ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
หน้า: [1] 2 3 ... 10
 1 
 เมื่อ: วันนี้ เวลา 07:02:57 am 
เริ่มโดย raponsan - กระทู้ล่าสุด โดย raponsan
.



ปลัดมท.นำพุทธศาสนิกชน ประกอบพิธียกฉัตรยอดเจดีย์เสมาจตุรทิศ ณ วัดปรมัยยิกาวาส วรวิหาร

เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ พร้อมด้วยปลัดมหาดไทยและนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นำพุทธศาสนิกชน ประกอบพิธียกฉัตรยอดเจดีย์เสมาจตุรทิศ ณ วัดปรมัยยิกาวาส วรวิหาร โอกาสมงคลวาระครบรอบ 150 ปีการฉลองพระอาราม และร่วมบูรณปฏิสังขรณ์ศาสนสถานเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชาวไทยเชื้อสายมอญและพุทธศาสนิกชนทั่วไป

เมื่อเวลา 17.17 น. วันที่ 17 เมษายน ที่วัดปรมัยยิกาวาส วรวิหาร ตำบลเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (สุชิน อคฺคชิโน) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร เมตตาเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานฝ่ายฆราวาสพิธียกฉัตรยอดเจดีย์เสมาจตุรทิศ พระอุโบสถวัดปรมัยยิกาวาส วรวิหาร โดยได้รับเมตตาจาก พระครูพิพิธเจติยาภิบาล (บัวทอง ถาวโร) ป.ธ.5 เจ้าอาวาสวัดปรมัยยิกาวาส วรวิหาร ร่วมประกอบพิธี

โดยมี นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี พลเอก พิสิษฐ์ นพเมือง รองเจ้ากรมพระธรรมนูญ นายประสพโชค อยู่สำราญ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายภิรมย์ ชุมนุม นายอำเภอปากเกร็ด นายวิชัย บรรดาศักดิ์ นายกเทศมนตรีนครปากเกร็ด นายสมชาย ทัดชัง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะเกร็ด พลโท ชาติวัฒน์ งามนิยม ไวยาวัจกรวัดปรมัยยิกาวาส วรวิหาร นายบรรหาญ เนาวรัตน์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนู หัวหน้าส่วนราชการ คณะอุบาสก อุบาสิกา พุทธศาสนิกชน ร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก




โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย จากนั้น พระครูพิพิธเจติยาภิบาล เจ้าอาวาสวัดปรมัยยิกาวาส วรวิหาร นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี และผู้ร่วมพิธี เข้าถวายสักการะแด่เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เจ้าหน้าที่กล่าวคำบูชาพระรัตนตรัยและอาราธนาศีลแบบรามัญ จบแล้ว เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร ประธานฝ่ายสงฆ์ ปิดทองยอดฉัตร ผูกผ้าชมพู และคล้องมาลัยฉัตร แล้วประกอบพิธียกฉัตร จนครบทั้ง 4 ทิศ พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ถวายเครื่องไทยธรรม พระสงฆ์อนุโมทนา กรวดน้ำ รับพร เป็นอันเสร็จพิธี

นายสุทธิพงษ์กล่าวว่า วัดปรมัยยิกาวาส วรวิหาร เป็นพระอารามหลวง ชั้นโท ชนิดวรวิหาร เดิมชื่อ วัดปากอ่าว เป็นวัดโบราณสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีชื่อในภาษามอญว่า “เภี่ยมุเกี๊ยะเติ้ง” หมายความว่า วัดหัวแหลม เป็นวัดเก่าแก่ที่ถูกทิ้งร้างหลังจากคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 จนกระทั่งถึงปี 2317 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้ชาวมอญมาตั้งบ้านเรือนที่เกาะเกร็ด พระสุเมธาจารย์ (เถ้า) พระเถระผู้ใหญ่ฝ่ายรามัญได้รวบรวมผู้มีจิตศรัทธาสร้างเจดีย์ทรงรามัญ รวมทั้งพระพุทธไสยาสน์ขึ้น และท่านดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดนี้

จวบจนในปี 2417 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทอดกฐิน ณ วัดปากอ่าว โดยได้เสด็จทอดพระเนตรบริเวณวัดซึ่งเสนาสนะต่างชำรุดทรุดโทรมและบางส่วนปรักหักพัง จึงทรงอนุสรณ์รำลึกนึกถึง สมเด็จพระบรมราชมาตามหัยิกาเธอ กรมพระยาสุดารัตน์ราชประยูร ผู้ทรงอภิบาลพระองค์มาแต่ทรงพระเยาว์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดใหม่ทั้งวัดโดยรักษารูปแบบมอญไว้

เพื่อถวายเป็นพระกุศลสนองพระคุณ สมเด็จพระบรมราชมาตามหัยิกาเธอ กรมพระยาสุดารัตน์ราชประยูร ผู้ทรงอภิบาลพระองค์มาแต่ทรงพระเยาว์ และได้พระราชทานนามวัดว่า “วัดปรมัยยิกาวาส” ซึ่งมีความหมายว่า วัดของพระบรมอัยยิกา ปัจจุบันมี พระครูพิพิธเจติยาภิบาล (บัวทอง ถาวโร) ป.ธ.5 เป็นเจ้าอาวาส






