ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: สักการะ “พระธาตุนาดูน” ยลโฉม “สะพานไม้แกดำ” สุดคลาสสิก สัมผัสวิถีชุมชน มหาสารคาม  (อ่าน 989 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28439
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



สักการะ “พระธาตุนาดูน” ยลโฉม “สะพานไม้แกดำ” สุดคลาสสิก สัมผัสวิถีชุมชน บนแผ่นดิน “มหาสารคาม”


พระธาตุนาดูน พุทธมณฑลแห่งอีสาน

“มหาสารคาม” เป็นเมืองเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ใจกลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประวัติศาสตร์ของเมืองนี้มีมานานหลายร้อยปี เพราะพบหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญหลายแห่งและมีการพบพระบรมสารีริกธาตุที่มีอายุกว่า 1,500 ปี และจากวันที่ “บ้านลาดกุดยางใหญ่” ถูกยกระดับขึ้นเป็น “เมืองมหาสารคาม” ในสมัยรัชกาลที่ 4 มาจนถึงบัดนี้ก็นับได้กว่า 150 ปีแล้ว

ปัจจุบัน มหาสารคามเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีความหลากหลาย มีทั้งธรรมชาติป่าเขา วัดวาอาราม โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงวิถีชุมชนนั้นมีความเป็นเอกลักษณ์อย่างมาก


ผ้าไหมมัดหมี่ลายสร้อยดอกหมาก เอกลักษณ์ของมหาสารคาม

เมื่อมีโอกาสอันดี เราจึงได้เดินทางมาเยือนเมืองมหาสารคามแห่งนี้ แล้วก็มุ่งหน้าไปยังชุมชนแห่งแรกที่ “บ้านกุดรัง” ต.กุดรัง อ.กุดรัง จ.มหาสารคาม ที่นี่มีความโดดเด่นในเรื่องการทอผ้าไหมมัดหมี่ลายสร้อยดอกหมาก อันเป็นลายเอกลักษณ์ประจำจังหวัดมหาสารคามนั่นเอง

เดิมนั้นชาวบ้านในแถบนี้ก็มีการทอผ้าลายโบราณกันอยู่แล้ว ซึ่งลายสร้อยดอกหมากก็เป็นหนึ่งในลายผ้าโบราณ แต่ด้วยความที่ต้องใช้ระยะเวลาในการทอ ต้องมีความละเอียดลออ มีความชำนาญในลวดลาย และมีฝีมือทั้งในการมัดหมี่และการทอเป็นอย่างมาก จึงทำให้ผ้าลายโบราณเหล่านี้เกือบสูญหายไป


ขั้นตอนการทอต้องใช้ความละเอียดลออ

จนกระทั่งทางจังหวัดมีการจัดประกวดผ้าไหมเพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ของมหาสารคาม และผ้าไหมมัดหมี่ลายสร้อยดอกหมากของบ้านกุดรัง ก็ได้รับคัดเลือก จึงทำให้มีการสืบทอดการทอผ้าลายสร้อยดอกหมากนี้ต่อมาเรื่อยๆ

ขั้นตอนการทอผ้าไหมมัดหมี่ลายสร้อยดอกหมากนี้ ก็เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการมัดหมี่ ที่จะใช้ระยะเวลานานที่สุด หากลายละเอียดเยอะ สีสันเยอะ ก็จะต้องใช้เวลามากขึ้นไปอีก เพราะต้องย้อมสีทีละสี นำมามัด แล้วนำไปย้อมอีกสี กว่าจะได้ครบก็เรียกว่าต้องใช้เวลานานพอดู จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการทอที่ต้องให้ความชำนาญเป็นพิเศษ กว่าจะออกมาเป็นลายสร้อยดอกหมากอย่างที่ต้องการ แค่ยืนดูขั้นตอนการทำแต่ละขั้นตอนก็ยังเหนื่อย เห็นแบบนี้แล้วจึงไม่แปลกใจเลยว่าผ้าไหมแท้ๆ นั้นอาจจะมีราคาสูงเสียหน่อย แต่เมื่อเทียบกับกระบวนการผลิตที่ซับซ้อน และคุณค่าความสวยงามบนผ้าแต่ละผืนนั้นมากกว่าราคาที่ขายจริงๆ


