่มีโอกาส  เวลานี้เรียกว่าเป็นเวลาที่สมควร   เป็นเวลาที่ยังมีโอกาส   คล้าย ๆ กับว่าพวกชาวนา  ในเวลาฝนตกต้องรีบ  ไม่ต้องหาโอกาสอื่น   เวลาฝนกำลังตกน้ำกำลังมี  ต้องรีบไถคราด  รีบหว่านรีบดำ  ถ้าฝนแห้งฝนแล้ง  เราจึงจะค่อยทำ   ถ้าฝนมันไม่ตกเสียเลยอย่างนี้ก็จะเสียโอกาส

      ฉะนั้น  พวกเราก็เรียกว่าเป็นผู้บำเพ็ญในทางคุณความดี  เรียกว่า  “ทำนาบุญ” คือ  พระพุทธเจ้าแสดงว่า  “ปุญฺญกฺเขตฺตํ  โลกสฺสาติ”  
      ข้อปฏิบัติทุกสิ่งทุกอย่าง  ซึ่งเราจะต้องทำให้เกิดให้มีขึ้นนั้นเป็นนาบุญของเรา  เป็นเขตนาบุญของเราผู้ไม่ประมาท 
      นาบุญของเรานั้น  คือ ประกอบด้วยโอกาสและเวลาอย่างหนึ่ง 
      ประกอบไปด้วยเครื่องสัมภาระที่เราจะต้องทำขึ้นอย่างที่สอง   
      ประกอบด้วยภูมิประเทศเป็นชั้นที่สาม 

      ถ้าสามประการนี้สมบูรณ์บริบูรณ์ก็นับว่าเป็นโชคเป็นลาภ เป็นบุญวาสนาบารมีของเรา  คือ  ฝนที่ตกนั้น  อะไรมันจะเลิศยิ่งกว่าฝนห่าแก้วไม่มี 
      ฝนห่าแก้วนั้น ได้แก่ ธรรมะ  ซึ่งบรรยายถึงเรื่องพุทธรัตนะ  พุทธคุณเสมอเหมือนกับแก้ว   ธรรมรัตนะ   ธรรมคุณก็เสมอเหมือนกับแก้ว   สังฆรัตนะ  พระสงฆ์ก็เสมอเหมือนกับแก้ว   นี่เรียกว่าฝนห่าแก้ว  ในบุคลาธิษฐาน
   

       ในส่วนธรรมาธิษฐาน ได้แก่ ข้อปฏิบัติ  คือ ข้อปฏิบัติของเราที่ทำอยู่นี้  บางสิ่งบางอย่างเนื่องด้วยพุทธคุณ  บางสิ่งบางอย่างเนื่องด้วยธรรมคุณ  บางสิ่งบางอย่างเนื่องด้วยสังฆคุณ   พุทธคุณ   ธรรมคุณ   สังฆคุณสามชนิดนี้ให้ถือเสียว่าเป็นอันเดียวกัน   นี่ท่านเรียกว่าฝนห่าแก้ว 

       ประการที่สองคือเครื่องมือ  เครื่องมือนั้นได้แก่เครื่องสัมภาระ  เช่น  เราจะทำสวนก็ดี  ทำนาก็ดี  เราก็ต้องมีเครื่องสัมภาระที่จะต้องสร้างขึ้น  เช่น  ชาวงนาก็มีไถบ้าง  คราดบ้าง  จอบบ้าง  และพืชพันธุ์ธัญญชาติที่จะปลูกสร้างลงไปในนาบ้าง  นี่เรียกว่าเครื่องสัมภาระ  อันนี้คืออะไร  พืชผลที่เราจะต้องฝังลงไปนั้นได้แก่  “ศรัทธา”

       ตัวศรัทธาอันนี้ มันมีถึง 3 ชั้น  ที่เป็นพืชสำคัญ  พืชอย่างหนึ่ง   คือ 
       ศรัทธาของเราเป็นศรัทธาตื้นๆ ธรรมดา  ศรัทธานี้เชื่อบ้าง  ไม่เชื่อบ้าง อยากจะทำบ้าง  ไม่อยากจะทำบ้าง  แต่ไม่กล้าทิ้งความดี   อันนี้เป็นศรัทธาธรรมดา 
       ศรัทธาอย่างที่สอง อยากจะทำ  ไม่อยากจะทิ้ง  ถึงมันยังไม่ได้อย่างนึก  แต่ก็เชื่อ  นี่เรียกว่าศรัทธาอย่างที่สอง 
       ศรัทธาอย่างที่สาม  มีตั้งแต่ความอยากทำ  อยากสนใจ  ไม่เอาใจใส่กับบุคคลใดทั้งหมด  เขาจะว่าดีก็ทำ  ไม่ว่าดีก็ทำ  จะเป็นวันพระก็ทำ  ไม่ใช่วันพระก็ทำ  อยู่บ้านก็ทำ  อยู่วัดก็ทำ  ปักดิ่ง   ดวงจิตเชื่อมั่น  อันนี้ท่านเรียกว่า  “อจลศรัทธา”