“วัดปรมัยยิกาวาส วรวิหาร ได้ดำเนินการบูรณะฉัตรยอดสีมาจตุรทิศ ซึ่งเป็นฉัตรเดิมที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีผูกสีมาขึ้น เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2427 จนแล้วเสร็จ และได้รับพระกรุณาจากเจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเจิมเพื่อความเป็นสวัสติมงคลแล้ว จึงได้กำหนดจัดพิธียกฉัตรยอดเจดีย์สีมาจตุรทิศขึ้น ซึ่งวันนี้ พระครูพิพิธเจติยาภิบาล เจ้าอาวาสวัดปรมัยยิกาวาส วรวิหาร ได้เชิญชวนอุบาสกอุบาสิกา ผู้มีจิตศรัทธา ร่วมกันบูรณะพระอารามวัดปรมัยยิกาวาส วรวิหารแห่งนี้

อันถือว่าเป็นนิมิตหมายอันดีในการสร้างศูนย์รวมให้เกิดความรู้รักสามัคคีขึ้นในชุมชน ได้พร้อมใจกันร่วมประกอบพิธียกฉัตรขึ้นสู่พระอุโบสถ มีเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร เมตตาเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ อันเป็นฤกษ์งามยามดีเนื่องในโอกาสครบรอบ 150 ปีการฉลองพระอาราม และเป็นการบูรณะในรอบ 30 ปี ซึ่งทุกท่านได้มาร่วมกันทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาปฏิบัติบูชาเพื่อเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา

เพื่อให้พระอุโบสถแห่งนี้ เป็นมงคลสถานที่ในการประกอบศาสนกิจของพระเถรานุเถระ ประกอบกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาของพุทธศาสนิกชนพื้นที่เกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอด มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมวิถีมอญ ให้คงอยู่คู่กับชุมชนแห่งนี้ ดำรงคงอยู่ให้กับลูกหลานของเราสืบไป” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม






นายสุทธิพงษ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชน มาร่วมกันอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีของพุทธศาสนิกชนคนไทย ด้วยการทำปฏิบัติบูชาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันสำคัญทางศาสนา โดยการเชิญชวนครอบครัวลูกหลานมาเข้าวัด ฟังเทศน์ฟังธรรม ทำบุญตักบาตร ปลูกต้นไม้ ปล่อยปลา ทำกิจกรรมจิตอาสา สร้างการมีส่วนร่วมในการทำสิ่งที่ดี สร้างเสริมความรักสามัคคี พร้อมถ่ายทอดไปยังเยาวชนคนรุ่นใหม่ ได้น้อมนำเอาหลักศาสนาไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งสิ่งสำคัญคือผู้นำทั้งฝ่ายบ้านเมืองและฝ่ายสงฆ์ที่จะต้องช่วยกันสืบสาน รักษา และต่อยอด พร้อมถ่ายทอดวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามสู่เยาวชนคนรุ่นใหม่

ด้วยการทำให้ส่งเสริมวัดแห่งนี้ได้เป็นสถานที่ศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนตลอดจนเป็นสถานที่ศึกษาหาความรู้ เป็นสัปปายะสถานสำหรับประชาชน ด้วยการบูรณาการความร่วมมือในรูปแบบของพลัง “บวร” คือ บ้าน วัด ราชการ ส่งเสริมสิ่งที่ดีในชีวิต ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมหลักการพึ่งพาตนเอง ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินการโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข ของฝ่ายสาธารณูปการของมหาเถรสมาคม กระทรวงมหาดไทย และภาคีเครือข่าย ซึ่งท้ายที่สุดเมื่อทุกคนในสังคมปฏิบัติแต่สิ่งที่ดีก็จะทำให้สังคมดี คนในสังคมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนำไปสู่ความสงบสุขของประเทศชาติอย่างยั่งยืนต่อไป





ขอบคุณ : https://www.matichon.co.th/politics/news_4530759
วันที่ 17 เมษายน 2567 - 23:40 น.

 2 
 เมื่อ: วันนี้ เวลา 06:52:11 am 
เริ่มโดย raponsan - กระทู้ล่าสุด โดย raponsan


สถานีรถไฟนครราชสีมา


“ปากช่อง” จังหวัดนครราชสีมา ชื่อนี้มาจากไหน.?

“ปากช่อง” คืออำเภอหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมา ถือเป็น “ด่านแรก” หรือประตูที่เชื่อมการเดินทางจาก “ถนนมิตรภาพ” เข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อำเภอปากช่อง โดดเด่นเรื่องสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติ อย่าง อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่ยังครอบคลุมพื้นที่อีก 10 อำเภอ ทั้งในนครราชสีมา สระบุรี นครนายก และปราจีนบุรี ปากช่องจึงเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสธรรมชาติ สูดอากาศสดชื่น

เราได้ยินชื่ออำเภอปากช่องกันจนคุ้นหู แล้ว “ปากช่อง” ที่ว่านี้มาจากไหน.?