พิพิธภัณฑ์คุ้มบุญตามทัน

ข้าวของเครื่องใช้สมัยก่อนที่จัดแสดงให้ได้ชม

ส่วนใครที่ชื่นชอบของเก่า แนะนำให้มาที่ “พิพิธภัณฑ์คุ้มบุญตามทัน” ต.แก่งเลิงจาน อ.เมือง จ.มหาสารคาม ที่รวบรวมของเก่าที่มีคุณค่ามาไว้ให้ชม โดยสิ่งของเหล่านี้ได้มาจากการเป็นมรดกตกทอด การซื้อหาแลกเปลี่ยน รวมถึงมีผู้บริจาคมาให้ ซึ่งภายในพิพิธภัณฑ์แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 จัดแสดงของโบราณร่วมสมัยที่มีอายุตั้งแต่ 30-100 ปี อย่างพวกเครื่องทองเหลือง ถ้วยชามกระเบื้อง เครื่องลายคราม โทรศัพท์ หรือพวกของชำต่างๆ อาทิ ขวดน้ำอัดลม ผงซักฟอก สบู่ เป็นต้น ใครที่อยู่ในวัยกลางคนขึ้นไป ก็น่าจะเคยเห็นของเหล่านี้ผ่านตามาบ้าง

ส่วนที่ 2 จัดแสดงเรื่องราวของนครจัมปาศรี หรือปัจจุบันคือเมืองมหาสารคามแห่งนี้ รวมถึงพระบูชา พระเครื่อง และเครื่องรางของขลังต่างๆ นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือเครื่องใช้ในครัวเรือน และอุปกรณ์ทำมาหากิน ทั้งอุปกรณ์ทอผ้า อุปกรณ์จับสัตว์น้ำ พร้อมกับมีรูปภาพเก่าๆ ให้ชมกัน เรียกว่าเป็นจุดที่สะท้อนวิถีชีวิตของชาวอีสานในสมัยก่อนได้เป็นอย่างดี ส่วนที่ 3 จัดแสดงเครื่องดนตรีโบราณของชาวอีสาน ที่เราสามารถทดลองเล่นดูได้ด้วย และส่วนสุดท้าย เป็นจุดจำหน่ายสินค้าให้เป็นของฝากติดไม้ติดมือกลับบ้านไป

เราได้เดินชมรอบๆ พิพิธภัณฑ์ ก็เห็นเลยว่าของเก่าเหล่านี้มีคุณค่ามากขึ้นตามอายุที่ผ่านไป เป็นตัวสะท้อนชีวิตของคนในสมัยก่อน แล้วก็ยังทำให้เราได้รำลึกถึงชีวิตที่สุขสงบเมื่อครั้งวันวานที่ผ่านมาด้วย


เอกลักษณ์ของเครื่องปั้นดินเผาที่บ้านหม้อคือลวดลายบนปากและคอ

วิธีเผาเป็นการเผาแบบกลางแจ้ง

แต่สำหรับเครื่องใช้ไม้สอยที่ยังผลิตกันอยู่ในเมืองมหาสารคามนั้นก็คือเครื่องปั้นดินเผาต่างๆ ซึ่งผลิตจากที่ “บ้านหม้อ” ต.เขวา อ.เมือง จ.มหาสารคาม ต้นกำเนิดของเครื่องปั้นดินเผาจากบ้านหม้อนั้น มาจากชาวไทยโคราชที่อพยพเข้ามาอยู่ในละแวกนี้ และได้นำความสามารถในการทำเครื่องปั้นดินเผาติดตัวมาด้วย และเนื่องจากในบริเวณนี้มีแหล่งดินเหนียวคุณภาพดีที่เหมาะกับการนำมาทำเครื่องปั้นดินเผาต่างๆ โดยเฉพาะหม้อ ที่ได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน

ขั้นตอนการปั้นหม้อก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะต้องเริ่มจากขั้นตอนการเตรียมดิน แบ่งออกเป็นดินเหยียบ ที่จะใช้ดินเหนียวที่ขุดจากหนองน้ำขึ้นมาทิ้งไว้ 1 คืน ก่อนจะนำมานวดโดยการเหยียบให้ได้ที่ อีกส่วนคือดินเชื้อ ได้มาจากการนำดินเหนียวผสมกับแกลบ ปั้นเป็นก้อน นำไปตากแดดให้แห้งแล้วเผาไฟให้สุกจากนั้นก็ตำให้ละเอียด

