ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: การกระทำของ ”ไอซ์ หีบเหล็ก” เป็นเรื่องของ กฎแห่งกรรม หรือไม่.?  (อ่าน 414 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28431
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0





การกระทำของ ”ไอซ์ หีบเหล็ก” เป็นเรื่องของ กฎแห่งกรรม หรือไม่.?
 
ข่าว ไอซ์ หีบเหล็ก กำลังเป็นที่สนใจและถูกตั้งคำถามต่อการกระทำของเขา ซีเคร็ตจึงเกิดข้อสงสัยเรื่องพฤติกรรมและการกระทำของไอซ์ หีบเหล็ก รวมไปถึงการหาทางแก้ปัญหาเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีกด้วยธรรมะ ซีเคร็ตจึงได้ขอความเมตตาจากพระครูธรรมรัต (ธนัญชัย เตชปญฺโญ) แห่งวัดญาณเวศกวัน ช่วยตอบปัญหาธรรมนี้

”การกระทำของไอซ์ หีบเหล็กถือว่าเป็นเรื่องของกฎแห่งกรรมหรือไม่ และถ้าเราเป็นไอซ์ หีบเหล็ก จะทำอย่างไรให้หลุดพ้นจากวิบากกรรมที่ต้องฆ่ากันไปฆ่ากันมาเช่นนี้ แล้วถ้าเราตกเป็นเหยื่อของฆาตกร ควรทำตัวอย่างไรให้รอดจากการถูกฆ่า และคดีนี้สอนหรือเตือนใจเราอย่างไรบ้างคะ พระอาจารย์”

พระอาจารย์ไขปัญหาธรรมดังนี้ :-

ก่อนตอบคำถาม ผู้เขียนขอชื่นชมผู้ถามสักเล็กน้อยว่า มีความเป็นนักศึกษาที่ดีที่สนใจใคร่ธรรมและรู้จักน้อมนำมาสู่วิถีชีวิต ชาวพุทธผู้ได้ชื่อว่า เป็นผู้ตื่น รู้ เบิกบาน ต้องเป็นนักศึกษาชนิดที่ใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์อย่างนี้ และเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในความรู้ ชาวพุทธต้องจับหลักให้ได้ โดยเฉพาะหลักกรรม ซึ่งเป็นหลักสำคัญสำหรับการดำเนินชีวิตของมวลมนุษยชาติ แต่ก็ต้องเตือนตนบ่อยๆ ด้วยว่า

แม้หลักกรรมจะสำคัญแต่ก็ยังมีหลักอื่นๆ ที่ต้องระลึกเสมอ ไม่เช่นนั้นจะเหมารวมไปหมดว่าอะไรๆ ที่เป็นไปนั้นเป็นเพราะกรรมเสียหมด อย่างนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เป็นความเห็นผิดชนิดหนึ่ง

ผู้สนใจพึงศึกษาเพิ่มเติมเรื่อง นิยาม ๕ (ได้ในพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)>>> http://www.84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=223)

@@@@@@

กรรม หมายถึง การกระทำทางกาย วาจา และใจ ที่ประกอบด้วยเจตนา หรือ กรรมก็คือเจตนา คือความจงใจทำทางกาย ทางวาจา ทางใจ นั่นเอง เพราะฉะนั้น ที่ถามว่าการกระทำของไอซ์ หีบเหล็ก เป็นเรื่องกรรมหรือกฎแห่งกรรมไหม? ก็ชัดตามหลักแล้วว่า เป็นเรื่องกรรม หรือ กฎแห่งกรรมแน่นอน

แต่อาจจะไม่ใช่ในแบบมุมมองของผู้ถาม คือ ไม่ใช่ว่าเขาเคยฆ่าเราในชาติก่อน ชาตินี้เราเลยต้องฆ่าเขา มนุษย์ทุกคนมีเจตนาเป็นกรรมของตนเอง แม้คนอื่นจะเคยทำร้ายเบียดเบียนเรา เราก็มีศักยภาพความสามารถเป็นของตนเองที่จะยับยั้งชั่งใจที่จะไม่ทำร้ายเบียดเบียนตอบได้ กล่าวแบบที่ชาวพุทธนิยมพูดกันว่า มนุษย์มีความสามารถที่จะไม่จองเวรจองกรรมกันได้

