ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: E-Book "กาลานุกรม" พระพุทธศาสนาในอารยธรรมโลก  (อ่าน 2857 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28413
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


"กาลานุกรม" พระพุทธศาสนาในอารยธรรมโลก
(Delight Moment / สุมิตรา จันทร์เงา)

Chronology of Buddhism in World Civilization คือชื่อในภาษาอังกฤษของหนังสือเล่มนี้

ฉันได้รับมันทางไปรษณีย์จากเพื่อนรักคนหนึ่ง “ยินดี เลิศเจริญโชค”  อดีตคนข่าวที่ปัจจุบันทำงานอยู่ในองค์การสหประชาชาติ(UN) สำนักงานถนนราชดำเนิน


“ยินดี” เป็นนามอันไพเราะยิ่งอยู่แล้ว แต่น้ำใจของเธองามยิ่งกว่าสิ่งใด

เธอ ‘ตื่น’ อยู่เสมอกับสิ่งไม่ชอบมาพากลของบ้านเมืองนี้ เดือดร้อนกับความทุกข์ของผู้คน และ ‘ให้’ โดยไม่หวังผลใดมาตลอดชีวิต มีความสุขเสมอต้นเสมอปลายกับความงดงามภายในจิตวิญญาณยิ่งกว่าหน่วยงานที่เธอนั่งทำงานอยู่อยู่มากมาย

ตอนที่บ้านเพื่อนๆจมน้ำอยู่เยียบเย็นเมื่อปลายปีก่อน ยินดีอยู่ในบ้านที่แห้งผากย่านหัวลำโพง แต่เธอเดือดร้อนมากว่าพวกเราที่ถูกน้ำท่วมเสียอีก

ยินดีวิ่งวุ่นหาซื้อชุดกันน้ำสำหรับลุยเข้าไปดูบ้านพร้อมกับเรือยางแบบพายพอที่จะให้คนจมน้ำเอาตัวรอดได้บ้าง แล้วเธอก็ขนของเหล่านั้นมาประเคนให้ถึงตัวเราทุกคน พร้อมกับถามไถ่ไม่หยุดหย่อนว่ายังต้องการความช่วยเหืลออื่นใดอีกหรือไม่

เธอมักจะเดินทางอยู่เสมอ ไปกับทีมงานสหประชาชาติเพื่อช่วยเหลือผู้ที่อยู่กันดารห่างไกล โดยเฉพาะผู้ประสบภัยพิบัติ น้ำท่วม แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด สึนามิ ฯลฯ ที่ปากีสถาน..บังคลาเทศ..เกาหลีเหนือ และสารพัดประเทศที่คนทั่วไปไม่ค่อยไปกัน

และทุกครั้งยินดีมีของฝากเล็กๆน้อยๆมาให้เพื่อนเสมอ อาจไม่ได้มากมายในราคาค่างวด แต่ยิ่งใหญ่เสมอสำหรับคุณค่าทางใจที่เรามีให้กัน

กาลานุกรมฯ เป็นของฝากที่ไม่คาดคิด

ฉันได้ข่าวการจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้มานานแล้ว แต่ก็ไม่ทันได้คิดวางแผนจัดหา ยินดีก็ส่งทางพัสดุไปรษณีย์มาให้
เป็น “ธรรมทาน” ที่เธอปฏิบัติปกติวิสัยตลอดมา


เห็นแล้วเป็นสุข และปลื้มใจอย่างยิ่งกับเนื้อหาหนังสือที่มีคุณค่าและประโยชน์มหาศาล

เป็นเรื่องที่แปลกมาก...ฉันจับต้องหนังสือเล่มนี้ด้วยความรู้สึกพิเศษเหมือนของสูงค่า ทั้งที่เป็นหนังสือไม่มีราคา
ไม่มีราคาเพราะซื้อขายไม่ได้



ตัวอย่างเนื้อหาในหนังสือ


การพิมพ์ครั้งล่าสุดนี้ เป็นการพิมพ์พิเศษครั้งที่ ๖/๑ เนื่องในวันวิสาขบูชา ๒๕๕๕ มีการเพิ่มภาคพิเศษ ท้ายเล่มอีก ๑๐ บทความ  จำนวนพิมพ์ทั้งสิ้น ๙,๕๐๐ เล่ม  โดยคณะกรรมการอำนวยการจัดงาน “วิสาขบูชา พุทธบารมี” ประจำปี ๒๕๕๕ จำนวน ๓,๐๐๐ เล่ม และคณะผู้ศรัทธาอีก ๖,๕๐๐ เล่ม

