ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: เหตุผลที่ นักปฏิบัติธรรม ยังคงพ่ายแพ้กิเลส  (อ่าน 523 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28415
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


เหตุผลที่ นักปฏิบัติธรรม ยังคงพ่ายแพ้กิเลส บทความจาก พระไพศาล วิสาโล


เคยสงสัยไหมคะว่า เพราะอะไร นักปฏิบัติธรรม บางคน เมื่อกลับมาสู่สิ่งแวดล้อมเดิมๆ จึงมีนิสัยไม่น่ารักดังเดิมหรือยังพ่ายแพ้กิเลสเช่นเคย พระไพศาล วิสาโล กล่าวไว้ในบทความ ” ความดีที่ผันแปร ” ว่า

กุมภ์เมลาเป็นพิธีสำคัญและยิ่งใหญ่มากสำหรับชาวฮินดูในอินเดียครั้งล่าสุดจัดที่เมืองอัลลาฮาบาด มีผู้คนมาร่วมงานถึง 70 ล้านคนไม่มีการชุมนุมทางศาสนาใดในโลกที่ยิ่งใหญ่ไปกว่านี้อีกแล้ว!

ตลอดช่วง 56 วันของพิธีดังกล่าวผู้คนหลายสิบล้านได้มาก่อกระโจมริมแม่น้ำคงคาเพื่อทำพิธีอาบน้ำชำระบาป ลองนึกภาพว่าผู้คนจำนวนหลายเท่าตัวของประชากรลาวทั้งประเทศ มากระจุกรวมกันอยู่ในพื้นที่เล็กขนาดแค่อำเภอเดียว ความแน่นขนัดจะมากมายเพียงใด ความโกลาหลวุ่นวายน่าจะเกิดขึ้นได้ไม่ยาก แต่ปรากฏว่าเหตุการณ์ดำเนินไปอย่างราบรื่น ผู้คนอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติ

@@@@@@

แต่แล้วก่อนที่พิธีนี้จะยุติ ได้เกิดโศกนาฏกรรมขึ้นที่สถานีรถไฟแห่งหนึ่งในเมืองนั้น 10 กุมภาพันธ์ 2556 ผู้คนมหาศาลพากันเบียดเสียดยัดเยียดจนเหยียบกันตายถึง 36 คน บาดเจ็บอีกมากมาย คนเหล่านี้ไม่ใช่ใครที่ไหน ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่เพิ่งเสร็จจากการจาริกแสวงบุญทั้งสิ้น

น่าคิดก็ตรงที่ว่า ช่วงที่อยู่ในพิธีกุมภ์เมลานั้น ผู้คนล้วนอยู่กันอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน หญิงผู้หนึ่งพูดถึงบรรยากาศในพิธีดังกล่าวว่า “ผู้คนจะห่วงใยคุณ ปฏิบัติต่อคุณอย่างสุภาพ  เช่น พูดว่า คุณแม่มานี่เลย เชิญตามสบายเลย” แต่พอถามถึงเหตุการณ์ที่สถานีรถไฟ หญิงคนเดียวกันนี้พูดว่า “ผู้คนคิดว่าพวกเขาแข็งแรงกว่าคุณ นึกอยากจะผลักคุณไปไหนก็ได้”

คงไม่ผิดหากจะกล่าวว่า ผู้คนที่ผลักใครต่อใครเพื่อแย่งขึ้นรถไฟ ที่จริงก็เป็นคนกลุ่มเดียวกับที่เอื้ออาทรนักจาริกแสวงบุญด้วยกัน แต่อะไรทำให้เขาเหล่านั้นมีพฤติกรรมตรงข้ามกันราวกับคนละคน

@@@@@@

ใช่หรือไม่ว่า ความสุภาพและเอื้อเฟื้อเกื้อกูลเกิดขึ้นได้ง่าย เมื่อเรามีสำนึกว่าตนเองเป็นนักจาริกแสวงบุญหรือผู้ใฝ่ธรรม ในภาวะเช่นนั้นเราจะมีหิริโอตตัปปะและความอดทนอดกลั้นได้มากกว่า จะว่าไปแล้วสิ่งแวดล้อมไม่ว่าผู้คน พิธีกรรม และบรรยากาศล้วนมีส่วนช่วยสร้างสำนึกดังกล่าวให้เกิดขึ้นแก่ผู้คนหลายสิบล้านที่นั่น เพราะตลอด 24 ชั่วโมงมีเสียงดนตรีและการแสดงธรรมดังก้องทุกหนแห่ง อีกสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นควบคู่กับสำนึกดังกล่าวก็คือ ความรู้สึกว่า ตนเป็นส่วนหนึ่งของมหาชนที่นั่น ซึ่งเป็นความรู้สึกที่เชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกัน

แต่พอออกจากพิธีดังกล่าวเพื่อเดินทางกลับบ้าน ทันทีที่ถึงสถานีรถไฟ สำนึกว่า ฉันเป็นนักจาริกแสวงบุญก็เลือนหายไป มีสำนึกใหม่มาแทนที่คือ ความเป็นผู้โดยสารที่ไม่รู้สึกเชื่อมโยงกับใคร แต่ละคนมีแต่ความปรารถนาที่จะเดินทางกลับบ้านให้เร็วที่สุด ด้วยเหตุนี้จึงคิดถึงแต่ตัวเองเห็นผู้อื่นเป็นคู่แข่งที่ต้องเอาชนะเพื่อขึ้นรถไฟก่อนใคร ๆ ผลก็คือ แย่งชิงผลักไสกัน จนเหยียบกันตายอย่างน่าเศร้าสลด