เพราะฉะนั้น การกระทำของไอซ์ หีบเหล็ก อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นจากการจองเวรจองกรรมกันมาแต่ชาติก่อน แต่อาจจะเกิดขึ้นจากความจงใจในชาติปัจจุบันนี้เอง ซึ่งรากเหง้าอันเป็นมูลเหตุก็มาจากความเห็นผิด ความใคร่ ความโกรธ ฯลฯ ที่อาจเรียกรวมๆ ว่ากิเลสนั่นเอง


@@@@@@

การอธิบายกรรมและผลของกรรม (วิบาก) ในแบบที่ผู้ถามเข้าใจนั้น เป็นการอธิบายสิ่งที่สลับซับซ้อนให้เข้าใจง่ายในการสื่อสารเท่านั้น (Simplify) ซึ่งอาจจะทำให้พลาดไปจากหลักของกรรมได้

ดังนั้น ชาวพุทธต้องตระหนักว่า กรรมและการให้ผลของกรรมนั้น เป็นสิ่งที่มีความซับซ้อนอย่างยิ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เป็นสิ่งอันบุคคลไม่ควรคิด เมื่อบุคคลคิด พึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความเป็นบ้า เดือดร้อน (อจินไตย)

เพื่อความชัดเจนยิ่งขึ้น อาจกล่าวอย่างนี้ว่า เมื่อบุคคลกระทำสิ่งใดก็ตามย่อมรับผลจากสิ่งที่กระทำนั้นเสมอ แต่ว่าผลของการกระทำจะออกมาในรูปแบบไหนอย่างไรนั้น เป็นเรื่องเหนือสามัญวิสัยที่มนุษย์จะพึงคิดได้

สำหรับนักศึกษาหากต้องการทราบหลักกรรมให้ชัดเจนยิ่งขึ้นสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จาก จูฬกัมมวิภังคสูตร ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอธิบายตามสภาวธรรมของบุคคล เช่น บุคคลมีเจตนาฆ่าเป็นประจำ (กรรม) ส่งผล (วิบาก) ให้เกิดสภาวะตัดรอนชีวิต หากละจากโลกนี้ไปแล้ว ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้าเกิดมาเป็นมนุษย์ในที่ใดก็จะเป็นผู้มีอายุสั้น ฯลฯ

แต่ก็มิได้หมายความว่า มนุษย์ที่เกิดมาอายุสั้นจะเป็นเพราะผลกรรมชั่วชนิดนี้ เพราะบางครั้งกรรมดีก็มาตัดรอนชีวิตนี้ให้ไปสู่ภพภูมิที่ดีกว่าได้เช่นกัน

@@@@@@

ส่วนการจะหลุดพ้นจากผลแห่งการกระทำของตนทั้งในอดีตและปัจจุบันนั้น ก็ยังคงใช้ความรู้จากหลักกรรมเช่นเดิม คือ กรรมที่ได้ทำลงไปแล้วนั้น ย่อมให้ผลหรือรอให้ผลเสมอ แต่การให้ผลของกรรมก็ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยด้วย เช่น ถ้ากรรมดีแรงกว่าก็อาจตัดรอนผลของกรรมชั่วให้เบาบางลง หรือ ชะลอผลของกรรมชั่วนั้นไว้ก่อนได้ แต่ไม่ได้หักล้างกันอย่างที่เข้าใจโดยทั่วไป

ดังนั้น ในกรณีของไอซ์ หีบเหล็ก และผู้เสียชีวิต (รวมถึงญาติของผู้เสียชีวิต) หากตั้งเจตนาที่จะไม่จองเวรต่อกันก็เป็นจุดเริ่มต้นของกรรมที่ดี ซึ่งจะช่วยให้ไม่ต้องมาเวียนว่ายทำร้ายเบียดเบียนกันต่อไปอีก และไม่ประมาทเร่งลดละกรรมชั่วหยาบ หมั่นสร้างสมกรรมที่ดีงาม โดยมีจุดหมายปลายทางสูงสุดตามหลักพระพุทธศาสนา คือ พระนิพพาน ดับกิเลสและดับขันธ์ได้โดยสิ้นเชิง กรรมทั้งหลายก็จักไม่อาจให้ผลอีกต่อไป