เป็นธรรมทาน-ให้เปล่า-ห้ามจำหน่าย

ที่น่าสนใจยิ่งก็คือ ผู้ริเริ่มอุปถัมภ์การจัดทำเป็นหนังสือภาพ ได้แก่ บริษัทมหพันธ์ไฟเบอร์ซีเมนต์ จำกัด(มหาชน)

หนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องอะไรหรือ? และบริษัทมหพันธ์ไฟเบอร์ซีเมนต์นี่เป็นใครมาจากไหน ถึงได้บริจาคเงินมากมายจัดพิมพ์หนังสือปกแข็งเล่มใหญ่ กระดาษปอนด์หนาหนักพิมพ์สี่สีทั้งเล่ม ถึง ๒๗๖ หน้า



เรื่องมนุษย์เหยียบดวงจันทร์ก็บันทึกไว้ ในฐานะก้าวสำคัญของอารยธรรมโลก


สมองฉันหมุนติ้ว ย้อนเวลากลับไปหาอดีตช่วงที่เป็นนักข่าวของหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ แล้วภาพนั้นก็ลอยเข้ามาในวาบความจำ “กระเบื้องมุงหลังคาตราห้าห่วง” และโฆษณาสุดฮาชุด “นิเชา” กับชุดอวกาศที่นักบินอวกาศสามคนนั่งมองโลกแล้วคิดถึงบ้าน

นักบินอวกาศคนแรกบอกว่า...นั่นไง อเมริกาบ้านผม คนที่สองเป็นรัสเซียก็บอกว่า...นั่นไงรัสเซีย บ้านผม ส่วนคนที่เหลือตัวเตี้ยกว่าใครร้องไห้ ฮือๆๆแล้วชี้มือบอกว่า ...นั่นไงหลังคาบ้านผม...

เพื่อนนักบินอวกาศจากประเทศมหาอำนาจสองคนหันมามอง งงเป็นไก่ตาแตกว่าหลังคาบ้านเจ้านี่มันลอยเด่นทะลุอวกาศขึ้นมาให้เห็นได้ยังไงกัน ฉับพลันก็มีภาพอินเสิร์ชบ้านหลังหนึ่งเข้ามาในเฟรม เป็นบ้านที่มุงด้วยกระเบื้องตราห้าห่วง สีน้ำเงินเจิดแจ่มแบบสีของดาวโลก พร้อมข้อความโฆษณาปิดท้ายที่หลายคนจำติดปากว่า

“สีสวยโดดเด่นเห็นแต่ไกล กระเบื้องสีตราห้าห่วง สวยสด ทนหายห่วง”

นั่นมันหลายปีมาแล้วที่กลุ่มมหพันธ์ เน้นทำโฆษณาเครื่องหมายการค้าตรา "ห้าห่วง" (Ha-Huang) ที่ประกอบไปด้วย กระเบื้องไฟเบอร์ซีเมนต์มุงหลังคา (Fibre-Cement Roof Tiles) กระเบื้องคอนกรีตมุงหลังคา (Concrete Roof Tile) และแผ่นหินประดิษฐ์ทดแทนหินทรายธรรมชาติ (Artificial  Sand Stone)

ปัจจุบันบริษัทมหพันธ์ไฟเบอร์ซีเมนต์(มหาชน) เป็นที่รู้จักมากกว่าภายใต้เครื่องหมายการค้าตรา "เฌอร่า" (Shera) ซึ่งเป็นไม้ฝาสังเคราะห์ (Synthetic Wood) และเวลาเป็นข่าว ก็มักจะถูกเรียกชื่อกลุ่มธุรกิจสั้นๆว่ากลุ่ม “เฌอร่า”

ปัจจุบันธุรกิจของมหพันธ์กรุ๊ปอยู่ในมือทายาทสามคนนี้ คือ องเอก เตชะมหพันธ์ องอาจ เตชะมหพันธ์ และ องอร เตชะมหพันธ์

