ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ‘เมืองหนองหาน’ ในเอกสารยุคต้นกรุงเทพฯ คือเมืองหนองหานน้อย ไม่ใช่เมืองหนองหานหลวง  (อ่าน 251 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28409
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0




‘เมืองหนองหาน’ ในเอกสารยุคต้นกรุงเทพฯ คือเมืองหนองหานน้อย ไม่ใช่เมืองหนองหานหลวง

ข้อความตอนหนึ่งใน “พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ” ที่เรียบเรียงขึ้นโดย หม่อมราชวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) เมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 ระบุว่า

“จุลศักราช 1149 ปีมแม นพศก (พ.ศ.2330) ท้าวเชียงผู้เปนที่อุปราช เจ้าเมืองๆ สุวรรณภูมิ (คือเขต อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ในปัจจุบัน, ผู้เขียน) ถึงแก่กรรม มีบุตรสองคน ชื่อท้าวโอะ 1 ท้าวเพ 1 กับบุตรหญิง 4 คน จึ่งโปรดตั้งให้ท้าวสูนน้องท้าวเชียงเปนอุปราชเจ้าเมืองๆ สุวรรณภูมิ แลโปรดให้ตั้งท้าวเพบุตรท้าวเชียงเจ้าเมืองสุวรรณภูมิคนเก่า เปนที่พระพิทักษ์เขื่อนขันธ์เจ้าเมืองหนองหาร แยกเอาไพร่เมืองสุวรรณภูมิไป 600” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

จากข้อความข้างต้นทำให้มีผู้สันนิษฐานว่า “เมืองหนองหาน” ที่ท้าวเพไปเป็นเจ้าเมือง โดยกินตำแหน่ง “พระพิทักษ์เขื่อนขันธ์” นั้น คือเมือง “หนองหารหลวง”

ไม่มีคำอรรถกถาความข้อสันนิษฐานข้างต้นจากผู้ที่สันนิษฐานคนที่ว่า (และเอาเข้าจริงแล้วผมก็ไม่ทราบว่า ใครคนที่สันนิษฐานเรื่องนี้คือใคร เพราะเป็นข้อมูลที่คัดลอกต่อๆ กันแล้วเผยแพร่ในอินเตอร์เน็ตโดยไม่มีการอ้างอิงที่มา) แต่ผมอยากเดา (ศัพท์ลำลองของคำว่า สันนิษฐาน) เอาเองว่า เป็นเพราะ “เมืองหนองหาน” ที่รู้จักกันดีนั้นมีอยู่ 2 เมือง ได้แก่ “เมืองหนองหานน้อย” ที่ อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี และ “เมืองหนองหารหลวง” ที่ จ.สกลนคร

@@@@@@@

ที่สำคัญก็คือ ข้อความที่ระบุอยู่ใน “จารึกทำเนียบหัวเมืองและผู้ครองเมือง” บนคอสองเฉลียง ของระเบียงล้อมพระอุโบสถ ของวัดที่ถูกเรียกกันอย่างเคยปากชาวบ้านว่า วัดโพธิ์ กรุงเทพฯ นั้น มีข้อความระบุว่า

“เมืองหนองหารน้อย เจ้าเมืองชื่อพระพิทักษ์เขตต์ขันธ์ 1 ขึ้นกรมมหาดไทย 2 เมือง” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

ในเมื่อมีหลักฐานชัดเจนว่า เจ้าเมือง “เมืองหนองหานน้อย” มีตำแหน่งชื่อ “พระพิทักษ์เขตต์ขันธ์” แล้ว “เมืองหนองหาน” ที่มี “พระพิทักษ์เขื่อนขันธ์” เป็นตำแหน่งเจ้าเมือง ก็จึงควรจะเป็น “เมืองหนองหารหลวง” ผมเดาว่าใครคนที่สันนิษฐานเรื่องนี้โดยไม่ประกาศนามเอาไว้คงคิดอย่างนั้น

สิ่งที่ทำให้ใครต่อใครคงจะคล้อยตามอีกอย่างก็คือ เมืองหนองหานทั้งสอง คือ หนองหารหลวง กับหนองหานน้อยนั้น มักจะถูกกล่าวถึงคู่กันอยู่บ่อยครั้ง

เช่น ในหนังสือเก่าแก่ ซึ่งเล่าถึงประวัติของพระธาตุพนมเป็นสำคัญ แต่ก็มีเรื่องราวเกี่ยวกับสองฝั่งแม่น้ำโขงช่วงระหว่างประเทศไทย กับประเทศลาว จนแทบจะใช้เป็นพงศาวดารของพื้นที่บริเวณดังกล่าวได้อย่าง “ตำนานอุรังคธาตุ” หรือ “อุรังคนิทาน” นั้น อ้างว่าแต่เดิมพื้นที่บริเวณหนองหานน้อย ไม่ได้เป็นหนองน้ำ แต่เป็นบ้านเมืองที่ชื่อ “เมืองขุนขอมนคร” ของพญาขุนขอมนคร ผู้เป็นพระอนุชาของพญามหาสุรอุทกะ แห่งเมืองหนองหารหลวง


