ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ‘ชั่วเจ็ดที กว่าจะดีสักหน’ ทำไมคนเราจำเรื่องแย่ๆ ได้ดีกว่าเรื่องอื่น.?  (อ่าน 242 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28431
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



‘ชั่วเจ็ดที กว่าจะดีสักหน’ ทำไมคนเราจำเรื่องแย่ๆ ได้ดีกว่าเรื่องอื่น.?

เคยสงสัยไหมครับว่า ทำไมคนอื่นจำคำชมหรือเรื่องดีๆ ที่เราทำให้ไม่ค่อยได้ พร้อมๆ กันนั้น เราเองก็กลับจำคำดูถูก ปรามาส หรือคำด่าของใครต่อใครต่อใครได้แม่นสุดๆ ? ทำไมภาษิตโบราณว่า ‘ชั่วเจ็ดที ดีเจ็ดหน’ แต่เรากลับรู้สึกว่าเจอแต่เรื่องเฮงซวยเสียเป็นหลัก จนน่าจะเปลี่ยนภาษิตเป็น ‘ชั่วเจ็ดที กว่าจะดีสักหน’ ?   

เรื่องแบบนี้มีคำอธิบายทางจิตวิทยาอยู่นะครับ มีชื่อเรียกปรากฏการณ์แบบนี้อย่างจำเพาะเจาะจงว่า ‘อคติเชิงลบ (negative bias หรือ negativity bias)’

อคติแบบลบ มีนิยามว่าเป็นแนวโน้มตามธรรมชาติที่เราจะจดจำหรือนึกถึงตัวกระตุ้นแย่ๆ เช่น การโดนดุด่าว่ากล่าว การทะเลาะเบาะแว้ง หรืออุบัติเหตุ ฯลฯ ได้ง่ายกว่าหรือแม่นยำกว่าตัวกระตุ้นดีๆ เช่น การได้รับคำชม การได้เลื่อนตำแหน่งหรือได้โบนัส หรือแม้แต่การถูกหวย ฯลฯ

พูดง่ายคือ เรื่องลบมัน ‘ทรงพลัง’ สำหรับการรับรู้ของเรามากกว่า

แต่ไม่เพียงแค่นั้น ธรรมชาติแบบนี้ยังทำให้เกิดอะไรอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องการลบล้างภาพลักษณ์แย่ๆ เมื่อแรกพบที่ทำได้ยากมากๆ และการลบภาพเหตุการณ์ร้ายแรงที่ส่งผลต่อชีวิตออกไปได้ยากมากๆ เพราะมันจะเฝ้าวนเวียนกลับมาหลอกหลอนอยู่ตลอดเวลา

แถมเรายังจำเหตุการณ์และเรื่องราวแย่ๆ เหล่านี้ได้แม่นยำและชัดเจนมากในหัว

เหตุผลเดียวกันนี้ทำให้เราจดจำคำดูถูก ดูแคลน เหยียดหยาม ได้แม่นแบบแทบจะจำได้ทุกคำพูด ทุกอากัปกิริยาอาการของคนพูด แต่ในทางตรงกันข้าม เรากลับจำคำชมเชยหรือการแสดงความยินดีกับความสำเร็จของเราได้ไม่ดีเท่านี้ บางครั้งถึงขั้นลืมเลือนไปว่าเคยมีคนทำให้ด้วยซ้ำไป

ผลกระทบอีกเรื่องที่สำคัญจากอคติทำนองนี้ก็คือ คนทั่วไปให้ความสำคัญและตอบสนองต่อเหตุการณ์ในเชิงลบอย่างรุนแรงและหนักหน่วงมากกว่าเหตุการณ์ในเชิงบวก เรียกว่า ไฟลุกพร้อมบวกมาก แถมยังขจัดเรื่องลบแบบนี้ออกไปจากหัวได้ยากมากด้วย เช่น เราอาจทำงานกันอยู่ เหตุการณ์ทุกอย่างก็ปกติดี ไม่มีปัญหาอะไร จนกระทั่งมีเพื่อนร่วมงานสักคน พูดอะไรที่ไม่เข้าหูหรือ ‘ล้ำเส้น’ มาก เราก็อาจจะรู้สึกร้อนเป็นไฟกรุ่นๆ ไปตลอดทั้งวัน วันดีๆ ที่มีเหตุการณ์ร้ายนิดเดียว จึงกลายเป็นวันร้ายๆ ไป

