ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: “อิติปิโส-รัตนมาลา” | อิติปิโส ๑๐๘ และ รหัสนัยทั้งปวง  (อ่าน 1158 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



“อิติปิโส-รัตนมาลา” | อิติปิโส ๑๐๘ และ รหัสนัยทั้งปวง

แลเรื่องราวนี้ ที่เราจะมองย้อนไปใน “อิติปิโส-รัตนมาลา” ที่เป็นส่วนของอำนาจทางวัฒนธรรมที่ไม่ใช่แค่เพียงบทสวดของพระธรรม แต่เป็นซอฟต์เพาเวอร์ตัวใหม่ในชีวิตกึ่งพุทธกาลของเถรวาททั้งหลาย

แต่ก่อนหน้าจะไปถึงจุดนั้น การสืบค้นทักษะทางวัฒนธรรมที่เป็นเหมือนมรดกตกทอดจากเถรวาทกลุ่มนั้น ทำให้เราอดที่จะย้อนอดีตที่ผ่านมาเสียมิได้

โดยเฉพาะกรณีปราสาทนครวัด-นครธมที่ยุคหนึ่งเหมือนสูญหายไปจากมิติความทรงจำ กระทั่งถูกค้นพบอีกครั้งในศตวรรษที่ 19 และจากนั้นมา วิธีการที่จะกลับไปสู่การค้นหาสิ่งสูญหาย/บังบด ถูกนำไปต่อยอดรื้อฟื้นและค้นหาที่ส่วนใหญ่เกิดโดยนักวิจัยบารังสายเถรวาทอินโดจีนในกัมพูชา

และแม้ว่าสเกลนับตั้งแต่ค้นพบอาณาจักรยุคกลางของกัมพูชาจะเรียวเล็กลงมาก ทว่า ทั้งก่อนหลังการสิ้นยุคอินโดจีนที่นักวิจัยหลายคนของบารัง ยังคงฝักใฝ่ต่อการสำรวจเก่าแก่ที่ใกล้ตายหรือสูญหายไปของแคว้นนี้

ตัวอย่างกรณีผู้อำนวยการสำนักพุทธศาสนบัณฑิต-ซูซานน์ คาร์เปเลส ที่เชิญปราชญ์กวีเขมรคนสำคัญคือ “กรมงุย” มาร่ายบทกวีสดๆ ใส่ไมค์และบันทึกเสียงไว้ไม่นานก่อนที่กรมงุยจะสิ้นใจและเหลือไว้แต่กวีศิลป์ที่ยืนยาวมาถึงทุกวันนี้




จากคาร์เปเลสถึงฟรองซัวส์ บิโซต์ ยุคที่กัมพูชาเติบกล้าด้วยตัวเอง นักวิจัยแห่งสำนักฝรั่งเศสปลายบูรพทิศประจำเสียมเรียบได้เริ่มต้นเป็นคาร์เปเลสคนที่ 2 เมื่อถูกส่งตัวหลังถูกทหารพลพตจับตัวแรมเดือนในป่าอัลลองแวงกลับกรุงพนมเปญ

บิโซต์ใช้เวลา 3 ปีกว่าที่นี่ ลงมือค้นหากรมงุยคนที่ 2 ที่ 3 ตามแบบซูซานน์ คาร์เปเลส และทำให้เราเห็นว่า ประเทศนี้ช่างรุ่มรวยไปด้วย “กวีปากเปล่า” (ปาถกกวี) ซึ่งเป็นเครื่องจดจำบันทึกไว้ในตัวบุคคล

ศาสตร์และศิลป์แขนงนี้ พวกบารังเห็นจะขาดแคลนและมองเป็นของแปลก ซึ่งที่จริงแล้วในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงหรือสุวรรณภูมิทั้งหมด เรามีปาถกกวีไปทุกสถานในหมู่ชาวเถรวาทซึ่งส่วนใหญ่มิใช่นักบวช แต่กลับเป็นชาวบ้านพื้นถิ่น ดังที่พบในอีสานและตอนเหนือของไทย รวมทั้งพม่ารามัญที่พบว่า การเล่าเรียนธรรมวาจกจากพระครูผู้สอนมีให้เห็นเป็นปกติ

