ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: “ฟ้อนนกกิงกะหล่า”  (อ่าน 340 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28439
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
“ฟ้อนนกกิงกะหล่า”
« เมื่อ: สิงหาคม 11, 2022, 06:26:51 am »
0


ฟ้อนนกกิงกะหล่า ชมรมฮักตั๋วเมือง สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


“ฟ้อนนกกิงกะหล่า” / ล้านนาคำเมือง



ฟ้อฯรน฿กฯกิงฯกะหลฯ่า อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “ฟ้อนนกกิงกะหล่า”

คำว่า “กิงกะหล่า” เป็นคำในภาษาไทยใหญ่ ลายเสียงมาจากภาษาบาลีคือคำว่า “กินนร” หรือ “กินรา” มีความหมายว่า เป็นอมนุษย์ในนิยาย มีลักษณะครึ่งคนครึ่งนก

การฟ้อนนกกิงกะหล่า สะท้อนเอกลักษณ์ ความเชื่อตามวัฒนธรรมประเพณีของชาวไทยใหญ่ ที่ศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า โดยเฉพาะวันออกพรรษาหรือ “ออกหว่า” เชื่อกันว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลายจึงมีความยินดียิ่ง ออกมาร่ายรำอย่างสวยงาม เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา

ปัจจุบัน หลายจังหวัดในภาคเหนือมีคนไทยใหญ่พักอาศัยอยู่จำนวนมาก และนำวัฒนธรรมและการแสดงของตนมาด้วย จึงพบเห็นการแสดงฟ้อนนกกิงกะหล่าในงานมงคลต่างๆ อย่างกว้างขวาง

สําหรับการจัดทำ “ตัวนก” นั้น มีส่วนประกอบ 3 ส่วน คือ ปีก หาง และลำตัว เฉพาะปีกและหางทำด้วยไม้ไผ่หรือหวาย แต่ละส่วนจะทำเป็นโครงก่อนแล้วนำผ้าแพรสีต่างๆ ติดหุ้มโครง และใช้กระดาษสีตัดเป็นลวดลายตกแต่งให้สวยงาม

จากนั้นนำมาประกอบกันโดยใช้ยางรัด เชือกหรือหวายรัดให้แน่น พร้อมทำเชือกโยงบังคับปีกและหางสำหรับดึงให้กระพือปีก และแผ่หางได้เหมือนนก

ส่วนลำตัวผู้ฟ้อนจะใส่เสื้อผ้าสีเดียวกับปีกและหาง ส่วนของศีรษะ อาจโพกผ้าหรือสวมหมวกยอดแหลมหรือสวมหน้ากาก แล้วแต่ความนิยมของแต่ละท้องถิ่น



เมื่อแสดง ท่าร่ายรำของนกกิงกะหล่านั้น จะเป็นการเลียนแบบอากัปกิริยาของนก เช่น การขยับปีก ขยับหาง ท่าเตรียมบิน อวดปีก เล่นน้ำ กระโดดโลดเต้น ซึ่งเป็นไปตามจังหวะของกลอง มีการขยับส่วนมือ ส่วนเท้าอย่างคล่องแคล่ว รวดเร็ว คล้ายกิริยาของนกในธรรมชาติ บางครั้งจะแสดงคู่ชายหญิงโดยสมมุติเป็นตัวผู้และตัวเมียด้วย

การแสดงฟ้อนกิงกะหล่านิยมแสดงร่วมกับสัตว์ที่สมมุติกันว่าเป็นสัตว์ในป่าหิมพานต์อีกชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า “โต” เป็นสัตว์สี่เท้า ส่วนหัวมีลักษณะคล้ายเลียงผา มีขนยาวปุกปุย ปากออกแบบให้ขยับและคาบสิ่งของได้ ผู้ชมที่ชื่นชอบการแสดงจึงนิยมนำธนบัตรมาส่งให้โตคาบไว้ที่ปาก เพื่อเป็นสินน้ำใจ

ในการแสดงโตนั้น ใช้ผู้ชาย 2 คนสวมอยู่ด้านใน คนหนึ่งเชิดทางหัว อีกคนเชิดทางหาง คล้ายการเชิดสิงโตของจีน สำหรับเครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบจะนิยมวงกลองก้นยาว (ปูเจ่) ตีประกอบจังหวะและใช้ท่วงทำนองหน้ากลองเป็นสิ่งที่กำหนดท่ารำ

นอกจากใช้วงกลองก้นยาวแล้ว ยังพบว่าบางครั้งมีการใช้วงกลองมองเชิง รวมถึงการใช้ฆ้องราว อันเป็นอัตลักษณ์ของชาวไทยใหญ่ ที่เรียงตัวกันจากขนาดใหญ่ไปหาเล็ก นักดนตรียกไม้ตีเพียงครั้งเดียว จะได้เสียงฆ้องครบทุกขนาด และบางทีก็มีฉาบร่วมด้วย

การแสดงฟ้อนนกกิงกะหล่ามีความสำคัญทางวัฒนธรรม ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นหลัง โดยผ่านการแสดงท่วงท่า การแต่งกาย เส้นสายของหัตถกรรม บ่งบอกถึงวิถีชีวิต ความเชื่อ วัฒนธรรม อันเป็นอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์อย่างชัดเจน •





ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 5 - 11 สิงหาคม 2565
คอลัมน์ : ล้านนาคำเมือง
เผยแพร่ : วันพุธที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2565
website : https://www.matichonweekly.com/column/article_585229
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