ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ฉลาดกันเสียที "เรื่องกฐิน"  (อ่าน 817 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28366
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
ฉลาดกันเสียที "เรื่องกฐิน"
« เมื่อ: สิงหาคม 08, 2022, 06:24:21 am »
0



ฉลาดกันเสียที "เรื่องกฐิน" (๑) : อานิสงส์กฐินของภิกษุผู้รับกฐิน

๑. อานิสงส์กฐินของภิกษุผู้รับกฐิน

มีคนเชื่อและพูดกันมาช้านานว่า ทอดกฐินเป็นบุญที่ได้อานิสงส์แรง ครั้นถามต่อไปว่า อานิสงส์แรงคืออะไร ก็ตอบไม่ได้ ไปไม่เป็น อานิสงส์กฐินมี ๒ ส่วน คือส่วนที่เป็นของภิกษุผู้รับกฐิน และส่วนที่เป็นของทายกทายิกาผู้ทอดกฐิน อานิสงส์กฐินส่วนที่เป็นของภิกษุผู้รับกฐิน กล่าวตามสำนวนที่แสดงไว้มีดังนี้

    ๑. เที่ยวไปไม่ต้องบอกลาตามสิกขาบทที่ ๖ แห่งอเจลกวรรคในปาจิตตีย์กัณฑ์
    ๒. เที่ยวจาริกไปไม่ต้องเอาไตรจีวรไปครบสำรับ
    ๓. ฉันคณโภชน์ได้
    ๔. เก็บอดิเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา
    ๕. จีวรที่เกิดขึ้นในที่นั้นเป็นของได้แก่พวกเธอ

ต่อไปนี้เป็นการอธิบายขยายความ (ขออนุญาตปรับสำนวนในตัวบทเพื่อให้อ่านเข้าใจง่ายขึ้น)


@@@@@@@

อานิสงส์ข้อ ๑. ไปไหนมาไหนไม่ต้องบอกลา ตามสิกขาบทที่ ๖ แห่งอเจลกวรรคในปาจิตตีย์กัณฑ์

    สิกขาบทที่ ๖ แห่งอเจลกวรรคบัญญัติไว้ว่า
    ๖. ภิกษุรับนิมนต์ด้วยโภชนะทั้ง ๕ แล้ว จะไปในที่อื่นจากที่นิมนต์นั้น ในเวลาก่อนฉันก็ดี ฉันกลับมาแล้วก็ดี ต้องลาภิกษุที่มีอยู่ในวัดก่อนจึงจะไปได้ ถ้าไม่ลาก่อนเที่ยวไป ต้องปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่สมัย คือจีวรกาล และเวลาทำจีวร.

________________
ที่มา : นวโกวาท หน้า ๑๕

สรุปความสั้นๆ ว่า ภิกษุอยู่ด้วยกัน จะไปไหนมาไหนต้องบอกกล่าวให้กันรู้ ถ้าไม่บอก มีความผิด แต่ถ้าได้รับกฐินแล้ว ได้สิทธิพิเศษ ไปไหนมาไหนไม่ต้องบอกกันได้ ไม่มีความผิด

อานิสงส์ข้อ ๒. ไปไหนมาไหนไม่ต้องเอาไตรจีวรไปครบสำรับ

ตามวินัยสงฆ์ ภิกษุต้องมีไตรจีวรติดตัวอยู่เสมอ กำหนดว่าทุกเช้าตื่นขึ้นมาไตรจีวรอยู่กับตัวครบ ทั้งนี้ตามสิกขาบทที่ ๒ แห่งจีวรวรรคที่บัญญัติไว้ว่า
    ๒. ภิกษุอยู่ปราศจากไตรจีวรแม้คืนหนึ่ง ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่ได้สมมติ.

________________
ที่มา : นวโกวาท หน้า ๕

แต่ถ้าได้รับกฐินแล้ว ได้สิทธิพิเศษ ตื่นเช้าขึ้นมาไม่มีไตรจีวรอยู่กับตัวครบสำรับได้ ไม่มีความผิด

อานิสงส์ข้อ ๓. ฉันคณโภชน์ได้

“คณโภชน์” (อ่านว่า คะ-นะ-โพด) เป็นศัพท์เทคนิคทางวินัยสงฆ์ พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายไว้ดังนี้
    คณโภชน์ : ฉันเป็นหมู่ คือ ภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป รับนิมนต์ออกชื่อโภชนะแล้วฉัน ; ในหนังสือวินัยมุข ทรงมีข้อพิจารณาว่า บางทีจะหมายถึงการนั่งล้อมโภชนะฉัน หรือฉันเข้าวง

    สิกขาบทที่ ๒ แห่งโภชนวรรค บัญญัติไว้ว่า
    ๒. ถ้าทายกเขามานิมนต์ออกชื่อโภชนะทั้ง ๕ อย่าง คือ ข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา เนื้อ อย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าไปรับของนั้นมาหรือฉันของนั้นพร้อมกันตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป ต้องปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่สมัย คือ
        เป็นไข้อย่าง ๑
        หน้าจีวรกาลอย่าง ๑
        เวลาทำจีวรอย่าง ๑
        เดินทางไกลอย่าง ๑
        ไปทางเรืออย่าง ๑
        อยู่มากด้วยกันบิณฑบาตไม่พอฉันอย่าง ๑
        โภชนะเป็นของสมณะอย่าง ๑.

