ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: พระพุทธศาสนา กับ การบริจาคอวัยวะ  (อ่าน 661 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28415
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
พระพุทธศาสนา กับ การบริจาคอวัยวะ
« เมื่อ: มีนาคม 13, 2021, 08:50:12 am »
0


พระพุทธศาสนา กับ การบริจาคอวัยวะ

บริจาคอวัยวะเป็นบุญสูงใหญ่

ผู้อํานวยการฯ : มีข้อห้ามในศาสนาพุทธหรือไม่.? เกี่ยวกับเรื่อง “การบริจาคอวัยวะ”

พระธรรมปิฎก : ตามปกติไม่มีข้อห้ามมีแต่จะสนับสนุนเพราะการบริจาคอวัยวะเป็นการเสียสละเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นต้องการให้ผู้อื่นพ้นจากความทุกข์ และมีความสุขการบริจาคจึงเป็นหลักธรรมที่สำคัญของพระพุทธศาสนาศาสนา ไม่ว่าจะเป็น “ทศพิศราชธรรม” ก็ดี การบำเพ็ญ“บารมี” ของพระพุทธเจ้าเมื่อยังเป็นพระโพธิสัตว์ก็ดี ก็มีการบริจาคเป็นคุณธรรมข้อแรก

การบริจาคนี้เป็นการให้เรียกว่า “ทาน” คือการให้เพื่อประโยชน์แก่ผูอื่นโดยเฉพาะในการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ซึ่งเรียกว่า “ทานบารมี” นั้น การบริจาคอวัยวะเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นเป็นความดีที่จำเป็นต้องทำเลยทีเดียว เพราะการก้าวไปสู่โพธิญาณต้องมีความเข้มแข็ง ของจิตใจในการเสียสละเพื่อความดี

ทั้งนี้ทานที่เป็นบารมี แบ่งเป็น ๓ ขั้นเช่นเดียวกับบารมีอื่นๆ คือ

     - ทานบารมีระดับสามัญ คือ การบริจาคทรัพย์สินเงินทองของนอกกายถึงจะมากมายแค่ไหนก็อยู่ในระดับนี้
     - ทานอุปบารมี คือ ทานบารมีระดับรองหรือจวนสูงสุดได้แก่ความเสียสละทําความดีถึงขั้นสามารถบริจาคอวัยวะเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นได้
     - ทานปรมัตถบารมี คือ ทานบารมีขั้นสูงสุดได้แก่ การบริจาคชีวิตเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นหรือเพื่อรักษาธรรม


@@@@@@@

แน่นอนว่าการบริจาคอวัยวะนั้นเป็นคุณธรรมสำคัญและเป็นบุญมากตามหลักพระพุทธศาสนานอกจากเป็นบารมีขั้นทานอุปบารมีแล้วยังโยงไปหาหลักสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เรียกว่า “มหาบริจาค” คือ การบริจาคใหญ่ซึ่งพระโพธิสัตว์จะต้องปฏิบัติอีก ๕ ประการ คือ

     ๑. บริจาคทรัพย์
     ๒. บริจาคราชสมบัติ
     ๓. บริจาคอวัยวะ และนัยน์ตา
     ๔. บริจาคตัวเองหรือบริจาคชีวิต และ
     ๕. บริจาคบุตรภรรยา

บริจาคบุตรและภรรยานั้น คนสมัยใหม่อาจจะมองในทางที่ไม่ค่อยดี  แต่ต้องเข้าใจว่าการบริจาคบุตรภรรยานี้ไม่ใช้ไปมองในแง่ทอดทิ้งบุตรภรรยา แต่มองในแง่ที่สามารถสละความหวงแหนยึดถือทางจิตใจอย่างคนทั่วไป  ที่เมื่อมีความยึดถือผูกพันด้วยความรัก ก็มักจะมีความเอนเอียงเป็นอย่างน้อย ผู้ ที่จะเป็นพระพุทธเจ้าได้ คือ พระโพธิสัตว์นั้น จิตใจจะต้องตรงต่อธรรมสามารถรักษาความถูกต้องโดยไม่เห็นแก่อะไรทั้งสิ้น จึงต้องสละความยึดถือแม้แต่ลูกเมียได้แต่การจะสละบุตรภรรยาคือยอมให้เขาไปกับใครนั้น มีข้อแม้ว่าต้องให้เขายินดีพอใจหรือเต็มใจด้วยถ้าเขาไม่พอใจก็ไม่บริจาคท่านมีเงื่อนไขไว้แล้ว