       ศรัทธานี้เปรียบเหมือนเมล็ดข้าว  เมล็ดข้าวนี้ถ้าทำนาไม่ไถ  หว่านไป  มดก็เก็บกินหมด  ศรัทธาของคนบางเหล่าตื้น ๆ ไม่สนใจมากมาย  เป็นแต่เขาเป่าหูก็เชื่อ  บางทีเขาหลอกให้เราหลงไป   นี่เรียกว่าเมล็ดข้าว  มดมันคาบไปเกือบหมด  นี่จำพวกหนึ่ง 



      อีกจำพวกหนึ่ง  เอาเสียมไปขุดเอาจอบไปขุด  แล้วก็หว่านพืช  พวกที่จะทำความดีนั้น  อาศัยสืบสวนไตร่ตรอง  พินิจพิจารณาดูเสียก่อนว่าเป็นของที่ควรแก่กาลหรือเปล่า  เป็นของที่ควรแก่บุคคลผู้นั้นหรือเปล่า  และเป็นเรื่องที่ควรแก่เราหรือไม่  จะได้ผลมากน้อยเพียงใดแล้วจะได้ผลตอบแทนอย่างใด  แล้วก็ทำตาม  อันนี้พวกใช้จอบใช้เสียม  ปลอดภัยบ้าง  แต่ยังไม่ดีเท่าไถหรือคราด  มันยังตื้นอยู่   

      ส่วนเราไถคราดแล้วหว่านลงไปมันลึก  มันได้แก่การโยนิโสมนสิการ  ใช้ปัญญาพิจารณาให้รอบคอบให้ทั่วถึงเสียก่อน   รู้จักเหตุผลแจ้งชัดขึ้นโดยตนเอง   ไม่ต้องไปเชื่อเขาว่าไม่ต้องไปเชื่อเขาบอก  มาทบทวนให้เกิดความรู้สึกในตนก็ปักดิ่ง  เชื่อตนของตน  อันนี้เขาเรียกว่า ศรัทธาที่ไม่หวั่นไหว  เหมือนคนไถนาแล้วก็หว่านพืชอันนี้ดี  มด  นกกระจิบกระจาบ  ไม่มีหนทางที่จะคาบไปกินได้เลย  อันนี้ปลอดภัย   นี่ศรัทธาคือพืช  เป็นเรื่องที่เราจะต้องหว่าน

      เครื่องมือของเรา ก็คือ ร่างกายของเราใจของเรา ร่างกายของเราก็หมั่นไปหมั่นมาบ่อย ๆ เหมือนกับคราดไถ 2 หน  ไถไปทางโน้น  ไถตัดกลับไปอีก  หญ้ามันก็ขาด  นี่เครื่องมือเราคือกายหมั่นไปหมั่นมา   หมั่นคบค้าสมาคมในสถานที่ควรเกิดบุญเกิดกุศล  นี่ชื่อว่าไถ  ข้อที่สองนั้น  เมื่อมาพบมาเจอะ   เราต้องวิตกวิจาร  ไตร่ตรองให้มันดีถี่ถ้วน  ด้วยปัญญาและความคิดเห็น  ด้วยสัมมาทิฏฐิ  เช่น  เราทำกรรมฐานอย่างนี้  อยากให้มันสงบ  ถ้าไม่พิจารณาดูให้ถี่ถ้วน  มันก็สงบยาก   

      ฉะนั้นท่านจึงให้วิตก  นึกถึงเรื่องราวที่เราเห็นนั้น   วิจาร  พิจารณาทบทวน  อนุโลมตามไปปฏิโลมกลับมา   รักษาอย่างนี้ท่านเรียกว่าคราด  เมื่อเราไถเราคราดหญ้าตายอย่างหนึ่ง  แผ่นดินราบลงไปอย่างหนึ่ง  เมื่อราบเข้า  เราก็หว่านข้าว  เป็นกล้าที่เราจะต้องปลูกฝังในนาของเรา  ข้าวมันก็งาม  นี่เป็นเครื่องมือที่เราจะต้องสับสร้างขึ้น   ซึ่งควรแก่โอกาสและเวลา   พืชที่เราปลูกลงไป  มันก็เกิดขึ้นงอกงามได้ผลดี  ปราศจากมดแมงตัวสัตว์นกหนูปูปิก  ที่จะมาคาบเมล็ดข้าวเราหนีไม่ได้  นี่สำเร็จในการหว่านพืช

