ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: บาลีวันละคำ‬ อิสิปตนมฤคทายวัน  (อ่าน 12712 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ปัญญสโก ภิกขุ

  • ศิษย์ตรง
  • มีเหตุมีผล
  • *****
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 403
  • อริยสโก
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
บาลีวันละคำ‬ อิสิปตนมฤคทายวัน
« เมื่อ: กรกฎาคม 19, 2016, 01:37:47 pm »
0
‪‎บาลีวันละคำ‬
อิสิปตนมฤคทายวัน
อ่านว่า อิ-สิ-ปะ-ตะ-นะ-มะ-รึก-คะ-ทา-ยะ-วัน
ประกอบด้วย อิสิ + ปตน + มฤค + ทาย + วัน
(๑) “อิสิ”
รากศัพท์มาจาก อิสฺ (ธาตุ = แสวงหา; ปรารถนา; ไป) + อิ ปัจจัย
: อิสฺ + อิ = อิสิ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้แสวงหาคุณธรรม” (2) “ผู้ปรารถนาสิวะคือพระนิพพาน” (3) “ผู้ไปสู่สุคติ”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อิสิ” ว่า a holy man, one gifted with special powers of insight & inspiration, an anchoret, a Seer, Sage, Saint (คนศักดิ์สิทธิ์, ผู้มีพรสวรรค์เกี่ยวกับกำลังภายใน และผู้มีตาทิพย์, โยคี, ฤๅษี, มุนี, นักบุญ)
(๒) “ปตน” (ปะ-ตะ-นะ)
รากศัพท์มาจาก ปตฺ (ธาตุ = ตก) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: ปตฺ + ยุ > อน = ปตน แปลตามศัพท์ว่า “การตกไป” “ที่เป็นที่ตกไป” ในที่นี้หมายถึง สถานที่ชุมนุม, สถานที่มารวมกัน
(๓) “มฤค” (มะ-รึก)
บาลีเป็น “มิค” (มิ-คะ) รากศัพท์มาจาก มิ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ค ปัจจัย
: มิ + ค = มิค (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์อันมนุษย์ที่กินเนื้อและสัตว์ที่แข็งแรงกว่าเบียดเบียน”
“มิค” ในบาลี หมายถึง -
(1) สัตว์ป่า, สัตว์ที่อยู่ตามธรรมชาติ (a wild animal, an animal in its natural state)
(2) กวาง, เลียงผา, เนื้อทราย (a deer, antelope, gazelle)
“มิค” ในบาลี เป็น “มฺฤค” ในสันสกฤต ในที่นี้ใช้ตามสันสกฤต
(๔) “ทาย” (ทา-ยะ)
รากศัพท์มาจาก ทา (ธาตุ = ตัด) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลง อา ที่ ทา เป็น อาย (ทา > ทาย)
: ทา + ณ = ทาณ > ทา > ทาย แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ตัดต้นไม้” หมายถึง ป่าไม้; ป่า; ละเมาะ (wood; jungle, forest; a grove)
“อิสิปตนมฤคทายวัน” ในบาลีท่านแบ่งคำเป็น 2 กลุ่ม คือ “อิสิปตน” และ “มิคทาย” ดังคำในธัมมจักกัปปวัตนสูตรว่า “อิสิปตเน มิคทาเย”
“อิสิปตน” (อิ-สิ-ปะ-ตะ-นะ) แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ตกไปแห่งฤๅษี” หมายถึง สถานที่อันพวกฤๅษีมาชุมนุมกัน คือมาอยู่รวมกัน ถือเอาความว่า ที่อยู่ของฤๅษี
“มิคทาย” (มิ-คะ-ทา-ยะ) แปลตามศัพท์ว่า “ป่าเป็นที่อยู่แห่งเนื้อ” (คำนี้อาจแปลเป็นอย่างอื่นได้อีก)
“อิสิปตนมฤคทาย” แปลเอาความว่า ป่าเนื้ออันเป็นอยู่ของฤๅษี
ในภาษาไทยนิยมเติม “วัน” ที่มาจาก “วน” (วะ-นะ) ซึ่งแปลว่า “ป่า” เข้าไปอีกคำหนึ่ง เป็น “อิสิปตนมฤคทายวัน”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
........
“อิสิปตนมฤคทายวัน : ป่าเป็นที่ให้อภัยแก่เนื้อ ชื่ออิสิปตนะ อยู่ใกล้เมืองพาราณสี เป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร โปรดพระปัญจวัคคีย์ บัดนี้เรียก สารนาถ”
........
ดูก่อนภราดา!
อิสิปตนมฤคทายวันไปไม่ยากเลย
เมื่อใด -
: ชาววัดทำวัดให้เป็นอารามอันร่มรื่นประดุจป่า
: ชาวบ้านเจริญเมตตาให้เต็มในหัวใจ
เมื่อนั้น เมืองไทยก็เป็นอิสิปตนมฤคทายวันทันที

<a href="http://www.youtube.com/watch?v=dxHX9kdCSEg" target="_blank">http://www.youtube.com/watch?v=dxHX9kdCSEg</a>


นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 19, 2016, 02:21:08 pm โดย ปัญญสโก ภิกขุ »
บันทึกการเข้า