________________
ที่มา : นวโกวาท หน้า ๑๓

    “คณโภชน์” ถือเอาความสั้นๆ ได้ ๒ นัย คือ
     ๑. มีผู้นิมนต์พระไปฉันภัตตาหารโดยระบุชื่ออาหาร เช่น นิมนต์ไปฉันไก่ย่าง นิมนต์ไปฉันหมูสะเต๊ะ ถ้าภิกษุไปฉัน มีความผิด คนที่รู้วินัยพระ เมื่อจะนิมนต์พระไปฉัน จึงพูดเป็นคำกลางๆ คือ นิมนต์ฉันเช้า นิมนต์ฉันเพล หรือนิมนต์ฉันภัตตาหาร ฉันอะไรไม่ต้องระบุ
     ๒. พระล้อมวงฉันตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป มีความผิด ข้อนี้น่าจะอนุวัติตามวัฒนธรรมนักบวชในสังคมชมพูทวีปที่บริโภคอาหารในภาชนะเฉพาะของใครของมัน เช่นที่เป็นธุดงค์ข้อหนึ่งคือฉันในบาตร เมื่อไม่ใช้ภาชนะร่วมกันก็ไม่จำเป็นต้องมานั่งล้อมวงกัน ดังที่เราเห็นพระในหลายๆ สำนักนั่งฉันเป็นแถว สำรับใครสำรับมันหรือบาตรใครบาตรมัน แต่ถ้าได้รับกฐินแล้ว ได้สิทธิพิเศษ
       (๑) มีผู้นิมนต์ไปฉันโดยระบุชื่ออาหาร ไปฉันได้ ไม่เป็นความผิด
       (๒) ฉันล้อมวงตั้งแต่ ๔ รูปขึ้น ไม่เป็นความผิด

อานิสงส์ข้อ ๔. เก็บอดิเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา

เครื่องนุ่งห่มของภิกษุที่เราเรียกกันว่า “ไตรจีวร” ตามวินัยสงฆ์อนุญาตให้มีได้ชุดเดียว ถ้ามีผู้ถวายอีกก็ให้รับไว้ได้ เรียกผ้าที่รับไว้ใหม่นี่ว่า “อดิเรกจีวร” แปลว่า “ผ้าส่วนเกิน” ถ้าจะใช้ผืนใหม่ต้องสละผืนเดิมก่อน ถ้ารับผืนใหม่แต่ยังใช้ผืนเดิมอยู่ ก็ให้เก็บผืนใหม่ไว้ได้ แต่เก็บได้ไม่เกิน ๑๐ วัน

      สิกขาบทที่ ๑ แห่งจีวรวรรคบัญญัติไว้ว่า
      ๑. ภิกษุทรงอติเรกจีวรได้เพียง ๑๐ วันเป็นอย่างยิ่ง ถ้าล่วง ๑๐ วันไป ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์.

________________
ที่มา : นวโกวาท หน้า ๕

แต่ถ้าได้รับกฐินแล้ว ได้สิทธิพิเศษ เก็บอดิเรกจีวรไว้ได้นานเท่าที่ต้องการ

อานิสงส์ข้อ ๕. จีวรที่เกิดขึ้นในที่นั้นเป็นของได้แก่พวกเธอ

ตามหลักวินัยสงฆ์ ถ้ามีผู้ถวายปัจจัยไทยธรรมอันสมควรแก่สมณบริโภค-ยกจีวรขึ้นเป็นตัวอย่าง-แก่ภิกษุสงฆ์ในวัดหรือสำนักใดๆ ภิกษุทุกรูปไม่ว่าจะเป็นพระที่อยู่ประจำในวัดนั้นหรือพระจากต่างวัดที่มาถึงเข้าหรือมาพักชั่วคราว ย่อมมีสิทธิ์ได้รับแจกสิ่งนั้นๆ เสมอหน้ากัน โดยใช้ลำดับอาวุโส

พระอาวุโสสูงไม่ว่าจะเป็นพระวัดนั้นหรือพระต่างวัดย่อมมีสิทธิ์ได้รับก่อน ถ้าของน้อยไม่พอแจกกันทั่วถึง พระที่อยู่ประจำวัดนั้นก็อาจไม่ได้รับ แต่ถ้าได้รับกฐินแล้ว พระที่อยู่ประจำวัดนั้นได้สิทธิพิเศษคือได้รับแจกของนั้นก่อน พระต่างวัดแม้อาวุโสสูงก็ต้องไปต่อท้าย

@@@@@@@

อานิสงส์รวมอีกประการหนึ่ง คือ พระมีเครื่องนุ่งห่มชุดเดียว ปีหนึ่งต้องเปลี่ยนทีหนึ่ง ช่วงเวลาที่กำหนดเปลี่ยนก็คือตั้งแต่กลางเดือน ๑๑ ออกพรรษาไปจนถึงกลางเดือน ๑๒ ซึ่งก็คือช่วงเวลาที่เรารู้กันว่า ทอดกฐินได้เดือนหนึ่งนั่นเอง ภาษาวินัยสงฆ์เรียกช่วงเวลานี้ว่า “จีวรกาล” แปลว่า “ช่วงเวลาหาจีวร” เป็นช่วงเวลาที่พระทุกรูปต้องขวนขวายหาผ้ามาเปลี่ยนจีวรชุดเก่า สมัยที่ผ้าหายาก เช่นในสมัยพุทธกาล จึงนับว่าเป็นภาระที่หนักหนาพอสมควรทีเดียว เพราะต้องทำให้เสร็จภายในเดือนเดียวนั้น

แต่ถ้าได้รับกฐิน มีพุทธานุญาตให้ขยายเขตจีวรกาลต่อจากกลางเดือน ๑๒ (หมดเขตจีวรกาลปกติ) ออกไปได้อีก ๔ เดือน คือไปหมดเขตจีวรกาลเอากลางเดือน ๔ ช่วยให้พระมีเวลาหาผ้ามาเปลี่ยนจีวรได้สบายๆ

และเพราะเหตุผลนี้เอง ที่ทำให้ชาวบ้านที่รู้วินัยสงฆ์พยายามขวนขวายทำบุญทอดกฐิน โดยถือว่าเป็นบุญสำคัญ เพราะเป็นการช่วยให้พระมีเวลาเปลี่ยนเครื่องนุ่งห่มชุดใหม่ได้ด้วยความสบายใจ ที่บอกกันว่า ทอดกฐินได้อานิสงส์แรงก็เพราะเป็นการสงเคราะห์พระ ด้วยเรื่องเปลี่ยนเครื่องนุ่มห่มนี้แหละ