      และอีกข้อหนึ่ง  ภูมิประเทศที่ควรแก่การทำนา  นี่ก็สำคัญเหมือนกัน   ได้แก่สาถนที่เช่นเราถือว่าแต่ละแห่ง ๆ เช่น  วัด  เป็นสถานที่ที่เราจะต้องไปสร้างคุณงามความดี  วัดใดที่มีความดี  สถานที่นั้นชื่อว่ามีปุ๋ยมาก  ถ้าสถานที่มีปุ๋ยมาก  เราไม่ต้องกลัวหมดเปลืองพืช   หว่านเข้าไปเถอะ
 
      ถ้าสถานที่ใดไม่ดี  เราก็หว่านแต่พอสมควร  ไม่ให้เสียมรรยาท  เราไม่หว่านเสียเลยก็เสียมรรยาทของมนุษยธรรม   แต่เราไม่หว่านเต็มที่ของเรา 
      สถานที่นั้นเรียกว่าเป็นสถานที่อยู่ของสงฆ์  สงฆ์เป็นนาบุญของโลก   และสงฆ์นั้นก็เป็นผู้ทรงศีลด้วยความบริสุทธิ์   ก็เท่ากับว่านานั้นมีหัวคันนา  ฝนตกมาน้ำก็ขัง  เอาปุ๋ยใส่มันก็ขัง  ถ้าใครไม่มีศีลบริสุทธิ์ก็เท่ากับนาไม่มีหัวคันนากั้น   ฝนตกลงมาน้ำในนาไหลหนีหมด  ใครจะไปหว่าน  ปุ๋ยก็ไม่อยู่   เมล็ดข้าวก็ไม่อยู่   นี่ก็สำคัญเหมือนกัน  ฉะนั้นศีล   ท่านผู้รักษาซึ่งข้อห้ามสิกขาบท  ก็เหมือนกับว่ามีหัวคันนาด้วยดี



      ส่วนน้ำฝนนั้น  เป็นผู้ใส่ใจปฏิบัติ  มีความเคารพในคุณพระพุทธ   พระธรรม  พระสงฆ์  ส่วนน้ำของฝนก็คือ  น้ำใจ  ใสสะอาด  น้ำใจเย็นใสสะอาด 

      ตอนนี้คำที่ว่าใจเย็นนี้  มีความหมายหลายอย่าง  ใจเย็นอย่างน้ำแข็งนี้อย่างหนึ่ง  ใจเย็นอย่างถ่านไฟฉายอย่างหนึ่ง 
      คำที่ว่าเย็น  เย็นอย่างน้ำแข็งนี่ไม่ค่อยดี  จับมากเข้า  มือมันเป็นเหน็บ  คือ คนเย็นเฉื่อยไม่กระตือรือร้นขวนขวายทำความดี  น้ำเย็นอย่างน้ำแข็ง  เย็นชนิดนี้ไปจับมาก ๆ เข้ามันชามือ  มันจะเกิดโทษเกิดภัย 


      คนเย็นใจ ไม่ขวนขวายพยายามทำความดีก็เช่นเดียวกัน  นี่ต้องรู้จักคำที่ว่าเย็น  ส่วนเย็นที่อย่างดีนั้น  มันเย็นเหมือนถ่านไฟฉาย  ถ่านไฟฉายมันมีความร้อนนะ  แต่มันเย็น  อย่างหม้อแบตเตอรี่   มันมีแสงสว่าง   แต่มันเย็น  นี่ความเย็นอย่างนี้มันดี  คือ ความไม่นอนใจ  บากบั่นพยายามสร้างคุณงามความดีให้เกิดขึ้นในตนของตน  เอาความดีฝังเข้าในดวงจิต 

      ร่างกายเหมือนกับหม้อแบตเตอรี่  ความดีของเรานั้นเป็นแผ่นเหล็กหรือแผ่นตะกั่วโลหะ  สำหรับที่จะดูดเอาไฟเข้าไปไว้ในตัว   นี่ให้มันเย็นอย่างนี้  เราจะไปนั่งบนหม้อแบตเตอรี่มันก็เย็น  ไม่มีทำลายมนุษย์  แต่ว่าคนโง่มันอาจติดตายได้เหมือนกัน