การผสมดินก็ต้องใช้ดินเหยียบผสมกับดินเชื้อ แล้วนำไปปั้นขึ้นรูปโดยเริ่มทำส่วนปากก่อน ตามด้วยส่วนตัวหม้อ ระหว่างนั้นก็ต้องนำดินไปผึ่งแดดให้หมาด แล้วก็ต้องทำลวดลายที่ปากและคอ อันเป็นเอกลักษณ์ของหม้อจากบ้านหม้อ เมื่อปั้นและผึ่งแดดจนหม้อแห้งดีแล้วค่อยนำไปเผา ซึ่งที่บ้านหม้อแห่งนี้จะใช้วิธีเผากลางแจ้ง แตกต่างจากอีกหลายๆ แห่งที่จะเผาในเตาเผา ขั้นตอนการเผาก็ใช้ไม้มาก่อกองไฟ เผากันไปเรื่อยๆ จนกว่าหม้อจะสุกดี รอให้เย็น ก็สามารถนำมาใช้ได้เลย

ผ้าขิดลายวงเดือน บ้านท่าขอนยาง

เรื่องของผ้าสวยๆ ที่มหาสารคามยังมีอีกหนึ่งที่ คือ “บ้านท่าขอนยาง” ต.ท่าขอนยาง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม ที่นี่เป็นศูนย์การเรียนรู้การทอผ้าพื้นเมืองของชาวไทญ้อ มีความโดดเด่นอยู่ที่การทอผ้าขิดลายวงเดือน ลายเก้าเขา ซึ่งนิยมทอเป็นผ้าหน้าแคบเพื่อใช้เป็นผ้าสไบผ้าเบี่ยง นอกจากนี้ก็ยังมีการทอผ้าขาวม้า หรือผ้าหน้ากว้างต่างๆ เพื่อใช้เป็นของฝากของกำนัลให้แก่ผู้มาเยือน

สะพานไม้แกดำ ยามเช้าอากาศสดชื่น

ก่อนจะพลบค่ำที่สะพานไม้แกดำ

อีกหนึ่งจุดท่องเที่ยวที่หลายๆ เริ่มให้ความสนใจนั่นคือ “สะพานไม้แกดำ” บ้านแกดำ อ.แกดำ จ.มหาสารคาม อันเป็นสะพานไม้ระยะทางยาวเกือบ 1 กิโลเมตร ทอดข้ามผ่านหนองแกดำ เพื่อเชื่อมระหว่างวัดดาวดึงษ์แกดำกับบ้านหัวขัว ชาวบ้านแถบนั้นประมาณกันว่า อายุของสะพานน่าจะเกือบ 100 ปี เพราะผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านบอกว่า เกิดมาก็เห็นสะพานไม้แบบนี้แล้ว แล้วก็มีการซ่อมแซมต่อเติมกันมาเรื่อยๆ

หากไปชมสะพานในยามเช้าก็สดชื่นปอดมากๆ เพราะอากาศบริสุทธิ์ที่อยู่รอบๆ ตัวทำให้สูดลมหายใจเข้าไปได้อย่างเต็มที่ เช้าๆ แบบนี้ นอกจากจะชมวิวเพลินๆ แล้ว ก็ยังจะได้เห็นภาพที่ชาวบ้านออกมาเก็บปลาจากเหยื่อที่วางทิ้งไว้ ปลาที่ได้มานั้นก็มีทั้งนำไปขาย และนำไปปรุงอาหารกินกันในครอบครัว โดยเฉพาะเมนูส้มปลา ที่เป็นเมนูเด็ดประจำถิ่น ซึ่งสามารถถนอมอาหารไว้กินได้นานขึ้นด้วย ส่วนในช่วงเย็น หากมานั่งเล่นที่สะพานไม้แกดำ ก็ได้บรรยากาศไปอีกแบบ ลมเย็นๆ ที่พัดมาให้สบายตัว เหมาะกับการนั่งชมพระอาทิตย์ตกดินเป็นที่สุด


