ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: กรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ การสืบทอดลัทธิเทวราชของขอมในกรุงศรีอยุธยา  (อ่าน 218 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28366
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



 
กรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ การสืบทอดลัทธิเทวราชของขอมในกรุงศรีอยุธยา

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาระบุเอาไว้ว่า สมเด็จพระบรมราชาธิาชที่ 2 หรือที่มักจะคุ้นกันมากกว่าในพระนามก่อนครองราชย์ว่า เจ้าสามพระยา นั้น สร้าง “วัดราชบูรณะ” ขึ้นเมื่อ พ.ศ.1964 อันเป็นปีเดียวกับที่พระองค์ขึ้นครองราชย์

โดยได้สร้างวัดขึ้นในบริเวณถวายพระเพลิงเจ้าอ้ายพระยา และเจ้ายี่พระยา พระเชษฐาทั้งสองของพระองค์ ที่ได้ทำยุทธหัตถีกันเองจนสิ้นพระชนม์ลงทั้งคู่ เมื่อครั้งหลังเกิดการจลาจล เมื่อสมเด็จพระนครินทราชา ผู้เป็นพระราชบิดาของเจ้าชายทั้งสามพระองค์นี้เสด็จสวรรคต

แต่การที่เจ้าสามพระยาสร้างวัดราชบูรณะขึ้นบนพื้นที่ที่ใช้ถวายพระเพลิงพระเชษฐาทั้งสองพระองค์นั้น ก็ไม่ได้หมายความว่า เป็นวัดที่สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้แก่พระเชษฐาทั้งคู่เสียเมื่อไหร่?

เพราะว่าในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาก็ได้ระบุไว้ด้วยว่า ได้ทรงโปรดให้สร้างเจดีย์สององค์ไว้ตรงที่ใกล้สะพานป่าถ่าน อันเป็นสถานที่กระทำยุทธหัตถีของทั้งคู่ นัยว่าเป็นที่ระลึกถึงพระเชษฐาทั้งสอง

ดังนั้น วัดราชบูรณะจึงถูกสร้างขึ้นเพื่อการอย่างอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาไปถึงข้าวของต่างๆ ที่ถูกอุทิศถวายเอาไว้ภายในกรุของพระปรางค์ อันเป็นสิ่งปลูกสร้างประธานของวัดแห่งนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงคติความเชื่อเก่าแก่ของอุษาคเนย์ ที่รู้จักกันในชื่อของ “ลัทธิเทวราช”

@@@@@@@

กล่าวโดยสรุป “เทวราช” เป็นลัทธิความเชื่อที่เกิดจากการประสมปะสานระหว่างศาสนาผีของอุษาคเนย์ กับศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาพุทธจากชมพูทวีป พิธีกรรมสำคัญในลัทธิที่ว่านี้ก็คือ การสถาปนารูปเคารพไม่ว่าจะเป็นศิวลึงค์, เทวรูปพระนารายณ์ หรือพระพุทธรูปขึ้นเป็นรูปฉลองพระองค์ของกษัตริย์ผู้สถาปนารูปเคารพองค์นั้นเมื่อเสด็จสวรรคต ไว้บนศาสนสถานที่จำลองเป็นศูนย์กลางจักรวาลตามปรัมปราคติคือ เขาพระสุเมรุ

พูดง่ายๆ ว่า เมื่อกษัตริย์ได้เสด็จสวรรคตไปแล้ว ดวงพระวิญญาณจะไปรวมเข้ากับเทพเจ้าไม่ว่าจะเป็นพระศิวะ พระนารายณ์ หรือแม้กระทั่งพระพุทธเจ้า ในรูปเคารพที่ได้ถูกสถาปนาขึ้นใหม่นี้นั่นเอง

แต่ข้อมูลจากจารึกสด๊กก็อกธม ในวัฒนธรรมขอมโบราณ ซึ่งมีศักราชระบุตรงกับเรือน พ.ศ.1595 ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า รูปเคารพที่ดวงพระวิญญาณของกษัตริย์จะเข้าไปรวมด้วยนั้น ได้ถูกพิธีกรรมในลัทธิที่ว่านี้ สถาปนาให้เป็นราชาเหนือเทวะทั้งหลายในสากลจักรวาลด้วย ซึ่งนั่นก็หมายความว่า เมื่อกษัตริย์ผู้ทรงประกอบพิธีในลัทธิเทวราช สิ้นพระชนม์ลงแล้ว จะได้ไปเป็นจักรพรรดิเหนือโลกของเทพเจ้า ด้วยการหลอมรวมเข้ากับพระศิวะ พระนารายณ์ หรือพระพุทธเจ้าอีกด้วย