ตอนต่อไป : อานิสงส์กฐินส่วนที่เป็นของทายกทายิกาผู้ทอดกฐิน






ขอขอบคุณ :-
ผู้เขียน : พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย , ๓ สิงหาคม ๒๕๖๕ , ๑๔:๔๓ น.
website : dhamma.serichon.us/2022/08/05/ฉลาดกันเสียทีเรื่องกฐิ/
posted date : 5 สิงหาคม 2022 ,By admin   
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28366
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: ฉลาดกันเสียที "เรื่องกฐิน"
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: สิงหาคม 08, 2022, 06:49:35 am »
0


ฉลาดกันเสียทีเรื่องกฐิน (๒) : อานิสงส์ของทายกทายิกาผู้ทอดกฐิน

๒. อานิสงส์ของทายกทายิกาผู้ทอดกฐิน

อานิสงส์ของทายกทายิกาผู้ทอดกฐิน มีเหตุผลเกี่ยวพันอยู่กับต้นเหตุที่ทำให้เกิดพุทธานุญาตที่กลายมาเป็นประเพณีทอดกฐินอยู่ในทุกวันนี้ สรุปความตามที่บันทึกไว้ในพระไตรปิฎก ก็คือ

คราวหนึ่ง ขณะที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่เชตวันเมืองสาวัตถี ภิกษุชาวเมืองปาฐาจำนวน ๓๐ รูปชวนกันเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ไปได้แค่เมืองสาเกตก็พอดีถึงกำหนดกาลจำพรรษา ต้องพักอยู่ที่เมืองสาเกต ๓ เดือน ออกพรรษาแล้วก็รีบเดินทางต่อไปยังเมืองสาวัตถี แต่เนื่องจากเป็นช่วงเวลาท้ายฤดูฝน ยังมีฝนชุกอยู่ หนทางก็เฉอะแฉะมาก ภิกษุกลุ่มนี้จึงไปถึงเชตวันในสภาพสะบักสะบอม สบงจีวรเลอะเทอะไปตามๆ กัน

    ด้วยเหตุที่เกิดขึ้นนี้ จึงทรงมีพุทธานุญาตว่า
    อนุชานามิ ภิกฺขเว วสฺสํ วุตฺถานํ ภิกฺขูนํ กฐินํ อตฺถริตุํ.
    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายผู้จำพรรษาแล้วได้กรานกฐิน

_________________________________________________
ที่มา : กฐินขันธกะ วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๒ พระไตรปิฎกเล่ม ๕ ข้อ ๙๖

คำในพระพุทธานุญาตว่า
“อนุชานามิ … กฐินํ อตฺถริตุํ = เราอนุญาตให้กรานกฐิน”
ในทางปฏิบัติ ก็คือ ให้ทำจีวรเพื่อเปลี่ยนจีวรชุดเดิมที่ใช้มาตลอดปี
วิธีการ คือ ให้ภิกษุที่จำพรรษาอยู่ด้วยกันช่วยกันหาผ้ามารวมกันเป็นของกลางที่เรียกว่า “ของสงฆ์” แล้วช่วยกันทำให้เป็นไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่งเพียงผืนเดียว คือ จะเป็นสบง จีวร หรือสังฆาฏิอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ แล้วพร้อมใจกันยกให้ภิกษุรูปหนึ่งที่จำพรรษาอยู่ด้วยกัน

เรื่องนี้ ต้องเข้าใจสภาพสังคมในสมัยพุทธกาลที่ผ้าหายากมาก เครื่องนุ่งห่มของพระเป็นผ้าเก่าที่เขาใช้แล้วทิ้งแล้ว เก็บมาเย็บเข้าเป็นผืนใช้นุ่งห่ม ทั้งนี้เพื่อขจัดความมักมากอยากสวยงามหรูหรา เป็นวิธีครองชีพที่ขัดเกลาอย่างยิ่ง เมื่อเป็นผ้าเก่า เอามาทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม ซ้ำมีได้เพียงชุดเดียว อายุการใช้งานก็ย่อมสั้นกว่าผ้าปกติ ปีหนึ่งเปลี่ยนทีหนึ่งจึงนับว่าเป็นภาระที่จำเป็นจริงๆ


@@@@@@@

ถ้าศึกษาเหตุการณ์สมัยโน้นจะพบว่า กุลบุตรที่มีศรัทธาจะอุปสมบทในพระธรรมวินัยนี้ต้องพบกับปัญหาเรื่องการจัดหาหรือจัดเตรียมเครื่องนุ่งห่มอยู่เสมอ บางรายไม่ทันได้บวช เสียชีวิตลงในขณะที่กำลังแสวงหาผ้าอยู่นั่นเอง ที่น่าจะรู้จักกันดีคือ ท่านพาหิยทารุจีริยะ

พาหิยทารุจีริยะ : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เกิดในครอบครัวคนมีตระกูลในแคว้นพาหิยรัฐ ลงเรือเดินทะเลเพื่อจะไปค้าขาย เรือแตกกลางทะเลรอดชีวิตไปได้ ขึ้นมาอาศัยอยู่ที่เมืองท่าสุปปารกะ แต่หมดเนื้อหมดตัว ต้องแสดงตนเป็นผู้หมดกิเลสหลอกลวงประชาชนเลี้ยงชีวิต

ต่อมาพบพระพุทธเจ้า ทูลขอให้ทรงแสดงธรรม พระองค์ทรงแสดงวิธีปฏิบัติต่ออารมณ์ที่รับรู้ทางอายตนะทั้งหก พอจบพระธรรมเทศนาย่นย่อนั้น พาหิยะก็สำเร็จอรหัต แต่ไม่ทันได้อุปสมบท กำลังเที่ยวหาบาตรจีวร เผอิญถูกโคแม่ลูกอ่อนขวิดเอาสิ้นชีวิตเสียก่อน ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางตรัสรู้ฉับพลัน

______________________________________________
ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต

อีกท่านหนึ่ง ชื่อปุกกุสาติ เราอาจจะไม่ค่อยคุ้น แต่มีเรื่องบันทึกไว้ในธาตุวิภังคสูตร ขอสรุปความมาเล่าไว้ดังนี้