เป็นครอบครัวที่ โลว์-โพรไฟล์ อย่างยิ่งในวงสังคม แม้ธุรกิจจะ ไฮ-โพรฟิต อย่างแรง และที่แรงกว่าทุกสิ่งก็คือการทำคุณงามคุณดีตอบแทนแผ่นดิน โดยเฉพาะการทำนุบำรุงพุทธศาสนา

 ฉะนั้นอย่าได้แปลกใจ ถ้าท่านจะไม่เคยได้ยินชื่อคนในครอบครัวนี้ปรากฏตามสื่อที่รายงานข่าวของเหล่า “เซเล็บฯ” กันอย่างเอาเป็นเอาตาย





ความเป็นมาของกาลานุกรมมีผู้เคยเล่าไว้ว่า เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๔ ในโอกาสที่พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) แห่งวัดญาณเวศกวัน จะตีพิมพ์หนังสือ "จาริกบุญ-จารึกธรรม" ท่านได้มองเห็นว่าหนังสือดังกล่าวมีเนื้อหามาก ทำให้เล่มหนาเกินไป จึงดำริที่จะจัดปรับและตัดบางส่วนลดขนาดลง

พร้อมกับคิดว่าน่าจะจัดทำกาลานุกรม ลำดับเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา มาพิมพ์ไว้ต่อท้ายเป็นภาคผนวกของหนังสือจาริกบุญ-จารึกธรรม จะได้ช่วยให้ผู้อ่านได้ความรู้ความเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น

ปรากฏว่าพอดำเนินการไปแล้ว กาลานุกรมนั้นกลับมีความยาวมาก ประกอบกับหนังสือ “จาริกบุญ-จารึกธรรม” แม้จะจัดปรับใหม่แล้วก็ยังหนาอยู่ ถ้าใส่กาลานุกรมต่อท้ายเข้าไปก็จะหนาเกินสมควรจนไม่น่าอ่าน

ในที่สุดจำเป็นต้องเลือกพิมพ์เฉพาะหนังสือจาริกบุญ-จารึกธรรม อย่างเดียว ส่วนกาลานุกรมที่เสร็จแล้ว ได้เก็บไว้เฉยๆ

กระทั่ง บริษัท มหพันธ์ไฟเบอร์ซีเมนต์ จำกัด (มหาชน) ได้ให้ความสนใจที่จะจัดพิมพ์เพื่อเป็นธรรมทานแจกจ่ายเป็นความรู้ จึงได้มาขอความเห็นชอบและขอคำปรึกษาจากเจ้าประคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) ซึ่งท่านได้อนุโมทนาศรัทธา จนหนังสือกาลานุกรมได้เสร็จเรียบร้อย

 จัดพิมพ์ครั้งแรก วันวิสาขบูชา ๘ พฤษภาคม ๒๕๕๒

“กาลานุกรม พระพุทธศาสนาในอารยธรรมโลก" (Chronology of Buddhism in World Civilization) เป็นหนังสือภาพที่เรียบเรียงเหตุการณ์ในพระพุทธศาสนาและเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องในชมพูทวีป ตั้งแต่ยุคก่อนพุทธกาลมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นเรื่องของเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ มีทั้งการสร้างสรรค์และการทำลาย โดยมีภาวะจิตใจและภูมิปัญญาของมนุษย์แฝงเร้นอยู่เบื้องหลัง

รวมความแล้วในด้านหนึ่งหนังสือนี้เป็นประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนา อีกด้านหนึ่งบอกเล่าอารยธรรมของมนุษยชาติควบคู่กันไป เป็นประโยชน์ทั้งในแง่ความรู้ บทเรียน และเครื่องปรุงของความคิดให้นำความรู้ไปใช้ในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะการนำอารยธรรมไปสร้างสันติสุขอันถาวร

 

หนึ่งในบทพิเศษท้ายเล่ม


ผู้ที่สนใจต้องการหนังสือ น่าจะติดต่อรับหนังสือได้ด้วยตัวเองที่วัดญาณเวศกวัน
ถ้าหากยังโชคดีที่มีหนังสือเหลือแจกอยู่

หรือดาวน์โหลดไฟล์เป็นอีบุ๊คได้ที่นี่


หรือเข้าไป http://www.ebooks.in.th/ebook/1402/


ขอบคุณภาพข้อมูลจาก http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1340862053&grpid=&catid=02&subcatid=0200
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 28, 2012, 03:47:14 pm โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