สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

ธรรมะสาระ => สนทนาธรรม ทั่วไป ตามความชอบใจของท่าน => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ มีนาคม 01, 2010, 04:40:12 pm



หัวข้อ: ที่มาของคำว่า "กรรมฐาน มัชฌิมา แบบลำดับ"
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ มีนาคม 01, 2010, 04:40:12 pm

ที่มาของคำว่า "กรรมฐาน มัชฌิมา แบบลำดับ"

เพื่อนๆหลายท่านอาจสงสัยมานานแล้วว่า ทำไมต้องเรียกว่า “กรรมฐานมัชฌิมา แบบลำดับ ผมเองก็สงสัยมานานเช่นกัน พยายามที่จะหาคำตอบอยู่ ความพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั้น อาศัยสันดานเดิมๆที่เป็นคนชอบสะสมข้อมูล ข้อมูลต่างๆที่สะสมไว้ ตัวผมเองก็จำไม่ได้ว่ามีอะไรบ้าง อาศัยเปิดสุ่มไปเรื่อยๆ และแล้วก็เจอจนได้  เชิญทุกท่านหาความสำราญกันได้ ตามอัธยาศัยครับ

(http://wimutti.net/images/first.jpg)

ขอคัดลอกตัดตอน เฉพาะบางส่วนที่เห็นว่าสำคัญและมีประโยชน์ มาปูพื้นเพื่อความเข้าใจ ดังนี้ครับ

ทุติยสังคายนา 
ปรารภเรื่องภิกษุวัชชีบุตร แสดงวัตถุ ๑๐ ประการนอกธรรมนอกวินัย พระยศกากัณฑกบุตร เป็นผู้ชักชวนให้พระอรหันต์ ๗๐๐ รูป ใน ๗๐๐ รูปนั้นมี พระมันลิกะเถรเจ้า รวมอยู่ด้วย พระเรวตะเป็นผู้ถาม พระสัพพกามี เป็นผู้วิสัชชนา ประชุมทำที่วาสิการาม เมืองเวสาลี เมื่อพุทธกาลล่วงแล้วได้ ๑๐๐ ปี โดยพระเจ้ากาลาโศกราช เป็นศาสนูปถัมภก ทำสิ้นเวลา ๘ เดือนจึงเสร็จ
พระมันลิกะเถรเจ้า  บอกพระกรรมฐานมัชฌิมา แบบลำดับ ให้แก่สัทธิวิหาริกสืบต่อมา  คือ พระโสณกะเถรเจ้า
พระโสณกะเถรเจ้า  บอกพระกรรมฐานมัชฌิมา ให้กับ  พระสิคควะเถรเจ้า และพระจัณฑวัชชีเถรเจ้า
พระสิคควะเถรเจ้า  บอกพระกรรมฐานมัชฌิมาให้กับ  พระโมคลีบุตรติสสะเถรเจ้า  และพระโสนันตะเถรเจ้า 
พระจัณฑวัชชี บอกพุทธพจน์ให้กับ พระโมคคัลลีบุตติสสะเถรเจ้า และพระโสนันตะเถรเจ้า
  พระโมคลีบุตรติสสะเถรเจ้า  ขึ้นพระกรรมฐานมัชฌิมาให้กับ พระโสณเถรเจ้า  และพระอุตระเถรเจ้า และให้สอบอารมณ์กับ พระโสนัตตเถรเจ้า
ต่อมาพระโสณเถรเจ้า บอกพระกรรมฐานมัชฌิมาให้กับ พระชาลตะเถรเจ้า พระกิตตระเถรเจ้า พระภูริยะเถรเจ้า
พระอุตระเถรเจ้า บอกกรรมฐานให้กับ พระญาณเถรเจ้า  พระมหาเถรทั้ง ๔ พระองค์ได้เข้าร่วม ตติยสังคายนา คือ ๑.พระโมคคัลลีบุตติสสะ ๒.พระโสนันตะเถร ๓.พระโสณเถร ๔.พระอุตรเถร

(http://www.guitarthai.com/picpost/gtpicpost/A1035794.gif)

พระพุทธศาสนา ยุคหลังพุทธกาล ครั้งตติยสังคายนา
พุทธกาลล่วงแล้วได้ประมาณ  ๒๑๖ ปี  ก่อนตติยสังคายนา จึงหมดพระกรรมฐานแบบสันโดดคือ การเจริญพระกรรมฐานแบบกองใด กองหนึ่ง อย่างใด อย่างหนึ่ง ของพระมหาสาวกทั้งหลาย เหลือแต่พระกรรมฐานมัชฌิมา แบบลำดับ เป็นพระกรรมฐานทางสายกลาง  ของพระราหุลเถรเจ้า
 