ในอดีต ปากช่องเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ในตำบลขนงพระ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีการขยายโครงข่ายคมนาคม โดยเฉพาะ “รถไฟ” เพื่อความสะดวกในการปกครองและการเดินทาง ก็มีการสร้างทางรถไฟสายแรก คือ กรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา

ทางรถไฟสายนี้ มีการเปิดซองประมูลการก่อสร้างใน พ.ศ. 2434 นายยี. มูเร แกมป์เบลล์ (George Murray Campbell) ชาวอังกฤษจากสิงคโปร์ เป็นผู้ชนะการประมูลในราคา 9.95 ล้านบาท โดยมีห้างซาดินเมเทธชั่นแห่งอังกฤษ เป็นผู้ค้ำประกัน

หลังจากสร้างได้ไม่นาน บริษัทผู้รับสัมปทานไม่สามารถสร้างทางรถไฟได้เสร็จตามสัญญา กรมรถไฟหลวงจึงเลิกจ้าง และดำเนินการก่อสร้างเอง แต่การก่อสร้างก็มีอุปสรรค เพราะการสร้างทางรถไฟช่วงอยุธยาไปชุมทางบ้านภาชี สระบุรี เข้าสู่ดงพญาเย็น ปรากฏว่าคนงานและวิศวกรเสียชีวิตเป็นจำนวนมากจากไข้ป่า

กว่าจะสร้างทางรถไฟ กรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา ระยะทางรวม 265 กิโลเมตร แล้วเสร็จ งบประมาณในการก่อสร้างก็บานปลายไปถึง 17.5 ล้านบาท ทั้งยังใช้เวลาก่อสร้างถึง 9 ปี มีพิธีเปิดสถานีรถไฟที่นครราชสีมา เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2443

ส่วนที่ว่าทำไมถึงได้ชื่อว่า “ปากช่อง” ก็เพราะว่าทางรถไฟสายดังกล่าวตัดผ่านกลางหมู่บ้าน ต้องระเบิดภูเขาเป็นช่อง จึงเรียกกันว่า “บ้านปากช่อง”

ต่อมาเมื่อมีการสร้างถนนมิตรภาพ การเดินทางสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ทางการจึงยกฐานะของปากช่องขึ้นเป็นกิ่งอำเภอ และขยับขึ้นเป็น อำเภอปากช่อง เช่นที่คุ้นกันในปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม :-

    • “รถไฟ (จะ) ไปโคราช” เส้นทางรถไฟสายแรกของไทย ที่ฝรั่งทิ้งงาน รัฐต้องรับต่อ 9 ปีถึงสร้างเสร็จ
    • ที่มา “นามสกุล” ชาว “โคราช” หลักฐานสำคัญบ่งชี้ภูมิประเทศถิ่นกำเนิด
    • “สุดบรรทัด-เจนจบทิศ” สู่ “ถนนมิตรภาพ” ช่วยย่นเวลาเดินทางกทม.-โคราชจาก 10 เหลือ 3 ชม.




ขอขอบคุณ :-
ผู้เขียน : กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม
เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ 12 เมษายน พ.ศ.2567
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก : เมื่อ 11 เมษายน 2567
URL : https://www.silpa-mag.com/culture/article_130696
อ้างอิง : เสมียนนารี. จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดที่มีอำเภอมากที่สุดในประเทศไทย.

 3 
 เมื่อ: วันนี้ เวลา 06:44:23 am 
เริ่มโดย raponsan - กระทู้ล่าสุด โดย raponsan
.

“พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เสด็จกลับจากราชการทัพที่เมืองเขมร” ภาพเขียนสีปูนเปียกบนเพดานโดมด้านทิศเหนือของพระที่นั่งอนันตสมาคม


ทำไม รัชกาลที่ 1 ทรงศรัทธา “พระแก้วมรกต” ถึงขั้นโปรดอัญเชิญเป็น “ใจเมือง”

เมื่อสร้างกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ รัชกาลที่ 1 มีพระราชปณิธานที่จะสร้างให้เป็นกรุงศรีอยุธยาแห่งใหม่ โดยจำลองแบบอย่างหลายอย่างมาไว้ที่กรุงเทพฯ ขาดเพียงพระพุทธรูปที่เปรียบเสมือน “ใจเมือง” แม้โปรดให้อัญเชิญพระพุทธรูปลงมาไว้กรุงเทพฯ หลายองค์ แต่ก็ไม่มีองค์ใดเลย ที่จะมีพระราชศรัทธาในพุทธคุณเทียบเท่า “พระแก้วมรกต”

“พระแก้วมรกต” จึงประดิษฐานเป็นประธานอยู่ที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นศูนย์กลางราชอาณาจักรสยาม และศูนย์กลางแห่งพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันกษัตริย์ ศาสนา และราษฎร


@@@@@@@

เหตุใดจึงโปรดพุทธคุณในพระแก้วมรกตยิ่งกว่าพระพุทธรูปอื่นๆ

ตำนานเกี่ยวกับพระแก้วมรกต ที่ว่าเป็นพระพุทธรูปที่เทวดาสร้าง มีการอัญเชิญไปยังดินแดนต่างๆ เช่น ประดิษฐานอยู่เมืองลำปางนาน 32 ปี (พ.ศ. 1979-2011), เชียงใหม่ 85 ปี (พ.ศ. 2011-2096), หลวงพระบาง ไม่ถึงปี (พ.ศ. 2096), เวียงจันทน์ 225 ปี (พ.ศ. 2096-2322) กรุงธนบุรี 5 ปี (พ.ศ. 2322-2327) และสุดท้ายประดิษฐานในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตั้งแต่ พ.ศ. 2327

เมื่อเปลี่ยนแผ่นดินมาเป็นกรุงรัตนโกสินทร์  มีการก่อสร้างพระอารามขึ้นในพระราชวังหลวงตามอย่างกรุงศรีอยุธยา แล้วเสร็จในปี 2326

