ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ตามรอยพุทธทาส...กินอยู่อย่างต่ำ มุ่งกระทำอย่างสูง  (อ่าน 497 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออนไลน์ ออนไลน์
  • กระทู้: 28439
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0




ตามรอยพุทธทาส...กินอยู่อย่างต่ำ มุ่งกระทำอย่างสูง

หลายปีก่อน เมื่อมีโอกาสสัญจรไปสวิตเซอร์แลนด์ ผมไปเยือนเมืองเล็กๆ ริมฝั่งทะเลสาบเจนีวา อย่าง เวเวย์ เพื่อไปค้นหาคำตอบว่า เหตุใด ยามที่ชีวิตตกต่ำสุดขีด ดาราตลกและผู้กำกับหนังชื่อก้องโลกอย่าง ชาลี แชปลิน จึงเลือกมาใช้ชีวิตที่เมืองนี้ตราบจนลมหายใจสุดท้าย

ชาลี แชปลิน เกิดที่อังกฤษ โด่งดังเป็นพลุแตกที่อเมริกา จุดเปลี่ยนในชีวิตเกิดขึ้นเมื่อเขาตัดสินใจสร้าง “The Great Dictator” หนังตลกที่มุ่งเสียดสีเย้ยหยันจอมเผด็จการฮิตเลอร์ แล้วตัวเขายังเรียกร้องให้สหรัฐยื่นมือเข้าช่วยโซเวียตรัสเซีย ที่กำลังถูกกองทัพนาซีบดขยี้ แต่โชคร้ายที่รัสเซียเป็นคอมมิวนิสต์ แล้วเวลานั้นสังคมอเมริกันก็กำลังกลัวผีคอมมิวนิสต์สุดขีด จากดาวตลกที่มีคนคลั่งไคล้ เขากลายเป็นคนที่ถูกเกลียดชัง และกลายเป็น “บุคคลที่ไม่พึงปรารถนา”

ตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ชาลี แชปลิน อพยพครอบครัวมาพักพิงที่เวเวย์ เมืองเล็กๆ ที่เขาหลงรัก นานเกือบ 20 ปี กว่าที่อเมริกันชนจะตื่นจากคำสาบ แล้วไถ่บาปด้วยการเชิญเขามารับรางวัล “ศิลปินผู้สร้างสรรค์ศิลปะที่ยิ่งใหญ่ให้วงการภาพยนตร์ในรอบศตวรรษ”

@@@@@@

ที่เวเวย์จึงมีรูปปั้นชาลี แชปลิน ที่ใครๆ ต้องไปถ่ายรูปด้วย ตลาดริมทะเลสาบที่ชาลีชอบเดิน เทศกาลไวน์ที่ชาลีชอบมาชิม ร้านอาหารที่เขาชอบไปนั่ง และแน่นอน สุสานที่ฝังร่างของดาวตลกรูปร่างเล็กแต่ยิ่งใหญ่ในใจชน ล้วนแล้วแต่ถูกบันทึกไว้ให้เป็นเกียรติ ที่สำคัญคือเกือบทุกที่ยังคงสภาพเดิมๆ เหมือนเมื่อตอนชาลียังมีชีวิตอยู่ ทั้งๆ ที่เขาจากโลกนี้ไปกว่า 30 ปีแล้ว

ความทรงจำที่เวเวย์ ผุดพรายขึ้นในห้วงคำนึง ระหว่างที่ผมตั้งจิตแน่วแน่จะไปตามรอยอริยสงฆ์ที่โลกยกย่อง คือ ท่านพุทธทาสภิกขุ ณ แผ่นดินเกิดที่บ้านพุมเรียง อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ในความแตกต่างระหว่างดาวตลกกับบรรพชิต ชาลี แชปลิน กับท่านพุทธทาสมีความคล้ายกันตรงความคิดที่ไม่เหมือนใครหรือตามใคร

ท่านพุทธทาสศึกษาลึกซึ้งถึงแก่นธรรม จนกล้าที่กล่าวว่าท่านมิได้นับถือพระพุทธเจ้า แต่ท่านนับถือคำสอนของพระพุทธเจ้า ท่านไม่ส่งเสริมให้กราบไหว้พระพุทธรูป เพราะคนไปยึดติดกับการสร้างและกราบไหว้พระพุทธรูป จนไม่ใส่ใจคำสอนของพระพุทธเจ้า

ดังคำกลอนว่า...สมัยนี้พวกเราเอาแต่ไหว้ พอบอกให้ประพฤติธรรมก็กำหู... แน่นอนที่สุด ข้อหาที่ท่านได้รับคือเป็นคอมมิวนิสต์แฝงตัวมาทำลายพระพุทธศาสนา จวบจนเมื่อท่านละสังขารไปแล้ว คนไทยจึงตื่นตัวเรียนรู้ชีวิตและหลักธรรมของท่าน เมื่อองค์การยูเนสโกยกย่องท่านเป็นบุคคลสำคัญของโลกในปี 2549