แน่นอนว่า “พระปรางค์” วัดราชบูรณะก็เป็น “เขาพระสุเมรุจำลอง” แต่ระบบโครงสร้างผังของกรุภายในพระปรางค์ รวมถึงระเบียบการจัดวางข้าวของ และประเภทของสมบัติต่างๆ ภายในนั้น ก็แสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนของพิธีกรรมที่ว่านี้ ได้พัฒนามาไกลกว่าที่ระบุอยู่ในจารึกสด๊กก็อกธมมากทีเดียว




กรุในพระปรางค์วัดราชบูรณะ แบ่งออกเป็น 3 ชั้น

ห้องกรุขั้นที่ 1 ซึ่งเป็นชั้นบนสุดนั้น มีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นรูปชาวจีน และเทวดาที่แต่งกายอย่างศิลปะศรีลังกา อยู่รายรอบ แน่นอนว่า ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในห้องกรุชั้นที่ 1 นี้วาดอยู่ในผนังห้องที่ปิดตาย ภาพวาดเหล่านี้จึงไม่ได้วาดให้ใครดู เท่ากับวาดเพื่อเป็นพุทธบูชา ในการพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น

ส่วนกรุชั้นกลางคือชั้นที่ 2 นั้น มีขนาดเล็กมาก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับห้องกรุชั้นบน แต่ก็เต็มไปด้วยเครื่องทองและของมีค่านานาชนิด โดยผนังภายในห้องกรุชั้นนี้ จะประดับไปด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังอย่างเต็มพื้นที่ ผนังทั้งสี่ด้านรองพื้นด้วยสีแดงชาด วาดเส้นด้วยสีขาว ดำ เขียว และปิดทอง เขียนเล่าเรื่องพระอดีตพุทธเจ้าทั้ง 28 พระองค์ ที่เขียนไว้ด้วยสีทอง ส่วนบนเพดานก็วาดไว้ด้วยรูปดาวเพดานอย่างวิจิตรงดงาม

น่าเสียดายที่เครื่องทองส่วนใหญ่ที่ถูกจัดวางเอาไว้ในกรุชั้นนี้ถูกคนร้ายขโมยไป ตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.2500 และถึงแม้จะตามกลับคืนมาได้อยู่บ้าง แต่สมบัติจำนวนมากที่เคยบรรจุอยู่ภายในกรุ ซึ่งโดยมากเป็นเครื่องทองนั้น ก็ได้สูญหายไปเสียแล้ว ผลกระทบที่สำคัญจากการที่ถูกลักลอบขุดหาสมบัติอีกอย่างก็คือ ทำให้ไม่ทราบว่า ข้าวของส่วนใหญ่ถูกจัดวางอย่างเป็นระบบระเบียบอย่างไร.?

อย่างไรก็ตาม เราพอจะทราบว่า พระปรางค์จำลอง ที่ทำขึ้นจากทองคำ ตั้งเป็นประธานอยู่ตรงกลางของห้องกรุชั้นนี้ โดยเฉพาะเมื่อห้องกรุชั้นนี้ เต็มไปด้วยเครื่องทองชิ้นเอก ไม่ว่าจะเป็นพระขรรค์ มงกุฎ และศิราภรณ์ทองคำ ฯลฯ ประกอบกับการเข้ามาสำรวจโดยกรมศิลปากร ภายหลังการลักลอบขุดไม่นานนัก ที่ช่วยให้ทราบว่า ภายในซุ้มที่เว้าลึกเข้าไปในผนังห้องกรุชั้นนี้ ล้อมรอบด้วยโต๊ะที่ทำขึ้นจากสำริด ขนาด 44 x 72 เซนติเมตร สูง 42 เซนติเมตร ตั้งอยู่ข้างในซุ้มเหล่านั้น เฉพาะผนังด้านทิศเหนือ ตะวันตก และตะวันออก ส่วนทิศใต้นั้นไม่พบหลักฐานว่ามีโต๊ะที่ว่านี้อยู่ แต่คงจะเป็นโต๊ะทั้ง 3 ตัวนี้เอง ที่เคยใช้สำหรับจัดวางเครื่องทอง และสมบัติมีค่าทั้งหมดที่พบอยู่ในห้องกรุชั้นนี้

