ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: กราบพระประธาน 28 องค์ ขอพรพระพุทธรูปปางฉันสมอ ที่ “วัดอัปสรสวรรค์”  (อ่าน 1132 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0





พระพุทธรูปประธาน 28 องค์ ในพระอุโบสถวัดอัปสรสวรรค์


กราบพระประธาน 28 องค์ ขอพรพระพุทธรูปปางฉันสมอ ที่ “วัดอัปสรสวรรค์”

        ชาวพุทธอย่างเรา มักจะหาเวลาไปทำบุญไหว้พระอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวันพระใหญ่ อย่างเช่นในช่วงวันวิสาขบูชาแบบนี้ ก็พลาดไม่ได้ที่จะต้องเข้าวัดฟังธรรม หาความสงบให้กับจิตใจ และไปเวียนเทียนกันต่อในช่วงเย็น
       
       ซึ่งฉันเองก็ไม่พลาดที่จะชักชวนเพื่อนฝูงมาเข้าวัดเช่นกัน โดยในคราวนี้ขอเลือกมาที่วัดแห่งหนึ่งในฝั่งธนบุรี และวัดแห่งนี้แม้จะไม่ได้ใหญ่โตโอ่อ่า แต่ก็นับว่ามีความสำคัญและความน่าสนใจไม่น้อยเลย


ทางเดินเข้าสู่พระอุโบสถ


        วัดที่ฉันเลือกมาในวันพระใหญ่นี้มีชื่อว่า “วัดอัปสรสวรรค์” หรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า “วัดหมู” ซึ่งเป็นวัดโบราณ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยใด ส่วนเหตุที่เรียกว่าวัดหมูนั้น เนื่องจากผู้สร้างวัดแห่งนี้เป็นชาวจีนชื่ออู๋ มีอาชีพเลี้ยงหมูเป็นผู้สร้างขึ้น เมื่อมีวัดแล้วหมูเหล่านั้นก็มาเดินเพ่นพ่านเต็มลานวัด ชาวบ้านจึงเรียกว่าวัดหมูกันมาตั้งแต่นั้น แม้ภายหลังไม่มีหมูมาเดินแล้วก็ยังเรียกกันว่าวัดหมูต่อมา
       
       ภายหลังจากที่จีนอู๋สร้างวัดนี้ขึ้นแล้ว เวลาล่วงไปวัดก็ทรุดโทรมลงไปตามกาล จนมาถึงในสมัยรัชกาลที่ 3 เจ้าจอมน้อย (สุหรานากง) เห็นว่าวัดหมูทรุดโทรมมาก จึงกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ พระองค์จึงได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้สถาปนาวัดนี้ขึ้นใหม่ทั้งวัด


หน้าบันประดับปูนปั้นลวดลายแบบจีน


        และหลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์เพิ่มอีก และในครั้งนั้นก็ได้พระราชทานชื่อวัดให้ใหม่ว่า “วัดอัปสรสวรรค์” เพื่อเป็นที่ระลึกแด่เจ้าจอมน้อย ซึ่งมีความสามารถในการแสดงละครเรื่องอิเหนา เป็นตัวสุหรานากงได้ดี จนได้รับฉายาว่า เจ้าจอมน้อยสุหรานากง และในการบูรณะครั้งนี้ ทำให้วัดอัปสรสวรรค์ กลายมาเป็นวัดที่มีความพิเศษหนึ่งเดียวในเมืองไทย
       
       หากเข้ามาถึงตัววัดแล้ว จะสังเกตเห็นว่าวัดนี้ไม่ได้คึกคักมากนัก ไม่เหมือนกับวัดปากน้ำภาษีเจริญที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ กัน ซึ่งจากถนนด้านนอก มองเข้าไปจะเห็นทางเข้าสู่พระอุโบสถ ซึ่งพระอุโบสถหลังนี้มีขนาดไม่ใหญ่โตนัก สร้างด้วยศิลปะแบบจีน ตามพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 หน้าบันไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ แต่จะประดับประดาหน้าบันด้วยลวดลายปูนปั้นแบบจีน ว่ากันว่าพระอุโบสถที่นี่สร้างคล้ายกันกับที่วัดราชโอรสารามฯ ซึ่งเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 3