แต่ในความคล้าย ก็มีความต่าง เพราะสถานที่สำคัญในชีวิตท่านพุทธทาสหลายแห่งกำลังมีลมหายใจรวยริน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาคารเรียนสร้างด้วยไม้ ภายในวัดโพธาราม บ้านพุมเรียง ที่ท่านพุทธทาสเรียนชั้นประถมศึกษา และยังหลงเหลือความงามที่ลายฉลุตามหน้าจั่วกับเชิงชาย ดูด้วยสายตาแล้วจัดว่าทรุดโทรม แต่น่าจะบูรณะกอบกู้ให้ดูดีได้หากลงมือเสียแต่วันนี้ แต่ชาวบ้านเปรยว่าจะถูกรื้อในอีกไม่นานนี้แล้ว ที่น่าใจหายเสียยิ่งกว่า คือ โบสถ์วัดอุบล สถานที่ที่ท่านพุทธทาสอุปสมบท ปี 2469 กล่าวได้ว่า คือที่เกิดทางธรรมของท่านพุทธทาส

ปัจจุบันวัดนี้ถูกยุบรวมเป็นส่วนหนึ่งของวัดพุมเรียง ตัวโบสถ์ต้องใช้เครื่องค้ำยันไม่ให้พังลงมา หลังคาทะลุหลายจุด แม้ที่หน้าบันยังพอเห็นลวดลายวิจิตรตา แต่ถ้าโดนพายุกระหน่ำแรงๆ อาจต้านไม่อยู่ ทราบจากท่านเจ้าอาวาสวัดพุมเรียงว่า ขณะนี้มีหลายฝ่ายกำลังยื่นมือเข้าช่วยเหลือ แต่จะทันกาลหรือไม่.?

ส่วนบ้านเกิดท่านพุทธทาสในตัวตลาดพุมเรียง เป็นเรือนไม้สองชั้นสภาพยังดี แต่ไม่มีญาติพี่น้องของท่านพักอาศัยแล้ว โดยชั้นล่างให้เช่าเป็นร้านอะไหล่ยนต์และร้านขายของชำ สุดท้ายคือกุฏิเล้าหมู ภายในวัดสระตระพังจิก เขตพุมเรียง สถานที่เกิดนาม “พุทธทาส” 

    ผู้ปวารณาตนเป็นทาสแห่งพุทธะ เพราะเป็นที่ที่ท่านบุกเบิกอุดมคติแบบ...กินอยู่อย่างต่ำ มุ่งกระทำอย่างสูง... คือใช้ชีวิตเรียบง่ายที่สุด แต่มุ่งมั่นค้นหาแก่นแท้ของพุทธศาสนา ศึกษาพระไตรปิฎกอย่างลึกซึ้ง จนถ่ายทอดออกมาเป็นงานเขียนชิ้นสำคัญยิ่ง คือตามรอยพระอรหันต์ พุทธประวัติจากพระโอษฐ์ ฯลฯ

@@@@@@

และที่นี่คือ สวนโมกขพลาราม (อารามอันเป็นกำลังแห่งการหลุดพ้น) แห่งแรก ก่อนที่จะย้ายไปสวนโมกข์ปัจจุบัน ณ ต.เลม็ด อ.ไชยา ปัจจุบัน กุฏิเล้าหมู (กุฏิที่สร้างขึ้นอย่างง่ายๆ เปรียบดั่งเล้าหมู) ยังคงอยู่ และวัดสระตระพังจิกยังมีพระจำพรรษา

ผมคิดว่าการให้ความหมายกับสถานที่ในชีวิตบุคคลสำคัญระดับโลก เฉกเช่นท่านพุทธทาส มิใช่การมัวหลงติดกับวัตถุจนลืมใส่ใจแก่นแท้ในคำสอน อย่างที่เรียกว่าปรากฏการณ์ “พระพุทธรูปบังพระพุทธเจ้า” ทว่า เป็นการเรียนรู้เพื่อความงอกงามทางปัญญา อย่างที่เรียกว่า “สังเวชนียสถาน”

ซึ่งถ้าอนุรักษ์สถานที่นั้นๆ ไว้ให้ดี แล้วบริหารจัดการให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางปัญญา ก็จะมีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศจำนวนมากมาเที่ยวชมแล้วเกิดแรงบันดาลใจ กลับไปศึกษาหลักธรรมของท่านพุทธทาสอย่างจริงจัง และนี่มิใช่หรือ คือความหมายของการยกย่องท่านในฐานะ “บุคคลสำคัญของโลก”
(หอจดหมายเหตุท่านพุทธทาส หรือสวนโมกข์กรุงเทพฯ เปิดแล้วที่สวนรถไฟ จตุจักร สนใจคลิก www.dhamm4u.com)


ขอบคุณ : https://www.komchadluek.net/news/lifestyle/69775
เรื่อง - ภาพ... "ธีรภาพ โลหิตกุล" ,14 สิงหาคม 2553 - 06:00 น.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 24, 2020, 08:33:50 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