หันกลับมาเรื่องการบริจาคอวัยวะเป็นอันว่า พระโพธิสัตว์จะเป็นพระพุทธเจ้าได้จำเป็นต้องบำเพ็ญมหาบริจาค ซึ่งมีการบริจาคอวัยวะ บริจาคนัยน์ตา บริจาคชีวิตรวมอยู่ด้วย เพราะฉะนั้นจึงเป็นการแน่นอนอยู่แล้วว่าไม่มีการห้าม นอกจากจะทำด้วยโมหะ และโดยไม่มีเหตุผล ส่วนการทำอย่างมีเหตุผล คือ มีจิตเมตตากรุณาต้องการเสียสละให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่นนี้ท่านสนับสนุน

@@@@@@@

บริจาคอวัยวะคนตายบุญได้แก่ใคร

ผู้อำนวยการฯ : ถ้าถามว่าการบริจาคอวัยวะนั้นได้บุญหรือไม่และใครเป็นคนได้อย่างเช่นคนหนึ่งแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะไ ว้แต่เสียชีวิตในภาวะที่ไม่สามารถบริจาคได้ กับอีกคนหนึ่งไม่ได้แสดงความจำนงบริจาค แต่เสียชีวิตด้วยภาวะสมองตาย แล้วญาติได้ตัดสินใจบริจาค ลักษณะนี้ไม่ทราบว่าใครจะเป็นคนได้บุญหรือได้บุญมากน้อยอย่างไร.?

พระธรรมปิฎก : ในแง่นี้ต้องแยกออกเป็น ๒ ประเด็น

ประเด็นที่หนึ่ง คือ “เป็นบุญหรือไม่.?”
ซึ่งตอบได้เลยว่า เป็นบุญอยู่แล้ว
ดังที่พระโพธิสัตว์ท่านบริจาคและเป็นบุญชั้นสูงถึงขั้นเรียกว่าบารมีเลยทีเดียวแต่ สำหรับคนทั่วไปจะมีความตั้งใจที่จะบรรลุโพธิญาณหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าเราไม่ได้มีความตั้งใจไม่ได้ตั้งปณิธานอย่างนี้ ก็ไม่เรียกว่า เป็นบารมี แต่เป็นบุญ ซึ่งจัดว่าเป็นบุญอันยิ่งใหญ่เลยทีเดียว เพราะเป็นบุญที่ทำได้ยากต้องมีความเสียสละจริงๆ เป็นอันว่าได้บุญแน่นอนเพราะเกิดจากเจตนาที่เสียสละให้ด้วยความกรุณาปรารถนาดีต่อผู้อื่นอันใหญ่หลวง

ส่วนที่ว่า “ใครจะเป็นผู้ได้บุญ.? ” นั้น
ตอบง่ายๆว่า ใครเป็นผู้บริจาคคนนั้นก็ได้ เพราะมันอยู่ที่เจตนาของผู้นั้น
ในกรณีที่เป็นคนที่ตายไปแล้วและญาติบริจาค ก็เลยกลายเป็นว่าคนที่ตายไปแล้วไม่ได้รับ เพราะว่าไม่ได้เจตนาในแง่นี้ต้องพูดอีกขั้นหนึ่ง คือ ญาติที่บริจาคนั้นต้องอุทิศกุศลไปให้เขาอีกทีหนึ่งในทางธรรมถือว่า ถ้าบริจาคในขณะที่ตัวยังเป็นอยู่ก็จะเป็นบุญชั้นสูง

ผู้อำนวยการฯ : คนที่ได้รับอวัยวะไปแล้วทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้เขาจะได้รับผลบุญนั้นหรือไม่เพราะทางศูนย์รับบริจาคอวัยวะฯไม่ได้บอกชื่อของคนที่บริจาคให้ผู้ที่รับอวัยวะไปจะอธิษฐานอย่างไรดี

พระธรรมปิฎก : แม้จะไม่ระบุชื่อผู้ที่เราอุทิศส่วนกุศลให้ เพียงแต่ตั้งใจว่าอุทิศให้แก่เจ้าของอวัยวะที่บริจาคให้เรา หรือที่เราได้รับบริจาคนี้ ก็พอแล้ว