ส่วนกรุชั้นล่างสุดอันเป็นชั้นที่ 3 ซึ่งปัจจุบันได้ถูกปิดผนึกไว้อีกครั้งโดยกรมศิลปากรแล้วนั้น มีขนาดเล็กเพียงแค่ 1.40 x 1.40 เมตร และสูงเพียง 80 เซนติเมตรเท่านั้น แต่กลับพบสมบัติอันล้ำค่าที่สุดคือ พระเจดีย์ทองคำที่มีครอบทำด้วยโลหะถึง 4 ชั้น

ยังพบภายในของพระเจดีย์ทองคำองค์นี้บรรจุไว้ด้วย พระพุทธรูปทองคำ พระพุทธรูปแก้วผลึก กับเครื่องทองคำขนาดจิ๋วจำนวนมาก และยังมีแผ่นใบลานทองคำจารึกอักษรขอมเอาไว้ด้วย

พระธาตุที่อยู่ในเจดีย์ทอง ภายในกรุชั้นล่างสุดนี้คงจะเป็น อัฐิธาตุของสมเด็จพระนครินทราชา ผู้เป็นพระราชบิดาของเจ้าสามพระยา เพราะพิธีกรรมในลัทธิเทวราชนั้น มักจะใช้อัฐิธาตุของกษัตริย์ที่สิ้นพระชนม์ไปบรรจุไว้ใต้ฐาน  หรือไม่ก็เหนือฝ้าเพดานของรูปเคารพฉลองพระองค์ ที่กษัตริย์จะกลับเข้าไปรวมเป็นราชาเหนือเทวะ คือเทพเจ้าทั้งหลาย


@@@@@@@

ในขณะที่เครื่องทองที่บรรจุอยู่ในกรุชั้นที่ 2 นั้น แม้จะสูญหายไปมากแล้วก็ตาม แต่ข้าวของที่เหลืออยู่ทั้งหมดก็แสดงให้เห็นว่าเป็นเครื่องราชูปโภค คือเครื่องแสดงยศถาบรรดาศักดิ์ของกษัตริย์ทั้งสิ้น

จึงแสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวพันกับคติเรื่องพระจักรพรรดิราช คือราชาผู้อยู่เหนือราชาทั้งหลายในทั้ง 84,000 จักรวาล ตามความเชื่อในศาสนาพุทธ ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวความคิดในลัทธิเทวราชได้เป็นอย่างดี

ส่วนกรุชั้นบนสุด ซึ่งพบพระพุทธรูปอยู่นั้น เป็นการจัดวางตามขนบในศรีลังกาที่จะใส่พระพุทธรูปเอาไว้ในกรุของเจดีย์ แทนพระบรมสารีกธาตุ

กรุทั้งสามชั้นของจึงแสดงให้เห็นถึงพิธีกรรมอันสลับซับซ้อนของศาสนาพื้นเมืองอุษาคเนย์ ที่ผสมปนเปเข้ากับพระพุทธศาสนา โดยเป็นพิธีกรรมที่หลอมรวมเอาวิญญาณของสมเด็จพระนครินทราชาเข้าไปรวมเข้ากับพระพุทธเจ้า แล้วอยู่ในฐานะของพระจักรพรรดิราช ผู้เป็นใหญ่เหนือกษัตริย์และเทพเจ้าทั้งหลายในทุกๆ จักรวาล

นอกเหนือจากที่วัดราชบูรณะจะเป็นประจักษ์พยานของความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของราชสำนักอยุธยาแล้ว จึงยังเป็นร่องรอยหลักฐานของพิธีกรรมความเชื่อพื้นเมืองของอุษาคเนย์ ซึ่งไม่เคยปรากฏในวัฒนธรรมอินเดีย แต่มีตกทอดอยู่ในกรุงศรีอยุธยานั่นเอง •






ขอขอบคุณ:-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 18 - 24 พฤศจิกายน 2565
คอลัมน์ : On History
ผู้เขียน   : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2565
URL : https://www.matichonweekly.com/column/article_626077
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