อคติเชิงลบทำให้เราใส่ใจกับเรื่องแย่ๆ มากกว่า ราวกับมันสำคัญกับชีวิตของเรามากกว่า

@@@@@@@

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น.? หรือมันจะสำคัญมากกว่าจริงๆ.? 

นักจิตวิทยาตั้งสมมติฐาน โดยดูจากผลการทดลองในงานวิจัยว่า อคติเชิงลบเป็นผลจากวิวัฒนาการอย่างยาวนานของการใช้ชีวิตของมนุษย์ในประวัติศาสตร์ ซึ่งต้องมีความเสี่ยง อาจประสบกับเรื่องร้ายๆ หรืออันตรายร้ายแรงได้ตลอดเวลา โดยเป็นอันตรายในระดับ ‘ความเป็นความตาย’ จึงมีความจำเป็นที่เราจะต้องให้ความสนใจกับเรื่องร้ายๆ เพื่อให้สามารถรอดชีวิตอยู่ได้

ยิ่งมนุษย์ดึกดำบรรพ์คนไหนระแวดระวังตัวมาก ก็ยิ่งมีโอกาสรอดชีวิตมาก อุปนิสัยมองโลกแง่ลบแบบนี้ที่สัมพันธ์แนบแน่นกับ ‘ข้อมูลทางพันธุกรรม’ ประจำตัว จึงตกทอดมายังคนรุ่นหลังได้มาก ขณะที่พวกมองโลกในแง่ดีเกินจริง น่าจะไม่รอดจากอันตรายในสมัยนั้นมาได้มากนัก อีกนัยหนึ่งการคัดสรรตามธรรมชาติแบบนี้ ก็ทำให้เราได้คนยุคใหม่ที่ชำนาญการคิดลบอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

มีงานวิจัยในเด็กแรกเกิด พบว่าพวกนี้จะมีปฏิกิริยาเชิงบวกต่อหน้าตาและน้ำเสียงของคนรอบตัว แต่เมื่ออายุใกล้จะหนึ่งขวบ ลักษณะดังกล่าวก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง คือจะตอบสนองต่อตัวกระตุ้นในทางลบมากขึ้น เช่น เสียงตะคอกหรือเสียงดัง เรื่องนี้ถือเป็นหลักฐานที่ดีที่สนับสนุนแนวคิดที่ว่า อคติแบบนี้เกิดขึ้นในระยะต้นมากๆ ของพัฒนาการของมนุษย์

มีการทดลองในผู้ใหญ่ที่ให้หลักฐานว่า ตัวกระตุ้นแบบลบทั้งหลายกระตุ้นให้สมองตอบสนองได้มากกว่า เพราะการสแกนสมองแสดงให้เห็นการทำงานของสมองครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางมาก หากเทียบกับตัวกระตุ้นแบบบวก

นอกจากนี้ยังชัดเจนขึ้นไปอีกว่า หากใช้ตัวกระตุ้นแบบลบ กระแสประสาทจะเกิดขึ้นอย่างเข้มข้นรุนแรงในสมองส่วนซีรีบรัลคอร์เท็กซ์ (cerebral cortex) หรือเปลือกสมองส่วนหน้า ซึ่งเป็นพื้นที่หลักสำคัญที่ใช้ในการประมวลข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์และตัดสินใจ ซึ่งเป็นสมองส่วนที่โดดเด่นมากในมนุษย์