@@@@@@@

บริจาคอวัยวะแล้ว เกิดใหม่ร่างกายยิ่งดี

ผู้อำนวยการฯ : ปัญหาที่เราเจอในการทำการประชาสัมพันธ์ให้คนทั่วไปแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะคือบางคนก็ยังมีความเชื่อว่าถ้าให้อวัยวะเขาไปแล้วในชาตินี้เกิดมาชาติหน้าจะมีอวัยวะไม่ครบ

พระธรรมปิฎก : อันนี้ไม่จริงเลยมีแง่พิจารณา ๒ อย่างด้วยกัน

๑. ในแง่หลักฐานทางคัมภีร์แสดงว่าพระพุทธเจ้าเมื่อเป็นพระโพธิสัตว์ทรงบริจาคนัยน์ตาก็เป็นเหตุให้พระองค์ทรงได้สมันตจักษุ คือ เป็นพระเนตรหรือดวงตาที่เป็นพิเศษสุดของพระพุทธเจ้าซึ่งเราแปลว่า เป็นดวงตาซึ่งมองเห็นโดยรอบ ไม่ใช่ดวงตาที่เป็นวัตถุอย่างเดียว แต่หมายถึงดวงตาทางปัญญาด้วยในแง่พระคัมภีร์ก็สนับสนุนชัดเจนว่าชาติหน้ามีแต่ผลดี

๒. ในแง่เหตุผลที่เข้าใจกันว่าบริจาคอวัยวะไปแล้ว เกิดมาอวัยวะจะบกพร่องเหตุผลที่ถูกต้องไม่ใช้อย่างนั้น เราต้องมองว่า ชีวิตที่เกิดมานี้จิตใจเป็นส่วนสำคัญในการปรุงแต่งสร้างสรรค์อย่างเราเป็นอยู่ทุกวันนี้ ถ้าเรามีเมตตาคิดดีปรารถนาดีต่อผู้อื่น ยิ้มแย้มแจ่มใสต่อไป หน้าตาเราจะถูกปรุงแต่งให้แจ่มใสเบิกบาน ในทางกลับกันถ้าเราคิดร้ายต่อผู้อื่นมักโกรธ อยากจะทำร้ายรังแกเขาอยู่เรื่อย หน้าตาก็จะบึ้งตึงเครียดหรือถึงกับดูโหดเหี้ยมนี้ เป็นผลมาจากสภาพจิตที่เคยชินในชีวิตประจำวัน แม้แต่ในชาติปัจจุบันนี้เอง

@@@@@@@

ทีนี้ชีวิตที่จะเกิดต่อไปก็จะต้องอาศัยจิตที่มีความสามารถในการปรุงแต่งขอให้คิดง่ายๆว่าคนที่จะบริจาคอวัยวะให้คนอื่นก็คือปรารถนาดีต่อเขา อยากให้เขาพ้นจากความทุกข์หายเจ็บป่วยอยากให้เขาเป็นสุขจิตอย่างนี้ในตอนคิดก็เป็นจิตที่ดีคือ จิตใจยินดีเบิกบานคิดถึงความสุขความดีงามความเจริญจิตก็จะสะสมความโน้มเอียงและพัฒนาความสามารถในด้านนี้ถ้าคิดบ่อยๆจิตก็จะยิ่งมีความสามารถและมีความโน้มเอียงไปในทางที่จะปรุงแต่งให้ดีและคุณสมบัตินี้ก็จะฝังอยู่เป็นสมรรถภาพของจิต เพราะฉะนั้นในการบริจาคเราจึงต้องทำจิตใจให้ผ่องใสให้ประกอบด้วยคุณธรรมมีเมตตาปรารถนาดี และอันนี้แหละที่จะทำให้เราได้บุญมาก