สักการะพระพุทธรูปประธาน 28 องค์


        ฉันเดินตรงเข้าไปสู่ภายในของพระอุโบสถ ก็บังเกิดความประหลาดใจ เพราะภายในพระอุโบสถนั้น แทนที่พระประธานจะมีเพียงองค์เดียวเหมือนกับโบสถ์วัดอื่นๆทั่วไป แต่ภายในอุโบสถนี้ก็กลับมีพระประธานอยู่มากถึง 28 องค์ด้วยกัน ซึ่งพระพุทธรูปเหล่านี้ รัชกาลที่ 3 เป็นผู้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อครั้งที่มีการปฏิสังขรณ์นั่นเอง
       
       เหตุที่สร้างพระพุทธรูปมากถึง 28 พระองค์ ก็เพื่อแทนพระพุทธเจ้าที่ได้เกิดขึ้นมาในชาติภาพต่างๆ รวมแล้ว 28 พระองค์ ได้แก่ พระพุทธตัณหังกร พระพุทธเมธังกร พระพุทธสรณังกร พระพุทธทีปังกร พระพุทธโกณฑัญญะ พระพุทธสุมังคละ พระพุทธสุมนะ พระพุทธเรวตะ พระพุทธโสภิตะ พระพุทธอโนมทัสสี พระพุทธปทุมะ พระพุทธนารทะ พระพุทธปทุมุตตระ พระพุทธสุเมธะ พระพุทธสุชาตะ พระพุทธปิยทัสสี พระพุทธอัตถทัสสี พระพุทธธรรมทัสสี พระพุทธสิทธัตถะ พระพุทธติสสะ พระพุทธปุสสะ พระพุทธวิปัสสี พระพุทธสิขี พระพุทธเวสสภู พระพุทธกกุสันธะ พระพุทธโกนาคมนะ พระพุทธกัสสปะ และพระพุทธโคตมะ ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าที่เราได้เรียนรู้เรื่องราวของพระองค์


รูปหล่อนางสุชาดา กำลังถวายข้าวมธุปายาสแก่พระพุทธเจ้า


        พระพุทธรูปทั้ง 28 พระองค์นี้ เป็นปางมารวิชัย หล่อขึ้นให้มีขนาดเท่าๆ กัน วางเรียงตั้งลดหลั่นกันลงมาเป็นรูปทรงสามเหลี่ยมงดงามแปลกตาไม่มีวัดไหนในประเทศไทยและวัดไหนในโลกจะมีเหมือน และถ้าอยากจะรู้ว่าองค์ไหนเป็นองค์ไหนก็ดูได้จากตัวอักษรจารึกพระนามอยู่ที่ฐานพระพุทธรูปแต่ละองค์ ซึ่งองค์ที่อยู่ด้านบนสุดก็คือพระพุทธเจ้าองค์แรก หรือ พระพุทธตัณหังกร ส่วนองค์ที่อยู่ด้านหน้าสุดของแถวล่างก็คือ พระพุทธโคตมะ หรือพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันนั่นเอง
       
       ด้วยความพิเศษที่มีอยู่เพียงหนึ่งเดียวนี้ พระพุทธรูปประธาน 28 องค์ ในพระอุโบสถวัดอัปสรสวรรค์จึงถูกยกย่องให้เป็นอันซีนบางกอก ที่ฉันอยากชวนทุกคนให้มาเห็นด้วยตาของตัวเอง ซึ่งที่นี่ก็จะใช้บทสวดมนต์พระพุทธเจ้า 28 พระองค์ เป็นบทสวดมนต์เฉพาะของวัดอัปสรสวรรค์ และจะใช้สวดทุกครั้งที่ทำวัตรเช้า-เย็น รวมถึงจะเพิ่มบทสวดนี้เป็นกรณีพิเศษในการสวดมนต์ในพิธีการต่างๆ ด้วย
       