ปีถัดมารัชกาลที่ 1 โปรดให้อัญเชิญพระแก้วมรกต “ข้ามฟาก” มาจากกรุงธนบุรี ลงเรือพระที่นั่งกิ่ง มีเรือแห่เป็นขบวน ไปยังพระอุโบสถแห่งใหม่ ส่วน “พระบาง” พระราชทานคืนแก่กรุงเวียงจันทน์ไป

@@@@@@@

“พระราชพิธีสิบสองเดือน” พระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 5 ตอบคำถามเรื่อง รัชกาลที่ 1 ทรงเลื่อมใสในพุทธคุณของพระแก้วมรกต โดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับการปราบยุคเข็ญและการปราบดาภิเษกของพระองค์ ว่า

“ทรงพระราชดำริเห็นว่าพระมหามณีรัตนปฏิมากรองค์นี้ เป็นสิริแก่พระองค์และพระนคร จึงได้ขนานนามกรุงใหม่ว่ากรุงรัตนโกสินทรมหินทราอยุธยา เพราะเป็นที่ประดิษฐานและเป็นที่เก็บพระมหามณีรัตนปฏิมากรพระองค์นี้ เพราะเหตุฉะนั้นการพระราชพิธีอันใดซึ่งเป็นการใหญ่ ก็ควรจะทำในสถานที่เฉพาะพระพักตร์พระมหามณีรัตนปฏิมากรนั้นประการหนึ่ง”

หลังจากอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพียง 2 เดือน ได้เกิดธรรมเนียมใหม่ขึ้น คือ พ.ศ. 2328 รัชกาลที่ 1 โปรดให้ตั้งพระราชกำหนดใหม่ให้ข้าราชการทั้งปวงต้องเข้าไปกราบนมัสการพระแก้วมรกตก่อน แล้วจึงเข้ารับพระราชทานน้ำพระพิพัฒน์สัจจาภายหลัง ผิดกับพระราชกำหนดเก่าที่ถือธรรมเนียมเข้าไปไหว้รูปพระเทพบิดรก่อน แล้วจึงกราบนมัสการพระรัตนตรัยภายหลัง

ไม่เพียงแต่รัชกาลที่ 1 จะทรงศรัทธาและถือว่าพระแก้วมรกตนั้น “เป็นสิริแก่พระองค์” ยังเป็นไปได้ว่าทรงเชื่อพุทธคุณในทางใดทางหนึ่งขององค์พระแก้วมรกตเป็นพิเศษ


@@@@@@@

ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีรับสั่งถึงความศรัทธาเลื่อมใสพระแก้วมรกตของรัชกาลที่ 1 ว่า

“ท่านเลื่อมใสในองค์พระมหามณีรัตนปฏิมากรพระองค์นี้มาก จึงยกไว้เปนหลักพระนคร พระราชทานนามพระนคร ก็ให้ต้องกับพระนามพระมหามณีรัตนปฏิมากรพระองค์นี้ด้วย”

พระแก้วมรกตยังมีความสำคัญถึงขนาดว่าเป็นพระพุทธรูปองค์เดียวที่มี “ข้าพระ” ดังปรากฏในหมายรับสั่งและบัญชีโคมตรา ในพระราชพิธีวิสาขบูชา ในรัชกาลที่ 4 มีการกล่าวถึง “ข้าพระแก้วมรกต” ให้เบิกน้ำมันมะพร้าวต่อชาวพระคลังไปจุดโคมประทีปรอบระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ด้วยเหตุนี้ จึงมีการอัญเชิญ “พระแก้วมรกต” มาร่วมในพระราชพิธีสำคัญ ตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งพิธีทางศาสนา พระราชพิธีเกี่ยวกับราชตระกูล และการปกครอง เช่น พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจา กรณีที่พระเจ้าอยู่หัวมิได้เสด็จออกวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ ยังต้องเข้าไปถือน้ำสาบานหน้าพระแก้วมรกตเป็นปฐมก่อน แล้วจึงมาดื่มน้ำต่อหน้าพระพักตร์ในท้องพระโรงอีกครั้งหนึ่ง แสดงให้เห็นว่าสาระสำคัญของการถือน้ำคือการสาบานต่อหน้าพระ

@@@@@@@

สมัยรัชกาลที่ 1 นั้น “พุทธคุณ” สำคัญพระแก้วมรกต ไม่น่าจะเป็นเรื่องอื่น นอกเหนือจากเรื่องพระเจ้าตากและกรุงธนบุรี ทำให้การจลาจลในแผ่นดินเก่าสงบลง เพราะการบูชาสมโภชพระแก้วมรกต และการสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามอย่างยิ่งใหญ่ ทรงกระทำพร้อมๆ กับการสร้างพระราชวัง อันเป็นช่วง 3 ปีแรกแห่งการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์

ส่วนพุทธคุณทางด้านกำราบราชศัตรู “เมืองใดไป่ต้านทานทน พ่ายแพ้เดชผจญ ประณตน้อมวันทา” เวลานั้นสงครามใหญ่ก็ยังไม่เกิด ศึกพม่าครั้งแรกในแผ่นดินใหม่นี้เริ่มต้นขึ้นหลังจากอัญเชิญพระแก้วมรกตมายังพระอุโบสถแล้วเกือบปี

พระแก้วมรกตอาจมีฐานะต่างไปจากพระพุทธรูปองค์อื่น ตรงที่ได้การเคารพนบไหว้เป็น “ใจเมือง” และยิ่งเป็นพระพุทธรูปที่พระปฐมบรมกษัตริย์ให้ความเคารพศรัทธาเหนือสิ่งอื่นใด ภาระหน้าที่ของพระแก้วมรกตจึงมากมายเลยขอบเขตทางพระพุทธศาสนา ไปจนถึงการ “รักษา” เมืองด้วยในบางโอกาส