@@@@@@@

ลักษณะอย่างนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่า คนโบราณในรุ่นที่แต่งตำนานอุรังคธาตุ เมื่อเกือบ 400 ปีที่แล้ว (อดีตผู้เชี่ยวชาญพิเศษประจำกรมศิลปากรอย่าง อ.พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ เคยสันนิษฐานไว้ว่า ตำนานเรื่องนี้แต่งขึ้นก่อนพิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช แห่งล้านช้าง เมื่อ พ.ศ.2181 เพียงไม่ถึง 5 ปี) นั้น เห็นว่าเมืองโบราณทั้งสองแห่งนี้มีความเกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิด แถมยังไม่ใกล้ชิดกันเฉพาะแค่มีหนองน้ำใหญ่ ที่ชื่อใกล้เคียงกันเท่านั้นนะครับ

เพราะเมืองโบราณทั้งสองแห่งนี้จัดเป็น “ชุมชนปริมณฑล” ที่พัฒนาสืบเนื่องมาจากวัฒนธรรมบ้านเชียง โดยในจำนวนชุมชนปริมณฑลเหล่านี้ มีเพียง “เมืองหนองหานน้อย” และ “เมืองหนองหารหลวง” เท่านั้น ที่พัฒนาต่อมาใหญ่โตจนกลายเป็นเมืองที่มีการสร้างคูน้ำ คันดิน ล้อมรอบ แถมยังสร้างในแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเหมือนกันอีกต่างหาก

(ดังนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจที่ผู้แต่งตำนานอุรังคธาตุ จะยกให้เมืองทั้งสองแห่งนี้เป็น “นครของขอม” เหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งก็ควรจะมาจากที่ตัวเมืองมีคูน้ำคันดินรูปสี่เหลี่ยมล้อมรอบ ตามแบบที่นิยมอยู่ในวัฒนธรรมขอมนี่เอง)

อะไรต่างๆ เหล่านี้ยิ่งชวนให้นึกเคลิ้มไปได้ง่ายขึ้นว่า “เมืองหนองหาน” ที่ท้าวเพ ได้ถูกรับสั่งให้ไปกินตำแหน่ง “พระพิทักษ์เขื่อนขันธ์” เป็นเจ้าเมืองนั้นคือ “เมืองหนองหารหลวง” ซึ่งสัมพันธ์คู่กันอยู่กับ “เมืองหนองหานน้อย” ที่เจ้าเมืองมีชื่อตำแหน่งล้อกันว่า “พระพิทักษ์เขตต์ขันธ์”

แต่มันจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือครับ.?


(ภาพ) หนองหานหลวง จ.สกลนคร ไม่ทราบปีที่ถ่าย (ภาพจากมูลนิธิเล็ก-วิริยะพันธุ์ http://lek-prapai.org/home/view.php?id=750)

อันที่จริงแล้ว ในหนังสือ “พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ” ฉบับที่ตีพิมพ์ครั้งที่ 6 เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพพรนางโสฬศนารี ณ จำปาศักดิ์ สาระโสภณ (นางอักษรการวิจิตร) ณ วัดทุ่งศรีเมือง จ.อุบลราชธานี วันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน พุทธศักราช 2539 ซึ่งกรมศิลปากรได้จัดทำเชิงอรรถเพิ่มเติมลงในเนื้อความ เพื่อประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้านั้น ทางกรมศิลปากรได้ทำเชิงอรรถระบุเอาไว้ด้วยว่า

“พระพิทักษ์เขื่อนขันธ์ (ท้าวเพ) ผู้ตั้งเมืองหนองหานผู้นี้เป็นหลานของเจ้าแก้วมงคลภายหลังเมืองนี้ถูกยุบลงเป็นอำเภอ เรียกว่าอำเภอหนองหาน ขึ้นจังหวัดอุดรธานี”

ดังนั้น ตามความเห็นของกรมศิลปากร “เมืองหนองหาน” ที่ท้าวเพ แห่งเมืองสุวรรณภูมิ ไปกินตำแหน่ง “พระพิทักษ์เขื่อนขันธ์” นั้น จึงเป็น “เมืองหนองหานน้อย” ไม่ใช่เมืองหนองหารหลวง ที่สกลนคร ตามที่มีผู้ไม่ประสงค์จะออกนามสันนิษฐานเอาไว้ (ถึงแม้ว่าทางกรมศิลปากรจะระบุพิกัดเมืองหนองหานน้อย คลาดเคลื่อนจาก อ. กุมภวาปี ไปเป็น อ.หนองหาน ก็ตาม)

ความเห็นของกรมศิลปากรนั้นดูจะสอดคล้องกับเอกสารโบราณ ในยุคต้นกรุงเทพฯ อีกหลายชิ้น ซึ่งโดยส่วนใหญ่นั้นก็จะเรียกชื่อ “เมืองหนองหาน” โดยไม่ระบุว่า เป็นเมืองหนองหารหลวง หรือหนองหานน้อย เช่น รายชื่อเมืองต่างๆ ใน ประกาศพระราชพิธีตรุศ (คือ พิธีตรุษ) รัชกาลที่ 4 เป็นต้น