นอกเหนือจากหมู่สงฆ์ที่เรียนจำพระไตรปิฎกด้วยวาจาแล้ว ดังนี้ การที่นายสวน จุน แห่งกัมพูชาจะจดจำบทพุทธคุณ-อิติปิโสฯ และจารเป็นยันต์ผ้าหรือใบลาน มิใช่เรื่องแปลก แต่เป็นการประกอบอักขระขอมโบราณให้เป็นศิลปะนั่นเอง

เพียงแต่ที่อาจารย์สวน จุน ทำมากกว่านั้น คือนำสิ่งที่ตนประดิษฐ์บ้างหรือร่ายเป็นคาถาบทบ้าง นำไปใช้ในการรักษาโรคและถือเป็นโอสถธรรม



ต่อเรื่องราวของนักร่ายคาถาบทอิติปิโสในรูปอุบะรัตนมาลาโดยโลกครูสวน จุน ชาวเขมร ที่ฟรองซัวส์ บิโซต์ ชาวบารังรวบรวมนี้ อัญเจียฯ เคยเสนอไว้ตอนแรกแล้วในชื่อ “จากสหายดึจ-เขมรแดงถึงอิติปิโส ๑๐๘” (มติชนสุดสัปดาห์/14-20 ตุลาคม 2565)

ในตอนนั้น เราได้เกริ่นถึงอาจารย์ยู อุน ครูผู้ช่วยวิจัยด้านนี้ของบิโซต์ผู้เก็บสำเนาอิติปิโสฯ เกือบทั้งหมดที่คัดลอกจากหอสมุดแห่งชาติและอาจารย์ได้นำติดตัวเสมอ แม้แต่เมื่อทหารพลพตกวาดต้อนออกจากกรุงพนมเปญก็ตาม

คลาดกัน 2 วัน บิโซต์จึงออกตามหาครูอุน แต่ไม่ทันเสียแล้ว โลกครูได้ถูกขับออกจากบ้านไปเสียก่อน และนี่คือผู้ช่วยบิโซต์คนที่ 3 ที่สังเวยชีวิตแก่ระบอบเขมรแดง กระนั้น หลายสิบปีหรือเกือบครึ่งชีวิตทั้หมดของตน ฟรองซัวส์ บิโซต์ ยังคงรักษาการตามหากวีอิติปิโสฯ คนนั้น แม้ความตายจะมาพรากก็ตาม

ราวกับนักต่อจิ๊กซอว์ตัวร้าย ในพนมเปญที่วุ่นวายไปด้วยสภาพอันถูกปิดล้อมจากสงครามกลางเมือง แต่นักวิจัยบิโซต์กลับมีหมุดหมายที่จำตามหาสิ่งที่อาจจะสูญหาย หากเขาไม่สานต่อและถอดรหัสไว้

ดังที่การที่เขาหมกมุ่นอยู่กับกวีปากเปล่าและบทสวดอิติปิโสของเขาที่เปรียบเสมือนรัตนมาลาธรรมในใจ และนั่นคือสิ่งที่หล่อเลี้ยงเขาไว้ แต่โดยทั่วไปนักวิจัยมักจะไม่โรแมนติก กระนั้น ฉันก็คิดว่า ในระยะ 3-4 ปีที่เขาได้พบกับอาจารย์สวน จุน (โดยไม่ระบุว่าที่ใด) เป็นช่วงเวลาที่เขาน่าจะมีความสุข



และนั่นก็ทำให้เขาผลักผู้ช่วย-ครูยู อุน ซึ่งรอบรู้ด้านบาลีให้คัดลอกใบลานและหนังสือนานาเกี่ยวกับคาถาบทที่หอสมุดแห่งชาติ แต่อนิจจา ครูอุนกลับหอบงานเหล่านั้นตอนถูกเขมรแดงขับไล่ไปทำนาและคงถึงแก่ชีวิต