เช่น สมัยรัชกาลที่ 2 จึงมีการอัญเชิญพระแก้วมรกตออกจากพระอุโบสถไป “รักษา” เมือง ในพระราชพิธีอาพาธพินาศ เพื่อแห่ประพรมน้ำทั้งทางบกทางน้ำ เพียงไม่กี่วัน “ความไข้ก็ระงับเสื่อมลงโดยเร็ว” แต่การอัญเชิญพระแก้วมรกตออกจากพระอุโบสถ ยุติไปในสมัยรัชกาลที่ 4 ด้วยเกรงว่าจะได้รับความเสียหาย


คลิกอ่านเพิ่ม :-

    • พระพุทธรูปฉลองพระองค์ ที่สร้างสมัย ร.3 ที่มา พระนาม ร.1 กับ ร.2
    • พระพุทธสิหิงค์ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ทำไมถึงเป็นปางสมาธิ ขัดสมาธิราบ?

หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก ปรามินทร์ เครือทอง. “พุทธคุณพระแก้วมรกต” ใน,  ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2551.




ขอขอบคุณ :-
ผู้เขียน : วิภา จิรภาไพศาล
เผยแพร่ : วันพฤหัสที่ 11 เมษายน พ.ศ.2567
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก : เมื่อ 11 เมษายน2564
URL : https://www.silpa-mag.com/history/article_130713

 4 
 เมื่อ: เมษายน 17, 2024, 08:05:46 pm 
เริ่มโดย todaytimepost11 - กระทู้ล่าสุด โดย todaytimepost11
ขออนุญาต อัพเดทกระทู้

 5 
 เมื่อ: เมษายน 17, 2024, 05:52:54 pm 
เริ่มโดย todaytimepost11 - กระทู้ล่าสุด โดย todaytimepost11
ขออนุญาต อัพเดทกระทู้

 6 
 เมื่อ: เมษายน 17, 2024, 03:43:11 pm 
เริ่มโดย todaytimepost11 - กระทู้ล่าสุด โดย todaytimepost11
ขออนุญาต อัพเดทกระทู้

 7 
 เมื่อ: เมษายน 17, 2024, 01:28:31 pm 
เริ่มโดย todaytimepost11 - กระทู้ล่าสุด โดย todaytimepost11
ขออนุญาต อัพเดทกระทู้

 8 
 เมื่อ: เมษายน 17, 2024, 10:55:42 am 
เริ่มโดย aventure1 - กระทู้ล่าสุด โดย aventure1
ดันกระทู้ 

 9 
 เมื่อ: เมษายน 17, 2024, 07:44:03 am 
เริ่มโดย aventure1 - กระทู้ล่าสุด โดย aventure1
ดันกระทู้ 

 10 
 เมื่อ: เมษายน 17, 2024, 06:44:38 am 
เริ่มโดย raponsan - กระทู้ล่าสุด โดย raponsan
.



คนไทยหิวบุญ EP.1 พุทธพาณิชย์ จริงหรือคือสิ่งเร้าชาวพุทธ

จริงหรือที่ว่า..คนไทยหิวบุญ ปริศนาธรรมจากซีรีส์สาธุ และรูปแบบของพุทธพาณิชย์ในวัด เป็นสิ่งเร้าชาวพุทธให้เข้าไปทำบุญจริงหรือไม่...

จริงหรือที่คนไทยหิวบุญ? คำถามดังๆ จาก “ซีรีส์สาธุ” ที่สามารถเรียกความสนใจจากคนไทยให้หันมาสำรวจและทบทวน “ความเป็นชาวพุธในตัวเอง” (อีกครั้ง) เพราะอะไรชาวพุทธแบบไทยเราจึงชอบทำบุญ? และสาเหตุที่เราต้องการ “บุญ” เพราะเราถูกกระตุ้นด้วยสิ่งที่ถูกเรียกว่า “พุทธพาณิชย์”





ซึ่งมาจากคำว่า พุทธ = พระพุทธศาสนา และคำว่า พาณิชย์ = การค้า ด้วยหรือไม่? และเพราะอะไร “วัด” ซึ่งถือเป็นสถานที่เผยแผ่คำสอนให้มนุษย์หลุดพ้นจาก “ทุกข์” ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงต้องทำสิ่งที่เรียกว่า “พุทธพาณิชย์” เพื่อหารายได้เข้าวัดกันด้วย

และท้ายที่สุด “คุณ” เคยลองคิดคล้อยตาม การตั้งคำถามสำคัญที่สุดจากซีรีส์สาธุ ในประเด็นที่ว่า…ถ้าหาก “วัด” เกิดกลายเป็นสถานที่สำหรับระดมทุนให้กับกลุ่มอาชญากรขึ้นมา มันจะเกิดอะไรขึ้น?