ปุกกุสาติเป็น “ราชา” อยู่ในเมืองตักสิลา ได้สดับว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วก็ตัดสินใจสละราชสมบัติถือเพศบรรพชิต “อุทิศพระพุทธเจ้า” (คือไม่รู้จักพระพุทธเจ้า แต่ตั้งใจบวชตามอย่างพระพุทธเจ้า) แล้วจาริกร่อนเร่มาจนถึงเมืองราชคฤห์ พักอยู่ในโรงช่างหม้อ

พระพุทธองค์ทรงเล็งเห็นอุปนิสัยจึงเสด็จไปที่นั่น ปุกกุสาติไม่รู้ว่าเป็นพระพุทธเจ้า จนเมื่อพระพุทธเจ้าแสดงธรรมโปรดจึงรู้ว่าท่านผู้นี้คือพระพุทธเจ้า ทูลขอบวช พระพุทธองค์ตรัสให้ไปหาบาตรและจีวรให้ครบก่อน เรื่องลงเอยเหมือนกัน คือ ปุกกุสาติถูกโคขวิดสิ้นชีวิตขณะกำลังเที่ยวแสวงบาตรจีวร

_________________________________________________________
ที่มา : ธาตุวิภังคสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ พระไตรปิฎกเล่ม ๑๔ ข้อ ๖๗๓-๖๙๗

หมายเหตุ : เรื่องพระเจ้าปุกกุสาตินี่เอง คือ ที่ฝรั่งเอาเค้าเรื่องไปเขียนเป็นนิยายเรื่อง “กามนิต” ฉากในบทที่ ๒ “พบ” บทที่ ๑๘ “ในห้องโถงบ้านช่างหม้อ” และบทที่ ๒๑ “ในท่ามกลางความเป็นไป” จำลองเหตุการณ์จากธาตุวิภังคสูตรตรงๆ

@@@@@@@

คำสอบถามอันตรายิกธรรมในพิธีอุปสมบทถึงกับยกเรื่องผ้าขึ้นมาถามว่า “ปริปุณฺณนฺเต ปตฺตจีวรํ = บาตรและจีวรมีครบแล้วหรือ” แสดงให้เห็นว่าเรื่องผ้าคือเครื่องนุ่งห่มเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะผ้าเป็นสิ่งจำเป็นเช่นนี้ การช่วยกันหาผ้า ช่วยกันทำจีวร แล้วยกให้เพื่อนพระที่จำพรรษาอยู่ด้วยกัน จึงเป็นการแสดงถึงความสามัคคีมีน้ำใจอย่างยิ่งของสงฆ์

เพราะการผลัดเปลี่ยนเครื่องนุ่งห่มประจำปีเป็นเรื่องจำเป็นที่สุดของภิกษุเช่นนี้ ชาวบ้านจึงถือว่า การถวายผ้าในฤดูกาลเช่นนี้ได้อานิสงส์แรง นอกจากเป็นการสงเคราะห์พระให้สามารถผลัดเปลี่ยนผ้าได้สะดวกขึ้นแล้ว ยังเท่ากับเป็นช่วยส่งเสริมความสมัครสามัคคีในหมู่สงฆ์อย่างสำคัญอีกทางหนึ่งด้วย

น้ำหนักความสำคัญของบุญกฐินที่พูดกันว่า “ได้อานิสงส์แรง” ก็อยู่ที่ตรงจุดนี้ คือช่วยให้พระท่านเปลี่ยนไตรจีวรชุดใหม่ได้ด้วยความสะดวก

เรื่องภิกษุชาวเมืองปาฐาผู้เป็นต้นเหตุเรื่องกฐินนี้เราเอ่ยอ้างถึงกันทุกปีเมื่อถึงฤดูกฐิน แต่เรายกมาเล่ากันในฐานะเป็นตำนาน ส่วนมากมองข้ามความสำคัญของเรื่อง นั่นคือ การผลัดเปลี่ยนไตรจีวรเป็นหัวใจของกฐิน กฐินทุกวันนี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการผลัดเปลี่ยนไตรจีวรแต่ประการใดทั้งสิ้น แต่ไปให้ความสำคัญกับจำนวนเงินที่ถวายในการทอดกฐิน

“องค์กฐิน” คือผ้ากฐิน แต่เวลานี้มีคนจำนวนมากที่เข้าใจไปว่า พุ่มเงินที่แห่แหนกันไปนั่นคือ “องค์กฐิน” เหตุที่เราหลงทางกันไปไกลถึงเพียงนี้ก็เพราะไม่ได้ศึกษาความเป็นมาของกฐินประการหนึ่ง แม้ศึกษา ก็มองข้ามจุดสำคัญของเรื่องไปอีกประการหนึ่ง จึงควรบอกย้ำกันว่า กฐินเป็นฤดูกาลเปลี่ยนผ้า ไม่ใช่หน้าหาเงิน

เวลานี้ถึงกับมีผู้เสนอให้เทศกาลกฐินเป็น “เทศกาลระดมทุนพัฒนาวัด” แทนที่จะบอกกันว่า การแปลงพุทธานุญาตเรื่องกฐินให้กลายเป็นฤดูกาลหาเงินนั้นไม่ถูกต้อง เราก็กลับพากันสนับสนุนให้กลายเป็นเรื่องถูกต้องดีงามไปเสียอีก

กฐินมีช่วงเวลาเพียงเดือนเดียว ถ้าจะคิดระดมทุนพัฒนาวัดทำไมไม่คิดทำในช่วงเวลาอื่นซึ่งมีเวลาอีกเกือบทั้งปี แล้วจะต้องเอาพุทธานุญาตเรื่องกฐินมาเปลี่ยนแปลงให้ผิดเพี้ยนไปทำไม คิดหาทางระดมทุนด้วยวิธีอื่นๆ จะไม่เป็นการฉลาดกว่าดอกหรือ.?