       เหตุนั้น  ความดีของผู้มีศีลและธรรม   ก็มีความเย็นแต่คนใดประมาทมันก็ไหม้เผาเอา  นี่มันเย็นอย่างนี้  ทีนี้อำนาจแห่งความเย็นนี้ก็โปรยปรายไปให้มนุษย์   เรียกว่าฝนห่าแก้ว  ได้แก่ การแผ่เมตตาจิต  มีเมตตาเป็นที่อยู่   ไม่มีความอิจฉาพยาบาท   มีแต่ความเมตตาจิต  นี่เมตตาจิต  นี่แหละมันเป็นปุ๋ยอย่างสำคัญ  เป็นเครื่องจะต้องส่งเสริมพืชผลต่าง ๆ ของเราให้งอกงามเจริญขึ้น   

       หรือเปรียบเหมือนกับน้ำที่ขังหัวคันนา  ปรารภในคุณงามความดีของตนไม่ประมาท    อันนั้นก็เหมือนกับฝนตก  เมื่อความดีของเราที่สับสร้างขึ้น  เกิดความสงบจิต   มีความเยือกเย็น  อันนั้นเป็นเมล็ดฝน  เมื่อหัวคันนาก็ดี  ฝนก็ตก  เมล็ดฝนนั้นก็ตกขังในไร่นาของเรา  ในสมัยเช่นนั้นก็ได้ชื่อว่าสถานที่สมบูรณ์   ควรที่จะต้องพากันรับสับสร้างเสียโดยเร็ว   นี่ท่านเปรียบอย่างนี้  เรียกว่า ภูมิประเทศหรือสถานที่

       ทีนี้  นาบางแห่งมันแล้งมันเขิน  ไม่ค่อยจะมีฟ้ามีฝน บางสถานที่ไม่สนใจในข้อปฏิบัติ  ไม่บำเพ็ญสับสร้างคุณงามความดี  แค่ศีลก็รักษาไม่คุ้ม   สมาธินั้นก็ยิ่งห่างไกล   ไม่สนใจสักนิด  ดวงจิตก็หนาไปด้วยความโลภ   หนาไปด้วยความเกลียด   พยาบาท  อาฆาตซึ่งกันและกัน  สถานที่นั้นก็ชื่อว่าหัวคันนาก็ขาด  ฝนก็ไม่ตก   ความเย็นก็ไม่มี  ความดีก็ไม่ได้สับสร้าง  เมื่อใครขืนไปหว่านพืชพันธุ์ในสถานที่นั้นถังหนึ่ง   บางทีอาจจะสูญไปเลย  บางทีก็อาจจะได้คืนมาบ้าง   



       ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้สอนว่า  ให้พวกเราพากันเตรียมคราดเตรียมไถ   พากันเตรียมพืชพันธุ์ธัญญชาติ   พากันหาสถานที่ที่เหมาะสมแก่ทรัพย์ของเราที่จะต้องลงทุน  เมื่อเรามีปัญญาพิจารณาใคร่ครวญอย่างนี้  หรือเราได้พบผ่านเจอเห็นอย่างนั้น  ชื่อว่าบุญของเรา  วาสนาบารมีของเรา    เราก็ต้องพากันรีบเร่งบากบั่นพยายาม

      เพราะศรัทธาก็เป็นของไม่แน่  บางวันก็หดเข้า  เรียกว่า “ศรัทธาหัวเต่า” บางวันก็ยืดออกมา  บางวันก็หดเข้า  นี่ไม่แน่  ถ้ามันยืดมาวันนี้ก็รีบทำเสีย  ไปถึงพรุ่งนี้มันจะหด  ต้องรีบศรัทธาของเราก็จะต้องรีบ  คราดเราก็จะต้องสร้าง  ไถเราก็จะต้องสร้าง  เรามีเสียมมีจอบ  ใช้จอบใช้เสียม  เรามีคราดมีไถ  ใช้คราดใช้ไถ   เพื่อพากันสร้างสมบัติให้เกิดขึ้นในตัว  (ยังมีต่อ)



ที่มา http://www.watasokaram.com/board/read.php?tid=401
ขอบคุณภาพจาก http://www.rmutphysics.com/,http://www.dhammajak.net/,http://image.ohozaa.com/
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออนไลน์ ออนไลน์
  • กระทู้: 28420
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ..'เนื้อนาบุญของโลก'
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: มิถุนายน 16, 2012, 01:36:58 pm »
0