เหตุที่เรียกพระกรรมฐาน มัชฌิมา แบบลำดับ เพราะเป็นพระกรรมฐานที่ไม่เอนเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง ในพระสมถกรรมฐานทั้ง ๔๐ กอง และเรียนเป็นลำดับไปจนครบ ๔๐ กอง เป็นการรวบรวมเอาพระสมถะกรรมฐานทั้ง ๔๐ กอง และวิปัสสนาทั้งมวลไว้ในที่เดียวกัน
เพื่อไม่ให้พระสมถะกรรมฐาน ๔๐กอง และพระวิปัสสนาทั้งมวล แตกกระจายสูญหายไปในทางปฏิบัติ (คือไม่เหลือ แต่ตำรา) อีกทั้งไม่ให้ความสำคัญกับพระกรรมฐานกองใด กองหนึ่ง
พระกรรมฐานแบบมัชฌิมา แบบลำดับ อันเป็นของ พระผู้เป็นเอตทัคคะ เป็นเลิศทาง เป็นผู้ใคร่ในการศึกษา ศีล สมาธิ ปัญญา คือ พระราหุลเถรเจ้า

ตติยสังคายนา ปรารภเดียรถีย์มากมาย ปลอมบวชในพระพุทธศาสนา เพราะมีลาภสักการะเกิดขึ้นมาก พระอรหันต์ ๑,๐๐๐ รูป   พระโมคคลีบุตรติสสะเถรเป็นประธาน ขณะนั้นพระชนมายุได้ ๑๑๘ พรรษา (ชนมายุ ๑๒๐ ปีจึงเข้านิพพาน)  ประชุมทำสังคายนากันที่อโศการาม เมืองปาฏลีบุตร ประมาณปีพระพุทธศักราช ๒๓๔ โดยพระเจ้าอโศกมหาราช หรือพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ทรงเป็นองค์ศาสนูปถัมภพ สิ้นเวลา ๙ เดือนจึงเสร็จ

พระโมคคลีบุตรติสสะเถรเจ้า  ประสูติในเรื่อนของ นางโมคคลีพราหมณ์  ได้นามว่า ติสสะมานพ ชนมายุได้ ๑๖ พรรษา พระสิคควะเถร นำติสสะมานพ ออกบวชในพระพุทธศาสนา เพื่อเรียน พุทธมนต์  ติสสะมานพ บรรพชาแล้ว ได้บอกพระกรรมฐานมัชฌิมา เบื้องต้น  มีปีติทั้งห้า พระยุคลทั้งหก สุขสมาธิสองให้สามเณรติสสะ  เธอทำบริกรรม พุทโธ  ในห้องพุทธานุสสติกรรมฐานนั้นอยู่ ละสักกายทิฎฐิ ละความสงสัยพระรัตนไตร ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว
พระอาจารย์ คิดว่า ถ้าบอกพระกรรมฐานเพิ่มให้แก่สามเณรติสสะ  เธอจะมีความขวนขวายน้อย ในการที่จะเรียนเอา พุทธพจน์ 
พระสิคควะเถร จึงส่งสามเณรติสสะ ไปเรียนพุทธพจน์ จาก พระจัณฑวัชชีเถรเจ้า     ติสสะสามเณร ได้เรียนเอาพุทธพจน์นั้นทั้งหมด ยกเว้นวินัยปิฎก  อุปสมบทแล้วยังไม่ได้พรรษา  ทรงพระไตรปิฎก   ครั้นพระอาจารย์ และอุปัชฌายะ นิพพานแล้ว ทรงเจริญกรรมฐานมัชฌิมาต่อจนจบตามลำดับ และบรรลุพระอรหันต์ และได้บอกพระกรรมฐานมัชฌิมา และพระพุทธพจน์ ธรรมวินัย แก่ภิกษุเป็นจำนวนมาก
พระโมคคลีบุตรติสสะ     เป็นพระอุปัชฌาย์ ของพระมหินท์เถรเจ้า  พระโสณเถรเจ้า  พระอุตรเถรเจ้า


ที่มา  ตำนานการสืบทอดพระกรรมฐานมัชฌิมา แบบลำดับ ของพระราหุลเถรเจ้า
สืบต่อมาจนถึง สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวร (สุก ไก่เถื่อน)
พระครูสังฆรักษ์วีระ ฐานวีโร  เรียบเรียง.

----------------------------------------------------------------

สัทธิงวิหาริก, สัทธิวิหาริก น. คําเรียกผู้ได้รับการอุปสมบทแล้ว, ถ้าอุปสมบทต่อพระอุปัชฌาย์องค์ใดก็เป็นสัทธิงวิหาริกของพระอุปัชฌาย์องค์ นั้น, (ใช้เข้าคู่กับ อุปัชฌาย์). (ป.).

ที่มา  พจนานุกรมอิเล็กทรอนิกส์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒


หัวข้อ: Re: ที่มาของคำว่า "กรรมฐาน มัชฌิมา แบบลำดับ"
เริ่มหัวข้อโดย: ทินกร ที่ มีนาคม 02, 2010, 08:25:16 am
อนุโมทามิ


หัวข้อ: Re: ที่มาของคำว่า "กรรมฐาน มัชฌิมา แบบลำดับ"
เริ่มหัวข้อโดย: noppadol ที่ มีนาคม 02, 2010, 08:33:51 pm
คุณปุ้ม นี่ละเอียดดีครับ

ผมเองได้รู้เพิ่มเติมด้วย


หัวข้อ: Re: ที่มาของคำว่า "กรรมฐาน มัชฌิมา แบบลำดับ"
เริ่มหัวข้อโดย: Admax ที่ มีนาคม 08, 2014, 07:43:54 pm
 st12 st12 st12