       ออกจากพระอุโบสถแล้วก็เดินไปด้านข้างที่เป็นพระวิหาร ซึ่งเป็นศิลปะแบบจีนเช่นเดียวกัน ภายในมีพระพุทธรูปอยู่สององค์ เป็นพระปางมารวิชัยทั้งสององค์ และในภายหลังได้มีผู้มาสร้างรูปหล่อนางสุชาดา กำลังถวายข้าวมธุปายาสแก่พระพุทธเจ้าด้วย


พระพุทธรูปปางฉันสมอ


        อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจภายในวัดก็คือ “พระพุทธรูปปางฉันสมอ” ที่ประดิษฐานอยู่ภายในพระมณฑปสีขาว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานไว้ พระพุทธรูปองค์นี้กล่าวว่าได้มาจากเวียงจันท์ ซึ่งอัญเชิญลงมายังกรุงเทพฯ พร้อมๆ กับพระบรมธาตุ พระบาง และพระแซกคำ
       
       พระพุทธรูปปางฉันสมอนี้ปางคนอาจจะยังไม่คุ้นหูนัก ฉันจึงอยากขออธิบายถึงที่มาหน่อยหนึ่งว่า หลังจากที่พระพุทธเจ้าเสวยวิมุติสุข หรือตรัสรู้ได้ 7 สัปดาห์แล้ว ยังไม่ได้เสวยพระกระยาหารเลย ท้าวสักกอมรินทราธิราชจึงได้นำผลสมอ หรือลูกสมอซึ่งเป็นทิพย์โอสถไปถวาย พระพุทธจริยาที่เสวยผลสมอนั้นจึงถูกนำมาสร้างเป็นพระพุทธรูปปางฉันสมอนั่นเอง


หอไตรกลางน้ำ


        แต่พระพุทธรูปปางฉันสมอในพระมณฑปนี้ เจ้าอาวาสได้อัญเชิญไปเก็บรักษาไว้บนกุฏิ และได้นำองค์จำลองมาประดิษฐานไว้แทนเพื่อความปลอดภัย
       
       อีกฝั่งหนึ่งของวัด เป็นที่ตั้งของ “หอไตร” เก่าแก่ของวัดที่อยู่กลางน้ำ เหตุที่ต้องสร้างให้อยู่กลางน้ำก็เพื่อป้องกันมอด ปลวก ที่จะมากัดแทะหนังสือให้เสียหาย ตัวหอไตรนั้นมีความงดงามมาก ฝาผนังประดับกระจก ส่วนบานประตูและหน้าต่างก็เขียนด้วยลายรดน้ำ ซึ่งที่นี่เพิ่งจะได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ทำให้ดูมีสีสันสดใสขึ้นมาก และหอไตรแห่งนี้ยังเป็นต้นแบบของหอเขียน ที่จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาดอีกด้วย
       
       ทำบุญที่วัดกันเสร็จแล้ว อย่าลืมแวะไปทำทานกันต่อที่บริเวณศาลาท่าน้ำริมคลองด่าน แวะให้อาหารปลาในคลอง พร้อมๆ กับชมบรรยากาศสบายๆ ของวิถีชีวิตริมน้ำกันได้ด้วย
           
       “วัดอัปสรสวรรค์” ตั้งอยู่ภายในซอยวัดอัปสร ถนนรัชมงคลประสาธน์ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ พระอุโบสถและพระวิหารเปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.30-16.00 น.
       
       การเดินทาง สามารถนั่งรถประจำทางสาย 4, 9, 175 มาจนสุดสาย จากนั้นเดินต่อไปอีกประมาณ 500 เมตร มีป้ายบอกทางไปจนถึงวัด



ขอบคุณภาพข่าวจาก
http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9590000050591
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

nirvanar55

  • มีเหตุมีผล
  • ****
  • ผลบุญ: +1/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 305
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
บันทึกการเข้า