     ภูมิประเทศนั้น  เราก็หาสถานที่จับจอง  เราจะไปจับที่ไหน  เราจะไปจองที่ไหน  สุดแท้แต่ปัญญาของเรา  ถ้าเห็นว่าที่นั้นแหละ  ฝนตกมาก  ตกบ่อย   ที่ลุ่ม  มีหัวคันนาดี  มีปุ๋ยดี  เราก็จะต้องมุ่งตรงไปที่ตรงนั้น  ไปถึงก็จะต้องจ้ำมันทันที   ได้จอบก็คว้าจอบ  ได้เสียมก็คว้าเสียม  ได้มีดก็รีบถางไปทันที  รีบคราดรีบไถ  รีบไปรีบมา  รีบหว่านรีบรักษา   พืชผลธัญญชาติก็จะเกิดขึ้นเป็นเครื่องเลี้ยงชีวิตของเรา  เปรียบคุณงามความดีที่เรียกว่าบุญก็เช่นเดียวกัน 

     เมื่อชีวิต โอกาส และร่างกายของเรามีความสุข  มีความสะดวกสบายตามสมควรก็อย่าประมาท  ร่างกายก็เปรียบเหมือนกับคราดกับไถนั่นแหละ  ไถกันไป  ไถกันมา  คราดกันไปคราดกันมา  ช่วยดูช่วยแล  นี่ร่างกายเหมือนกับคราด   ดวงจิตที่ประกอบไปด้วยศรัทธาเหมือนกับพืชพันธุ์ธัญญชาติ  ธรรมะทั้งหลายก็เหมือนฝน  เมตตานั่นก็เหมือนกับปุ๋ย   ทำให้พื้นแผ่นดินนั้นชื้นอยู่เสมอไม่แห้ง  ถึงจะแห้งก็ไม่ถึงกับทำให้ต้นข้าวเราตายไป

      เมื่อเรามาเห็นโอกาสและเวลา  เหมาะสมแก่เรื่องราวของเราเช่นนั้น  ก็ควรจะพากันรีบถ่อ  รีบแจว  รีบพาย  รีบขวนขวายพยายาม  อย่างภาษิตเขาว่า  “รีบถ่อรีบพาย  ตลาดมันจะวาย  สายบัวมันจะเน่า”  คือ  ยายแก่พายเรือไปเก็บสายบัว  จะไปขายที่ตลาด  มันแต่ช้าเมินเฉยอยู่    ตลาดเขาเลิกหมด   บัวมันก็จะต้องเน่า  นี่ท่านจึงสอนว่า  “รีบถ่อรีบพาย  ตะวันมันจะสาย  ตลาดจะวาย  สายบัวมันจะบูด” 

       เราก็เหมือนกัน   เมื่อมีศรัทธาก็รีบเร่ง  บากบั่นพยายาม   ตลาดคือได้แก่การที่พวกเราทั้งหลายได้มาฟังเทศน์  สวดมนต์  อบรมจิตใจ  ถ้าโอกาสและเวลาเช่นนั้นหมดไป  เราก็จะไม่ได้ทำ  ที่เขาเรียกว่าสายบัวคืออะไร  คือชีวิต   ไม่รีบเร่งขวนขวายเข้าไปมันจะตาย  ไม่มีนิมิตเครื่องหมายว่าลมหายใจมันจะขาดเมื่อไร 

       แจวเข้าไป  คือ  ความพากความเพียรบากบั่นพยายาม  รีบไปเก็บเครื่องที่จะให้เกิดบุญเกิดกุศลแก่ตน  รวบรวมไปขายในตลาด    ใส่บาตรใส่พก บำเพ็ญคุณงามความดี  นอกจากนั้นทีนี้  สายบัวมันก็จะต้องเน่า  เมื่อหมดลมก็ตาย  ตลาดจะต้องวาย  พระสงฆ์ก็เป็นของไม่แน่   บางทีก็ตาย  บางทีก็สึก    บางทีก็หนี   บางทีวัดมันร้าง  ไม่ร้างบางทีคนชั่วมาอยู่ 

       นี่ตลาดมันวาย  ก็พอดีและตลาดก็วาย  สายบัวคือลมหายใจมันก็ขาด  เราก็ไม่สามารถไปขวนขวายพยายาม  หาพัสดุข้าวของมาถวายทานการกุศลได้  เมื่อโอกาสเหมาะสมแก่เรื่องราว  ภาวะและชีวิตของเรา  ก็ควรจะต้องทำ  ไม่ประมาท  พยายามรีบเร่งขวนขวาย  พยายามเสียโดยเร็ว  นี่เป็นอย่างนี้