วันนี้ “เรา” จะไปสำรวจข้อมูลที่อาจจะนำไปสู่ “คำตอบ” ทั้งหมดนั้นร่วมกัน เผื่อว่าบางที…พวกเราในฐานะชาวพุทธ อาจจะสามารถป้องกันไม่ให้เกิด “สิ่งที่ไม่ดีไม่งามกับพระพุทธศาสนาที่เราเคารพนับถือกันมายาวนานก็เป็นได้” 

โดยหัวข้อแรกที่ “เรา” อยากชวน “คุณ” สนทนาถึงประเด็นที่ “เรา” โปรยไว้ทั้งหมดในตอนแรกนี้ คือ เพราะอะไร? “วัด” จึงต้องมีการดำเนินกิจกรรมในลักษณะที่เรียกว่า “พุทธพาณิชย์” กันด้วย

“เรา” มีข้อมูลจาก “อาจารย์วีรยุทธ เกิดในมงคล” อาจารย์ประจำหลักสูตร ศศ.บ. ปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เจ้าของงานวิจัยรูปแบบและวิธีการทางธุรกิจกับพุทธพาณิชย์ในสถาบันพระพุทธศาสนา มาให้ “คุณ” ได้ร่วมกันพิจารณา



“อาจารย์วีรยุทธ เกิดในมงคล” อาจารย์ประจำหลักสูตร ศศ.บ. ปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


พุทธพาณิชย์

พุทธพาณิชย์เป็นคำที่นักวิชาการใช้วิจารณ์กระบวนการที่อาศัยความเชื่อและความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของประชาชน มาเป็นเครื่องมือในการหารายได้ มีหลายรูปแบบ เช่น การทำพระพิมพ์ พระเครื่อง พระบูชา และวัตถุมงคลรูปแบบต่างๆ ออกจำหน่าย การปั่นราคาวัตถุมงคลและการประกอบพิธีกรรมต่างๆ เพื่อหารายได้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน เช่น การทำบุญสะเดาะเคราะห์ ต่อดวงชะตา การทำพิธีตัดกรรม

พิธีกรรมเหล่านั้นล้วนแล้วแต่ไม่ใช่แก่นแท้ของพระพุทธศาสนา ไม่สามารถทำให้บุคคลบรรลุธรรมได้ พุทธศาสนิกชนไม่ควรหลงใหลกับสิ่งที่เป็นพุทธพาณิชย์ หรือพิธีกรรมต่างๆ มากจนเกินไป ควรทำความเข้าใจว่าผู้ที่ทำพุทธพาณิชย์ทำเพื่อการทำมาหากิน ไม่มีความเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของพระพุทธศาสนา


      ราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2553




 :96: :96: :96:

รูปแบบของพุทธพาณิชย์ ที่งานวิจัยรูปแบบและวิธีการทางธุรกิจกับพุทธพาณิชย์ในสถาบันพระพุทธศาสนาค้นพบ

1. การบูชารูปเคารพและสิ่งศักดิ์สิทธิ์

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทพเจ้า รูปเคารพต่างๆ และพระพุทธรูปสำคัญๆ ของทางวัด ที่ทางวัดจัดสร้างขึ้น เพื่อให้พุทธศาสนิกชนเดินทางมากราบไหว้บูชาและขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคล เพื่อความร่ำรวย, เพื่อให้หายจากป่วยไข้ และเพื่อบนบานอธิษฐานขอสิ่งที่ตนเองปราถนา

เหล่านี้ล้วนเป็นช่องทางในการสร้างรายได้ให้แก่ทางวัดจากเครื่องบูชา ซึ่งมีทั้งที่ทางวัดเป็นผู้ดำเนินการเอง หรือในบางกรณีอาจจะเป็นการตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างผู้เช่าพื้นที่ขายเครื่องบูชา โดยวัดได้ค่าเช่า

2. กิจกรรมหรือพิธีกรรมในลักษณะที่เป็นการบริการตนเอง

เป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากการบูชารูปเคารพ เป็นกิจกรรมสำเร็จรูปที่วัดส่วนใหญ่ดำเนินมีรูปแบบเหมือนกัน คือ มีป้ายเชิญชวนทำพิธีกรรมนั้น ซึ่งเริ่มต้นด้วยการบริจาคเงินเพื่อแลกกับอุปกรณ์ในการทำพิธีนั้นๆ โดยไม่ต้องอาศัยพระสงฆ์ดำเนินพิธีกรรม เช่น การตักบาตรเหรียญ ปิดทองลูกนิมิต เป็นต้น

3. การเชิญชวนทำบุญบริจาคด้วยตู้รับบริจาคและเครื่องเสี่ยงทาย

การเชิญชวนทำบุญบริจาคด้วยการรับบริจาคผ่านตู้รับบริจาคในวัด โดยตู้รับบริจาคเหล่านี้จะมีข้อความอธิบายวัตถุประสงค์สั้นๆ เพื่อชี้แจงว่าทางวัดจะนำเงินที่ได้ไปใช้ในกิจการใด เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ หรือชำระหนี้สงฆ์ ซึ่งการบริจาคในลักษณะนี้ ผู้บริจาคจะถูกชักชวนว่าเป็นการทำบุญ และอธิบายว่าบุญที่ได้ทำไปนี้จะมีอานิสงส์ตอบแทนเช่นไร

4. การให้เช่าบูชาพระเครื่องบูชา เครื่องรางของขลัง วัตถุมงคล

การสร้างวัตถุมงคลในอดีตนั้น มีวัตถุประสงค์สำคัญคือเพื่อไว้เป็นเครื่องเตือนให้ระลึกถึงพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นพุทธานุสติ แต่ในเวลาต่อมาได้พัฒนาถึงขั้นที่ว่าสะสมไว้เพื่อการสร้างผลกำไรทางธุรกิจ ด้วยการนำไปให้คนเช่าบูชา และโดยมากมักมีเรื่องเล่าสนับสนุนเพื่อสร้างความต้องการให้กลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่างๆ ผสมผสานกับการอ้างเรื่องเจตนาในการสร้าง ที่มักเป็นไปในลักษณะเพื่อนำเงินที่ได้ไปทำกิจกรรมเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา หรือสร้างสาธารณประโยชน์ให้กับชุมชน