กระนั้นรัตนมาลาธรรมที่มีบทอิติปิโสเป็นอุบะเรียงร้อยกันยังคงถูกตามหา โดยสารตั้งต้นแรกๆ อยู่ที่อาจารย์/โลกครูสวน จุน ปราชญ์ชาวบ้านฝ่ายกัมพูชา แต่เมื่อค้นคว้าต่อมาบิโซต์ได้อาศัยงานเขียนด้านนี้จากเอกสารของไทยที่ส่วนใหญ่เป็นบันทึกหลักฐานหาใช่ปราชญ์พื้นบ้านแบบเดียวกับกัมพูชา

แม้ว่าขณะนั้นในภาคอีสานของไทยจะเต็มไปด้วยผญาหรือกวีพื้นบ้าน ที่มีพรสวรรค์ด้านการสาธยายมนต์โคลงกลอนและบทพุทธคุณอีกนิทานชาดกสอนใจ

นับว่าโชคดีที่กัมพูชามีบิโซต์เป็นนักวิจัย และแม้จะมีกวีผญาเฉพาะด้านอิติปิโสฯ เพียงรายเดียวแต่ก็เพียงพอจะเป็นไปสำหรับสิ่งที่เรียกว่า “อุปสงค์-อุปทานอันวิเศษ” ที่นำพามาเจอกันระหว่างฟรองซัวส์ บิโซต์ กับสวน จุน และก่อให้เกิดเถรวาทศึกษาที่น่าทึ่ง



สวน จุน เกิด พ.ศ.2446 อ.คีรีวงศ์ จ.ตาแก้ว เริ่มเล่าเรียนหนังสือจากพระครูฐี ดุน พระชาวกัมพูชาใต้ ซึ่งอาจเป็นกุศโลบายให้ศิษย์สนใจธรรมจึงกล่าวต่อเขาว่า “การสาธยายมนตราเท่านั้น ก็สามารถสังหารศัตรูได้”

และนั่นจึงให้จุนเมื่อกลับมาบ้านเกิดแล้ว เขากลับติดตามพระธุดงค์รูปหนึ่งซึ่งอยู่ในเขตสวายเรียง และนั่นเอง จุนได้รับการประสิทธิ์ประสาทมนตราอาคมบทหนึ่งอย่างลึกซึ้งในรูป “อุบะ” ที่สามารถแตกสารบบออกไปอย่างหลากหลายนานา และนั่นคือบทอิติปิโส-รัตนมาลา

เมื่อศึกษาจบแล้ว สวน จุน จึงเดินทางไปกำโปด ที่นี่ จุนได้กลายเป็นคนดังที่มีชื่อเสียงจนถูกเรียกขานว่า “ครูสเตาะ” (สเตาะ-เครื่องเป่า) ทว่า เครื่องเป่าของสวน จุน หาใช่เครื่องดนตรีไม่ แต่เป็นบทมนต์ที่เขาเป่าเสกและที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “อิติปิโสฯ” นั่นเอง

ในไม่ช้า ครูจุนก็กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโอสถยาโบราณที่ใช้ในการรักษาปัดเป่าโรคาพยาธิด้วยการท่องโศลกบทบาลีที่ว่า และการรักษาก็ได้ผลดีอย่างเหลือเชื่ออีกด้วย

@@@@@@@

อนึ่ง ความรอบรู้ของโลกครูสวน จุน ในบทอิติปิโสนี้ คือแรงบันดาลใจสูงสุด ทันทีที่เขาได้พบตัวจริง และฟังนักร่ายสวดอิติปิโสบทหนึ่ง กระนั้น บิโซต์น่าจะดึงเอารัตนมาลาในบทอิติปิโสฯ ฉบับไทยไปไว้บ้าง โดยเฉพาะจากอาจารย์เทพย์ สาริกบุตร เจ้าตำรามหายันต์ ๑๐๘ และอื่นๆ

แต่การที่บิโซต์เชิดชูฝ่ายเขมรอย่างมาก นอกจากเหตุผลส่วนตัวแล้ว ด้านหนึ่งคือลักษณะพิเศษขององค์ความรู้แขนงใหม่ในเถรวาทที่เรียกกันว่าปรีชาญาณ ที่น่าสนใจ คือกลวิธีร่ายบทอิติปิโสฯ จากกูรูผู้มีชีวิตซึ่งไม่ใช่แค่อักษรศิลป์อันพิสดาร