      ฉะนั้น  ในกาลต่อไปนี้ก็จงบากบั่นปฏิบัติในส่วนจิตใจ  นี่พูดในส่วนหยาบ ๆ ในส่วนภายในก็ยังมีอีก   ก็ให้พากันตั้งจิตทำความสงบใจ   พากันคราดภายใน  พากันไถภายใน  กั้นดวงจิต  กันไว้เสีย  เช่น  ปิดตา    อย่าให้ใจมันรั่วออก   น้ำมันจะไหลหนี  ความดีมันจะเสื่อม  ปิดหู  อย่าไปใฝ่ใจในเสียง   เรื่องราวต่าง ๆ อันเป็นที่ไม่พึงพอใจ   ความดีอยู่ภายใจ  มันจะไหลออก  ปิดจมูก  อย่าไปสนใจในกลิ่น   

       ให้สนใจแต่ลม  ปิดลิ้น  อย่าไปยินดียินร้ายในรส  ปิดกาย  ไม่ต้องแสดงมรรยาทวุ่นวาย  ทำใจให้สงบ  ปิดใจ  ไม่ต้องไปนึกถึงเรื่องบาปและอกุศล   ที่เขาเรียกว่าปิดหัวคันนา  คือ  อินทรีย์สังวรศีล  เมื่อปิดหัวคันนาดีละก็ความดีก็เต็มอยู่ในตัว 

        นี่เราไถซิ  ทีนี้ไถแต่บนหัวลงไป  อโธ  เกสมตฺถกา  ไถแต่บนศีรษะไปจนถึงเท้า  อุทฺธํ   ปาทตลา  ไถตั้งแต่เท้าไปจนถึงศีรษะ   ตจปริยนฺโต  คราดหนังให้ทั่ว   เกสา-ผม,   โลมา-ขน,  นขา-เล็บ,    ทนฺตา-ฟัน   ไตร่ตรองพินิจพิจารณาอนุโลมไปตาม  นึกปฏิโลมหวนมาถึงจิต  คราดให้ดี  หญ้ามันจะตาย   แผ่นดินมันจะราบ

        พิจารณากายของเรา กว้างศอก ยาววา หนาคืบ ไถมันให้แหลก  คราดให้มันทั่ว เชื่อมั่นลงไป เรียกว่า “กมฺมสฺสกตา สทฺธา” เชื่อว่าเราทำดีต้องได้ดี  เราทำชั่วต้องได้ชั่ว

        เมื่อเราตั้งใจประพฤติปฏิบัติบำเพ็ญอย่างนี้  นี่เป็นนาบุญอย่างเลิศ  ประเสริฐยิ่งกว่านาบุญภายนอก คือวิธีการบำเพ็ญสมาธิ  ต้องปฏิบัติเหมือนกันกับส่วนภายนอก    นี้จึงให้พากันบากบั่น  พยายามบำเพ็ญในส่วนภาวนา  ทำจิตใจของตนให้หมดอกุศลจิต  ทำแต่ส่วนที่เป็นความดีให้เกิดขึ้น มีวิตก วิจาร ปีติ
 
        วิตกเหมือนกับไถ  วิจารเหมือนกับคราด   ปีติ  น้ำมันอิ่มเอิบ  สุข   สบายใจ  เอกัคคตา  เมล็ดข้าวมันก็จัด  นาเราก็สำเร็จเต็มบริบูรณ์   


        นามีอยู่ 4 ไร่เต็มหมด คราดทั้งสี่ 4 ไร่ คือธาตุสี่  ดิน น้ำ ไฟ ลม ข้าวก็เกิดขึ้นทั้ง  4  ไร่  เหลือกิน  ลาภรวย  ไม่อด  ไม่อยาก   เหลือกิน  จะขายก็ขาย  ไม่ขายก็แจก  แจกอย่างไร  แจกก็ได้แก่การที่พวกเรารู้จักแนวทาง  มีการแนะนำสั่งสอนตักเตือนซึ่งกันและกัน   ให้กว้างขวางเข้าไปอีก  อันนี้เรียกว่าแจก ขาย 

       ทีนี้ คงได้ผลตอบแทนมาจากการทำความดีชนิดนั้น  เช่น  เรามีความดีในตัวของเรา  เราไม่มีความต้องการปรารถนา  แต่เขาก็ให้เครื่องตอบแทน  เช่น  พระ  อย่างนี้เป็นต้น  เขาให้เครื่องตอบแทนไม่ขาด  ให้กิน  ไม่ให้อด  ไม่ให้อยาก   นอนดิน  เขาก็ไม่ให้นอน  สร้างให้นอน   แต่ละอย่างแต่ละชนิดนี้  ได้เครื่องตอบแทนมาตั้งเหนือนอกเจตนานั่นแหละเปรียบเหมือนกับขายของ   นั่นมันก็สบายละทีนี้   เราขายทุกวัน  ผลตอบแทนก็ได้ทุกวัน