@@@@@@@

เมื่อคราวที่ได้มีการจัดทำหนังสือ “ประชุมจารึกวัดโพธิ์” (ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2472) นั้น ทางคณะผู้จัดทำได้ทำการสอบทานรายชื่อหัวเมืองต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ใน “จารึกทำเนียบหัวเมืองและผู้ครองเมือง” บนคอสองเฉลียง ของระเบียงล้อมพระอุโบสถของวัด (ที่ผมได้เคยกล่าวถึงมาแล้วในช่วงต้นของข้อเขียนชิ้นนี้) กับรายชื่อของเมืองในประกาศพระราชพิธีตรุษในช่วงสมัยที่ใกล้เคียงกัน (ซึ่งก็หมายรวมถึงประกาศพระราชพิธีตรุศ รัชกาลที่ 4 ด้วย)

 แล้ว พบว่าชื่อตรงกัน เข้าใจว่าจารึกชื่อเมืองทั้งหมดเต็มตามอย่างในประกาศ ส่วนทำเนียบชื่อตำแหน่งผู้ครองเมืองต่างๆ นั้น ทางคณะผู้จัดทำหนังสือเล่มนี้ก็ลงความเห็นว่า คงจะใช้ตามที่เป็นอยู่จริงในช่วงระยะเวลานั้นด้วย

หมายความว่า สำหรับราชสำนักที่กรุงเทพฯ แล้ว เมื่อกล่าวถึง “เมืองหนองหาน” นั้น หมายถึง “เมืองหนองหานน้อย” เป็นสำคัญ โดยน่าสังเกตด้วยว่า ในจารึกทำเนียบหัวเมืองและผู้ครองเมือง ซึ่งระบุชื่อเมืองหนองหานน้อยนั้น ไม่ได้กล่าวถึงเมืองหนองหารหลวงเลยด้วยซ้ำไป

ลักษณะอย่างนี้ยังถูกตอกย้ำในเอกสารอย่างน้อยอีกสองชิ้น ซึ่งในที่นี้ผมขอเรียกว่า “ประกาศแต่งตั้งท้าวสุริยเป็นราชบุตรเมืองหนองลหาร พ.ศ.2411” และ “ประกาศแต่งตั้งพระพิทักษเขตร์ขันธ์เป็นเจ้าเมืองหนองลหาร พ.ศ.2416” ซึ่งต่างก็เรียก “เมืองหนองหานน้อย” ว่า “เมืองหนองลหาร” โดยที่ไม่มีคำว่า “น้อย” กำกับห้อยท้ายอยู่ด้วยเลยแม้แต่นิด


@@@@@@@

ควรสังเกตด้วยว่า ชื่อตำแหน่งเจ้าเมืองหนองหานน้อยเองก็ทั้งเขียน และสะกดต่างกันไปในแต่ละเอกสารที่ผมยกมาอ้างไว้ ทั้ง “พระพิทักษ์เขตต์ขันธ์” ในจารึกที่วัดโพธิ์ ซึ่งทำขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3, “พระพิทักษ์เขตร์ขันธ์” ในประกาศเมื่อ พ.ศ.2416 ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 (การสะกดแบบนี้ปรากฏในประกาศ พ.ศ.2411 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายในรัชกาลที่ 4 เช่นกัน) และ “พระพิทักษ์เขื่อนขันธ์” ในพงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ ซึ่งเขียนขึ้นในยุครัชกาลที่ 5 เช่นกัน

เอาเข้าจริงแล้ว ชื่อตำแหน่งที่เขียน และสะกดแตกต่างกันออกไปเล็กน้อยกลุ่มนี้ จึงควรเป็นชื่อตำแหน่งเจ้าเมืองหนองหานน้อยเหมือนกันทั้งหมด แต่ถูกเรียก หรือสะกดต่างกันออกไปในแต่ละกาลเทศะ

แถมยังเป็นไปได้ด้วยว่า ในกรณีของคำว่า “พระพิทักษ์เขื่อนขันธ์” จะเป็นการคัดลอกผิด เพราะพงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณนั้น เป็นงานเรียบเรียงมาจากเอกสารเก่าหลายชิ้น ไม่ใช่หลักฐานชั้นปฐมภูมิ

พูดง่ายๆ อีกทีก็ได้ว่า ตำแหน่ง “พระพิทักษ์เขื่อนขันธ์” นั้น ไม่ใช่ตำแหน่งเจ้าเมืองหนองหานหลวง อย่างข้อมูลที่เผยแพร่อยู่ในอินเตอร์เน็ตโดยไม่มีหลักฐานอ้างอิงเขาบอก แต่เป็นชื่อตำแหน่งเดียวกับ “พระพิทักษ์เขตต์ขันธ์” เจ้าเมืองหนองหานน้อยต่างหาก •


 


ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 - 17 พฤศจิกายน 2565
คอลัมน์ : On History
ผู้เขียน   : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
เผยแพร่ : วันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ.2565
URL : https://www.matichonweekly.com/column/article_624916
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