ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: การเขียน เพื่อการเยียวยาใจ WRITING THERAPY  (อ่าน 655 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28366
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
การเขียน เพื่อการเยียวยาใจ WRITING THERAPY
« เมื่อ: มีนาคม 20, 2019, 08:05:15 pm »
0



การเขียน เพื่อการเยียวยาใจ  WRITING THERAPY

ผม (นายแพทย์วิธาน ฐานะวุฑฒ์ เป็นศัลยแพทย์อิสระ นักเขียน และนักบรรยายด้านสุขภาพใจและจิตวิญญาณ) ถือว่า “การเขียน” เป็นส่วนหนึ่งของ “โหมดร่างกาย” เพราะต้องใช้มือใช้นิ้วจับปากกาและเคลื่อนไหวปลายปากกาไปบนกระดาษ

“Writing is about getting something down, not about thinking something up.” จูเลีย คาเมรอน

นอกจากนั้นการเขียนยังเป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างร่างกาย อารมณ์ ความรู้สึก ความคิด ได้เป็นอย่างดีสามารถถ่ายทอดความคิด อารมณ์ และความรู้สึกให้กลายเป็นตัวอักษรบนผืนกระดาษ

ผมเคยคิดว่าคนไทยทั่วไปไม่ชอบเขียนหรือไม่น่าจะเขียนอะไรได้ แต่ประสบการณ์จากเวิร์คชอปของผมในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมานี้ ผมพบว่า“คนไทยทั่วไปเขียนได้” และยังสามารถจมดิ่งอยู่กับการลงมือเขียนอะไรบางอย่างง่ายๆ ได้สบายๆ


@@@@@@

ตรงนี้ผมอยากจะขออนุญาตทําความเข้าใจกับท่านผู้อ่านก่อนว่า “การเขียน” ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าจะต้อง “เขียนเพื่อเป็นนักเขียน” นะครับ

คือ คนทั่วไปโดยเฉพาะคนไทยมักเชื่อว่าต้องเป็นนักเขียนเท่านั้นจึงมีสิทธิ์เขียน ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว การเขียนอยู่คู่กับอารยธรรมของมนุษย์มาช้านานหลายพันปีแล้ว และการเขียนนั้นให้อะไรกับมนุษย์มากกว่า“การบันทึก” หรือสิ่งที่เขียนออกมา ซึ่งเป็นเพียงผลลัพธ์สุดท้ายของการเขียนเท่านั้น

สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเขียนมีอีกอย่างน้อย “สองเรื่อง” ก่อนที่จะกลายมาเป็นผลลัพธ์คืองานเขียนนั้นก็คือ ช่วงเวลาขณะที่กําลังเขียน และความตั้งใจก่อนที่จะลงมือเขียน

พูดง่ายๆ คือ คนส่วนใหญ่ไปสนใจผลลัพธ์หรืองานที่เขียนออกมาแล้วมากเกินไป จนลืมความสําคัญขอ ง“สองเรื่อง” ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นและ “สองเรื่อง” นี้แหละครับที่จะเป็นประโยชน์มากๆ กับคนที่ลงมือเขียน ไม่ว่าเขาจะเป็นนักเขียนหรือไม่ก็ตาม ซึ่งรวมถึงตัวท่านผู้อ่านชีวจิตในเวลานี้ด้วยเช่นกัน

@@@@@@

จูเลีย คาเมรอน ศิลปินนักเขียนที่เป็นครูของศิลปินชื่อดังมากมาย แนะนําให้ลูกศิษย์ของเธอทุกคน ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนหรือไม่ได้เป็นนักเขียนให้แบ่งเวลาทุกเช้า

5-10 นาทีเขียนอะไรก็ได้ที่เกิดขึ้นจริงณเวลานั้นๆ ซึ่งเธอเรียกกิจกรรมในตอนเช้านี้ว่ามอร์นิ่งเพจ (Morning Page)

นอกจากการเขียนแบบนี้แล้ว จูเลียยังมีแบบฝึกหัดการเขียนสนุกๆ อีกหลายอย่างที่ช่วยให้เราสามารถอยู่กับสถานการณ์ตรงหน้าได้จริงๆ ผมได้เรียนรู้ว่าเป็นแบบฝึกหัดที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์มาก โดยแบบฝึกหัดหนึ่งในหนังสือของเธอคือ

“การเขียนรายงานสิ่งที่เป็นจริง” จูเลียแนะนําว่าให้ลองไปหาที่นั่งที่สบายๆ อาจจะเป็นร้านกาแฟที่ไม่พลุกพล่านจนเกินไปแล้วลองเขียนบรรยายถึงสิ่งที่เราเห็นจริงๆ ในขณะนั้น

@@@@@@

ผมเป็นคนประเภทชอบทดลองอะไรใหม่ๆ อยู่แล้ว ผมพบว่า การเขียนในที่สงบๆ สบายๆ นั้นธรรมดาเกินไปสําหรับผม เพราะความที่เป็นนักเขียนมานานพอสมควร ทําให้ผมสามารถเขียนในบรรยากาศแบบนั้นได้เป็นปกติวิสัยอยู่แล้ว