       ส่วนฆราวาสก็น่าจะเป็นไปได้เช่นเดียวกันเหมือนกัน  ถ้ามีความดีจริง ๆ ก็อาจจะเป็นไปได้  ที่เป็นไปได้ยากคืออะไร  คือ  ความเห็นบางอย่างมันยังไม่ยอม    ยังไม่ยอมจนใจ  ยังอยากมั่งอยากมี  อยากลาภอยากรวย  ถ้ามีความอยากมั่งอยากมี  อยากลาภอยากรวย  ก็ต้องหา  เมื่อหามาได้มีแล้วใครเขาจะช่วยเหลือเรา  อันนั้นก็มี  อันนี้ก็มี  ของมีนะเป็นเครื่องบังตาของคนที่ให้  ของไม่มีเป็นเครื่องเปิดตาแก่คนที่ให้
 
        อย่างที่ไปอยู่จันทร์บูรณ์    มีพวกจีนพวกเจ๊กในตลาดเขาเล่า  วัดอื่นไปบิณฑบาตเขาใส่แต่ข้าว  แต่กับข้าวไม่ได้ใส่เลย  ส่วนวัดป่าน่ะ  แหมข้าวก็เต็มบาตรปรี่  ลูกศิษย์ก็ถือตะกร้าห่อกับแกงเท่านั้นแหละเต็มหมด   มีพระบางองค์ไปต่อว่าญาติโยม   ทีนี้ส่วนโยมก็ตอบ   เขาบอกว่าวัดป่าน่ะ  เงินจะบำรุงก็ไม่เคยหา  โรงครัวก็ไม่ได้ตั้ง  ถ้าใส่แต่ข้าวจะไปกินยังไง  จำเป็นจะต้องช่วยท่าน  ใส่กับใส่แกงให้สมบูรณ์จึงจะอยู่ได้
        ส่วนที่อื่นนั้นโรงครัวก็มี  รายได้ก็แยะ  ก็ไม่จำเป็นจะต้องใส่กับใส่แกง  อันนี้ก็แสดงให้เห็นว่าความมีมันปิดตาของเขา   ความไม่มีมันเป็นช่องโหว่ให้เขาแลเห็น  นี่มันเป็นอย่างนี้

        อีกเรื่องหนึ่ง  ไปอยู่ที่ไหนก็ขี้มักมีอย่างนี้  ไปอยู่โคราชก็เหมือนกัน  อยู่ที่วัดหนึ่งเขาอิจฉา  ถึงเอามีดอีโต้ไปฟันคอลูกศิษย์  เรามันก็ไม่รวยนักหนาหรอก  แต่เขาเข้าใจผิดไป  ว่ารวยอุดมสมบูรณ์  จึงมีคนเอามีดไปฟันคอพระ แต่มันไม่เข้า 

      มีโยมเล่าให้ฟังว่าเคยถูกต่อว่าเรื่องเอาข้าวไปยืนรอใส่บาตรเฉพาะพระวัดนั้น    เมื่อพระวัดอื่นมาไม่ศรัทธา  เป็นต้น  แกบอกว่า  “ผมไปดูวัดนั้นน่ะ  ไม่มีอะไรเลย  หัวหอมหัวเดียวก็ไม่มีในโรงครัว    ไปดูที่กุฏิก็ไม่มี  มีแต่ผ้ากับบาตร  จะไปหาผักหาหญ้ามาต้มแกงกินก็ไม่ได้ 
       อย่างวัดอื่นละก็ ตอนค่ำๆไปเก็บผัก ไปไล่กระต่าย ได้หนู ได้ตุ่น อะไรมาก็ตามเรื่อง เมื่อท่านทำอย่างนั้น  ผมจะไปทำบุญได้อย่างไร ท่านไปหากินเองเสียจนเป็นที่พอใจ  ผมจะพอใจกับท่านหรือไม่  ผมก็ไม่ทราบ ผมไม่สนใจ