@@@@@@@

อานิสงส์สำคัญอีกประการหนึ่งของทายกทายิกาผู้ทอดกฐิน ซึ่งผมเชื่อว่า คนส่วนมากแทบจะไม่ได้เฉลียวใจเลยก็คือ ทอดกฐินคือ การถวายสังฆทาน เวลานี้เราถวายสังฆทานกันด้วยวิธีที่คลาดเคลื่อนจนกู่ไม่กลับแล้ว นั่นคือ เอาถังหรือกล่องหรือหีบห่อที่เรียกกันว่า “ชุดสังฆทาน” ไปถวายพระ นั่นคือถวายสังฆทาน ใครจะถวายสังฆทาน ต้องมีถังหรือกล่องหรือหีบห่อที่เรียกกันว่า “ชุดสังฆทาน” ไปถวาย จึงจะเป็นสังฆทาน ถ้าไม่มี ไม่ใช่สังฆทาน

นอกจากหลงทางว่าทอดกฐินคือ การระดมเงินแล้ว สังฆทานเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราหลงทางกันมากที่สุด ทั้งสองเรื่องนี้ไม่มีใครคิดจะกู่ให้กลับมาที่เดิม มีแต่สนับสนุนให้หลงเตลิดไกลออกไปทุกที ทอดกฐิน ควรถือเป็นโอกาสถอยกลับมาเรียนรู้เรื่อง “สังฆทาน” ที่ถูกต้องกันบ้าง

      ทำความเข้าใจง่ายๆ  การให้อะไรกันมี ๒ ลักษณะ คือ ให้เป็นของส่วนตัว กับ ให้เป็นของส่วนรวม
      - ให้เป็นของส่วนตัว คือ ผู้รับได้รับแล้วเอาไปใช้เป็นของส่วนตัว ภาษาวิชาการเรียกว่า “ปาฏิบุคลิกทาน” บางทีเรียกสั้นๆ ว่า “บุคลิกทาน” (บุก-คะ-ลิก-กะ-ทาน)
      - ให้เป็นของส่วนรวม คือผู้รับได้รับแล้วเอาของนั้นไปใช้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่ใช่คนใดคนหนึ่งได้ประโยชน์คนเดียว ภาษาวิชาการเรียกว่า “สังฆทาน” (สัง-คะ-ทาน)

      จะเป็นทานประเภทไหน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งของที่ให้ แต่ขึ้นอยู่กับเจตนาของผู้ให้ ว่ามีเจตนาจะให้แบบ “บุคลิกทาน” หรือจะให้แบบ “สังฆทาน”
      เพราะฉะนั้น จึงไม่มีสิ่งของชนิดไหนๆ ที่มีชื่อเรียกว่า “สังฆทาน” หรือ “ชุดสังฆทาน” อย่างที่เราถูกคนค้าหลอกให้เรียกกันผิดๆ เพียงเพื่อจะได้ขายสินค้าได้มากๆ
      และเพราะฉะนั้น จึงไม่มีสิ่งของชนิดไหนๆ ที่เรียกชื่อเป็นภาษาบาลีว่า “สังฆะทานานิ” อย่างที่ผู้นำกล่าวถวายพากันกล่าวผิดๆ กันทั่วโลก

@@@@@@@

คำว่า “ชุดสังฆทาน” ก็ดี คำว่า “อิมานิ มะยัง ภันเต สังฆะทานานิ …” ก็ดี จึงระบาดอยู่ได้ โดยอาศัยความไม่รู้ ความไม่ใฝ่รู้ และความไม่คิดจะแก้ไขให้ถูกต้อง ถือโอกาสใช้เทศกาลกฐินมาเรียนรู้กันใหม่ว่า กฐินเป็นสังฆทาน เพราะเป็นการถวายผ้าแก่สงฆ์ คือถวายเป็นส่วนรวมหรือเป็นของกลางของสงฆ์ ไม่จำเพาะเจาะจงแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง

     คำอปโลกน์กฐินที่พระท่านกล่าวในพิธีถวายกฐิน จะมีข้อความตอนหนึ่งว่า
     "… ผ้ากฐินทานกับทั้งผ้าอานิสงสบริวารทั้งปวงนี้ … เป็นของบริสุทธิ์ดุจเลือนลอยมาโดยนภากาศแล้วและตกลงในท่ามกลางระหว่างสงฆ์ จะได้จำเพาะเจาะจงแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งก็หามิได้ …"

     เป็นการยืนยันว่า ทอดกฐินเป็นสังฆทาน เวลาทอดกฐินจึงควรเข้าใจและตั้งจิตเจตนาว่า เรากำลังถวายให้เป็นสังฆทาน เปิดหัวใจให้กว้าง จะศรัทธาภิกษุรูปไหน หรือจะไม่ชอบภิกษุรูปไหน ไม่เอามาเป็นประมาณ ตั้งใจถวายแก่สงฆ์สถานเดียว
     นั่นแหละ ทายกทายิกาผู้ทอดกฐินก็จะได้อานิสงส์อันเกิดจากการถวายสังฆทานเป็นส่วนพิเศษเพิ่มขึ้นอีกประการหนึ่ง

ตอนต่อไป : สังฆกรรมกฐินใช้สงฆ์ปัญจวรรค





ขอขอบคุณ :-
ผู้เขียน : พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย , ๔ สิงหาคม ๒๕๖๕ ,๑๔:๑๒ น.
website : dhamma.serichon.us/2022/08/05/ฉลาดกันเสียทีเรื่องกฐิ-2/
Post date : 5 สิงหาคม 2022 , By admin.   
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 11, 2022, 08:52:23 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28366
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: ฉลาดกันเสียที "เรื่องกฐิน"
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: สิงหาคม 08, 2022, 07:26:20 am »
0



ฉลาดกันเสียทีเรื่องกฐิน (๓) : สังฆกรรมกฐินใช้สงฆ์ปัญจวรรค

๓. สังฆกรรมกฐินใช้สงฆ์ปัญจวรรค

ตอนนี้ ขอร้องญาติมิตรว่าอย่าเพิ่งรู้สึกเบื่อหน่ายที่จะอ่าน ทั้งนี้เนื่องจากมีถ้อยคำที่ไม่คุ้น ไม่รู้ ไม่เข้าใจ “สังฆกรรม” เอย