5. การให้บริการในเรื่องการทำพิธีกรรม

การประกอบพิธีกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการทางศาสนาของคนในสังคม โดยเฉพาะเพื่อความเป็นสิริมงคล เช่น งานอุปสมบท งานศพ หรือพิธีเสริมดวงแก้กรรมต่างๆ ได้มอบบทบาทอันสำคัญนี้ให้แก่ “พระสงฆ์” มาช้านาน ด้วยเหตุนี้เมื่อมีพระสงฆ์มาเข้าร่วม จึงทำให้บางที่มีการเรียกค่ายกครู หรือค่าพานทองของไหว้ เครื่องบูชาในพิธีกรรมนั้นๆ

6. การจัดเทศกาล วันสำคัญตามประเพณี และวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

อีกหนึ่งรูปแบบของการหารายได้เข้าวัดที่ได้รับความนิยม คือ การจัดงานเทศกาล วันสำคัญตามประเพณีต่างๆ รวมถึงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และในงานดังกล่าวนั้น มักมีการเชิญชวนพุทธศาสนิกชนให้เข้าร่วมเป็นเจ้าภาพ รวมถึงเปิดให้มีการเช่าพื้นที่ค้าขาย ในกรณีที่มีการจัดแสดงมหรสพเพื่อเชิญชวนให้ประชาชนจำนวนมากๆ มาร่วมงานด้วย   

7. การเชิญชวนร่วมทำบุญสร้างวัตถุมงคล สร้างรูปบูชาและพระพุทธรูป (เป็นเจ้าภาพ)

ปัจจุบันหลายวัดนิยมสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ แต่เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้เงินมาก จึงทำให้มีความจำเป็นต้องมีการระดมศรัทธาเพื่อรับบริจาคทุนทรัพย์ จนเป็นเหตุให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาว่า เป็นการสร้างเพื่อต่อลาภสักการะ หวังผลให้พุทธศาสนิกชนเดินทางมากราบไหว้สักการะ เพื่อเป็นช่องทางในการหารายได้ต่อไปหรือไม่?

8. การเชิญชวนทำบุญก่อสร้างสาธารณสมบัติ การสร้างบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะ

พุทธศาสนิกชนมีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า หากต้องการให้ได้บุญมากก็ต้องสร้างวัดวาอาราม ซึ่งจะทำให้ได้อานิสงส์ผลบุญกุศลแรง ซึ่งในอดีตนั้นการสร้างวัดจะเป็นหน้าที่ของคฤหัสถ์ เมื่อสร้างเสร็จแล้วจึงนิมนต์พระมาอยู่ดูแล แต่ในปัจจุบันดูเหมือนจะกลายเป็นหน้าที่ของพระดำเนินการเอง ผ่านการเชิญชวนให้ทำบุญในรูปแบบต่างๆ รวมถึงยังขยายการเชิญชวนให้ทำบุญเพื่อหาเงินไปสร้างสาธารณสมบัติต่างๆ ให้ชุมชนด้วย โดยเจ้าภาพที่ร่วมบริจาคด้วยจำนวนเงินตามที่ทางวัดระบุ จะได้รับการจารึกชื่อบนสิ่งปลูกสร้างนั้นไว้เป็นอนุสรณ์

9. การทำบุญไถ่ชีวิตโคกระบือ และการทำบุญซื้ออาหารให้สัตว์ต่างๆ

เป็นการต่อยอดมาจากการปล่อยนกปล่อยปลา ด้วยความเชื่อที่ว่า การให้ชีวิตเป็นการสร้างกุศลที่สำคัญอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ชีวิตสัตว์ใหญ่ ยิ่งได้กุศลมาก โดยบางวัดอาจมีการให้ข้อมูลโน้มน้าวใจด้วยว่า การไถ่ชีวิตนอกจากได้กุศลแรงแล้ว เมื่อทางวัดนำไปมอบให้กับเกษตรกรที่ยากไร้ ผู้ร่วมทำบุญจะยิ่งได้บุญจากการได้ช่วยเหลือเกษตรกรด้วย

10. การเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

ปัจจุบันวัดกลายเป็นอีกหนึ่งจุดสนใจของนักท่องเที่ยวตามความนิยมของชาวต่างชาติ ทำให้วัดสามารถเก็บค่าเข้าชมจากนักท่องเที่ยวได้ จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น ก็หมายถึงยอดรับบริจาคจากกิจกรรมช่องทางต่างๆ





และจากบรรทัดข้างต้นที่บรรยายถึงการหารายได้ผ่านพุทธพาณิชย์ในรูปแบบต่างๆ มาได้อย่างละเอียดลออถึงขนาดนี้ จึงเป็นผลให้คำถามแรกที่ “เรา” สอบถามอาจารย์วีรยุทธ คือ…

    “สาเหตุที่วัดในประเทศไทยส่วนใหญ่ต้องเน้นเรื่องพุทธพาณิชย์มากมายขนาดนี้ เป็นเพราะวัดมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายใช่หรือไม่.?”
    ซึ่งคำตอบที่ได้รับกลับมาแทบจะในทันที คือ “ผมก็ไม่ทราบเหมือนกันครับ!”

