ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: เมืองร้อยเอ็ด ไม่ใช่ ‘เมืองสิบเอ็ด’ | “เมืองร้อยเอ็ดประตู” แต่ไม่ใช่จำนวน 101  (อ่าน 252 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28439
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



เมืองร้อยเอ็ด ไม่ใช่ ‘เมืองสิบเอ็ด’ | สุจิตต์ วงษ์เทศ

ร้อยเอ็ด มีนามเต็มในตำนานว่า “เมืองร้อยเอ็ดประตู” หมายถึง เมืองที่อำนาจทางการเมืองและการค้าแผ่ขยายกว้างไกลออกไปทุกสารทิศ เสมือนมีร้อยเอ็ดประตูเมือง ประดุจกรุงทวารวดีในมหากาพย์ของอินเดียในชมพูทวีป

[ทวารวดี แปลว่าช่องทาง (ประตู) เข้าออก เพื่อให้หมายถึงเมืองท่าที่มีกิจกรรมติดต่อ (ค้าขาย) สะดวกสบายอุดมสมบูรณ์ (เป็นชื่อเมืองของพระกฤษณะในมหาภารตยุทธ์)]

ร้อยเอ็ด ในเอกสารโบราณเขียนเป็นตัวอักษรไทยน้อยว่า “เมืองร้อยเอ็ดประตู” หมายถึง เมืองมีประตูจำนวนมาก แต่ไม่หมายตายตัวตรงตามตัวอักษรว่า ประตูเมืองมีจำนวนร้อยเอ็ด

ร้อยเอ็ด คือ ร้อยกับหนึ่ง หรือ 101 โดยปริยายหมายความว่า มากมายก่ายกอง

ตัวอย่างพบในสังข์ทอง (ร.2) ท้าวสามนต์ให้ลูกสาวทั้งเจ็ดนางเลือกคู่จากโอรสกษัตริย์ที่ป่าวร้องมาจากบ้านเมืองมากมายก่ายกอง “กษัตริย์ทั้งร้อยเอ็ดหัวเมืองใหญ่”

เช่นเดียวกับคำคล้องจองเก่าที่ว่า “ร้อยเอ็ด เจ็ดย่านน้ำ” หมายถึงจำนวนมากนับไม่ถ้วน


คูน้ำคันดินเมืองร้อยเอ็ด ราวหลัง พ.ศ.1000 ทำขึ้นเป็นขอบเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ รูปเหลี่ยมมุมมนโค้ง ขนาด 1,700 x 1,800 เมตร คูน้ำถูกขุดเป็นแนวที่กำหนดเชื่อมลำห้วยเหนือ-ลำห้วยกุดขวาง ที่เป็นลำน้ำสาขาแยกจากแม่น้ำชี แล้วชักน้ำขังไว้เพื่ออุปโภคบริโภค ส่วนคันดินได้จากขุดคูน้ำ แล้วยกดินถมเป็นแนวที่กำหนด [แผนผังเมืองร้อยเอ็ด โดย ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ (กุมภาพันธ์ 2563)]


จำนวนนับ

สมัยโบราณนานมาแล้วเมื่อครั้งสังคมไม่กว้างขวาง โลกยังติดต่อสื่อสารกันไม่ได้ดังใจในพริบตาเหมือนปัจจุบัน ชีวิตประจำวันของคนทั่วไปต้องการจำนวนนับที่จำเป็นแค่ “สิบ” เท่านั้น

[จะเห็นว่า พอมากกว่าสิบ ก็ต้องยึดสิบเป็นหลักแล้วเพิ่มจำนวนเข้าไปทีละหนึ่ง ได้แก่ สิบหนึ่ง (นิยมเรียกสิบเอ็ด เพราะคำว่า เอ็ด เท่ากับหนึ่ง), สิบสอง ฯลฯ]

ถ้าจำนวน “ร้อย” ถือว่ามากที่สุดแล้ว ดังพบว่า สมัยก่อนผู้มีอำนาจยิ่งใหญ่ มีตำแหน่งเป็น “ร้อย” เรียก “นายฮ้อย” (ของอีสานตามประเพณีการค้าดินแดนภายใน) กระทั่งชื่อทางการของภาคกลางก็ “นายร้อย” เป็นใหญ่สุด (เช่น โรงเรียนนายร้อยฯ)

[“ล้าน” เป็นจำนวนศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่มีจริงในโลก เพราะคนสมัยนั้นนับไม่ถึง จึงขนานนามดินแดนศักดิ์สิทธิ์ว่า ล้านนา และ ล้านช้าง]

จำนวนร้อยถือว่ามากที่สุดในสังคมโบราณนานมาแล้ว เหตุนั้นจึงมีคำว่า "ร้อย" อยู่ในความเปรียบที่รู้จักมักคุ้นกันดี ได้แก่