สำหรับคำถามที่ว่า หากเราตกเป็นเหยื่อจะเอาตัวรอดจากฆาตกรได้อย่างไรนั้น ถ้าเป็นขั้นของการป้องกันก็ต้องหมั่นสร้างสมพฤติกรรมทางกายวาจาที่ดีงาม มีเมตตากรุณาเป็นพื้นจิต เพาะบ่มปัญญาให้รู้เท่าทันความจริงของโลกและชีวิต เลือกคบมิตรดี เลือกประกอบวิชาชีพอันเหมาะควร และเรียนรู้ศิลปะป้องกันเอาไว้บ้าง แต่แม้ว่าจะป้องกันไว้ดีอย่างไร หากต้องประสบเหตุการณ์เช่นนั้น


@@@@@@

สิ่งที่สั่งสมเอาไว้ก็จักเป็นปัจจัยให้ตั้งสติได้ว่องไว เพื่อใช้ควบคุมอารมณ์ความรู้สึก แล้วเจริญเมตตากรุณาให้เป็นพื้นของใจ จักได้เกิดมีปัญญาเฉียบแหลมฉับไวมองเห็นทางหนีทีไล่เอาตัวรอดได้อย่างปลอดภัย ซึ่งจะได้ผลสัมฤทธิ์หรือไม่นั้น ปัจจัยสำคัญที่ทุกคนกำหนดเองได้ ก็คือการฝึกฝนเตรียมพร้อม ด้วยความไม่ประมาทต่อชีวิตที่ต้องเป็นไปในสังคมของมนุษย์

ถ้ามองเพียงแค่เหตุการณ์นี้ ก็อาจจะได้คติเตือนใจให้ดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท เลือกเป็นเลือกไปในทางที่ดีงามดังที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว แต่ถ้าจะไปให้ไกลกว่าการดำเนินชีวิตของตัว ก็ต้องมองให้เห็นทั่วตามจริงว่า สังคมมนุษย์เป็นไปอย่างไร จะช่วยกันเกื้อกูลอะไรได้บ้าง

มนุษย์ที่สร้างกรรมชั่วล้วนแต่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งสรรค์สร้าง ไม่ต้องนับเลยไปไกลถึงอดีตชาติ เอาแค่ความตั้งใจของพ่อแม่ที่จะให้มนุษย์สักคนถือกำเนิด การเลี้ยงดูตามช่วงวัย ก็ล้วนแต่มีเหตุปัจจัยมากมายให้ต้องใคร่ครวญพิจารณา การศึกษาทั้งในและนอกระบบ ตลอดจนสังคมสิ่งแวดล้อมจะต้องจัดปรับกันอย่างไร

โดยเฉพาะต้องช่วยกันมองและลงมือทำกันเสียใหม่ให้เป็นองค์รวมอย่างมีส่วนร่วม ต้องทำให้เห็นกันชัดๆ ว่าชีวิตของมนุษย์เราเชื่อมโยงกันมากกว่าแค่แสดงความคิดเห็นและก่นด่า โดยอาจจะเริ่มต้นชวนกันคิดและทำอย่างนี้ว่า ช่วยให้(ลูก)เขาดีด้วย (ลูก)เราก็ปลอดภัย หรือจะลุกขึ้นมา ทำตนเป็นต้นแบบชั้นดีให้ลูกหลานเลียน พัฒนาตนด้วยความเพียรให้ลูกหลานตาม ก็เป็นนิมิตหมายที่ดีของสังคมไทย และน่าอนุโมทนายิ่งกว่าแค่แสดงความคิดเห็นทั้งนั้น


 

พระอาจารย์ผู้ตอบปัญหาธรรม :  พระครูธรรมรัต (ธนัญชัย เตชปญฺโญ)
ที่มา :-
www.84000.org/นิยาม 5
www.84000.org/อจินติตสูตร
www.84000.org/จูฬกัมมวิภังคสูตร
ภาพ : www.pexels.com
ขอบคุณ : https://goodlifeupdate.com/healthy-mind/193127.html
By nintara1991 ,24 January 2020
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 25, 2020, 07:53:53 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