แต่มาจากการที่สวน จุน สามารถจดจำพระสูตรอย่างแม่นยำ ซ้ำการถ่ายทอดที่เหนือความคาดหมายจนสัมผัสได้ถึงความปราดเปรื่องว่องไวเหล่านั้น การทำให้บท “อิติปิโสฯ” ซึ่งเป็นเหมือนอักขระโบราณกลับมามีชีวิตเหล่านี้ นับเป็นลักษณะของอรรถรสที่พบในศาสตร์ฮินดูและทิเบตโดยคุรุปรีชาญาณ

โดยเฉพาะสำหรับชาวเถรวาทแล้ว เราแทบจะนึกไม่ออกเทียวว่า ยังมีบทอิติปิโสในแบบอนุโลม แบบปฏิโลม-ปฏิพัทธ์ และแบบอื่นซึ่งยากแก่จินตนาการ และทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับการลำนำของกวีพื้นบ้านและเป็นศาสตร์-ศิลป์ที่น่าทึ่ง

จึงไม่แปลก ที่บิโซต์/ฮินูบา ร์จะอุทิศ “อิติปิโส-รัตนมาลา” ให้แก่อาจารย์สวน จุน ซึ่งเป็นเสมือนต้นทางอันยากเข็ญแห่งความเป็นนักวิจัยในสายเถรวาทวิทยาของตน และสำหรับชาวชนผู้หลงรักอิติปิโส ๑๐๘ ในรูปแบบอักขระขอมที่รอการพิสูจน์





ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4 - 10 พฤศจิกายน 2565
คอลัมน์ : อัญเจียแขฺมร์
ผู้เขียน   : อภิญญา ตะวันออก
เผยแพร่ : วันพฤหัสที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2565
URL : https://www.matichonweekly.com/column/article_621280
ชื่อบทความเดิม คือ อิติปิโส ๑๐๘ และรหัสนัยทั้งปวง
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤศจิกายน 21, 2022, 06:08:44 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
โอ “รัตนามาลา-อิติปิโส” ฉบับเขมร และ “อนิจจา ๑๐๘”
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: พฤศจิกายน 21, 2022, 07:04:33 am »
0




จาก สหายดึจ-เขมรแดง ถึง อิติปิโส ๑๐๘

สาเธียรณะ ที่เขมรแปลว่า มหาชน ฉันเองก็เพิ่งรู้หมาดๆ ว่า ไฉนไยต้อง “อิติปิโสรัตนมาลา” หรือ “อิติปิโส ๑๐๘“.? แลเพิ่มความกังวล-วนไปอีกว่า ทำไม-เราสองประเทศ “เขมร-ไทย” จึงมีความวนไปในเถรวาทกันมากเกิน ซึ่งมันอาจทำให้เราขุ่นเคืองกัน.!

ลำพังแค่เรื่องวัฒนธรรม ระบุงระบำบุราณนานมา เรียมเกร์-รามเกียรติ์ อะไรนานารวมทั้งหมัดมวยนั่น เราก็เหนื่อยกันมาก.! มา อิติปิโส ๑๐๘ เข้าไปอีก ให้ตายเถอะ รอบนี้มีหรือจะรอด.? ต่อให้เป็นอุบะ “รัตนมาลัย” หรือพวงอุบะธรรม.? อันมีที่มาจาก “อิติปิโส” ก็ตาม เกรงว่าจะเป็นปัญหา ๑๐๘.? มหาชน โปรดรู้กันเถิดว่า เราต่างมีบุพกรรมร่วมกัน




ข้าแต่ศาลแห่งนั้นซึ่งพิจารณาคดี 001 ของอดีตผู้นำเขมรแดง และในฐานะโจทก์ผู้ตกเป็นเหยื่อของจำเลย แม้ในวันนั้นเขาจะให้การในฐานะของพยานก็ตาม ในเมษายน 2009 ที่ฟรองซัวส์ บิโซต์ ขณะอายุ 69 ขึ้นให้การต่อศาล ณ ห้องพิจารณาคดีรูปไข่ ชานกรุงพนมเปญ