ตรงกันข้ามกับคนที่คิดร้ายอยู่เสมอคิดแต่จะโกรธคิดแต่จะรังแกสัตว์อยากจะทำร้ายคนโน้นคนนี้คนที่คิดทำร้ายเขานั้นจิตจะคิดจะนึกถึงการบุบสลายความเจ็บปวดอาการมีเลือดไหลสภาพแตกหักแหว่งวิ่นบกพร่องขาดหายและการสูญเสียที่ร้ายๆไม่ดีทั้งนั้น และเมื่อคิดอยู่เสมอจิตก็มีความโน้มเอียงที่จะคิดในแง่นี้ และก็จะพัฒนาความสามารถที่จะคิดไปในทางที่ไม่ดีในการทำลายในการแตกสลายคิดถึงชีวิตคิดถึงคนเมื่อไร ก็จะมองเห็นแต่รูปร่างไม่ดีบุบสลายแขนขาดขาขาดเจ็บปวดทรมานนานเข้าบ่อยเข้า คนอย่างนี้ก็จะหมดความสามารถในการปรุงแต่งในทางที่ดี

คนที่ทำร้ายคนอื่นชอบรังแกข่มเหงคนอื่นหรือคิดร้ายอยู่เสมอเมื่อไปเกิดใหม่ ก็จะมีปัญหาเรื่องความบกพร่องของอวัยวะมักเจ็บป่วย ประสบอันตรายอะไรต่างๆ เพราะว่าจิตสะสมความโน้มเอียงและพัฒนาความสามารถในทางไม่ดีจนฝังลึก เรียกว่า ลงร่องอย่างนั้นแล้ว มันก็ปรุงแต่งชีวิตร่างกายของตัวให้เป็นไปในทางนั้น หรือได้อย่างนั้น แค่นั้น


@@@@@@@

ในทางตรงข้ามจิตที่พัฒนาความสามารถในทางที่ดี เช่น เมื่อบริจาคอวัยวะเราคิดถึงคนอื่นในทางที่ดีมีกรุณาธรรมการที่เราบริจาคอวัยวะให้เขานั้น ก็คือจะทำให้เขามีร่างกายมีอวัยวะสมบูรณ์ขึ้นพ้นจากความบกพร่องให้เขาหน้าตาผ่องใส ให้เขามีชีวิตอยู่กับครอบครัวญาติมิตรของเขาอย่างมีความสุขความคิดอย่างนี้ยิ่งจิตเราคิดบ่อยก็ยิ่งดีเมื่อเราคิดหรือนึกถึงบ่อยๆ จิตของเราก็จะมีความโน้มเอียงพร้อมทั้งพัฒนาความสามารถที่จะปรุงแต่งให้ดี

พอไปเกิดใหม่ จิตจะปรุงแต่งอะไรก่อนล่ะ  จิตก็ต้องปรุงแต่งชีวิตของตัวเองนั่นแหละ เมื่อจิตสะสมมามีความโน้มเอียงและมีความสามารถในทางที่ดีอย่างนั้น มีแต่ภาพของร่างกายและอวัยวะที่สวยงามสมบูรณ์ซึ่งได้สะสมไว้ มันก็จะปรุงแต่งชีวิตร่างกายรูปร่างหน้าตาให้ดีให้งามให้สมบูรณ์ อันนี้ก็เป็นเหตุผลในเรื่องของกรรม คือ หลักกรรมหรือกฎแห่งกรรมตามธรรมชาตินั่นเอง

ในเรื่องของกรรมนั้นเจตนาเป็นตัวการสำคัญในการปรุงแต่งและจุดแรกเมื่อคนเกิดคือเริ่มชีวิตขึ้นก็เป็นธรรมดาว่าจะต้องปรุงแต่งชีวิตของตนนั้นเองมันไม่ปรุงแต่งที่ไหนอื่นมันก็ใช่ความสามารถนั้นปรุงแต่งชีวิตของตนเองนั่นแหละก่อนอื่นมันมีความโน้มเอียงและความสามารถอย่างไรก็ปรุงแต่งอย่างนั้น

เพราะฉะนั้น จึงแน่นอนว่า ไม่มีปัญหาในเรื่องการบริจาคอวัยวะ ไม่มีปัญหาขัดข้องทางพระพุทธศาสนาและเหตุผลตามกฎธรรมชาติ แต่มีเหตุผลในทางสนับสนุน




ที่มา : คัดลอกบางส่วนจาก หนังสือพระพุทธศาสนากับการบริจาคอวัยวะ
พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) ให้สัมภาษณ์แก่ นายแพทย์วิศิษฏ์ ฐิตวัฒน์  ผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย ที่วัดญาณเวศกวัน จ.นครปฐม เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๔๒ เวลา ๑๔.๐๐ น.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 14, 2021, 06:08:06 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