     “สงฆ์ปัญจวรรค” เอย
      ทำไมฉันจะต้องมารับรู้เรื่องพวกนี้.?
      ก็เพราะคิดอย่างนี้แหละครับ ชาวบ้านส่วนมากจึงไม่รู้เรื่องระเบียบวินัยของชาววัด
      พระทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ ไม่รู้
      เห็นพระทำอะไร ผิดหรือถูก บอกไม่ได้
      พระทำผิดวินัย แต่ชาวบ้านสนับสนุน ก็เกิดจากเหตุแบบนี้ คือสนับสนุนเพราะไม่รู้ว่าทำแบบนั้นผิด แต่คิดว่าถูกว่าดี
      ลองศึกษาหลักกว้างๆ ก่อน “สังฆกรรม” คืออะไร

สังฆกรรม : งานของสงฆ์, กรรมที่สงฆ์พึงทำ, กิจที่พึงทำโดยที่ประชุมสงฆ์ มี ๔ คือ
     ๑. อปโลกนกรรม กรรมที่ทำเพียงด้วยบอกกันในที่ประชุมสงฆ์ ไม่ต้องตั้งญัตติและไม่ต้องสวดอนุสาวนา เช่น แจ้งการลงพรหมทัณฑ์แก่ภิกษุ
     ๒. ญัตติกรรม กรรมที่ทำเพียงตั้งญัตติไม่ต้องสวดอนุสาวนา เช่น อุโบสถและปวารณา
     ๓. ญัตติทุติยกรรม กรรมที่ทำด้วยตั้งญัตติแล้วสวดอนุสาวนาหนหนึ่ง เช่น สมมติสีมา ให้ผ้ากฐิน
     ๔. ญัตติจตุตถกรรม กรรมที่ทำด้วยการตั้งญัตติแล้วสวดอนุสาวนา ๓ หน เช่น อุปสมบท ให้ปริวาส ให้มานัต

______________________________________________
ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต

คำว่า “ญัตติ” หมายถึง แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า มีเรื่องอะไรที่จะขอให้ที่ประชุมพิจารณา ตรงกับที่พูดกันในที่ประชุมสภาว่า “เสนอญัตติ”

คำว่า “อนุสาวนา” หมายถึง ประกาศถามความเห็นของที่ประชุมว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับเรื่องที่เสนอ

คำว่า “ไม่ต้องตั้งญัตติ” หมายความว่า ไม่ต้องเสนอญัตติว่าจะให้พิจารณาเรื่องอะไร แต่แจ้งให้ที่ประชุมทราบเฉยๆ ว่า เรื่องนี้จะปฏิบัติอย่างนี้ เป็นเรื่องประเภทที่เรียกว่า “เรื่องแจ้งให้ทราบ” ที่ประชุมไม่ต้องออกความเห็น ทำเพียง “รับทราบ”

สังฆกรรมที่ “ไม่ต้องตั้งญัตติ” เรียกว่า “อปโลกนกรรม” ที่เราเห็นกันบ่อยๆ (แต่ไม่รู้ไม่เข้าใจ เพราะไปคิดเสียว่า-ทำไมฉันจะต้องมารับรู้เรื่องพวกนี้) ก็คืออปโลกน์สังฆทานเมื่อถวายภัตตาหารให้เป็นของสงฆ์-เช่นที่เห็นกันในเวลาทำบุญวันพระ


@@@@@@@

เวลาถวายสิ่งของให้เป็นของสงฆ์ (ที่นิยมเรียกกันลัดๆ ว่า “ถวายสังฆทาน” ซึ่งเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้เข้าใจผิดกันไปทั้งโลกว่า “สังฆทาน” เป็นสิ่งของอะไรชนิดหนึ่ง) เช่นถ วายภัตตาหารเวลาทำบุญวันพระตามวัดต่างๆ เมื่อมรรคนายกนำกล่าวถวายจบแล้ว ถ้าในที่นั้นมีพระลงศาลาครบหรือเกิน ๔ รูป พระรูปหนึ่งโดยมากจะเป็นรูปที่ ๒ จะกล่าวคำอปโลกน์

นั่นแหละคือ “อปโลกนกรรม” ใจความเป็นการแจ้งให้ทราบว่า จะทำอย่างไรกับภัตตาหาร กล่าวคือ ภัตตาหารส่วนหนึ่งแจกให้ประธานสงฆ์ ส่วนที่เหลือแจกกันในบรรดาพระที่ลงศาลา

ที่ต้องทำ “อปโลกนกรรม” หรือต้องอปโลกน์ก่อน ก็เพราะภัตตาหารนั้น ญาติโยมตั้งเจตนาถวายเป็นของสงฆ์ (ที่นิยมเรียกกันลัดๆ ว่า “ถวายสังฆทาน”) ไม่ใช่ถวายเป็นของส่วนตัวแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ภิกษุรูปไหนจะฉันก็ยังฉันไม่ได้เพราะยังเป็นของสงฆ์อยู่ จึงต้องแบ่งแจกกันให้ภัตตาหารนั้นอยู่ในฐานะเป็นของส่วนตัวเสียก่อน จึงจะฉันได้ คำอปโลกน์มีสาระสำคัญเท่านี้ ...เท่านั้น

มีคนเป็นอันมากเข้าใจผิดคิดไปว่า อปโลกน์คือ การอนุญาตให้ญาติโยมชาวบ้านรับประทานอาหารหลังจากพระฉันแล้วได้ คนที่เข้าใจเช่นนี้ ไปทำบุญวัดไหนถ้าพระไม่อปโลกน์ก็จะไม่กินข้าววัดนั้น อ้างว่ากินของสงฆ์เป็นบาป เพราะพระยังไม่ได้อปโลกน์คือยังไม่ได้อนุญาต