      นอกจากนี้ก็ยังมีอีก   ตัวอย่างที่เคยเห็นมาที่จันทบูรณ์   จันทบูรณ์เคยไปอยู่นานจนเกือบจะเป็นบ้านตัวเอง  รู้เรื่องอะไรต่าง ๆ ในเรื่องฝ่ายโลกก็ทราบ  ในเรื่องของศาสนาก็ทราบ  ที่เป็นคติดีมากคือวัดหนึ่ง  ท่านมีทุนทรัพย์ลงทุนซื้อที่ดิน   ให้ลูกศิษย์ปลูกเงาะ   ปลูกยางเต็มไปหมด  ยางตัด   วันหนึ่งก็ได้หลายสิบแผ่น  เงาะปีหนึ่งก็ได้แยะ  ส่งขายถึงพระนคร  แต่ไม่มีใครไปให้กินเลย  พวกตลาดเขาว่าไม่มีใครไปให้กิน  เงาะของท่านมันสวยมาก  งามมาก  ราคาสูง  ส่งขายที่กรุงเทพฯ   

      ส่วนพวกท่านเองน่ะกินเงาะขี้คอก  เงาะขี้คอกเป็นลูกเล็ก ๆ ดำ ๆ  เขาเรียกเงาะขี้คอก  ส่วนสวย ๆ ขายหมด  ชาวบ้านเขาก็ไม่ได้นึกว่าท่านกินอย่างนั้น  ลูกเงาะท่านมองในสวนสวยงาม   ลูกใหญ่   ลูกโต   ลูกของเราดำ ๆ น่ะหรือจะไปถวายก็จะกินอย่างไร    ของท่านก็พอแรง  เลยไม่ไปถวายให้กิน  ในที่สุดตัวก็เลยอด  ไม่ได้กินของดีกับเขาหรอก  กินแต่เงาะขี้คอก   อันนี้มันเรื่องอะไร   ความมีมันเป็นสิ่งบังตาเขา  เขาไม่ช่วย  นี่เป็นตัวอย่าง   

      นอกจากนี้ยังมีอยู่แยะ   หลายอย่าง  หลายเรื่อง  หลายราว  ที่มันเป็นไปอย่างนี้เพราะถ้าใครเป็นผู้ยอมเสียสละตัว  ให้ไม่มีเสียอย่างหนึ่ง  คนนั้นไม่อดตาย  ถ้าไม่ยอมเสียสละ  ยังต้องการเป็นคนมีอยู่   บางทีก็จะมีกิน  บางทีก็จะอด  นี่มันเป็นอย่างนี้   

      ฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติของพวกเราถ้าเข้มงวด  เข้มแข็ง  กล้าหาญ  สามารถที่จะยอมเสียสละ  นึกว่าไม่เป็นไรสำหรับชีวิตหนึ่ง   แต่ว่าเป็นไปได้ยากหน่อย  ไม่ว่าแต่โยมแหละ   แต่พระก็ยังไม่ยอมจน  ยังอยากมั่งอยากมี  อยากลาภอยากรวย   เห็นพระในพระนครมาทำวัตร   

      เมื่อก่อนพรรษานี้เขาบอกว่าแย่ ๆ บางวันไปบิณฑบาต  กลับมาได้ทัพพีเดียว  ต้องกลับมาให้ลูกศิษย์หุงข้าวให้กิน  รู้สึกว่าคนไม่ค่อยจะใส่บาตร  ลำบาก  อัตคัดขาดแคลนในการเป็นเช่นนั้น  มองได้ 2 แง่     

      แง่หนึ่ง  ท่านเป็นผู้เที่ยวแสวงหารายได้  เขาเข้าใจว่าท่านมั่งมี   คนชนิดนี้จะช่วยก็ได้  ไม่ช่วยก็ได้  เขาเห็นอย่างนี้ในแง่หนึ่ง   
      แง่ที่สอง  เขามองถึงคุณภาพว่าคนนั้นเป็นคนที่หายนะ  ไม่ขวนขวายพยายามก่อสร้างคุณงามความดี  มีแต่สับสร้างความเศร้าหมอง   สองแง่นี่แหละเป็นเหตุให้เขาเสียศรัทธา  นี่เป็นอย่างนี้



ที่มา http://www.watasokaram.com/board/read.php?tid=401
ขอบคุณภาพจาก http://diary.cmteens.com/,http://news.dmc.tv/,http://www.maceducation.com/,http://www.chiangmaithailand.tht.in/
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

catwoman

  • กำลังจะพ้นจากน้ำ
  • *
  • ผลบุญ: +1/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: หญิง
  • กระทู้: 88
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
Re: ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ..'เนื้อนาบุญของโลก'
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: มิถุนายน 16, 2012, 03:18:49 pm »
0
อนุโมทนา สาธุ กับบทความที่อ่านแล้ว ได้ข้อคิด รีบขวนขวายทำความเพียร คะ

  :coffee2: :25: :c017:
บันทึกการเข้า