และแล้วในปี 2022 ขณะที่ศาลแห่งนี้กำลังจะปิดตัวลง เรากลับย้อนรำลึกเห็นถึงวาระอันจำเป็นแห่งการเป็นพยานของบิโซต์ครั้งนั้น ราวกับใคร่ควรสำนึกว่า ศาลเขมรแดงที่ใช้เวลา 16 ปีไปกับการไต่สวนผู้นำเขมรแดงใน 2 คดี

ตั้งแต่งบฯ ต้นและบริจาค 2 หมื่นล้านบาท ถึงวันนี้ คดี 001 ของกัง เก็ก เอียว หรือดึจ-อดีตผู้คุมนักโทษคุกโตลสแลง (เอส 21) ที่ตกเป็นจำเลยและถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตจากความผิดทารุณกรรมและฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มนุษยชาติ และดึจเองซึ่งเต็มไปด้วยตราบาป

เว้นแต่เรื่องของเขากับเหยื่อ/พยาน ฟรองซัวส์ บิโซต์ ซึ่งถูกชำระสะสางในแง่งามไปกับกาลเวลา และ 1 ในนั้น คือที่มา “อิติปิโสรัตนมาลา-อิติปิโส ๑๐๘” ในสิ่งที่ฉัน…บังเอิญพบพา



กระนั้น ฉันก็อยากขอบคุณ-ดึจ ที่เขาไม่พลาดพลั้ง สังหารบิโซต์ไปเสียแต่ครั้งนั้น ในเดือนตุลาคม/1971 ขณะที่ฟรองซัวส์ บิโซต์ ออกพื้นที่วิจัยกับผู้ช่วยเขมรของเขาอีก 2 นาย เขาถูกจับตัวบริเวณชายป่าเขตเมืองพระนคร/เสียมเรียบ

ทหารป่า/กองทัพปลดแอกประชาชนได้นำชาวฝรั่งเศสคนนั้นไปยังเขตปลดแอก (เขมรแดงยึดครอง) ซึ่งเรียกกันว่าชมรมอัลลองแวงหรือแคมป์ M.13 ที่นั่น บิโซต์ถูกยัดเยียดว่าเป็นซีไอเอ-ศัตรูตัวร้ายของระบอบเขมรแดง เขาถูกคาดคั้นสอบสวนโดยบางครั้งก็ทารุณจากกรรมภิบาลเขมรแดงคนหนึ่ง

ซึ่งต่อมาอีกหลายสิบปีทีเดียว กว่าบิโซต์จะรู้ว่า นั่นคือดึจ-คนที่จะทำให้เขาเรียนรู้กับภาวะที่เหนือการควบคุมรวมทั้งประเทศกัมพูชาเวลานั้น สำหรับภาวะสงครามกลางเมือง

ฟรองซัวส์ บิโซต์ ในฐานะเจ้าหน้าที่วิจัยและนักมานุษยวิทยาแห่งสำนักฝรั่งเศสปลายบุรพทิศ ซึ่งในที่สุดเขาก็ถูกปล่อยตัวจากชมรมอัลลองแวง บิโซต์หอบลูกสาววัย 3 ขวบกับภรรยาชาวเขมรกลับสู่พนมเปญและทำงานที่นั่นจนวันสุดท้ายที่ต่างชาติทุกคนต้องอพยพออกจากประเทศนี้

กระทั่งในปี 2003 ที่เขาหวนกลับแคมโบเดียอีกครา และนั่น บิโซต์ได้พบกับดึจ ระหว่างรอขึ้นศาลเขมรแดง ใครเลยจะนึกว่า การกลับมาเจอกันครั้งนี้ คนที่เป็นฝ่ายวิจัยกลับเป็นฟรองซัวส์ บิโซต์ หาใช่กัง เก็ก เอียว ไม่ , และมันได้กลายเป็นความสัมพันธ์อันงอกงาม