เพื่อจะ “เอาใจ” คนที่เข้าใจผิดแบบนี้ บางวัด-หลายวัด เวลาอปโลกน์จึงเพิ่มถ้อยคำเข้าไปข้างท้ายมีใจความว่า
     "… อาหารเหล่านี้เมื่อพระฉันแล้ว ก็ขอให้ญาติโยมอุบาสกอุบาสิการับประทานกันต่อไปเทอญ …"
เท่ากับช่วยตอกย้ำความเข้าใจผิดให้เข้าใจผิดลึกลงไปอีก นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่เกิดจากการไม่ศึกษาเรียนรู้ให้เข้าใจ

@@@@@@@

โปรดทราบว่า ภัตตาหารที่ถวายเป็นของสงฆ์ (ที่นิยมเรียกกันลัดๆ ว่า “ถวายสังฆทาน”) นั้น
    ๑. สงฆ์ประชุมกันแบ่งแจกให้ภิกษุทั้งหลาย จนกลายสภาพจากของสงฆ์เป็นของส่วนตัวหมดแล้ว
    ๒. ถ้ายังติดใจอยู่อีก ก็พึงทราบว่า อาหารที่ถวายเป็นของสงฆ์นั้น
          (๑) เมื่อพระฉันแล้วจะกลายสภาพเป็น “เดน”
          (๒) พระจะฉันหรือไม่ได้ฉันก็ตาม เมื่อพ้นเที่ยงวันไปแล้ว อาหารนั้นหมดสภาพที่จะเป็นของสงฆ์ ตกอยู่ในฐานะเป็น “เดน” เช่นเดียวกัน เพราะอาหารสำหรับพระมีอายุเพียงแค่เช้าชั่วเที่ยง อาหารที่เป็นเดนนั้นอยู่ในฐานะของไม่มีเจ้าของ สรรพชีพที่ดำรงชีพอยู่ได้ด้วยอาหาร สามารถกินได้โดยไม่เป็นบาป

ทีนี้ก็มาถึงประเด็น สังฆกรรมกฐินใช้สงฆ์ปัญจวรรค หมายถึงอย่างไร.?
คำว่า “สงฆ์” ในภาษาสังฆกรรมหมายถึง ภิกษุตั้งแต่ ๔ (สี่) รูปขึ้นไป เพราะฉะนั้น กิจใดๆ ก็ตามที่ใช้คำรวมเรียกว่า “สังฆกรรม” ย่อมหมายความว่า ต้องมีภิกษุปรากฏตัวรวมกันอยู่ในที่นั้นอย่างน้อยที่สุด ๔ รูป

ใช้ภาษาการประชุมว่า ภิกษุอย่างน้อย ๔ รูปจึงจะครบองค์ประชุม แปลว่า น้อยกว่า ๔ รูป ทำ “สังฆกรรม” ไม่ได้ ดังเช่น “อปโลกนกรรม” หรือการอปโลกน์ที่พูดไว้ข้างต้น ต้องมีภิกษุอย่างน้อย ๔ รูปจึงจะอปโลกน์ได้


@@@@@@@

โปรดสังเกต การถวายสิ่งของให้เป็นของสงฆ์ (ที่นิยมเรียกกันลัดๆ ว่า “ถวายสังฆทาน”) เท่าที่พบเห็นทั่วไปจะมีพระรับสังฆทานเพียงรูปเดียว กรณีอย่างนี้อปโลกน์ไม่ได้เพราะไม่ครบองค์ประชุม

    นักนิยมทำบุญถวายสังฆทานเคยสังเกตหรือเคยสงสัยกันบ้างไหมครับว่า สิ่งของที่ท่าน “ถวายสังฆทาน” ไปนั้น ออกจากตรงนั้นไปอยู่ที่ไหน.?
    สิ่งของที่ถวายสังฆทานกันทุกวันนี้ ส่วนมากหรือทั้งหมดเป็นของฉันของใช้ส่วนตัวสำหรับพระ นั่นหมายความว่า เมื่อรับถวายไปแล้ว ตามพระวินัยต้องแบ่งแจกกัน คือสงฆ์ต้องประชุมกันทำ “อปโลกนกรรม”

    พระผู้รับมีรูปเดียว ไม่ครบองค์สงฆ์คือไม่ครบองค์ประชุม เมื่อรับแล้วจะต้องนำสิ่งของนั้นไปเข้าที่ประชุมสงฆ์ นั่นคือต้องไปหาพระมาอีกอย่างน้อย ๓ รูป (ตัวเอง ๑ เป็น ๔ ครบองค์สงฆ์) แล้วอปโลกน์แบ่งแจกกัน ภิกษุแต่ละรูปจึงจะฉันจะใช้ของนั้นได้

    นักนิยมทำบุญถวายสังฆทานทั้งหลายเคยสงสัยบ้างไหมว่า วัดต่างๆ ที่จัด “มุมถวายสังฆทาน” ไว้ตรงนั้นตรงโน้นเพื่อบริการศรัทธาของญาติโยมนั้น ได้นำเอาของที่ท่านถวายสังฆทานไปเข้าที่ประชุมสงฆ์เพื่อทำ “อปโลกนกรรม” เช่นว่านี้กันบ้างหรือเปล่า.? หรือจะยังคงยืนยันว่า-ทำไมฉันจะต้องมารับรู้เรื่องพวกนี้.?

@@@@@@@

ทีนี้ก็เข้าตรงประเด็น-สังฆกรรมกฐินใช้สงฆ์ปัญจวรรค

คำว่า “สงฆ์ปัญจวรรค” หมายความว่า “ภิกษุห้ารูปเป็นองค์ประชุม” (ปัญจ = ห้า วรรค = กลุ่ม, พวก > องค์ประชุม) นั่นก็คือ สงฆ์ที่จะรับกฐินได้ตามพระวินัย ต้องมีภิกษุอยู่รวมกันอย่างน้อย ๕ รูป ไม่ใช่ ๔ รูปก็ครบองค์ประชุมเหมือนสังฆกรรมบางประเภท ตรงนี้เองคือคำตอบว่า ทำไมวัดต่างๆ เมื่อจวนจะเข้าพรรษาจึงต้องพยายามให้มีพระ-หรือหาพระมา-จำพรรษาไม่น้อยกว่า ๕ รูป