ผมทดลองแบบฝึกหัดนี้โดยเลือกร้านกาแฟที่อยู่ในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงราย ตําแหน่งที่ผมนั่งอยู่คือริมทางเดินที่มีคนพลุกพล่านพอสมควรเลยทีเดียว หลังจากสั่งกาแฟร้อนมาหนึ่งถ้วยแล้ว ผมก็ลงมือเขียนวันนั้นผมเลือกที่จะไม่ใช้โน้ตบุ๊ก แต่เลือกการเขียนลงบนกระดาษจริงๆ ด้วยปากกาจริงๆ เพราะอยากจะลองสัมผัสความรู้สึกของการเขียนจริงๆ หลังจากที่ไม่ได้ใช้วิธีเขียนแบบนี้มานาน

ผมนั่งสบายๆ แล้วเริ่มบรรยายสิ่งที่เห็น โดยพยายามดึงความสนใจทั้งหมดให้ไปอยู่ที่ปลายปากกากับตัวอักษร ที่ไหลรินไปตามความคิดและภาพที่เห็น

@@@@@@

ผมเริ่มต้นแบบเดียวกับที่จูเลียแนะนํา คือ ลองเลือกบรรยายถึงผู้คนที่อยู่ในร้าน เช่น สาวเสิร์ฟ หรือลูกค้าคนอื่นๆ ผมเขียนบรรยายถึงลักษณะท่าทางรูปร่างของเธอ การแต่งตัว การที่เธอกําลังง่วนอยู่กับการเตรียมกาแฟให้ลูกค้าและอื่นๆ เหมือนกับว่า ผมกําลังทําหน้าที่เป็นผู้สื่อข่าวที่กําลังรายงานเหตุการณ์สําคัญของคนสําคัญ ที่อยู่ตรงหน้า

ขณะที่เขียนผมรับรู้ได้ถึงผู้คนมากมายที่เดินผ่านไปผ่านมา แน่นอนว่าผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมาเหล่านี้ย่อมอยู่ในการบรรยายของผมด้วยเท่าที่ผมจะทําได้

ตอนแรกผมแค่จะทดลองทําแบบฝึกหัดของจูเลียเล่นๆ และคิดว่าคงจะใช้เวลาไม่นาน แต่ไม่น่าเชื่อครับ เมื่อกลับมามองดูนาฬิกา พบว่าผมใช้เวลาในการนั่งเขียนอยู่แบบนั้นนานถึง1ชั่วโมงเต็มๆ และเขียนออกมาเป็นตัวอักษรเล็กๆ ยึกยือในสมุดถึง 4 หน้าเต็มๆ มิน่าเล่า ผมจึงสามารถบรรยายเกี่ยวกับลูกค้าหลายคนที่เดินเข้ามาหลังผม และเดินออกไปจากร้านก่อนผม


@@@@@@

ในแง่นี้การเขียนช่วยให้ตัวเรา ที่กําลังเขียนกับโลกภายนอก ที่กําลังดําเนินอยู่ตรงหน้าได้เชื่อมต่อถึงกัน

การเชื่อมต่อกันระหว่างโลกภายในกับโลกภายนอกของมนุษย์คนหนึ่งภายใต้การรับรู้จริงนั้นมีความสําคัญมาก เพราะเป็นช่วงเวลาสําคัญ ที่ทําให้เกิดการถ่ายเทของพลังงานที่คั่งค้างสะสมอยู่ภายในร่างกายของมนุษย์คนหนึ่ง หมุนเวียนออกสู่โลกภายนอกได้

การถ่ายเทตรงนี้มีความสําคัญ เพราะพลังงานที่สั่งสมไว้ในร่างกายของมนุษย์คนหนึ่งนั้น หลายๆส่วนเป็นความเครียดที่ไม่รู้ตัว

@@@@@@

ในแง่นี้การเขียนจึงเป็นการเยียวยาตัวเอง เพราะเป็นการแสดงออกของตัวตนภายในของเรา ทําให้เราได้มีโอกาสหันกลับไปมองเห็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ หลายๆ คนที่ได้เขียนแบบนี้ก็จะรู้สึกสดชื่น รู้สึกถึงความสดใสของโลกและบางครั้งยังอาจจะรับรู้ได้ถึงมิตรไมตรีของผู้คนที่กําลังดํารงอยู่ณตรงนั้น

ความสดชื่นที่ได้รับจึงคุ้มค่ามาก โดยไม่ต้องไปสนใจถึงผลลัพธ์หรือสิ่งที่เขียนออกมาว่าจะต้องเป็นผลงานชิ้นโบแดง เพราะการเขียนง่ายๆแบบนี้มีประโยชน์โดยตัวของมันเอง

ถือได้ว่าเราสามารถใช้การเขียน เป็นการภาวนาและเป็นการเยียวยา เพื่อสุขภาพแข็งแรงเป็นเลิศ ให้กับตัวเราเองในอีกรูปแบบหนึ่ง


 
จาก คอลัมน์ MINDUPDATE นิตยสารชีวจิต ฉบับ 443
https://goodlifeupdate.com/healthy-body/146186.html
https://goodlifeupdate.com/healthy-body/146186.html/2
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