ผลการทดลองดังกล่าวจึงตอกย้ำเรื่องทัศนคติและพฤติกรรมของเราที่ตอบสนองต่อข้อมูล ข่าว หรือประสบการณ์ย่ำแย่ ว่าเป็นไปอย่างหนักแน่นและจริงจังมากกว่า หากจะเทียบกับตัวกระตุ้นเชิงบวกหรือแบบกลางๆ ไม่ลบไม่บวก

เรื่องแบบนี้ส่งผลกระทบกับชีวิตในโลกสมัยใหม่ไม่น้อยทีเดียว เพราะโลกยุคนี้โดยเฉลี่ยๆ แล้ว ไม่ได้มีความจำเป็นต้องตื่นตัวและตอบสนองอย่างหนักต่อภัยอันตราย (ตัวกระตุ้นเชิงลบ) เพื่อเอาตัวรอดมากเท่ากับสมัยก่อนอีกแล้ว

แต่เราก็ยังคิด รู้สึก และตอบสนองกับเหตุการณ์ต่างๆ (ไม่ว่าดี ร้าย ไม่ดีไม่ร้าย) คล้ายกับเรายังเป็นมนุษย์ยุคหินอยู่!


@@@@@@@

จะขอยกตัวอย่างผลกระทบ 3 แบบสำคัญคือ วิธีการที่มองคนอื่น รวมไปถึงการจดจำภาพลักษณ์ เรื่องสัมพันธภาพระหว่างบุคคล และการตัดสินใจ

เวลาเราเพิ่งเจอใครและกำลังสร้าง ‘ภาพจำ’ เกี่ยวกับคนผู้นั้นขึ้นในหัวนั้น เรามีแนวโน้มจะจดจำเรื่องแย่ๆ ของคนอื่นมากกว่าเรื่องดีๆ มีการทดลองให้เลือกคำอธิบายลักษณะของคนในภาพที่นำมาแสดง พบว่ามีแนวโน้มที่อาสาสมัครที่เข้าร่วมการทดลองจะให้น้ำหนักกับการเลือกคำในเชิงลบมากกว่า

ในเรื่องของสัมพันธภาพระหว่างบุคคลนั้น อคติเชิงลบแบบนี้จะคอย ‘บงการ’ อยู่ลึกๆ ให้เราคิดในทางร้ายเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด แม้ว่าจะมีความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนาน แน่นอนว่าลักษณะแบบนี้ย่อมนำไปสู่การไม่ไว้วางใจ การทะเลาะเบาะแว้ง และความไม่พอใจกันได้ง่ายๆ เพราะเหตุการณ์เชิงลบเพียงน้อยนิด (เธอไปกับใครมา บอกมาเดี๋ยวนี้!) ก็อาจได้รับความสำคัญและขยายความสำคัญในหัวมากกว่าเรื่องดีๆ มากมาย

หากเกิดขึ้นบ่อยจนเกินไป และไม่มีวิธีการที่แต่ละฝ่ายจะทำความเข้าใจกันให้ดีขึ้น ก็อาจนำไปสู่จุดสิ้นสุดความสัมพันธ์ได้ การตระหนักในจุดอ่อนตามธรรมชาติที่เรามักจะคิดลบ จึงมีความสำคัญมากกับความสัมพันธ์แบบชีวิตคู่

ตัวอย่างสุดท้าย เรื่องกระบวนการตัดสินใจ อคติเชิงลบส่งผลอย่างชัดเจนกับเรื่องนี้ ยกตัวอย่าง สถานการณ์ที่จะได้หรือเสียเงินจำนวนเท่าๆ กัน คนทั่วไปจะทุ่มเทความสนใจไปกับเรื่องการไม่ยอมเสียเงินมากกว่าการพยายามหาทางให้ได้เงิน แม้ว่าความเป็นไปได้ในทั้ง 2 กรณีจะมีเท่าๆ กัน เช่น กรณีกำลังจะสูญเสียเงิน 1,000 บาท จะส่งผลต่อจิตใจและความนึกคิดมากกว่าการที่กำลังจะได้เงิน 1,000 บาท หากต้องลงแรง ลงเวลา และความพยายามเท่าๆ กัน

@@@@@@@

จะเอาชนะ ‘จุดอ่อน’ เรื่องอคติเชิงลบแบบนี้ได้อย่างไร.?