   “คือมันเป็นแบบนี้ครับ จากการที่ผมได้สำรวจมา บางวัดเขาอาจจะมีรายได้อยู่แล้ว หรือบางทีอาจจะมีญาติโยมคอยอุดหนุนเรื่องรายจ่ายอยู่แล้ว ดังนั้น พุทธพาณิชย์ที่เกิดขึ้น อาจจะเป็นเพราะมีคนมาเสนอให้กับทางวัดทำก็ได้ หรืออาจจะเป็นเพราะวัดมีดำริที่จะทำบ้างก็ได้
    อีกทั้งจะว่าไป ประเด็นที่ว่า...วัดทำเพราะมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายหรือไม่นั้น ก็เป็นเรื่องที่หาข้อมูลในส่วนนี้ได้ยากมาก (ลากเสียง) อีกด้วย

วัดสามารถปฏิเสธการทำพุทธพาณิชย์ได้หรือไม่.?    
    “ปฏิเสธได้ครับ ผมคิดว่าพระปฏิเสธได้แน่นอน”

พุทธพาณิชย์เป็นกิจของสงฆ์หรือไม่.?
    “ผมขอตอบแบบนี้ดีกว่าครับ คือ ในกรณีที่เรามองว่าการขายของไม่ใช่กิจของพระ คำถามที่ผมอยากชวนคิด คือ ระหว่างพระผลิตเครื่องรางของขลังมาให้เช่าบูชา กับพระผลิตหนังสือธรรมะออกมาให้ญาติช่วยกันบริจาค ต่างกันหรือไม่ แล้วเพราะอะไรจึงแตกต่างกัน?
    ในมุมมองคนส่วนใหญ่ กรณีพระผลิตหนังสือธรรมะออกมาเพื่อเปิดรับบริจาค ไม่น่ามีปัญหาอะไร เพราะมองว่ามีความเชื่อมโยงเรื่องการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

    หากแต่ในทางกลับกัน คุณคิดว่าปัจจุบันพระเครื่อง พระบูชา เครื่องรางของขลังต่างๆ ที่แต่เดิมถูกสร้างขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ ให้ระลึกถึงหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น ในปัจจุบันยังคงทำหน้าที่เช่นนั้นอยู่หรือไม่?
    ซึ่งหากคุณมีคำตอบในใจว่า พระเครื่อง พระบูชา เครื่องรางของขลังต่างๆ ในปัจจุบัน ไม่ได้ทำหน้าที่เช่นนั้นอีกต่อไปแล้ว คำตอบสำหรับประเด็นนี้ก็คือ...ไม่ใช่กิจของสงฆ์แน่นอน”





ในเมื่อเป็นเช่นนี้ เพราะอะไรจึงไม่มีการจัดระเบียบเพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าแบบใดทำได้ แบบใดทำไม่ได้.?

ผู้เชี่ยวชาญด้านปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ครุ่นคิดสักครู่หนึ่ง ก่อนตอบคำถามนี้ของทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ด้วยน้ำเสียงเนิบนาบว่า...

“แล้วคุณว่าปัจจุบันพระชั้นผู้ใหญ่ยังทำกันอยู่หรือเปล่า.? (หัวเราะ) เมื่อเป็นแบบนี้มันก็น่าจะเป็นเรื่องยากที่จะมีใครเข้าไปจัดการ หรือจัดระเบียบ เพราะก่อนหน้านี้เคยมีความพยายามที่จะเข้าไปจัดระเบียบ แล้วของพวกนี้ก็หายไปจากวัดได้ระยะหนึ่ง

อีกจุดหนึ่งที่ผมอยากตั้งข้อสังเกต คือ พรรคการเมืองบางพรรค หรือนักการเมืองบางคนเอง ผมก็ยังเห็นพูดกันอยู่เลยว่า ของแบบนี้ (พุทธพาณิชย์) ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านการผลิตสิ่งของ การท่องเที่ยว จนกระทั่งนำไปสู่การกระจายรายได้ไปยังท้องถิ่นต่างๆ เพราะฉะนั้นมันก็คงเป็นเรื่องยากที่จะมีใครอยากจะเข้าไปขวางทาง





แต่สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะแชร์ข้อมูลที่ได้จากงานวิจัยชิ้นนี้ คือ พระที่อยู่ตามวัดส่วนใหญ่นั้นโดยปกติ ท่านก็ไม่ค่อยรู้จักใครหรอก แต่เป็นฝ่ายฆราวาสเสียเองที่มักจะพยายามเข้าไปติดต่อกับทางวัด เพื่อจะดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด เช่น การเข้าไปติดต่อเพื่อขอบูรณะวัด จนกระทั่งเกิดเป็นความร่วมมือระหว่างกันขึ้น เป็นต้น”

สำหรับใน EP.2 “อาจารย์วีรยุทธ เกิดในมงคล” จะมาขยายความถึงปัญหาในรูปแบบต่างๆ ที่เกิดกับวัด อันเป็นผลที่มาจากพุทธพาณิชย์ โปรดติดตามตอนต่อไป

                                ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน






Thank to : https://www.thairath.co.th/scoop/interview/2776721
16 เม.ย. 2567 08:59 น. | สกู๊ปไทยรัฐ | Interview | ไทยรัฐออนไลน์
กราฟิก : Anon Chantanant

หน้า: [1] 2 3 ... 10