หลวงพ่อพระยืนพระพุทธมงคล วัดพุทธมงคล

พระพุทธมิ่งเมือง วัดสุวรรณาวาส

มาเยือนเมืองมหาสารคามทั้งที ก็ต้องแวะมาไหว้พระเพื่อความเป็นสิริมงคลกันเสียหน่อย เราเลยออกเดินทางมากันที่ อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม เพื่อมาสักการะ “พระยืน” พระพุทธรูปประจำเมืองกันทรวิชัยซึ่งมีอยู่ 2 องค์ด้วยกัน คือ “พระพุทธมงคล” วัดพุทธมงคล และ “พระพุทธมิ่งเมือง” วัดสุวรรณาวาส ทั้งสององค์นี้ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่าหลวงพ่อพระยืน โดยประดิษฐานอยู่ต่างวัดกันแต่ก็อยู่ไม่ไกลกันมากนัก

หลวงพ่อพระยืนทั้งสององค์เป็นปูชนียวัตถุเก่าแก่คู่บ้านคู่เมือง โดยเป็นพระพุทธรูปปางสรงน้ำ มีความสูงประมาณ 8 ศอก กว้าง 2 ศอก เนื่องจากเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่จึงมีสภาพชำรุดอย่างมาก ต่อมาจึงได้มีการปฏิสังขรณ์และต่อเติมบางส่วนที่ขาดหายไป จนกระทั่งเป็นองค์พระให้เราได้สักการะกันอยู่ในปัจจุบัน


ภาพเขียนเบญจรงค์อันงดงาม จากบ้านเบญจรงค์แกลเลอรี่

ไหว้พระกันแล้ว ก็แวะมาชมของสวยๆ งามๆ กันต่อที่ “บ้านเบญจรงค์แกลเลอรี่” อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม ที่นี่เกิดจากการสร้างสรรค์ผลงานเบญจรงค์บนแผ่นกระเบื้อง ที่พัฒนามาจากภาพเขียนบนกระเบื้องแผ่นเล็กๆ ไปสู่การเขียนลายบนกระเบื้องเคลือบ ซึ่งเอกลักษณ์ของภาพสวยๆ จากบ้านเบญจรงค์แกลเลอรี่ก็คือ การใช้ลายเส้นแบบไทยๆ มาถ่ายทอดประเพณีไทยและประเพณีพื้นบ้าน รวมถึงเรื่องราวทางพระพุทธศาสนาและความเชื่อต่างๆ ให้ออกมาดูมีชีวิตชีวา พร้อมกับความวิจิตรบรรจงงดงาม

นมัสการพระธาตุนาดูน

ก่อนจะจบการเดินทางในเมืองมหาสารคาม ขอแวะไปที่ “พระธาตุนาดูน” อ.นาดูน จ.มหาสารคาม ซึ่งถือได้ว่าเป็นพุทธมณฑลแห่งอีสาน ที่นี่ถือว่ามีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อย่างมาก เนื่องจากเคยพบหลักฐานทางโบราณคดีที่แสดงถึงความเจริญในอดีตซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของนครจัมปาศรีมาก่อน

พระธาตุนาดูนสร้างขึ้นโดยจำลองมาจากสถูปสำริดที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ตัวฐานประยุกต์ศิลปะทวารวดี สามารถมองเห็นความสวยงามได้แต่ไกล บริเวณรอบๆ องค์พระธาตุถูกพัฒนาเพื่อเป็น ศูนย์กลางส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนาและศิลปวัฒนธรรมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตกแต่งเป็นสวนสีเขียว มีการปลูกต้นไม้ในพุทธประวัติ มีสวนสมุไพร แหล่งน้ำ และศาลาพักผ่อน จึงได้ชื่อว่าเป็นพุทธมณฑลอีสานนั่นเอง

หากใครได้มาเยือนเมืองมหาสารคาม ลองสังเกตดูว่ารอบๆ ตัวนั้นบรรยากาศดูจะเรียบง่าย ไม่วุ่นวาย ผู้คนก็พร้อมจะแสดงน้ำใจและให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวแบบเราเป็นอย่างดี



เผยแพร่ : 10 ก.ย. 2561 16:05 , โดย : ผู้จัดการออนไลน์ . Facebook : Travel @ Manager
ขอบคุณที่มา : https://mgronline.com/travel/detail/9610000090406
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

มะยม

  • กำลังจะพ้นจากน้ำ
  • *
  • ผลบุญ: +3/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 74
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
บันทึกการเข้า