มีคำแนะนำอยู่ 4 ข้อคือ

1. ให้เอาใจใส่ความคิดลบๆ ให้น้อยลง หากเกิดเหตุการณ์ใดๆ ขึ้นแล้ว บางคนคนมักจะคิดทำนอง “ฉันไม่ควรทำแบบนั้นเลย” การกล่อมตัวเองแบบนี้ส่งผลลบมาก ควรจะละเลิกเสีย พยายามพาตัวเองออกจากความผิดพลาดในอดีตที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ลองสรุปบทเรียนและก้าวต่อไปข้างหน้า

2. คำแนะนำที่สองคือ ให้ตั้งกรอบการมองสถานการณ์ใหม่ เมื่อใดก็ตามที่เราเริ่มแปลความหมายสถานการณ์ใดออกไปในเชิงลบ ให้พยายามโฟกัสในเชิงบวกให้มากขึ้น ตีกรอบสถานการณ์ที่ต้องเกี่ยวข้องใหม่ แต่ข้อนี้ต้องระวัง ไม่ใช่ให้มองโลกบิดเบี้ยวหรือละเลยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่เป็นการวางกรอบการมองใหม่ ให้น้ำหนักกับความคิดเชิงบวกมากขึ้น รวมทั้งตั้งโฟกัสกับการจัดการปัญหาให้ตรงกับสาเหตุมากขึ้น ไม่จมปลักอยู่กับเรื่องลบมากจนเกินไป

3. ให้มีสติและหาทางกำจัดอคติเชิงลบทิ้งไปก่อน ผ่านกิจกรรมง่ายๆ ที่ทำได้ทันที เช่น การหยุดคิดแล้วไปเดินพักผ่อนให้หัวโล่งๆ หรือการฟังเพลงที่มีจังหวะคึกคักหรือผ่อนคลาย หรือแม้แต่การอ่านหนังสือ พอจิตใจคลายจากมุมมองแบบลบแล้ว ก็เริ่มคิดหาวิธีจัดการกับปัญหาใหม่อีกครั้ง

4. วิธีสุดท้ายคือ การให้ความสำคัญกับเรื่องราวหรือประสบการณ์ดีๆ มากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากเรารู้อยู่แล้วว่า สมองให้น้ำหนักกับความคิดเชิงลบมากกว่า เราก็เลยต้องพยายามป้อนความคิดดีๆ เข้าไปหักล้างกันให้มากขึ้น ป้องกันไม่ให้ความคิดลบๆ ร้ายๆ เข้าไปฝังอยู่จนกลายเป็นความทรงจำระยะยาวต่อไป

ทุกครั้งที่มีเรื่องดีเกิดขึ้น ใช้เวลากับเรื่องดีๆ เหล่านั้นสักพัก เพื่อดื่มด่ำและฝังเอาความทรงจำดีๆ ให้เข้าไปในจิตใจ ภายหลังก็นึกถึงเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านั้นขึ้นมาเป็นระยะๆ เพื่อปรับสมองให้คุ้นเคยกับการคิดถึงเรื่องดีๆ มากขึ้น

@@@@@@@

หากเราจัดการกับอคติเชิงลบได้ดี ก็อาจจะทำให้เราจัดการกับปัญหาต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งย่อมนำเราไปสู่ความสุขที่มากขึ้นด้วยเช่นกัน     






Thank to :-
เรื่อง : นำชัย ชีววิวรรธน์
ภาพประกอบ : ณัฐพล อุปฮาด
website : https://www.the101.world/negativity-bias/
15 Aug 2022 , Life & Culture / Science & Innovation
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