    เรื่องนี้คนสมัยใหม่อาจไม่รู้ ไม่เข้าใจ และไม่สนใจที่จะรู้ (ทำไมฉันจะต้องมารับรู้เรื่องพวกนี้?) แต่เรื่องนี้คนไทยแต่ก่อนเก่าเขารู้และเข้าใจกันเป็นอันดี
    ใครยังพอจะจำกันได้บ้าง หลายปีมาแล้ว เมื่อคราวที่ทางบ้านเมืองหรือทางคณะสงฆ์คิดอ่านหาพระไปจำพรรษาที่วัดใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็มีตัวเลขกำหนดจำนวนพระว่า-อย่างน้อยวัดละ ๕ รูป นั่นแปลว่าความรู้ความเข้าใจในเรื่องสังฆกรรมกฐินยังพอมีหลงเหลืออยู่ในความคิดคำนึงของคนไทย-เมื่อคราวนั้น

แต่ ณ คราวครั้งนี้ ผมไม่แน่ใจว่า ความรู้ความเข้าใจในเรื่องสังฆกรรมกฐินจะยังพอมีหลงเหลืออยู่ในความคิดคำนึงของคนไทยอยู่หรือเปล่า แต่ก็มีข้อสังเกตว่า เวลานี้ที่กระแส-กฐินพระรูปเดียว ถูกชูขึ้นมา มีคนพูดว่า
    “วัดไหนพระจำพรรษาไม่ถึง ๕ รูป ไปนิมนต์วัดอื่นมาให้ครบ ๕ รูปก็รับกฐินได้”
      แสดงว่า ผู้พูดมีความรู้หรือยอมรับรู้ว่า จะทอดกฐิน-รับกฐินได้ต้องมีพระอย่างน้อย ๕ รูป
      นี่คือความหมายในคำที่ผมพูดเป็นคำศัพท์ว่า-สังฆกรรมกฐินใช้สงฆ์ปัญจวรรค


@@@@@@@

ถึงตอนนี้เราก็ได้ความรู้ว่า สังฆกรรมแต่ละประเภทใช้องค์ประชุมสงฆ์ไม่เท่ากัน ที่ควรรู้พอเป็นตัวอย่างก็เช่น
    - อปโลกน์ ใช้สงฆ์จตุรวรรค = ต้องมีพระอย่างน้อย ๔ รูป
    - สวดปาติโมกข์ ใช้สงฆ์จตุรวรรค = ต้องมีพระอย่างน้อย ๔ รูป
    - ปวารณา ใช้สงฆ์ปัญจวรรค = ต้องมีพระอย่างน้อย ๕ รูป
    - อุปสมบทกรรม (บวชพระ) ใช้สงฆ์ทสวรรค = ต้องมีพระอย่างน้อย ๑๐ รูป
    - อัพภาน (กระบวนการทำให้พระที่ต้องอาบัติสังฆาทิเสสพ้นจากอาบัติ) ใช้สงฆ์วีสติวรรค – ต้องมีพระอย่างน้อย ๒๐ รูป และสังฆกรรมกฐิน ใช้สงฆ์ปัญจวรรค = ต้องมีพระอย่างน้อย ๕ รูป

ตรงนี้มีแง่มุมทางพระวินัยซ่อนอยู่นิดหนึ่ง ถ้าไม่สังเกตให้ดีก็จะเถียงกันตาย นั่นคือ แท้ที่จริงแล้วสังฆกรรมกฐินในส่วนที่เป็นองค์ประชุมแท้ๆ ใช้สงฆ์จตุรวรรค คือมีพระ ๔ รูป ครบองค์สงฆ์อย่างต่ำสุดก็นับว่าครบองค์ประชุมแล้ว แต่เรื่องไม่จบแค่นั้น ทั้งนี้เพราะจะต้องมีพระอีก ๑ รูปซึ่งเป็นผู้ที่สงฆ์จะมอบผ้ากฐินให้ปรากฏตัวอยู่ในที่ประชุมนั้นด้วย พระรูปนี้ไม่นับเข้าในองค์ประชุม

@@@@@@@

เพราะฉะนั้น เมื่อนับองค์ประชุมแท้ๆ ตามจำนวนต่ำสุดก็คือ สังฆกรรมกฐินใช้พระ ๔ รูป (สงฆ์จตุรวรรค) + พระรับผ้ากฐิน ๑ รูป = ๕ รูป > สงฆ์ปัญจวรรค

ถ้าใครไปตรวจดูในคัมภีร์ว่าด้วยสงฆ์จำนวนเท่าไร (สงฆ์กี่วรรค) ทำสังฆกรรมอะไรได้บ้าง ในรายการ “สงฆ์ปัญจวรรค” (พระ ๕ รูป) จะไม่มีสังฆกรรมกฐินปรากฏอยู่ในรายการ

ทั้งนี้เพราะสังฆกรรมกฐินใช้สงฆ์จตุรวรรค คือพระ ๔ รูปครบองค์ประชุม ไม่ใช่พระ ๕ รูปจึงจะครบองค์ประชุม
แต่เพราะจะต้องมีพระอีก ๑ รูปที่สงฆ์จะมอบผ้ากฐินให้ปรากฏตัวอยู่ในที่ประชุมนั้นด้วย เมื่อนับรวมกันจึงเป็นพระ ๕ รูป ท่านจึงใช้คำว่า “สงฆ์ปัญจวรรค” (พระ ๕ รูป) โดยอนุโลม

พูดเล่นสำนวนว่า สังฆกรรมกฐินใช้สงฆ์จตุรวรรค แต่ต้องมีพระห้ารูป นี่แหละที่ผมบอกว่า-ถ้าไม่สังเกตให้ดีก็จะเถียงกันตาย






ขอขอบคุณ :-
ผู้เขียน : พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย ,๖ สิงหาคม ๒๕๖๕, ๒๐:๓๓ น.
website : dhamma.serichon.us/2022/08/07/ฉลาดกันเสียทีเรื่องกฐิ-3/
Posted date : 7 สิงหาคม 2022 , By admin.   
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