@@@@@@@

บิโซต์ได้ใช้เวลาระหว่างนั้นเขียนบันทึกชื่อ “เดอะเกท” (2003) ที่ต่อมาถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ที่เล่าถึงการถูกจับตัวที่เสียมเรียบและพบกับสหายดึจ (ดู Behind The Gate/2014)

และในอีกด้านหนึ่งของชีวิตกัง เก็ก เอียว อดีตครูสอนคณิตศาสตร์ผู้กลายเป็นพัศดีในสมัยเขมรแดง ก่อนถูกจับกุมเพื่อรอขึ้นศาลนั้น ดึจได้เปลี่ยน “อัตตจริต” ตนเองหลายอย่าง รวมทั้งการ “เข้ารีต” เปลี่ยนมาเชื่อพระเจ้า

และในเมษายน 2009 นั้น กัง เก็ก เอียว (66) ได้พบกับบิโซต์อีกครั้งในห้องพิจารณาคดีที่พวกเขาไม่อาจจะแม้แต่ทักทายกัน และนั่นเป็นครั้งสุดท้าย สหายดึจได้จบชีวิตในเรือนจำขณะอายุ 77 ปี ขณะที่บิโซต์เข้าสู่ปัจฉิมวัย (69) เห็นได้ว่า พวกเขาผ่านพ้นความเปราะบางอ่อนไหวที่กลายเป็นอดีตใดๆ ข้อเท็จจริงบางอย่างได้แห้งเหือดไปสิ้นกับความเจ็บปวดนั้นแล้ว

แม้แต่การเผชิญหน้าครั้งนี้ จะไม่มีถ้อยคำใดที่จะกล่าวถึงต่อกันได้ หรือนี่คือบุพกรรมดลใจ ที่ทำให้ฟรองซัวส์ บิโซต์ พบกับงานวิจัยชิ้นใหม่ที่เขาตั้งชื่อไว้เบื้องต้นว่า “ธรรมรัตนมาลา” งานวิจัยว่าด้วย “อิติปิโส” ทั้งภาคของธรรมคาถาและเวทไสยศาสตร์ หรือเราควรจะขอบคุณสหายดึจ ที่ปล่อยตัวนักวิจัยคนนี้ จากชมรมอัลลองแวงและทำให้เขาต้องกลับมาทำงานเชิงเอกสารที่สำนักงานพนมเปญ



ฉันคิดว่า ฉันควรจะขอบคุณ อิติปิโสฯ ฉบับสัตยา นรายัน โกเอ็นก้า ในฐานะที่บทธรรมโศลกของท่าน ซึ่งมีคำว่า “อิติปิโสฯ” อยู่นั้น ได้สร้างความรู้สึก “ร่วมสมัย” และก่อความรำเพิบเอิบอาบใจในการไปสู่เนื้อหาอื่นใดในคำว่าอิติปิโสแบบตำรับอื่นๆ

เช่นเดียวกัน แม้ที่มาอิติปิโสฯ ฉบับบิโซต์จะลือลั่นในทางตรงข้ามกับความปีติ โดยเมื่อคิดว่าต้องแลกกับชีวิตของนักวิจัยผู้ช่วยของเขาไปกับสงครามกลางเมืองทั้งนครเสียมเรียบและโดยเฉพาะกรุงพนมเปญที่เขาปักหลักทดลองแปลพระสูตรภาษาบาลีโดยมีอาจารย์เขมรเป็นผู้ช่วยนั้น

ตลอด 3 ปีเศษแห่งเวลาอันเหลือเชื่อที่ฟรองซัวส์ บิโซต์ มีสมาธิกับงานวิจัยชิ้นนี้ ที่เริ่มจากการแปลพระสูตรและธรรมคาถาอิติปิโสฯ จากความทรงจำชาวเขมรชราซึ่งเคยเป็นบรมครูของตน