@@@@@@

พฤติกรรมของคนเรานั้นจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับสำนึกว่าเราเป็นใคร แต่สำนึกว่าเราเป็นใครนั้นไม่ได้อยู่ที่ตัวเราอย่างเดียว หากยังขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมทั้งบุคคลและวัตถุด้วย ตอนอยู่วัดหรือเข้าคอร์สกรรมฐาน เราอาจมีสำนึกว่าตนเป็นนักปฏิบัติธรรม แต่พอกลับบ้านหรือกลับมาทำงาน สำนึกอย่างอื่นมักจะมาแทนที่ เช่น ความเป็นนักธุรกิจ ความเป็นพ่อแม่ หรือความเป็นลูก ซึ่งอาจทำให้เรามีพฤติกรรมแตกต่างไปจากตอนอยู่วัด ที่เคยอดกลั้นต่ออารมณ์ก็กลับมาหงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย ที่เคยชนะใจตนเองได้ก็กลับมาพ่ายแพ้ต่อกิเลส ที่เคยมีน้ำใจไมตรีก็กลับคิดถึงแต่ผลประโยชน์

จะว่าคนเรามีหลายตัวตนก็ได้ ตัวตนใดจะโดดเด่นครองใจเราได้ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมมิใช่น้อย บ่อยครั้งมันถูกปลุกเร้าได้ง่ายมากโดยที่เราไม่ทันรู้ตัว เคยมีการทดลองแบ่งคนออกเป็นสองกลุ่ม ให้มีภารกิจเหมือนกัน คือ เรียบเรียงคำต่างๆที่สลับกันให้เป็นประโยคขึ้นมา 
     - กลุ่มแรกได้ประโยคที่มีความหมายกลางๆ (เช่น“ข้างนอกอากาศหนาว”) 
     - ส่วนกลุ่มที่สองได้ประโยคที่เกี่ยวกับเงิน (เช่น “ได้เงินเดือนเพิ่มขึ้น”) 

@@@@@@

จากนั้นให้ทั้งสองกลุ่มทำภารกิจอย่างที่สอง คือ ไขปริศนาที่ค่อนข้างยากสิ่งที่น่าสนใจ ก็คือ 
    - คนที่เรียงประโยคเกี่ยวกับเงิน มีแนวโน้มที่จะช่วยเหลือคนอื่นน้อยลง ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือผู้ดำเนินการทดลองในการกรอกข้อมูลหรือการช่วยเหลือ “คนแปลกหน้า” (ที่จริงเป็นผู้ดำเนินการทดลองที่ปลอมตัวเข้ามา)ที่ทำกล่องดินสอหล่น “โดยบังเอิญ”
    - ในขณะที่กลุ่มแรกนั้นมีแนวโน้มที่จะช่วยเหลือคนอื่นมากกว่า

การทดลองนี้ชี้ให้เห็นว่า เพียงแค่ถูกกระตุ้นให้คิดถึงเรื่องเงิน คนเราก็มีแนวโน้มจะเห็นแก่ตัวมากขึ้น ช่วยเหลือเกื้อกูลน้อยลง แต่หากถูกกระตุ้นให้คิดหรือรู้สึกในทางอื่น เช่น เห็นคนที่ทุกข์ยากหรือเด็กที่กำลังยิ้ม ความเห็นใจหรือเอื้อเฟื้อก็อาจมาแทนที่ได้ มีการทดลองพบว่า กระเป๋าสตางค์ที่มีรูปทารกแย้มยิ้มนั้น หากทำตกหล่นในที่สาธารณะ เจ้าของมีโอกาสได้คืนมากที่สุด (คือมีโอกาสได้คืนถึงร้อยละ 88 ส่วนกระเป๋าที่ไม่ใส่รูปอะไรเลย มีโอกาสได้คืนแค่ร้อยละ 15) พูดง่าย ๆก็คือ คนเรามีทั้งต่อมคุณธรรมและต่อมเห็นแก่ตัว เราจะมีพฤติกรรมอย่างใดขึ้นอยู่กับว่าต่อมใดถูกกระตุ้นเร้ามากกว่า


@@@@@@

ทั้งหมดนี้ช่วยอธิบายได้ว่า ทำไมนักปฏิบัติธรรมบางคน เมื่อกลับมาสู่สิ่งแวดล้อมเดิมๆ จึงมีนิสัยไม่น่ารักดังเดิมหรือยังพ่ายแพ้กิเลสเช่นเคย อย่างไรก็ตาม หากเรารู้เท่าทันอิทธิพลของสิ่งเร้าภายนอก รวมทั้งรู้เท่าทันสำนึกในตัวตนที่เปลี่ยนแปลงไป ก็สามารถรักษาใจไม่ให้ความเห็นแก่ตัวครอบงำและหันกลับมาทำสิ่งที่ดีงามได้



ขอบคุณ : https://goodlifeupdate.com/healthy-mind/dhamma/4405.html
By Minou ,3 March 2017
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 20, 2019, 06:23:50 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