ร้อยชั่ง (มีค่ามาก เช่น สาวน้อยร้อยชั่ง), ร้อยทั้งร้อย (ทั้งหมดทั้งสิ้น), ร้อยแปดพันเก้า (มากมายหลายหลาก), ร้อยพ่อพันแม่ (คนจำนวนมากหลากหลายเผ่าพันธุ์), ร้อยวันพันปี (นานมาก), ร้อยสี่พันอย่าง (ต่างๆ นานา), ร้อยหวี (ชื่อกล้วยชนิดหนึ่งออกเครือมีหวีมากกว่าปกติ แม้ไม่ถึงร้อยก็เรียกเป็นร้อย)

ร้อยเอ็ด คือ ร้อยกับหนึ่ง หรือ 101 โดยปริยายหมายความว่า จำนวนมาก เพราะมากกว่าร้อย (ไปหนึ่ง) หรือ 100+1 เช่น “ร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ” หมายถึงทั่วทุกหนแห่งในโลก บางทีเรียก “ร้อยเอ็ดเจ็ดคาบสมุทร” หรือ “ร้อยเอ็ดเจ็ดหัวเมือง” ก็ได้


@@@@@@@
 
เจ็ดย่านน้ำ

เมืองร้อยเอ็ด มีความหมายเข้าได้กับวลีเก่าว่า “ร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ” โดยปริยายหมายถึ งเมืองที่มีเครือข่ายการค้ามากมายก่ายกอง

เจ็ดย่านน้ำ หรือ เจ็ดคาบสมุทร หมายถึง มีขอบเขตหรือพื้นที่ปริมณฑลกว้างขวางมาก ครอบคลุมหมดมหาสมุทร หรือ “ทะเลทั้งเจ็ด”

คัมภีร์อินเดียเชื่อว่า มหาสมุทรหรือทะเลมี 7 แห่ง ดังนี้

    1. ทะเลน้ำเค็ม เรียกว่า ลาวัณย์ เป็นทะเลล้อมชมพูทวีป (อินเดีย)
    2. ทะเลน้ำอ้อย เรียกว่าอิกษุรโสทะ เป็นทะเลล้อมปลักษะทวีป (หมายถึงพม่า)
    3. ทะเลน้ำผึ้ง เรียกว่าสุรา (บางแห่งเป็นเมรัย) เป็นทะเลล้อมศาลมาลีทวีป (หมายถึงมลายู)
    4. ทะเลเปรียง เรียกว่าสระปี เป็นทะเลล้อมกุศะทวีป (หมายถึงหมู่เกาะซุนดา)
    5. ทะเลน้ำนมเปรี้ยว เรียกว่าทธิมัณฑะ เป็นทะเลล้อมเกราญจะหรือโกญจาทวีป (หมายถึงจีนใต้)
    6. ทะเลน้ำนม เรียกว่าทุคธะ หรือกษิร (เกษียรสมุทร) เป็นทะเลล้อมศักกะทวีป (หมายถึงสยามกัมโพช)
    7. ทะเลน้ำธรรมดา เรียกว่าชล หรือโตยัมพุธิ เป็นทะเลล้อมบุษกรทวีป (หมายถึงจีนเหนือ)

[จากหนังสือ ภูมิศาสตร์สุนทรภู่ ของ กาญจนาคพันธุ์ พิมพ์ครั้งที่สี่ พ.ศ.2515 หน้า 37-40]

@@@@@@@

ชื่อเมืองร้อยเอ็ด ไม่ใช่สิบเอ็ด

ครูบาอาจารย์โรงเรียนใน จ.ร้อยเอ็ด ควรทบทวนที่เคยบอกนักเรียนว่า ร้อยเอ็ด หมายถึง “เมืองสิบเอ็ดประตู” เพราะไม่จริงอย่างนั้น จึงไม่ควรดันทุรัง

เมืองร้อยเอ็ด มีคำอธิบายสมัยก่อนจากบางคนว่า ชื่อเมืองร้อยเอ็ด เขียนในเอกสารโบราณเป็นตัวเลขว่า 101 สมัยโบราณอ่าน 10+1=11 (สิบเอ็ด) ดังนั้น เอกสารโบราณเขียนว่าเมือง 101 ประตู หมายถึง เมืองมี 11 ประตู ซึ่งยังมีข้อคลาดเคลื่อน ดังนี้

ข้อแรก ไม่เคยพบหลักฐานประวัติศาสตร์ว่า สมัยโบราณเขียน 101 หมายถึง 10+1=11 (สิบเอ็ด)

ข้อหลัง เอกสารโบราณในหอสมุดแห่งชาติเขียนชื่อเมืองร้อยเอ็ด เป็นตัวอักษรว่า “เมืองร้อยเอ็ด” ไม่เคยพบว่าเขียน “101” กรมศิลปากรตรวจสอบเอกสารโบราณทั้งหมดที่เก็บไว้ในหอสมุดแห่งชาติและเคยแสดงหลักฐานต่อสาธารณะนานแล้วหลายครั้ง


 


 
ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15 - 21 พฤษภาคม 2563
คอลัมน์ : สุจิตต์ วงษ์เทศ
เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2565
URL : https://www.matichonweekly.com/column/article_306966
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤศจิกายน 21, 2022, 05:46:23 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