กระทั่งในปี 1993 “อิติปิโสรัตนามาลา” ที่บิโซต์กับ ศ. Oskar von Hin?ber ผู้เชี่ยวชาญวรรณกรรมพระไตรปิฎกและภาษาบาลีซึ่งร่วมแปลวิจัย ผลงานชิ้นนี้จึงสำเร็จ และเป็นผลงานเถรวาทอีกชิ้นหนึ่ของฝ่ายเขมรที่ผ่านความยากลำบากอุปสรรคทั้งจากสงครามและที่สำคัญ กล่าวคือ ยากจะเชื่อว่า เป็นงานที่เกิดขึ้นโดยนักวิจัยตะวันตกซึ่งมีรากเหง้าจากคาทอลิก

ผลงานชิ้นนี้ ทำให้ม่านตาของฉันซึ่งกำลังหรุบโรย ขยายกว้างอย่างเล็กน้อยในหลายปีที่ขาดความสนใจในมนตราพระสูตร กว่าจะมีวาสนาพบพานกับ อิติปิโส ๑๐๘ ก็ผลาญเวลาไปกว่าค่อนชีวิตกับเรื่อง ๑๐๘ นานา กระทั่งถึงวัยพบพานกับอิติปิโสฯ ร่วมสมัยฉบับต่างๆ ดังที่กล่าวข้างต้น กระทั่งเวียนกลับมาบรรจบอย่างงงๆ กับอิติปิโสฉบับแขมร์ ที่เขียนโดย บารังและเยอรมันฉบับนี้




โดยเพื่อขยายเนื้อความปลายทางฉบับนี้ สำหรับต้นทุนรอบด้านและแรงบันดาลใจของนักวิจัยยุโรป ซึ่งบิโซต์เขียนอรัมกถาเพื่ออุทิศแด่ครูบาของตน

คนหนึ่ง คือ ผู้ที่ทำให้เขาได้รู้จักกับบทสวดบาลีอิติปิโส ที่เกิดจากครูคนแรกของตน ที่ทำให้เขาเกิดความประทับใจในบทพุทธคุณนี้ และอาจารย์อีกท่านซึ่งเป็นโลกครูคนที่ 2 นามว่า ครูยู อุน ครูสอนภาษาบาลีที่ทำหน้าที่ตรวจคำดูแลในการแปลงานของเขาโดยเฉพาะการ “ถอดสหัสนัย” “อิติปิโส ๑๐๘” ที่ซับซ้อน ตลอดจนการไปคัดลอกและค้นคว้าเพิ่มเติมจากหอสมุดแห่งชาติหรือบรรณาลัย

โดยการคัดลอกสำเนา “ธรรมคาถา” ที่เต็มไปด้วยปริศนาธรรมของครูยู อุน นี้ เข้าใจว่า ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดคัดลอกไว้ด้วยลายมือ ไม่เพียงเท่านั้น ในส่วนสำนวนแก้ไขที่เป็นภาษาเขมรทั้หมดนั้นด้วยที่ควรกล่าวว่า-น่าเสียดาย โดยหลังวันที่ทหารเขมรแดงได้ยึดกรุงพนมเปญและ กวาดต้อนประชาชนออกจากเมืองทั้งหมดในวันที่ 17 เมษายน 1975 ที่สร้างความแตกตื่นไปทั่วกรุงพนมเปญ

หลังจากเหตุนั้นราว 2-3 วัน ฟรองซัวส์ บิโซต์ ได้ออกมาตามหาอาจารย์ยู อุน ที่บ้านพักทางด้านใต้ของโอลิมปิกสเตเดี้ยม แต่น่าเสียดาย ครูยู อุน ได้ถูกบังคับให้ออกจากกรุงพนมเปญไปเช่นเดียวกับคนอื่นๆ ซึ่งการจากไปครั้งนั้น อาจารย์ยู อุน ด้วยความหวงแหน จึงหอบตำราอิติปิโสบาลีฉบับที่ตนคัดลอกไปด้วย

โอ “รัตนามาลา-อิติปิโส” ฉบับเขมร และ “อนิจจา ๑๐๘”














ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 ตุลาคม 2565
คอลัมน์ : อัญเจียแขฺมร์
ผู้เขียน : อภิญญา ตะวันออก
เผยแพร่ : วันพฤหัสที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2565
URL : https://www.matichonweekly.com/column/article_613137
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